เรื่องเด่น บ้านหน้าถํ้าที่อีสาน..(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 12 ธันวาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    3.jpg

    วันนี้วันพระตรงกับวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ปีระกา

    ขอให้ทุกท่านมีความสุขในธรรม

    บ้านหน้าถํ้าที่อีสาน

    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ก็มาคุยกันเรื่องธุดงค์ ตอนก่อนมาค้างธุดงค์ในภาคอีสาน ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นจังหวัดอะไร ในตอนนั้น ปรากฏว่าท่านอินทกะ ท่านพาเดินมาพบภูเขาลูกหนึ่ง ใหญ่ยาวมาก และก็มีถํ้า มีหน้าผาสูง มีถํ้าลึก ด้านหน้าถํ้าก็เป็นเชิงออกมายาวกว้างขวาง เป็นที่นอนสบายๆ เป็นธรรมดาของนักธุดงค์แบบอุกฤษฎ์ ย่อมชอบที่สงัด คือว่าในสถานที่ใด กลางคืนไม่ได้ยินเสียงสุนัขของชาวบ้านเห่า ที่นั่นอยู่ได้ ถ้าได้ยินเสียงสุนัขของชาวบ้านเห่า ต้องไปให้ไกลกว่านั้น นั่นหมายความว่าไม่ต้องการพบคน

    ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทอยากจะถามว่า ถ้าไม่พบคนกินอะไร? ก็ขอตอบว่ากินข้าว ถามว่าหาข้าวจากไหน? ก็ตอบว่าหาข้าวจากเทวดา หากว่าท่านจะถามว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่คุยมากเกินไปหรือ? ก็ต้องขอตอบว่าคุยไม่มาก คุยคนเดียว แล้วก็คุยตามความเป็นจริง ความสามารถอย่างนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท ไม่ใช่มีแต่คณะของอาตมาคณะเดียว หลายๆ คณะท่านก็ทำกันอย่างนั้น ท่านทำกันมาก่อน ครูบาอาจารย์ทำมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนหลังก็มี คณะอาจารย์สร้อย จังหวัดสระบุรี ท่านก็ทำเป็นปกติ และมีคณะ (ไม่ใช่คณะ มีองค์เดียว) อาจารย์สำราญ ที่ภูเขาภูกระดึง

    ภูเขาภูกระดึง บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท คนที่จะขึ้นไป ต้องเดินถึง ๕ ชั่วโมงเศษ และต้องเดินจากที่ขึ้นไปถึงแล้วไปอีก ๘ กิโลเมตร จึงจะถึงที่อาจารย์สำราญอยู่ ท่านอยู่องค์เดียว อยู่เป็นปี เข้าใจว่าอยู่ถึง ๓ ปี โดยไม่มีที่จะบิณฑบาต ท่านก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน

    ที่นำเรื่องนี้มาพูดก็เพราะว่า บางท่านคิดว่ามันจะเกินพอดีไป ความจริงไม่เกินพอดี อาตมายังไม่เก่งพอเสียอีก ในเมื่อธุดงค์อุกฤษฎ์อาศัยข้าวจากเทวดา ก็มีความดีอยู่อย่างหนึ่ง บรรดาท่านพุทธบริษัท วันไหนถ้าจิตใจของเราเลว จิตใจเข้าไปยุ่งกับ โลภะ ความโลภ ราคะ ความรัก โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง แค่อารมณ์คิด ถ้าปรากฏมีกับจิตของเราในวันนี้ วันพรุ่งนี้เทวดาไม่ใส่บาตร ถ้าวันใดจิตใจปลอดโปร่งจากอารมณ์ทั้ง ๔ ประการนั้น เทวดาใส่บาตร นางฟ้าใส่บาตรให้ ก็เป็นการระมัดระวังตัวไปในตัวเสร็จ
    ถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทจะถามว่า ถ้าอย่างนั้นท่านเป็นพระอรหันต์แล้วใช่ไหม? ก็ตอบว่าไม่ใช่! ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่ต้องเดินธุดงค์ จะเดินไปทำไม พระอรหันต์อยู่ที่ไหนก็สงัด

    การออกธุดงค์ในป่า ก็เป็นการหาที่สงัด พระอรหันต์ท่านอยู่ที่ไหนท่านก็สงัด
    พราหมณ์เคยถามพระพุทธเจ้าว่า

    “พระอริยเจ้าทั้งหลายต้องการอยู่ป่าช้า ต้องการอยู่ป่าชัฏ ต้องการอยู่บ้านร้าง ต้องการอยู่ที่สงัดใช่ไหม?”

