เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 8 มีนาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพมีภารกิจสำคัญ คือทำหน้าที่รองประธานคณะพระวิปัสสนาจารย์ ตามโครงการอบรมวิปัสสนากรรมฐานแก่เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดทั้ง ๑๒๐ แห่ง ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม หมู่ที่ ๑ ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

    ในงานนี้ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙) กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ มาเป็นประธานเปิดงานให้ ทั้งที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ติดภารกิจในการตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวง ซึ่งเปิดการตรวจในวันนี้เป็นวันแรก

    ท่านเจ้าคุณอาจารย์เมตตาให้โอวาทเป็นเวลาถึง ๑ ชั่วโมงครึ่ง กล่าวถึงนโยบายซึ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้ร่างเอาไว้ เพื่อปรับปรุงแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดทั่วประเทศ และได้อนุโมทนากับทางวัดท่าขนุน จังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้ถวายเงินประเดิมกองทุนเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติให้กับท่านไป ท่านถึงได้มีงบประมาณมาแบ่งสันปันส่วนให้กับคณะสงฆ์ทั้ง ๑๘ ภาค ในการจัดอบรมกรรมฐานแก่เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดของทุกภาค

    ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้บอกกล่าวถึงแนวทางในการร่างระเบียบของการตั้งสำนักปฏิบัติธรรมใหม่ โดยที่ให้มีแนวทางการเผยแผ่ดังนี้

    ข้อที่ ๑ ต้องมีการอบรมบุคลากรในด้านวิปัสสนากรรมฐาน หรือที่เรียกกันว่าพระวิปัสสนาจารย์ ซึ่งในขณะนี้นั้นเป็นที่ต้องการมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ แต่ว่าในการอบรมนี้จะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือเป็นไปตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธศาสนา

    ดังนั้น..ไม่ว่าท่านจะสอนกรรมฐานในแนวทางใดก็ตาม ถ้าหากว่ามีคนสอบถาม จะต้องอธิบายได้ว่าเข้ากับหลักสติปัฏฐาน ๔ ในพระพุทธศาสนาตรงข้อใด ซึ่งกระผม/อาตมภาพได้ยินแล้วก็ยิ้มอยู่ในใจว่า หัวข้อนี้ของท่านเจ้าคุณอาจารย์เป็นงานที่
    กระผม/อาตมภาพทำเป็นปกติอยู่แล้ว
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ข้อที่ ๒ ต้องมีนวัตกรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งคำว่านวัตกรรมนี้ ญาติโยมทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งพระภิกษุสามเณรของเรา ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ประดิษฐกรรม นวัตกรรมก็คือการปรับปรุงของเก่าให้เกิดของใหม่ขึ้นมา แต่ประดิษฐกรรมเป็นการสร้างของใหม่ขึ้นมาเลย

    อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่าของเก่ามีการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูป มีการประดิษฐ์โทรศัพท์ มีการประดิษฐ์โทรทัศน์ แต่ว่าทางด้านบริษัท Apple หยิบจับเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ซึ่งมีอยู่แล้ว มารวมกับเป็นสิ่งที่เรียกว่า สมาร์ทโฟน ถ้าอย่างนี้เรียกว่าเป็นนวัตกรรม

    ดังนั้น..นวัตกรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงเป็นการนำเอาหลักธรรมมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อที่จะได้สอนคนรุ่นใหม่ให้น่าสนใจและสามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่ใช้ภาษาโบราณในลักษณะ "ไดโนเสาร์เต่าล้านปี" ซึ่งสิ่งนี้ทางวัดท่าขนุนก็พยายามทำอยู่แล้ว เพราะว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้วบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น มีหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็คือ อุตตานีกะโรติ การทำของลึกให้ตื้น หรือว่าทำของยากให้ง่ายขึ้น

    ดังนั้น..นวัตกรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงจุดนี้ ก็คือการที่เราประยุกต์เอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มาเผยแผ่ให้ตรงกับยุคตรงกับสมัย ไม่ใช่ไปประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ หรือว่านำเอาคำสอนใหม่ ๆ ที่ไม่ได้มีในพระไตรปิฎกเข้ามาสอนสั่งกัน

    ข้อที่ ๓ ก็คือทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ซึ่งในปัจจุบันนี้เรามีพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ๑๓๐ กว่าประเทศ แต่ว่าในด้านของการปฏิบัตินั้น พุทธมณฑลของเรายังไม่ได้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

    ดังนั้น..การที่เราจะให้แค่พุทธมณฑลเป็นพระพุทธศาสนาโลกนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่ควรที่จะให้วัดทุกวัดของเราเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของแต่ละชุมชน เมื่อทุกวัดทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ประเทศไทยเราจะเป็นแบบอย่างและเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาโลกไปโดยอัตโนมัติ
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ข้อที่ ๔ ก็คือสร้างให้เกิดมูลค่าด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ทั้งศีลธรรมและวัฒนธรรม ตรงจุดนี้เราท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่าปัจจุบันประเทศไทยของเรานั้น การท่องเที่ยวเฟื่องฟูมาก ท่านทั้งหลายถ้าหากว่าได้เห็นฝรั่งไปล่องห่วงยางที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ดี หรือว่าเห็นบรรดาฝรั่งท่องเที่ยวตามแหล่งเที่ยวต่าง ๆ ทั่วประเทศก็ตาม ตลอดทั้งคนจีนที่ไหลมาเทมาในปัจจุบันนี้ก็มีเทรนด์ ก็คือค่านิยมรุ่นใหม่ ว่ามาเมืองไทยแล้วต้องแต่ชุดนักเรียนถ่ายรูป เหล่านี้เป็นต้น

