เรื่องเด่น ๘๔ ปี หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป พระอริยสงฆ์ผู้มีปัญญาเปรียบดั่งดวงประทีป

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 15 พฤศจิกายน 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    maxresdefault.jpg

    ๘๔ ปี หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป พระอริยสงฆ์ผู้มีปัญญาเปรียบดั่งดวงประทีป


    …กว่าที่หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ท่านจะได้มาเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ท่านต้องฝ่าฟันอะไรมามากมายนัก ไม่ใช่แค่ตอนบวชศึกษาธรรมกับพ่อแม่ครูอาจารย์หรือตอนเที่ยววิเวกออกธุดงค์เท่านั้น แต่สำหรับท่านยากเย็นตั้งแต่ก่อนจะได้บวชเป็นพระเลยทีเดียว จากประวัติของท่านมีบันทึกไว้ว่า…

    …เมื่อวันพฤหัสบดี ปีระกา ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ณ บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร คุณพ่อกิ่ง-คุณแม่อรดี วงษาจันทร์ ซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย ได้ให้กำเนิดทารกน้อยเพศชายคนที่ ๓ ชื่อว่า เด็กชายเปลี่ยน วงษาจันทร์ และด้วยความคุณตาและคุณยายรักหลายชายคนนี้มาก เด็กชายเปลี่ยนจึงถูกรับตัวมาเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก
    เส้นทางชีวิตของท่านที่ดูเหมือนจะถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องก้าวเข้าสู่พระพุทธศาสนานั้น เริ่มต้นตั้งแต่ในวัยเด็กช่วงอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ปี เพราะคราวใดที่ทางบ้านของท่านมีงานบุญ เด็กชายเปลี่ยนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการไปรับพระที่วัด ทำให้เด็กชายเปลี่ยนได้เห็นวิธีการเดินจงกลมของพระอาจารย์ลี วัดป่าบ้านตาล รวมไปถึงหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ที่ได้เดินจงกรมให้ดูและสอนให้ท่านเดิน

    ด้วยวาสนาบุญบารมีที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวนี้เอง ธรรมะจึงจัดสรรให้ท่านได้มีโอกาสคุ้นเคยและศึกษาธรรมะกับพระสงฆ์ที่บวชอยู่กับหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ จนท่านเกิดความศรัทธาคิดที่จะบวชอยู่ตลอดเวลา แต่ติดขัดปัญหาตรงที่บิดามารดาของท่าน ต้องการให้ท่านเป็นพ่อค้าซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว

    อายุ ๑๕ ปี ท่านขออนุญาตมารดาท่านบวชเณรแต่ถูกปฏิเสธ อายุ ๑๘ ปี ท่านขออนุญาตบวชเณรอีกครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธเช่นเคย
    อายุ ๒๐ ปี ท่านขออนุญาตบวชพระก็ถูกปฏิเสธเช่นเคย
    อายุ ๒๒ ปี บิดาท่านเสียชีวิต ท่านจึงใช้เป็นเหตุผลขอบวชทดแทนคุณแต่มารดาท่านก็ปฏิเสธเสียงแข็งเช่นเคย
    พอท่านอายุ ๒๕ ปี คุณลุงของท่านได้เสียชีวิตลง ท่านจึงขออนุญาตมารดาเพื่อบวชอุทิศส่วนบุญให้กับผู้มีพระคุณทั้งสอง หลังจากเฝ้าเพียรพยายามขออนุญาตออกบวชอยู่นานหลายปี แสงสว่างปลายอุโมงค์ก็เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อท่านได้รับอนุญาตจากผู้เป็นมารดาให้บวชเพียง ๗ วัน เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๐๒ ณ วัดพระธาตุมีชัย ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูอดุลย์สังฆกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “ปัญญาปทีโป” “ผู้มีปัญญาเป็นดวงประทีปนำทาง”

    ถ้าความต้องการของชีวิตคือการทำตามใจผู้ให้กำเนิดแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ในวันนี้ อาจเป็นเพียงผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพทางการค้าตามความต้องการของบิดามารดา แต่เพราะความต้องการในชีวิตของท่านคือการละกิเลสออกไปให้หมด ซึ่งการที่จะละกิเลสออกไปให้หมดได้นั้นต้องอาศัยการเสียสละอย่างใหญ่หลวงรวมถึงการกระทำความเพียรที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย

    ท่านเล่าว่าเมื่อได้บวช ชีวิตของท่านเหมือนติดปีกเบาสบายเพราะได้ปลดเปลื้องภาระความรับผิดชอบของครอบครัวที่ท่านต้องแบกรับมาตั้งแต่เด็กๆ เช่น การรับผิดชอบเงินทองของตนเองและผู้อื่น ความกังวลใจในกิจการค้าขายของครอบครัว การดูแลรักษาไร่นา ฯลฯ

