อริยมรรคสมังคี : พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 12 พฤษภาคม 2010.

แท็ก: แก้ไข
  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    อ ริ ย ม ร ร ค ส มั ง คี
    พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)
    วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา


    คำพูดที่เรียกว่า อริยมรรคสมังคี เป็นคำพูดเรียก ชื่อแห่งภูมิจิต
    ที่นักปฏิบัติได้นั่งสมาธิรวมจิตลงถึงความเป็นหนึ่งแล้ว
    และในที่ประชุมแห่งอริยมรรคสมังคีนั้น
    เป็นที่ประชุมพร้อมแห่งองค์อริยมรรคทั้ง ๘ ประการ
    ประชุมพร้อมอยู่เองด้วย

    อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการก็ประชุมพร้อมอยู่เองด้วย
    ตลอดพระธรรมวินัยทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
    ก็ประชุมพร้อมอยู่เองในขณะจิตอันเดียวกันนั้นด้วย

    นักปฏิบัติ ผู้รู้เร็ว สามารถรู้พร้อมในขณะจิตที่รวมลงเป็นหนึ่งนิ่ง
    ถึงที่ประชุมแห่งอริยมรรคสมังคีนั้นโดยเร็ว
    เรียกว่า สุขะ ปฏิปทาขิปปาภิญญา

    แต่นักปฏิบัติ ผู้รู้ช้า ก็ไม่สามารถจะรู้เร็วพร้อมในขณะที่จิตรวมลง
    ถึงความเป็นหนึ่งแห่งอริยมรรคสมังคี
    เรียกว่า สุขะ ปฏิปทา ทันธาภิญญา

    อีกโวหารหนึ่ง โบราณาจารย์เจ้า เรียกว่า เอกะ วิธา พิสมัย
    แปลว่า ตรัสรู้ได้ในขณะจิตดวงเดียว

    บัดนี้จะอธิบาย คำว่า มรรค อริยมรรค ผล อริยผล นั้นต่อไป

    คำว่า มรรค เป็นชื่อ แห่งหนทางทั่วไปในมนุษยโลก
    เทวโลก พรหมโลก ตลอดเป็นชื่อแห่งหนทางพระนวโลกุตระ
    คือทางพระนิพพาน

    คำว่า อริยมรรค เป็นชื่อแห่งหนทางพระนวโลกุตระ
    คือ เป็นชื่อแห่งหนทางพระนิพพานอย่างเดียว
    ไม่ทั่วไปในหนทางอื่นๆ

    คำว่า ผล เป็นชื่อแห่ง ความสำเร็จ หรือ ความบรรลุ
    ตลอดความตรัสรู้ ว่าโดยเฉพาะในทางโลกีย์
    หมายเอา ความสำเร็จผลที่ตนต้องการ ในทางโลกุตระ หมายดวงปัญญา

    คำว่า อริยผล เป็นชื่อแห่งมรรค ผล ธรรมวิเศษในทางโลกุตระ
    อย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องในทางโลกีย์

    บัดนี้ จะอธิบาย เหตุ หรือ ปัจจัยที่ให้บังเกิดมีมรรค มีผลขึ้น
    ข้อนี้ นักปฏิบัติ พึงทราบดังนี้ว่า

    มรรค ก็ดี อริยมรรค ก็ดี ตกแต่งเอาเองได้

    ผล ก็ดี อริยผล ก็ดี ตกแต่งเอาเองไม่ได้ เป็นของเป็นเอง
    หรือ สำเร็จเองมาจากมรรค และอริยมรรคที่ตกแต่งถูกต้องแล้ว

    เมื่อบุคคลต้องการผลประโยชน์ในทางโลกีย์
    ก็ให้พึงตกแต่งมรรคในทางโลกีย์ให้ถูกต้อง


    คือ ต้องการเดินไปมาสะดวก
    ก็ให้ตกแต่งถนนหนทางให้เรียบร้อย

    ต้องการมีวิชาความรู้
    ก็ให้ศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ต่อครู อาจารย์

    ถ้าต้องการความมั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติมากๆ
    ให้ตกแต่งการค้าขายให้ถูกต้องในทางสุจริตธรรม

    ถ้าต้องการเป็นคนดี
    ก็ให้ตกแต่งความประพฤติตนให้เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริตธรรม

    ถ้าต้องการเป็นคนมีชื่อเสียงยศถาบรรดาศักดิ์
    ให้ตกแต่งตนเป็นคนทำราชการแผ่นดินให้ถูกต้องในทางราชการนิยม

    เมื่อบุคคลต้องการโลกุตระ
    ให้ตกแต่งอริยมรรคให้ถูกต้องตามพระพุทธพจน์เดิมของพระพุทธเจ้า
    ซึ่งจะแสดงในข้อต่อไปข้างหน้า


    ในที่นี้มีประสงค์จะแสดงรูปเปรียบไว้พอเป็นนิทัศนะ

    มรรค กับ ผล มีรูปเปรียบเหมือนบุคคลปลูกต้นไม้ลงในพื้นที่ไร่
    ที่สวน หรือปลูกต้นข้าวลงในพื้นที่นา ในเวลากำลังปลูกอยู่ก็ดี
    และเวลาบังเกิดเป็นต้น เป็นลำแล้ว
    แต่ต้นลำยังอ่อนอยู่ก็ดี ย่อมไม่แลเห็นผล

    อาศัยความเชื่อแน่ในใจว่า ถ้าต้นลำแก่เต็มที่
    และถึงฤดูเป็นผล ก็จะต้องเป็นผลแน่ และเป็นผลจริงๆ ด้วย
    ฉันใดก็ดี มรรค กับ ผล ก็มีรูปเปรียบเหมือนกัน ฉะนั้น

    อริยมรรค กับ อริยผล มีรูปเปรียบเหมือนบุคคลก่อไฟ
    หรือจุดตะเกียงเจ้าพายุ ในเวลากำลังก่อไฟ
    หรือกำลังจุดตะเกียงเจ้าพายุอยู่นั้น
    ไฟยังไม่ติด ก็ยังไม่สว่างฉันใด อริยมรรค ก็เหมือนกัน


    ฉะนั้น ต่อเมื่อเวลาก่อไฟติดแล้วหรือจุดตะเกียงเจ้าพายุติดแล้ว
    ย่อมบังเกิดแสงสว่างขึ้นพร้อมกัน
    ฉันใดก็ดี อริยผล ก็มีรูปเปรียบเหมือนกันฉะนั้น


    ตรงตามพระพุทธภาษิตว่า

    นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา แปลว่า แสงสว่าง เสมอด้วย ปัญญาไม่มี

    ดังนี้ ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า อริยผล คือ
    ดวงปัญญาซึ่งบังเกิดความสว่างไสวขึ้นในเวลาที่จิตประชุมอริยมรรคแล้ว

    <table align="center" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="94%"><tbody><tr><td class="postbody" valign="top">[​IMG]

    วิธีตกแต่งอริยมรรค

    นักปฏิบัติฝ่ายฆราวาส พึงตกแต่งตนให้ถึงพระไตรสรณคมน์
    เป็นโลกียสรณคมน์ก่อนแล้วปฏิบัติตนให้ถึงโลกุตรสรณคมน์ต่อไป


    และตกแต่ง ทาน ตกแต่ง ศีล
    ตกแต่งข้อวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องเรียบร้อยทุกประการ

    ตลอดตกแต่ง สติ สัมปชัญญะ รวมจิตให้สงบแลตั้งมั่นเป็นสมาธิ
    ประชุมอริยมรรคสมังคี ดังนี้ชื่อว่าตกแต่งอริยมรรค

    นักปฏิบัติฝ่ายบรรพชิต ให้ตกแต่งศีลธรรม ๕ ประการ คือ

    ๑. พึงตกแต่ง สมบัติทั้ง ๕ ให้ปราศจากวิบัติทั้ง ๕ คือ

    ก. ตกแต่ง วัตถุสมบัติ ให้ปราศจากวัตถุวิบัติ
    ข. ตกแต่ง สีมาสมบัติ ให้ปราศจากสีมาวิบัติ
    ค. ตกแต่ง ญัตติสมบัติ ให้ปราศจากญัตติวิบัติ
    ง. ตกแต่ง อนุสาวนสมบัติ ให้ปราศจากอนุสาวนวิบัติ
    จ. ตกแต่ง ปริสสมบัติ ให้ปราศจากปริสวิบัติ

    ๒. พึงตกแต่ง กาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากโทษ ๕ โทษ
    ๘ โทษ ๑๐ โทษ ๒๒๗ ทรงไว้ซึ่งความเป็นผู้มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐
    ศีล ๒๒๗ และจตุปาริสุทธศีลทั้ง ๔ ประการให้บริสุทธิ์เรียบร้อย

    ๓. พึงตกแต่ง กิจวัตร ๑๐ ธุดงควัตร ๑๓ ขันธวัตร ๑๔
    ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

    ๔. พึงตกแต่ง สติให้เป็น มหาสติ
    คือ เบื้องต้น มีสติเฉพาะหน้า กำหนดตัวผู้รู้เฉพาะหน้า รวมจิต
    ประชุมอริยมรรคได้แล้ว ตรวจค้นร่างกาย พิจารณาเวทนา จิต ธรรม
    จนเป็นที่ตั้งของสติได้จริงๆ ตลอดทำสัมปชัญญะให้รู้ตัว
    และรู้จิตพร้อมทุกขณะตลอดไป

    ๕. พึงตกแต่งสมาธิ พร้อมทั้งตกแต่งดวงจิต ความคิด ความเห็น
    ตลอดความตั้งใจไว้ในที่ชอบให้ถูกต้องเรียบร้อยจริงๆ
    เมื่อนักปฏิบัติทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต ได้ตกแต่งข้อปฏิบัติดี
    ปฏิบัติชอบถูกต้องเรียบร้อยดีแล้ว

    อัฏฐังคิกมรรค ทั้ง ๘ ประการก็เป็นอันตกแต่งถูกต้อง
    ไปพร้อมกันอยู่ในตัวเสร็จแล้ว เหมือนหมุนลานนาฬิกา
    เมื่อหมุนถูกต้องเต็มบริบูรณ์แล้วเครื่องจักรอื่นๆ
    ก็หมุนไปพร้อมกันเอง ฉันใดก็ดี
    อัฏฐังคิกมรรคทั้ง ๘ ประการเหล่านี้ ก็เหมือนกันฉะนั้น


    อรรถาธิบาย ข้อนี้มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้
    คือ เมื่อตกแต่งสมบัติทั้ง ๕ และตกแต่งกาย วาจา ใจ
    ให้บริสุทธิ์ ปราศจากโทษทั้งปวงดังกล่าวแล้ว

    ตลอดได้ตกแต่งกิจวัตร ๑๐ ธุดงควัตร ๑๓ ขันธวัตร ๑๔
    ถูกต้องเรียบร้อยดีแล้ว ก็ชื่อว่าตกแต่ง อริยมรรค

    ข้อที่ ๓-๔-๕ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว
    แปลว่า มีวาจาชอบ มีการงานชอบ มีอาชีพชอบ
    ประชุมพร้อมอยู่แล้วในความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์เป็นอธิศีล

    ในเมื่อได้ตกแต่ง สติ ให้เป็น สัมมาสติ พร้อมทั้งสมาธิและสัมปชัญญะ
    รู้ตัว รู้จิตทุกขณะตลอดไปนั้น ชื่อว่าได้ตกแต่งอริยมรรคข้อที่ ๖-๗-๘
    คือ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ แปลว่า มีความเพียรชอบ
    มีสติชอบ มีสมาธิชอบ ประชุมพร้อมอยู่แล้ว
    ในความเป็นผู้มีสมาธิสิกขา เป็นอธิจิตสิกขา

    ในเมื่อได้ตกแต่งความรู้ ความคิด ความเห็น
    ตลอดความตั้งใจไว้ในที่ชอบถูกต้องเรียบร้อยแล้ว
    ชื่อว่า ได้ตกแต่งอริยมรรคข้อที่ ๑-๒
    คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป แปลว่า ความเห็นชอบ ความดำริชอบ
    ประชุมพร้อมอยู่ในความเป็นผู้มีปัญญาสิกขา เป็นอธิปัญญา

    นักปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้ พึงเดินมรรคให้ถูก
    ดังต่อไปนี้ คือ บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา
    ให้เป็น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ถึงพร้อมบริบูรณ์อยู่แล้ว
    ชื่อว่า เป็นผู้เดินตามหนทางอริยมรรคถูกต้องแล้ว

    บัดนี้ จักแสดงอริยมรรคสมังคีต่อไป
    นักปฏิบัติ เมื่อเป็นผู้มีสติบริบูรณ์ มีสัมปชัญญะบริบูรณ์
    ได้พยายามทำความเพียรประกอบกับจิตอยู่เสมอ
    คือมีสติกำหนดจิต หรือประคับประคองจิตยังจิตให้ตกลงสู่ภวังค์เองแล้ว
    ประคับประคองเอาจิตในภวังค์ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ได้
    ไม่ไป ไม่มา ไม่ออก ไม่เข้า ไม่ขึ้น ไม่ลง
    เป็นหนึ่งจริงๆ ตลอดเป็นวิหารธรรม
    เครื่องอยู่ของจิตและเป็น เอกวิธาพิสมัย
    ตรัสรู้ได้ในขณะจิตดวงเดียว ว่า

    อริยมรรคทั้ง ๘ ประการได้ประชุมพร้อมแล้วในจิตดวงเดียวเมื่อใด
    เมื่อนั้น นักปฏิบัติย่อมรู้เป็นปัจจัตตังจำเพาะกับจิต
    ว่าจิตของเราได้ประชุมอริยมรรคสมังคีครั้งหนึ่งแล้ว
    หรือสองครั้ง สามครั้ง ตลอดประชุมถึง ๔ ครั้ง ก็ย่อมรู้ตลอดไปฯ
    ตามนัยแห่งพระพุทธฎีกาที่ทรงตรัสเทศนาในสังฆคุณว่า

    “ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคฺคานิ อฏฺฐปุริปุคฺคลา”

    แปลว่า นี่อย่างไร คู่ของบุรุษ ๔ คู่
    นับเรียงตามลำดับตัวบุคคลเป็น ๘ บุคคลดังนี้

    เมื่อนักปฏิบัติ ได้ปฏิบัติตามพระพุทธฏีกานี้ถูกต้องแล้ว
    จิตย่อมประชุมอริยมรรคถึง ๔ ครั้ง
    สำเร็จเป็นมรรค ๔ ผล ๔ ดังที่ปรากฏแจ้งอยู่แล้ว
    ในพระนวโลกุตรธรรมเจ้า ๙ ประการ

    [​IMG]
    [พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)]


    บัดนี้ จักแสดงอริยผลพอรู้เงื่อนเพื่อเป็นทางปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสืบไป
    นักปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้
    เมื่อเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย
    คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
    ดำเนินตามหนทางอริยมรรคถูกต้องดังกล่าวแล้ว
    ตลอดจิตประชุมอริยมรรคสมังคีเองแล้ว
    ย่อมบังเกิดอริยผลแจ้งประจักษ์ใจ ดังต่อไปนี้

    ๑. บังเกิดมี วิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่

    พร้อมทั้งมีธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมแจ้งประจักษ์

    ๒. บังเกิดมี จักขุกรณี ญาณกรณี

    คือ เห็นทางปฏิบัติอันเป็นกลาง
    ซึ่งไม่ลำเอียงเข้าไปใกล้ในความรักและความเกลียด
    กระทำดวงตาภายในให้บังเกิดเป็นตาอริยบุคคล
    พร้อมทั้งกระทำญาณ ความรู้วิเศษ
    ดำเนินตามหนทางอันเกษมจากโยคะทั้งปวงไปได้โดยสะดวก

    ๓. บังเกิดมี อุปสมาย อภิญญายฺ

    คือเข้าถึงความเป็นผู้สงบระงับ และบังเกิดมีอภิญญาณ
    ความรู้ยิ่ง เห็นจริง ในพระธรรมวินัยนี้ทุกประการ

    ๔. บังเกิดมีอริยผล คือ มีปัญญาจักษุ

    ดวงตาเป็นดวงปัญญาปรีชาญาณ
    หยั่งรู้หยั่งเห็นในสารพัดไญยธรรมทั้งปวง

    ๕. บังเกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก

    คือถ้านักปฏิบัติเป็นพระโพธิสัตว์
    ผู้ทรงสร้างพระสมติงสะบารมีเต็มบริบูรณ์แล้ว
    ได้มาปฏิบัติพระพุทธศาสนาถูกต้องตามหนทางแห่งความตรัสรู้นี้
    เป็นสัพพัญญูพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นในโลก
    ทรงทศพลญาณ มีพระสมันตะจักษุ
    ดวงตาอันแจ้งใสสว่างยิ่ง ไม่มีแสงสว่างอื่นเสมอได้
    ทรงทัศนาการทั่วไปในพระธรรมวินัยทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
    ตลอดได้ทรงทัศนาการทั่วไปในไตรโลกธาตุทั้งสิ้นด้วย

    อริยผล เท่าที่แสดงมาทั้งสิ้นนี้
    เป็นอริยผลที่กล่าวเป็นส่วนรวมและแสดงเป็นกลางๆ
    ฟังได้ทั้ง สมถะ และวิปัสสนา

    ไม่ได้ชี้ขาดลงไปว่า ผู้นั้นได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษชั้นนั้นๆ
    ข้อนี้เอาไว้ให้นักปฏิบัติผู้ที่ปฏิบัติได้แล้ว
    ได้รู้เป็นปัจจัตตังโดยเฉพาะตนเอง




    (ที่มา : อริยมรรคสมังคี ใน ฐานิยปูชา ๒๕๔๐ โดย พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์
    (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม), หน้า ๕๖-๖๒)
    </td> </tr> <tr> <td> http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=16671</td> </tr> <tr> <td class="postdetails" height="40" valign="bottom">
    </td></tr></tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...