เรื่องเด่น ‘หลวงพ่ออลงกต’ 27ปีมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 26 ตุลาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    กลายเป็นข่าวใหญ่กรณีพระราชวิสุทธิประชานาถ หรือหลวงพ่ออลงกต เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บต้องนอนพักฟื้นที่รพ.นานถึง 3 เดือน ท่ามกลางความเป็นห่วงของศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ เหตุที่เกิดขึ้นอาจทำให้ภารกิจหลายอย่างของหลวงพ่อต้องสะดุดลง โดยเฉพาะกิจนิมนต์การเดินรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาที่ร่วมทำบุญช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ

    ทั้งนี้หลวงพ่ออลงกตได้มีเมตตากับทีม “เดลินิวส์ออนไลน์ออนไลน์”เปิดโอกาสพูดคุย ถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน และทิศทางในอนาคตการดำเนินงานเพื่อผู้ป่วยเอดส์ และงานด้านสังคมที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยพระราชวิสุทธิประชานาถ บอกว่า ย้อนไปปี 34-35 กับข่าวใหญ่ที่ไม่มีชาวบ้านมาทำบุญที่วัดพระบาทน้ำพุ เหตุเพราะรับผู้ป่วยเอดส์มาอาศัยในวัด กลายเป็นเรื่องพูดคุยในวงกว้าง 2 เรื่องคือ คนรังเกียจ-วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช่เรื่องของสงฆ์ กับบางส่วนชื่นชมว่าหลวงพ่อมีเมตตาช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากโรคเอดส์ ทำให้เกิดประเด็นเรื่องการต่อสู้ทางความคิด ว่าใช่หรือไม่ต่อการดำเนินงานของเรา แต่ก็ใช้หลักเมตตา อดทน ขยันจนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก ในตอนนั้นไทยมีความรุนแรงของโรคเอดส์มาก เพราะมีปัจจัยพื้นฐานที่เกื้อกูลคือแหล่งท่องเที่ยว-หญิงบริการ บางพื้นที่ทางภาคเหนือเรียกว่าตายกันทุกวัน หนุ่มสาวแทบจะหมดหมู่บ้าน
    988e0b8ade0b8ade0b8a5e0b887e0b881e0b895-27e0b89be0b8b5e0b8a1e0b8b8e0b988e0b887e0b8a1e0b8b1e0b988.jpg

    ด้วยความรุนแรงของสถานการณ์โรคเอดส์ทำให้จำเป็นต้องขยายเตียงจาก 20 เตียง ขยายเป็นรูปแบบของโรงพยาบาลรับผู้ป่วยหลายสิบคน แต่ก็ไม่เพียงพอจนต้องสร้างอาคาร และสถานที่เพิ่ม ต่อมาเจอวิกฤตปี 40 ช่วงนั้นมีผู้ป่วย 400-500 คน พอเศรษฐกิจไม่ดีคนทำบุญน้อยลงก็ตื่นตระหนกว่าจะไปไม่รอด ทางแก้ปัญหาตอนนั้นคือขอให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งกลับไปอยู่กับครอบครัว อีกส่วนหนึ่งคือผู้ป่วยที่กลับไปอยู่ไม่ได้-ครอบครัวไม่ยอมรับต้องถูกไล่กลับมาแน่ ๆ ยอมรับว่าผิดพลาดตื่นตระหนกเกินไป ความจริงเพียงแค่ 3-4 เดือนสถานการณ์ก็ฟื้นกลับมาเหมือนเดิม เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีเพียงใดคนไทยก็ยังศรัทธาพระพุทธศาสนา และคนที่เคยต่อต้านก็กลับมาเข้าใจ-มาช่วยเหลือ จำนวนผู้ป่วยก็มากขึ้นเพราะหากเป็นเอดส์ก็ต้องนึกถึงเรา และที่นี่มีมาตรฐานเป็นที่เดียวที่ให้ทุกอย่างทั้งที่พัก อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ไม่เคยเก็บค่าใช้จ่าย ทำมาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน และพัฒนาให้เป็นองค์กรที่ให้การสงเคราะห์จริง ๆ จนผ่านระยะเวลามาถึง 27 ปี