    พระพุทธเจ้าตอบว่า

    “พราหมณะ! ดูก่อนพราหมณ์ ไม่ใช่อย่างนั้น พระอริยเจ้า จะอยู่ป่าช้าก็ดี จะอยู่ป่าชัฏก็ดี จะอยู่ในบ้านเปล่าก็ดี ก็สงัด จะอยู่ในบ้านในเมืองก็สงัด เพราะจิตท่านสงัดจากกิเลสเสียแล้ว”

    รวมความว่า จิตสงัดจากกิเลส (นี่พูดกันยาวเกินไปนะ ก็หวนกลับเข้ามา)

    เมื่อเข้าถํ้า ท่านอินทกะท่านก็หายไป ท่านไม่ได้มายืนเฝ้าหรอก บรรดาท่านพุทธบริษัท เทวดาท่านไม่ได้มายืนป๋อเฝ้า มายืนยามแบบนั้น ท่านมาส่งแล้วท่านก็หายไป พวกเราก็ปัดกวาดสถานที่ แต่สถานที่ไม่ต้องทำอะไรมาก เหมือนกับมีคนมาจัดสถานที่ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ในที่นั้นมีธารนํ้าไหล ก็นอนกันอย่างเป็นสุข เป็นสุขอย่างพระธุดงค์ มีผ้านุ่งหนึ่งผืน มีผ้าจีวรหนึ่งผืน มีสังฆาฏิหนึ่งผืน มีผ้าอาบหนึ่งผืน มีอังสะหนึ่งตัว มีบาตร มีธรรมกรกสำหรับกรองนํ้า มีกลด สมบัติมีเพียงเท่านี้ อากาศก็รู้สึกจะเย็นๆ แต่ก็ไม่เป็นไร ในเมื่อจับ อานาปานุสสติ กับ เตโชกสิณ ความอุ่นก็เกิดขึ้น นอนแบบสบายๆ ตามแบบฉบับของพระ ในเมื่อนอนๆ ไปแล้ว ก่อนจะนอนก็เจริญกรรมฐาน นี่เป็นของธรรมดา (ไม่ต้องเล่ากันดีกว่า) เป็นอันว่านอนอย่างเป็นสุข

    พอตื่นขึ้นเช้าขึ้นมา บรรดาท่านพุทธบริษัท ตั้งใจจะออกบิณฑบาตตามแบบฉบับเดิม นั่นก็คือว่าตั้งใจว่า เราจะเดินจากต้นไม้ต้นนี้ ไปถึงต้นไม้ต้นโน้น ถึงแล้วก็เดินกลับมาถึงต้นไม้ต้นนี้ ถ้าไม่มีใครใส่บาตร เราจะอยู่ด้วยธรรมปีติ (คำว่า ปีติ คือ ความอิ่มใจ)

    ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า อยู่ด้วยธรรมปีติ จะไม่อดตายหรือ? ต้องตอบว่าไม่อด ร่างกายจะไม่ทรุดโทรม ข้าวไม่กิน นํ้ากิน นํ้าก็กินตามธรรมดาๆ แต่ใจมันอิ่ม แต่จิตต้องคุมอารมณ์ไว้อย่างน้อยแค่ “อุปจารสมาธิ” เป็นอย่างเบา ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องเล่น “ฌาน ๔” หรือ “สมาบัติ ๘” กันไปเลย จิตจะเป็นสุข ร่างกายจะสบาย ถ้าถามว่า สมาบัติ ๘ ทำได้หรือ? ก็ตอบว่าเป็นของไม่ยาก สมาบัติ ๘ หรือฌาน ๔ ก็อันเดียวกัน “สมาบัติ ๘” ก็คือฌาน ๔ ฌาน ๔ ในรูปฌาน จับรูปเป็นสำคัญ “สมาบัติ ๘” ก็ใช้ฌาน ๔ จับสิ่งที่ไม่มีรูป ก็ไม่มีอะไรยาก ก็เหมือนกับบุคคลคนเดียวกัน มองดูวัตถุกับมองดูอากาศ เวลานี้เรามองดูวัตถุ จิตใจจับที่วัตถุ จิตทรงอารมณ์อยู่ เวลานี้เราเลิกจากวัตถุ จับอากาศ มองที่ว่าง ก็เห็นที่ว่าง ไม่เห็นวัตถุ ก็แค่นั้นแหละ! ก็ใจของบุคคลคนเดียวกัน เป็นคนๆ เดียวกัน ฌาน ๔ ก็เช่นเดียวกัน

