เรื่องเด่น “ข้าฯบำเพ็ญศีลทานการกุศลใดๆ ก็ปรารถนาพระโพธิญาณสิ่งเดียว"เปิดพงศาวดาร สมเด็จพระเจ้าตากสิน กับ ความปรารถนาในพุทธภูมิ ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 30 เมษายน 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,209
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,711
    “ข้าฯบำเพ็ญศีลทานการกุศลใดๆ ก็ปรารถนาพระโพธิญาณสิ่งเดียว"เปิดพงศาวดาร สมเด็จพระเจ้าตากสิน กับ ความปรารถนาในพุทธภูมิ ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

    90782305_8800.jpg

    ความจริงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมิใช่พระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกและพระองค์เดียวที่มีความปราถนาในพระโพธิญาณ อย่างน้อยเราก็พบว่า มีพระมหากษัตริย์อีก ๓ พระองค์ที่ปรารถนาในพุทธภูมิ คือ พระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย (ผู้รจนาคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง) และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยอยุธยา

    เช่นเดียวกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว “...ทรงปรารถนาพระโพธิญาณศรัทธิกบารมี...” ที่จารึกในฐานพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ

    และความที่ยกมาในตอนที่ทรงอธิษฐานเสี่ยงทายว่าจะได้บรรลุซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณที่วัดกลางดอยเขาแก้วก็มิใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่พงศาวดารกล่าวถึงปรารถนาแห่งพระโพธิญาณของพระเจ้าตากฯ

    ดังเมื่อครั้งเสร็จศึกอะแวหวุ่นกี้ปี ๒๓๑๙ ก็ได้ทรงโปรดให้มีงานบุญใหม่พระราชพิธีบังสุกุลพระอัฐิของพระมารดา พระเจ้าตากฯ ก็ทรงอธิษฐานว่า

    “เดชะผลทานบูชานี้ ขอจงยังพระลักขณะ พระปิติทั้ง๕ จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า และอย่าได้อันตรธาน และพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดขึ้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้น อนึ่งขอจงเป็นปัจจัยแก่พระบรมภิเษกสมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า”

    ความปรารถนานี้สะท้อนอยู่ในคำถวายพระพรไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายพุทธาจักรหรือฝ่ายอาณาจักร

    “(ข้อให้ได้)...ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าในมหาพัทกัปประดับพระศาสนา ไปโปรดสัตว์ในโลกียนี้...” (คำถวายพระพรพระเจ้ากรุงธนุรีของคณะสงฆ์)

    หรือมีกรณีที่ นายสอน มหาดเล็กได้ถวายพระพรก็ระบุไว้ชัดเรื่องให้ทรงได้บรรลุพระโพธิญาณ

    “จะภิญโญภาพด้วย ปรีชาญ

    ตราบตรัสโพธิญาณราญ บาปแคล้ว

    จะเรืองเกียรติพิศาล สุดโลก

    ด้วยบุรพบารมีแกล้ว เลิศล้ำแดนไตร

    ขอพระพุทธเรื้อง สัพพัญญู

    จงแผ่พระเดชชู ปิ่นเกล้า

    ตราบเสด็จโพธิญาณตรู ตราโลก

    ตัดเด็ดปัญจขันธ์เข้า สู่ห้องนฤพาน”



    ไม่มีหลักฐาน(อาจเพราะความไม่รู้ของผู้เขียนเอง) ว่าด้วยพระเจ้าตากฯ ทรงเริ่มปรารถนาพระโพธิญาณเมื่อไหร่? ด้วยเหตุผลกลใด?

    ตามพระราชประวัติที่เราพอรับรู้รับทราบ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและพระไตรปิฎกกับพระอาจารย์ทองดีตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ เมื่ออายุ ๒๑ ครบบวช ก็ทรงผนวชอยู่ในสำนักพระอาจารย์ทองดี ๓ พรรษา จึงลาสิกขาออกมารับราชการ ทั้งนี้อนุมานว่าน่าจะทรงรู้พระธรรมวินัยและพระไตรปิฎกอยู่ในระดับดีแต่ก็ไม่มีตรงไหนที่โยงใยไปถึงสาเหตุหรือไปถึงสาเหตุหรือที่มาในความปรารถนาเช่นนั้น

