เรื่องเด่น 21 ต.ค.2443 วันพระราชสมภพ สมเด็จย่าของแผ่นดิน

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 21 ตุลาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    คิดถึงสมเด็จย่า

    วันนี้เมื่อ ปีก่อน ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม 2443 คือวันที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชสมภพ พระองค์ไม่เพียงทรงเป็นหม่อมใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก


    แต่ยังเป็นพระราชชนนีของกษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


    และยังทรงเป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย



    0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888.jpg





    พระราชประวัติ


    สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ (ไม่มีนามสกุล เนื่องจากพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเริ่มมีในปี พ.ศ. 2456) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2443 ณ จังหวัดนนทบุรี


    พระองค์ เป็นบุตรคนที่ 3 ในพระชนก “ชู” และพระชนนี “คำ” มีพระภคินี และพระเชษฐา 2 คน ซึ่งได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย คงเหลือแต่พระอนุชาอ่อนกว่าพระองค์ 2 ปี คือ คุณถมยา




    89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888-1.jpg



    พระชนกชู มีอาชีพเป็นช่างทอง เป็นบุตรชายของคหบดี ชื่อ “ชุ่ม” แต่ไม่ทราบนามของมารดา ซึ่งมีเชื้อสายสืบมาจากผู้ดีเก่าแถวตึกขาว มีนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี


    ส่วนพระชนนีคำ มีมารดาชื่อ “ผา” แต่ไม่ทราบนามของบิดา พระชนนีคำเป็นสตรีที่รู้หนังสือ ซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้น จึงได้นำความรู้นี้มาสอนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


    และด้วยพระอุปนิสัยที่ชอบการเรียนรู้ และการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงทรงเป็นผู้ที่มีไหวพริบ และเฉลียวฉลาด


    ต่อมา พระชนกชูได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่พระองค์มีพระชนมายุ 3 พรรษา และพระชนนีคำถึงแก่กรรมเมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา หลังจากนั้นพระองค์ทรงอยู่ในความอุปการะของ “ป้าซ้วย” พี่สาวของพระชนนีคำ ซึ่งมีอาชีพรับจ้างม้วนบุหรี่ และทำขนมขาย


    วันหนึ่ง ญาติของครอบครัวพระชนกชู มาแนะนำให้นำสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปฝาก “คุณจันทร์ แสงชูโต” ซึ่งเป็นญาติและพระพี่เลี้ยงใน สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อถวายตัวเป็นข้าหลวง ในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 7-8 พรรษา




    ขณะยังทรงศึกษา


    ต่อมาพระองค์เข้าศึกษาที่ โรงเรียนศึกษานารี ได้ไม่นาน พระองค์ก็ได้ถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา โดยประทับอยู่บ้านคุณหวน หงสกุล วัดมหรรณพาราม โรงเรียนเพื่อประชาชนสามัญแห่งแรก


    เมื่อปี 2456 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงตัดสินพระทัยเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ตามคำชักชวนจากพระยาดำรงแพทยกุล



    89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888-2.jpg

    ภาพจากอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


    หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้ไปทรงศึกษาวิชาพยาบาลต่อที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์


    เมื่อไปเรียนต่างประเทศจำเป็นที่จะมีนามสกุลในหนังสือเดินทาง เมื่อขณะนั้นยังไม่มีนามสกุล จึงจำเป็นต้องมีการหานามสกุลให้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ใช้นามสกุลของข้าราชบริพารที่มีนามสกุลคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้ากรมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ คือ ขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฎ) พระองค์จึงมีพระนามในหนังสือเดินทางว่า นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ



    89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888-3.jpg

    เด็กหญิงสังวาลย์และแม่แฉล้มเพื่อนสมัยเรียนพยาบาล




    ต่อมา คุณถมยา พระอนุชาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปขอจดทะเบียนที่อำเภอใช้นามสกุล “ชูกระมล” ถึงแม้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่เคยใช้นามสกุลชูกระมล ก็อยากจะถือว่าทรงเกิดมาในสกุลนี้



    อภิเษกสมรส


    ขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับนางสาวสังวาลย์ ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่นๆ


    ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับนางสาวสังวาลย์


    ทั้งนี้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงกล่าวกับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไว้ ความว่า


    “สังวาลย์เป็นกำพร้า…แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง”


    พ.ศ. 2463 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จฯ กลับประเทศไทยเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสตามกฎมณเฑียรบาล




    89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888-4.jpg




    เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นางสาวสังวาลย์จึงได้เดินทางกลับมา และเมื่อถึงวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2463 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม นางสาวสังวาลย์จึงมีศักดิ์เป็น “หม่อมสังวาลย์”


    หลังจากได้อภิเษกสมรสแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้ตามเสด็จด้วยกันไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน ส่วนหม่อมสังวาลย์ เรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน




    ประสูติพระราชธิดาและพระราชโอรส


    หลังจากทั้ง 2 พระองค์ทรงจบการศึกษาแล้ว จึงเสด็จไปที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2466


    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล” ซึ่งภายหลังทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”


    ในเดือนตุลาคม 2466 ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จกลับเมืองไทยพร้อมด้วยพระราชธิดา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมราชชนกทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ประทับอยู่ได้ประมาณ 20 เดือน ก็ประชวร แพทย์จึงถวายคำแนะนำให้ประทับในที่อากาศเย็น ที่เมืองไฮเดลแบร์ก สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี)




    89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888-5.jpg




    สมเด็จพระบรมราชชนนีและพระราชธิดาจึงได้ตามเสด็จไปประทับด้วย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์แรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล”





    พระราชโอรสพระองค์ที่สอง


    ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพียงพระองค์เดียวเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ และประทับอยู่จนถึงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2469


    กระทั่งวันที่ 5 ธันวาคม 2470 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช”


    ระหว่างนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดูแลพระโอรสธิดาอย่างใกล้ชิดด้วยความรักและการอบรมสั่งสอน และทรงทูลเรื่องนี้กับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ความตอนหนึ่งว่า



    89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888-6.jpg



    “ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักดั่งดวงใจ…ถ้าได้ช่วยลูกๆ ให้ได้รับการอบรมและเล่าเรียนในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน”


    ขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีสุดท้ายอยู่ที่เมืองบอสตัน ประชวรโรคพระวักกะกำเริบ และพระโรคหวัด แต่ก็ยังทรงสามารถสอบได้ปริญญาแพทยศาสตร์ขั้นเกียรตินิยม


    แต่หลังจากสอบเสร็จ และประชวรพระโรคไส้ติ่งอักเสบ ทั้งสองพระองค์ได้พาพระราชโอรสธิดาเดินทางกลับประเทศไทย โดยประทับที่พระตำหนักใหม่สร้างขึ้นในวังสระปทุม ถนนพญาไท




    พระบรมราชชนกสู่สวรรคาลัย


    เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับเชิญเป็นแพทย์ประจำบ้านจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิก จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนต่อมาก็เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร


    หลังจากนั้นก็ทรงพระประชวรอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือนก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 ที่พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม


    ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนนีมีพระชนมายุเพียง 29 พรรษา ทรงต้องรับหน้าที่อบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสพระราชธิดาทั้งสามพระองค์ตามลำพัง


    จนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงทรงแนะให้สมเด็จพระบรมราชชนนีพาพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ เสด็จไปศึกษาต่อที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


    ส่วนทางประเทศไทย ที่สุดในวันที่ 2 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติเห็นชอบตามกฎมณเฑียรบาล ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ขึ้นสืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป




    89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888-7.jpg




    โดยสมเด็จพระบรมราชชนนี ได้เจรจาออกไปว่า “จะขออยู่อย่างอินคอกนิโต [ไม่เป็นทางการ] ให้ได้โอกาสเป็นเด็กธรรมดามากที่สุดที่จะมากได้…ถ้าจะมาบังคับให้อยู่หรูหรากันอย่างคิงเต็มที่ ซึ่งจะไม่ดีเลยสำหรับเด็ก จะทำให้ลำบาก และเด็กไม่เป็นสุขแล้ว เห็นจะเป็นคิงไม่ได้ เพราะจะอยู่อย่างไม่หรูหราแต่อย่างเรียบร้อย ก็ไม่ได้ทำให้เสียชื่อเสียงหรือน่าเกลียดอะไร”


    การเจรจาครั้งนี้ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีจึงได้ตรัสชมความเฉลียวฉลาดในการเจรจาของหม่อมสังวาลย์ พระสุณิสาว่า


    “ฉลาดเป็นอัศจรรย์ ใจเย็นพูดจาโต้ตอบงดงามอย่างน่าพิศวงกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ บุญของฉันมาได้ลูกสะใภ้เช่นนี้ บุญของหลานที่มีแม่ที่เลิศ ไม่มีใครจะมาดูถูกได้ว่าเลวทราม ฉันพูดนี้ปลื้มใจด้วย เศร้าใจด้วย จนน้ำตาไหล”




    พระราชโอรสพระองค์โตครองราชย์


    ที่สุดสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย นายพันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ นายนาวาตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ร.น. และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)


    ต่อมาในวันที่ 25 มีนาคม 2477 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงประกาศถวายพระนามพระราชชนนีว่า พระราชชนนีศรีสังวาลย์


    ด้วยเหตุนี้จึงต้องทรงย้ายไปประทับที่บ้านเช่าขนาดใหญ่ที่เมืองปุยยี ใกล้กับเมืองโลซาน เพื่อให้สมพระเกียรติของพระราชโอรส ทรงตั้งชื่อให้พระตำหนักใหม่ว่า “วิลล่าวัฒนา”