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็คือวัฒนธรรมที่เกิดเป็นมูลค่าที่เรียกว่า Soft Power ซึ่งไม่ใช่มีแต่เพียงเท่านี้ การท่องเที่ยวไทย อาหารไทย มวยไทย ตลอดจนกระทั่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นไทย ๆ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ต่างชาติต้องการ โดยเฉพาะจริตนิสัยและรอยยิ้มแบบไทย เป็นที่ชื่นชมของทุกชาติทุกภาษาเป็นอย่างมาก

    ดังนั้น..ทางพระพุทธศาสนาของเรา ทำอย่างไรที่เราจะสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้น ในการที่ดึงคนเข้ามาปฏิบัติธรรม ซึ่งฝรั่งนั้นถ้าทำอะไรก็ทำจริง โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ถ้าเอ่ยถึง Meditation ฝรั่งก็จะสนใจหลักการปฏิบัติตามแบบของวัชรยาน คือทิเบต หรือว่าตามแบบของพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า เพราะว่าทั้งสองประเทศนั้นมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักการปฏิบัตินี้มานานก่อนเรา แต่คำว่านานก่อนนี้ก็คือเผยแผ่ต่อทางด้านโลกตะวันตก โดยที่ประเทศไทยเรายังตามหลังเขาอยู่

    เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ Soft Power ทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมแล้วเกิดผลดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา หรือว่าการทำงาน เมื่อคนเขาเห็นผลดีแล้ว ก็จะเข้ามาประพฤติปฏิบัติกันเอง ทำให้พระพุทธศาสนาของเราบังเกิดมูลค่าทางวัฒนธรรมขึ้นมาได้
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ข้อที่ ๕ เป็นข้อสุดท้าย ในการพัฒนาการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะแนวทางพัฒนาของเจ้าสำนักปฏิบัติธรรม ก็คือประสานการเผยแผ่ด้วยพลังบวร "บ" คือบ้าน "ว" คือวัด "ร" คือโรงเรียนและราชการ ทำอย่างไรที่เราจะประสานให้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    ไม่ใช่ไปทะเลาะเบาะแว้งตั้งแง่ใส่กัน ทำอย่างไรจะให้ชาวบ้านเห็นวัดเป็นศูนย์กลาง ทำอย่างไรจะให้โรงเรียนและหน่วยราชการเข้ามาใช้วัดเป็นศูนย์กลาง เป็นสิ่งที่เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะต้องใช้กลยุทธ์ หรือว่าวางแนวยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรมของตนให้อยู่ในแนวทางนี้ จะทำให้เกิดความสามัคคีเป็นปึกแผ่น

    ในเมื่อสามารถที่จะสร้างความสามัคคีเป็นปึกแผ่น สร้างมูลค่าด้วยพระพุทธศาสนา ซึ่งก่อให้เกิดศิลปะวัฒนธรรม มีการพัฒนานวัตกรรม ทำให้พระพุทธศาสนาเข้าถึงได้ง่าย ประเทศไทยของเราก็จะกลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ซึ่งทั้งคนไทยและทุกชาติทุกภาษาจะต้องแสวงหา

    ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกอบรมบุคลากรของเรา ซึ่งทางกองเผยแผ่พระพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ดี ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดประยุรวงศาวาส ซึ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. เป็นประธานอยู่ก็ตาม ก็จะเป็นผู้วางแนวทางนโยบายและหางบประมาณมาหนุนเสริม

    แต่ว่าบุคคลที่จะทำสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้สำเร็จ อันดับแรกเลยก็คือ เจ้าคณะปกครองระดับต่าง ๆ อันดับต่อไปก็คือ เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมที่ต้องมาอบรมพัฒนา ให้ตนเองมีศักยภาพและแนวทางในการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับ และเป็นไปโดยสามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวเอาไว้ในพระไตรปิฎก
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เมื่อท่านเจ้าคุณอาจารย์กล่าวเปิดพิธีการอบรมเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ขอตัวเดินทางเพื่อไปร่วมงานตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวงประจำปี ๒๕๖๖

    ขอเรียนพระภิกษุสามเณรของเรา และญาติโยมที่ฟังอยู่ว่า หลักการทั้ง ๕ ข้อที่กล่าวมานี้ กระผม/อาตมภาพใช้ความจำของตนเองสรุปออกมา อาจจะไม่ได้ตรงทุกคำพูด หรือว่าไม่ได้ตรงหัวข้อเป๊ะ ๆ ตามคำพูดนั้น ๆ แต่ว่าข้อใหญ่ใจความก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันนี้

    เนื่องเพราะว่าในฐานะที่เป็นรองประธานคณะพระวิปัสสนาจารย์ในโครงการครั้งนี้ ก็ต้องนั่งนิ่งอยู่กับที่ ไม่สามารถที่จะหากระดาษปากกามานั่งจดตามที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้บรรยาย จึงต้องอาศัยสมองของตนเองจดจำเอาไว้ เมื่อถึงเวลาแล้วก็นำมาบอกกล่าวให้กับญาติโยมได้ฟัง และจะได้คัดลอกเสียงออกมาเป็นตัวอักษร เพื่อที่จะได้ไม่หลงลืม

    เป็นไปตามหลักหัวใจนักปราชญ์คือ สุ จิ ปุ ลิ ประกอบไปด้วย สุตตะ ตั้งใจฟัง จิตตะ คิดตามไปว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ปุจฉา สงสัยก็ให้สอบถามรายละเอียดเหล่านั้น และลิขิต บันทึกเอาไว้เพื่อทบทวนตนเองในเวลาต่อไป

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...