ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย telwada, 7 กุมภาพันธ์ 2010.

  1. telwada

    telwada เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,509
    ค่าพลัง:
    +1,817
    ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
    หากท่านทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาใดก็ตาม ได้อ่านบทความนี้แล้ว ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรม หรือหลักการทางพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น และขอให้ใช้วิจารณญาณในการอ่าน และคิดพิจารณา ให้เป็นไปตามหลักความจริง หรือหลักธรรมชาติ แห่งสรรพสิ่งทั้งปวง อันเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
    สืบเนื่องจากการที่ข้าพเจ้าได้เผยแพร่ในเรื่อง ของ "โมกษะดั้งเดิม ก่อนพุทธกาล" อันเป็นหลักธรรม หรือหลักการแห่งข้าพเจ้า “ศรีอาริยเมตไตรย” ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
    โมกษะธรรมดั้งเดิมนั้น ประกอบไปด้วย
    ๑.การครองเรือน ๒. ทาน คือการให้
    ๓.กตัญญูรู้คุณ(ในสรรพสิ่ง) ๔.การเจรจาติดต่อสื่อสาร
    ๕.สรรพอาชีพ ๖. ประพฤติ
    ๗.ระลึก คือ การนึกถึง หรือการหวนนึกถึง
    ๘. ดำริ คือ การคิด หรือ ความคิด
    อันเป็น โลกกุตตรธรรม ,หรือ อัพยากตธรรม, หรือเป็นสัทธรรม
    ซึ่งล้วนเป็นเครื่องดิ้นรนแห่งสรรพสิ่ง อันเป็นเหตุทำให้เกิด ทุกข์,สมุทัย,นิโรธ,มรรค
    สำหรับ อริยมรรคที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น เป็นการประพฤติชั้นพื้นฐานสำหรับปุถุชนคนทั่วไป เป็นพื้นฐานในอันที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข “ อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานการประพฤติ หรือเป็นพื้นฐานการปฏิบัติ หรือเป็นข้อคิดข้อเตือนสติ หรือเป็นข้อวัตรชนิดหนึ่งสำหรับ พระภิกษุสงฆ์ สามเณร โดยเฉพาะ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ หรือเครื่องฝึกตน ฯ ไม่ให้เกิดความห่วงหา อาลัยอาวรณ์ ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ กามารมณ์หรือ กามคุณ ฯลฯ”
    ส่วนคำว่า "โมกษะ" และ "โมกษะธรรม" ข้าพเจ้าจักได้อธิบายให้ท่านทั้งหลายได้เกิดความเข้าใจ พอสังเขป ดังต่อไปนี้.-
    โมกษะ มีความหมาย ตามพจนานุกรม ฯ ว่า "ความหลุดพ้น หรือ นิพพาน

    “โมกษะธรรม” จึงหมายถึง "ธรรมหรือคำสอน หรือหลักการ หรือธรรมชาติ อันจักทำให้บุคคลที่รู้ ที่เข้าใจ เข้าถึงซึ่งความหลุดพ้น และหรือทำให้ถึงซึ่ง มรรคผล, นิพพาน"
    คำว่า "ความหลุดพ้น" หมายถึงหลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็น กิเลส ตัณหา ยังอาจหมายรวมไปถึงการหลุดพ้นจากวงจรหรือวงโคจรของการเวียนว่ายตายเกิดอีกด้วย (อันนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า มันจะหลุดพ้นในรูปแบบไหน รู้เพียงว่าสามารถขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้ตามต้องการ หรือตามใจของบุคคลผู้มีความรู้ความเข้าใจใน โมกษะธรรม โดยไม่ต้องใช้วิธีอดทน อดกลั้น หรือ ข่มไว้ สะกดไว้ )

    โมกษะธรรม ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปในตอนต้นนั้น ก็คือ หนึ่ง ในพระสัทธรรม เหตุเพราะ พระสัทธรรม ในทางพุทธศาสนานั้น ประกอบไปด้วย หรือ มีความหมาย ดังพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับพระธรรมปิฎก ดังนี้.-
    สัทธรรม หมายถึง
    "ธรรมที่ดี, ธรรมที่แท้, ธรรมของคนดี, ธรรมของสัตบุรุษมี ๓ อย่าง คือ
    ๑.ปริยัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งที่พึงเล่าเรียน ได้แก่ พุทธพจน์
    ๒.ปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือสิ่งพึงปฏิบัติได้แก่ไตรสิกขา
    ๓.ปฏิเวธสัทธรรม สัทธรรมคือผลที่พึงบรรลุ ได้แก่ มรรคผล และนิพพาน;
    สัทธรรม ๗ คือ ๑.ศรัทธา ๒.หิริ ๓.โอตตัปปะ ๔.พาหุสัจจะ ๕.วิริยารัมภะ ๖.สติ ๗. ปัญญา"

    เมื่อท่านทั้งหลายได้อ่าน และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ สัทธรรมแล้ว ก็จะเกิดความรู้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขออธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้ท่านทั้งหลาย ได้เกิดความใจอย่างถูกต้องว่า
    สัทธรรม แบ่งเป็น สองชนิด สองอย่าง
    อย่างแรก มี ๓ ข้อ
    อย่างที่สอง มี ๗ ข้อ

    หากท่านทั้งหลายพิจารณาให้ดีแล้ว ก็จะพบว่า สัทธรรม ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น เป็นเพียง "เครื่องมือ หรือ หัวข้อหลัก ในอันที่จะทำให้ผู้เรียน ผู้ศึกษา ได้ ศึกษาค้นหา ค้นคว้า เพื่อให้ได้รู้ เพื่อให้ได้พบ หลักสัทธรรม ทั้ง ๓ ชนิด
    ซึ่ง ในสัทธรรม ข้อที่ ๓ อันได้แก่ ปฏิเวธสัทธรรม ก็คือ โมกษะธรรม หรือ โลกุตรธรรม หรือ อัพยากตธรรม อันเป็นธรรมที่จะทำให้ บรรลุมรรคผล และนิพพานนั่นเอง คำว่า ปฏิเวธสัทธรรม นั้น หมายถึง การรู้แจ้ง รู้ตลอด รู้ทะลุปรุโปร่ง สามารถลุล่วงประสบผลจากการปฏิบัติ นั้นย่อมหมายถึง รู้ตัวธรรมะ เพื่อให้บรรลุมรรคผล และนิพพาน อันนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี

    ส่วน สัทธรรม ๗ ประการ อันได้แก่ ศรัทธา,หิริ,โอตัปปะ,พาหุสัจจะ,วิริยารัมภะ ,สติ,ปัญญา ก็เป็นเพียง ปัจจัย หรือเครื่องมือในการศึกษา ค้นหา ค้นคว้า หรือเป็นปัจจัยในอันที่จะปฏิบัติธรรม หรือฝึกตน เพื่อให้บรรลุมรรคผล และนิพพานเท่านั้น
    เพราะ บุคคล จะสามารถปฏิบัติธรรม หรือจะมีความตั้งใจใคร่เรียนรู้ หรือศึกษา ก็ต้อง อาศัย ความเชื่อเป็นอย่างแรก อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ได้รู้เห็น ได้ฟังมีความจำได้นานและดีจนขึ้นใจ สามารถท่องหรือพูดสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้น อย่างไม่ติดขัด อีกทั้งยังต้องรู้จักระลึกได้ และสามารถนำการได้รู้ได้เห็น ได้ฟังมาคิดพิจารณา ก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ นั่นก็คือ เกิดปัญญา อีกทั้ง ยังต้องมีความละอาย และเกรงกลัวต่อบาป ไม่ลักขโมย ไม่โกหก หลอกลวง มีความกตัญญู รู้คุณท่านรู้ กตเวที อยู่เป็นนิจ ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น

    เมื่อท่านทั้งหลายได้อ่าน และทำความเข้าใจ และได้ใช้สมองสติปัญญา คิดพิจารณา ตามหลักความจริง ตามหลักธรรมชาติ แห่งสรรพสิ่ง (ซึ่งในที่นี้หมายเอาเฉพาะมนุษย์เป็นอันดับแรก) ให้ถี่ถ้วนดีแล้ว ท่านทั้งหลายย่อมจะเกิดความรู้ ความเข้าใจ ตามหลักความจริง ตามหลักธรรมชาติ อันเป็นไปตามหลักโมกษะธรรมดั้งเดิม แห่งข้าพเจ้าศรีอาริยเมตไตรย เมื่อหเกิดความเข้าใจ แม้ในระดับหนึ่ง ไม่ถึงต้องกับ รู้แจ้งรู้ตลอดทะลุปรุโปร่ง ก็เท่ากับว่า “ท่านทั้งหลายได้เห็นธรรม ซึ่งเท่ากับว่าได้เห็นข้าพเจ้า” ศรีอาริยเมตไตรย” ฉะนี้

    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
    ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
     
  2. thaiboy74

    thaiboy74 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    175
    ค่าพลัง:
    +207
    ข้อมูลเรื่องพระศรีอารย์ ในส่วนของพุทธทำนาย

    จากกระทู้เดิม ซึ่งเคยเขียนถามคำถามไว้เพื่อขอข้อมูลอ้างปิง ปรากฏว่าคำถามต่าง ๆ ที่ได้ตั้งไว้ถูกอุ้มหายเข้ากลีบเมฆไปเสียฉิบ

    ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แทนที่จะสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา ที่จะสืบเสาะค้นคว้าหาความจริงจากข้อมูลที่อ้างอิงได้ แต่ในทางปฏิบัติ กลับกลายเปนเรื่องยกเมฆ ไม่มีข้อมูลอ้างอิงใด ๆ พร้อมๆ กับการห้ามแตะต้อง ตั้งคำถามใด ๆ อนิจจังเหลือคณา

    ใหน ๆ ก็ใหน ๆ ผมเอาวรรณกรรมมาให้อ่านกันในวันนี้ เรื่องเกี่ยวกับยุคพระศรีอารย์ ถึงกาลแล้วไม่ถึงกาลแล้ว อะไรอย่างไร อ่านแล้วพิจารณากันเองเถิด ของพวกนี้ไม่อยากแตะต้อง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่มักใช้ถูกอ้างอิงบ่อย ๆ ในแวดวง
    ข้อมูลจาก ยุคพระศรีอาริย์ เป็นอย่างไร - มีคำตอบ - กูรู

    กัณฑ์ที่ ๑

    ( เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิสาขาย สตฺตวีสติโกฏิธนปริจฺจาเคน การิเต
    ปุพฺพาราเม วสฺสาวาสํ วสนฺโต อชิตตฺเถรํ อารพฺภ ทส โพธิสตฺตาติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )

    ( บัดนี้ จะได้วิสัชนาในเรื่อง พระอนาคตวงศ์ โดยพุทธภาษิตปริยาย มีเนื้อความตามพระบาลีว่า เอกํ สมยํ )

    ***บาลีและข้อความในวงเล็บทุกแห่งได้เพิ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ เพื่อให้เทศน์ได้สะดวก***


    พระศรีอาริยเมตไตร (พระอชิตเถระ)


    ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าเสด็จยับยั้งอาศัยใกล้กรุงสาวัตถีมหานคร วสนฺโต เมื่อสมเด็จพระชินวรผู้ทรงญาณสำราญพระอิริยาบถ เข้าพรรษาอยู่ในบุพพาราม อันพระวิสาขา สร้างถวายสิ้นทรัพย์ ๒๗ โกฏิฯ

    ครั้งนั้น พระองค์ทรงปรารภซึ่งพระอชิตเถระ ผู้หน่อบรมพุทธางกูรอริยเมตไตรยเจ้าให้เป็นเหตุ พระโลกเชษฐ์จึงตรัสพระธรรมเทศนา สำแดงซึ่งพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ องค์ อันจะมาตรัสเป็น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลฯ ครั้งนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถรเจ้า จึงกราบทูลอาราธนา พระองค์ก็นำมาซึ่งอดีตนิทาน แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระองค์ ที่จะลงมาตรัสในอนาคตกาลเบื้องหน้าต่อไป