    เมื่อจับรูปก็เรียกว่า “รูปฌาน” เมื่อไม่จับรูปก็เรียกว่า “อรูปฌาน” คือ ฌานที่ไม่มีรูป (เอาละ คุยพอเข้าใจ)
    ทีนี้เมื่อออกมาจากถํ้าก็ตกใจ ตกใจเพราะอะไร เพราะว่าเมื่อวันวานนี้ การเดินทางมาที่ถํ้านี้มีป่าเปลี่ยว มีรอยเสือ มีขี้ช้าง มีฝูงลิง แสดงสัญลักษณ์ แต่ว่าเวลานี้ขณะที่ออกมาจากถํ้า ห่างจากถํ้าไปประมาณ ๑๐ วา มีหมู่บ้านเต็มไปหมด ประมาณ ๑๐๐ หลังคาเรือน มีทั้งเด็ก มีทั้งผู้ใหญ่ คนสาว คนแก่ ยุ่มย่ามไปหมด ต้นไม้สวยๆ ลูกไม้สุกอร่าม อย่างลูกมะปรางนี่เหลืองอร่าม ลูกมะม่วงก็เหลืองอร่าม ลูกมะเฟืองก็เหลืองอร่าม มันเหลืองไปหมด ผิดปกติ ก็หันมาปรึกษากัน ๓ องค์ว่า มันอย่างไรกันแน่นี่ เมื่อวานนี้เรามาไม่มีบ้าน มันเป็นป่าเปลี่ยว แต่บ้านพวกนี้ยกกันมาได้อย่างไร คืนเดียวตั้งร้อยหลังคาเรือน แล้วคนจริงๆ ก็เกือบจะพันคน สององค์บอกว่าเอาอย่างนี้ดีกว่า ลำพังกำลังใจของเรามันดีไม่พอ ดีไม่ดีจะเป็นอุปาทาน เราถามท่านอินทกะดีกว่า ในฐานะที่ท่านคุมพวกเรามา เป็นพี่เลี้ยง ก็นึกถึงท่านอินทกะ

    ท่านอินทกะท่านก็มา ถามท่านอินทกะว่าเมื่อวานนี้ ตรงนี้มันไม่มีบ้านนี่ แล้วบ้านมันมาอย่างไร หรือภูเขาเดินเข้าไปหาบ้าน ท่านอินทกะท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่าคุณสังเกตดูให้ดีสิว่า คนทุกคนที่นี่จะไม่กระพริบตา พอท่านพูดอย่างนี้ก็นึกได้ว่า ต้องเป็นเทวดาแปลงแน่ เราเกือบจะถูกตุ๋น แต่ความจริงเทวดาเริ่มตุ๋นแล้ว นักธุดงค์นี่ต้องถูกตุ๋น ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า “พระมหากัสสป” ท่านเป็นคณาจารย์ใหญ่ฝ่ายธุดงค์ในพระพุทธศาสนา เป็นหัวหน้าใหญ่ในสมัยพระพุทธเจ้า ก็ถูกเทวดาตุ๋นนับครั้งไม่ถ้วน

    ในฐานะที่พวกเราเป็นลูกศิษย์ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ถ้าไม่ถูกตุ๋นมันก็ซวย ถูกตุ๋นมาไม่รู้กี่วาระ ตั้งแต่เขตอำเภอศรีประจันต์ ก็ถูกตุ๋นมาแล้ว ทีนี้มาภาคอีสานก็ถูกตุ๋นอีก

