อารัมมณ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย รสมน, 12 พฤศจิกายน 2009.

  1. รสมน

    รสมน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,451
    ค่าพลัง:
    +2,047
    อารัมมณปัจจัย



    โลก (นามธรรม-รูปธรรม) เกิดขึ้นเป็นไป(เกิด-ดับ-สืบต่อ)
    แล้วก็มีภพมีชาติต่อไปเรื่อย ๆ.....เพราะยังไม่ได้ดับ เหตุ
    เพราะยังมี เหตุ-ปัจจัย ซึ่ง เป็นปัจจัยที่สำคัญ
    และเป็นปัจจัยแรก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง.

    และปัจจัยที่สอง...ที่สำคัญ คือ อารัมมณปัจจัย.

    อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้
    สิ่งที่จิตกำลังรู้ทางตา (สีสัน-วัณณะ...รูปารมณ์)
    คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา.
    เสียง เป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ(จิต) ที่กำลังได้ยิน.
    (เป็นต้น)

    เพราะในวันหนึ่ง ๆ ทุกท่านปรารถนาอารมณ์ต่าง ๆ
    เช่น ทางตา....ก็ต้องการเห็นสิ่ง (ที่น่าพอใจ) ต่าง ๆ
    ทางหู...ก็ต้องการได้ยินเสียง (ที่น่าพอใจ)อยู่เรื่อย ๆ
    ทางจมูก....ก็ต้องการจะได้กลิ่น (ที่น่าพอใจ) ต่าง ๆ
    ทางลิ้น.....ก็ต้องการจะได้ลิ้มรส(ที่น่าพอใจ) ต่าง ๆ
    ทางกาย...ก็ต้องการที่จะกระทบสัมผัสสิ่ง (ที่น่าพอใจ) ต่าง ๆ
    ทางใจ...ก็คิดนึกอยู่เสมอ...ด้วยความต้องการ.



    แม้จะรู้ว่าในขณะที่เพียงคิด ก็เป็นโลภะมูลจิตแล้ว
    อย่าลืมว่า ปกติในชีวิตประจำวันนั้น
    ในขณะที่ไม่หลับสนิท มีโลภะมูลจิตเป็นประจำ
    ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
    เพราะแม้ไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส
    ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
    แต่ขณะที่ทางใจกำลังคิดขณะใด...
    ถ้าขณะนั้น ไม่ใช่กุศลประเภทหนึ่ง ประเภทใด
    คือ ทาน ศีล ความสงบของจิต หรือ สติปัฏฐาน
    ให้ทราบว่า ขณะนั้น เป็นโลภะมูลจิต
    ที่กำลังยินดีในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังคิด.

    ทุกท่านคิดเรื่องที่ท่านต้องการหรือเปล่า.?
    ปกติแล้วจะไม่ทราบเลยว่า เพราะความต้องการ จึงคิดเรื่องนั้น
    โดยทั่วไปในวันหนึ่ง ๆ
    ถ้าขณะนั้น ไม่ใช่โทสะมูลจิตที่เป็นไปกับความคิด
    ก็ต้องเป็นโลภะมูลจิต.

    ให้พิจารณา...เห็นความเกิดขึ้นบ่อย ๆ เดิม ๆ
    เพราะว่าทุกท่านคิดเดิม ๆ บ่อย ๆ ด้วยโลภะมูลจิต ซึ่งเป็นเหตุ (ปัจจัย)
    ซึ่ง โลภะ คือ เหตุ (ปัจจัย) นั้นเอง ที่กำลังปรารถนาซึ่งอารมณ์.

    เพราะเหตุว่า โลภะ เป็นสภาพที่ยินดี-ต้องการในอารมณ์ต่าง ๆ
    ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ.(โลกทั้ง ๖)

    และ ผัสสะ(เจตสิก) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง
    เป็น อารัมมณปัจจัยให้เกิด จิต และเจตสิก.

    การศึกษาพิจารณาใน เหตุผล
    ถ้าเหตุผลถูก สามารถตรวจสอบได้กับพระไตรปิฏก
    แต่ว่าถ้าเหตุผลไม่ถูก เมื่อไปตรวจสอบกับพระไตรปิฎกก็จะไม่ตรง.

