เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 17 กุมภาพันธ์ 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,363
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,363
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพพาคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ และคณะกรรมการชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน ไปดูงานที่วัดนาหนอง ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เขามีตลาดไตโยน ไตโยนก็คือไทยโยนก เป็นพวกที่โดนกวาดต้อนมาจากเชียงแสนโบราณ อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนั้น แล้วก็ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษาของตนเองเอาไว้ได้

    แต่ว่าหมดจากรุ่นนี้ไปแล้ว รุ่นหลังก็น่าจะค่อย ๆ จืดจางไป โดยเฉพาะฝีมือการทอผ้า คนที่จะเอาดีทางด้านนี้ต้องทุ่มเทจริงจัง แต่ว่าปัจจุบันนี้วิถีชีวิตของเราไม่ได้บังคับเหมือนแต่ก่อน เมื่อก่อนนี้ ผู้ชายต้องทำไร่ ล่าสัตว์ ผู้หญิงต้องดูแลบ้านเรือน ทอผ้า เลี้ยงลูก ในเมื่อวิถีชีวิตไม่ได้บังคับ ก็ทำให้ความสำคัญของการทอผ้าลดน้อยถอยลงไปเรื่อย แล้วเรื่องที่ยากลำบากแบบนั้น ในปัจจุบันนี้ก็เลยไม่ค่อยมีใครอยากจะทำกัน

    ท่านทั้งหลายที่ศึกษาพระไตรปิฎกจะเห็นว่า พระพุทธเจ้ากำหนดให้ข้าวเปลือกเป็นทรัพย์ ก็คือใช้ทดแทนเรื่องของเงินทองได้ แม้กระทั่งตระกูลของพระพุทธเจ้า ก็คือไม่ว่าจะเป็นพระราชบิดา พระเจ้าอา ก็มีชื่อลงท้ายด้วยคำว่า "โอทนะ" คือ "ข้าว" ทั้งนั้น อย่างเช่นว่า สุทโธทนะ โอโตทนะ อมิโตทนะ เป็นต้น

    อีกประการหนึ่งที่เป็นทรัพย์ก็คือผ้า สมัยก่อนการทอผ้ายากมาก แคว้นกาสีที่สามารถทอผ้าที่บางเบาและนุ่ม ใส่สบายออกมาได้ จึงเป็นแคว้นที่ร่ำรวยที่สุดในสมัยพุทธกาล เราจะเห็นว่าพอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยเรื่องอะไร ก็จะพระราชทานผ้าให้ อย่างพระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานผ้า ๑ คู่ ให้กับจูเฬกสาฎก แล้วก็เพิ่มเป็น ๒ คู่ ๔ คู่ ๘ คู่ แต่จูเฬกสาฎกนำไปถวายพระพุทธเจ้าจนหมด

    แม้กระทั่งถ้าใครศึกษาในเรื่องของประวัติศาสตร์ของเรา จนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ข้าราชการต่าง ๆ ก็ยังมีเบี้ยหวัดและผ้าปี ก็คือกำหนดว่าปีหนึ่งจะได้รับพระราชทานผ้าเท่าไร จะได้รับพระราชทานเงินเท่าไร เงินก็คือเบี้ยหวัด เพราะว่าสมัยก่อนใช้หอยเบี้ยเป็นเงิน จนกระทั่งมาเปลี่ยนเป็นเงินก้อน เป็นเงินแถบ เป็นเงินฮาง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,363
    แต่ว่าผ้าไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่ว่าเพิ่มความประณีตขึ้น อย่างเช่นว่าให้สาวสรรกำนัลในปักผ้าเสียก่อน แล้วค่อยพระราชทานให้ ที่เรียกว่า "ผ้าสมปัก" แล้วบางท่านด้วยความเคารพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ใช้ผ้านั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง มีการแต่งกลอนล้อเลียนว่า "ไม่ขอเป็นผ้าสมปักพระนายไวย" คำว่า พระนายไวย ก็คือตำแหน่งจมื่นไวยวรนาถ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญเทียบเท่าระดับคุณพระ ถ้าถัดขึ้นไปจากนั้นก็จะเป็นพระยา เป็นเจ้าพระยา แล้วก็เป็นสมเด็จเจ้าพระยา เป็นต้น