    เป็นใจความว่า เมื่อศาสนาพระตถาคตครบ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ฝูงสัตว์ก็มีอายุถอยลง คงอยู่ ๑๐ ปีเป็นอายุขัย ครั้งนั้นแล จะบังเกิดมหาภัยเป็นอันมาก มีสัตถันตะระกัปป์ มนุษย์ทั้งหลายจะวุ่นวายเป็นโกลาหล เกิดรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งกันและกัน จะจับไม้และใบหญ้าก็กลับกลายเป็นหอก ดาบ แหลน หลาว อาวุธน้อยใหญ่ ไล่ทิ่มแทงกัน ถึงซึ่งความฉิบหายเป็นอันมาก ฝูงมนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญา ก็หนีไปซุกซ่อนตัวอยู่ในซอกห้วย หุบเขา เมื่อพ้น ๗ วันล่วงไปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่เร้นซ่อนอยู่นั้น เห็นสงบสงัดเสียงคนก็ออกมาจากที่ซ่อนเร้น ครั้นเห็นซึ่งกันและกัน ก็มีความสงสารรักใคร่เป็นอันมาก เข้าสวมสอดกอดรัดร้องไห้กันไปมา บังเกิดมีความเมตตากรุณากันมากขึ้นไป ครั้นตั้งอยู่ในเมตตาพรหมวิหาร แล้วก็อุตสาหะรักษาศีล ๕ จำเริญกรรมฐานภาวนาว่า อยํ อตฺตภาโว อันว่าร่างกายของอาตมานี้ อนิจฺจํ หาจริงมิได้ ทุกฺขํ เป็นกองแห่งทุกข์ฝ่ายเดียว อนตฺตา หาสัญญา สำคัญมั่นหมายมิได้ ด้วยกายอาตมาไม่มีแก่นสารฯ
    …..เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย ปลงสัญญาเห็นในกระแสพระกรรมฐานภาวนาดังนี้เนืองๆ อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็วัฒนาจำเริญขึ้นไป ที่มีอายุ ๑๐ ปีเป็นอายุขัยนั้น ค่อยทวีขึ้นไปถึง ๒๐ ปีเป็นอายุขัย ค่อยทวีขึ้นไปทุกชั้นทุกชั้น จนอายุได้ ร้อย พัน หมื่น แสน โกฏิ จนถึงอสงไขยหนึ่ง ครั้นนานไปเห็นว่าไม่รู้จักความตายแล้ว ก็มีความประมาท มิได้ปลงใจลงในกอง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา อายุก็ถอยน้อยลงมาทุกทีจนถึง ๘ หมื่นปี ฝนก็ตกเป็นฤดูคือ ๕ วันตก ๑๐ วันตก ในชมพูทวีปทั้งปวงมีพื้นแผ่นดินราบคาบสม่ำเสมอเป็นอันดีฯ

    ครั้งนั้น กรุงพาราณสีเปลี่ยนนาม ชื่อว่า เกตุมมะดี โดยยาวได้ ๑๖ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑ โยชน์ มีไม้กัลปพฤกษ์เกิดทั้ง ๔ ประตูเมือง มีแก้ว ๗ ประการ ประกอบเป็นกำแพงแก้ว ๗ ชั้นโดยรอบพระนคร ครั้งนั้น มหานฬกาลเทวบุตร ก็จุติลงมาเกิดเป็นสมเด็จบรมจักรพรรตราธิราช ทรงพระนามว่า พระยาสังขจักร เสวยศิริราชสมบัติในเกตุมมะดีมหานคร ในท่ามกลางเมืองนั้นมีปรางค์ปราสาททองอันแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ผุดขึ้นมาแต่มหาคงคา ลอยมายังนภาดลอากาศเวหา มาตั้งอยู่ในท่ามกลางพระนคร ปรางค์ปราสาทนี้ แต่กาลก่อนเป็นปรางค์ปราสาทแห่งสมเด็จพระเจ้ามหาปะนาท ครั้นสิ้นบุญพระเจ้ามหาปะนาทแล้ว ปรางค์ปราสาทนั้นก็จมลงไปในคงคา เมื่อสมเด็จบรมจักรจอมทวีปผู้ทรงพระนามว่า พระยาสังขจักร ได้เสวยราชสมบัติในเกตุมมะดีนั้น ปรางค์ปราสาทก็ผุดขึ้นมาแต่มหาคงคาด้วยอานุภาพแห่งบรมจักร ประดับไปด้วยหมู่พระสนมแสนสาวสุรางค์ทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่น ๔ พัน พระองค์มีพระราชโอรสประมาณพันพระองค์ พระราชโอรสผู้ใหญ่นั้น ทรงพระนามว่า อชิตราชกุมาร เจ้าอชิตราชกุมารนั้น เป็นปรินายกแก้ว แห่งสมเด็จพระราชบิดาผู้เป็นพระยาบรมสังขจักร อันบริบูรณ์ไปด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ
    จักรแก้ว ๑
    นางแก้ว ๑
    แก้วมณีโชติ ๑
    ช้างแก้ว ๑
    ม้าแก้ว ๑
    คฤหบดีแก้ว ๑
    ปรินายกแก้ว ๑
    อันว่าสมบัติบรมจักรนั้นย่อมมีทุกสิ่งทุกประการ เป็นที่เกษมสานต์ยิ่งนัก เหลือที่จะพรรณนาในกาลนั้นฯ

    ฝ่ายว่า มหาปุโรหิตผู้ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าสังขจักรนั้น เป็นมหาพราหมณ์ประกอบไปด้วยอิสริยยศเป็นอันมาก หาผู้จะเปรียบเสมอมิได้ มีนามปรากฏว่า สุตพราหมณ์ นางพราหมณีผู้เป็นภรรยานั้นมีนามว่า นางพราหมณวดีฯ ในกาลนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า รับอาราธนานิมนต์แห่งฝูงเทพยดาทั้งหลาย ก็จุติลงมาจากสวรรค์เทวโลก ลงมาถือเอาปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณวดี ภรรยาแห่งมหาปุโรหิตพราหมณ์ผู้ใหญ่ ในวันบัณณสี อุโบสถ เพ็ญเดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาปัจจุสสมัยใกล้รุ่ง พร้อมด้วยอัศจรรย์ทั้งหลาย ๑๒ ประการ เทพยดาพากันกระทำสักการบูชาดังห่าฝนตกลงในกลางอากาศ แล้วก็มีปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ผุดขึ้นมา เพื่อจะให้เป็นที่สำราญ แห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้า
    ปราสาท ๑ ชื่อว่า ศิริวัฒนะ
    ปราสาท ๑ ชื่อว่า สิทธัตถะ
    ปราสาท ๑ ชื่อว่า จันทกะ