    ก็ถามท่านอินทกะว่า ถ้าอย่างนั้นจะบิณฑบาตที่ไหนล่ะ? ท่านก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน บ้านที่มาตั้งนี่เป็นคนสองพวก พวกหนึ่งเป็น “ภุมเทวดา” อยู่แถบโน้น พวกแถบทางด้านนี้ คือแถบทางขวามือนี่เป็นพวก “รุกขเทวดา” ทั้งหมดนี้เขาต้องการทำบุญกับท่าน เพื่อสร้างสมต่อบุญบารมีของเขา ท่านก็เดินเข้าไปบิณฑบาตตามทางที่เขาจัดไว้ ระหว่างหมู่บ้านมันมีทางเดิน ทางสะอาด ก็เดินเข้าไป ตอนนั้นท่านอินทกะก็หายไปแล้ว ท่านบอกเสร็จ ท่านก็หายไป

    ก็เดินไปตามทางก็มีชาวบ้าน เรียกกันโว้กเว้ก บอกพวกเราโว้ย! เวลานี้พระท่านมาโปรดแล้ว มาใส่บาตรกันเร็ว เสียงคำพูดขาดจบ ทุกคนนั่งเรียงเป็นแถว สองข้างทาง ซึ่งตามธรรมดาแล้วมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องเดินมาค่อยๆ เดินมา หรือวิ่งมาก็ได้ ถึงแม้จะวิ่งมามันก็ไม่เร็วขนาดนั้น หมู่บ้านตั้งประมาณร้อยหลังคาเรือน พอคนหัวหน้าพูดจบ ทุกคนนั่งพรึ่บสองข้างทาง แต่ว่าการแต่งตัว บรรดาท่านพุทธบริษัท ก็แต่งตัวแบบชาวป่าธรรมดาๆ

    ท่านหัวหน้าเข้ามายกมือไหว้ บอกว่า พวกผมเป็นชาวป่าขอรับ และก็เป็นชาวป่าที่ไม่ใช่พรานป่า ไม่ฆ่าเนื้อ ไม่ฆ่าสัตว์ รักษาศีล ๕ บางคนก็รักษาศีล ๘ พอบอกรักษาศีล ๘ ก็ตกใจ แค่รักษาศีล ๕ ก็ตกใจแล้ว เพราะคนที่ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์นี่ ต้องเป็นพระโสดาบัน ท่านที่ทรงศีล ๘ บริสุทธิ์ ต้องเป็นพระอนาคามี นี่ตามแบบฉบับนะ แต่เมื่อท่านพูดอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของท่าน ก็นึกว่าท่านพวกนี้ไม่ใช่น้อย

    ในเมื่อท่านบอกว่าท่านทรงศีล ๕ กันบ้าง ทรงศีล ๘ กันบ้าง การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจึงไม่มี ฉะนั้นการใส่บาตรของพวกท่าน กับข้าวจึงไม่มีเนื้อสัตว์ ไม่มีต้ม ไม่มีแกง มีแต่ข้าวผสมกับนํ้ามันบ้าง (นํ้ามันอะไรของท่านก็ไม่ทราบ) นํ้ามันบ้าง นํ้าตาลบ้าง กินหวานๆ เค็มๆ อร่อย พอกินกันไปได้ อยู่แบบนี้มา อยากกินผลไม้ ก็กินผลไม้ ใครเบื่อข้าวก็กินผลไม้ เบื่อผลไม้ก็มากินข้าว ความจริงข้าวก็ไม่ได้หว่าน ไม่ได้ปลูก มันขึ้นเอง ท่านอธิบายแบบนั้น ก็เดินเข้าไปบิณฑบาต ทุกคนใส่บาตรเต็มทัพพี ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว บาตรลูกเล็กนิดเดียว คนเป็นร้อยคนใส่บาตรมันต้องล้น แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ ทุกคนใส่บาตรเต็มทัพพี บางคนถึงกับเอามือประคองใส่บาตร และดินไปตลอดแถว ข้าวไม่เต็มบาตร มันมีข้าวเพียงแค่ครึ่งบาตร ที่พอจะฉันอิ่มสบายๆ เท่านั้นเอง

    เมื่อสุดแถวแล้วก็เดินทางกลับมาฉันข้าวที่ถํ้า เมื่อขณะที่เดินกลับมา ก็มีชาวบ้านตามมาด้วย มานั่งในถํ้าบ้าง นั่งนอกถํ้าบ้าง คณะของอาตมาก็นั่งฉันข้าวตามปกติ ก่อนจะฉันก็ใช้ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ก่อน ขณะที่ใจนึกถึง อาหาเรปฏิกูลสัญญา หัวหน้าก็ยกมือไหว้แล้วกราบ ทุกคนก็กราบ เราก็นึกว่าแกกราบใครกัน ก็ถามว่าโยมกราบอะไร? ท่านหัวหน้าก็บอกว่า ท่านนึกอะไร ก็บอกว่า นึกถึง อาหาเรปฏิกูลสัญญา