    เพราะฉะนั้น อารัมมณปัจจัย หมายความถึง
    สิ่งที่เป็นอารมณ์
    ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดจิต และ เจตสิก ซึ่งกำลังรู้อารมณ์นั้น

    หรืออีกนัยยะหนึ่ง
    ในขณะที่ จิต และ เจตสิก กำลังรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
    สิ่งนั้น...(หมายถึง ปรมัตถธรรม ๔) เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์
    เรียกว่า เป็นอารัมมณปัจจัยให้แก่สิ่งที่กำลังรู้
    (สิ่งที่กำลังรู้ คือ จิตและเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้)
    เพราะฉะนั้น
    อารัมมณปัจจัย ก็ไม่ใช่อื่นไกลจาก "สิ่งที่เป็นอารมณ์"

    จิตไม่มีอารมณ์เกิดไม่ได้ จิตเกิดขึ้นขณะใด...ต้องรู้อารมณ์
    ข้อความในพระไตรปิฎก อุปมา ว่า

    จิต เหมือนคนที่มีร่างกายอ่อนแอ
    จะลุกขึ้น ก็ต้องอาศัยไม้เท้า และสิ่งที่จะช่วยพยุง คือ อารมณ์ ฉันใด
    จิต จะปราศจากอารมณ์ไม่ได้ ฉันนั้น.

    แม้จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่ก็ต้องรู้อารมณ์
    จิต จึงต้องอาศัยอารมณ์ จึงจะเกิดขึ้นได้
    ถ้าไม่มีอารมณ์ จิตก็เกิดขึ้น ไม่ได้.

    เช่น ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้น จะให้จิตได้ยินเกิดไม่ได้ (เป็นต้น)
    เพราะฉะนั้น การที่โสตวิญญาณ(จิต) เกิดขึ้นได้
    ก็เพราะว่า มีเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง ที่เป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ(จิต)
    โดย "เสียง" (รูป) เป็นอารัมมณปัจจัยของ "โสตวิญญาณ" (จิต)
    (เป็นต้น)

    เพราะฉะนั้น
    อารัมมณปัจจัย ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ
    เพราะเหตุว่า จิต เป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์
    และเมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ก็ต้องการอารมณ์
    คือ แสวงหาอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุด.

    เพราะฉะนั้น
    จึงทรงแสดงอารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัยที่สอง.



    ผัสสะเจตสิก เป็นสภาพที่มีจริง
    และสามารถที่จะเป็นอารัมมณปัจจัยของจิต
    ที่กำลังรู้ลักษณะของผัสสะเจตสิกในขณะนั้น.



    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พิจารณาธรรมะได้ว่าสำหรับตัวท่าน
    เฉพาะตัวท่าน ผัสสะเจตสิกเป็นอารัมมณปัจจัยแล้วรึยัง
    เป็นแล้วรึยัง?


    ตอนนี้ผัสสะเป็นนามธรรม ก็เป็นอารมณ์ให้จิต ให้สติระลึกรู้เช่นกัน
    ผัสสะก็เป็นอารมณ์ของสติ.


    เวลาที่สติเกิด ระลึกรู้สภาพธรรมอะไร.?


    รูปบ้าง นามบ้าง.


    เคยระลึกรู้ลักษณะของผัสสะมั้ย?


    ไม่เคย.


    เพราะฉะนั้น หมายความว่า
    ขณะน้น ผัสสะ ยังไม่เป็นอารัมมณปัจจัยแก่จิต.
    เห็นมั้ย ว่าธรรมะเป็นเรื่องจะต้องคิด ไม่ใช่เรื่องท่อง
    เรื่องท่อง ก็ไม่เข้าใจในเหตุผล คือ ได้แต่จำแล้วก็ลืมได้
    ถ้าเข้าใจจริง ๆ พิจารณาจริง ๆ จะไม่ผิด
    เพราะว่า สภาพธรรมทุกอย่าง เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกได้.



    จิตปรมัตถ์ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ มีจริง ๆ
    เช่น ขณะที่กำลังได้ยินเสียง ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ได้ยิน.
    เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกตรงลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้
    ก็จะรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นจิตได้.

    และสำหรับ เจตสิกปรมัตถ์ คือ เจตสิก ประเภทต่าง ๆ
    ก็มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละประเภท
    เช่น เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ
    โลภะเจตสิกเป็นสภาพที่ต้องการ โทสะเจตสิกเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง
    ฯลฯ

    เพราะฉะนั้น เมื่อเจตสิกแต่ละประเภท มีลักษณะ และอาการปรากฏขณะใด
    ขณะนั้น...เจตสิกที่กำลังปรากฏนั้น ก็สามารถที่จะเป็นอารมณ์ของจิต
    คือ เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น รู้ลักษณะของเจตสิกประเภทนั้น ๆ ได้
    เพราะฉะนั้น....

    จิต และ เจตสิก เป็นอารัมมณปัจจัยได้
    รูป และ นิพพาน เป็นอารัมมณปัจจัยได้
    ปรมัตถธรรมทั้งหมด เป็นอารัมมณปัจจัยได้ .