    ปรางค์ปราสาททั้ง ๓ นี้เป็นที่จำเริญพระศิริสวัสดิมงคล ควรจะให้สำเร็จประโยชน์ทุกประการ ปรากฏงามดังดวงพระจันทร์ แล้วหอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นอันหอมมิรู้ขาด เดียรดาษไปด้วยนางนาฏพระสนมประมาณ ๗ แสน ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย บรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงพระนามว่า พระจันทมุขี เป็นประธานแห่งนางบริวารทั้ง ๗ แสน มีพระราชโอรสองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พราหมณ์วัฒนกุมาร เมื่อพระมหาบุรุษผู้ประเสริฐ ทรงพระสำราญแรมอยู่ในปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ควรแก่ฤดูโดยนิยมดังนี้ฯ จนพระองค์มีพระชนม์ได้ ๘ หมื่นปี แล้วจึงเสด็จขึ้นสู่รถแก้วอันเป็นทิพย์วิมานมีศิริหาเสมอมิได้ เสด็จไปประพาสอุทยานทอดพระเนตรเห็นจตุรนิมิตทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเทวทูตยังธรรมสังเวชให้เกิดขึ้น ก็มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา พิจารณาเห็นเพศสมณะนั้นเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นอันว่าปรางค์ปราสาทแก้วซึ่งทรงพระสำราญยับยั้งอยู่นั้น ก็ลอยไปในอากาศเวหา พร้อมทั้งพระราชโอรส และหมู่นิกรอนงค์นางกัลยาทั้งหลายก็ไปกับปรางค์ปราสาทนั้น

    ครั้งนั้นเปรียบประดุจดังว่า พระยาสุวรรณราชหงส์ทองอันบินไปในอากาศเวหา ฝ่ายฝูงเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ก็ชวนกันถือเครื่องสักการบูชา เหาะตามกันมากระทำสักการบูชาในอากาศเวหา แน่นเนื่องกันมาเป็นอเนกอสงไขย ทั้งท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งหลาย ๘ หมื่น ๔ พัน พระนครก็ดี และชาวนิคมประจันตประเทศชนบททั้งหลายก็ดี ก็ชวนกันมากระทำสักการบูชาด้วยดอกไม้และของหอม มีประการต่างๆเต็มเดียรดาษกลาดเกลื่อนไปทั้งชมพูทวีป เหล่าพวกอสูรทั้งหลาย ก็เข้าแวดล้อมพิทักษ์รักษาปรางค์ปราสาทฯ ฝ่ายพระยานาคราชนั้น กระทำสักการบูชาด้วยแก้วมณี พระยาสุวรรณราชปักษีกระทำสักการบูชาด้วยแก้ว อันเป็นเครื่องประดับตน พระยาคนธรรพ์ทั้งหลายนั้น กระทำสักการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ดุริยางค์ ฟ้อนรำ มีประการต่างๆฯ

    ปางเมื่อองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยเจ้าเสด็จออกบรรพชานั้น ฝูงเทพยดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ และ มนุษย์ นาค ครุฑ คนธรรพ์ทั้งหลาย กระทำสักการบูชา ทั้งพระยาบรมจักรพรรตราธิราชเจ้าผู้ประเสริฐ ก็พร้อมด้วยแสนสาวสนมในทั้งปวง และโยธาหาญ หมู่จตุรงค์องค์พยุหะเสนาอเนกนับมิได้ เสด็จไปที่ใกล้แห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์

    ครั้งนั้นมหาชนทั้งหลายทั้งปวง มีความปรารถนาจะทรงบรรพชาแล้วก็ลอยไปในอากาศ กับด้วยพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ด้วยเดชานุภาพแห่งบรมจักร และอานุภาพแห่งพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์นั้น ครั้นเสด็จถึงควงไม้พระศรีรัตนมหาโพธิ์ คือไม้กากะทิงแล้ว ปรางค์ปราสาทแก้วก็เลื่อนลอยลงจากอากาศใกล้ในที่ปริมณฑลไม้มหาโพธินั้น ฝ่ายท้าวมหาพรหมก็เชิญซึ่งพานผ้ากาสาวพัสตร์ กับเครื่องบริขารทั้ง ๘ น้อมเข้าไปถวายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ แล้วพระองค์จึงชักเอาพระแสงดาบแก้วตัดพระเกศเกล้าให้ขาด แล้วก็โยนขึ้นไปในอากาศเวหา ถือเครื่องบริขารทั้ง ๘ ประการ ทรงเพศบรรพชาเสร็จแล้ว ส่วนว่าบริวารทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ชวนกันบรรพชา บวชตามสมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าเป็นอันมาก ฝ่ายพระมหาบุรุษราช องค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้านั้น กระทำความเพียรอยู่ที่ใกล้พระศรีมหาโพธิสิ้นประมาณ ๗ วัน ในเมื่อเวลาเย็นพระองค์ก็เสด็จเข้าไปสู่ควงไม้พระมหาโพธิ ขึ้นทรงนั่งเหนือรัตนอปราชิตบัลลังค์พระที่นั่งแก้ว แล้วทรงพระคำนึงระลึกถึงบุพพชาติของพระองค์ด้วย บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทรงเห็นโดยลำดับกัน ประจักษ์แจ้งในปฐมยามฯ ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยามทรงเห็นซึ่ง จุติ-ปฏิสนธิ แห่งสัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพย์จักษุญาณฯ ครั้นล่วงไปในปัจฉิมยามที่สุดนั้น พระองค์พิจารณาซึ่งปัจจัยการ อันประกอบไปด้วยองค์ ๒ ประการ ตามกระแสพระปฏิจจสมุปบาทธรรม ด้วยสามารถอนุโลม ตรัสรู้ตลอดกัน ในลำดับนั้นก็ได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ทรงพระนามว่า อรหังสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอาทิ ปรากฏเป็นพระพุทธคุณทั่วโลกธาตุ แล้วพระองค์ก็ยังมนุษย์ทั้งหลายประมาณแสนโกฏิ ให้ดื่มกินซึ่งน้ำอมฤตรสคือพระสัทธรรม
    เห็นพระนิพพานอันมิได้รู้แก่ รู้ตาย เป็นธรรมาภิสมัย ให้บังเกิดแก่ฝูงเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ตรัสรู้มรรคและผลหาประมาณมิได้ฯ - และองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้าผู้ทรงพระภาคมีประเภทเป็นอันงามนั้น
    - พระองค์มีพระวรกายสูงได้ ๘๘ ศอก
    - พระองค์ใหญ่กว้างได้ ๒๕ ศอก
    - ตั้งแต่พระบาทถึงพระชานุมณฑลมีประมาณ ๒๒ ศอก
    - ตั้งแต่พระชานุมณฑลขึ้นไปถึงพระนาภีประมาณ ๒๒ ศอก
    - ตั้งแต่พระนาภีขึ้นไปถึงพระรากขวัญทั้ง ๒ ประมาณ ๒๒ ศอก
    - ตั้งแต่พระรากขวัญขึ้นไปถึงพระเศียรเกล้า ที่สุดยอดพระอุณหิส เปลวพระพุทธรัศมีนั้น ประมาณ ๒๒ ศอก เสมอกันทั้ง ๔ส่วน
    - พระรากขวัญทั้ง ๒ แต่ละอันนั้นยาวได้ ๕ ศอก
    - อันว่าพระหัตถ์ทั้ง ๒ ซ้าย-ขวานั้น ยาวได้ ๔๐ ศอก ( เข้าใจว่าความยาวจากหัวไหล่ถึงปลายนิ้วมือแต่ละข้าง ยาวได้ ๔๐ ศอก…..พีรจักร )
    - ในระหว่างภายในแห่งพระพาหาทั้ง ๒ ซ้าย-ขวา นั้นมีประมาณ ๒๕ ศอก
    - พระอังคุลีแต่ละอันยาวได้ ๕ ศอก
    - ฝ่าพระหัตถ์แต่ละข้างกว้างได้ ๕ ศอก
    - พระศอโดยกลมรอบมีประมาณ ๕ ศอก โดยยาวก็ ๕ ศอก
    - พระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องล่างกว้าง ๑๐ ศอกเสมอกัน เป็นอันดี
    - พระชิวหาอยู่ภายในพระโอษฐ์ยาว ๑๐ ศอก
    - พระนาสิกสูงยาวลงมาได้ ๗ ศอก
    - ดวงพระเนตรทั้ง ๒ โดยกว้างได้ ๗ ศอก
    - แววพระเนตรทั้ง ๒ ที่ดำ กลม เป็นปริมณฑลอยู่นั้น มีประมาณ ๕ ศอก
    - พระขนงแต่ละข้าง ยาวได้ ๕ ศอก
    - ในระหว่างพระขนงทั้ง ๒ กว้างได้ ๔ ศอก
    - พระกรรณทั้ง ๒ แต่ละข้าง ยาวได้ ๗ ศอก
    - ดวงพระพักตร์นั้นเป็นปริมณฑล กลมดังดวงพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ มีประมาณกลมได้ ๒๕ ศอก
    - พระอุณหิสที่เวียนเป็นทักขิณาวัฏรอบพระเศียร เป็นเปลวพระพุทธรัศมีขึ้นไปนั้น โดยกลมรอบได้ ๒๕ ศอกฯ
    …..ลำดับนี้ จะพรรณนาไม้พระศรีรัตนมหาโพธิต่อไป อันว่า ต้นไม้กากะทิง ที่เป็นไม้ศรีมหาโพธินั้น
    - มีปริมณฑลไปได้ ๑๒๐ ศอก
    - มีกิ่งทั้ง ๕ โดยรอบครอบนั้นก็ได้ ๑๒๐ ศอก
    - แต่ต้นขึ้นไปปลายสุดกิ่งนั้นได้ ๒๔๐ ศอก โดยสูง โดยสะกัดเป็นปริมณฑลเหมือนกัน
    - มีใบสดเขียวอยู่เป็นนิจจกาล
    - ทรงดอกและเกสรหอมฟุ้งขจรมิรู้ขาด เปรียบประดุจดอกปาริชาติ ในดาวดึงสาสวรรค์ก็เหมือนกันฯ


    สมเด็จพระสัพพัญญูองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ทรงทวัตติงสามหาปุริสลักษณะประกอบไปด้วยพระฉัพพรรณรังสี พระพุทธรัศมี ๖ ประการ สว่างออกจากพระสรีรกายเป็นอันงาม ประดุจดังท่อธารสุวรรณ ธาราน้ำทองอันไหลหลั่งออกมา เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ไปด้วยสุขทุกเมื่อ มีสติระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์เนืองๆ ด้วยเดชานุภาพพระพุทธคุณนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคซึ่งโภชนาหารแต่เนื้อแห่งข้าวสาลี อันบังเกิดมีมาเอง ได้ประดับประดาสรีรกายและผ้านุ่งผ้าห่ม เครื่องอาภรณ์ต่างๆ แต่ต้นไม้กัลปพฤกษ์ ประพฤติเลี้ยงชีวิตเป็นบรมสุขฯ ปางเมื่อพระองค์ผู้ทรงสวัสดิภาคเป็นอันงาม ทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ตรัสแสดงพระสัทธรรมเทศนา
    พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายได้ซึ่งธรรมาภิสมัย มรรคและผลธรรมวิเศษ ประมาณ ๓ แสนโกฏิฯ

    อันว่าองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ทรงสร้างพระบารมีมาสิ้นกาลช้านานถึง ๑๖ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์ มีศีลบารมี ทานบารมี เป็นต้น เต็มบริบูรณ์ กองพระบารมีทั้งหลายที่สำเร็จเป็นองค์พระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า นั้นคือ พระบารมีจองพระองค์ครั้ง ๑ ปรากฏชัดเจนเป็นปรมัตถบารมี อันยิ่งยอดกว่าพระบารมีทั้งปวงฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าของเราจึงนำมาซึ่งอดีตนิทาน แห่งกองพระบารมีของสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยมาตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรเถรเจ้าว่า อตีเต กาเล ในกาลล่วงลับมาแล้วช้านาน มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระสิริมิตร ได้ตรัสในโลก