    ท่านก็เลยบอกว่า พระอย่างนี้สิครับ ผมต้องการ ฉะนั้นบรรดาพวกผมเห็นท่านมาพักที่นี่ จึงยกบ้านมาตั้งอยู่หน้าถํ้า เพื่อไม่ให้ไกลท่าน ถามว่า หมู่บ้านของโยมเดิมอยู่ที่ไหน? ท่านบอก ทุกคนแยกกันอยู่ครับ อยู่กันคนละทิศคนละทาง แต่ว่าเมื่อตอนเย็นวาน เห็นท่านมาพัก ก็เลยพร้อมใจกันยกบ้านเข้ามาปลูกหน้าถํ้า จะได้ไม่ลำบากในการพบกับท่าน (ฟังท่านพูด บรรดาท่านพุทธบริษัท มันของง่ายเหลือเกิน แค่จะเดินก็ไม่ไหว)

    เมื่อฉันข้าวเสร็จก็ให้พร ให้พรตามปกติ ยถา สัพพีฯ ตามธรรมดาๆ แล้วก็คุยกัน คุยกันไปคุยกันมา ก็นั่งมองทุกคนที่คุยไม่มีใครกระพริบตาสักคน ในที่สุด (ไอ้ปากมันก็ทนไม่ไหว บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท) ก็คิดในใจว่า ท่านพวกนี้ ท่านเป็นเทวดาบ้าง ท่านเป็นนางฟ้าบ้าง ทำไมท่านจึงต้องมาหลอกเรา พอคิดเท่านี้ ท่านหัวหน้าท่านก็ยิ้ม ท่านบอก ผมไม่ได้หลอกขอรับ ผมต้องการทำบุญ ถามว่า โยมรู้อารมณ์อาตมานึกหรือ? ท่านบอกว่า ท่านรู้ ก็เลยถามว่า ถ้าอย่างนั้น โยมเป็นเทวดาใช่ไหม? ท่านบอกว่า ใช่! ถามว่า เทวดาทำไมต้องปลูกบ้านอยู่? ท่านบอก ถ้าไม่ปลูกบ้านอยู่ ท่านจะเห็นบ้านได้อย่างไร ก็ต้องปลูกบ้าน แต่ผมขอพรท่านสักอย่างหนึ่ง คือว่าขอให้ท่านอยู่ที่นี่ ๗ วัน อย่างน้อย ๗ วัน เพื่อพวกผมจะได้ทำบุญ และเวลาตอนกลางคืน เวลา ๒ ทุ่ม ขอฟังเทศน์สัก ๑๐ นาที เลยตกลง!

    ถึงเวลากลางคืน เวลาประมาณ ๒ ทุ่ม หลังจากเลิกกรรมฐานแล้ว ก็มีเทวดามาชุมนุมกัน ก็เลยบอกท่านว่า ในเมื่อท่านทั้งหลายเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า ก็เลิกแต่งตัวเป็นคนธรรมดาเสียได้ไหม? ท่านบอกว่า ได้! หลังจากคำว่าได้ ทุกคนก็เป็นหนุ่มเป็นสาวหมด ที่เป็นเด็กก็เป็นหนุ่มเป็นสาว ที่เป็นคนแก่ก็เป็นหนุ่มเป็นสาว ที่เป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่แล้วก็เป็นหนุ่มเป็นสาว แต่ผิวพรรณดีกว่าเดิม มีแสงสว่างออกจากกาย แต่ว่าไม่มีเครื่องประดับ ไม่สวมชฎา

