เรื่องเด่น สสส.ชี้พระสงฆ์อาพาธเพราะอาหารชุดใส่บาตรยอดนิยม

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 18 กันยายน 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8aae0b887e0b886e0b98ce0b8ade0b8b2e0b89ee0b8b2e0b898e0b980e0b89ee0b8a3e0b8b2.jpg
    ญาติโยมถวายอาหารรสจัดผ่านการปรุง8ชม.คือระเบิดรอเวลาป่วย

    สสส.ทำงานต้นแบบ ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ทั้งพระสงฆ์และญาติโยมฆราวาส ให้ความรู้ทำบุญให้ได้บุญ อาหารใส่บาตรพระต้องอุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ใช่ผ่านการผลิตมานานกว่า 8 ชั่วโมง พระมากกว่า 50% ในกรุงเทพฯ และเขตเมืองมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน แชมป์ 5 โรคยอดฮิตพระสงฆ์อาพาธ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคปอด หัวใจและหลอดเลือด ปัญหาจากอาหารชุดใส่บาตรยอดนิยม ไขมันสูง กะทิเยอะ ผักและผลไม้น้อย น้ำปานะรสหวาน แนะเมนูลดหวาน มัน เค็ม กะทิ เพิ่มโปรตีนเมนูปลาให้โปรตีนและไขมันดี (โอเมกา 3) ฉันผักพื้นบ้านหรือผักตามฤดูกาล ลดหวานในน้ำปานะ เพิ่มโปรตีนนมถั่วเหลือง นมจืดชนิดไขมันต่ำ โยเกิร์ตแบบหวานน้อย

    งานแถลงข่าวสงฆ์ไทยไกลโรค เข้าพรรษานี้อย่าลืมตักบาตร ถาม (สุขภาพ) พระ วันอังคารที่ 4 ก.ค. หน้าห้องประชุมสานใจ 1/1 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 6 โดย รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรค เพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ เรื่องสถานการณ์สุขภาวะพระสงฆ์ไทย พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่องไขข้อข้องใจ พระสงฆ์ออกกำลังกาย เลือกฉันอาหารได้หรือไม่ และแนวทางสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร และแนวทางสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์ไทย “พระ-หน่วยสุขภาพ-ฆราวาส” จะหลอมรวมการทำงานอย่างไรให้พระสงฆ์สุขภาพดี-ถูกหลักธรรมวินัย โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส. ทั้งนี้ สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother & Care เป็นผู้ดำเนินรายการ

    ก่อนเวลาแถลงข่าวมีบรรยากาศน่าตื่นเต้น เมื่อหม้อแปลงระเบิดที่ กระทรวงสาธารณสุข ดังสนั่น ส่งผลมาถึง อาคารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่บางคนติดอยู่ในลิฟต์แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที จากนั้นก็เปิดใช้ไฟฟ้าสำรองและย้ายห้องแถลงข่าวจากภายในห้องมาเป็นบริเวณหน้าห้องเดิม สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother & Care ดำเนินรายการว่า คนทำอะไรดีๆ ย่อมพบอุปสรรคเสมอ ดังนั้นเข้าพรรษานี้อย่าลืมตักบาตรถาม (สุขภาพ) พระ? สสส. มีภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกัน สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

    รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ (สสส.) กล่าวว่า การลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลมีเรื่องตื่นเต้นมาก อาหารที่ใส่บาตรพระตอนเช้าแม่ค้าตระเตรียมตั้งแต่กลางดึก ปรุงเสร็จช่วงตี 4 แพ็กลงถุง ญาติโยมมารับอาหาร มาถึงพระอาจารย์ในช่วง 7-8 โมงเช้าใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง พระสงฆ์ใน กทม.และในภาคอีสานที่โคราชพบว่าพระสงฆ์ใน กทม.และในเขตเมืองกว่าครึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน โดยเฉพาะพระสงฆ์ใน กทม. 48% ของกลุ่มตัวอย่างอ้วนลงพุงมากกว่าชายใน กทม. (39%) และชายทั่วประเทศ (28%) ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังสำคัญ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคปอด หัวใจและหลอดเลือด ผลจากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ในอีสานที่อยู่ในเขตเมืองเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินสูงกว่าในเขตนอกเมือง เนื่องจากอาหารใส่บาตรที่มีโปรตีนต่ำหรือได้รับเพียง 60% ของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ ปริมาณใยอาหารมีระดับต่ำ จึงชดเชยด้วยการดื่มน้ำปานะที่มีน้ำตาลสูงถึง 7 ช้อนชาต่อวัน