    แต่ในสมัยของพระองค์นั้นความปรารถนาเช่นนี้อาจมิใช่เรื่องแปลกใหม่ และที่น่าสังเกตก็คือไม่จำเป็นว่าเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะปรารถนาเช่นนี้ได้

    ฝ่ายตรงข้ามกับพระเจ้าตากฯ คือพระยาสุริยอภัยที่เป็นทัพหน้าเข้ามาปราบกบฏพระยาสรรค์หลังจากที่พระเจ้าตากฯ สละราชสมบัติออกผนวชแล้ว จนเกิดเป็นสงครามกลางกรุงธนบุรีขึ้น ในยามเพลี่ยงพล้ำเจอฝ่ายตรงข้าม (ที่นำทัพรบกับกรมขุนอนุรักษ์สงคราม-ที่ถูกจับพร้อมพระเจ้าตากฯ แต่ฝ่ายพระยาสรรค์ไปปล่อยตัวออกมาให้นำทัพรบกับพระสุริยอภัย) ลอบวางเพลิงให้ลมพัดไฟลามมาถึงที่มั่น ก็ได้ตั้งอธิษฐานว่า

    “ข้าฯบำเพ็ญศีลทานการกุศลใด ๆ ก็ปรารถนาพระโพธิญาณสิ่งเดียว เดชะความสัจจะนี้ ขอให้พระพายพัดกลับคืนไป อย่าได้ไหม้มาถึงบ้านเรือนข้าฯ ได้เลย พอตกวจีสัตยาอธิษฐานลง ลมก็พัดกลับคืนไป เพลิงก็ไหม้อยู่แต่ภายนอกบ้าน ประจักษ์แก่ตาคนทั้งปวง”

    (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม))

    หรือแม้ชาวบ้านก็ปรารถนาได้เช่นกัน

    “ความปรารถนาพุทธภูมินี้มิได้เป็นคติความเชื่อของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปก็มีความเชื่อดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งสามารถสืบสาวย้อนหลังไปได้นับพันปี ในศิลาจารึกสมัยพุทธศตวรรษที่๑๓-๑๔ ที่จังหวัดนครราชสีมามีข้อความตอนหนึ่งว่า ขอให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จงเป็นพุทธองค์ และลุถึงพุทธภูมิ มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ความเชื่อดังกล่าวก็ยังแพร่หลายในหมู่ประชาชน ถึงขั้นที่ยอมสละชีวิตเผาตัวตายที่วัดอรุณ” จวบจนสมัยรัชกาลที่ ๔ ความเชื่อดังกล่าวก็ยังอิทธิพลอยู่มาก จนระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกประกาศสั่งห้ามกระทำการดังกล่าว..”

    ภิกษุณีธัมนันทา(ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกมุมมองว่า ความปรารถนาในพุทธภูมิของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ดูจะ แปลก ไปจากคติของพุทธเถรวาทในปัจจุบัน ที่มุ่งปรารถนา “พระนิพพาน” หรือ อรหันต์ภูมิ (รัชกาลที่๑ และรัชกาลที่๒ ก็ทรงแสดงพระประสงค์เช่นนี้) มากกว่าที่จะมุ่งบำเพ็ญ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป

    แต่สำรับคติพุทธเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนในฝ่ายมหายาน คือ “ปรารถนาในพุทธภูมิ” ด้วยกันทั้งสิ้น

    อันจะสอดคล้องกับข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ที่ระบุว่าการตัดสินพระทัยเป็นพระมหากษัตริย์หลังทรงกู้แผ่นดินคืนมาได้จากพม่านั้น เป็นไปโดยมีเหตุผลทางธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องมิใช่เหตุผลทางการเมืองล้วน ๆ คือ ทรงคิดว่าเป็นกษัตริย์ช่วยเหลือเหล่าอาณาประชาราษฎร์นั้นเป็นการบำเพ็ญบารมีตามวิถีแห่งพระโพธิสัตว์

    โดยไม่ทรงเลือกเดินในวิถีแห่งพระอรหันต์ในตอนนั้น

    แต่ไม่ว่าคติ “บารมี๑๐ทัศ” ของฝ่ายเถรวาทก็ดี หรือ “ปารมิตา๖” ของฝ่ายมหายานก็ดี คติเหล่านี้สะท้อนว่า ผู้ปรารถนาพุทธภูมิต้อง

