บทความให้กำลังใจ(ฟังด้วยใจ)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เคยเสียแล้ว
    รินใจ
    “ย่ายิ้ม” มีรอยยิ้มประดับใบหน้าเป็นอาจิณสมชื่อ มองจากมาตรฐานของคนสมัยนี้ ชีวิตของย่ายิ้มนับว่าลำบากลำบนอย่างยิ่ง เพราะอยู่บ้านกลางป่าเพียงลำพัง ต้องหุงหาอาหารกินเอง บางทีก็มีแต่หัวกลอยนึ่งมะพร้าวคั่วเป็นอาหารเพราะข้าวสารหมด ไฟฟ้าน้ำประปาไม่ต้องพูดถึง ย่ายิ้มอาศัยตะเกียงน้ำมันมาช้านานแล้ว หมู่บ้านที่อยู่ใกล้สุดนั้นห่างถึง ๘ กม. เส้นทางลงเขาก็ทุรกันดาร อย่าว่าแต่คนเลย แม้รถยนต์ก็ขึ้นลำบาก แต่ทุกวันพระย่ายิ้มจะเดินกะย่องกะแย่งลงมาแต่เช้ามืดเพื่อเข้าวัดรักษาศีล ขากลับจึงแบกข้าวสาร พริก หอม กระเทียมขึ้นเขา ซึ่งมักได้จากความเอื้อเฟื้อของเพื่อนบ้านคราวลูกคราวหลาน

    แม้อายุถึง ๘๓ แต่ย่ายิ้มก็ยังพึ่งตัวเองได้แทบทุกอย่าง โดยใช้น้ำพักน้ำแรงของตน เงินมีความหมายน้อยมากต่อย่ายิ้ม เงินผู้สูงอายุที่ได้รับจากรัฐบาล ๕๐๐ บาททุกเดือน ย่ายิ้มถวายวัดทำบุญหมด ย่ายิ้มเคยพูดว่า “ความเจริญอยู่ที่ไหน มันก็ทุกข์ยากที่นั่น อยู่บนเขานี้ ไม่มีเงินก็ยังอยู่ได้ ไม่เหมือนที่คลองตาล (ตำบลใกล้เคียง) ไม่มีเงินอยู่ไม่ได้เลยหนา ต้องซื้อเอาทุกอย่าง ยิ่งแก่แล้ว ทำนาไม่ไหว ไปอยู่ก็ต้องเดือดร้อนเขา”

    ย่ายิ้มเลือกมาใช้ชีวิตกลางป่าจะได้ไม่เป็นภาระแก่ใคร แต่ถ้าถามว่าย่ายิ้มอยู่อย่างนั้นลำบากไหม รอยยิ้มอย่างคนอารมณ์ดีย่อมเป็นคำตอบอยู่แล้วในตัว แต่หากถามจี้ลงไป ย่ายิ้มก็จะตอบอย่างซื่อ ๆ ไม่ซับซ้อน ด้วยประโยคหนึ่งที่ติดปาก

    นิตยสารค.คน เคยถามย่ายิ้มว่า เดินลงเขาไปวัดไม่เหนื่อยหรือ ทางก็ยากลำบาก ไกลก็ไกล
    “ก็มันเคยเสียแล้วหนา” ย่ายิ้มตอบ
    อยู่คนเดียว มืดค่ำเจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีใครดูแล
    “ก็ไม่เคยเจ็บหรอกหนา ถ้าเป็นอะไร มันก็เคยเสียแล้วหนา”
    บางช่วงย่ายิ้มไม่มีข้าวกินเพราะฝนตกหนักลงมาเอาข้าวสารไม่ได้ ต้องขุดหัวกลอยมากิน อย่างนี้จะอิ่มหรือ
    “ก็มันเคยแล้วหนา”
    หม้อหุงใบเก่าย่ายิ้มใช้นานจนรั่ว จึงต้องตะแคงหุง หุงแบบนี้ไม่ลำบากหรือ
    “ก็มันเคยเสียแล้วหนา”

