บทความให้กำลังใจ(มงคลสูงสุดของชีวิต)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    (ต่อ)
    เฮนรี ฟอร์ด เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความฉลาดปราดเปรื่อง เขาเป็นนักประดิษฐ์ที่พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งโลก จนรถยนต์กลายเป็นสัญลักษ์ของโลกยุคใหม่ อีกทั้งยังก่อให้เกิดการปฏิวัติในวิถีการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ทำให้อุปกรณ์ความสะดวกทั้งหลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนยุคนี้ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากความสำเร็จของเขาในการผลิตรถยนต์ด้วยต้นทุนที่ต่ำและในเวลาที่รวดเร็ว ทำให้รถยนต์ของเขามีราคาถูกมาก (๑ ใน ๓ ของราคารถยี่ห้ออื่น) รถของเขาซึ่งมีชื่อว่า Model T จึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ในชั่วเวลาเพียง ๑๐ ปี ครึ่งหนึ่งของรถที่ขับในสหรัฐอเมริกาคือรถ Model T ส่วนเขาก็กลายเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก

    Model T เป็นรถที่มีอุปกรณ์ไม่ซับซ้อน ขับง่ายและดูแลรักษาง่าย เอกลักษณ์ของมันคือสีดำล้วน ฟอร์ดเชื่อมั่นในรถรุ่นนี้มาก เพราะมันไม่เพียงเป็นแม่แบบให้รถยี่ห้ออื่น ๆ ลอกเลียนแบบเท่านั้น หากยังเป็นตัวสร้างความรุ่งเรืองมั่งคั่งให้บริษัทฟอร์ดที่เขาก่อตั้งขึ้น เขาจึงไม่ยอมผลิตรถรุ่นอื่นเลย ยิ่งกว่านั้นยังไม่ยอมให้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรถรุ่นนี้เลยแม้แต่น้อย กระทั่งสีรถเขาก็ยืนกรานให้ใช้สีดำสีเดียวเท่านั้น (“จะผลิตรถสีใดก็ได้ตราบใดที่มันยังมีสีดำ”คือคำตอบเมื่อวิศวกรและผู้ค้ารถของเขาขอร้องให้เปลี่ยนสีรถบ้าง)

    เป็นเวลานานนับสิบปีที่ฟอร์ดไม่ยอมผลิตรถรุ่นอื่นหรือปรับปรุงรถ Model T ทั้ง ๆ ที่กำไรและส่วนแบ่งตลาดของบริษัทฟอร์ดหดหายลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากคู่แข่งผลิตรถที่มีคุณภาพดีกว่า ขณะเดียวกันรสนิยมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป หันมาใช้รถที่มีเครื่องเครามากขึ้นและสวยขึ้น แต่ฟอร์ดก็ยังใช้วิธีการเดิมในการสู้กับคู่แข่งนั่นคือ ลดราคารถ Model T ให้ต่ำลงเรื่อย ๆ วิธีการนี้แม้จะได้ผลเมื่อปี ๑๙๐๘ แต่เริ่มใช้ไม่ได้ผล ๑๐ ปีหลังจากนั้นเพราะผู้คนมีเศรษฐกิจดีขึ้น จึงสามารถซื้อรถราคาแพงได้

    ผ่านไปถึง ๑๙ ปีฟอร์ดจึงยอมยุติการผลิตรถ Model T และหันไปผลิตรถรุ่นใหม่ แต่สถานะการเงินของบริษัทก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนักเพราะฟอร์ดยังคงยืนกรานที่จะใช้วิธีการเดิม ๆ ในการบริหารบริษัท เช่น การปฏิบัติต่อคนงานราวเครื่องจักร (“ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่นั้นใหญ่เกินกว่าที่จะมีความเป็นมนุษย์ได้”) ทำให้คนงานเก่ง ๆ หนีไปอยู่บริษัทอื่น นอกจากนั้น เขายังเป็นคนที่รังเกียจงานนั่งโต๊ะอย่างยิ่ง จึงเป็นปฏิปักษ์กับพนักงานบัญชีและไม่ยอมให้บริษัทมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีเลย ทั้ง ๆ ที่บริษัทมีทรัพย์สินหลายร้อยล้านดอลลาร์ เขาเคยบริหารบริษัทเมื่อแรกตั้งอย่างไร ก็ยังบริหารอย่างนั้นแม้สถานการณ์จะแปรเปลี่ยนไปมากแล้ว

    ฟอร์ดเชื่อมั่นในตัวเองมาก แม้เมื่อโอนตำแหน่งประธานบริษัทให้แก่ลูกชาย เขาก็ยังแทรกแซงการบริหารงานของลูกไม่เลิกรา (เช่นเดียวกับจักรพรรดิเฉียนหลง ที่แม้สละราชบัลลังก์แล้วก็ยังบงการอยู่เบื้องหลังจักรพรรดิองค์ใหม่ซึ่งเป็นพระโอรส) โดยขัดขวางการริเริ่มใหม่ ๆ ทั้งในด้านการบริหารและการผลิต ผลก็คือบริษัทฟอร์ดตกต่ำเป็นเวลายาวนานถึง ๒๐ ปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ๑ ปี บริษัทขาดทุนเดือนละ ๑๐ ล้านเหรียญ จนแทบจะอยู่ไม่ได้ การจากไปของเขามีส่วนช่วยให้บริษัทฟอร์ดพ้นจากวิกฤต เฮนรี ฟอร์ดจึงเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายบริษัทของเขา

    ความสำเร็จกับความล้มเหลวนั้นแยกจากกันไม่ออก จะเรียกว่าความสำเร็จคือจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวก็ได้ ทั้งนี้ก็เพราะในความสำเร็จนั้นมีเชื้อแห่งความล้มเหลวซุกซ่อนอยู่ซึ่งพร้อมจะเติบใหญ่ในวันหน้า หาไม่ก็เปิดช่องให้ปัจจัยแห่งความล้มเหลวแฝงตัวเข้ามา (เช่น ความประมาท ความหลงตัวลืมตน การยึดติดกับความคิดเดิมจนไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง) ซึ่งหากไม่รู้เท่าทัน มันก็จะลุกลามขยายตัวจนก่อปัญหาและกลายเป็นความล้มเหลวในที่สุด

    แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ความสำเร็จไม่ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่เที่ยง (อนิจจัง) อีกทั้งไม่สามารถทนอยู่ในสภาวะเดิมไปได้นาน ๆ ไม่นานก็ต้องเสื่อมสภาพไป (ทุกขัง) ความฉลาดปราดเปรื่องหรือความเก่งกล้าสามารถก็เช่นกัน ไม่สามารถหนีกฎอนิจจังไปได้ ยิ่งยึดติดกับวิธีการเดิม ๆโดยไม่เข้าใจถึงความแปรเปลี่ยนของเหตุปัจจัยรอบตัว วิธีการที่เคยสร้างความสำเร็จนั้นแหละกลับจะกลายเป็นปัญหาและพาไปสู่ความล้มเหลวไม่ช้าก็เร็ว

    ผู้ที่รู้เท่าทันธรรมดา จึงไม่หลงเพลินกับความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ไม่ยึดติดถือมั่นกับความคิดและวิธีการเดิม ๆ หากเปิดใจเรียนรู้อยู่เสมอ และตระหนักดีถึงข้อจำกัดของตนเอง เมื่อถึงเวลาก็รู้ว่าควรจะวางมือและเปิดทางให้ผู้อื่นได้แล้ว ไม่สำคัญผิดว่าตนเองเท่านั้นที่เก่งหรือคิดผูกขาดความสำเร็จไว้กับตัวเองคนเดียว หากหลงคิดเช่นนั้นก็จะต้องแพ้ภัยตนเอง และถูกความล้มเหลวทำร้ายจิตใจในที่สุด

    :- https://visalo.org/article/sarakadee255210.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    ยิ้มได้แม้พ่ายแพ้
    รินใจ

    “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” หรือวัฒนา ภู่โอบอ้อม เป็นนักสนุกเกอร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ด้วยวัยเพียง ๑๒ ปีก็สามารถเอาชนะสตีฟ เดวิด ซึ่งเป็นแชมป์โลกในเวลานั้นได้ ต๋องได้เป็นแชมป์สนุกเกอร์สมัครเล่นโลกตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี และเมื่อเล่นเป็นอาชีพ ก็ไต่อันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนได้รับการขนานนามว่า “ไทย ทอร์นาโด” ด้วยลีลาการเล่นที่รวดเร็วและแม่นยำ ในเวลาไม่กี่ปีเขา ได้แชมป์การแข่งขันระดับโลก ๓ รายการ เขาทะยานขึ้นสู่อันดับ ๓ ของโลกก่อนถึงวัยเบญจเพสนับเป็นนักสนุกเกอร์คนที่ ๘ ของโลกที่สามารถทำเงินรางวัลได้มากกว่า ๑ ล้านปอนด์

    แต่หลังจากนั้นแค่ ๓ ปีฝีมือของเขาก็ถดถอยลงอย่างผิดรูป ทำให้ตกอันดับอย่างรวดเร็วจนหลุดแม้กระทั่งอันดับที่ ๖๔ ของโลก ชื่อเสียงของเขาค่อย ๆ เลือนหายไปจากวงการสนุกเกอร์ของเมืองไทย จากคนที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือนเทพเจ้าแห่งวงการสนุกเกอร์ไทยที่แม้แต่หลับตาก็ยังแทงลง ต๋องกลับถูกมองว่าเป็นไอ้ขี้แพ้ที่ไม่มีใครอยากเชียร์อีกแล้ว


    ชีวิตของเขาดูไม่ต่างจากนักกีฬาฝีมือดีของไทยหลายคนที่เคยประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งและโด่งดังถึงขีดสุด แต่แล้วก็พุ่งดิ่งลงมาอย่างรวดเร็วจนหายไปจากความทรงจำของผู้คน จะปรากฏเป็นข่าวอีกทีก็เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น เช่น ประสบอุบัติเหตุ ล้มป่วย หย่ากับภรรยา หรือถูกตำรวจจับกุม ฯลฯ

    การปีนไต่ให้ถึงความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องยาก ใคร ๆ ก็รู้ แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือการรักษาความสำเร็จเอาไว้ให้ได้ ข้อนี้ก็มีคนเตือนเอาไว้แล้ว แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรยากเท่ากับการลงจากความสำเร็จได้โดยไม่เจ็บปวด นี้ใช่ไหมที่เป็นบทเรียนสำคัญจากชีวิตจริงของนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์และคนดังอีกมากมายที่ผ่านมาให้เราเห็นคนแล้วคนเล่า

    ต๋องเป็นคนหนึ่งที่พบว่าเมื่อพลัดตกจากความสำเร็จแล้ว สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ก็ตามมาอีกมากมาย เงินยืมถูกเพื่อนโกงนับสิบล้าน ธุรกิจที่ลงทุนเอาไว้ล้มระเนนระนาด เสียเพื่อนไปมากมาย ฯลฯ แต่เขาต่างจากอีกหลายคนตรงที่ สามารถทำใจยอมรับเหตุการณ์เหล่านี้ได้ การบวชและปฏิบัติธรรมหลังจากถอนตัวจากวงการสนุกเกอร์ ทำให้เขาตระหนักว่า “ทุกอย่างมันไม่แน่นอน....คุณอาจจะรวยเป็นพันล้านวันนี้ แต่พรุ่งนี้คุณอาจจะตายก็ได้” เขามาได้คิดอีกว่าเงินนับร้อยล้านที่เคยมีนั้น เขาไม่เคยเห็นเป็นเงินสดเลย เพราะเป็นแค่ตัวเลขในสมุดบัญชี มันก็แค่ให้ความสุขทางใจในยามที่ได้เห็นตัวเลขเท่านั้น ดูเหมือนเขาจะบอกกับเราว่าเงินนับสิบล้านที่ถูกโกงไปนั้นเป็นแค่ตัวเลขในบัญชีเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตจริง ๆ ของเขาเลย

    เป็นเพราะตระหนักชัดถึงความไม่แน่นอนของโลก เขาจึงยอมรับความพ่ายแพ้ในฐานะนักสนุกเกอร์ได้ ไม่หวนหาอาลัยความสำเร็จอันหอมหวานในวันวานได้ เมื่อได้ไตร่ตรองชีวิตหลังบวชเรียน เขาพบว่ากีฬาสอนหลายอย่างให้แก่เขา นั่นคือ รู้แพ้ รู้ชนะ และรู้จักอภัย ความพ่ายแพ้จึงมิใช่สิ่งเลวร้ายสำหรับเขาอีกต่อไป ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นแค่ความพ่ายแพ้ในเกมกีฬาหรือความล้มเหลวในหน้าที่การงาน ไม่ใช่ความล้มเหลวของชีวิต แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือเขามองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่มีแง่ดีอยู่ไม่น้อย “(สนุกเกอร์)สร้างเรามาได้ มันก็ทำให้เราลงได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปติดยึดอะไรมากนัก มองให้มันธรรมดา นี่แหละชีวิตมันเป็นอย่างนี้เอง ทุกอย่างมันไม่เที่ยง เมื่อก่อนเคยแทงกี่ลูกก็ลง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ลง อ้าว ก็อายุมึงมากแล้วนี่ ก็เป็นธรรมดา จะไปออกคิวเหมือนเดิมได้ไง ถ้าทำได้ แล้วเด็กรุ่นใหม่มันจะไปรุ่งได้ไง ถ้ามึงยังอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้”

    ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา แย่แค่ไหน ก็ยังมีข้อดีอยู่เสมอ สำหรับต๋อง ความพ่ายแพ้ของเขาหมายถึงชัยชนะของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าตลอดไปหรอก มันก็ต้องมีคลื่นลูกใหม่ ไล่คลื่นลูกเก่า ไม่อย่างนั้นโลกเราจะเจริญเหรอ ถูกไหมครับ” คนที่คิดอย่างนี้ได้ย่อมไม่ใช่คนที่คิดถึงแต่ตัวเอง หากยังคิดถึงแต่คนอื่นหรือส่วนรวมด้วย เป็นเพราะคิดอย่างนี้ได้ จึงสามารถเล่นกีฬาได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าตัวเองจะชนะหรือแพ้ก็ตาม ตรงกันข้ามคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง ย่อมเป็นทุกข์ทุกขณะที่เล่นกีฬา ต่อเมื่อเล่นจบแล้วได้ชัยชนะถึงจะมีความสุข แต่ก็สุขชั่วคราว เพราะเมื่อถึงคราวที่จะต้องลงแข่งใหม่ จิตใจก็หวั่นไหวเพราะกลัวความพ่ายแพ้

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    (ต่อ)

    จะว่าไปแล้วมุมมองของต๋องยังสามารถนำไปใช้กับการทำงานเพื่อให้มีความสุขได้ด้วย ทุกวันนี้ผู้คนเคร่งเครียดกับการทำงานเพราะกลัวล้มเหลว ยิ่งคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ยิ่งทำใจยอมรับความล้มเหลวไม่ได้เลย ทั้ง ๆ ที่ความล้มเหลวเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่ว่าประสบความสำเร็จมามากแค่ไหน ไม่ช้าก็เร็วความล้มเหลวก็ต้องมาเยือนจนได้ การเพียรพยายามเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการรู้จักทำใจเพื่อรับมือกับความล้มเหลวที่จะมาถึง

    การทำใจมิได้หมายความแค่ยอมรับความจริงเมื่อความล้มเหลวเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังรู้จักหาประโยชน์จากความล้มเหลวหรือมองเห็นแง่ดีของความล้มเหลว สำหรับต๋อง ความพ่ายแพ้ทำให้เขาตระหนักชัดถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ซึ่งรวมถึงโลกธรรม อาทิ ลาภ ยศ สรรเสริญ หากยังเป็นแชมป์ไม่รู้จักความพ่ายแพ้ เขาก็อาจหลงในโลกธรรมเหล่านี้อีกต่อไป ความพ่ายแพ้ยังสอนให้เขารู้จักชื่นชมยินดีในความสำเร็จของคู่ต่อสู้แม้จะอ่อนวัยกว่า เพราะนั่นหมายถึงความเจริญของโลก แต่ถึงจะไม่ใช่คู่แข่งที่อ่อนวัย เขาก็ยังยิ้มให้ได้เช่นกัน “ทุกวันนี้พอแทงลูกไม่ลงเหรอ ผมยิ้มให้กับลูกที่ผมแทงไม่ลงด้วย แล้วก็ดีใจชื่นชมคู่ต่อสู้เป็นด้วย เล่นแบบนี้เราแฮปปี้กว่า”

    เมื่องานล้มเหลว ควรหรือไม่ที่จะปล่อยให้ใจล้มเหลวด้วย งานล้มแต่อย่าให้ใจล้ม ระหว่างคนที่หัวฟัดหัวเหวี่ยงเมื่องานล้มเหลว กับคนที่ยิ้มได้เมื่อพบกับความล้มเหลว คนไหนที่เป็นสุขและฉลาดกว่ากัน สาเหตุลึก ๆ ที่ทำให้เรายอมรับความล้มเหลวไม่ได้ก็เพราะมันกระทบอัตตาข้างใน อัตตาหรือตัวตนนั้นต้องการประกาศตนว่ากูเก่งกว่า ดีกว่า รวยกว่า สวยกว่า ฯลฯ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำเต็มที่เพียงใด เมื่อประสบกับความล้มเหลวหรือไม่สำเร็จอย่างที่หวัง ตัวที่ทุกข์จริง ๆ คืออัตตา แต่เพราะเราไปหลงเชื่ออัตตา ก็เลยไปเอาความทุกข์ของอัตตามาเป็นของเรา ผลก็คือกินไม่ได้ นอนไม่หลับ และทะเลาะกับผู้คน รวมทั้งเห็นเพื่อนร่วมงานที่เก่งกว่าเป็นคู่แข่งที่จะเก่งเกินหน้าเกินตาเราไม่ได้

    การยินดีและยิ้มให้คู่แข่งที่เก่งกว่าเราหรือชนะเราได้นั้น เป็นวิธีกำราบอัตตาไม่ให้ผยอง และปิดกั้นมิให้ความอิจฉาริษยาเข้ามาครองใจ จึงทำให้เราห่างไกลจากความทุกข์ และมีเวลาให้กับสติปัญญาได้ใคร่ครวญเพื่อปรับปรุงแก้ไขตนเอง รวมทั้งพร้อมรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ อาทิ คำวิพากษ์วิจารณ์

    ต๋องเป็นผู้หนึ่งที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับคำสรรเสริญล้นหลาม แต่ระยะหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง โดยเฉพาะจากผู้ที่ผิดหวังในตัวเขา แต่เขากลับมองเหตุการณ์เหล่านั้นในแง่ดี “บางคนโดนด่า โดนสบประมาท แล้วไปโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ผมกลับมองว่าเราต้องเรียกคนพวกนี้ว่าเป็นอาจารย์เลย เราต้องผ่านเขาให้ได้ เพราะถ้าเราผ่านไม่ได้ เราไม่มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จหรอก”

    ฟังดูทั้งหมดเหมือนเป็นข้อคิดสำหรับผู้แพ้เพื่ออยู่กับความพ่ายแพ้ได้อย่างไม่ทุกข์ แต่ที่จริงแล้วยังเหมาะกับผู้ชนะในวันนี้ที่จะต้องก้าวลงจากความสำเร็จในวันพรุ่งด้วย อย่าลืมว่าการได้ชัยชนะในวันนี้ไม่ยากลำบากเท่ากับการลงจากแท่นผู้ชนะในวันพรุ่ง ทุกวันนี้ตำราว่าด้วย how to สู่ความสำเร็จมีมากมายเต็มแผงหนังสือ แต่แทบไม่มีตำราว่าด้วย how to สำหรับการก้าวลงจากความสำเร็จเลย ผลก็คือโลกนี้เต็มไปด้วยคนที่พลัดตกลงมาจากจุดสูงสุดของชีวิตอย่างเจ็บปวด

    อย่างไรก็ตามต๋อง ศิษย์ฉ่อยวันนี้ไม่ได้เป็นคนที่พร้อมอยู่กับความพ่ายแพ้และทิ้งชัยชนะไว้เบื้องหลัง แต่เขาได้หวนคืนสู่วงการสนุกเกอร์อีกครั้ง และกลับมาเป็นแชมป์ทั้งระดับชาติและระดับทวีป พร้อมกับเตรียมเข้าสู่วงการระดับโลก แต่ครั้งนี้เขามาด้วยลีลาการเล่นที่สุขุม ผ่อนคลายและไม่ขาดรอยยิ้ม จากคนที่ใจร้อน บัดนี้เขาใจเย็นและปล่อยวางมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เขาบอกตัวเองยามที่เข้าแข่งขันก็คือ “นี่คือแมตช์ที่สำคัญที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเล่นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีผลกับเรา”

    เมื่อถึงจุดสูงสุดก็ต้องพร้อมคืนสู่สามัญ เมื่อประสบความสำเร็จถึงขีดสุดก็ต้องพร้อมวางมือเมื่อถึงเวลา หรือไม่ก็ต้องพร้อมยอมรับความล้มเหลวเมื่อมันมาเยือน แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือขณะที่ยังโลดแล่นอยู่ในวงการ ก็ต้องพร้อมลืมความสำเร็จที่ผ่านมาและทำตนเสมือนคนธรรมดา ที่อยู่กับปัจจุบันอย่างดีที่สุด จนเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255209.htm

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 มีนาคม 2025 at 00:17
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    ในทุกข์ มีความไม่ทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล
    สิบวันที่ผ่านมา อาตมาได้ไปช่วยงานของหมู่สงฆ์เพื่อเตรียมงานให้กับหลวงพ่อ ได้มีโอกาสฟังธรรมะของหลวงพ่อเป็นระยะ ๆ เพราะมีการเปิดซีดีคำบรรยายของท่านอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น การที่ได้ฟังเสียงของท่านแม้จะไม่ใช่เสียงสด ๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าท่านยังอยู่กับเรา ก็คงคล้าย ๆ กับที่หลวงพ่อได้เขียนเอาไว้ในช่วงอาพาธว่า “ธาตุขันธ์คงอยู่อีกได้ไม่นาน แต่ความเป็นกัลยาณมิตรยังอยู่ตลอดไป” หลวงพ่อยังอยู่กับเรา การได้ฟังธรรมทำให้มีความรู้สึกแบบนี้อยู่เป็นระยะ ๆ

    เมื่อได้ฟังธรรมของท่านติดต่อกันหลายวัน ก็เกิดข้อสังเกตประการหนึ่งขึ้นมาว่า หลวงพ่อมักพูดบ่อยครั้งว่า

    “ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในโกรธมีความไม่โกรธ ในหลงมีความไม่หลง”

    “เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนโกรธให้กลายเป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนหลงให้กลายเป็นความไม่หลง”

    “ความทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์ ความโกรธทำให้ไม่โกรธ ความหลงทำให้ไม่หลง”

    พวกเราที่ฟังคำบรรยายของหลวงพ่อเป็นประจำ คงเห็นเหมือนอาตมาว่า นี่เป็นข้อความที่ท่านพูดบ่อยมาก และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ามีครูบาอาจารย์น้อยคนที่พูดแบบนี้ หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า ข้อความแบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อคำเขียนเลยทีเดียว แต่มันเป็นมากกว่าเอกลักษณ์ เพราะมันมีสาระที่ลึกซึ้งแฝงอยู่ในข้อความในคำพูดเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มาจากความคิดของท่าน แต่เกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติ เกิดจากสภาวธรรมที่ท่านได้เห็นและเข้าถึง

    “ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในโกรธมีความไม่โกรธ ในหลงมีความไม่หลง” ข้อความนี้บอกอะไรเราบ้าง มันบอกเราว่า ความทุกข์ก็ดี ความหลงก็ดี ความโกรธก็ดี มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องกำจัด ถ้าเราต้องการแสวงหาความไม่ทุกข์ แสวงหาความไม่โกรธ แสวงหาความรู้ตัว ก็หาได้จากความทุกข์ ความโกรธ และความหลงนั่นเอง

    ผู้คนมักจะเข้าใจว่าความทุกข์ ความโกรธ และความหลงเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด แต่หลวงพ่อพูดอีกแบบหนึ่งว่า ไม่ต้องกำจัดมันหรอก เพียงแค่ดูให้ดี ๆ  ในความทุกข์จะพบความไม่ทุกข์ ในความโกรธจะพบความไม่โกรธ ในความหลงจะพบความไม่หลง นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากมักมองความทุกข์ ความโกรธ และความหลงว่าเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด ต้องทำลาย  จึงนำไปสู่การกดข่ม ผลักไส วิธีนี้มีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการทำความดี และต้องการรักษาศีล เวลามีความโกรธ ความโลภ ความหลงเกิดขึ้นก็ต้องกดข่มเอาไว้ เช่นอยากจะทำร้ายใคร อยากจะด่าใคร อยากจะขโมยของใคร ก็ต้องกดข่มความอยากเอาไว้โดยอาศัยขันติ คือความอดทน ความอดกลั้น อันนี้เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการทำความดี

    แต่หลวงพ่อสอนให้เราก้าวไปไกลกว่านั้น คือไม่ใช่แค่ทำดีและเว้นชั่ว แต่ควรฝึกจิตให้เห็นความจริง เพราะปัญญาที่เห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งเท่านั้นที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ การที่จะมีปัญญาเช่นนั้นได้ก็ต้องเริ่มต้นจากการเห็นความจริงที่ปรากฏในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งความจริงที่มาในรูปของทุกข์ มาในรูปของความโกรธ มาในรูปของความหลง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมที่สามารถสร้างปัญญาให้แก่เราได้

    เมื่อมีทุกข์ แทนที่จะกำจัดทุกข์ ก็มาพิจารณาทุกข์ ก็จะเห็นความไม่ทุกข์ซ่อนอยู่ เหมือนกับผลไม้ มันมีเปลือก มีเนื้อที่ห่อหุ้มเมล็ดเอาไว้ ถ้าเราต้องการเมล็ด เราไม่ควรทิ้งผลไม้ เราเพียงแต่ปอกเปลือกและคว้านเอาเนื้อออกมา ก็จะได้เมล็ด ถ้าเมล็ดนั้นคือความไม่ทุกข์หรือความพ้นทุกข์ เราจะพบได้ก็จากความทุกข์ ซึ่งเป็นประหนึ่งเปลือกและเนื้อที่ห่อหุ้มเท่านั้น ไม่ใช่จากที่ไหนเลย