    “มีข้อชวนคิดถึงโภชนาการมีผลกระทบยิ่งใหญ่ สสส.ประชุมสุขภาวะพระสงฆ์เป็นเรื่องด่วน เสมือนหนึ่งเป็นระเบิดที่รอเวลา ทั้งนี้ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อออกแบบชุดความรู้สงฆ์ไทยไกลโรคในการให้ความรู้ความเข้าใจถึงการสร้างเสริมสุขภาพของพระสงฆ์” อาหารส่วนใหญ่ที่นำมาถวายพระเป็นอาหารชุด ด้วยการเลือกเมนูที่ผู้ล่วงลับชอบบริโภค เมนูหลักคือ ไข่พะโล้ แกงเขียวหวาน หมูทอด ขนมหวาน ทำให้พระสงฆ์จำเป็นต้องฉันเพื่อให้ญาติโยมได้บุญ ไม่เสียศรัทธา อีกทั้งยังพบว่าพระสงฆ์ออกกำลังกายน้อยเพราะกลัวผิดพระธรรมวินัย แต่ละวันพระสงฆ์เดินเบา 30 นาที ซึ่งน้อยกว่าชายไทยที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 100 นาที พระสงฆ์ขาดการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ขาดการตรวจสุขภาพประจำปี มีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย

    “อาหารที่ญาติโยมใส่บาตรอยากทำบุญให้คนที่เรารักที่จากไปแล้ว แกงกะทิจัดเต็ม แต่เราไม่ได้มองว่าพระสงฆ์เลือกฉันไม่ได้ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย” สรวงมณฑ์ เปิดประเด็นเพื่อให้ พระราชวรมุนี ไขคำตอบนี้ พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า ถึงแม้อาหารบิณฑบาตจะเลือกไม่ได้ แต่พิจารณาฉันอาหารที่ดีต่อร่างกายได้โดยพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ฉันอาหารพอสมควร พระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกายเหมือนฆราวาสที่เข้าโรงยิมฟิตเนส เพราะพระภิกษุต้องประพฤติตนสำรวม โดยเฉพาะในละแวกบ้านหรือเขตชุมชนตามหลักเสขิยวัตร แต่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ปฏิบัติหลักกิจวัตร 10 ประการ ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ได้อานิสงส์ การเดินบิณฑบาต กวาดลานวัด ทำความสะอาดวัด เดินจงกรม ตัดต้นไม้ รดน้ำต้นไม้เพื่อขยับร่างกาย การแกว่งแขนลดพุงลดโรคในพื้นที่วัด ในช่วงจำพรรษาจึงอยากให้พระสงฆ์หันมาดูแลสิ่งของภายในวัดซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายในลักษณะการทำความสะอาด

    “พระสงฆ์คือประชาชนคนหนึ่งของประเทศชาติ เมื่อพระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพ เป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องรับผิดชอบ เป็นวัฏจักรที่รัฐบาลสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ ยิ่งพระสงฆ์อาพาธทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก็ย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไข ถ้าถามว่าอาหารที่โยมนำมาถวายพระ พระสงฆ์ก็ควรรับ ไม่ควรปฏิเสธ มิฉะนั้นจะเป็นการเสียศรัทธา แต่เมื่อรับบาตรมาแล้วเรามีสิทธิ์ที่จะฉันหรือไม่ฉันก็ได้เรียกว่าพิจารณา อาหารที่มีประโยชน์ก็ฉันเยอะหน่อย ถ้าไม่มีประโยชน์ส่งผลกระทบต่อร่างกายก็ฉันน้อยหน่อย ถ้าพระสงฆ์อาพาธก็ต้องปฏิเสธอย่างนิ่มนวลว่าบาตรเต็มแล้วให้ญาติโยมถวายพระองค์อื่น ปกติพระสงฆ์รับบาตรไม่เกิน 3 บาตร ถ้ามากกว่านั้นเป็นอาบัติก็ต้องปลงอาบัติ แต่ก็ไม่ควรทำผิดบ่อยๆ อาหารที่นำมาใส่บาตรพระสามารถบริจาคต่อให้ศูนย์เด็กยากไร้ ศูนย์เด็กกำพร้า” พระราชวรมุนี กล่าว พร้อมแสดงกิจกรรมที่พระสงฆ์ออกกำลังกายได้ เดินบิณฑบาต เดินในวัด-เดินจงกรม กวาดลานวัด แกว่งแขน “ลดพุงลดโรค” ซักผ้าตากผ้า งานสาธารณูปการในวัด ตัดต้นไม้ เทปูน เลื่อยไม้

    นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ด้วยสุขภาวะของพระสงฆ์ เครือข่ายสถาบันองค์กร หน่วยงานต่างๆ ริเริ่มนำสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ด้วยฉันทามติของสังคมเป็นสิ่งดีที่ควรทำด้วยกัน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นพื้นที่กลางนำมติเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครม. เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เดินหน้าต่อ มหาเถรสมาคมนำเข้าไปเป็นมติเพื่อให้ทางศาสนจักรจัดเรื่องนี้ขึ้นมา การทำบุญสุนทานเป็นเรื่องดี ผสมผสานระหว่างพระธรรมวินัย กฎกติกาสังคม ฆราวาส ความรู้ด้านสุขภาพ สาธารณสุข การป้องกันโรค นำความรู้ด้านสุขภาพสาธารณสุขการป้องกันโรค ด้วยบทบาทพระสงฆ์เป็นผู้นำสังคม ความคิด ศีลธรรมให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพ

    ด้วยมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติส่งผลให้มติมหาเถรสมาคมเรื่องพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะขับเคลื่อนพัฒนาธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ ฆราวาส หน่วยบริการสุขภาพสนใจการสร้างเสริมสุขภาพที่นำหลักพระธรรมวินัยเป็นตัวนำ ใช้ความรู้ทางสุขภาพเป็นตัวเสริม ทั้งนี้พระสงฆ์สร้างเสริมดูแลสุขภาพตนเอง ฆราวาส ชุมชนและบุคลากรทางสุขภาพมีข้อปฏิบัติในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์อย่างเหมาะสมตามหลักพระธรรมวินัย อีกทั้งบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำของชุมชนด้านสุขภาพ สช.จะร่วมสนับสนุนการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ในเดือน ส.ค.-ก.ย. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อเห็นชอบ และประกาศให้ภาคีเครือข่ายรับทราบในสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 10 ในเดือน ธ.ค.นี้

    บุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การตักบาตรอย่าถามพระ เพราะพระคุณเจ้าไม่สามารถบอกว่าฉันทุเรียน ลำไย จึงเกิดปรากฏการณ์ใส่ไปเถอะท่านฉันทุกอย่าง เป็นความคิดความเชื่อดั้งเดิม เราคิดถึงใครฝันถึงก็ใส่บาตรอุทิศไปให้คนนั้น พระเสมือนเป็นไปรษณีย์ พระก็รับบาตรอย่างเสียไม่ได้ ฉันตามที่ญาติโยมให้มา สุขภาพพระสงฆ์ก็ป่วยไข้เป็นโรคไต ดังนั้นจำเป็นต้องให้ความรู้กับพระสงฆ์และญาติโยมที่ใส่บาตร พิจารณาฉันอาหาร ถ้าพระอาพาธก็สวดมนต์ไม่ได้ ควรรู้เรื่องสุขภาวะและออกกำลังกาย

    นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการตรวจร่างกายพระสงฆ์ขณะนี้มีพระสงฆ์อาพาธ 100,000 รูป หรือ 45% จากจำนวนพระสงฆ์กว่า 300,000 รูป เสี่ยงป่วย 25% สุขภาพดี 40% การอาพาธส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการบริโภค เป็นเพราะญาติโยมขาดองค์ความรู้ระบบบริการสุขภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องจัดองค์ความรู้พระสงฆ์ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาพวิถีชีวิตไทย การตรวจสุขภาพพระสงฆ์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ทำให้สงฆ์ไทยห่างไกลโรค

    นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส.มีตัวอย่างการทำงานที่เป็นรูปธรรมเชิงพื้นที่และทำงานเชิงรุกในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ด้วยการทำงานร่วมกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้พระนิสิตมีความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพระในฐานะนักสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promoter) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของคณะสงฆ์เพื่อเป็นแกนนำเสริมสร้างสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา ปัจจุบันพื้นที่เรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและคณะสงฆ์ 20 จังหวัด ทำให้เกิดชุดความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพของพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย กลุ่มพระสังฆะในการจัดการความรู้ให้ฆราวาสเรื่องสุขภาวะพระสงฆ์ ผ่านโครงการสร้างพระธรรมทายาทนักพัฒนาสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ

    อนึ่ง ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ได้มีการจัดเมนูอาหารใส่บาตรแนะนำที่ดีต่อสุขภาพพระสงฆ์ น้ำพริกผักสด ไข่ต้ม แกงคั่วผักบุ้ง ผัดเห็ดหูหนู แอนลีน 2 กล่อง โยเกิร์ต ฝรั่ง ผลไม้หลากหลาย ส่วนอาหารใส่บาตรยอดฮิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพพระ ไข่พะโล้ แกงเขียวหวาน ฟักทองแกงบวด ฯลฯ ขณะเดียวกันทาง สสส.ได้จัดทำเอกสารคู่มือความรู้ในการบริโภคอาหารแจก ทั้งนี้พระสงฆ์จะได้ศึกษาแล้วนำไปชี้แจงบอกเล่าให้ญาติโยมได้ปฏิบัติด้วย.

    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.thaipost.net/?q=node/35653
     

แชร์หน้านี้

Loading...