    หลวงพ่ออลงกต บอกต่อว่า ทุกวันนี้อะไรที่มันไม่ดีก็ปรับปรุงให้ดีขึ้น ตอนนี้เราเข้าไปผูกพันกับองค์กรใหญ่ ๆ เช่น ปตท.,กฟภ.เป็นผู้อุปถัมภ์สนับสนุน รวมทั้งกลุ่มผู้ทำกิจกรรมสังคมต่าง ๆ วัดจึงไปสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มกิจกรรมสังคม เป็นเรื่องช่วยให้สังคมมีพลัง พูดถึงวัดทุกคนก็พร้อมจะช่วย มีข่าววัดแย่ทุกคนก็ช่วย ทำให้เราเข้มแข็งและขยายกิจกรรมมากขึ้น จากเดิมผู้ป่วยโรคเอดส์ก็มาเป็นผู้ติดเชื้อ เด็กด้อยโอกาส คนชราอาจมีสงเคราะห์สัตว์ สุนัข แมวบ้าง ต่อไปจะขยายเรื่องผู้สูงอายุให้มากขึ้น เพราะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

    8e0b8ade0b8ade0b8a5e0b887e0b881e0b895-27e0b89be0b8b5e0b8a1e0b8b8e0b988e0b887e0b8a1e0b8b1e0b988-1.jpg

    อีกทั้งจากการที่มียาต้านไวรัสในราว 10 ปีมานี้ทำให้เราต้องทำงานหนักขึ้น เป็นปัญหาใหม่ที่มาขบคิดกับหลักปรัชญาว่า “มนุษย์มีค่าที่สุด” ที่นี่จึงต่างจากวัดทั่วไป ทุกคนมีภาระหน้าที่หมด ช่วยกันปัดกวาดเช็ดถู รปภ.ของเราเป็นเอดส์หมดทั้งทีมทุกคนก็ช่วยกัน อีกส่วนหนึ่งเราก็ไปทำภาคการเกษตร ปลูกพืชผักผลไม้เลี้ยงสัตว์ ทำแบบจริงจังให้ทุกคนมีรายได้ ลดรายจ่าย และลดภาระทางสังคม เมื่อสร้างผลผลิตมาได้ก็จะกระจายแบ่งปันกันไป นี่เป็นวิธีคิดแบบใหม่สำหรับการกลับมามีชีวิตที่เข้มแข็ง ซึ่งตอนนี้เราดูแลผู้ป่วย-เด็ก-คนชราประมาณ 2 พันคน

    สำหรับบทบาทวัดพระบาทน้ำพุเปลี่ยนสถานะไปจากเดิมคล้ายโรงพยาบาล แต่ปัจจุบันเหมือนสถานสงเคราะห์ทุกเรื่อง ดูแลผู้ป่วยในชุมชนที่ติดเตียง นำของไปแจกให้กับผู้ยากไร้ เราไม่ห่วงในเรื่องที่สมควรช่วย แต่ที่เราอึดอัดคือเรื่องที่ไม่ใช่บางเรื่องกลายเป็นภาระแต่ก็รับได้ เราพัฒนาก้าวไปสู่การช่วยเหลือทางสังคม ช่วยเด็กบกพร่องทางสมอง บ้านพักคนชรา ช่วยผู้ต้องขังในเรือนจำ ยกตัวอย่างทุกวันอาทิตย์จะมีข้าวโพดอบเนยเอามาแจกประชาชนเกือบ 2 พันถุงก็มาจาการจ้างงานผู้ต้องขังแล้วเราไปรับซื้อมา เราให้คนในเรือนจำฯมาทำงาน โดยเฉพาะผู้หญิงแม่บ้านที่โดนคดียาเสพติด ติดคุกไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ เราเข้าใจปัญหาก็ยื่นมือเข้าไปช่วย หาอาชีพให้ทำ-หาตลาดให้ โดยการรับซื้อ และส่งจำหน่ายต่อ