    อีกทั้งการเจริญสมาธิปฏิบัติภาวนาก็ทำให้ท่านมีความสุขเป็นอันมาก จนเมื่อครบกำหนด ๗ วัน ท่านจึงต่อรองกับมารดา ขออยู่ต่อให้ครบพรรษา ซึ่งการต่อรองของท่านที่ขอบวชต่อนี้ได้สร้างความผิดหวังให้กับมารดาของท่านมาก

    ท่านว่าในขณะที่ใครบางคนคิดว่าการเจริญเติบโตในพระพุทธศาสนาของท่านถูกรดด้วยน้ำตาของผู้เป็นมารดา หากแต่สำหรับท่านแล้ว น้ำตาของผู้เป็นมารดากับเป็นดั่งกำลังใจให้ท่านได้เพียรพยายามเจริญภาวนา พร้อมกับระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา ระลึกถึงคุณงามความดีที่ได้เลี้ยงดูให้ท่านได้เติบโตจนสามารถค้นพบหนทางแห่งการล่วงพ้นจากความทุกข์

    “พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า วิริเย ทุกขมัจเจติ คนจะก้าวล่วงทุกข์ไปได้เพราะความพากเพียร การจะมีความเพียรอยู่ตลอดต้องมีอิทธิบาท ๔ เป็นหลัก

    คือ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความพากเพียร จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ และวิมังสาคือการตรึกตรองดูเหตุผลในการปฏิบัติของตนให้ถูกต้อง”

    ท่านเล่าว่าในระหว่างที่ปฏิบัติธรรมนั้น ท่านไม่เคยมีความสงสัยใดๆ ภายในจิตใจเลย เพราะท่านนึกถึงครูบาอาจารย์ นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงบรรดาพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งเป็นการระลึกนึกถึงในแง่มุมที่ว่าเมื่อพวกท่านเหล่านั้นปฏิบัติแล้วได้บรรลุถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ ท่านว่าท่านได้ยึดเอาเรื่องนี้มาเป็นกำลังใจ มาเป็นเครื่องวัดใจตัวของท่านเองตลอดเวลา

    “ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านบวชมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนแก่อายุเข้าไปตั้ง ๗๐-๘๐ ปี ท่านก็ยังอยู่ได้ ท่านต้องมีของดีแน่ๆ ผู้หญิงบางคนต้องเสียสละทิ้งลูกทิ้งสามีออกมาบำเพ็ญมาบวชจนแก่ เขาก็ต้องมีที่พึ่งของเขา เขามีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ของเขา นั่นแหละเราเอาอันนั้นมาวัด เอามาเป็นกำลังใจ เอามาเป็นเครื่องมืออุ้มชูจิตใจของเรา

    มันจะทำให้เราไม่ท้อแท้ ถ้ามัวแต่คิดว่าไม่ไหว ยึดติดบารมีเก่าก็คงจะไม่ไหวเช่นกัน เพราะเรื่องของบารมีเก่ามันก็มีติดตัวกันมาทุกคน เพียงแต่ว่ามันมีมากมีน้อยต่างกัน ที่พวกโยมมาวัดมานั่งกันอยู่ตรงนี้ก็มีเงินมาทุกคนนั้นแหละ แต่ถามหน่อยว่ามีมาเท่ากันไหม”

    อย่างไรก็ตามถึงแม้วาสนาโชคชะตาจะนำพาให้ท่านบวชได้สำเร็จ แต่เส้นทางแห่งการแสวงหาของท่านก็ยังมิได้สิ้นสุด เพราะความละเอียดอ่อนในเรื่องของธรรม เรื่องของการปฏิบัติ ยังคงเป็นสิ่งที่ท่านปรารถนาอยู่ทุกลมหายใจ

    ด้วยเหตุผลนี้เองท่านจึงได้หันหลังให้กับเรื่องราวทางโลกและตัดสินใจสะพายบาตรแบกกลดและอัฐบริขารที่จำเป็นออกเดินธุดงค์ ข้อหนึ่งเพื่อแสวงหาสถานที่สงบเพื่อปฏิบัติกรรมฐาน และอีกข้อหนึ่งคือเป็นการแสวงหาพ่อแม่ครูอาจารย์ดีๆ

    พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ล้วนแล้วแต่เคยเป็นเส้นทางเดินธุดงค์ของท่านมาแล้วทั้งนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์ที่ท่านอยู่ฝึกปฏิบัติและอยู่รับใช้อย่างใกล้ชิดก็เช่น หลวงปู่พรหม จิรปุณโญ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นต้น

    สำหรับพ่อแม่ครูอาจารย์องค์อื่นที่พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ได้เดินทางไปพบและขอคำแนะนำ ก็ล้วนแล้วแต่ให้ความเมตตาและช่วยสั่งสอนอบรมจนท่านมีความก้าวหน้าในการปฏฺบัติธรรมยิ่งขึ้นก็มีเช่น พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่คำดี ปภาโส หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์วัน อุตตโม ฯลฯ