    ถามว่า ทำไมไม่มีเครื่องประดับ ไม่สวมชฎา ท่านบอกว่า เวลานี้กำลังฟังธรรม ต้องการจะฟังเทศน์ ทำไมจะต้องใช้เครื่องประดับด้วย ทำไมต้องใช้ชฎาด้วย ชฎามันเป็นหมวก ถ้าใส่หมวก ก็เป็นการไม่เคารพในธรรม ถามท่านว่า ท่านต้องการจะฟังเทศน์อะไร? (ถามหัวหน้า) ท่านบอก อริยสัจ ก็เลยเทศน์ อริยสัจ ให้ท่านฟัง ตามที่จะพึงเข้าใจ พอฟังจบ ท่านก็สาธุกันแล้วท่านก็ลากลับ แล้วท่านก็บอกว่า วันพรุ่งนี้ ขอนิมนต์บิณฑบาตตามเดิมนะครับ ก็อยู่ที่นั่นมาจนกระทั่งอยู่ครบ ๗ วัน บรรดาท่านพุทธบริษัท

    ถ้าจะถามว่า ในเมื่อท่านเป็นเทวดาแล้วบ้านเป็นวิมานไหม? ก็ขอบอกว่า บ้านตามเดิม คนเลิกหลอก เทวดาเลิกหลอก แต่บ้านของเทวดายังหลอกอยู่ เป็นบ้านไม้ธรรมดาๆ อยู่กันอีโหลกโขลกเขลก ฟันฟืนบ้าน ขุดหลุมบ้าง ทำอะไรบ้าง ตามเรื่องตามราวไป เป็นเรื่องของท่าน เป็นการบริหารกาย

    ตอนจะกลับท่านหยิบเอาลูกมะปรางเข้ามา เหลืองอ๋อยเหมือนทองคำ มาให้องค์ละ ๑๐๐ ลูก ท่านบอกว่า ลูกมะปรางนี้ ถ้าหากว่าเดินออกไปพ้นจากที่นี้แล้ว จะเป็นทองคำ ก็เลยบอกว่า โยม! พระธุดงค์หยิบทองคำไม่ได้ หยิบเงินไม่ได้นะ! แม้จะมีทองคำเปลวเพื่อจะปิดพระพุทธบาท มดยังขึ้นกลดเลย เพราะเป็นอาบัติ การธุดงค์แบบอุกฤษฎ์อย่างนี้ จะต้องไม่ประสงค์ในลาภ และพระธุดงค์ทุกองค์ก็ต้องไม่ประสงค์ในลาภ ถ้าประสงค์ในลาภก็ไม่ต้องมาธุดงค์ เพราะการมาธุดงค์ต้องการตัด โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง ราคะ ความรัก ต้องการตัด!

    ในเมื่อไปรับทองเข้า โลภะ ความโลภมันก็เกิด เมื่อความโลภเกิดขึ้นมาแล้ว ความรักมันก็มี เมื่อความรักในทองมีขึ้น ความโลภอยากได้ก็อยากมีอีก เมื่อได้มาคนละร้อยลูก ก็อยากจะได้พันลูก หมื่นลูก แสนลูก แล้วจะไม่จบกัน

    ท่านก็ยกมือโมทนา ท่านบอกว่า หายากครับ ถามว่า ทำไมจึงหายาก พระธุดงค์ทุกองค์เหมือนกันหมด ท่านบอก ไม่เหมือนกันครับ มีบางรายมาที่เขานี้ ที่ตรงโน้นมีแร่ที่มีความสำคัญ คือ (แร่ที่มีความสำคัญก็ไม่ใช่แร่ยูเรเนี่ยม เป็นแร่เงินแร่ทอง) เป็นทองคำธรรมชาติ ท่านก็ชี้ให้ดู ท่านก็พาไปดู ตรงนี้เป็นทองคำธรรมชาติครับ ท่านเปิดหินปั๊บเข้าไป โอ้โฮ!! ทองคำเหลืองอร่ามเต็มถํ้าหมด แต่ว่าจะมองเป็นถํ้าไม่ได้ เพราะเป็นภูเขาปิด