    “พยายามทำวัดให้เป็นหลัก-ศูนย์กลางในการช่วยเหลือ สิ่งที่ควรช่วยย้ำควรช่วย แต่บางครั้งบางสิ่งก็ไม่น่าจะใช่ และเลยเถิดไป เช่นหน่วยราชการบางหน่วยงานมาขอเงินไปใช้ในงานของเขา แต่เราทำใจเป็นให้ได้ก็ให้คิดว่าเป็นสมบัติของบ้านเมือง เราเข้าใจว่าพอเราเป็นหน่วยงานที่พอจะเป็นที่พึ่งของทุกคน แต่ละปีก็จะมีกิจกรรมที่ต้องช่วยเหลือมาก ทั้งวัด โรงเรียนขอให้เป็นประธานจัดสร้างสิ่งต่าง ๆ เราไม่ตำหนิใครเพราะเขาหวังเราเป็นที่พึ่ง เทียบวัดเป็นเหมือนแม่น้ำ ริมฝั่งตลิ่งก็มีสัตว์น้อยใหญ่ที่ต้องอาศัยลำน้ำ”

    8e0b8ade0b8ade0b8a5e0b887e0b881e0b895-27e0b89be0b8b5e0b8a1e0b8b8e0b988e0b887e0b8a1e0b8b1e0b988-2.jpg

    เจ้าอาวาสฯ บอกอีกว่า ถามว่าทุกวันนี้คนศรัทธาตัวบุคคล หลวงพ่อเป็นเหมือนแบรนด์ของวัด หากอนาคตข้างหน้าหลวงพ่อไม่ไหว หรือไม่มีหลวงพ่อจะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น เราสร้างระบบขึ้นมา หากไม่อยู่ระบบมันจะขับเคลื่อนไปได้เอง ทุกวันนี้ก็ดำเนินอยู่มันท้าทายอยู่ที่จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน เป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจไม่ใช่ขับเคลื่อนแค่วัดพระบาทน้ำพุ แต่วางให้มันขับเคลื่อนทั้งประเทศไทย ไม่ใช่ช่วยแค่วัด ช่วยแค่คนลพบุรีแต่มันช่วยคนทั้งประเทศ

    “ในวัดมี 3 องค์กรคือ มูลนิธิธรรมรักษ์ มูลนิธิกองทุนอาทรประชานาถ และมูลนิธิพุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ ทั้ง 3 องค์กรทำงานแบบมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน หลวงพ่อสร้างขึ้นมาดูแล และหาทรัพยากร เปรียบเสมือนภูเขาสามลูกที่โอบกันมีน้ำอยู่ข้างใน ตอนนี้มีหลวงพ่ออยู่คนศรัทธาในตัวบุคคลต้องพยายามเก็บน้ำให้เข้ามาในภูเขาจนมีมหาศาลเลี้ยงคนได้ทุกอาชีพ รวมทั้งดื่มกินอาบใช้ไม่มีวันหมด หลวงพ่อคิดทฤษฏีนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนที่ขับเคลื่อนภายหลังทำได้ และสิ่งที่คนจะเห็นในอนาคตคือใครก็ไม่สามารถจะไปแตะเงินจากระบบนี้ได้ สิ่งที่หลวงพ่อสังเคราะห์ขึ้นมาจึงเป็นการทำแบบยั่งยืนมีระบบควบคุมที่ตรวจสอบได้ ป้องกันเงินรั่วไหลเม็ดเงินจะถูกไปใช้เป็นประโยชน์ต่อสังคมจริง ๆ