    ความทุกข์กับความไม่ทุกข์มันอยู่ด้วยกัน เมื่อเราพิจารณาความทุกข์ก็จะเห็นว่าอะไรคือสาเหตุของความทุกข์ และเมื่อเห็นสาเหตุของความทุกข์ ก็จะรู้ว่าสาเหตุของความไม่ทุกข์คืออะไร เวลาเราโกรธ แทนที่จะกดข่มมัน เราลองดูความโกรธ ก็จะเห็นว่าจิตกำลังร้อนรนเหมือนถูกไฟเผา ไฟนั้นคืออะไร คือความโกรธ ความรู้สึกอยากผลักไสอยากทำลาย เมื่อมองให้ลึกลงไปก็จะเห็นว่าที่โกรธก็เพราะรู้สึกว่าตัวกูถูกกระทบถูกบีบคั้น ความยึดติดถือมั่นในตัวกูทำให้เกิดความไม่พอใจขัดเคืองจนกลายเป็นความโกรธ เวลาเรามีความอยากแล้วเรารู้สึกรุ่มร้อน อันนี้เป็นเพราะตัณหา อยากได้มาเป็นของกู ความยึดมั่นว่าจะต้องเอามาเป็นของกูให้ได้ ทำให้จิตใจรุ่มร้อนเป็นทุกข์ เมื่อมองให้ลึกลงไปจะพบว่า ที่ทุกข์ใจก็เพราะความยึดติดถือมั่นในตัวกู ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง ในทำนองเดียวกันเวลาเรารู้สึกหนักอกหนักใจ ถ้าเราดูความหนักอกหนักใจ เราก็จะพบว่าที่มันหนักก็เพราะแบกเอาไว้ ถ้าไม่แบกไม่ยึดก็ไม่รู้สึกหนักอกหนักใจหรือเป็นทุกข์ สาเหตุเหล่านี้เราจะไม่เห็นเลย ถ้าเรามัวแต่กำจัดหรือผลักไสความทุกข์

    ความทุกข์มีหลายแบบ แสดงออกมาหลายอาการ ทุกข์บางอย่างคือความหนักอกหนักใจ ทุกข์บางอย่างคือความร้อนรุ่ม ถ้าเรารู้ว่าตอนนี้กำลังหนักอกหนักใจ ก็จะพบต่อไปว่าที่มันหนักก็เพราะแบก ถ้าไม่แบกจะหนักได้อย่างไร ทันทีที่เรารู้ว่ากำลังหนักอกหนักใจ มันก็บอกในตัวว่าเป็นเพราะกำลังแบก และเฉลยต่อไปว่า ถ้าไม่อยากหนักอกหนักใจ ก็ต้องปล่อยวาง  ในทำนองเดียวกันทันทีที่รู้ตัวว่ากำลังร้อนรุ่ม มันก็บอกในตัวว่ากำลังถูกเผาด้วยไฟแห่งความโกรธ หรือความโลภ และที่ไฟมันยังเผาลนอยู่ได้ก็เพราะไปเติมฟืนเติมเชื้อให้มัน เพียงแค่ไม่เติมฟืนเติมเชื้อ ไฟก็ดับมอดไปเอง ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นทุกข์ ก็ต้องวางฟืนวางเชื้อลงเสีย กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อรู้ทุกข์ก็เห็นสมุทัย เมื่อเห็นสาเหตุของทุกข์ ก็จะพบว่าสาเหตุของความไม่ทุกข์นั้นคืออะไร มันเฉลยในตัวอยู่แล้ว

    ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าอธิบายอริยสัจ ๔ พระองค์จึงเริ่มต้นที่ทุกข์ และสาเหตุแห่งทุกข์ จากนั้นก็ตรัสถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับทุกข์ คือนิโรธ ได้แก่ความไม่มีทุกข์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อริยสัจข้อที่ ๔ แทนที่จะเป็นสาเหตุแห่งความไม่ทุกข์ ตรงข้ามกับอริยสัจข้อที่ ๒ พระพุทธองค์กลับพูดถึงการสร้างเหตุปัจจัยแห่งความไม่ทุกข์ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ คำถามคือทำไมพระพุทธองค์ไม่ยกเอาสาเหตุแห่งความไม่ทุกข์หรือสาเหตุแห่งนิโรธ มาเป็นอริยสัจข้อที่ ๔  คำตอบก็คือ เพราะมันเฉลยอยู่ในตัวแล้วจากสมุทัย สมุทัยคือสาเหตุแห่งความทุกข์ เมื่อเห็นสาเหตุแห่งทุกข์ มันก็บอกในตัวอยู่แล้วว่า สาเหตุแห่งความไม่ทุกข์คืออะไร คือสิ่งที่ตรงข้ามกับสาเหตุแห่งทุกข์นั้นเอง กล่าวคือ เมื่อรู้ว่าทุกข์เพราะโลภ โกรธ หลง ฉะนั้นถ้าไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ก็ไม่ทุกข์ ดังนั้น อริยสัจข้อที่ ๔ พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้พูดถึงสาเหตุแห่งความไม่ทุกข์หรือสาเหตุแห่งนิโรธ แต่พูดไปถึงวิธีการที่จะทำให้สาเหตุแห่งนิโรธนั้นเกิดขึ้นได้ นั่นคืออริยมรรคมีองค์ ๘
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    (ต่อ)
    ฉะนั้นที่หลวงพ่อพูดอยู่เสมอว่า ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ จึงมีความสำคัญมาก มันเป็นการเชื้อเชิญให้เรามองความทุกข์ ไม่ใช่กำจัดทุกข์ ซึ่งตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ กำหนดรู้ในที่นี้ท่านใช้คำว่า “ปริญญา” คือการรู้รอบ รู้รอบได้ก็เพราะเห็นความจริง เมื่อเห็นความจริงก็เกิดปัญญา

    เวลาเรามีความทุกข์ใจ อย่าคิดแต่จะกำจัดมันตะพึดตะพือ ให้ลองกลับมาดูหรือมองมันบ้าง เราก็จะเห็นมัน และเห็นไปถึงรากเหง้าหรือสาเหตุของมัน เมื่อเรามีความโกรธอย่าคิดแต่จะกดข่มมันเอาไว้ ลองมองดูความโกรธก็จะเห็นความไม่โกรธอยู่ด้วยกัน ความโกรธกับความไม่โกรธ ความทุกข์กับความไม่ทุกข์ ความหลงกับความไม่หลง เหมือนกับทุเรียนที่มีหนามแหลมแต่มีเม็ดอร่อยอยู่ข้างใน อย่างแรกที่เราควรทำเมื่อได้ทุเรียนมาก็คือ อย่าทิ้งหรือกำจัดมัน ใครที่ได้ทุเรียนแล้วทิ้งมันไปเพราะเห็นว่าหนามมันแหลม ทิ่มมือทิ่มตัว ทำให้เจ็บ อย่างนี้เรียกว่าไม่ฉลาด คนฉลาดจะไม่ทิ้งทุเรียน แต่จะเฉาะเปลือกมันออก ในที่สุดก็จะได้เม็ดที่อร่อย ของอร่อยซ่อนอยู่ในผลไม้ที่มีหนามแหลมฉันใด ธรรมก็ซ่อนอยู่ในทุกข์ฉันนั้น ทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละหรือกำจัด เช่นเดียวกับทุเรียนแม้จะมีหนามแหลมอย่างไรก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทิ้ง ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกำจัด

    การที่หลวงพ่อพูดว่าเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนโกรธให้กลายเป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนหลงให้กลายเป็นความไม่หลง เป็นการบอกเป็นนัยว่าทุกข์และความไม่ทุกข์ไม่ได้อยู่ตรงข้ามกันแบบที่เรียกว่าอยู่คนละขั้วหรืออยู่คนละที่ อาจเปรียบได้กับหน้ามือกับหลังมือที่อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ความจริงสิ่งทั้งปวงที่ดูเหมือนตรงข้ามกันก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตายก็มีอยู่ในชีวิต” ขาวกับดำ มืดกับสว่างก็อยู่ด้วยกัน อาศัยกัน เงาเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีแสงหรือความสว่าง ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า “แสงสว่างต้องอาศัยความมืดจึงปรากฏ ความงามต้องอาศัยความไม่งามจึงปรากฏ” ขณะเดียวกันในความมืดก็มีความสว่างอยู่ เวลากลางคืนเรานึกว่าไม่มีแสง แต่ที่จริงมันมีความสว่างอยู่ หนูและสัตว์ต่าง ๆ จึงหากินได้สบายในเวลากลางคืน

    ทุกข์กับความไม่ทุกข์อยู่ด้วยกัน เปรียบได้เหมือนกับหน้ามือกับหลังมือ ถ้าเรากำจัดหน้ามือ หลังมือก็จะหายไปด้วย ถ้าเรากำจัดทุกข์เราก็จะไม่พบความไม่ทุกข์ คือไม่พบธรรมะ สิ่งที่เราควรทำก็คือเพียงแต่พลิกเปลี่ยนมันเท่านั้นเอง เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นไม่ทุกข์ ก็คงไม่ต่างจากพลิกหน้ามือให้กลายเป็นหลังมือ หรือการพลิกหลังมือให้กลายเป็นหน้ามือ อันนี้เป็นการย้ำให้เราตระหนักว่าทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำลาย เราเพียงแต่เปลี่ยนมัน เหมือนกับที่เราเปลี่ยนแป้งให้กลายเป็นขนมปัง ถ้าเราทิ้งแป้งลงถังขยะเราก็อดกินขนมปัง หรือเปลี่ยนข้าวสารให้เป็นข้าวสุก ถ้าเราทิ้งข้าวสารเราก็อดกินข้าวสุก แต่เราจะเปลี่ยนข้าวสารให้กลายเป็นข้าวสุกได้ก็ต้องอาศัยความร้อน ในทำนองเดียวกันความทุกข์จะกลายเป็นความไม่ทุกข์ก็ต้องอาศัยสติและปัญญา

    ตัวอย่างที่ชัดเจนกว่านั้นคือขยะกับดอกไม้ สองอย่างนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันมาก ขยะสามารถกลายเป็นดอกไม้ได้ ถ้าเราอยากได้ดอกไม้ เราก็ต้องพึ่งขยะ คือรู้จักเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นดอกไม้ ขยะนั้นสามารถช่วยให้ดอกไม้เจริญงอกงามได้ เช่นเดียวกับทุกข์ก็ทำให้ธรรมเจริญงอกงาม จนเข้าถึงความไม่ทุกข์ได้

    เราจะเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นไม่ทุกข์ก็ต้องมีสติ ต้องมีความรู้สึกตัว สติและความรู้สึกตัวช่วยให้ความทุกข์เปลี่ยนเป็นความไม่ทุกข์ ทำให้ความโกรธเปลี่ยนเป็นความไม่โกรธได้ ถ้าไม่มีความรู้สึกตัว ไม่มีความรู้ตัว หรือสติแล้ว โกรธก็ยังเป็นโกรธอยู่ ทุกข์ก็ยังเป็นทุกข์อยู่ อันนี้มีนัยยะที่สำคัญมาก หลวงพ่อชี้ชวนให้เรารู้จักใช้ประโยชน์จากทุกข์ จากความโกรธ จากความหลง แทนที่จะมองว่ามันเป็นของเลวร้ายที่ต้องกำจัด ที่ต้องทำลาย ท่านจึงพูดว่า “ความทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์ ความโกรธทำให้ไม่โกรธ ความหลงทำให้ไม่หลง”

    อันนี้เป็นคำสอนที่แตกต่างจากครูบาอาจารย์หลายท่าน ที่ท่านพูดเช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้เรารู้สึกลบต่อความทุกข์ ต่อความโกรธ ต่อความหลง เพราะถ้ารู้สึกลบแล้วการวางใจเป็นกลางหรือว่า “รู้ซื่อ ๆ” ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ รู้ซื่อ ๆ หรือการมองด้วยใจเป็นกลาง เกิดขึ้นได้เพราะไม่มีความชัง ไม่มีความรู้สึกลบ ไม่มีความรู้สึกผลักไสต่อทุกข์ ต่อความโกรธ ต่อความหลง ตลอดจนกิเลสตัวอื่น ๆ ท่านสอนว่าอย่าชังหรือกดข่มมัน เมื่อเจอมัน ก็อย่ากลัวหรือหนีมัน แต่เผชิญกับมัน ดูมัน และใช้มันให้เป็นประโยชน์ เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ เหมือนกับที่เราเจอขยะแล้วแทนที่จะทิ้ง เราเอามาทำเป็นปุ๋ยจนเกิดดอกไม้ขึ้น ทุกข์ก็เป็นปุ๋ยที่ทำให้เกิดธรรมแจ่มแจ้งในใจของเรา

    สาระตรงนี้สำคัญมาก อาตมาอยากให้พวกเราพินิจพิจารณา มันเป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อทีเดียว  “ความทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์ ความโกรธทำให้ไม่โกรธ ความหลงทำให้ไม่หลง”  เวลาปฏิบัติเราจะหลงอยู่บ่อย ๆ แต่การหลงบ่อย ๆ นั่นแหละจะช่วยทำให้เรารู้บ่อยขึ้น ถ้าเราหมั่นดู เวลาเจอความหลงบ่อย ๆ เราก็จะรู้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าความหลงหน้าตาเป็นอย่างไร อาการเป็นอย่างไรเวลามีความโกรธเกิดขึ้นแล้วเราดูมันบ่อย ๆ เราก็จะเห็นหน้าค่าตามันชัดขึ้น จำได้ดีขึ้นว่า ความโกรธเป็นอย่างนี้ มีอาการอย่างนี้ ความทุกข์มีหน้าตาอย่างนี้ ทำให้ใจมีอาการแบบนี้ คือ ร้อนบ้าง รู้สึกถูกบีบคั้นบ้าง รู้สึกถูกเสียดแทงบ้าง หรือว่าหนักอึ้งบ้าง การที่เราเจอมันบ่อย ๆ ทำให้เราจำมันได้แม่น ดังนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นอีก เราก็จะไม่หลงเชื่อตามมันง่าย ๆ เหมือนกับคนที่มาหลอกเอาเงินเรา แล้วเราก็เชื่อ ให้เงินเขาไป เขาหลอกเราทีแรก เราก็เชื่อ มาหลอกอีกเราก็เชื่อ ยอมให้เขาหลอก ไม่จดไม่จำเสียที แต่หลังจากที่เขาหลอกเราหลายครั้งเข้า เราก็เริ่มจำได้ว่าหมอนี่วางใจไม่ได้ เชื่อถือไม่ได้  คราวหน้าพอเขามาหลอกอีก เราก็ไม่หลงเชื่อแล้ว เพราะรู้ว่าเขาเป็นคนไม่ซื่อ

    กี่ครั้งที่ความโกรธ ความหลงมันหลอกให้เราทุกข์ เราทุกข์เพราะเราไม่รู้จักมัน จำลักษณะอาการของมันไม่ได้ แต่เมื่อเราเจอและเห็นมันบ่อย ๆ เราก็จะจำลักษณะอาการของมันได้ ภาษาบาลีเรียกว่า ถิรสัญญา เมื่อเราจำได้ พอมันมาอีก เราก็ไม่เชื่อ ไม่คล้อยตาม ไม่หลงตามมันอีกต่อไป อาจเชื่อประเดี๋ยวประด๋าว สักพักก็จำได้ แล้วถอยออกมา สลัดมันทิ้ง ทำให้ใจเราเป็นอิสระ ใจกลับมาเป็นปกติ ฉะนั้นจึงอย่ากังวลเวลาปฏิบัติแล้วเกิดความฟุ้ง หรือเกิดความหลง หลายคนเป็นทุกข์ว่าทำไมฟุ้ง ทำไมหลงเยอะเหลือเกิน ขอให้รู้ว่านั่นเป็นสิ่งดี ที่จะช่วยทำให้ใจเราเป็นอิสระจากความฟุ้ง ความหลงได้ ถึงแม้จะเผลอใจ ถูกมันหลอกไป แต่เมื่อรู้ตัวขึ้นมาก็สลัดมันทิ้งได้ แต่ก่อนฟุ้งเป็นวรรคเป็นเวร คิดไปเจ็ดแปดเรื่องแล้วถึงจะรู้ตัว  ตอนหลังแค่เผลอคิดเรื่องเดียว ไม่ทันจบ ก็รู้ตัว ไม่คล้อยตามมันอีกต่อไป ใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน

    เห็นได้ว่าความโกรธ ความฟุ้ง ก็มีประโยชน์ เจอมันบ่อย ๆ ก็ทำให้เราไม่โกรธ ไม่ฟุ้งง่าย ๆ อีกต่อไป ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะเข้าใจว่า ทำไมหลวงพ่อจึงบอกว่า “ความทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์ ความโกรธทำให้ไม่โกรธ ความหลงทำให้ไม่หลง”

    ทุกข์กับความไม่ทุกข์นั้นอยู่ด้วยกัน ความโกรธกับความไม่โกรธอยู่ด้วยกัน ความหลงกับความไม่หลงอยู่ด้วยกัน เหมือนกับสวิทช์ไฟ สวิทช์ที่ทำให้มืดกับทำให้สว่างก็เป็นสวิทช์ตัวเดียวกัน สวิทช์ที่ทำให้เกิดความมืด กับสวิทช์ที่ทำให้เกิดความสว่าง ไม่ใช่คนละตัวกัน มันเป็นตัวเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน รูกุญแจที่ขังเราเอาไว้ กับรูกุญแจที่ทำให้เราเป็นอิสระ ก็เป็นรูเดียวกัน ไม่ใช่คนละรูกัน

    ตรงที่วางรองเท้าข้างหอไตร เราจะเห็นภาพหยินหยางอยู่ด้านหลัง สัญลักษณ์นี้สะท้อนความจริงที่พูดมาทั้งหมดได้เป็นอย่างดี ในสัญลักษณ์นี้ ดำกับขาวอยู่ด้วยกัน เช่นเดียวกับทุกข์กับความไม่ทุกข์อยู่ด้วยกัน มันบอกเราว่า สิ่งที่ดูเหมือนตรงข้ามกันนั้น แท้จริงอยู่ด้วยกัน เหมือนหน้ามือกับหลังมือ ใช่แต่เท่านั้นมันยังอยู่ในกันและกัน แสดงให้เห็นจากสัญลักษณ์นี้ ที่ขาวอยู่ในดำ และดำอยู่ในขาว เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  “ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตายก็มีอยู่ในชีวิต”  สั้นอยู่ในยาว และยาวก็อยู่ในสั้น ไม้บรรทัดนั้นสั้นเมื่อเทียบกับไม้เมตร แต่ยาวเมื่อเปรียบกับดินสอ ในทำนองเดียวกัน ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในโกรธมีความไม่โกรธ ในหลงมีความไม่หลง

    สัญลักษณ์หยินหยางยังมีอีกแง่หนึ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ส่วนหัวของสีขาว คือหางของสีดำ และส่วนหัวของสีดำคือหางของสีขาว หมายความว่า ขาวนั้นเปลี่ยนเป็นดำ และดำเปลี่ยนเป็นขาวได้ ทำนองเดียวกันทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นความไม่ทุกข์ได้ โกรธก็เปลี่ยนเป็นความไม่โกรธได้ หลงก็เปลี่ยนเป็นความไม่หลงได้

    ที่หลวงพ่อพูดว่า “ในทุกข์มีความไม่ทุกข์ ในโกรธมีความไม่โกรธ ในหลงมีความไม่หลง เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ เปลี่ยนโกรธให้กลายเป็นความไม่โกรธ เปลี่ยนหลงให้กลายเป็นความไม่หลง ความทุกข์ทำให้ไม่ทุกข์ ความโกรธทำให้ไม่โกรธ ความหลงทำให้ไม่หลง” ทั้งหมดนี้แสดงอยู่ในสัญลักษณ์หยินหยางอย่างชัดเจน

    ถ้าเราพิจารณาดูให้ดี มันจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมมาก มันไม่ใช่แค่เรื่องปรัชญาสำหรับการครุ่นคิด แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติอีกด้วย อันนี้เองคือเหตุผลที่หลวงพ่อพูดทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ ข้อความเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่สำนวนหรือพูดให้ดูหรู แต่มันมีนัยยะสำหรับการปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อความพ้นทุกข์ ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็อาจจะปฏิบัติผิดพลาดได้ แต่ถ้าเราเข้าใจ ก็จะช่วยให้เราปฏิบัติอย่างถูกทิศถูกทางมากขึ้น
    :- https://visalo.org/article/person15lpKumkien8.html
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    ใช้หูให้เป็น
    By : สามสลึง

    จิตแพทย์สองคนมาเจอกันในงานเลี้ยงรุ่นปีที่ ๒๐ คนหนึ่งดูหนุ่มกระชุ่มกระชวย แต่อีกคนหนึ่งสิกลับเหนื่อยอ่อนเหมือนคนอมทุกข์

    “แกมีเคล็ดลับอะไรเหรอ ?” จิตแพทย์หน้าหมองถาม

    “ฟังปัญหาผู้คนตลอดทั้งวัน ทำให้ฉันแก่ไปถนัดใจ”

    จิตแพทย์หน้าละอ่อนตอบ “ใครเขาฟังกันล่ะ ?”

    จิตแพทย์คนหลังอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนักสำหรับคนมีอาชีพจิตแพทย์ แต่เคล็ดลับของเขาก็นับว่ามีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ที่ต้องเจอกับคนขี้บ่นอยู่เป็นประจำ คนที่ชอบหงุดหงิดรำคาญใจกับเสียงระคายโสตจะลองเอาวิธีนี้ไปใช้ก็เข้าท่าเหมือนกัน

    มีนักธุรกิจคนหนึ่งเจอเพื่อนร่วมงานจอมนินทา แม้จะอยู่คนละห้องแต่จอมนินทาผู้นี้ชอบโทรศัพท์มาบ่นคนโน้นนินทาคนนี้ให้เธอฟังเป็นประจำจนเธอเบื่อหน่าย สุดท้ายเธอแก้ปัญหาด้วยการรับสายโทรศัพท์แล้ววางหูไว้ที่โต๊ะ ปล่อยให้อีกฝ่ายพูดไปเรื่อย ๆ คนเดียว พอผ่านไปห้านาทีเธอจะยกหูพูดกรอกเข้าไปว่า “ค่ะ” แล้วก็วางหู วิธีนี้ทำให้ไม่เสียงานหรือเสียเพื่อน อีกฝ่ายก็สบายใจที่ได้พูด

    นักธุรกิจผู้นี้บอกว่าได้บทเรียนมาจากเรื่องเล่าของพ่อ เรื่องมีอยู่ว่าเด็กวัดคนหนึ่งบ่นหนวกหูทุกครั้งที่ได้ยินเสียงหมาเห่า หลวงพ่อเจ้าอาวาสจึงสอนเด็กวัดว่า หูหมากับปากหมามันอยู่ติดกัน หมามันยังไม่หนวกหูเลย แล้วหูเอ็งกับปากหมามันห่างกันเป็นวา เอ็งจะไปทุกข์ร้อนทำไม อย่าไปตั้งใจฟังมันก็หมดเรื่อง พอได้ยินก็ทุกข์ ลองไม่ฟังมันก็จะสุขไปเอง

    การฟังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องฝึก ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็ฟังเป็น อย่างแรกที่ต้องฝึกคือ รู้จักเลือกว่าจะฟังอะไร ไม่ฟังอะไร ไม่ใช่ฟังตะพึด ถ้าไม่รู้จักเลือก หูเราจะกลายเป็นโซน่าร์ที่กวาดทุกเสียงมาใส่ตัวหมดไม่ว่าดีหรือร้าย ประการต่อมาก็คือ เมื่อฟังแล้วต้องรู้จักปล่อย ไม่เก็บเอามาปรุงแต่ง บางอย่างฟังหูซ้ายก็ต้องปล่อยให้ทะลุหูขวาไป ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นหูหาเรื่อง เขาพูดจาห้วน ๆ กับเรา ก็ไปคิดว่าเขาเกลียดขี้หน้าเรา ทั้ง ๆ ที่เขาอาจมีเรื่องไม่สบายใจที่ไม่เกี่ยวกับเราเลย หนักเข้า เพื่อนคุยกันอยู่ไกล ๆ ได้ยินแค่บางคำ ก็ไปคิดปรุงแต่งว่าเขากำลังนินทาเรา ทีนี้แหละระอุขึ้นมาเต็มทรวงเลย

    หูที่ชอบหาเรื่องทำให้ผู้คนเป็นทุกข์มานับไม่ถ้วนแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกหูของเราให้รู้จักฟังและฝึกใจให้รู้จักปล่อยในเวลาเดียวกัน แต่ก็อย่าเผลอฟังแต่เรื่องที่เสนาะหูสบายใจอย่างเดียว เรื่องที่ไม่ถูกใจ แต่ถ้ามีประโยชน์ เช่น คำตักเตือน ก็ควรรู้จักฟังอย่างใส่ใจด้วย

    การฟังอย่างใส่ใจเป็นอีกเรื่องที่น่าจะได้ฝึกกัน เพื่อหยั่งลึกไปถึงความรู้สึกนึกคิดที่อยู่เบื้องหลังคำพูด บางเรื่องถ่ายทอดลำบากหรือยากที่จะพูด แต่ถ้าใส่ใจฟัง ก็จะได้ยินถ้อยคำจากหัวใจได้ไม่ยาก

    คนสมัยนี้พูดเยอะแต่ไม่ค่อยเข้าใจกัน แม้โทรศัพท์มือถือจะช่วยให้คุยได้สะดวกและมากตามต้องการก็ตาม พูดแต่ไม่ได้ยินจึงกลายเป็นปัญหาของคนร่วมสมัย แม้แต่ในบ้านเดียวกัน พ่อพูดอย่าง ลูกเข้าใจไปอีกอย่าง ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว อย่างเรื่องข้างล่างนี้

    พ่อบ่นให้ลูกสาววัย ๑๗ ฟังว่าเด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมียางอายกันแล้ว
    “ตอนที่พ่ออายุเท่าลูก สาว ๆยังรู้จักอายจนหน้าแดง”
    “ตายแล้ว ” ลูกสาวคนสวยอุทาน “ พ่อไปพูดมิดีมิร้ายอะไรกับเขาเหรอ?”

