เรื่องเด่น วัดโกโรโกโสกรุงเก่าไม่โกโรโกโสอย่างที่คิด

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 7 ธันวาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    วันพฤหัสบดี ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2560, 14.45 น.

    วัดโกโรโกโสกรุงเก่าไม่โกโรโกโสอย่างที่คิด


    “ประดับ โพธิกาญจนวัตร” ผอ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบเป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ จัดเสนาสนะร่มรื่นสวยงามมาก

    e0b8a3e0b982e0b881e0b982e0b8aae0b881e0b8a3e0b8b8e0b887e0b980e0b881e0b988e0b8b2e0b984e0b8a1e0b988.jpg

    วันที่ ๖ ธ.ค.๒๕๖๐ นายประดับ โพธิกาญจนวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ได้ตรวจเยี่ยมวัดโกโรโกโส ต.ข้าวเม่า อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา วัดแห่งนี้พบว่าเป็นวัดร้าง ตามประวัติน่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภายในวัดมีถาวรวัตถุ ๒ หลัง วิหารหลวงพ่อดำ ซึ่งหลายคนบอกว่า เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ขณะนี้วัดแห่งนี้ มีกรรมการชุดหนึ่งกำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

    b8a3e0b982e0b881e0b982e0b8aae0b881e0b8a3e0b8b8e0b887e0b980e0b881e0b988e0b8b2e0b984e0b8a1e0b988-1.jpg

    “ด้านฝั่งครองตรงข้ามกับวัดแห่งนี้ เป็นที่ตั้งวัดสะแก วัดสะแกนั้นมีพระเถราจารย์ซึ่งพุทธศาสนิกชนเคารพบูชายิ่ง คือ หลวงปู่ดู่ พรหมปญฺโญ ภายในวัดสะแกมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดเสนาสนะร่มรื่นสวยงามมาก ตรงท่าน้ำวัดมีปลาตัวใหญ่ๆ อาศัยอยู่จำนวนมาก นับเป็นวัดที่งดงามวัดหนึ่งในพระนครศรีอยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุ


    ทั้งนี้ “ไตรเทพ ไกรงู” ได้เสนอบทความไว้ (http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/98663) ว่า แม้ว่าชื่อของ “วัดคลังทอง” จะขึ้นชื่อว่าเป็น สุดยอดแห่งความเป็นมหามงคล แต่คนยังเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดโกโรโกโส” ซึ่งฟังดูแล้วจะไม่เป็นมงคล ทั้งนี้ พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่า “โกรงเกรง, ไม่มั่นคง, เช่น กระท่อมโกโรโกโส; ต่ำต้อย เช่น คนโกโรโกโส แต่ชาวบ้านยังเรียกชื่อเดิม

    ตามประวัติการสร้างวัดเล่าสืบกันมาว่า มีชาวจีนสองคน คือ “อาโกโร” และ “อาโกโส” (คนจีนแต้จิ๋วจะเรียกพี่สาวหรือน้องสาวของพ่อ เรียกว่า อาโก) ซึ่งเป็นเพื่อนกันได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นโดยมิได้ตั้งชื่อเสียงเรียงนาม ชาวบ้านที่รู้ว่าท่านทั้งสองสร้างวัดจึงพากันเรียกว่า “วัดอาโกโรอาโกโส” ต่อมาทางการขนานนามให้ว่า “วัดคลังทอง” แต่ชาวบ้านก็ยังนิยมเรียกกันต่อมาว่า วัดอาโกโรอาโกโส ครั้นนานวันเข้าก็หายกลายเป็น “วัดโกโรโกโส”

    ส่วนอีกตำนานหนึ่ง คือ เมื่อครั้งพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระยาตากเห็นว่าท่าจะไปไม่รอดแล้ว จึงรวบรวมไพร่พลฝ่ากองทัพพม่าออกมา แล้วล่องเรือมาตามลำน้ำทางทิศตะวันออกของกรุงศรีฯ พระยาตากและไพร่พลของท่านมาหยุดแวะพักที่บริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ท่านสังเกตเห็นมีวัดตั้งอยู่ริมคลองจึงหยุดพักที่วัดแห่งนั้น

    ขณะนั้น พระยาตากมุ่งมั่นที่จะกอบกู้บ้านเมืองที่กำลังจะล่มสลายให้กลับคืนมาจงได้ ท่านจึงขึ้นไปยังวัดนั้น แล้วเข้าไปกราบขอพรจากพระพุทธรูปในพระวิหาร ขอให้กอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จ

    ชาวบ้านในละแวกนั้น เมื่อทราบว่ามีทหารมาแวะพักจึงเข้ามาถามไถ่ เมื่อทราบความว่า พระยาตากจะรวบรวมไพร่พลเพื่อกอบกู้บ้านเมืองที่น่าจะล่มสลายในเร็ววันแล้ว ชาวบ้านก็นำเสบียงอาหารมาให้ทหารของพระยาตาก เสบียงนั้นก็เป็นพวกข้าวเม่า ที่สามารถนำติดตัวไปไหนต่อไหนได้นาน ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับวัด ก็มาช่วยกันทำอาวุธ ช่วยกันนำไม้มาเหลาเป็นลูกธนู ไว้ต่อสู้กับข้าศึก

    เมื่อได้เสบียงและอาหารพอที่จะเดินทางต่อไปแล้ว พระยาตากก็นำไพร่พลออกเดินทางต่อไป หลังจากนั้นพม่าเริ่มรู้แล้วว่าที่นี่มีการซ่องสุมกำลังกัน จึงนำทหารพม่าเข้ามาทำลายหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่เว้นกระทั่งวัดวาอาราม แล้ววัดคลังทอง รวมทั้งหลวงพ่อดำของชาวบ้านก็ถูกทำลาย และก็ถูกปล่อยรกร้างมาตั้งแต่บัดนั้น

    เวลาผ่านไปไม่นาน พระยาตากซึ่งเมื่อนั้นได้ขึ้นเป็นพระเจ้าตากสิน ได้กอบกู้เอกราชสำเร็จตามที่ขอพรไว้กับหลวงพ่อดำ แห่งวัดคลังทอง ท่านก็ไม่ลืมในน้ำใจของชาวบ้านที่เคยช่วยกองทัพของท่านไว้ พระเจ้าตากสินจึงตั้งชื่อหมู่บ้านที่ชาวบ้านนำเสบียงอาหารมาให้ว่า หมู่บ้านข้าวเม่า และหมู่บ้านที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของคลองได้ชื่อว่า หมู่บ้านธนู ตามที่ชาวบ้านมาช่วยเหลาธนูให้ท่าน และชื่อหมู่บ้านก็อยู่สืบต่อมาจนปัจจุบัน

    ชาวบ้านเห็นว่า วัดคลังทองถูกทำลายจนไม่สามารถจะบูรณะขึ้นมาใหม่ได้อีก จึงร่วมกันสร้างวัดแห่งใหม่ขึ้น ซึ่งก็ไม่ไกลไปจากที่ตั้งวัดเดิม เพียงแต่ข้ามคลองไปอีกฝั่งเท่านั้น บริเวณที่จะสร้างวัดแห่งใหม่ เดิมเป็นป่าสะแก เมื่อชาวบ้านสร้างวัดแห่งใหม่แล้ว จึงเรียกวัดนั้นว่า “วัดสะแก”

    ปัจจุบันแต่พื้นที่บริเวณวัดนั้นก็กลายเป็นโรงเรียนไปแล้ว จึงเหลือพื้นที่เล็กๆ รอบพระวิหารหลวงพ่อดำเท่านั้น และวันนี้ วัดโกโรโกโส ก็กำลังถูกทำลายอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการทำลายด้วยพลังธรรมชาติ ด้วยน้ำในคลองที่กัดเซาะตลิ่งพังลงทุกวัน ทำให้วิหารของหลวงพ่อดำทรุดลงอย่างน่าใจหาย หากไม่ได้รับการบูรณะ อีกไม่นานเราคงไม่มีวัดโกโรโกโส วัดที่ครั้งหนึ่งพระเจ้าตากสินเคยขึ้นมากราบขอพรจากหลวงพ่อ และกอบกู้เอกราชให้คนไทยทุกวันนี้มีแผ่นดินอาศัยได้สำเร็จ

    การขนานนามวัด

    เวฬุวนาราม เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา แต่ก่อนเวฬุวันคือพระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน เป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธเจ้า

    ส่วน วัดปุณณารามดำรงอริยสงฆ์ เป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อครั้งยังเป็นสุวรรณภูมิ ซึ่งพระเจ้าทับไทยทองสร้างประมาณศตวรรษที่ ๒๔ หลับกลับจากเวฬุวัน สร้างที่หนองยาว หรือหนองวัด ใกล้ๆ กับบ้านโพธิงาม และหนองเกษตร (คูบัวราชบุรี) ถวายพระปุณณเถระ ให้ใช้เป็นที่บรรยายธรรมเผยแผ่พุทธศาสนา (ตามจารึกกระเบื้องจาร แผ่นที่ ๘ หน้า ๒) ปัจจุบันไม่เหลือซากให้เห็น กลายเป็นพื้นนาที่เรียกว่า หนองวัด ในบริเวณเมืองโบราณคูบัว จ.ราชบุรี

    วัดต่างๆ ที่ปรากฏนามเพื่อเรียกขานกันนั้น มีที่มาแห่งการตั้งชื่อกันดังนี้
    ๑.ขนานนามตามชื่อวัดสำคัญในพุทธกาล เช่น วัดเวฬุวนาราม
    ๒.ขนานนามตามฐานานุศักดิ์ของผู้สร้าง ผู้สร้างอุทิศให้ เช่น วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา
    ๓.ขนานนามตามเหตุการณ์ที่เป็นศุภนิยม เช่น วัดอรุณราชวราราม ธนบุรี

    ๔.ขนานนามตามสิ่งสำคัญที่เกี่ยวเนื่องพระพุทธเจ้า เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา
    ๕. ขนานนามตามลักษณะสิ่งสำคัญภายในวัด เช่น วัดหลวงพ่อโต บางพลี จ.สมุทรปราการ
    ๖.ขนานนามตามชื่อตำบลที่ตั้ง หรือสภาพพื้นที่ตั้ง เช่น วัดไผ่ล้อม และ
    ๗.ขนานนามตามชื่อผู้สร้าง เช่น วัดใหม่ยายนุ้ย

    “พระเจ้าตากสินจึงตั้งชื่อหมู่บ้านที่ชาวบ้านนำเสบียงอาหารมาให้ว่า หมู่บ้านข้าวเม่า หมู่บ้านที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของคลองได้ชื่อว่า หมู่บ้านธนู ตามที่ชาวบ้านมาช่วยเหลาธนูให้ท่าน และชื่อหมู่บ้านก็อยู่สืบต่อมาจนปัจจุบัน”



    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.banmuang.co.th/news/education/97419
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 8 ธันวาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...