    ทั้งนี้มูลนิธิธรรมรักษ์จะดูแลเรื่องเด็ก-ผู้ป่วยโรคเอดส์ -คนชรา ซึ่งเป็นงานเริ่มต้นแต่แรก ช่วงหนึ่งมีปัญหาคนมาทำบุญพอเราเอาเงินไปใช้ในงานสาธารณประโยชน์ก็มองว่าทำไมเอาเงินเอดส์ไปทำมันผิดวัตถุประสงค์ อีกด้านหนึ่งคนที่เขาทำบุญก็ได้ไม่ระบุวัตถุประสงค์ แต่คนที่มองอยู่ข้างนอกไม่สามารถแยกแยะได้เลยเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา จึงต้องมาสร้างมูลนิธิกองทุนอาทรประชานาถ อะไรที่เป็นงานในกรอบของการดูแลผู้ป่วยเอดส์ก็ใช้เงินจากมูลนิธิธรรมรักษ์ ส่วนงานสาธารณประโยชน์อื่น ๆใช้เงินมูลนิธิกองทุนอาทรประชานาถ

    8e0b8ade0b8ade0b8a5e0b887e0b881e0b895-27e0b89be0b8b5e0b8a1e0b8b8e0b988e0b887e0b8a1e0b8b1e0b988-3.jpg

    “ส่วนมูลนิธิพุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิเป็นเรื่องของศาสนา สถานปฏิบัติธรรมต้องแยกให้ชัดเจน ต้องยอมรับว่าคนมักจะวิจารณ์โดยไม่ศึกษาว่าระบบการบริหารจัดการเป็นอย่างไร ความจริงเรามีพลังเยอะแต่อึดอัดกับการที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือไม่เหมาะสม เชื่อว่าใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น ที่บอกว่าวัดการเงินย่ำแย่หลวงพ่อต้องออกเดินรับเงินบริจาค ความจริงก็เดินบิณฑบาตเป็นประจำอยู่แล้ว ที่แย่คงเป็นเรื่องสุขภาพ เคยมีหน่วยงานหรือองค์กรต่างประเทศจะเข้ามาให้การสนับสนุนแต่หลวงพ่อไม่ขอรับ เพราะคิดว่าหากเราขอเงินจากต่างประเทศเราอาจจะได้เงินเป็นพันล้าน แต่ไม่ได้หัวใจคนไทย ขณะที่คนไทยทำบุญคนละสิบบาทยี่สิบบาท เราได้หัวใจของคนไทย คนไทยอยู่ไหนก็ตามยังกลับมาทำบุญ เราอยู่ได้เพราะหัวใจคนไทย”

    หลวงพ่ออลงกต บอกตบท้ายว่า อยากฝากเรื่องความรักความสามัคคีของคนในชาติ เพราะส่งผลต่องานของหลวงพ่อด้วย หากสังคมแตกแยกจะทำให้เศรษฐกิจพัง แต่เชื่อว่าประเทศเรามีบุญในน้ำมีปลาในนามีข้าวไม่อดตาย ให้ทุกคนมีสำนึกที่ดี-รักสามัคคีช่วยเหลือกัน เรื่องที่กำลังทำอยู่เป็นเรื่องของความช่วยเหลือ แต่เรื่องต้นทางที่น่าสนใจคือต้องช่วยป้องกันด้วย ไม่ใช่ให้หลวงพ่อดูแลรักษาอย่างเดียว เอดส์เป็นเพียงหนึ่งปัญหาหากไม่ป้องปราม-ตระหนักถึงเรื่องนี้ลูกค้าของหลวงพ่อก็ไม่มีวันหมดไปแน่นอน

    27ปีที่หลวงพ่อฯมุ่งมั่นทุ่มเทช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ พร้อมกับสานต่อโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ อีกมากมาย นับว่าเป็นบุญของผู้ตกทุกข์ได้ยากมาก ๆ ที่เรามีพระผู้ปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบ พระที่สมควรกราบไหว้อย่างแท้จริง.

    https://www.dailynews.co.th/article/737896
     

แชร์หน้านี้

Loading...