    :- https://visalo.org/article/sarakan254702.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    เมื่อโลกนี้แยกขาดจากโลกหน้า
    พระไพศาล วิสาโล
    นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา มีความพยายามในหมู่ชาวพุทธชั้นนำที่จะทำให้พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อเข้าได้กับสังคมสมัยใหม่ ผลตามมาก็คือพุทธศาสนาหลังจากนั้นมีแนวโน้มที่จะเน้นประโยชน์ในโลกนี้ อาทิ การมีทรัพย์ เกียรติ ยศ มีชีวิตที่เป็นสุข ไม่เดือดร้อนใจ เป็นที่รักใคร่ของมิตรสหาย ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือไปจากนั้นถูกลดความสำคัญลงจนเลือนหายไป ความเชื่อเกี่ยวกับโลกหน้าถูกหาว่าเป็นความงมงาย โลกุตตรธรรมหรือนิพพานก็กลายเป็นเรื่องไกลเกินกว่าที่จะสมควรใส่ใจ ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องแต่งเรื่องสมมติ ก็มีอยู่ไม่น้อย

    การที่พุทธศาสนาสมัยใหม่เน้นประโยชน์ในโลกนี้ แม้จะมีเหตุมีผล ดูเป็น"วิทยาศาสตร์"แต่ก็ทำให้พุทธศาสนาขาดพลังและความโดดเด่นในฐานะที่เป็นระบบการดำเนินชีวิต ยิ่งเน้นแค่ระดับศีลธรรมด้วยแล้ว พุทธศาสนาก็แทบไม่ต่างจากศาสนาอื่น ถึงที่สุดแล้วแม้ไม่จำต้องนับถือพุทธศาสนาเลยก็ย่อมได้ เพราะมีระบบจริยธรรมแบบไม่ใช่ศาสนาเป็นอันมาก ที่สอนให้คนทำดีเหมือนกัน และสามารถดึงดูดผู้คนได้ไม่น้อย อาทิ ลัทธิมนุษยนิยมหรือคุณธรรมพลเมือง


    พุทธศาสนาในอดีตยอมรับการมีอยู่ของโลกหน้า แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คน เพราะถึงแม้พุทธศาสนาไม่เข้ามา คนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่ามีโลกหน้าอยู่แล้ว พลังของพุทธศาสนาในอดีตอยู่ตรงที่สามารถเชื่อมโยงโลกนี้ให้เข้ากับโลกหน้าได้ การทำความดีในโลกนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขในชีวิตนี้เท่านั้น หากยังหมายถึงสุคติในโลกหน้าด้วย ด้วยเหตุนี้ความเชื่อในโลกหน้าจึงมีผลต่อการดำรงชีวิตและความประพฤติในโลกนี้ ชาวบ้านไม่กล้าทำบาปไม่ใช่เพียงเพราะกลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นในชีวิตนี้เท่านั้น หากยังวิตกถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับในชาติหน้าด้วย ดังนั้นถึงไม่มีใครเห็น ก็ไม่กล้าทำชั่วง่าย ๆ

    ปัญหาที่เกิดกับพุทธศาสนาในปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นเพราะผู้คนปฏิเสธโลกหน้า เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้วคนไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่ปฏิเสธโลกหน้า ดังผลการสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาเมื่อปี ๒๕๓๙ ระบุว่านักศึกษาที่เชื่อว่าตายแล้วสูญมีเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น ขณะที่คนซึ่งมั่นใจว่าเกิดใหม่แน่นอนมีมากเป็น ๓ เท่าปัญหานั้นอยู่ตรงที่โลกหน้ามีความสำคัญน้อยลง และมีไม่น้อยที่แยกโลกนี้ออกจากโลกหน้า ทัศนคติดังกล่าวทำให้ผู้คนสนใจแต่จะสร้างความสำเร็จในชีวิตนี้ด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ โดยไม่สนใจว่าการกระทำนั้น ๆ จะก่อผลอย่างไรในชาติหน้า ชาวบ้านเป็นอันมากไม่รีรอที่จะตัดไม้ทำลายป่า หรือขโมยของวัดถ้ามีโอกาส ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อชาติหน้า แต่เป็นเพราะสนใจแต่ความสุขสบายในชาตินี้ยิ่งกว่าอะไรอื่น พร้อมกันนั้นก็ไม่ได้สำเหนียกว่าสิ่งที่ตนทำจะก่อผลอย่างไรในชาติหน้า

    เมื่อแยกชาตินี้กับชาติหน้าออกจากกัน วิธีการสร้างความสำเร็จในชาตินี้กับวิธีการมุ่งผลในชาติหน้าก็เลยแยกจากกันด้วย ในด้านหนึ่งคนที่แสวงหาวัตถุมงคลเพราะหวังความร่ำรวยและผลได้ในปัจจุบัน ก็ไม่สนใจที่จะทำความดีรักษาศีลเพื่อผลในชาติหน้า ขณะเดียวกันการประกอบพิธีกรรมเพื่อผลในชาติหน้า(หรือภพอื่น) เช่น งานศพ หรือทำบุญสร้างพระ ก็แทบจะไม่สัมพันธ์หรือเกิดประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันต่างกับสมัยก่อน งานศพไม่ใช่เป็นแค่การทำบุญให้ผู้ตาย หรือการสร้างกรรมดีให้แก่ตนเองเท่านั้น หากยังก่อประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ เช่น เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในชุมชนให้แน่นแฟ้น โดยที่การทำบุญก็มักจะเป็นการทำประโยชน์แก่ชุมชนไปด้วยในตัว เช่นจัดหาเสื่อหมอนถ้วยชามมาให้แก่วัดเพื่อเป็นสมบัติกลาง ส่วนการทำบุญสมัยนี้ แทบจะไม่มีจุดมุ่งหมายในแง่นี้เลย แม้จะทำบุญให้วัด แต่ก็ไม่ได้ทำด้วยความตระหนักว่าเพื่อคนอื่นจะได้ใช้ประโยชน์ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการถวายให้วัดในฐานเป็นศาสนสถานมากกว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชน

    ชาตินี้แยกไม่ออกจากชาติหน้า แม้เราจะจากโลกนี้ไป แต่เลือดเนื้อเชื้อไขของเราที่จะเกิดมาในอนาคตก็คือตัวแทนของเราที่จะต้องรับผลพวงจากการกระทำของเราใน”ชาติหน้า” สายสัมพันธ์ดังกล่าวตัดไม่ขาดและปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรใส่ใจเพียงแค่ว่าชีวิตนี้จะร่ำรวยหรือมีอำนาจแค่ไหน หากควรคำนึงถึงอนาคตด้วยว่าการกระทำของเราจะก่อผลเพียงใด ไม่ใช่คนอื่นและสังคมส่วนรวมเท่านั้นที่จะต้องได้รับผลจากการกระทำดังกล่าว เราเองในที่สุดก็ต้องได้รับผลนั้นด้วยไม่ว่าจะปรากฏในรูปลักษณ์ใดก็ตามในวันข้างหน้า

    :- https://visalo.org/article/budMerLukNee.htm
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    เปิดใจให้แก่ความดี
    พระไพศาล วิสาโล
    น้องโยเป็นเด็ก ๗ ขวบ วันหนึ่งป้าชวนน้องโยซ้อนมอเตอร์ไซค์เข้าไปในเมือง ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุ มีรถเข้ามาชนจนมอเตอร์ไซค์คว่ำ ป้าแขนหัก ส่วนน้องโยขาเละข้างหนึ่ง ระหว่างที่นำส่งโรงพยาบาลจนกระทั่งเข้าห้องผ่าตัด ป้าร้องครวญคราง แต่น้องโยนิ่งเงียบ เมื่อหมอผ่าตัดเสร็จ จึงถามน้องโยว่า ทำไมไม่ร้องไห้เลย น้องโยตอบว่า “ผมกลัวป้าเสียใจครับ” น้องโยรู้ดีว่าป้าไม่ได้เจ็บปวดเพราะแขนหักอย่างเดียว แต่ยังเป็นทุกข์ที่พาน้องโยมารับเคราะห์กรรม น้องโยไม่อยากให้ป้าทุกข์มากกว่านี้ จึงสะกดกลั้นความรู้สึกเอาไว้ เป็นเพราะน้องโยคิดถึงป้า จึงทำให้ทนความเจ็บปวดได้อย่างที่ใคร ๆ ก็นึกไม่ถึง
    เมื่อใดที่เรานึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น ความทุกข์ของเราจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยลง และยิ่งห่วงใยเขามากเท่าไร เราก็อาจจะลืมความเจ็บปวดของตนไปเลย มีสาววัย ๑๗ ผู้หนึ่งป่วยหนักด้วยโรคพุ่มพวง เธอทุกข์ทรมานมาก เมื่อบาทหลวงมาเยี่ยมเธอ เธอตัดพ้อกับท่านว่า “ทำไมพระเจ้าจึงทำให้หนูเป็นอย่างนี้ ?” บาทหลวงตอบอย่างซื่อตรงว่า ท่านไม่ทราบ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ท่านอยากแนะนำก็คือ ขอให้เธอสวดภาวนาถึงพระเจ้า และสวดให้แก่ผู้ป่วยทั้งหลายที่อยู่วอร์ดเดียวกับเธอด้วย

    ไม่กี่วันต่อมาเมื่อบาทหลวงไปเยี่ยมเธอ ก็พบว่าเธอมีสีหน้าดีขึ้น หน้าตาหม่นหมองน้อยลง บาทหลวงไปเยี่ยมเธออีกหลายครั้ง แต่ละครั้งได้เห็นเธอเบิกบานมากขึ้น สดใสกว่าเดิมเดิม เธอบอกว่าได้สวดภาวนาและแผ่ความปรารถนาดีให้แก่ผู้ป่วยทุกคนในห้องของเธอตามที่บาทหลวงแนะนำ

    มีช่วงหนึ่งที่บาทหลวงติดกิจธุระในต่างจังหวัดนานนับเดือน ทันทีที่เข้ากรุงเทพ ฯ ก็ไปเยี่ยมเธออีก แต่พบว่าเธอได้สิ้นชีวิตแล้ว สิ่งหนึ่งที่บาทหลวงแปลกใจก็คือ ผู้ป่วยที่อยู่วอร์ดเดียวกับเธอต่างพูดถึงเธอด้วยความชื่นชม พวกเขาเล่าว่าทั้ง ๆ ที่เธอป่วยหนัก แต่ก็ยังลุกมาเยี่ยมเยียนและพูดให้กำลังใจผู้ป่วยทุกคนเป็นประจำ ทุกคนประทับใจในรอยยิ้มและความเอื้อเฟื้อของเธอ พวกเขายังเล่าว่า ตอนที่เธอสิ้นใจนั้น เธอมีอาการสงบมาก ช่างเป็นภาพที่ขัดแย้งกับวันแรกที่บาทหลวงได้พบเธอ

    การมีน้ำใจไมตรีต่อผู้อื่นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์มีเมตตากรุณาเป็นพื้นอยู่แล้วในจิตใจ เมตตากรุณาเป็นส่วนหนึ่งของมโนธรรมที่อยู่ในใจเราทุกคน การทำความดี นึกถึงผู้อื่น เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ช่วยเสริมสร้างมโนธรรมของเราให้เข้มแข็งขึ้น และทำให้มีพลังในการทำความดีมากขึ้น
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    (ต่อ)
    กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความดีนั้นขยายหัวใจของเราให้ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้อัตตาของเราเล็กลง จึงมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับเปิดรับความสุข ในทางตรงข้ามคนที่นึกถึงแต่ตัวเองนั้น หัวใจจะเล็กลง ขณะที่อัตตาใหญ่ขึ้น จึงเหลือที่ว่างน้อยลงสำหรับความสุข คนที่เห็นแก่ตัวจึงสุขยากแต่ทุกข์ง่าย ถ้าอยากเป็นคนสุขง่ายทุกข์ยากก็ควรหมั่นทำความดี
    อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญที่มักขัดขวางไม่ให้เราทำความดี ก็คืออัตตาหรือความเห็นแก่ตัว อัตตานั้นรู้ว่าหากไปรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นเมื่อใดเราจะรู้สึกเป็นทุกข์และอยู่เฉยไม่ได้ ต้องเข้าไปช่วยเหลือเขา ซึ่งหมายถึงการที่ต้องเสียเวลา เสียเงิน หรือเหนื่อยยาก นั่นเป็นเรื่องที่อัตตายอมไม่ได้ เพราะอัตตานั้นอยาก “เอา” แต่ไม่ต้องการ “ให้”

    ดังนั้นอัตตาจึงมักหาอุบายขัดขวางเราไม่ให้ทำเช่นนั้น วิธีการที่มักใช้กันก็คือปิดหูปิดตา เบือนหน้าหนี หรือแกล้งเป็นมองไม่เห็น เช่น ถ้านั่งรถเมล์ก็หันหน้าไปทางหน้าต่าง หรือถ้านั่งรถไฟฟ้าก็แกล้งหลับหรือจดจ้องอยู่กับหนังสือ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปรับรู้ว่ามีเด็ก คนแก่ หรือผู้หญิงท้องกำลังยืนอยู่ใกล้ ๆ ที่นั่งของตน

    ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบเห็นคนเป็นลมหรือฟุบอยู่บนทางเท้าท่ามกลางผู้คนนับร้อย ๆ ที่เดินผ่านไปมาโดยไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือเลย คนเหล่านี้ใช่ว่าจะมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ทันทีที่เห็นก็เบือนหน้าหนีทันที หรือไม่ก็อ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องหยุดช่วย เหตุผลที่มักอ้างกันก็คือ “ถึงฉันไม่ช่วย คนอื่นก็ช่วย” หรือไม่ก็ “ฉันกำลังรีบ มีธุระด่วน”

    นักเขียนผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า คราวหนึ่งระหว่างที่เดินผ่านย่านธุรกิจที่จอแจคับคั่ง กลางเมือง ได้เห็นชายผู้หนึ่งนอนฟุบอยู่กลางทางเท้าใกล้สถานีรถใต้ดิน เนื้อตัวมอมแมมและผอมโทรมคล้ายคนจรจัด อาการเหมือนคนป่วย แต่ทั้ง ๆ ที่มีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมามากมาย แต่ไม่มีใครสนใจเลย เขาจึงหยุดและก้มลงถามชายผู้นั้นว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง ที่น่าสนใจก็คือพอเขาทำเช่นนั้น ก็เริ่มมีคนอื่นหยุดเข้าไปช่วยชายผู้นั้นด้วย จากหนึ่งคน เป็นสองคน สามคน สี่คน ทีนี้ต่างคนต่างก็กุลีกุจอไปหาซื้อน้ำและอาหารให้เขา บางคนก็ไปตามเจ้าหน้าที่สถานีมาช่วย จนกลายเป็น “ไทยมุง”ขึ้นมาทันที