    ครั้งนั้น องค์พระศรีอาริยเมตไตรย ได้เสวยศิริราชสมบัติ ในเมืองอินทปัตต์มหานคร ทรงพระนามว่าบรมสังขจักร มีแก้ว ๗ ประการ อยู่มาในกาลวันหนึ่ง พระเจ้าสังขจักรเสด็จทรงนั่งอยู่ภายใต้เศวตฉัตร มีพระทัยปรารถนาว่า ผู้ใดมาบอกข่าวว่า พระพุทธรัตนะพระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ บังเกิดมีแล้ว พระองค์จะสละศิริราชสมบัติบรมจักร พระราชทานให้แก่บุคคลผู้นั้นแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ในกาลนั้น ยังมีกุลบุตรเข็ญใจผู้หนึ่ง ไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในพระพุทธศาสนา ด้วยมารดาของสามเณรเป็นทาสทาสีอยู่ในตระกูลหนึ่ง สามเณรนั้นคิดแสวงหาทรัพย์จะไปให้แก่มารดา ให้พ้นจากทาสทาสี จึงเที่ยวไปโดยลำดับจนถึงกรุงอินทปัตต์มหานคร ฝูงมหาชนชาวพระนคร ไม่รู้จักว่าสามเณรเป็นอย่างไร ครั้นเห็นเข้าก็สงสัยว่าเป็นมหายักษ์ ก็พากันจับไม้ไล่ทุบตีสามเณรฯ สามเณรนั้นก็กลัว วิ่งหนีมหาชนเข้าไปจนถึงพระราชวัง ไปยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของพระองค์ พระองค์จึงตรัสถามว่ามาณพนี้มีนามชื่อใด เจ้าสามเณรกราบทูลว่า อาตมภาพมีนามว่าสามเณร จึงตรัสถามว่าสามเณรนั้นด้วยเหตุดังฤา สามเณรจึงทูลว่าข้าพเจ้ามีนามว่าสามเณรนั้น ด้วยเหตุว่าข้าพเจ้ามิได้กระทำบาปในภายนอก แล้วตั้งอยู่ภายในแห่งกุศล เหตุดังนั้นจึงมีนามว่าสามเณร พระองค์ก็ทรงตรัสถามว่า นามกรของท่านนั้นบุคคลผู้ใดให้แก่ท่าน สามเณรจึงทูลว่า พระอาจารย์ของข้าพเจ้าให้แก่ข้าพเจ้า พระองค์จึงตรัสถามว่า อาจารย์ของท่านนั้นชื่อดังฤา สามเณรจึงทูลว่าอาจารย์ของอาตมามีนามว่าภิกษุ จึงทรงตรัสถามต่อไปว่าพระอาจารย์ของท่านนั้นมีนามว่าภิกษุนั้นด้วยเหตุดังฤา สามเณรจึงทูลว่าอาจารย์ของข้าพเจ้านั้น ชื่อรัตนะเป็นแก้วอันหาค่ามิได้

    ครั้นทรงสดับว่าพระสังฆรัตนะในพระพุทธศาสนาหาได้เป็นอันยากยิ่งนัก พระองค์ก็มีความชื่นชมยินดีหาที่จะอุปมามิได้ คำนึงอยู่ในพระราชหฤทัยว่า จะเสด็จลงจากอาสน์ไปนมัสการเจ้าสามเณรที่ใกล้ ด้วยความปิติกายของพระองค์ก็ลอยไปตกลงตรงหน้าเจ้าสามเณร เดชะที่พระองค์มีพระราชหฤทัยเลื่อมใสในพระสังฆรัตนะ ดอกประทุมชาติก็บังเกิดผุดขึ้นรองรับพระองค์ไว้มิได้เป็นอันตราย จึงถวายนมัสการเจ้าสามเณรโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงตรัสถามเจ้าสามเณรต่อไปว่า พระสังฆรัตนะอาจารย์ของท่านนั้นบุคคลผู้ใดให้นามกร เจ้าสามเณรก็ทูลว่า อาจารย์ของข้าพเจ้านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงนามว่า พระสิริมิตรสัพพัญญู พระองค์โปรดประทานให้นามว่าพระสังฆรัตนะแก่อาจารย์ของข้าพเจ้า

    เมื่อสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ผู้ทรงอุตสาหะในพระศาสนา ได้ทรงฟังสามเณรออกวาจาว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ถึงวิสัญญีภาพลงอยู่กับที่ ครั้นพระองค์ได้พระสติขึ้นมา จึงตรัสถามสามเณรอีกว่า ดูก่อนเจ้าสามเณรผู้เจริญ บัดนี้องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จยับยั้งอยู่ในที่ดังฤา สามเณรจึงทูลว่า สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้าเสด็จยับยั้งอยู่ในบุพพารามวิหาร อันมีอยู่ในอุตตรทิศแต่กรุงอินทปัตต์มหานครนี้ไปไกลกันมีประมาณ ๑๖ โยชน์ ได้ทรงฟังสามเณรแจ้งความว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าบังเกิดแล้วในโลก จึงตรัสว่าดูก่อนสามเณร ผิว่าองค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าเสด็จอยู่ในฐานทิศใด เราก็จะไปในประเทศทิศนั้นฯ

    สมเด็จพระเจ้าสังขจักรบรมบพิตรผู้ประเสริฐ หาความเอื้อเฟื้อในศิริราชสมบัติบรมจักรของพระองค์มิได้ ด้วยมีพระทัยนั้นผูกพันอยู่ในการที่จะได้พบเห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่งอย่างอุกฤษฏ์ ก็กระทำการราชาภิเษกเจ้าสามเณรนั้น ให้สึกออกเสวยศิริราชสมบัติแทนพระองค์ เป็นพระยาอันประเสริฐ ครั้นกระทำการราชาภิเษกเจ้าสามเณรแล้ว ก็เสด็จออกแต่พระองค์เดียวโดยอุตตราภิมุขมีพระทัยเฉพาะต่ออุตตรทิศ ตั้งพระทัยไปสู่บุพพารามวิหาร อันเป็นที่ประทับแห่งองค์สมเด็จพระสิริมิตรสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า