    ภายหลังพอมีเครื่องจักรเข้ามาทอผ้าแทน ความขี้เกียจก็มาเยือน คนที่ทอผ้าด้วยมือก็น้อยลงไปทุกที ก็เหลือแต่ชนเผ่าต่าง ๆ ที่ยังห่างไกลความเจริญ ก็ยังคงทอผ้าใช้เองกันมา แล้วก็บุคคลที่เห็นความสำคัญในการทอผ้า สืบสานวัฒนธรรมประเพณีโบราณ ก็เพียรพยายามที่จะอบรมสั่งสอนแก่ผู้ที่มาสืบทอดวิชาของตน แต่ว่าผ้าโบราณก็จะเป็นผ้าที่มีราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ

    ถ้าหลายท่านศึกษาเรื่องผ้าโบราณแล้วจะตกใจ บางผืนราคาหลายแสน บางผืนราคาหลายล้าน ยิ่งเก่าแก่มาก วิธีการทอเป็นผืนผ้าขึ้นมายิ่งยากลำบาก ยิ่งมีการยกดอกยกลาย มีการสอดประสาน แม้กระทั่งระหว่างเส้นด้ายกับโลหะ ก็ยิ่งราคาแพงหนักเข้าไปอีก

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องปกติ ก็คือ
    มีเกิดขึ้น แล้วก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา แต่ว่าถ้าหากว่าเราเห็นคุณค่า แล้วมีรุ่นหลัง ๆ สืบทอดไว้ได้ ก็จะเป็นสิ่งที่แสดงออกซึ่งตัวตนอย่างชัดเจน แล้วก็จะกลายเป็นสิ่งที่คนอื่นใฝ่หา กลายเป็น Soft Power อย่างที่รัฐบาลต้องการ

    อย่างปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าเพื่อนบ้านของเรา มีการ "เคลม" ชุดไทยว่าเป็นชุดประจำชาติของเขา จนกระทั่งทางรัฐบาลไทยต้องยื่นจดลิขสิทธิ์ชุดไทยพระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงร่วมคิดค้นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นไทยเรือนต้น ไทยจักรี ไทยบรมพิมาน ไทยจิตรลดา เป็นต้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเราสามารถรักษาไว้ได้ ก็จะ "ขายได้" คำว่า "ขายได้" ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าขายเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ แต่ว่าขายได้ในฐานะวัฒนธรรมประจำชาติที่น่าสนใจ น่าสัมผัส

    ระยะนี้ถ้าท่านทั้งหลายไปกรุงเทพฯ เข้าไปตามวัดใหญ่ ๆ อย่างวัดอรุณราชวราราม หรือว่าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) จะเห็นว่านักท่องเที่ยวเช่าชุดไทยมาแต่ง แล้วถ่ายรูปกันครึกครื้นมาก นั่นก็คือ Soft Power เป็นพลังที่สร้างเงินทองให้กับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างดี

    แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้สำคัญตรงที่ว่า เราต้องมีความจริงจังและจริงใจ ซึ่งภาษาพระของเราก็คือต้องมีสัจจบารมี มีความอดกลั้นอดทน ก็คือ ขันติบารมี มีความพากเพียรไม่ท้อถอย คือ วิริยบารมี ถึงจะยืนหยัดทำงานเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรมนี้ได้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,363
    หลายท่านฟังดูจะเห็นว่า ทำไมคล้ายคลึงกับการปฏิบัติธรรม ? ก็เนื่องเพราะว่าเรื่องของ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น เราสามารถที่จะปรับใช้กับทุกอย่างในการดำเนินชีวิตได้ เพียงแต่ว่าต้องมีความเพียร ไม่ท้อถอย และทำให้ต่อเนื่อง อย่าได้ขาดช่วงลง

    วันนี้ท่านมอเอ (พระมอเอ กิตฺติโก) ปรารภกับกระผม/อาตมภาพว่า อยากจะลาสิกขา กระผม/อาตมภาพบอกว่า อยากจะลาก็ลา ไปใช้ชีวิตให้พอ แล้วค่อยกลับมาใหม่ แต่ถ้าคุณกลับมาใหม่ อีกไม่นานก็จะเหมือนเดิมอีก ก็คืออยากที่จะลาสิกขาใหม่ ถ้าหากว่าทนสู้ในตอนนี้จนผ่านไปได้ เราก็จะไม่อยากที่จะลาสิกขาอีก

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นไม่ต่อเนื่อง ไปเปิดช่องว่างจนกระทั่งกิเลสตีเอา แล้วพวกเราทั้งหลายก็มักจะเป็นแบบนี้กันทั้งนั้น บางคนก็ไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำไปว่าพลาดตอนไหน อย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยบอกว่า จังหวะที่เรารู้สึกดีมาก ๆ เหมือนจะเหาะจะบิน เหมือนเป็นพรหมเป็นเทวดานั้น ต้องระวังให้มากที่สุด เพราะว่าพลาดเมื่อไรก็เป็นหมาเมื่อนั้น..!