    คนนับร้อยที่เดินผ่านคนป่วยดูเผิน ๆ เหมือนเป็นคนไร้น้ำใจ แต่แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทันทีที่เห็นคนหนึ่งเข้าไปช่วยคนป่วย อีกหลายคนก็หยุดแล้วเข้าไปช่วยทันที คำถามคือทำไมทีแรกคนเหล่านี้เดินผ่าน คำตอบก็คือเพราะเขาปล่อยให้อัตตาครองใจ จึงนึกถึงแต่ตัวเอง หากไม่เบือนหน้าหนีก็ต้องสรรหาเหตุผลเพื่อเป็นข้ออ้างในการนิ่งดูดาย เห็นได้ชัดว่าในใจของคนเหล่านี้มโนธรรมได้พ่ายแพ้แก่อัตตาไปแล้ว

    คำถามต่อมาก็คืออะไรเป็นเหตุให้หลายคนตรงเข้าไปช่วยผู้ป่วยทันทีที่เห็นคนหนึ่งทำเช่นนั้น คำตอบก็คือความรู้สึกผิด หลายคนรู้สึกผิดหากเดินผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย ความรู้สึกผิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากมโนธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทีแรกนั้นมโนธรรมอ่อนแรงเพราะถูกอัตตาบดบัง แต่เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี มโนธรรมก็ถูกกระตุ้นให้กลับมามีพลังจนเอาชนะอัตตา อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำความดีตามผู้อื่นนั้นมีอัตตาเจือปนอยู่ด้วย เพราะยังมีความคิดในเชิงเปรียบเทียบอยู่ว่า“คนอื่นยังช่วย ทำไมฉันไม่ช่วย”

    ในทำนองเดียวกันเวลาสามีตบตีภรรยาอยู่กลางถนน ผู้คนที่เห็นเหตุการณ์นับสิบกลับอยู่นิ่งเฉย ปล่อยให้ผู้หญิงร้องด้วยความเจ็บปวด แต่ทันทีที่มีใครสักคนเข้าไปห้าม อีกหลายคนที่เคยยืนดูอยู่ก็จะเข้าไปช่วยห้ามด้วย คนเหล่านั้นไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ต่อไปหากเห็นใครสักคนกล้าทำสิ่งที่สมควรทำ

    อัตตาพยายามขัดขวางไม่ให้เราทำความดี มันฉลาดในการหาเหตุผลเพื่อสยบมโนธรรม เช่น อ้างว่าใคร ๆ เขาก็เมินเฉยกันทั้งนั้น หรืออ้างว่าเป็นกรรมของสัตว์ กรรมใครกรรมมัน ฯลฯ บางครั้งอัตตาก็เพียงแต่กดมโนธรรมเอาไว้ไม่ให้ทำงาน เคยมีคนถามฆาตกรผู้หนึ่งว่า ทำไมเขาถึงฆ่าคนได้มากมาย ไม่สงสารเห็นใจเหยื่อบ้างหรือ เขาตอบว่า “ผมต้องปิดความรู้สึกส่วนนั้น(ความเห็นอกเห็นใจ)ไว้ก่อน ไม่งั้นผมฆ่าเขาไม่ได้หรอก”

    ชีวิตจิตใจของเราเปรียบเสมือนกับสมรภูมิแห่งการต่อสู้ระหว่างอัตตากับมโนธรรม ธรรมชาติทั้งสองส่วนต่างขับเคี่ยวเพื่อครองใจเรา อะไรจะมีชัยชนะขึ้นอยู่กับว่าเราดำเนินชีวิตอย่างไร หากเราพยายามทำความดี นึกถึงสิ่งดีงาม มโนธรรมก็จะเข้มแข็ง แต่ถ้าเรานึกถึงแต่ตัวเอง ทำเพื่อตัวเองอยู่เสมอ อัตตาก็จะกล้าแกร่ง มิตรสหายหรือชุมชนแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญ การมีชีวิตแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร ย่อมทำให้มโนธรรมเจริญงอกงาม แต่หากอยู่ท่ามกลางผู้คนที่เห็นแก่ตัว หรือหมกมุ่นอยู่กับสื่อที่กระตุ้นความโลภ อัตตาก็จะครอบงำใจได้ง่าย

    น่าเป็นห่วงก็ตรงที่โลกปัจจุบันนั้นล้วนแต่โน้มเอียงไปในทางกระตุ้นอัตตาและทำให้มโนธรรมสงบงัน วัฒนธรรมบริโภคนิยมเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เสริมพลังให้แก่อัตตาอย่างเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลมากหากพูดถึงกันน้อย ก็คือชีวิตที่เร่งรีบ ยิ่งเร่งรีบมากเท่าไร เราก็สนใจคนอื่นน้อยลงเท่านั้น แม้คนนั้นจะทุกข์อยู่ต่อหน้าก็ตาม

    เคยมีการทดลองกับนักศึกษากลุ่มหนึ่ง โดยมีการมอบหมายให้นักศึกษาไปพูดหน้าชั้นเรียนซึ่งอยู่อีกตึกหนึ่ง ระหว่างที่ทุกคนเดินไปยังตึกนั้น ก็จะเจอชายผู้หนึ่งนั่งทรุดอยู่ริมถนน ไอหอบและร้องครวญ สิ่งที่ผู้ทดลองอยากรู้ก็คือ จะมีใครบ้างที่หยุดเดินและเข้าไปช่วยชายผู้นั้น

    ในการทดลองดังกล่าว ก่อนที่นักศึกษาจะเดินไปที่ตึกนั้น ทุกคนได้รับคำสั่งหรือเงื่อนไขต่างกัน เช่น บางคนก็ได้รับการบอกว่า “คุณมีเวลาเหลืออีกไม่กี่นาที ต้องรีบไปแล้วล่ะ” แต่บางคนก็ได้รับการบอกว่ายังมีเวลาเหลืออยู่อีกมาก “แต่ถ้าคุณไปตอนนี้เลยก็ดีเหมือนกัน”

    ผลการทดลองก็คือ ในบรรดานักศึกษาที่เดินจ้ำเพราะอาจารย์บอกว่าสายแล้วนั้น มีเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่เข้าไปช่วย “ผู้ป่วย” ขณะที่นักศึกษาที่ยังพอมีเวลาอยู่นั้น ร้อยละ ๖๓ หยุดเดินและเข้าไปช่วย

    การทดลองดังกล่าวพบว่าปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่านักศึกษาคนใดจะช่วยผู้ป่วยหรือไม่ อยู่ที่ว่าเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเร่งรีบหรือไม่ คนที่ต้องเร่งรีบส่วนใหญ่เดินผ่าน ขณะที่คนซึ่งไม่เร่งรีบกลับเข้าไปช่วย

    ในโลกที่เร่งรีบผู้คนจึงมีน้ำใจกันน้อยลง อย่างไรก็ตามถึงรอบตัวจะเร่งรีบ แต่เราสามารถใช้ชีวิตให้ช้าลงได้ ด้วยการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลงเสียบ้าง หรือทำให้น้อยลง(เช่น เที่ยวห้าง หรือดูโทรทัศน์) ชีวิตที่ช้าลงนอกจากจะทำให้เราเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้น รวมทั้งมีเวลาให้แก่ตนเองมากขึ้น ไม่แปลกแยกหรือขัดแย้งกับตัวเองดังที่มักเกิดขึ้นกับผู้คนเวลานี้
    :- https://visalo.org/article/budVattanadham5405.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    ขอคุยด้วยหน่อย
    สามสลึง
    สมศักดิ์นั่งรออยู่หน้าห้องนานเป็นชั่วโมงกว่าจะได้พบหมอ แต่พอเข้าไปในห้องตรวจ เล่าอาการได้เพียงเล็กน้อย โทรศัพท์ของหมอก็ดัง หมอออกไปรับเสร็จกลับเข้ามา สมศักดิ์ก็ต้องเล่าใหม่ แล้วโทรศัพท์ของหมอก็ดังอีก พอหมอกลับมา สมศักดิ์ก็ต้องเล่าอาการใหม่อีก
    เป็นอย่างนี้ถึงห้าครั้ง ในที่สุดสมศักดิ์ก็เดินออกจากห้องตรวจ
    “คุณจะไปไหน คุณยังเล่าอาการไม่เสร็จเลย” หมอถามด้วยความประหลาดใจ
    “ผมจะออกไปโทรศัพท์มาเล่าอาการให้หมอฟังครับ” สมศักดิ์ตอบ

    มักพูดกันว่าเทคโนโลยีช่วยทำให้มนุษย์ใกล้ชิดกันมากขึ้น ติดต่อกันได้สะดวกฉับไวขึ้น นั่นเป็นความจริงแค่ส่วนเดียว เพราะในอีกด้านหนึ่งมันกลับทำให้เรามีเวลาให้แก่คนรอบตัวเราได้น้อยลง
    ไม่มีใครเถียงว่าโทรทัศน์ โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตเป็นตัวกลางเชื่อมคนที่อยู่ไกลให้เขยิบเข้ามาใกล้กับเราได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน บ่อยครั้งมันกลับเป็นตัวกลางขวางกั้นระหว่างเรากับคนใกล้ตัว จนทำให้ดูเหมือนอยู่ห่างไกลกันมากขึ้น ใช่หรือไม่ว่าขณะที่เราพูดคุยติดต่อกับผู้คนข้ามประเทศหรือข้ามทวีปบ่อยขึ้น เรากลับมีเวลาสนทนากับคนในบ้านน้อยลง

    ขณะที่พ่อง่วนกับการตอบอีเมล์ แม่จ่อมจมอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ลูกชายก็กำลัง “แช็ต” กับเพื่อนต่างชาติทางอินเตอร์เน็ต ส่วนลูกสาวนั้นเพิ่งโทรศัพท์คุยกับเพื่อนได้แค่สองชั่วโมง ทุกคนในครอบครัวมีเวลาให้แก่คนอื่น (ผ่านเทคโนโลยี) แต่กลับไม่มีเวลาให้แก่กันและกัน

    ทุกวันนี้ผู้คนพากันให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่าคนที่อยู่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะคุยเรื่องอะไรกันอยู่ หากเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เป็นต้องพักการคุยไว้ก่อนเพื่อไปรับโทรศัพท์ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่สมศักดิ์ถูกหมอ “ทิ้ง” กลางคัน ถ้าคุณเป็นสมศักดิ์ ก็คงไม่มีทางเลือกอะไรดีไปกว่าโทรศัพท์มาหาหมอแทนที่จะมาพบด้วยตัวเอง
    เคยมีการ์ตูนหนึ่งช่องจบ เป็นภาพสามีกับภรรยากำลังเอกเขนกอยู่บนเตียง เดาออกหรือไม่ว่าทั้งสองกำลังทำอะไรอยู่? คำตอบคือ กำลังโทรศัพท์ทั้งคู่ โทรศัพท์ถึงใคร ? ถูกต้องแล้วคร้าบ! ทั้งคู่กำลังโทรศัพท์คุยกันเอง

    สามีภรรยาคู่นี้ติดโทรศัพท์งอมแงมจนกระทั่งว่าถ้าจะพูดคุยกัน ก็ต้องคุยกันผ่านโทรศัพท์ ทั้ง ๆ ที่นอนอยู่ติด ๆ กัน โชคดีที่เรื่องนี้เป็นแค่จินตนาการ แต่ก็สะท้อนพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันได้ตรงกับความเป็นจริงมิใช่น้อย เพราะทุกวันนี้เราก็มาถึงขั้นเลี้ยงลูกทางโทรศัพท์กันแล้ว

    ความเชื่อว่าโทรศัพท์ทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น มีส่วนไม่น้อยในการทำให้เราพึ่งพาโทรศัพท์อย่างมากจนละเลยการติดต่อสัมพันธ์กันแบบตัวต่อตัว ใคร ๆ ก็คิดว่าถึงแม้จะไม่มีเวลาอยู่ด้วยกัน ก็ยังสามารถโทรศัพท์คุยกันได้ หรือถึงแม้จะไม่มีเวลาดูแลลูก ก็สามารถเลี้ยงลูกทางโทรศัพท์ได้ ความคิดเช่นนี้ทำให้ไม่พยายามที่จะหาเวลาอยู่ด้วยกัน ผลก็คือความสัมพันธ์ก็ยิ่งห่างเหิน จนโทรศัพท์อาจไม่มีความหมายไปเลยในที่สุด ถึงตอนนั้นแม้แต่การหันมาคุยกันตัวต่อตัว ก็อาจไม่ช่วยเลยก็ได้

    ถ้าอยากให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ก็ไม่ควรให้เทคโนโลยีมาเป็นใหญ่ จนไม่มีเวลาให้แก่การติดต่อสนทนากันแบบตัวต่อตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีเวลาให้แก่การสนทนาตัวต่อตัวแล้ว ความสัมพันธ์จะแน่นแฟ้นสนิทสนมโดยอัตโนมัติ สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือ การเปิดใจรับฟังกันและกัน มิใช่เอาแต่พูดให้คนอื่นฟังอย่างเรื่องข้างล่าง

    “เลิกหาวเสียทีได้ไหม ฉันชักรำคาญแล้วนะ” ภรรยาหงุดหงิดกับสามี
    “ผมไม่ได้หาว” สามีชี้แจง
    “ไม่ได้หาว แล้วอ้าปากทำไม ?”
    “ที่อ้าปากก็เพราะรอว่าเมื่อไหร่จะได้พูดสักที ”