    1. ตั้งจิตมั่นในพุทธภูมิ
    2. ในการตั้งจิตจะต้องมี ปณิธาน๔ คือ มุ่งมั่นเพื่อบรรลุการรู้แจ้ง มุ่งมั่นแสวงหาความรู้ทั่วไป มุ่งมั่นสอนเวไนยสัตว์ และช่วยสรรพสัตว์ให้ถึงซึ่งการรู้แจ้ง
    3. มีศีลของพระโพธิสัตว์ ๕๘ ข้อ
    4. ต้องสร้างสมบารมี๖ (ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ญาณ ปัญญา) หรือ “บารมี๑๐(ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา)


    ซึ่งแน่นนอว่าพงศาวดารย่อมต้องมีบันทึกถึงการบำเพ็ญพระบารมีของพระเจ้าตากฯ ตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงครองราชย์ใหม่ ๆ

    "...ครั้งนั้นหมู่คนอาสัตย์ซึ่งคุมพรรคพวกตั้งอยู่กระทำโจรกรรม ณ.หัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา มิได้เชื่อพระบรมธิคุณและตั้งตัวเป็นใหญ่นั้นก็บันดาลให้สยบสยองพองเศียรเกล้า ชวนกันนำเครื่องราชบรรณาการต่างๆเข้ามาถวายเป็นอันมาก ทรงพระกรุณา...พระราชทานโอวาทานุศาสตร์ สั่งสอนให้เสียพยศอันร้ายให้ตั้งอยู่ในยุติธรรม ขณะนั้นลูกค้าวาณิชได้ทำมาค้าขายเป็นสุขบริบูรณ์ด้วยอาหาร ได้บำเพ็ญทศบุญกิริยาวัตถุกุศลต่างๆฝ่ายสมณะก็รับจัตุปัจจัยทานเป็นสุขบริโภคให้บำเพ็ญสมณธรรมตามสมณกิจ

    "จำเดิมแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ค่อยๆวัฒนาการ รุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นเหมือนแต่ก่อน และสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เจริญพระราชกฤดาธิคุณไพบูลย์ภิยโยภาพยิ่งขึ้นไป ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ค่อยมีความผาสุกสนุกสบายบริบูรณ์ คงคืนขึ้นเหมือนเมื่อครั้งแผ่นดินกรุงเก่ายังปกติดีอยู่นั้น..."

    (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม))

    จากข้อความในพงศาวดารที่ยกมาข้างต้นก็พอสะท้อนเรื่องนี้ได้บ้างประมาณหนึ่ง

    คำถามในกรณีนี้ก็คือ มีอะไรหรือไม่ที่เป็น "ร่องรอย" ให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรง "มุ่งมั่น" ในพระโพธิญาณจริงๆ มิใช่การเขียนพงศาวดารในธรรมเนียม "ยอพระเกียรติ"

    กิจการในพระศาสนาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ว่าจะเป็นทรงให้รวบรวม จารคัมภีร์บาลี ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา ฯลฯ หรือทรงโปรดให้สร้าง "สมุดภาพไตรภูมิ" สนับสนุนพระภิกษุสงฆ์ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ สร้างกุฏิ สร้างวัด หรือกระทั่งชำระภิกษุสงฆ์ที่ทำผิดพระธรรมวินัย ก็เหมือนมีบันทึกว่าดำเนินไปไม่ต่างจากที่พระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆได้ทรงกระทำ

    ในเรื่องนี้มองได้ว่าเป็นคติเทวราชาที่รับมาจากศาสนาพราหมณ์ (ที่กล่าวว่าพระมหากษัตริย์คือองค์อวตารที่ลงมาทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องราษฎร) กับคติที่มองว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ (ที่ถือเอาการสร้างความผาสุกให้แก่อาณาประชาราษฎร์เป็นการบำเพ็ญเพียรสร้างสมบารมี) ได้ผสมผสานสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากการถวายพระนามของพระมหากษัตริย์ดุจเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งอนุมานว่าในด้านหนึ่งความปรารถนาในพระโพธิญาณของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแม้จะมีมาก่อนที่จะทรงเป็นกษัตริย์ แต่เมื่อได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์แล้วความปรารถนาดังกล่าวก็แยกไม่ออกจากคติ "พระพุทธเจ้าอวตาร" ที่มีมาแต่ก่อนเก่า