    นิพพาน เป็นอารัมมณปัจจัยของโลกุตตรจิตเท่านั้น
    และ นิพพาน เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์.

    นอกจากนั้น สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม
    เช่น บัญญัติต่างๆ ก็เป็นอารัมมณปัจจัยด้วย
    จริงหรือไม่จริง?

    เช่นขณะนี้...กำลังเห็นอะไร จะตอบว่ายังไงดีกำลังเห็นอะไร...
    เห็นเก้าอี้ นั่นหมายความว่า เป็นบัญญัติ..ใช่มั้ย.?

    สำหรับสิ่งที่มีรูปร่างสันฐานที่ปรากฏให้เห็นทางตา
    ลักษณะที่ใช้คำว่า "เก้าอี้"
    ขณะที่กำลังนึกถึงคำว่า "เก้าอี้" ขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม
    แต่เป็นบัญญัติ ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตได้ โดยรู้บัญัติอารมณ์นั้นทางใจ
    ใม่ใช่ทางตาที่เห็น หรือ ไม่ใช่ทางหูที่ได้ยิน (เป็นต้น)


    เพราะฉะนั้น
    สภาพธรรมทุกชนิด
    ทั้งปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม เป็น อารัมมณปัจจัย.

    ขณะที่จิตกำลังรู้สภาพธรรม เช่น ที่กำลังคิดนึกทุกวันนี้ คิดถึงอะไร
    คิดถึงปรมัตถธรรม หรือว่า คิดถึงบัญญัติธรรม (สิ่งที่ไม่มีจริง-สมมติ).?

    เคยคิดถึงปรมัตถธรรม (สิ่งที่มีจริง) บ้างรึเปล่า.?
    เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบได้ว่า
    ขณะใดที่จิตกำลังมีสิ่งใดเป็นอารมณ์
    ขณะนั้น...สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยแก่จิตขณะนั้น.



    เพราะฉะนั้น ผัสสะเจตสิก เป็นอารัมมณปัจจัยได้มั้ย?
    ได้.

    เป็นรึยัง.?
    ยัง.

    ต้องรู้ตามความเป็นจริง ว่าผัสสะเจตสิก เป็นอารัมนปัจจัยได้
    แต่ขณะนี้ ยังไม่เป็น
    เพราะว่า สติยังไม่ได้ระลึกรู้ ตรง ลักษณะของผัสสะเจตสิก
    เพราะฉะนั้น เพียงเข้าใจ เรื่องของผัสสะเจตสิก
    ใช้คำว่า "ผัสสะ" และนึกถึงชื่อว่า "ผัสสะ"
    ในขณะนั้นให้ทราบว่า ยังไม่ได้มีผัสสะเจตสิก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม
    เป็นอารมณ์ในขณะนั้น เพียงแต่ว่า มีบัญญัติธรรม
    คือ สัญญาความจำในเสียงของคำว่า "ผัสสะ" เป็นอารมณ์.




    นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน
    เพราะเสียงต่าง ๆ เป็นคำ เสียงต่าง ๆ เป็นชื่อ
    เพราะฉะนั้น เวลาที่ทุกท่านมีการคิดนึกเกิดขึ้น
    ก็คิดนึกถึงชื่อ คิดนึกถึงคำ
    คือ คิดนึกด้วยสัญญาความจำในเสียงต่าง ๆ
    ที่ทำให้เกิดการนึกคิดถึงสัตว์ บุคคลต่าง ๆ ตามเสียงนั้น
    เช่น ได้ยินคำว่า “นก” คิดถึงสัตว์ชนิดหนึ่ง
    ได้ยินคำว่า"แมว" จะคิดถึง "นก" รึปล่าว.....ไม่คิด.
    เพราะฉะนั้น เสียงต่างๆ ก็เป็นคำ ที่ทำให้จำ
    หรือว่า นึกถึงรูปร่างสันฐานของสิ่งต่าง ๆ วัตถุต่าง ๆ
    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย
    ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน.

    และสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง
    ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง
    แต่ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้น
    ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมก็ตาม
    อาศัยกันและกันเกิดขึ้น โดยปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่ง.

    สภาพธรรมที่เกิดแล้ว
    จะไม่เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมะอื่นเกิดไม่มี.!
    และสภาพธรรมะใดก็ตาม ที่เกิดแล้ว
    จะเกิดโดยปราศจากปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ก็ไม่มี.!