    :- https://visalo.org/article/sarakan254804.htm


     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    มงคลสูงสุดของชีวิต
    พระไพศาล วิสาโล
    มงคลสูงสุด ต้องทำเอง
    บทสวดพิเศษที่เราเพิ่งสาธยายไปคือมงคลสูตร เป็นบทสวดที่สำคัญและน่าศึกษา สังเกตว่าทั้ง ๓๘ ประการที่เรียกว่ามงคลอันสูงสุด เป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยตัวเอง โดยปกติเวลาเราพูดถึง “มงคล” เราก็นึกถึงวัตถุมงคล เช่น สายสิญจน์ น้ำมนต์ หรือว่าพระธาตุ อาจจะรวมไปถึงสิ่งแปลกใหม่ที่คิดกันขึ้นมา ที่ผ่านการปลุกเสก เช่น พระเครื่อง หรือว่าป้ายที่อวยพรให้ร่ำรวย อันนี้ก็รวมเรียกว่าวัตถุมงคล คนเราเชื่อว่าถ้าได้วัตถุมงคลเหล่านี้แล้วจะเกิดสิริมงคลกับตัวเอง ก็จริงอยู่ แต่นั่นไม่ใช่มงคลอันสูงสุด ถ้าต้องการมงคลอันสูงสุดไม่มีทางอื่นนอกจากต้องทำเอง และการกระทำที่เป็นความดีนี้แหละที่เป็นมงคลอันสูงสุดที่เงินซื้อไม่ได้แต่ต้องทำเอง ฉะนั้นคนไม่มีเงินก็สามารถจะได้มาซึ่งมงคลอันสูงสุด หากทำดีด้วยกาย ทำด้วยวาจา ทำด้วยใจ

    เริ่มข้อแรกก็คือ “การไม่คบคนพาล” คนพาลคือคนชั่ว ไม่คบในที่นี้หมายความว่าไม่คบค้าสมาคมแต่อาจจะรู้จัก มีธุระปะปังเกี่ยวข้องบ้าง แต่ไม่ไปคลุกคลีสนิทสนมด้วยเพราะว่าอาจจะเสียผู้เสียคน แม้ว่าเรามีเจตนาดีอยากจะช่วยเขาแต่ก็ต้องระมัดระวัง ต้องวางระยะห่าง

    ข้อที่ ๒ คือ “การคบบัณฑิต” บัณฑิตนี้ถือเป็นกัลยาณมิตร อย่างที่เราได้สวดกันมาใน ๒-๓ วันก่อนว่า กัลยาณมิตรนี้ไม่ใช่แค่ครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์อย่างที่พระอานนท์เข้าใจ พระพุทธเจ้าทักท้วงว่าที่จริงแล้ว กัลยาณมิตรคือทั้งหมดของพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการไม่มีคู่ครอง การเป็นโสด การถือศีล ๘ หรือว่าการเป็นนักบวช พรหมจรรย์ในที่นี้หมายถึงการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ ซึ่งมีหลายระดับหลายขั้น ฆราวาสญาติโยมก็สามารถมีชีวิตที่ถือว่าเป็นพรหมจรรย์ได้

    จะเห็นได้ว่ามงคลนี้ทำได้หลายประการ เคยพูดไว้แล้วว่าบุญนี้มี ๑๐ อย่าง ไม่ใช่แค่ทานอย่างเดียว แต่ว่าสามารถแยกย่อยได้ถึง ๑๐ ประการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้เงินและบางอย่างก็เป็นเรื่องของการทำใจเช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างมงคล ๓๘ นี้ก็มีอีกหลายประการเช่น ความเป็นผู้ว่าง่าย ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสันโดษ การรู้จักเคารพ การมีความเพียร เหล่าก็ถือว่าเป็นมงคลอันสูงสุดนะ เป็นบุญด้วยเช่นกัน พวกเราไม่ค่อยรู้จักบุญในความหมายนี้ ยิ่งมงคลด้วยแล้วก็ยิ่งไม่รู้จัก ไม่นึกว่าการกระทำเหล่านี้จะเป็นมงคลด้วย ไม่ใช่แค่มงคลธรรมดานะ แต่เป็นมงคลสูงสุดเลย เพราะจะนำไปสู่ความเจริญ เริ่มต้นจากการไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต ก็จะนำไปสู่การทำความดีอีกหลายประการ สุดท้ายก็มาลงที่จิตใจ คือ มีจิตเกษมศานต์ มีจิตที่ไร้ธุลีกิเลส มีจิตที่ไม่เศร้าโศก เป็นจิตที่แม้โลกธรรมมาแตะต้องแต่ก็ไม่ทำให้หวั่นไหว

    ไม่ทุกข์กับโลกธรรม ๘

    โลกธรรมในที่นี้ก็หมายถึงเหตุการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งที่เป็นบวกและก็เป็นลบ แยกออกมาเป็น ๘ ประการ คือ ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข สุขในที่นี้คือ สุขแบบโลกๆ เรียกว่า โลกียสุข อีก ๔ ประการ คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ทุกข์ในที่นี้รวมถึงความเจ็บป่วย เป็นทุกข์แบบโลกๆ ซึ่งมาคู่กัน โลกธรรมนี้คือสิ่งที่ทำเป็นธรรมดาโลก ผลักดันให้โลกเป็นไป คนทุกคนหนีไม่พ้นโลกธรรม ๘ อิฏฐารมณ์กับอนิฏฐารมณ์ โลกธรรมฝ่ายบวกกับโลกธรรมฝ่ายลบ สองอย่างนี้เป็นของคู่กัน เมื่อได้ลาภแล้วก็หนีไม่พ้นการเสียลาภ ได้เงินมาก็ต้องสูญเสียไป สูญเสียเพราะเงินหาย สูญเสียเพราะเขาเอาไป หรือสูญเสียเมื่อเราต้องละจากโลกนี้ไป ยังไงต้องไปแน่ๆ ยังไงต้องจากเราไปแน่ๆ ถ้ามันไม่จากเราไป เราก็เป็นฝ่ายจากมัน มีแค่นี้แหละ

    ตอนตาย ไม่ว่าสะสมอะไรมาก็หมด ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ ตำแหน่งเอาไปไม่ได้ซักอย่าง อันนี้เป็นธรรมดาโลก แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อสูญเสียสิ่งเหล่านี้แล้วเราจะเป็นทุกข์เสมอไป ถ้าเราปฏิบัติด้วยการทำกิจ ๓๘ ประการนี้ให้ถึงพร้อม แม้โลกธรรมมาแตะต้องหรือเกิดขึ้นกับเรา จิตใจก็ไม่หวั่นไหวอันนี้แปลว่าไม่ทุกข์ ไม่ไหวหวั่นคือ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย แม้ได้มาก็ไม่ได้เพลิดเพลินดีใจ แม้เสียไปก็ไม่ได้เศร้าโศก ฟูมฟาย อย่างที่มีคนเขาเขียนสั้นๆ ว่า
    “ยามรุ่งเราสงบ ยามจบเราพร้อมจาก”

    ยามรุ่งเราก็สงบไม่เห่อเหิม ไม่หลงใหลปลาบปลื้ม เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งก็ต้องสูญเสียหรือว่าร่วงโรย สู่ช่วงขาลง คนที่รู้เท่าทันโลกธรรม สามารถทำใจให้เป็นปกติหรือว่าเป็นสุขได้

    สุขที่เจือทุกข์

    สุขที่ใจเป็นปกติคือสุขแบบเรียบๆ ไม่ใช่สุขแบบหวือหวาเหมือนเวลาเราได้เสพ ได้บริโภค ได้ลาภได้คำชม อันนั้นเป็นความสุขแบบมีรสชาติหวือหวาแต่ก็เจือไปด้วยโทษ เหมือนกับน้ำหวาน กินแล้วอร่อยมีรสชาติ น้ำอัดลมก็เหมือนกัน แต่พอกินไปนานๆ มันก็จะเป็นโทษกับร่างกาย ไม่เหมือนน้ำบริสุทธิ์น้ำฝนน้ำสะอาด มันจืดก็จริงแต่ว่ากินได้ตลอดเวลาเพราะมันเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการจริงๆ ความสุขหวือหวา ความสุขที่เกิดจากการเสพ การบริโภค เราเรียกว่า “กามสุข” มันให้รสชาติกับชีวิตก็จริงแต่ว่ามันก็เจือไปด้วยโทษ ก็คือว่าต้องเหนื่อยในการแสวงหา เหนื่อยในการรักษา ต้องเหนื่อยในการดูแล ต้องรู้สึกกังวลใจเวลามีใครจะมาเอาไป ยิ่งเศรษฐีร่ำรวยก็ยิ่งต้องสร้างบ้านสร้างกำแพงให้แน่นหนา ต้องมีสัญญาณกันขโมย นี่คือสภาพของคนที่ต้องเหนื่อยกับการรักษา ไปไหนก็ต้องมีบอดี้การ์ดคอยคุ้มครอง ไม่ว่าคนรวย คนมีอำนาจ หรือคนมีชื่อเสียงก็เหมือนกัน จะไปไหนก็ไม่สะดวกใจ ไม่มีความสุขไม่เป็นส่วนตัว นี้คือโทษของความดัง โทษของการได้รับโลกธรรมฝ่ายบวก ได้รับคำสรรเสริญ ชื่อเสียง แต่ก็ขาดความเป็นส่วนตัว อย่าง เลดี้ ไดอาน่า คนดัง ไปที่ไหนใครก็รู้จัก ไปที่ไหนใครๆ ก็ต้อนรับ แต่ว่าไม่มีความสุข หรือว่าไม่สุขอย่างที่คิด เพราะว่าถูกพวกปาปารัสซี่ พวกนักกล้องตามล่า พยายามขับรถหนีก็ประสบอุบัติเหตุรถชนในอุโมงค์ตาย ดาราบางคนก็กลุ้มใจว่าข่าวแต่ละวันๆ ในหนังสือพิมพ์มันมีแต่ข่าวไม่ดี ข่าวซุบซิบนินทาเกี่ยวกับตัวเอง ทำไมถึงมีข่าวลบก็เพราะว่ามันขายได้ แล้วทำไมขายได้ก็เพราะว่าเขาเป็นคนดัง เป็นคนดังก็เลยขายข่าวอะไรได้ทั้งนั้นโดยเฉพาะข่าวที่เป็นลบ อันนี้เรียกว่าเป็นสุขที่เจือไปด้วยทุกข์
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    50,881
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,065
    (ต่อ)
    ไม่ว่าร่ำรวยมั่งคั่ง มีชื่อเสียง หรือว่าเด่นดัง มันเป็นสุขที่เจือไปด้วยทุกข์ พวกเราไม่ค่อยรู้จักไม่ค่อยเจอแบบนี้เพราะเราไม่ใช่คนเด่นคนดังไม่ร่ำรวย อยากจะเป็นเหมือนเขาแต่ไม่รู้ว่ามันทุกข์อย่างไรบ้าง แม้แต่พระเองก็มีปัญหา หลวงพ่อพรหมวังโสท่านเป็นฝรั่งลูกศิษย์หลวงพ่อชา ท่านเคยเล่าว่า ตอนที่ท่านเป็นพระลูกวัด ท่านก็อยากเป็นเจ้าอาวาส เห็นว่าเจ้าอาวาสนี้ได้รับสิทธิ์พิเศษหลายอย่าง มีคนถวายอาหารอย่างที่อาตมาได้ทุกเช้า นั่งหัวแถว เวลาฉันอาหารก็ได้อาหารที่ดีก่อน แม้แต่เวลาตักใส่บาตรก็ได้ของดีไปก่อน ก็เลยอยากเป็นเจ้าอาวาสบ้าง แต่พอเป็นเจ้าอาวาส ปรากฏว่าต้องเจอทุกข์นะ มีกิจนิมนต์ต้องไปนู่นมานี่ปฏิเสธไม่ได้ ไปเทศน์ ไปทำบุญเลี้ยงพระก็เจ้าอาวาส ไม่ใช่ของดีนะ เพราะไม่มีเวลาเป็นส่วนตัวหรือมีเวลาเป็นส่วนตัวก็น้อย แล้วท่านก็มาคิดได้ว่าตอนที่เป็นพระลูกวัด ไม่นึกว่าเจ้าอาวาสนี้จะมีความทุกข์ของเจ้าอาวาสเหมือนกัน นึกว่าเจ้าอาวาสมีแต่ความสุขความสบาย นี้คือสิ่งที่เรียกว่า “สุขที่เจือไปด้วยทุกข์” หรือความสบายที่มันเจือไปด้วยความไม่สะดวกสบาย นี่เป็นธรรมชาติของกาม นี่เป็นธรรมชาติของโลกธรรมฝ่ายบวก

    พระพุทธเจ้าเปรียบกามเหมือนกับคบไฟ ถ้าคบไฟนั้นทำด้วยฟางทำด้วยหญ้าแห้ง เวลาจุด มันให้แสงสว่างก็จริงแต่ว่ามันมีควัน แสบตาแสบจมูก แล้วถ้าถือไปนานๆ มันก็จะไหม้มือ เพราะว่าเมื่อไฟมันลามมาถึงมือ ก็จะลวกมือ ทำให้มือพอง เจ็บ ต้องรีบวาง คบไฟแบบนี้ถือไม่ได้นาน นี้คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ควรยินดีในโลกธรรมฝ่ายบวกที่มากระทบ ส่วนโลกธรรมฝ่ายลบนี้ไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่มีใครชอบ แต่ว่าไม่ได้แปลว่าเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราจะทุกข์นะ
    อยู่กับโลก โดยไม่ทุกข์กับโลก

    ถ้าเราปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเรามีสติปัญญารักษาใจ โลกธรรมที่มากระทบไม่ว่าบวกหรือลบ มันก็ไม่ทำให้จิตหวั่นไหว นึกภาพเหมือนกับหยดน้ำที่ตกลงมาถูกใบบัว มันกระทบก็จริงแต่ว่ามันไม่เปื้อนใบบัว นี่คือธรรมชาติของจิตที่ฝึกเอาไว้ดีแล้ว เป็นจิตที่ไร้ธุลีกิเลส แม้แต่โคลนก็ไม่สามารถฉาบใบบัวให้เปื้อนได้

    เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังสนใจว่าใบบัวทำได้ยังไง มันมีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่ทำอย่างนี้ได้สามารถรักษาตัวเองให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น จะเป็นน้ำ จะเป็นโคลน ก็ทำอะไรไม่ได้ ชีวิตของคนเรานี้ก็เหมือนกับใบบัวนะ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส เวลาอยู่กลางแจ้ง เจอแดดก็ย่อมร้อน เจอฝนก็ย่อมเปียกถ้าไม่มีร่ม แต่ถ้ามีร่ม ฝนมาก็ไม่เปียก แดดส่องก็ไม่ร้อน คนที่ปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน คนที่สร้างมงคลอันสูงสุดให้เกิดขึ้นกับตัว จะเป็นผู้ที่อยู่กับโลกได้โดยไม่ทุกข์กับโลก

    คนส่วนใหญ่เมื่ออยู่กับโลกเขาก็ทุกข์กับโลก แต่คนที่ปฏิบัติธรรมหรือศึกษาปฏิบัติดีแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไม่เจอกับเรื่องร้ายๆ จะไม่เจอกับโลกธรรมฝ่ายลบ แม้แต่พระพุทธองค์ยังประสบกับการถูกนินทาว่าร้าย ถูกคนประสงค์ร้ายหลายครั้ง แต่พระองค์ก็ไม่ทุกข์ พวกเราที่ใฝ่บุญ ชอบทําบุญสุนทาน ล้วนคาดหวังว่าจะเจอสิ่งดีๆ ในชีวิต อธิษฐานว่าอย่าให้เจอสิ่งที่ไม่ดี แต่มันเป็นไปไม่ได้นะ ไม่ว่าเราจะทำบุญแค่ไหนก็ต้องเจอสิ่งที่ไม่ดี เจอความพลัดพรากสูญเสีย อย่างน้อยๆ ก็ต้องเจอกับความแก่ ความเจ็บ แล้วสุดท้ายก็ความตาย ในระหว่างนั้นก็ต้องเจอกับคำตำหนิ คำนินทา ต้องเจออะไรอีกหลายอย่างที่เราถือกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ฉะนั้นแม้เราจะทำความดีสร้างบุญสร้างกุศลมา ก็อย่าไปคิดว่าจะไม่เจอกับสิ่งเหล่านี้ และก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นทุกข์เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เมื่อมันเกิดขึ้นเราก็สามารถรักษาใจให้ไม่หวั่นไหวได้ เพราะเรามีธรรมะ เพราะเราฝึกไว้ดีแล้ว

    จะไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง

    ในบทสวดมงคลสูตรตอนสุดท้ายบอกว่า จะไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง จะมีความสวัสดีในที่ทุกสถาน ไม่พ่ายแพ้คือไม่พ่ายแพ้ที่ใจ ในแง่กายอาจจะพ่ายแพ้ต่อความเจ็บป่วย พ่ายแพ้ต่อความแก่ ไม่ว่าจะพยายามดึงหน้าให้ตึง ผ่าตัดเสริมสวยยังไง ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะพยายามรักษาหวงแหนทรัพย์สมบัติยังไง ในที่สุดก็ต้องมีคนแย่งชิงไป มีคนโกงหลอกลวงเอาไป แต่ว่าเมื่อสร้างมงคลเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับตน จิตใจก็จะเจริญงอกงาม เป็นจิตที่ไม่พ่ายแพ้ พบแต่ความสวัสดีในที่ทั้งปวง ถึงว่าแม้ใครจะเอาทรัพย์หรือตำแหน่งไปฉันก็ไม่ทุกข์ร้อน แม้จะเจ็บจะป่วยฉันก็ไม่ทุกข์ร้อน แม้ถึงเวลาจะต้องตายก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน อันนี้ก็เพราะว่ามีธรรมะเป็นเครื่องรักษาใจ

    อันที่จริง ธรรมะก็ช่วยรักษากายด้วยนะแต่คงรักษาไม่ได้ตลอดหรอก เช่นถ้าเราถือศีล ๕ ไม่ไปทำร้ายใคร เขาก็ไม่มาทำร้ายเรา เราไม่กินเหล้าก็ไม่ประสบอุบัติเหตุ ไม่เกิดโรค หรือรู้จักสันโดษ ถือศีล ๘ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องโรคอ้วนไขมันอุดตัน อันนี้เราเอาธรรมะรักษากาย แต่ก็รักษาไม่ได้ตลอดเพราะร่างกายนี้มันก็ต้องแปรเปลี่ยนไป ต้องแก่ ต้องเจ็บ แต่หากมีธรรมะรักษาใจ เมื่อถึงเวลาที่เจ็บป่วย เราก็สามารถยิ้มได้ ใหม่ๆ ก็อาจจะทำใจไม่ได้ แต่พอตั้งหลักได้ ก็มองเห็นว่ามันดีเหมือนกันที่ป่วย

    ธรรมะรักษาใจ ธรรมะรักษากาย

    มีนักศึกษาคนหนึ่งพบว่าตัวเองเป็นลูคีเมีย (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) อายุแค่ ๒๑ ปี ทีแรกทำใจไม่ได้เพราะว่าความตายใกล้เข้ามา แต่ตอนหลังเขาบอกว่ามะเร็งได้นำสิ่งดีๆ มาให้แก่ชีวิตของเขา สิ่งดีๆนั้นได้แก่อะไรบ้าง ๑. ทำให้เขาได้รู้จักพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ๒. ทำให้เขามองเห็นความรักที่บริสุทธิ์ของพ่อแม่ เขาพูดเช่นนี้คงเพราะตอนไม่ป่วยพ่อแม่ลูกห่างเหินกัน ลูกก็ไปเรียนพ่อแม่ก็ทำงาน แต่พอลูกป่วยพ่อแม่ก็มาดูแล ได้สัมผัสใกล้ชิดกับความรักของพ่อแม่ก็ซาบซึ้งใจ ๓. ทำให้เขามีเวลาอ่านหนังสือ และมีเวลาหยุดคิด เขาว่าแต่ก่อนไม่สนใจหนังสือเอาแต่เที่ยวเล่น พอป่วยนอนอยู่โรงพยาบาลก็มีเวลาอ่านหนังสือ ก็ได้รับสิ่งดี ๆ จากหนังสือ

    เขาบอกว่าถ้าเขาไม่เป็นลูคีเมีย เขาก็จะเหมือนกับนักศึกษาทั่วไป นอนหอพัก ตื่นบ่ายสามโมง รอเวลากินเหล้ากับเพื่อน แล้วก็นอน ตื่นขึ้นมาก็ใช้ชีวิตแบบนี้เหมือนเดิม แต่พอป่วยเป็นลูคีเมีย ชีวิตก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ฟังจากที่เขาเล่า เขาไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนกับโรคภัยไข้เจ็บมากเท่าไหร่ นี่ขนาดคนธรรมดาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรมากนะ

    พ่อแม่หลายคนบอกว่ามะเร็งก็ดีเหมือนกัน เมื่อซักเดือนที่แล้ว ไปเปิดงานหาทุนให้เด็กที่เป็นลูคีเมีย ของโรงพยาบาลพระมงกุฏ เด็กเป็นลูคีเมียกันเยอะ มี ๒-๓ ครอบครัวที่บอกว่าลูคีเมียนี่ทำให้ครอบครัวของเขาใกล้ชิดกันมากขึ้น มีความเข้าใจกันมากขึ้น สนิทกันมากขึ้น มันก็แปลกนะสมัยนี้ครอบครัวพ่อแม่ลูกไม่ค่อยสนิทกัน ต่างคนต่างสนใจคนละเรื่องคนละทาง ไม่มีเวลามาพบปะพูดคุยสนิทสนมกัน แต่พอมีใครสักคนป่วยขึ้นมา ก็ได้กลับมาดูแลเอาใจใส่กัน คนที่มีธรรมะก็จะมีมุมมอง เห็นข้อดีของความเจ็บป่วย หลายๆ คนถึงกับบอกว่าโชคดีที่เป็นมะเร็ง บางคนบอกว่าโชคดีที่เป็นเอดส์ เพราะมันทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยน อันนี้หมายถึงคนที่เขาไม่พ่ายแพ้ แม้ว่าร่างกายจะพ่ายแพ้ต่อโรคแต่ว่าจิตใจไม่พ่ายแพ้ เมื่อถึงเวลาที่จะเจ็บจะป่วย หรือใกล้ตาย เขาก็เผชิญความตายได้อย่างสงบ

    เมื่อปีที่แล้วก็มีโยมคนหนึ่งมาขอใช้ชีวิตระยะสุดท้ายที่นี่ เป็นมะเร็งที่ปอด ไม่เคยสูบบุหรี่ เป็นผู้หญิง เขาเคยมาปฏิบัติธรรมตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๒๘ สมัยนั้นอาตมาก็แค่ ๒-๓ พรรษา เขาก็มาเป็นระยะๆ เมื่อเขารู้ว่าเขาเป็นมะเร็ง เขาก็รักษาตามแบบธรรมชาติ แต่เมื่อรู้ว่าไม่ไหวแล้วก็ขอมาตายที่นี่ เขาก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรนะ ถามเขาว่าห่วงอะไรไหมเขาก็ไม่ได้ห่วงอะไร ไม่ว่าจะเป็นแม่หรือว่าหลาน เขาไม่มีสามี แต่เขาห่วงอยู่หน่อยหนึ่งว่าตอนที่เขาจะตาย ไม่รู้ว่าสติที่มีอยู่นี้จะเอาอยู่ไหม จะรับมือกับความตายได้ไหม ใจจะสงบไหม เพราะว่าเวลาใกล้ตายอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่รู้ ความเจ็บความปวดหรือว่าความเสียสติ ความทุรนทุรายอาจจะมารบกวน

    อาตมาจึงถามว่าตอนนี้เรารู้สึกยังไง เขาตอบว่า ตอนนี้สบายไม่มีอะไรต้องกังวล ไม่รู้สึกทุกข์ใจอะไรเลย ก็เลยบอกเขาว่า ถ้าไม่รู้สึกเป็นทุกข์ ถึงเวลาจะตายก็ไม่ต้องกังวลหรอกสติจะเอาอยู่ สติจะช่วยเราได้ ที่เขามาใช้ระยะเวลาสุดท้ายที่นี่เพราะอยากฟังธรรมะ อยากได้ยินเสียงพระสวดมนต์ ได้ยินเสียงหลวงพ่อเทศน์ กุฏิก็อยู่ไม่ไกลจากศาลา ใจก็น้อมไปในทางธรรมะไม่กลัวตาย กลัวแต่เพียงว่าเมื่อถึงเวลาจะตายสติจะรับมือไหวไหม อาตมาแนะให้เขาอยู่กับปัจจุบัน ถ้าอยู่กับปัจจุบันได้ก็พอแล้ว

    อยู่ที่นี่มีน้องสาวดูแลคนเดียว มีพยาบาลมาช่วยบ้าง ความปวดนี้ทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะเธอมีสติใช้สติดูความปวด ไม่ต้องใช้ยาระงับปวด ใช้แค่ออกซิเจนช่วยให้หายใจได้สะดวก วันสุดท้ายตอนเช้าตรู่ เขาก็บอกให้น้องสาวไปตักอาหารในครัว น้องสาวก็ออกไป ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว เขาบอกไม่ต้องห่วง พอพูดได้บ้าง น้องสาวกลับมาก็เห็นพี่สาวนิ่งไป นึกว่าหลับ ปรากฏว่าหมดลมแล้ว ไปอย่างสงบเหมือนกับใบไม้ที่หลุดจากขั้ว เป็นอาการของคนที่พร้อมรับมือกับความตายเพราะเขาได้ปฏิบัติธรรมมา
    คนที่ปฏิบัติธรรมไม่ได้แปลว่าจะไม่ตาย จะไม่เป็นมะเร็ง ไม่เป็นโรคร้าย ไม่อายุสั้น แต่ว่าไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น เขาก็สามารถทำใจสงบได้ แม้โลกธรรมมาแตะต้องจิตก็ไม่หวั่นไหว นี่ขนาดยังเป็นปุถุชนยังไม่ได้เป็นถึงขนาดพระอริยเจ้า ยังสามารถทำเช่นนี้ได้
    เพราะฉะนั้นเรื่องการแสวงหามงคลอันสูงสุดให้กับตนเองเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำกับตนเอง อย่าไปเรียกร้องขอจากใคร อย่าไปหวังพึ่งครูบาอาจารย์ว่าจะให้วัตถุมงคลกับเรา จะให้พรดีๆ กับเรา หรือว่าให้สายสิญจน์ ให้รัดประคดเรา เพื่อให้เรารอดพ้นจากอันตราย มันไม่มีอะไรที่ดีกว่าการทำความดีด้วยตัวเองเพราะนั่นแหละคือมงคลอันสูงสุด
    :- https://visalo.org/article/bud_mongkol.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...