    ท่านบอก นี่เป็นทองคำ มีพระหลายองค์มาธุดงค์แล้วมาค้นคว้าแถวนี้ คงจะทราบจากใครมา หรือได้ลายแทงจากใครก็ไม่ทราบ เวียนหากันไป เวียนหากันมา บางทีก็ตั้งพิธีบวงสรวงบ้าง อะไรบ้าง พวกผมก็เลยไม่สนใจ เพราะพระพวกนั้นไม่ตั้งใจมาตัดกิเลส มาเพื่อสั่งสมกิเลส มาเพื่อความโลภ แต่คณะของท่านนี่ ขนาดให้ยังไม่รับ ไม่รับแล้ว มือก็ไม่หยิบ บาตรไม่เปิดด้วย ผมขอกราบเป็นครั้งสุดท้ายครับ และต่อนี้ไปท่านจะไปไหน? ก็บอกว่า ยังไม่แน่! สุดแล้วแต่ท่านอินทกะ ท่านจะพาไปที่ไหน ก็จะไปที่นั่น ถ้าอินทกะท่านไม่พาไปก็ไม่ไป จะอยู่แถวนี้ อยู่ใกล้ๆ บ้านโยม เธอก็บอก ก็ดีสิครับ!

    ก็นึกถึงท่านอินทกะ ท่านอินทกะท่านก็มา เมื่อท่านมาแล้ว ท่านก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ต่อนี้ไปก็ลาญาติโยมพวกนี้เสีย บรรดาญาติโยมทั้งหลายนี้ ก็เป็นลูกศิษย์ผมทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่ใคร ก็ขอทุกคนรื้อบ้านให้หมด มันรกป่าเขา พอสั่งคำว่า รื้อบ้าน บ้านหายเลย แล้วขอแสดงบ้านให้ปรากฏ บ้านใครอยู่ที่ไหนบ้าง ปรากฏว่า “ภุมเทวดา” ก็มีวิมานอยู่ภาคพื้นดิน แต่ว่าสูงกว่าดินหน่อย “รุกขเทวดา” ก็มีวิมานแปะต้นไม้ สวยสดงดงามมาก ทั้งภุมเทวดาและรุกขเทวดาแต่งตัวเต็มที่ มีชฎาหมด สวยสดงดงามมาก แพรวพราวเป็นระยับ พวกที่รักษาศีล ๕ คือ “พระโสดาบัน” พวกที่รักษาศีล ๘ คือ “พระอนาคามี” แล้วท่านอินทกะก็บอกว่า ท่านทั้งหมดที่มานี่ เป็นพระอริยเจ้าทั้งหมด (ที่มาใส่บาตร)

    ก็นึกในใจว่า ๗ วันนี้ เรากินข้าวของพระอริยเจ้า ถ้าจิตใจของเราเลวมันก็จะต้องลงนรกกันแน่ พอคิดในใจเพียงเท่านี้ ท่านเจ้าของคณะก็บอกว่า ไม่เป็นไรครับ จิตใจของมนุษย์เป็นของธรรมดา มันก็ดีบ้าง เลวบ้าง เป็นของธรรมดา แต่ขอให้ดีเป็นส่วนใหญ่ก็แล้วกัน ตั้งเวลาดีเข้าไว้ เวลาไหนถ้ามันดี ถ้าตั้งเวลาไว้เวลาเท่านี้ ถึงเท่านี้ เราจะทรงความดีไว้ ไม่ยอมให้ความชั่วเข้ามารบกวนใจ ในเมื่อกิเลสมันยังไม่หมดเพียงใด นิวรณ์มันก็กวนใจเพียงนั้น เป็นของธรรมดา แต่จงอย่าลืมว่า อย่าสนใจกับ ราคะ ความรัก โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง ถ้าสนใจเมื่อไร เทวดาทั้งหมดเขาจะไม่ใส่บาตรให้

    เลยถามว่า ท่านรักษาศีลอะไรเป็นปกติ? หัวหน้าท่านก็บอกว่า ผมรักษาศีล ๘ เป็นปกติครับ ศีล ๘ แบบละเอียด (คำว่า ละเอียด นี่หมายความว่า เป็นพระอนาคามีแบบละเอียด่ ใกล้จะเป็นพระอรหันต์ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ขึ้นชื่อว่า เทวดา หรือภุมเทวดาก็ดี รุกขเทวดาก็ดี บางคนก็นึกว่า เป็นเทวดากระจ้อยร่อย ความจริงไม่ใช่ ท่านที่เป็นพระอริยเจ้าก็มาก) ท่านบอกว่า ท่านจะไปพักที่ไหนก็ตาม ในจักรวาลนี้ทั้งหมด คณะผมจะไปใส่บาตรที่นั่น ท่านไม่ต้องกลัวอด เว้นไว้แต่ว่า ถ้าวันไหนจิตใจของท่านมั่วสุมกับ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ วันรุ่งขึ้นจะไม่ใส่บาตรถวาย เพราะจิตใจของท่านสกปรก

