หลักการสมานฉันท์ระหว่างศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม คือ ศีล ๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 12 มิถุนายน 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    86F9C08B-03F8-49BA-A399-321398C9908D.jpeg

    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ได้เดินทางไปกราบสักการะสังขารท่านอาจารย์สายชล (พระครูปฐมจินดากร) ที่วัดไร่แตงทอง แล้วเดินทางเลยมายังวัดอุทยาน เพื่อเตรียมที่จะไปงานพุทธาภิเษกวัตถุมงคลให้กับทางวัดธรรมปัญญาราม (บางม่วง) เมื่อมาถึงก็มีสารพัดเรื่องราวที่ประเดประดังเข้ามา

    เรื่องแรกเลยก็คือพระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร.ได้รับอาราธนาไปเป็นผู้บรรยายในรายการสมานฉันท์ระหว่างศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ซึ่งกระผม/อาตมภาพนั้นก็ได้บอกว่า หัวข้อการบรรยายนั้นง่ายมาก เพราะว่าพระพุทธศาสนาของเรานั้น เชื่อมั่นว่าบุคคลทุกคนสามารถที่จะพัฒนาได้ เพียงแต่ว่าการพัฒนานั้น มีการพัฒนาทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ พัฒนาการทั้งหลายเหล่านี้ ก็เกิดขึ้นจากหลักการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางไว้ คือหลักไตรสิกขา ซึ่งย่อลงมาจากมรรคมีองค์ ๘ เหลือเพียงศีล สมาธิ และปัญญา

    การที่เรารักษาศีลนั้น เป็นการพัฒนากายและวาจาของเราให้เรียบร้อย ทางกายก็งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นการจากดื่มสุราหรือเสพยาเสพติด ทางวาจาก็คือ งดเว้นจากการโกหกหลอกลวงผู้อื่น

    ในส่วนของสมาธินั้น เป็นการพัฒนากาย วาจา และใจ ให้เรียบร้อยมั่นคง มีกำลังที่จะยืนหยัดต่อสู้กระแสกิเลส ซึ่งถ้าหากว่าจะกล่าวให้ชัด ก็คือกระแสโลก หรือว่ากระแสบริโภคนิยม ค่านิยมต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักศีลหลักธรรม ถ้ากำลังใจของเราเข้มแข็งด้วยอำนาจของสมาธิ เราก็สามารถที่จะยืนหยัด ฟันฝ่าอยู่ในโลกนี้ได้ด้วยความมั่นคง

    ส่วนในเรื่องของปัญญานั้น นอกจากพัฒนากาย วาจา ใจของเราแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้มองโลกตามความเป็นจริงว่า มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด แล้วยอมรับว่าความจริงทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่คู่กับโลกและสรรพสัตว์ต่าง ๆ นานา ทำให้เราถอนใจจากการยึดมั่นถือมั่น แล้วก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้

    คราวนี้ถ้าหากว่าเป็นความสมานฉันท์นั้น ศาสนิกชนของทุก ๆ ศาสนา ไม่จำกัดแค่ศาสนาพุทธ คริสต์ หรือว่าอิสลาม ก็ล้วนแล้วแต่สามารถนำเอาหลักศีล ๕ ของพระพุทธศาสนาไปใช้งานได้ เพราะว่าหลักศีล ๕ นี้ไม่ใช่หลักการของพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นหลักความปรารถนาของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ก็คือ

    ไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาฆ่าเรา มาทำร้ายเรา เราก็ไม่ควรที่จะไปฆ่าใคร หรือว่าทำร้ายใคร

    ไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาลักขโมย หยิบฉวยช่วงชิงสิ่งของของเรา เราก็ไม่ควรที่จะไปลักขโมย หยิบฉวยช่วงชิงสิ่งของของคนอื่น

    ไม่มีใครอยากให้เขามาแย่งชิงคนที่ตัวเองรัก ของที่ตัวเองรัก เราก็ไม่ควรที่จะไปแย่งชิงคนรัก หรือว่าของรักของคนอื่น

    ทุกคนล้วนแล้วแต่ปรารถนาที่จะฟังความสัตย์ ความจริง ไม่ต้องการให้ใครมาโกหกหลอกลวง เราก็ไม่ควรที่จะไปโกหกหลอกลวงคนอื่น

    ทุกคนอยากจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ต้องการให้คนอื่นเห็นว่าเราบ้า ๆ บอ ๆ ขาดความน่าเชื่อถือ เราก็ควรที่จะงดเว้นจากการดื่มสุราและเสพยาเสพติด พร้อมทั้งไม่พยายามที่จะทำให้คนอื่นต้องมาดื่มสุราหรือว่าติดยาเสพติด เป็นต้น

    แค่หลักศีล ๕ ทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าศาสนิกชนของทุกศาสนาสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้ เราก็จะงดเว้นการเบียดเบียนทางกายและทางวาจาได้ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะตีกรอบกาย วาจาของเราให้เรียบร้อย เมื่อไม่มีการเบียดเบียนกันระหว่างกายและวาจา ความสมานฉันท์ ปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย

    ในขณะเดียวกัน ความปรองดองสมานฉันท์นั้น ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเกิดขึ้นจากความจริงใจของทุกฝ่าย ที่จะแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง พยายามที่จะลดหลักการต่าง ๆ ที่เรายึดมั่นถือมั่นเอาไว้จนทำให้การสมานฉันท์ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

    ในเมื่อเราสามารถลดหลักการของตนลงมาในระดับที่ทุกคนยอมรับได้ ทุกศาสนาก็สามารถที่จะเดินไปด้วยกัน มีความปรองดองสมานฉันท์ ช่วยกันสร้างโลกของเราให้สุขสงบ ไม่ใช่ว่าเราต้องการความสมานฉันท์ เราอ้างหลักพหุวัฒนธรรม ต้องอยู่ร่วมกันระหว่างหลาย ๆ ศาสนา หลาย ๆ เชื้อชาติ แต่ว่าการอยู่ร่วมนั้น กลายเป็นว่าทุกคนต้องทำตามหลักการของคุณเท่านั้น..!

    ถ้าหากว่าในลักษณะอย่างนี้ก็ไม่ใช่แล้ว ต่อให้บุคคลที่ไม่ได้มีการศึกษามาเลย ก็จะรู้สึกว่าหลักการนี้ไม่ใช่ เพราะว่าทุกคนต้องยอมลดทิฏฐิมานะ ลดหลักการต่าง ๆ ลงมาจนมีจุดร่วมที่สามารถไปด้วยกันได้ แล้วขณะเดียวกันก็พยายามที่จะสงวนจุดต่าง ไม่ยกขึ้นมาบีบบังคับคนอื่น ถ้าเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา ก็จะเกิดความปรองดอง ความสมานฉันท์ขึ้นได้โดยง่าย

    ขณะเดียวกัน เรายังมีหลักการที่สูงกว่าศีล ก็คือในเรื่องของสมาธิ ซึ่งจะสามารถกด รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับสนิทลงได้ชั่วคราว แล้วสมาธินี้ก็เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามสามารถที่จะทำได้ ที่จะมีจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากว่าทำดีทำถูก แล้วก็จะส่งผลให้เกิดความเย็นกายเย็นใจเฉพาะตนขึ้นมา

    ก็แปลว่า ทุกศาสนาสามารถนำเอาหลักการทั้งศีลและสมาธินี้ไปใช้งานได้ เพราะว่าเป็นหลักสากล ไม่จำเพาะเจาะจงกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือว่าเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใด เชื้อชาติเผ่าพันธุ์หนึ่ง เป็นต้น

    เมื่อเราสามารถรักษากำลังใจของเราให้มั่นคง ไม่คล้อยตาม รัก โลภ โกรธ หลง ไปแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังสอนในเรื่องของปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม

    เมื่อสมาธิจิตเกิดขึ้น ความสงบเกิดขึ้น ก็จะทำให้เรามองเห็นชัดเจนถึงปัญหาต่าง ๆ ว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงไม่สามารถที่จะปรองดองสมานฉันท์กันได้ และขณะเดียวกัน ก็เป็นเพราะเหตุใดที่เราทั้งหลายจึงยังแบกกิเลสอยู่ ยังมีความ รัก โลภ โกรธ หลง ตลอดจนกระทั่งความเห็นแก่ตัวแก่ตน ความเห็นแก่ศาสนาของตน โดยไม่ยอม ลด ละ ลงไปให้แก่คนอื่นเขาบ้าง

    ถ้าหากว่าเป็นไปในลักษณะนี้ ท่านก็สามารถใช้ปัญญาพินิจพิจารณา หยิบเอาตรงจุดที่เหมาะที่สมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในขณะนั้นออกมา ประพฤติปฏิบัติ ทำให้ศาสนาต่าง ๆ สามารถที่จะไปด้วยกันได้อย่างมีความสุข

    ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาใดก็ตาม หลักการไตรสิกขาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าหลักการของศาสนาพุทธ ก็ย่อมเป็นหลักสากลที่ทุกศาสนาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

    ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเห็นชัดเจนว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีประโยชน์ แต่ว่าท่านทั้งหลายไม่ยอมนำไปใช้ เพราะคิดว่าเป็นหลักการของศาสนาอื่น กระผม/อาตมภาพก็อยากจะบอกว่า เป็นเรื่องของบุคคลที่ไร้ปัญญาสิ้นดี สิ่งหนึ่งประการใด ถ้าเป็นความดีความงาม ไม่ว่าจะเป็นของเชื้อชาติใด ศาสนาใด เราก็ควรที่จะหยิบจะยกขึ้นมาใช้งาน ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีปัญญาอย่างแท้จริง

    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๕
    https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=8660
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com

    #พระครูวิลาศกาญจนธรรม #หลวงพ่อเล็ก
    #ชุมชนคุณธรรม #วัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
    #พระพุทธศาสนา #watthakhanun
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...