    สมเด็จบรมสังขจักรจอมทวีปเป็นสุขมาลชาติ พระสรีรกายนั้นละเอียดอ่อนเป็นอันดี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปตามมรรคาหนทางแต่พระบาทเปล่า เวลาวันเดียวพระบาททั้ง ๒ ข้างก็ภินทนาการแตกออก จนพระโลหิตไหลตามฝ่าพระบาททั้ง ๒ เมื่อพระบาททั้ง ๒ ทำลาย จะเดินไปมิได้แล้ว ในกาลนั้น พระองค์ก็ลงนั่งคุกเข่าคลานไปทีละน้อยค่อยคมนาการไปตามหนทางที่เจ้าสามเณรชี้แจงบอกมานั้น จะได้ละความเพียรเสียหามิได้ ครั้นล่วงไปถึง ๔ วัน พระหัตถ์ซ้าย-ขวา และพระชงฆ์ทั้ง ๒ ข้างนั้นก็แตกช้ำโลหิตไหลออกมา จะคลุกคลานไปก็มิได้ ให้เจ็บปวดแสนสาหัส เห็นขัดสนพระทัยนักแล้ว ถึงกระนั้นพระองค์จะได้คิดท้อถอยย้อนรอยกลับคืนมาหามิได้ อาตมาต้องไปให้ถึงสำนักองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้าให้จงได้ ครั้นพระองค์คุกคลานไปมิได้แล้วก็ลงพังพาบไถลไปแต่ทีละน้อยด้วยพระอุระของพระองค์ ประกอบไปด้วยทุกขเวทนาเหลือที่จะอดกลั้น พระองค์ยึดหน่วงเอาพระพุทธคุณของสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ด้วยพระเจตนาจะใคร่พบเห็นพระผู้เป็นอธิบดีอันใหญ่ยิ่ง แล้วก็ทรงอดกลั้นซึ่งทุกขเวทนานั้นเสีย หาเอื้อเฟื้ออาลัยในร่างกายของพระองค์ไม่ฯ

    ครั้งนั้น สมเด็จพระสิริมิตรสัพพัญญูผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงพระมหากรุณาเล็งดูสัตว์โลกทั้งหลายด้วยสัพพัญญุตาญาณ ก็รู้แจ้งเห็นด้วยกำลังความเพียรแห่งบรมสังขจักรนั้นเป็นอุกฤษฏ์ยิ่งโดยวิเศษ แล้วก็มิใช่อื่นมิใช่ไกล เป็นหน่อพุทธางกูร พุทธพงศ์อันเดียวกันกับพระตถาคต สมควรที่พระตถาคตจักเสด็จไปสู่ที่ใกล้แห่งบรมสังขจักร เมื่อพระองค์ทรงพระดำริแล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเนินมาด้วยพระศิริวิลาสเป็นอันงาม แล้วพระองค์กระทำอิทธิฤทธิ์นิรมิต พระบวรกายของพระองค์ให้อันตรธานสูญหายกลับกลายเป็นมาณพหนุ่มน้อย ขึ้นขับรถทวนมรรคามาเฉพาะหน้าแห้งสมเด็จบรมสังขจักรนั้น แล้วพระพุทธสัพพัญญูเจ้าจึงร้องถามไปว่า ผู้ใดมานอนอยู่กลางทางขวางหน้ารถเราจงหลีกไปเสียเราจะขับรถไปฯ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์จึงตรัสตอบพระพุทธฎีกาว่า ดูก่อนนายสารถีผู้ขับรถ ท่านจะมาขับเราไปให้พ้นจากหนทางนั้นด้วยเหตุดังฤา ตัวเราผู้รู้จักคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ยิ่งนัก ชอบแต่นายสารถีจะยั้งรถของท่านให้หลีกเราเสียจึงจะสมควร ถ้าท่านไม่หลีกก็ให้ท่านขับรถไปเหนือหลังเราเถิด ซึ่งจะให้เราหลีกนั้นเราหาหลีกไม่ แล้วจึงมีพระพุทธฎีกาว่าถ้าแหละท่านจะไปยังสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว จงมาขึ้นรถไปกับเราเถิด เราจะพาท่านไปให้ถึงสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้าให้สมดังความปรารถนา พระจอมขัตติยาจึงตอบว่า ถ้าท่านเอ็นดูกรุณาแก่เรา เราก็มีความยินดีสาธุอนุโมทนาด้วยท่าน
    ว่าแล้วหน่อพระพิชิตมารก็อุตสาหะดำรงทรงพระกายขึ้นสู่รถแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็หันหน้ารถไปตามมรรคา พาพระยาสังขจักรไป

    ครั้นถึงกึ่งกลางมรรคาหนทางแล้ว สมเด็จพระอมรินทราธิราชกับองค์ดวงสุชาดาผู้เป็นอัครมเหสีนั้น นำเอาโภชนาหารอันเป็นทิพย์กับทั้งน้ำทิพย์ลงมา จำแลงเพศเป็นบุรุษยืนอยู่ตรงหน้ารถแล้วร้องว่า ดูก่อนนายสารถีผู้เจริญเอ๋ย ท่านอยากข้าวน้ำโภชนาหารหรือ เราจะให้ เมื่อโกสีย์อมรินทราธิราชกับนางสุชาดากล่าวดังนั้น สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าซึ่งแปลงเพศเป็นนายสารถีขับรถจึงว่า มาณพผู้เจริญ บุรษทุพลภาพผู้หนึ่งมาในรถด้วยเรา มีความลำบากเวทนานัก ท่านจะให้ข้าวน้ำโภชนาหารแก่เราก็ให้เถิด เราจะได้ให้แก่บุรุษทุพลภาพนั้นบริโภค ท้าวโกสีย์อมรินทร์กับนางสุชาดาก็ให้ข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์แก่องค์สมเด็จพระมหาบุรุษสัทธรรมสารถีผู้ประเสริฐ พระองค์ก็ประธานให้แก่พระบรมโพธิสัตว์บรมสังขจักรเสวยข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์ ครั้นพระองค์เสวยอิ่มหนำสำเร็จแล้ว ด้วยเดชะข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์อุปัทวโทมนัสทุกขเวทนาในสรีรกาย ก็อันตรธานหาย พระองค์ก็มีสรีรกายเป็นสุขเสมอเหมือนแต่ก่อน


    องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็พาพระยาสังขจักรไปใกล้บุพพารามวิหาร แล้วพระองค์ก็นิสีทนาการนั่งบนพระบวรพุทธอาสน์ในพระวิหาร ส่วนสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ก็เสด็จลงจากรถ เข้าไปสู่บุพพารามวิหาร ทอดพระเนตรแลไปได้ทัศนาการเห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ประกอบไปด้วยทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะอสีตยานุพยัญชนะประดับ ทั้งพระพุทะรัศมีอันโอภาสสว่างรุ่งเรืองออกจากพระวรกายอันเสด็จทรงนั่งอยู่ในที่นั้น
    พระองค์ก็ทรงวิสัญญีภาพลงตรงพระพักตร์แห่งสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคด้วยความโสมนัสสาการ เกิดความปิติยินดีหาที่สุดมิได้ ส่วนสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนมหาบุรุษราชผู้เป็นอภิชาตชายอันประเสริฐ พระตถาคตเสด็จอยู่ในที่นี้แล้ว

    ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมสังขจักรก็ได้ซึ่งอัสสาสประสาท เกิดความยินดีชื่นชมก้มเศียรเกล้า คลานเข้าไปในสำนักสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า เสด็จนั่งยังที่อันสมควรแล้วจึงยกพระกรขึ้นประนมบังคมเหนือศิโรตม์กระทำอภิวาทนมัสการ กราบทูลว่า ภนฺเต ภควา ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้า บัดนี้ข้าพระบาทถึงสำนักพระองค์เจ้าแล้ว ขอจงทรงพระกรุณาเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้า โปรดตรัสแสดงพระธรรมเทศนาอันอุดม ให้ข้าพระบาทฟังในกาลบัดนี้ฯ

    ปางนั้น สมเด็จพระชินศรีจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาโปรดแก่พระยาสังขจักร เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับพระสัทธรรมเทศนาบทหนึ่งสิ้นเนื้อความลงแล้ว ก็ทูลห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าว่า ขอพระองค์จงหยุดพระธรรมเทศนาเสียเถิด อย่าทรงสำแดงต่อไปเลยฯ


    ***มีปุจฉาว่า เหตุไฉนพระเจ้าสังขจักรจึงทูลห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าเสียดังนี้ เดิมทีสิมีพระทัยผูกพันในพระพุทธศาสนา ระลึกถึงซึ่งคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าเป็นอันมาก ทรงสู้สละศิริราชสมบัติบรมจักรเสด็จมาด้วยความลำบากแทบถึงซึ่งชีวิต ครั้นมาประสพพบพระภควันตบพิตร พระองค์ประทานธรรมเทศนาแล้วห้ามเสียด้วยเหตุประการใดฯ
    ***วิสัชนาว่า สมเด็จบรมสังขจักรทรงคิดเห็นว่า ถ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาเป็นอันมาก แล้วพระองค์ก็เสด็จมาแต่พระองค์เดียวเปลี่ยวพระทัยนัก จะหาเครื่องไทยธรรมอันสมควรที่จะสักการบูชา ให้สมควรแก่รสพระสัทธรรมนั้นหามีไม่ บัดนี้เราได้สดับรับรสพระธรรมเทศนาแต่บทเดียว เครื่องสักการบูชาของอาตมานี้มิพอสมควรกันกับพระสัทธรรมแล้ว พระองค์ทรงคิดดังนี้ จึงทรงห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าเสีย


    พระองค์จึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเกล้ากระหม่อมฉันได้สดับฟังพระสัทธรรมของพระองค์ในกาลบัดนี้ พระองค์ทรงพระมหากรุณาตรัสพระสัทธรรมเทศนาสำแดงพระนิพพานอันเดียวเป็นที่สุดพระสัทธรรมอยู่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะตัดเศียรเกล้า อันเป็นที่สุดแห่งสรีรกายแห่งข้าพเจ้า ออกกระทำสักการบูชาพระสัทธรรมเทศนาของสมเด็จพระพุทธองค์ก่อน ตรัสดังนั้นแล้ว พระเจ้าสังขจักรผู้มีอัธยาศัยอันยิ่ง จึงทรงอธิษฐานขอให้เล็บของพระองค์คมดังพระแสงดาบ เด็ดซึ่งพระศอให้ขาดแล้ววางไว้บนฝ่าพระหัตถ์ ตั้งปณิธานความปรารถนา ออกพระโอษฐ์ตรัสด้วยวาจาว่า ภนฺเต ภควา ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงศิริเป็นที่เฉลิมโลก เชิญพระองค์เสด็จเข้าสู่เมืองแก้วอันเกษมสานต์ คือพระอมตมหานิพพานอันสำราญก่อนข้าพระบาทเถิด ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไปสู่พระนิพพานอันสำราญต่อภายหลัง ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายเศียรเกล้าบูชาพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ในกาลบัดนี้ ในที่สุดขาดพระวาจาปณิธานปรารถนาลง พระบรมโพธิสัตว์ก็จุติจิตต์สิ้นชีวิตไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เทวโลกฯ

    ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ครั้นเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยเจ้าได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงมีพระองค์สูงได้ ๘๘ ศอก ด้วยผลทานที่เด็ดพระเศียรกระทำสักการบูชาพระสัทธรรม พระองค์ทรงพระรัศมีสิ้นทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาดนั้น ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์ทรงอุตสาหไปในมรรคาหนทาง ปรารถนาจะพบเห็นสมเด็จพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตไหลออกจากพระบาท และพระชงฆ์ พระหัตถ์ พระอุระของพระองค์เมื่อเป็นบรมสังขจักรนั้นฯ อนึ่ง พระพุทธรัศมีของพระองค์แผ่ซ่านตลอดไปเบื้องบนจนถึงพรหมโลก เบื้องต่ำตลอดลงไปจนถึงมหาอเวจีนรก ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์เด็ดพระเศียรออกกระทำสักการบูชาพระสัทธรรมโลหิตไหลออกจากพระเศียร อนึ่ง ในพระศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์นึกได้สำเร็จความปรารถนานั้น ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์เสด็จไปตามมรรคหนทาง จะใคร่พบองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ถ้วนถึง ๗ วันเป็นกำหนด จึงได้ประสพพบปะฯ

    ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ผู้เป็นพระยาธรรมของพระตถาคต ฝูงคนทั้งหลายที่มิได้เห็นรูปกายของพระตถาคตนี้ แล้วได้กระทำทานรักษาศีลจำเริญเมตตาภาวนาด้วยเดชะผลานิสงส์ ฝูงคนทั้งหลายเหล่านั้นจักได้บังเกิดทันพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระศรีอาริยะเมตไตรย อันจะมาบังเกิดเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตฯ สำแดงมาด้วยเรื่องพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์ ก็ยุติแต่เท่านี้ฯ

    เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
     
  3. nmz123

    nmz123 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มกราคม 2010
    โพสต์:
    24
    ค่าพลัง:
    +29
    ธรรมต้องเป็นของที่ได้ ฟังแล้วกระจ่างหายสงสัยสิ ทำไมผมอ่านแล้วยิ่งสงสัยหนักกว่าเดิมหละ
     

แชร์หน้านี้

Loading...