    “ก็มันเคยเสียแล้วหนา”คงไม่ใช่คาถาที่ย่ายิ้มใช้ปลอบใจตนเอง แต่เกิดจากความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ธรรมดาเพราะคิดเอาหรือเห็นจากชีวิตของคนอื่น แต่เป็นผลจากประสบการณ์ที่ผ่านความยากลำบากมามากจนไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาอีกต่อไป

    ดูเหมือนว่าความยากลำบากไม่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตของย่ายิ้มอย่างไร้ประโยชน์เลย ความยากลำบากทั้งปวงในอดีตได้ทำให้ย่ายิ้มเกิดความคุ้นเคยกับมัน จนไม่รู้สึกว่ามันเป็นความยากลำบากหรือความทุกข์อีกต่อไป จะเรียกว่ามันสร้างภูมิคุ้มกันความทุกข์ให้แก่ย่ายิ้มก็ได้

    คนทุกวันนี้คิดแต่จะหนีความทุกข์ แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด ก็หนีความทุกข์ไม่พ้น อย่าว่าแต่ความทุกข์ใจเลย แม้แต่ความทุกข์กาย เช่น ความยากลำบาก ก็ต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเจอแล้ว ก็มักจะทุกข์ใจตามมาเพราะยอมรับไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการพลัดพรากสูญเสียคนรักสิ่งรัก หรือประสบกับสิ่งที่ไม่สมหวังดั่งใจ เกิดขึ้นเมื่อใด ก็อดไม่ได้ที่จะตีโพยตีพาย ร่ำไรรำพัน นั่นก็เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ต่างจากคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ เพราะขาดภูมิคุ้มกันโรคเหล่านั้น

    ภูมิคุ้มกันโรคจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อร่างกายเคยสัมผัสกับเชื้อโรคดังกล่าวฉันใด ภูมิคุ้มกันความทุกข์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชีวิตเคยประสบกับความทุกข์มาก่อนฉันนั้น แต่อาจไม่ใช่แค่ครั้งเดียวเหมือนภูมิคุ้มกันโรค หากต้องเจอหลาย ๆ ครั้ง (เพราะใจมักจะขี้หลงขี้ลืม) ดังนั้นการประสบกับความทุกข์หรือความยากลำบาก จึงมิใช่เรื่องเลวร้ายอย่างเดียว แต่ก็ให้ประโยชน์แก่เราด้วย ในทางตรงข้ามการหลีกหนีความทุกข์อยู่เสมอ แม้จะทำได้สำเร็จก็มีโทษแฝงอยู่ เพราะทำให้เราขาดภูมิคุ้มกันความทุกข์ เมื่อใดที่หนีความทุกข์ไม่สำเร็จ ก็จะกลัดกลุ้มหรือเศร้าโศกทันที

    แต่จะกลัดกลุ้มเพียงใด ก็อย่าลืมว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์แก่เราเสมอ หากมองเห็นประโยชน์แล้วใช้ให้เป็น ก็ถือว่า “กำไร” แต่ถ้ามองไม่เห็น ก็ “ขาดทุน”สถานเดียว คือทุกข์ใจโดยไม่ได้อะไรเลย

    ความทุกข์ยากลำบากที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต นอกจากจะช่วยให้เราคุ้นเคยกับความทุกข์จนไม่หวั่นไหวกับมันแล้ว ยังทำให้เรามีกำลังใจที่จะก้าวข้ามความทุกข์ใหม่ ๆ ที่พลัดเข้ามา ในยามที่คร่ำครวญหรือเจ็บปวดเพราะความทุกข์เหล่านั้น หากเราย้อนรำลึกถึงวันเก่า ๆ ที่เราเคยผ่านพ้นความทุกข์แบบนั้นมาได้ ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าในที่สุดเราก็จะผ่านพ้นมาได้อีก เราอาจไม่ถึงกับรู้สึกเหมือนย่ายิ้มว่า “ก็มันเคยเสียแล้ว” แต่อย่างน้อยก็สามารถพูดกับตนเองได้ว่า “ก็เคยผ่านมาแล้ว” ดังนั้นครั้งนี้ก็จะผ่านได้เช่นกัน

