เรื่องเด่น อย่าเอาความไม่ยึดมั่น หรือความปล่อยวาง มาเป็นข้ออ้างที่จะปล่อยปละละเลย - สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 29 สิงหาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    240825769_1440627026308419_8786638090714193772_n.jpg


    “อย่าเอาความไม่ยึดมั่น หรือความปล่อยวาง มาเป็นข้ออ้างที่จะปล่อยปละละเลย

    …. ที่เห็นง่ายๆ ก็คือ คนที่เอาความไม่ยึดมั่น ขึ้นมายึดไว้ แล้วไม่ทําอะไร ไม่เอาอะไร แล้วก็บอกว่าฉันไม่ยึดมั่น แต่เขาไม่รู้ตัว ว่าเขาทําไปตามความไม่ยึดมั่นที่เอามายึดไว้

    …. คือ เป็นเพียงความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่นเท่านั้น เป็นความยึดมั่นซ้อนเข้าไปอีก ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้นเป็นไปเองด้วยปัญญา ไม่ต้องเอาความไม่ยึดมั่นขึ้นมายึดไว้

    …. เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยวางเพียงด้วยความไม่ยึดมั่นที่ยึดถือเอาไว้ และอย่าเอาความปล่อยวางมาเป็นข้ออ้างที่จะปล่อยปละละเลย เพราะอันนั้นไม่ใช่ความปล่อยวางอะไรเลย แต่เป็นความประมาทแท้ๆ”






    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
    ที่มา : จากหนังสือรวมสารธรรมคำสอน "สุขง่าย ทุกข์ยาก" หน้า ๕๓

    ขอบคุณที่ ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ
     
  2. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    ระวัง! ยึดมั่น ในความไม่ยึดมั่น
    ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้น เกิดจากปัญญา ที่รู้ความจริง


    …. “บางคนไปฟังพระเทศน์ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะเกิดความทุกข์บีบคั้นจิตใจ ฟังแล้วก็ชอบใจ เห็นว่าเป็นความจริงอย่างนั้น และคิดว่าจะต้องเอาไปปฏิบัติ บอกว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรแล้ว

    …. กลับไปบ้านก็ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรทั้งนั้น บอกว่า ฉันไม่ยึดมั่นถือมั่น ไปๆ มาๆ ก็ทํานองว่า ลูกก็ไม่ใช่ของเรา ภรรยาก็ไม่ใช่ของเรา เงินทอง บ้านช่อง ก็ไม่ใช่ของเรา ฯลฯ

    …. บอกว่าไม่ยึดมั่น แต่เจอความยึดมั่นอย่างหนักเข้าไปแล้ว โดยไม่รู้ตัว

    …. นี่ก็คือ “ความยึดมั่น ในความไม่ยึดมั่น” เพราะว่า ความไม่ยึดมั่นที่เขาอ้างนั้น เกิดจาก “สัญญา” (ข้อที่กําหนดหมายจําไว้) ซึ่งรับเอามาถือตาม แล้วก็ยึดมั่นว่าฉันจะไม่ยึดมั่น เท่านั้นเอง
    .
    …. คนที่เอาความไม่ยึดมั่นขึ้นมายึดไว้ แล้วไม่ทําอะไร ไม่เอาอะไร แล้วก็บอกว่าฉันไม่ยึดมั่นนั้น เขาไม่รู้ตัวว่าเขาทําไปตามความไม่ยึดมั่นที่เอามายึดไว้ คือ เป็นเพียงความยึดมั่นในการ ยึดถือความไม่ยึดมั่นนั้น เป็นความยึดมั่นซ้อนเข้าไปอีก แถมยังตกลงไปในความประมาทอีกด้วย

    …. ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้น เป็นไปเองด้วยปัญญา ไม่ต้องเอาความไม่ยึดมั่นขึ้นมายึดไว้ ถ้า“ไม่ยึดมั่น”เป็นอย่างว่าเมื่อกี้ ก็จะเจอพวกไม่ยึดมั่นแปลกๆ อีกเยอะ
    .
    …. อีกรายหนึ่งบอกว่า หลวงพ่อของเขามีคนอุปฐากมากมาย มีหญิงสาวคอยดูแลนวดให้ด้วย ท่านเป็นพระอริยะ ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านจะทําอะไรก็ได้ เพราะท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น

    …. ญาติโยมหลายท่านฟังแล้วว่า น่าจะจริงนะ เพราะพระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น จะไปเอาอะไรกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่จริงแท้แน่นอน เป็นของสมมติ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    …. ที่นี้ อีกพวกหนึ่งก็บอกว่า อะไรๆก็เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน คนก็เป็นเพียงขันธ์ ๕ มาประกอบกันเข้า ไม่มีอะไรจะพึงยึดถือ ไม่มี นาย ก. ไม่มี นาง ข. เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะฆ่าจะฟันใครก็ไม่บาป

    …. กรณีเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของการที่ผู้มีกิเลส ยกเอา“สภาวธรรม” นี้มาเป็นข้ออ้าง สําหรับการกระทําด้วยความยึดมั่นถือมั่นของตน
    …. อย่างในกรณีหลังนี้ ถ้าไม่มีความยึดมั่นในคนที่จะถูกฆ่า ถ้าไม่มีเจตนายึดมั่นที่เจาะจงมุ่งร้ายต่อเป้าของการกระทํา จะมีการยกศัสตราวุธขึ้นฟันแทงพุ่งเข้าใส่ได้อย่างไร อันนี้เป็นการกระทําด้วยความยึดมั่นถือมั่นอย่างรุนแรงเลยทีเดียว
    …. ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้นเกิดจากปัญญา ที่รู้ความจริง อย่างพระอรหันต์ที่ท่านไม่ยึดมั่นนั้น ท่านมีจิตใจเป็นอิสระ แต่ในการดําเนินชีวิตทั่วไป ที่เรียกว่าอยู่ในโลกอยู่ในสังคม ท่านว่าไปตามความจริงของสมมติ และ ปฏิบัติไปตามเหตุตามผล
    …. สําหรับปุถุชน ความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นได้แค่เครื่องฝึกตนเท่านั้น เพราะความไม่ยึดมั่นของปุถุชนที่เอามาปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ความไม่ยึดมั่นที่แท้จริง มันเป็นเพียงความไม่ยึดมั่นที่รับมาด้วยสัญญา ไม่ใช่เกิดจากปัญญา คือเอาความจําหมายในความไม่ยึดมั่นนี้มาจับยึดเข้าไว้อีกทีหนึ่ง จึงเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

    …. ถ้าเป็นปุถุชน ก็ทําได้แค่นี้ หรือแค่ฝึก
    …. ดังนั้น สําหรับคนทั่วไป ถ้าจะไม่ยึดมั่น จึงต้องระวัง ถ้าจะให้ ค่อนข้างปลอดภัย ก็ตระหนักใจว่า “เราฝึกตนในความไม่ยึดมั่น”

    .
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
    ที่มา : หนังสือ “มองธรรมถูกทาง มีสุขทุกที่” พิมพ์ครั้งที่ ๓๙ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ หน้า ๕๕-๕๖
    ขอบคุณที่ ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ
     

แชร์หน้านี้

Loading...