    ซึ่งการได้พบกับพ่อแม่ครูอาจารย์เหล่านั้นบางองค์ก็พบเจอง่าย บางองค์กว่าจะพบก็ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก เพราะปฏิปทาและวัฒนธรรมของการเป็นพระป่าที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลาและไม่ยึดติดกับสิ่งใด อย่างเช่นกรณีของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านเล่าว่า…

    ในช่วงนั้นท่านได้ยินกิตติศัพท์ของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ว่าเป็นพระที่เคร่งครัด ปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจังและมีปฏิปทาที่ค่อนข้างผาดโผน เมื่อทราบว่าพระอาจารย์จวนกุลเชฏโฐ อยู่ที่ดงหม้อทอง ท่านจึงได้เริ่งรีบออกเดินบุกป่าทึบที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายต่างๆ จนถึงดงหม้อทอง แต่อนิจจาที่พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปยังที่อื่นแล้ว
    ต่อมาทราบว่าพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ อยู่ที่บ้านดงขี้เหล็ก ท่านก็รีบออกเดินทางแต่ก็ต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง
    ครั้งแรกไม่พบ

    ครั้งที่สองก็คลาด

    จนถึงครั้งที่สามนี้ไม่พลาด เพราะในที่สุดท่านก็ได้พบกับพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ สมตามความตั้งใจ ณ ถ้ำจันทร์

    ท่านเล่าว่าได้พบพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ กำลังปฏิบัติธรรมอยู่บนต้นไม้ในเหวลึก ท่านว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ที่ขึ้นมาจากก้นเหวข้างล่างและสูงจนเลยสันเขา
    พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านได้ใช้ไม้สองแผ่นพาดไปที่ต้นไม้ โดยองค์ท่านได้ไปนั่งและนอนเพื่อปฏิบัติธรรมอยู่ตรงกิ่งไม้ที่ได้พาดไว้ เมื่อพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ทราบความประสงค์ของท่าน ท่านจึงได้พูดธรรมะให้ฟังสั้นๆ ว่า…

    “เธอนี้มันติดสมมุติ ต้องเปลี่ยนสมมุติให้รู้ ข้ามสมมุติให้ได้”

    ท่านว่าเมื่อได้รับฟังธรรมะจากพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ แล้ว ถึงมันจะเป็นธรรมะที่แสนจะสั้นแต่มันก็คุ้มค่ากับความเหนื่อยยากที่ได้ตรากตรำฟันฝ่าเอาชีวิตเข้าแลกเพียงเพื่อขอให้ได้พบพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

    “บวชแล้วก็ต้องมุ่งมั่นปฏิบัติอย่างจริงจัง สิ่งแรกที่ควรมีคือความศรัทธา เพราะศรัทธาคือหนทางนำไปสู่การปฏิบัติ แต่ศรัทธาควรอยู่ในความพอดีเพราะถ้ามีมากไปปัญญามันจะไม่เกิด”
    ท่านเล่าว่าท่านได้เคยถามหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ในเรื่องของการนั่งสมาธิว่าเวลาที่ท่านนั่งสมาธิจิตของท่านจะดิ่งลงลึกโดยที่ตัวท่านเองก็ไม่ทราบว่าจิตอยู่ที่ไหน

    หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จึงได้ชี้แจงว่า อาการเช่นนี้เขาเรียกว่า “นิพพานพรหม” เป็นอาการที่จิตดับจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียง ไม่รับรู้อะไรจากภายนอก ถ้าไม่แก้ไขผู้นั้นก็จะคิดว่าตนเองได้พบพระนิพพานและจะไปไหนไม่รอด

    โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ยกตัวอย่างกรณีของหลวงปู่ขาว อนาลโยที่นั่งสมาธิตั้งแต่ ๖ โมงเย็นไปจนถึง ๖ โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น พอน้ำค้างจับร่างของท่านจนเปียกชุ่มท่านจึงรู้สึกตัวและออกจากสมาธิ หลวงปู่ขาว อนาลโย เองท่านก็ไม่ทราบว่าจิตของท่านไปอยู่ที่ไหน จึงได้ไปถามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และท่านก็ได้รับคำตอบสั้นๆ นิดเดียวเช่นกันว่า.. “ให้ไปตั้งต้นใหม่ ติดตามดูจิตตั้งแต่เริ่มเข้าสมาธิ ใช้สติปัญญาตามดูจิตให้ดีว่า วางอารมณ์อะไรจึงดับเสียงไปหมด ให้ดูว่าจิตไปอยู่ที่ไหนต้องตามให้รู้”