    ในปี 2481 พระราชชนนีศรีสังวาลย์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา ได้เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรเป็นครั้งแรกโดยประทับอยู่ในพระนครเป็นเวลากว่า 2 เดือน


    เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศพระราชชนนีเป็น “สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์”


    ในปี 2485 สมเด็จพระราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


    โดยสมเด็จพระพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในปี 2486 และอีกสองปีต่อมาในปี 2488 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ก็เสด็จเข้าศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน


    ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สองพร้อมกับสมเด็จพระราชชนนี ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 8 ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา


    แต่การเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยในครั้งนี้ ทำให้สมเด็จพระราชชนนีต้องทรงประสบกับความโทมนัสอย่างใหญ่หลวงในพระชนม์ชีพ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคต




    พระราชโอรสพระองค์รองครองราชย์


    ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พระราชโอรสพระองค์ที่สอง ขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ด้วยพระชนมายุเพียง 18 พรรษา


    โดยมีสมเด็จพระบรมราชชนนีรับพระราชภาระถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาในช่วงปี 2490 ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์นั้น สมเด็จพระราชชนนีก็ได้ทรงลงทะเบียนเรียนแบบ audit ที่มหาวิทยาลัยนี้ด้วย ทรงศึกษาวิชาปรัชญาวรรณคดีฝรั่งเศส ภาษาบาลี และสันสกฤต


    กระทั่งหลังจากที่พระโอรสทรงอภิเษกสมรสในปี 2493 สมเด็จพระราชชนนีทรงย้ายจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนาที่ประทับของพระองค์และพระโอรสที่เมืองปุยยีมา ประทับ ณ แฟลตเลขที่ 19 ถนนอาวองโปสต์ ในเมืองโลซานน์



    ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


    ระหว่างปี 2503-2504 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชโดยดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


    ทรงประกอบพระราจกรณียกิจมากมายในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาทิ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย บำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นับได้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเป็นผู้สำเร็จราชแผ่นดินที่เป็นสตรีพระองค์ที่ 3 นับเนื่องจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


    ที่สุด เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จกลับประเทศไทยในปลายปี 2494 สมเด็จพระบรมราชชนนียังคงประทับที่โลซานน์จนถึงปี 2506 ช่วงนี้ได้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งคราว ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน




    นิวัติประเทศไทย


    กระทั่งในปี 2507 ได้เสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทยพร้อมกับเริ่มเสด็จประพาสหัวเมืองและเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ


    จากการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ทรงริเริ่มงานพัฒนาต่างๆ ได้ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อประชาชนยากจนด้อยโอกาส และได้พระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่มูลนิธิและองค์การกุศลต่างๆ ตามกำลังพระราชทรัพย์


    ทั้งยังได้พระราชทานความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข, เสื้อผ้า และอาหาร ผ่านเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระสมัญญานามแก่พระองค์ว่า “แม่ฟ้าหลวง” ด้วยเสด็จมาจากฟากฟ้าเพื่อมาปัดเป่าทุกข์แก่ราษฎร


    นอกจากนี้ยังทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามต่างๆ อาทิ พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย, พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท ,พระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์ และพระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทย เป็นต้น


    จนวันที่ 12 มิถุนายน 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระราชชนนี ทรงพระนามเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี




    สวรรคต


    สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบและทรงเหนื่อยอ่อน คณะแพทย์ถวายการรักษาเบื้องต้นที่วังสระปทุม จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน 2538 จึงเชิญเสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช


    ระหว่างการประทับรักษาที่โรงพยาบาล คณะแพทย์พบว่าเกิดการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะเพิ่ม ต่อมามีพระอาการแทรกซ้อน มีการอักเสบที่พระอันตะ พระอันตคุณ (ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก) และที่พระปับผาสะ (ปอด) ข้างขวา คณะแพทย์ได้พยายามถวายการรักษาจนพระอาการทั่วไปดีขึ้นบ้าง


    เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม สมเด็จพระบรมราชชนนีมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต



    89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888-8.jpg



    คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่างๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ


    แต่พระอาการตั้งแต่เช้าจนเที่ยงของวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 คงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา 21:17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต รวมพระชนมายุ 94 พรรษา


    *************************


    ขอบคุณภาพและข้อมูลทั้งหมดจากวิกิพีเดีย




    สมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันนี้ในอดีต
    Shares :
    0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8aae0b8a1e0b8a0e0b89e-e0b8aae0b8a1e0b980e0b894e0b987e0b888.png

    ข่าวเกี่ยวข้อง


    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/394467
     

แชร์หน้านี้

Loading...