เผยพบคนไทยเป็น "ธาลัสซีเมีย" เพิ่มขึ้นชั่วโมงละคน อีก 24 ล้านยีนผิดปกติ

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย zipper, 8 พฤษภาคม 2005.

  1. zipper

    zipper เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กันยายน 2004
    โพสต์:
    5,226
    ค่าพลัง:
    +10,590
    ปลัดสธ.เผยพบคนไทยเป็นโรคธาลัสซีเมียเพิ่มขึ้นชั่วโมงละกว่า 1 คน อีก 24 ล้านคน มียีนผิดปกติ โรคนี้แฝงในตัวสามารถถ่ายทอดโรคไปสู่ลูกหลานได้ โดยมีคู่สมรสเสี่ยงมีลูกเป็นโรคนี้มากถึงปีละเกือบ 50,000 คู่ แนะวิธีการป้องกันโดยเลือกคู่ เลือกครรภ์ เลือกคลอดจะทำให้เด็กไทยปลอดโรคธาลัสซีเมียได้ปีละกว่า 12,000 คน ขณะที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งทั่วประเทศ เปิดบริการตรวจเลือดหาความผิดปกติพันธุกรรมโรคธาลัสซีเมีย ให้หญิงตั้งครรภ์และสามี ฟรี

    นพ.วิชัย เทียนถาวร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 8 พฤษภาคมทุกปี เป็นวันธาลัสซีเมียโลก ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เกิดจากความผิดปกติของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแตกง่าย ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตัวและตาเหลือง ตับม้ามโต โตช้า ป่วยบ่อย ต้องรับเลือดประจำ นับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก ล่าสุดองค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีประชากรโลกร้อยละ 5 หรือประมาณ 250 ล้านคน มียีนแฝงโรคธาลัสซีเมีย สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ โดยมีเด็กเกิดใหม่ทั่วโลกที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงเพิ่มขึ้นปีละ 300,000 คน

    ในส่วนของประเทศไทย จากการสำรวจพบว่ามีคนไทยเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 630,000 คน หรือร้อยละ 1 ของประชากร โดยมีผู้ที่มียีนผิดปกติที่ไม่แสดงอาการแต่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ ประมาณร้อยละ 30-40 ของประชากรไทย หรือมีประมาณ 20-24 ล้านคน ส่วนใหญ่จะพบในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ตามลำดับ คนกลุ่มนี้หากแต่งงานกัน พบว่า 1 ใน 5 หรือ 6 จะมีโอกาสเสี่ยงได้ลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียปีละประมาณ 50,000 คู่ และต่อปีจะมีทารกเกิดใหม่ เป็นโรคนี้แต่กำเนิดเพิ่มขึ้นปีละ 12,125 คนหรือเพิ่มชั่วโมงละ 1.3 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งจะเป็นชนิดรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาทุกเดือน และรักษาตลอดชีวิต ค่าใช้จ่ายรักษาเดือนละประมาณ 10,500 บาท ต่อปีรัฐจะต้องเสียค่ารักษาผู้ที่เป็นโรคนี้ปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท นับว่าเป็นเงินมหาศาลและเพิ่มขึ้นตามจำนวนคนป่วย

    นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า วิธีการป้องกันไม่ให้มีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย มีแนวทาง 3 ประการได้แก่ เลือกคู่ เลือกครรภ์และเลือกคลอด โดยการเลือกคู่นั้น ผู้ที่รู้ตัวว่ามียีนผิดปกติของโรคนี้อยู่ ให้หลีกเลี่ยงคู่ครองที่มีความผิดปกติเหมือนกัน และควรตรวจเลือดก่อนตั้งครรภ์ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ส่วนการเลือกคลอด ขอให้หญิงมีครรภ์ทุกรายไปฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้รับการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ และคลอดอย่างมีคุณภาพ คาดหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะป้องกันเด็กไม่ให้เป็นโรคธาลัสซีเมียได้ปีละกว่า 12,000 ราย และเพื่อให้ได้ลูกที่เป็นเด็กปกติ มีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย มีไอคิว อีคิวดี ส่งผลให้คนไทย เมืองไทยแข็งแรงอย่างยั่งยืนต่อไป

    ทั้งนี้ในปี 2548 นี้ กระทรวงสาธารณสุขให้สถานบริการทุกระดับจัดบริการให้คำแนะนำความรู้โรคธาลัสซีเมียแก่หญิงมีครรภ์ทุกราย หากบริการใดเกินขีดความสามารถให้มีระบบส่งต่อไปยังเครือข่าย และให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด ให้บริการตรวจเลือดคัดกรองหาความผิดปกติให้หญิงมีครรภ์และคู่สมรสทุกรายที่สมัครใจฟรีในโครงการ 30 บาท ตั้งเป้าหมายให้บริการครอบคลุมให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังขยายความรู้โรคธาลัสซีเมียในกลุ่มนักเรียน หญิงวัยเจริญพันธ์ คู่สมรส อาสาสมัครสาธารณสุข 800,000 คน เพื่อให้ความรู้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อให้เด็กไทยรุ่นใหม่ไม่เป็นโรคธาลัสซีเมีย

    สำหรับผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียแล้ว สามารถรับการรักษาในโครงการ 30 บาทได้ฟรีเช่นกัน ส่วนมากมักจะรักษาตามอาการ เช่นการให้เลือดเมื่อมีอาการซีด และให้ยาขับธาตุเหล็ก เพื่อลดการสะสมในอวัยวะต่างๆไม่ให้เป็นอันตรายต่อชีวิต และไม่ควรสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เนื่องจากจะมีผลต่อร่างกายทำให้ขาดออกซิเจนมากขึ้นหรือทำให้ตับถูกทำลาย ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่นเนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ผักสดต่างๆ งดการกินเลือดหมู เลือดเป็ด เลือดไก่ เนื่องจากจะทำให้ร่างกายมีปริมาณธาตุเหล็กสูงเกินไป และไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือดกินเอง เพราะอาจมีธาตุเหล็ก ทำให้ธาตุเหล็กสะสมมากขึ้น

    ทั้งนี้ในเดือนกันยายน 2548 กระทรวงสาธารณสุขจะจัดประชุมวิชาการโรคธาลัสซีเมียแห่งชาติครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ เครือข่ายธาลัสซีเมียเข้มแข็ง สร้างเด็กไทยแข็งแรง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆด้านการส่งเสริม ป้องกันและควบคุมโรค พร้อมประสานความร่วมมือทุกระดับในการร่วมควบคุมป้องกันโรค
    โดยจะกราบทูลเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารการแพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานต่างๆทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมประมาณ 500 คน นายแพทย์วิชัยกล่าว
     

แชร์หน้านี้

Loading...