    ท่านว่า…“นี่แหละที่เขาเรียกว่าศรัทธาต้องอยู่คู่กับปัญญา”

    “พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่ให้พวกเราตั้งอยู่ในความประมาทของชีวิต ถึงเราจะเป็นคนหนุ่มก็ตาม คนแก่ก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างหรือธรรมะทั้งหลายรวบรวมลงไปในความไม่ประมาท ก็คือเมื่อคนไม่ประมาทในชีวิตของตน ไม่ประมาทในวัยของตน บุคคลนั้นย่อมปฏิบัติคุณงามความดีได้อย่างเต็มที่ การตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ก็คือ ตั้งอยู่ในความดีตลอด ไม่คิดทำความชั่ว คนนั้นแหละจะเป็นคนที่เจริญที่สุด แม้แต่จะเป็นพระ องค์ไหนไม่ประมาท องค์นั้นก็จะบรรลุธรรมก่อนเพื่อน คนเราจะพ้นทุกข์ได้ก็เพราะความไม่ประมาท”

    ท่านพระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป..หนึ่งในพระป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เกิดมาเพื่อกำจัดและละกิเลสให้ออกไปจากจิตใจ

    ความมุ่งมั่นและปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้ตนเองได้บรรลุถึงธรรมตามที่ตั้งใจนั้นท่านมิได้มุ่งหวังเพียงเพื่อตัวของท่านเองเพียงลำพัง

    ท่านว่าการช่วยให้ทุกคนมีสติ เข้าใจในธรรม รู้เท่าทันในทุกข์ก็เป็นหนึ่งในความปรารถนาของท่านอีกเช่นกัน เพียงแต่ว่าเรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่ที่เราจะปฏิบัติกับตัวเราเองอย่างไรและจะพากเพียรกันขนาดไหน

    ในส่วนของวัดอรัญญวิเวก บ้านปง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ สถานที่พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป พำนักจำพรรษาอยู่นั้น จัดว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญแห่งหนึ่งของพระป่ากรรมฐานครับ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เคยมีพระอริยสงฆ์หลายองค์เข้าพักจำพรรษา อีกทั้งชื่อของวัดก็เป็นชื่อที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรมเป็นผู้ตั้งให้

    มีบันทึกไว้ว่าวัดนี้แต่เดิมเป็นสำนักสงฆ์เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่อดีต การจัดสร้างสำนักสงฆ์ในช่วงนั้นเป็นการรวมตัวของชาวบ้านในตำบลบ้านปงที่มีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีความคิดเห็นตรงกันว่า จะต้องนิมนต์ครูบาอาจารย์กรรมฐานที่มีคุณธรรมสูงให้เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้ทำบุญและมีโอกาสฟังธรรมในคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ต่อมาชาวบ้านไปได้ยินข่าวมาว่ามีพระกรรมฐานมาพักอยู่ที่วัดเงี้ยว อำเภอแม่แตง จึงได้พากันเดินทางมายังวัดเงี้ยวเพื่อกราบขออาราธนานิมนต์มาพักจำพรรษา และก็คงเป็นด้วยบุญบารมีครับเพราะพระกรรมฐานกลุ่มนั้นมีหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระผู้นำ เมื่อหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทราบความประสงค์ของชาวบ้านปงท่านก็ไม่ได้ขัดข้องแต่ประการใด ท่านได้ตกลงรับนิมนต์และออกเดินทางพร้อมคณะศิษย์จากวัดเงี้ยวมายังบ้านปงทันที

    หลังจากที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จำพรรษา ณ สถานที่แห่งนี้และได้อบรมสั่งสอนธรรมะแก่ญาติโยมพอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านจึงได้บอกลาญาติโยมเพื่อไปหาสถานที่บำเพ็ญเพียรในที่อื่นต่อไป โดยก่อนจะลาจากท่านได้ฝากฝังให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาสถานที่แห่งนี้เพราะในอนาคตข้างหน้าจะมีเจ้าของเดิมเข้ามาพัฒนาดูแลสถานที่แห่งนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรือง โดยท่านได้ตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า…“สำนักสงฆ์อรัญญวิเวกบ้านปง”

    “..ดูตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง เรียกว่าดูที่ตัวเราก่อน ไม่ต้องไปดูคนอื่น ส่วนมากแล้วคนเรามักชอบโทษคนอื่นไม่ชอบโทษตัวเอง มันเหมือนกับเรามองดูขนตาของเรา แต่มองเท่าไรก็มองไม่เห็น บอกไม่ถูกว่ามันมีกี่เส้น มันยาวขนาดไหน มันไม่เห็นอะไรเลย การที่เรามองดูตัวเองไม่เห็น เพราะเราขาดสติปัญญา…”

    โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

    กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของภาพถ่ายนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่าน



    ที่มา พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 15 พฤศจิกายน 2017

แชร์หน้านี้

Loading...