    เนื่องจากว่าเวลากิเลสจะเล่นงานเรา เขาไม่ได้ "ตีฆ้องร้องป่าว" มาก่อน บางทีเป็นระยะเวลาที่เนิ่นนาน ปล่อยให้เราหลงระเริงจนกระทั่งเผลอเอง อย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยยกตัวเองว่า ปฏิบัติธรรมต่อเนื่องทั้งกลางวัน กลางคืน สามารถทรงสมาธิจิตต่อเนื่อง ตามกันได้ ๒ เดือนกว่า ๓ เดือน ไม่หลุดเลยแม้แต่วินาทีเดียว มารู้ตัวอีกที พังตอนไหนก็ไม่รู้ ?!

    นี่คือสิ่งที่เคยพลาดมาแล้ว แต่ว่าพวกท่านทั้งหลายส่วนใหญ่แล้วพอพลาด อันดับแรก วิเคราะห์ไม่ออกว่าพลาดเพราะอะไร ? เอาง่าย ๆ แค่ว่าถ้าปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง พลาดได้แน่นอน

    ประการที่สองก็คือ พลาดแล้วอยากได้คืน อยากเมื่อไร แย่เมื่อนั้น เพราะว่าความอยากจะเป็นตัวฟุ้งซ่าน ยิ่งมาขวางกำลังใจของเราหนักขึ้น สิ่งที่ต้องการจะได้คืนมา ก็กลายเป็นยากมากขึ้นไปอีก ก็คือโดนกิเลสหลอกสองชั้น หลอกให้เราอยากได้ดี แล้วเราก็อยากเสียจนเต็มที่ เมื่อเอากิเลสนำหน้า เอาตัณหานำทาง แล้วได้ดีขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่ประหลาดแล้ว..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,360
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,363
    ประการต่อไปก็คือ พวกเราพลาดแล้วพลาดอีก แต่ไม่เข็ด ไม่เบื่อจริง ๆ ไม่หน่ายจริง ๆ กลายเป็นเบื่อ ๆ อยาก ๆ แม้กระทั่งชีวิตฆราวาสก็เหมือนกัน หลายต่อหลายคนก็บวชแล้วสึก บวชแล้วสึก ก็เพราะว่าเบื่อ ๆ อยาก ๆ ไม่เบื่อจริง ไม่เข็ดจริง ก็เลยไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะหลีกหนีกิเลสอย่างแท้จริง

    ในเมื่อกำลังใจไม่เพียงพอ ทำไม่ต่อเนื่อง แถมยังไม่รู้จักเข็ดจักหลาบกับความผิดพลาดของตัวเอง ก็ต้องแสวงหาความเจ็บปวดกันต่อไป..!

    หลายท่านก็คงจะรู้ดีว่า ตอนเปลี่ยนจากพรหมจากเทวดาลงมา กำลังใจแย่กว่าหมานั้น รสชาติของชีวิตเป็นอย่างไร ? ถ้าไม่เข็ด ก็คงจะเป็นยิ่งกว่าหมาเสียอีก แต่ถ้าหากว่าวันไหนเข็ด เราก็จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อย จนกว่าจะเข้มแข็งและยืนหยัดได้ด้วยตนเอง

    หลังจากนั้นแล้วก็ใช้ปัญญาในการพินิจพิจารณา หาทางหลีก หาทางหนีจากวัฏสงสารนี้ ท้ายที่สุดก็ไม่ต้องหาอะไรมาก เลี้ยวเข้าหา ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือมรรค ๘ นั่นแหละ ทำให้จริง ๆ เท่านั้น

    ถ้าหากว่าทำจริงจังและต่อเนื่อง ปัญญาก็จะเกิดมากขึ้นเรื่อย จะรู้ว่าจัดการกับ รัก โลภ โกรธ หลง แต่ละอย่างได้อย่างไร ถึงจะทำให้เราได้ประโยชน์ กำลังใจดีขึ้นไปกว่านี้ เจริญขึ้นไปกว่านี้ แล้วจนท้ายที่สุดก็สามารถปล่อยวางทุกอย่างได้ หลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพาน
    แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องทำ เพราะว่าถ้าไม่ทำ เรื่องที่ยากกว่านั้นก็จะมาอีก

    สำหรับวันนี้เลยเวลามามากแล้ว ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสารที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...