    อย่าปล่อยให้ความทุกข์ผ่านเข้ามาในชีวิตเราอย่างไร้ประโยชน์ ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า “ป่วยทุกที ก็ฉลาดทุกที” นั่นคือเมื่อล้มป่วย ก็อย่ามัวแต่ร่ำไรคร่ำครวญ ควรมองว่าความเจ็บป่วยกำลังสอนธรรมแก่เราในเรื่องความผันผวนปรวนแปรของชีวิต ไม่มีอะไรแน่นอน เมื่อวานยังปกติดี แต่วันนี้กลับป่วยเสียแล้ว ความเจ็บป่วยยังสอนเราว่า ร่างกายนี้ไม่อยู่ในอำนาจของเราเลย จะสั่งให้มันไม่ป่วย มันก็ไม่ยอม ดังนั้นจะเรียกว่ามันเป็นของเราได้อย่างไร มองให้ดี ความเจ็บป่วยยังเตือนใจเราไม่ให้ประมาท ในเมื่ออะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน ในขณะที่ยังมีเวลาหรือเรี่ยวแรงอยู่ ก็ควรเร่งทำสิ่งสำคัญหรือสิ่งที่สมควรทำให้แล้วเสร็จ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะหากผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็อาจไม่มีโอกาสทำสิ่งเหล่านั้น

    เงินหาย อกหัก งานล้มเหลว มองให้ดีก็มีประโยชน์ทั้งนั้น อย่างน้อยมันก็สอนให้เรารู้ว่าความไม่สมหวังเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่เราสามารถควบคุมให้เป็นไปดั่งใจเสียหมด มันยังเป็นเสมือนการบ้านที่ฝึกใจเราให้รู้จักปล่อยวาง เพราะถ้ายังยึดติดถือมั่น ก็จะทุกข์สองสถาน คือไม่ใช่หายแต่เงิน แต่ใจก็หายด้วย ไม่ใช่เสียแต่คนรัก แต่ยังสูญเสียชีวิตที่ปกติสุข เพราะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่เป็นอันทำอะไร ไม่ใช่เสียแต่งาน แต่ใจก็เสียด้วย รวมไปถึงสูญเสียความมั่นใจในตนเอง แต่ถ้ามองให้เป็น ความล้มเหลวก็ทำให้เกิดความกล้ามากขึ้น

    นักธุรกิจคนหนึ่งเล่าว่าเขาเคยกลัวความล้มเหลวมาก ไม่กล้าลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ แต่ต่อมาเขาเปลี่ยนใจ ยอมลงทุนในธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย แล้วสิ่งที่เขาหวาดกลัวก็เกิดขึ้น นั่นคือธุรกิจล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นสิ่งดีสำหรับเขาเพราะได้พบว่าเมื่อความล้มเหลวเกิดขึ้น ฟ้าก็ยังไม่ถล่ม โลกก็ยังไม่ทลาย มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เขาคิด นับแต่นั้นเขาก็เลิกกลัวความล้มเหลว และกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งในที่สุดได้นำความสำเร็จมาสู่ชีวิตของเขา

    ความยากลำบากและความไม่สมหวังนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น ถ้ามองว่ามันเป็นปัญหา ก็จะทุกข์ใจได้ง่าย อย่าว่าแต่เรื่องใหญ่ ๆ เลย แม้แต่สิวฝ้า รอยเหี่ยวย่น ผมหงอก ถ้ามองว่าเป็นปัญหา ก็สามารถทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ขาดความมั่นใจในตนเอง แต่หากเห็นว่ามันเป็นธรรมดา ถึงแม้จะทุกข์ยากลำบากอย่างย่ายิ้ม ก็ยังสามารถยิ้มได้อย่างอารมณ์ดี