    บรรดาท่านพุทธบริษัท ทำให้คณะของอาตมาดีขึ้นมาก (คำว่า ดี หมายความว่าอะไร เพราะกลัวอดตาย) เดินสุ่มสี่สุ่มห้าไปเจอะพระอริยเจ้าเข้า และพระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นเทวดา ถ้าเป็นอนาคามีท่านไม่มีทางกลับ มีทางเดียวไปพระนิพพาน ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ไม่แน่ ในเมื่อท่านทำบุญต่อ

    เมื่อเดินทางออกมาจากท่าน ลาท่านมาแล้ว มาปรึกษากันบอกว่า พวกเราต้องระวังตัวให้มาก นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขึ้อชื่อว่า มรณานุสสติกรรมฐาน จะพ้นจากจิตใจของเราไปไม่ได้

    ประการที่ ๒ อานาปานุสสติ พ้นใจไม่ได้

    ประการที่ ๓ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ พ้นใจไม่ได้ จะต้องทรงอารมณ์อยู่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทวตานุสสติ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ท่านเป็นผู้มีคุณกับเรา เราต้องนึกถึงท่าน

    สององค์ก็บอกว่า ลื้อไม่ต้องสอนหรอกโว้ย!… อั๊วปกติอยู่แล้ว สำคัญแต่ลื้อเท่านั้นแหละ! เพราะลื้อปรารถนา “พุทธภูมิ” ยังกอกแกกๆ อยู่นะ อั๊วสองคนไม่ได้ปรารถนา “พุทธภูมิ” ที่ท่านพวกนั้นพูด อั๊วมีพร้อมแล้ว แต่ลื้อปรารถนา “พุทธภูมิ” ก็ถือว่า คนปรารถนา “พุทธภูมิ” ย่อมเป็นหัวหน้า ก็ถือว่า ลื้อเป็นหัวหน้า ต้องปฏิบัติตัวให้ดีก็แล้วกัน ลื้ออย่าเผลอลงนรกก็แล้วกัน

    เป็นอันว่าเดินกันไปไม่ช้านัก ก็ไปเจอะภูเขาลูกย่อมๆ แต่ก็เป็นการบังเอิญ มีถํ้าๆ หนึ่ง ถํ้าลึก มีธารนํ้าไหลใสสะอาด หน้าถํ้าเตียนโล่ง บริเวณต้นไม้ พุ่มไม้ดี ต้นไม้เป็นดงเต็งรังร่มรื่น มองดูไกลตา ก็อยากจะพักที่ตรงนั้น ก็นึกถึงท่านอินทกะ

    ท่านอินทกะก็ปรากฏตัว ก็เรียนท่านบอกว่า จะพักตรงนี้ไหม? ท่านบอก ควรพักครับ เพราะว่าที่ตรงนี้ก็มีความสำคัญมาก เพราะว่าที่ตรงนี้ แหล่งนี้ เป็นแหล่งที่มีทรัพย์มาก เทวดาชั้น จาตุมหาราช เฝ้าที่นี่เยอะ จะได้ป้องกันอันตรายให้กับท่าน ท่านไม่ต้องกลัวสิงสาราสัตว์ทั้งหลาย เพราะว่าเทวดาชั้น จาตุมหาราช จะต้องอารักขาท่าน แล้วเทวดาที่พบวันนั้น เขาก็จะมาใส่บาตร เลยถามว่า จาตุมหาราช ใส่บาตรเป็นไหมล่ะ? ก็บอกว่าเป็น คอยดูก็แล้วกัน ถ้าพวกไหนตาใส พวกนั้นเป็น “รุกขเทวดา” บ้าง “ภุมเทวดา” บ้าง พวกไหนตาแดง พวกนั้นเป็นเทวดาชั้น “จาตุมหาราช” เมื่อท่านบอกอย่างนี้แล้ว ก็เข้าถํ้าพักที่สบายมาก ไม่ต้องกวาดมันก็เตียนอยู่แล้ว…

    ภาพโดย คุณสุพัฒน์
    โพสต์โดย Achaya



    ที่มา มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 12 ธันวาคม 2017
  2. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,398
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,634

แชร์หน้านี้

Loading...