พหุลานุศาสนี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิวิถี, 11 กันยายน 2010.

แท็ก: แก้ไข
  1. โพธิวิถี

    โพธิวิถี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2010
    โพสต์:
    150
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +580
    พหุลานุศาสนี
    ทรงแสดงประโยชน์ของการให้ ( ทาน) เพื่อขจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวของบุคคลให้เจือจางลงไป บังเกิดมีน้ำใจเผื่อแผ่ เอื้อเฟื้อต่อบุคคลอื่นจนถึงกับพร้อมที่จะเสียสละและบริจาคทาน จากนั้นก็จะทรงแสดงศีล เพื่อให้บุคคลตระหนักที่จะควบคุมกาย วาจาของตนให้ประพฤติเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนและผู้อื่น ไม่ทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยต่อหมู่คณะที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ จนถึงพร้อมที่จะยอมรับนับถือบุคคลอื่น และทำตนให้เป็นประโยชน์ เป็นศักดิ์ศรีแก่หมู่คณะ จากนั้นก็จะแสดงผลดีงามที่เกิดขึ้นจากการให้ทานและการรักษาศีลที่บุคคลจะพึงประสบ ทั้งในปัจจุบันและในภายภาคหน้า คือการอุบัติบังเกิดในสวรรค์ และเมื่อบุคคลเห็นชื่นชมเพลิดเพลินกับความสุขในสวรรค์ อัธยาศัยของบุคคลนั้นสามารถที่จะเรียนรู้ปฏิบัติสูงขึ้นไป

    โทษแห่งกาม
    คือการที่ใจของบุคคลไปกำหนดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ วัตถุกามเหล่านั้น จะเป็นของมนุษย์หรือของทิพย์ก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของที่มีโทษ ก่อให้เกิดความหมกมุ่น ยึดติด ผ่อนคลายได้ยากสลัดได้ยาก จิตใจจะกำหนัดเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น แต่เมื่อบุคคลมีความเบื่อหน่ายในกามก็จะแสดงเนกขัมมานิสงส์คือ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม

    ทานกถา
    กถาว่าด้วยทาน คือการให้ ท่านแสดงว่า ทานนี้นี้เป็นต้นเค้าแห่งความสุขทั้งหลาย เป็นมูลแห่งสมบัติทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งโภคะทั้งปวง เป็นที่ต้านภัย เป็นคตินำไปข้างหน้าของบุคคลที่ยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ ทานเป็นที่พำนักพักพิงอาศัย ที่ยึดเหนี่ยวอันเสมอเหมือนทานไม่มีทั้งในโลกนี้และในโลกอื่น ดุจสีหบัลลังก์ อันล้วนแล้วด้วยรัตนะ เป็นที่พำนักอาศัย ดุจเชือกผูกห้อยไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ทานเป็นดุจทาส เพราะเป็นเครื่องกั้นทุกข์เป็นดุจเกราะของผู้กล้าหาญในสงคราม เป็นเครื่องทำให้อุ่นใจ เป็นดุจเมืองที่ตกแต่งไว้ดีแล้วเพราะเป็นที่ป้องกัน เป็นดุจดอกปทุม เพราะไม่เปื้อนมลทิน คือความตระหนี่เป็นดุจอสรพิษเพราะความตระหนี่เป็นต้น ไม่อาจเข้าใกล้ เป็นดุจราชสีห์ สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งและเป็นดุจพญาม้าวลาหกเพราะพาให้ถึงภูมิอันเกษม ทานนี้เป็นมรรคาที่เราตถาคตได้ดำเนินมาแล้ว เป็นเชื้อวงศ์ของเราโดยแท้ เมื่อเราเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีอยู่บำเพ็ญมหายัญเป็นอันมาก ทานนี้ย่อมให้สวรรค์สมบัติจนถึงอภิสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อบุคคลทำทานได้ จึงอาจสมาทานศีลได้

    สีลกถา
    คือกถาที่ว่าด้วยคุณของศีล การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ไม่มีโทษ เช่น ทรงแสดงว่า ชื่อว่าศีลนี้เป็นที่พำนัก เป็นที่อาศัยที่ต้านภัย เป็นที่ยึดเหนี่ยว ต้านทาน เป็นที่หลบภัย เป็นคติที่เป็นไปในเบื้องหน้า ศีลเป็นเชื้อวงศ์ของเราตถาคต ได้บำเพ็ญศีลบารมีในภพนั้น ๆ เป็นอเนกอนันต์ ศีลเป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้งแห่งสมบัติทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น ไม่มีที่พำนักอาศัยอื่นเสมอเหมือน เครื่องอลังการก็ดี ดอกไม้ก็ดี เครื่องประทินผิวก็ดีที่เสมอเหมือนเครื่องอลังการคือศีล ดอกไม้คือศีล เครื่องประทินคือศีล หามีไม่ แท้จริง ชาวเทวโลกย่อมนิยมบูชาท่านผู้ประกอบด้วยศีลอลังการ ทัดดอกศีลโกสุมลูบไล้ประทินคือศีลเสมอไม่รู้เบื่อ และอย่างที่ทรงแสดงว่า ศีลเป็นอาภรณ์อย่างประเสริฐ ศีลเป็นอาวุธอย่างยอดเยี่ยม ศีลเป็นเกราะอย่างมหัศจรรย์ ศีลอันเป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้ เป็นต้น เมื่อบุคคลอาศัยศีลนี้แล้ว ก็ย่อมจะได้สวรรค์

    สัคคกถา
    คือ สวรรค์ แปลว่า อารมณ์เลิศ ซึ่งอาจหมายถึงสภาพชีวิตของบุคคลที่มีความสุขกายสบายใจ ไม่เดือดร้อนในการเป็นอยู่ หมายถึง การมีคุณธรรมภายในใจของบุคคลผู้นั้น เช่น มีหิริ มีโอตตัปปะอยู่ภายในใจ ชื่อว่าเป็นเทวดา บางทีก็หมายถึงสภาพจิตที่มีความเพลิดเพลิน สนุกสนานอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ที่มุ่งหมายจริง ๆ นั้น หมายถึง ปรโลก คือโลกที่บุคคลจะไปอุบัติบังเกิดด้วยผลแห่งกุศลกรรมที่เขาได้กระทำเอาไว้.

    กามาทีนวกถา
    กถาว่าด้วยโทษแห่งกามทั้งหลาย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประโลมใจผู้ฟังด้วยเรื่องสวรรค์ จนเกิดความเพลิดเพลินยินดีสนุกสนานและปรารถนาที่จะเสพสุข ก็ทรงชี้ให้เห็นว่า สวรรค์นั้นเป็นกามสุข แม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ หรือเป็นทิพย์ก็ตาม แต่ว่าที่แท้จริงแล้วก็มากไปด้วยเวร มากไปด้วยภัย ทิพยสุขเหล่านั้น ก็มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แม้สวรรค์เองก็เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ไม่ควรจะไปหลงนิยมยินดี และทรงชี้ให้เห็นโทษของกามไว้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น อุปมาเหมือนหัวฝีที่กลัดหนองบ้าง อุปมาเหมือนการถือคบเพลิงทวนลมบ้าง อุปมาเหมือนศีรษะอสรพิษ เมื่อบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องก็ต้องระมัดระวังอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ตน เปรียบเหมือนกับชิ้นเนื้อนาบไฟ เปรียบเหมือนกับผลไม้ซึ่งเป็นที่ต้องการของสัตว์ทั้งหลายด้วย และก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วเป็นต้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...