    เพราะฉะนั้น
    นามธรรม และ รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ต่างกันก็จริง
    แต่ว่า อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นไป
    โดยสภาพของลักษณะของธรรมะนั้น ๆ

    ซึ่งถ้าศึกษาโดยละเอียด
    จะเห็นได้ว่าขณะจิตหนึ่ง ๆ ซึ่งเกิดขึ้น
    จะมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดขึ้น เช่น เหตุปัจจัย
    ที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว ได้แก่เจตสิก ๖ ประเภท คือ
    อกุศลเหตุ ๓
    ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑
    และ โสภณเหตุ ๓
    ได้แก่ อโลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑

    ขณะที่เกิดโลภะ คือ ความติดข้องต้องการ
    ขณะนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะโลภะเท่านั้น
    แต่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย
    ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า โลภะเจตสิกที่เกิดขึ้นนั่นเอง
    เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย
    โลภะ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น
    และเป็นปัจจัยทำให้อกุศลเจตสิกอื่น ๆ เกิดร่วมด้วย
    เช่น ทำให้ความเห็นผิด คือ ทิฏฐิเจตสิก เกิดร่วมด้วยก็ได้
    หรือว่าทำให้ความสำคัญตน (มานะเจตสิก) เกิดร่วมด้วยก็ได้.
    (เป็นต้น)

    นอกจากนั้น ขณะที่โลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต
    และเจตสิกอื่น ๆ ซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว
    ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นด้วย.

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งนามธรรมและรูปธรรม
    ที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามปกติในชีวิตประจำวันแต่ละขณะ
    ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วนั้น.

    ถ้าได้ทราบถึงความละเอียด ว่า
    สภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดเกิดขึ้นได้
    โดยอาศัยสภาพธรรมใดเป็นปัจจัยแล้ว
    จะทำให้เห็น “ความเป็นอนัตตา” จริง ๆ
    ซึ่งแม้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว
    แต่ก็ต้องอาศัยความละเอียดของปัจจัยหลายปัจจัย
    สภาพธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้.


    จะต้องศึกษาปริยัติธรรมละเอียดสักแค่ไหนจึงจะปฏิบัติได้
    ซึ่งก็ขอเรียนให้ทราบว่า ที่ว่าเป็นปริยัติธรรมที่ละเอียดนี้นะ
    ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย...แต่อยู่ที่ทุกท่านในขณะนี้
    ตามปกติ ตามความเป็นจริง
    เพียงแต่ว่า ท่านจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิด
    และกำลังปรากฏที่ตัวท่านแต่ละบุคคล ได้อย่างละเอียดแค่ไหน.

    แม้ไม่ทราบเรื่องของปัจจัยโดยละเอียด
    ก็ทราบว่าสภาพธรรรมที่กำลังเกิดและปรากฏในขณะนี้
    เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง
    เช่น กำลังเห็น เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม
    เสียงเป็นรูปธรรม ได้ยินเป็นนามธรรม เป็นต้น
    นี่คือเข้าใจโดยความไม่ละเอียด.

    แต่แม้กระนั้น
    ก็ยังยึดถือเห็น ยึดถือได้ยิน ยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตา
    ยึดถือเสียงที่ปรากฏทางหู
    ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุต่าง ๆ

    ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม ก็ยังไม่พอ
    เพราะฉะนั้น ที่จะปฏิบัติธรรมไม่ใช่รอให้เรียนจบ
    หรือให้ละเอียดถึงขั้นนั้น ขั้นนี้
    แต่ขณะใด ที่ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่
    เกิดขึ้น และปรากฏ และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น
    จนกระทั่งเป็น “สังขารขันธ์ ปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้น
    และระลึกได้ ตามที่เข้าใจแล้วว่าสภาพธรรมแต่ละอย่าง
    ที่ไม่ใช่ตัวตนนั้น
    สภาพธรรมใดไม่ใช่ตัวตน
    เพราะเป็นนามธรรมชนิดใด หรือ เป็นรูปธรรมชนิดใด.

    แต่แม้กระนั้น
    ทุกท่านก็กล่าวว่า หลงลืมสติมากเหลือเกิน
    ก็เพราะเหตุว่า การฟัง การเข้าใจสภาพธรรมยังไม่ละเอียดพอ
    ยังไม่เป็นพหูสต
    ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการพิจารณาลักษณะธรรม
    ตามที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่แจ่มแจ้งขึ้น ชัดเจนขึ้น
    และเป็นสัญญาที่มั่นคง ทำให้ไม่หลงลืม
    และสติก็สามารถจะเกิดขึ้น
    ระลึกรู้ทุกขณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ.




    วันนี้ได้ถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา กำหนดอิริยาบทย่อย นั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้ธรรมะเป็นทาน ศึกษาธรรม สมาทานศีล
    และตั้งใจว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ สวดมนต์ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย
     
  2. Manothong

    Manothong Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    80
    ค่าพลัง:
    +74

แชร์หน้านี้

Loading...