    แต่สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยก็คือพระเจ้าตากฯทรง "บำเพ็ญ" บารมี ในขณะเดียวกันนั้นแผ่นดินกรุงธนบุรีก็ไม่อยู่ในภาวะสงบสุขอย่างสมบูรณ์เพราะต้องติดพันการศึกน้อย-ใหญ่เกือบตลอดรัชกาล รวมแล้วเป็นมีสงครามเกิดขึ้น ๑๕ ครั้ง กล่าวโดยเฉลี่ยคือประมาณปีละครั้ง

    และพระองค์ก็เห็นเรื่องศึกสงครามเป็นเรื่องจริงจัง ถึงกับมีบันทึกเอาไว้ว่าเมื่อคราวศึกบางแก้ว ที่ราชบุรีในปี ๒๓๑๗ พระองค์ทรงทราบข่าวพระอาการประชวรหนักของสมเด็จพระราชมารดาถึงกับตรัสว่า "พระโรคเห็นหนักจะมิได้ไปทันเห็นพระองค์ ด้วยการแผ่นดินครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ครั้นจะไปบัดนี้ ไม่เห็นผู้ใดที่ไว้ใจให้อยู่ต้านต่อข้าศึกได้" สุดท้ายก็หักพระทัยไม่เสด็จกลับ สมเด็จพระมารดาของพระองค์ก็สวรรคตในคราวที่พระองค์ติดศึกอยู่นั่นเอง

    ในคราวนั้นเมื่อทัพกรุงธนบุรีล้อมพม่าไว้หมด ไม่มีทางที่พม่าจะตีหักหนีออกมาได้ ถ้าจะระดมยิงเข้าไปในค่ายพม่าหมายสังหารพม่าให้ตายให้หมดก็สามารถทำได้แต่ก็ไม่ทรงโปรดให้ทำ จนสุดท้ายพม่าก็ยอมแพ้มาสวามิภักดิ์เอง

    กรณีนี้คือตัวอย่างที่มักถูกยกมากล่าวถึงความเป็นนักรบที่ "ทรงภูมิธรรมชั้นสูง" ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

    แต่จริงๆแล้วก็ไม่มีกรณีใดที่จะพอจะมิให้ตั้งข้อสงสัยว่า "ใช่หรือไม่ใช่การยอพระเกียรติ?" หรือในทางกลับกันคือทรงมุ่งหมายในพุทธภูมิจริงๆ

    เว้นไปจากการทรงพระกรรมฐานอย่างจริงจัง ซึ่งจริงๆเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์เมื่อคราวติดศึกที่บางแก้วจนมิได้กลับมาเฝ้าพระพันปีหลวงตอนสวรรคต เพราะหลักฐานว่าพระเจ้าตากฯทรงพระกรรมฐานปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อคราวที่จัดงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง

    ทรง "บำเพ็ญ "ญาณ" บารมี" ถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระมารดา

    และหลักจากนั้นก็ทรงปฏิบัติเรื่อยมา อย่างจริงจัง

    การบำเพ็ญ "ฌาน" บารมี หรือ ทรงพระกรรมฐานของพระเจ้าตากฯจึงเป็นประจักษ์พยานอันสำคัญยิ่ง

    ประจักษ์พยานที่ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในพระโพธิญาณ

    และประจักษ์พยานแห่งความแปลกแยกอันสั่นคลอนพระราชอำนาจไปด้วยพร้อมๆกัน



    อ่านเพิ่มเติม : หาชมยาก!! “สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี” จากพระราชศรัทธาของ พระเจ้าตากสิน อีกหนึ่ง ราชภารกิจบนเส้นทางแห่งพระโพธิสัตว์

    พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ - กษัตริย์ผู้เคยครองสมณเพศ แต่กลับไม่ปรารถนานาในพุทธภูมิ!! ข้อยืนยันจากบทพระราชนิพนธ์ !!



    จากหนังสือ ธรรมะของพระเจ้าตาก โดย เวทิน ชาติกุล



    สนใจสั่งซื้อหนังสือ ติดต่อ Line ID : @gppbook / FB : Gppbook

    สอบถามเพิ่มเติมโทร 02 5254242 ต่อ 201-202


    เรียบเรียงโดย

    จินต์จุฑา เจนสระคู : สำนักข่าวทีนิวส์


    ---------------
    http://www.tnews.co.th/contents/307364


     

แชร์หน้านี้

Loading...