    อะไรที่เป็นธรรมดาไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องทำอะไรกับมัน เจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาก็จริง แต่ก็สมควรเยียวยารักษา และหาทางป้องกันตามสมควร แต่ถึงจะเยียวยาไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ผล อย่างน้อยใจก็ไม่เป็นทุกข์ มีแต่กายเท่านั้นที่ทุกข์ พูดอีกอย่าง ถึงจะป่วยกาย แต่ใจไม่ป่วย ในทำนองเดียวกันแม้จะเจอความยากลำบาก มีแต่กายเท่านั้นที่ลำบาก ส่วนใจกลับสุขสบาย
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255404.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เปิดใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อแสงเงินแสงทองทาทาบฟ้า พระออกบิณฑบาตได้พักใหญ่แล้ว อาจารย์จึงชวนศิษย์นับสิบเดินจงกรมรับอรุณ อาจารย์แนะให้ทุกคนเดินแต่ละก้าวอย่างมีสติ ปล่อยวางความคิดนึกต่าง ๆ ไม่ว่ามีอะไรมากระทบตา หู จมูก หรือกาย ก็สักแต่ว่ารู้ ไม่ปรุงแต่ง หากใจกระเพื่อม ยินดียินร้าย ก็ให้รู้ทัน ไม่หลุดลอยจากปัจจุบัน รับรู้แต่ละก้าวที่เดิน

    สองข้างทางเป็นทุ่งหญ้าสลับไร่มันสำปะหลัง จิ้งหรีด จักจั่น ส่งเสียงระงมไม่ขาดสาย มีเสียงนกร้องเป็นระยะ ๆ ขณะที่ลมเย็นพัดมาเบา ๆ บรรยากาศน่ารื่นรมย์ เมื่อเดินจงกรมเสร็จ อาจารย์ถามศิษย์ว่าระหว่างที่เดินจงกรม มีใครได้ยินเสียงจิ้งหรีดจักจั่นบ้าง มากกว่าครึ่งตอบว่าไม่ได้ยินเลย ทั้ง ๆ ที่เดินเกือบชั่วโมง เมื่อถามถึงสาเหตุ ทุกคนตอบว่า คิดตลอดทาง บางคนเป็นห่วงบ้าน บางคนนึกถึงงานที่คั่งค้างอยู่


    แม้เราฟังด้วยหู แต่จะได้ยินก็ต้องอาศัยใจด้วย หากใจมัวหมกมุ่นครุ่นคิด ก็อาจไม่ได้ยินสรรพสำเนียงรอบตัว หนึ่งในนั้นอาจเป็นเสียงที่ไพเราะจรรโลงใจ เราเคยคิดหรือไม่ว่าในแต่ละวันเสียงไพเราะเพราะพริ้งที่ผ่านหูเราแล้วเลยออกไปโดยไม่สัมผัสใจเรามีมากมายเพียงใด

    เช้าวันหนึ่งที่สถานีรถไฟใต้ดินกรุงวอชิงตันเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว มีชายผู้หนึ่งสีไวโอลินบรรเลงเพลงคลาสสิคประมาณ ๔๕ นาที ภาพนี้เป็นภาพที่คุ้นตาของผู้คนที่นั่น เพราะมีวณิพกมาเล่นดนตรีเป็นประจำ ผ่านไป ๔ นาทีจึงมีผู้หญิงคนหนึ่งโยนเงินใส่หมวกของเขาที่วางอยู่บนพื้น แต่ก็ไม่ได้หยุดฟัง อีก ๖ นาทีต่อมามีเด็ก ๓ ขวบคนหนึ่งหยุดฟัง แต่ถูกแม่ดึงออกไป หลังจากนั้นมีเด็กอีกหลายคนสนใจฟัง แต่ก็ถูกผู้ปกครองลากตัวออกไปเพื่อขึ้นรถใต้ดินให้ทัน เมื่อเขาสีไวโอลินจบ มีคนเดินผ่านเขามากกว่า ๑,๐๐๐ คน แต่มีเพียง ๗ คนเท่านั้นที่หยุดฟังเพลง กระนั้นก็สนใจแค่ประเดี๋ยวประด๋าว มี ๒๗ คนที่ให้เงินเขาแต่ก็ยังเดินต่อไป เช้าวันนั้นเขาได้เงินทั้งหมด ๓๒ ดอลลาร์ ไม่มีใครสังเกตว่าเขาหยุดบรรเลงเพลงเมื่อใด ไม่มีเสียงปรบมือ เพราะไม่มีใครสนใจเขาเลย

    ไม่มีใครสังเกตว่าวณิพกผู้นั้นคือ โจชัว เบลล์ (Joshua Bell) นักดนตรีชื่อก้องโลก เขาบรรเลงเพลงของบ๊าคซึ่งได้รับการยกย่องว่าไพเราะลุ่มลึกอย่างยิ่ง ไวโอลินที่เขาใช้มีราคาสูงเกือบ ๔ ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านั้นแค่ ๒ วันเขาเปิดการแสดงสดที่บอสตัน บัตรราคาเฉลี่ย ๑๐๐ เหรียญขายหมดเกลี้ยง

    การทดลองดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นโดยหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ชี้ให้เห็นว่า อย่าว่าแต่เสียงธรรมชาติที่คุ้นหูเลย แม้แต่เสียงเพลงอันไพเราะจากนักดนตรีระดับโลก ผู้คนจำนวนมากก็ไม่ได้ยิน หรือได้ยินแค่เสียง แต่ใจไม่สามารถสัมผัสรับรู้ถึงความเพราะพริ้งได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ เป็นเพราะทุกคนต่างเร่งรีบ ในใจมัวครุ่นคิดอยู่กับการเดินทาง หรือไม่ก็กังวลกับเรื่องงาน จึงปิดรับสุนทรียรสที่ปรากฏต่อหน้า (น่าสังเกตว่าเด็กหลายคนกลับรู้สึกว่าเพลงของเขาไพเราะจนหยุดฟัง นั่นคงเป็นเพราะเด็กเหล่านั้นใจไม่ “วุ่น” เหมือนผู้ใหญ่)

    มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรามากมายในแต่ละวัน แต่บ่อยครั้งเรากลับปิดใจไม่รับรู้สิ่งเหล่านั้น เพราะวุ่นอยู่กับเรื่องราวในอดีตหรือกังวลกับอนาคต หลายคนมุ่งมั่นแต่จะไปให้ถึงจุดหมายข้างหน้า จนลืมมองว่ารอบตัวนั้นงดงามเพียงใด

    ประมวล เพ็งจันทร์ ซึ่งเคยเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุยบ้านเกิดโดยไม่พกเงินแม้แต่บาทเดียว เล่าว่าคราวหนึ่งได้เดินขึ้นดอยอินทนนท์ วันนั้นรู้สึกเหนื่อยมาก ใกล้จะถึงยอดดอยก็หมดแรง หายใจแทบไม่ออก รู้สึกราวกับจะขาดใจตาย จึงนอนแผ่แน่นิ่ง กระทั่งมีคนเห็นและรับขึ้นรถไปถึงยอดดอย

    เมื่อได้พักผ่อนเต็มที่ เรี่ยวแรงกลับมา เขาก็เดินลงมาอย่างช้า ๆ ตอนนี้เองที่เพิ่งสังเกตว่าทัศนียภาพตลอดเส้นทางงดงามมาก เขาหยุดเป็นพัก ๆ เพื่อชื่นชมธรรมชาติรอบตัวและทิวทัศน์อันกว้างไกล จิตใจเบิกบานเป็นอย่างยิ่ง จนอดรำพึงในใจไม่ได้ว่า “มหัศจรรย์”

    แล้วเขาก็ฉุกคิดขึ้นมาว่าเหตุใดตอนขาขึ้นจึงไม่เห็นความงดงามเหล่านี้เลย นั่นเป็นเพราะจิตใจตอนนั้นคิดถึงแต่ยอดดอยอันเป็นจุดหมายปลายทางที่จะต้องไปให้ถึง

    ความคิดนั้นเมื่อครอบงำจิตเมื่อใด ก็สามารถปิดกั้นใจไม่ให้รับรู้ความงามได้ ใครที่จมอยู่กับความคิด จึงไม่ได้ยินเสียงอันไพเราะ มองไม่เห็นธรรมชาติอันรื่นรมย์ จะว่าไปแล้ว ไม่แต่ความงามเท่านั้น ความจริงก็อาจถูกปิดกั้นเพราะความคิดด้วยเช่นกัน

    วันหนึ่งขณะที่ “อ้วน”กับเพื่อนขึ้นสะพานคนเดินย่านวงเวียนใหญ่ เธอสังเกตเห็นธนบัตร ๑,๐๐๐ บาท ