มีอีก

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย รสมน, 7 กุมภาพันธ์ 2010.

  1. รสมน

    รสมน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,451
    ค่าพลัง:
    +2,047
    มีอีกคำหนึ่ง....นอกจากคำว่า " ธรรมะ" ก็คือ "ขันธ์"

    คำว่า "ธรรมะ" หมายถึง สิ่งที่มีจริง
    แต่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง คำ ว่า "ขันธ์"
    เพื่อที่จะขยายความจริงของ "ธรรมะ" โดยนัยที่ละเอียดยิ่งขึ้น.

    ในขณะนี้ สิ่งที่มีจริง เป็น "ขันธ์"
    ทรงใช้คำว่า "ขันธ์" เพื่ออะไร .?

    เพราะว่า พระผู้มีพระภาคฯ ทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริง ในขณะนี้
    สิ่งที่มีจริงใขณะนี้ กำลังเกิดขึ้น ปรากฏ แล้วก็ดับไป
    ดับไปแล้ว....ไม่กลับมาอีกเลย.!
    และ สิ่งที่มีจริงขณะนี้ เป็น ขันธ์ เฉพาะแต่ละ ๑ ขันธ์.

    เช่น ขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริง ๆ .?
    สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิด ปรากฏ แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย
    ความจริงนี้ ใครรู้.?
    ถ้าไม่ใช่ "พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า"

    เมื่อพูดถึงการเห็น.........
    เมื่อเกิดมาแล้ว ก็มีการเห็น แต่ไม่รู้ว่า "เห็น คือ อะไร"
    จนกว่าจะมีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

    ตามความเป็นจริง
    จะมีเพียง "สิ่งที่ปรากฏทางตา" โดยปราศจาก"จิตเห็น" ได้ไหม.?

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้นะ
    ลืมไม่ได้ ว่า ไม่ได้มีแต่เพียง "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" แต่มี "จิตเห็น" ด้วย
    ถ้าไม่มี "จิตเห็น" ซึ่ง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา "การเห็น" ก็เกิดขึ้นไม่ได้.!

    และ "การเห็น" ก็เป็น "ธรรมะ"
    เพราะว่า การเห็นเกิดขึ้น ปรากฏให้รู้ว่าเห็น แล้วการเห็นก็ดับไป
    การเห็นแต่ละครั้งดับไปแล้ว จะไม่กลับมาอีกเลย
    นี่คือ ความหมายของ คำว่า "ขันธ์"

    การเห็น เป็นวิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นขันธ์หนึ่ง ใน "ขันธ์ ๕"
    ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา จนกระทั่งถึงบัดนี้ มีสภาพธรรมที่เกิด-ดับ นับไม่ถ้วน
    ซึ่ง สภาพธรรมที่เกิด-ดับนับไม่ถ้วน ในชีวิตประจำวัน นั่นเอง
    คือ การปรากฏของ "ขันธ์" แต่ละอย่าง ๆ ที่กำลังเกิด-ดับ.

    การศึกษา และ เข้าใจ "พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า"
    คือ ขณะนี้....ขณะที่กำลังได้ฟังพระธรรม และ มีความเข้าใจที่เกิดจากการฟัง.

    ซึ่งฟัง จนกว่าจะเป็น "ความเข้าใจของตนเอง"
    และ ความเข้าใจนี้เอง...ที่ทำให้รู้ถึง "ความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.!

    พระประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญบารมี ก็เพื่อ"การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม"
    และ เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกให้มี "ความเห็นถูก"

    แม้ "ปัญญา" หรือ ความเข้าใจ จะมีเพียงเล็กน้อย
    จากการ "เริ่มสะสม" ทีละเล็ก ทีละน้อย
    แต่ก็เป็น การสะสม ความเห็นถูก ใน "สัจจธรรม"
    ซึ่ง จริง มั่นคง และ ตรง.!
    ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริง ๆ
    จะทราบว่า แต่ละขณะที่สภาพธรรมใด สภาพธรรมหนึ่ง กำลังปรากฏ
    เช่น ขณะที่ได้ยินเสียง...เสียงมีความหลากหลายมาก
    เสียงที่ปรากฏแล้ว-ดับแล้ว ก็มีเสียงใหม่เกิด-ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่เสียงเดิม
    เสียงเกิดตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี
    หรือเสียงอะไร ๆ ก็สุดแล้วแต่จะเรียกชื่อที่บัญญัติเสียงเหล่านั้น
    เสียงแต่ละเสียง มีความต่างกัน-ตามปัจจัย-ที่ทำให้แต่ละเสียงเกิดขึ้น.

    และเมื่อเสียงนั้น เกิดขึ้น-ปรากฏให้ได้ยิน แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย
    นี่คือการกล่าวถึง "รูปขันธ์" ซึ่งเป็นขันธ์หนึ่ง ใน "ขันธ์ ๕"

    "ขันธ์ ๕"
    ได้แก่ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑
    เพราะฉะนั้น แต่ละขันธ์ ไม่ใช่ขันธ์เดียวกัน.

    สำหรับการศึกษาพระธรรม
    ก็คือ การเข้าใจ "ธรรมะ" ที่มีจริง และ เข้าใจ "ความจริง-ของสิ่งที่มี"

    และ ควรเข้าใจ "คำ" แต่ละคำ ที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงบัญญัติ
    เพื่อให้เกิดความเข้าใจในพระธรรมที่ทรงแสดง ให้ ละเอียด ยิ่งขึ้น.

    การเข้าใจ"ธรรมะ" จึงไม่ได้หมายความว่า รู้เพียงแต่ "คำ-ที่ทรงบัญญัติ"
    แต่ มี "ธรรมะ" ที่มีจริงให้เข้าใจ โดยการใช้ "คำบัญญัติ"

    มีคำ-บัญญัติ เพื่อให้เข้าใจว่า เป็น "ธรรมะ"
    ซึ่ง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ สิ่งหนึ่งสิ่งใด.

    เพราะ "ธรรมะ" คือ สภาพที่มี "ลักษณะเฉพาะ" แต่ละอย่าง ๆ
    มีปัจจัยให้เกิดขึ้น ปรากฏให้รู้ได้-ทางใด ทางหนึ่งใน ๖ ทาง
    ปรากฏแต่ละทาง แต่ละขณะ แล้วก็ดับไปทันที
    เมื่อดับไปแล้ว ก็หมดไปเลย ไม่กลับมาอีกเลย.!

    นี่คือ ความหมายของคำว่า "ขันธ์"

    พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 21
    ว่าด้วยขันธ์ศัพท์
    ในพระบาลีขันธวิภังค์นั้น ศัพท์ว่า ขันธ์ (ขนฺธสทฺโท) นี้ใช้ใน
    ฐานะมาก คือ ในฐานะว่า กอง (ราสิมฺหิ) ในฐานะว่า คุณ (คุเณ)
    ในฐานะโดยเป็นบัญญัติ (ปณฺณตฺติยํ) ในความเป็นคำติดปาก (รุฬฺหิยํ).
    จริงอยู่ ชื่อว่า ขันธ์ โดยฐานะว่า กอง เหมือนในประโยคมีคำ
    เป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การถือเอาประมาณแห่งน้ำในมหาสมุทรว่า
    มีน้ำเท่านี้อาฬหก หรือว่าเท่านี้ร้อยอาฬหก หรือว่าเท่านี้ พันอาฬหก หรือว่า
    เท่านี้แสนอาฬหก ไม่ใช่ทำได้โดยง่าย โดยที่แท้ย่อมถึงการนับว่า เป็น
    มหาอุทกขันธ์( กองน้ำใหญ่ ) อันใคร ๆ พึงนับไม่ได้ พึงประมาณไม่ได้ทีเดียว
    แม้ฉันใด ดังนี้ เพราะมิใช่น้ำนิดหน่อย คือเป็นน้ำจำนวนมากทีเดียว เขาจึง
    เรียกว่า อุทกขันธ์ (กองน้ำ) อนึ่ง ธุลีมิใช่มีประมาณเล็กน้อย เขาก็เรียกว่า
    รชักขันธ์ (กองธุลี) โคมี ประมาณไม่น้อย เขาก็เรียกว่า ควักขันธ์ (กองโค)
    พลมีประมาณไม่น้อยเขาก็เรียกว่า พลขันธ์ (กองพล) บุญมีประมาณไม่น้อย
    เขาก็เรียกว่า บุญขันธ์(กองบุญ)เพราะธุลีมีมากทีเดียว ท่านจึงเรียกว่า รชักขันธ์
    โคเป็นต้นมีประมาณมากทีเดียว ท่านจึงเรียกว่า ควักขันธ์ พลมีประมาณมาก
    และบุญมีประมาณมาก ท่านก็เรียกว่า พลขันธ์ และบุญขันธ์ ดังนี้.
    อนึ่ง ชื่อว่า ขันธ์ โดยฐานะว่าคุณ เหมือนในประโยคมีคำเป็นต้นว่า
    สีลกฺขนฺโธ (คุณคือศีล) สมาธิขนฺโธ (คุณคือสมาธิ) ดังนี้. และชื่อว่า
    ขันธ์โดยฐานะเป็นบัญญัติ เหมือนในชื่อนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอด
    พระเนตรเห็นท่อนไม้ท่อนใหญ่ (มหนฺตํ ทารุกฺขนฺธํ) ลอยตาม
    กระแสแม่น้ำคงคาไป ดังนี้. ชื่อว่า ขันธ์ ในฐานะโดยความเป็น คำติดปาก
    เหมือนในประโยคมีคำเป็นต้นว่า จิต มโน มานัส วิญญาณ วิญญาณ-
    ขันธ์ อันใด ดังนี้.
    ขันธ์นี้นั้น ทรงประสงค์เอาโดยฐานะว่า กอง ในอธิการนี้ เพราะ
    ชื่อว่า อรรถแห่งขันธ์นี้มีอรรถว่าเป็นก้อน เป็นกลุ่ม เป็นแท่ง เป็นกอง
    ฉะนั้น พึงทราบว่าขันธ์ทั้งหลายมีลักษณะเป็นกอง ดังนี้ แม้จะกล่าวว่า อรรถ
    แห่งขันธ์นี้มีอรรถเป็นโกฏฐาส (คือเป็นส่วน) ดังนี้ ก็ควร เพราะคนทั้งหลาย
    ในโลกกู้หนี้เขามาแล้ว เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวง ก็พูดว่า พวกเราจักให้ ๒ ขันธ์
    (๒ ส่วน) ๓ ขันธ์ (๓ ส่วน) ดังนี้ แม้การกล่าวว่า ขันธ์ทั้งหลายมีลักษณะ
    เป็นโกฏฐาส คือเป็นส่วน ดังนี้ก็ควร ด้วยประการฉะนี้


    แต่ละคำ มีความหมายที่ลึกซึ้ง นะ....เช่น คำว่า "กรรม"

    เกิดมาก็ได้ยินคำนี้ ในภาษาไทยนั้น เราเข้าใจคำว่า กรรม คือ การกระทำ
    แต่
    ถ้าเป็น "สภาพธรรม" ที่มีจริง ก็ควรเข้าใจให้ถึง "ตัวธรรมะ" ด้วย
    ถ้าไม่มี "ธรรมะ" ใด ๆ เลย-ที่เกิดขึ้น ก็จะไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ทั้งสิ้น.!

    "ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริง ๆ
    "ทุกอย่างเป็นธรรมะ" หมายความว่า สภาพธรรม-สิ่งที่มีจริง ๆ แต่ละอย่าง ๆ
    เช่น การเห็น มีจริง.? ......การได้ยิน มีจริง.?
    "การกระทำ" มีจริง....?
    แต่ สิ่งที่กล่าวว่ามีจริง ๆ แต่ละอย่าง ๆ นั้น "เป็นเรา" หรือ "เป็นธรรมะ".....?
    ถ้าเป็นผู้ที่ "ตรงต่อสภาพธรรม" จริง ๆ คือ ตรงต่อธรรมะ จริง ๆ
    ย่อมค่อย ๆ เข้าใจได้จริง ๆ ว่า สิ่งที่มีจริง นั้น เป็นเรา หรือ เป็นธรรมะ.!

    เช่น เสียง....มีจริงไหม.?
    ถ้าเสียงมีจริง แล้วเสียงนั้น "เป็นเรา" หรือ "เป็นธรรมะ"
    ในเมื่อเสียงเกิดแล้ว ดับแล้ว....ขณะนี้ เสียงอยู่ที่ไหน.?
    เสียงที่ดับไปแล้ว หมดไปแล้วนั้น จะ"เป็นเรา" ได้ไหม.?

    ก่อนฟังพระธรรม เคยเข้าใจว่าเป็นเสียงของบุคคลนั้น บุคคลนี้
    ที่กำลังพูดอย่างนั้น พูดอย่างนี้ พูดเป็นภาษาต่าง ๆ
    แต่ ไม่ได้มีแต่เฉพาะเสียง เท่านั้นนะ
    ยังมี "จิต"-ที่เป็นปัจจัย-ทำให้เกิดเสียง-ในขณะที่กำลังพูดขณะนั้น ด้วย
    ฉะนั้น เสียง ต้องเป็น "ธรรมะ" แน่นอน.

    ด้วยเหตุนี้ แทบจะกล่าวได้เลย ว่า ยากที่จะเข้าใจ-ในสิ่งที่อยากจะเข้าใจ
    โดย ไม่มี "พื้นฐาน-ความรู้ขั้นเริ่มต้น-ที่มั่นคง"
    ซึ่งหมายถึง ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมมีทั้งหมด ๔ ประเภท
    คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน.
    สภาพธรรม หรือ ธรรมะที่มีจริง ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ ประเภทนี้.

    ถ้าใช้คำว่า "จิต" ต้องเป็นความเข้าใจที่ลึกลงไปอีก

    ว่า ถ้า จิต มีจริง....แล้ว จิต อยู่ที่ไหน.?
    ถ้าตอบไม่ได้ ก็หมายความว่ายังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "จิต"

    "จิต" หมายถึง ธาตุชนิดหนึ่ง ใช้คำว่า "ธาตุ" หรือ "ธรรมะ" ก็ได้
    มีความหมายเหมือนกัน คือ สิ่งที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง.

    ฉะนั้น เสียง ก็เป็น "ธรรมะ" เพราะ เสียง มีลักษณะเฉพาะ
    แม้เสียง มีหลากหลาย แต่เสียงปรากฏเมื่อได้ยิน เท่านั้น
    เสียงมีลักษณะดัง ต่างกับลักษณะของกลิ่น หรือ แข็ง
    ซึ่ง มีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม.?

    สภาพธรรมใด ๆ ก็ตามที่ปรากฏทางใดทางหนึ่ง
    ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวัน
    เป็น "ธรรมะ" ทั้งหมด
    และ "ธรรมะ" ที่ปรากฏ ประมวลเป็น ธรรมะ-ประเภทที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย
    ซึ่งภาบาลี ใช้คำว่า "รูปธรรม" หมายถึง "ธรรมะที่เป็นรูป-ไม่ใช่สภาพรู้"
    และ "นาม" หมายถึง "ธรรมะ-ที่เป็นสภาพรู้" คือ "นามธรรม"

    แต่ถ้ามีแต่ "รูปธรรม" โดยไม่มีสภาพธรรมที่รู้ คือ "นามธรรม"
    ก็จะไม่มีการเห็น การได้ยินเสียง การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส
    และ การคิดนึกทางใจ.
    เมื่อกล่าวถึง "การกระทำ"
    ถ้าไม่มี "จิต" หรือ สภาพรู้.....สามารถที่จะกระทำอะไรได้ไหมคะ.?
    เช่น ขณะนี้ ที่ทุกคนสามารถเดิน หรือเคลื่อนไหวได้ เพราะว่ามี "จิต"
    และ จิต ต้องมีที่กิด คือ เกิดที่รูปใด รูปหนึ่ง และรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
    ถ้าจิตดับไปเลย ไม่เกิดตรงที่รูปนั้นอีก รูปนั้น ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต
    เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
    และ ไม่สามารถ "กระทำการใด ๆ" ได้เลย.

    เพราะฉะนั้น จึงควรทราบตามความเป็นจริง ว่า "ธรรมะ" มี ๒ ประเภทหลัก ๆ
    คือ ธรรมะ ที่ไม่สามารถรู้อะไรได้ทั้งสิ้น และ ธรรมะ ที่มีลักษณะ รู้ หรือ ธาตุรู้
    "ธาตุรู้" คือ จิต และ เจตสิก เมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
    แล้วแต่ ว่าจะมีอารมณ์เป็น รูปธรรมหรือ นามธรรม.

    ขณะที่กำลังเห็นนี้ "จิตเห็น"เกิดที่ตา เห็นที่ตา และดับที่ตา เป็นต้น
    ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก่อน
    จะเข้าใจ ความหมายของ "กรรม" ได้ไหม?
    "กรรม"
    คือ สภาพธรรมที่เจตนา จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำกิจหนึ่งกิจใดให้สำเร็จ
    "กรรม" ไม่ใช่ "จิต" แต่ เกิด-ดับ พร้อมกับจิต.

    เช่น ขณะที่กำลังเห็น
    หมายความว่า "จิตเห็น" เป็นสภาพธรรมที่ กำลังเห็น ทำกิจเห็น เท่านั้น
    "จิตเห็น" ไม่ใช่ สภาพธรรมที่มีลักษณะเจตนา จงใจ ตั้งใจในการกระทำ.

    ฉะนั้น "จิตเห็น" จึงไม่ใช่ "กรรม"

    แต่ ตามความเป็นจริง
    ขณะหนึ่งขณะใด ที่มีเฉพาะสภาพธรรม-ที่เป็น"นามธรรม" เกิดขึ้น
    ขณะนั้น ก็ต้องมี "นามธรรมประเภทอื่น" เกิด-ดับพร้อมกัน
    ซึ่ง พระผู้มีพระภาคฯ ทรงบัญญัติเรียก สภาพธรรมดังกล่าว ว่า "เจตสิก"

    "เจตสิก" คือ สภาพนามธรรม หรือ ธาตุรู้-ที่เกิด-ดับพร้อมกับจิต
    และ "กรรม" คือ "เจตนา-เจตสิก"

    เมื่อไม่เคยฟังพระธรรม ย่อมไม่ทราบตามความเป็นจริง
    ว่า ขณะที่มีเจตนา จงใจ ตั้งใจ แล้วเข้าใจว่า "เป็นเรา" ที่มีเจตนา ตั้งใจ
    จงใจ กระทำกิจหนึ่งกิจใด นั้น
    ความจริงแล้ว เป็น "ลักษณะของของนามธรรม" ชนิดหนึ่ง
    คือ "เจตสิก" ซึ่ง ไม่ใช่ จิต และ ไม่ใช่ รูป.

    เพราะฉะนั้น
    "กรรม" คือ สภาพธรรมที่มีจริง และ มีลักษณะ-เจตนา ตั้งใจ จงใจ
    กระตุ้นเตือน-สภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน
    คือ จิตและเจตสิกอื่น ๆ-ที่เกิดกับจิตขณะนั้น ๆ
    ในการกระทำกิจใดกิจหนึ่ง ให้สำเร็จ
    เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะจิตเดียว แล้วดับไป ทันที.!

    . . .

    "กรรม" หรือ "เจตนา-เจตสิก" นั้น
    มีทั้งเจตนา-ที่เกิดกับ-กุศลจิต ซึ่งเมื่อกระทำกิจสำเร็จ
    ก็เป็น-กุศลกรรมทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ
    และต้องเป็นคนละขณะกับ เจตนา-ที่เกิดกับอกุศลจิต ซึ่งเมื่อกระทำกิจสำเร็จ
    ก็เป็นอกุศลกรรมทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ.

    ฉะนั้น จึง "ไม่มีเรา" ที่กระทำกรรม
    แต่มีสภาพธรรมที่เป็น "กรรม" คือ "เจตนา-เจตสิก"
    ซึ่ง หมายถึง "ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริง
    เกิดขึ้น และดับไป ตามเหตุ ตามปัจจัย.

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าสังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นใจ,
    สังขารแม้อย่างหนึ่งที่เที่ยงนั้น ไม่มีเลย จะเห็นได้ว่า ชีวิตของแต่ละบุคคลก็
    ไม่พ้นจากสังขารเลย ทุกขณะของชีวิตเป็นสังขาร (จิต เจตสิก รูป) บุคคลใน
    ยุคต่าง ๆ ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ บุคคลเหล่านั้นได้ กระทำกาละไป
    หมดแล้ว (ตาย) แล้วบุคคลเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ? ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้ง
    ปวงได้อย่างเด็ดขาด แน่นอนต้องเกิด มีจิต เจตสิก และรูป เกิดขึ้นเป็นไป ใน
    ภพต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรา หรือ เป็นใคร คนใดคนหนึ่ง ที่อยู่ที่นี่ในขณะนี้ก็ได้...
    ดังนั้น ประโยชน์สูงสุดของการเกิดมาในแต่ละภพ แต่ละชาตินั้น ก็คือ มีโอกาส
    ได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญา (ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก) ไปตาม
    ลำดับ จนกว่าจะมีมากขึ้น เจริญขึ้น ถึงขั้นดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด บรรลุ
    ถึงความเป็นพระอรหันต์. สังสารวัฏฏ์จึงเป็นอันจบสิ้น...
    เอาบุญมาฝากได้ถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน
    กำหนดอิริยาบทย่อย อนุโมทนาบุญกับผู้ใส่บาตรตามถนนหนทาง
    เมื่อคืนฟังธรรมจนหลับและตื่นมาวันนี้ตื่นสายเพราะเพลียจากการทำกุศล
    และวันนี้ได้ถวายข้าวพระพุทธรูป และตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่าง
    และวันนี้เพื่อนของเราได้โทรมาบอกว่าจะพาคุณแม่ของเพื่อนไปปล่อยปลาด้วย
    ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย

    ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างสมเด็จองค์ปฐมหน้าตัก 4 ศอก
    ณ ที่พักสงฆ์บ้านก่อ ต.ละลาย
    อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
    โทรสอบถามเพิ่มเติม 085-657-8676
    ขอให้สรรพสัตว์ทั้ง 31 ภพภูมิจงบรรลุมรรคผลนิพพานเทอญ
     

แชร์หน้านี้

Loading...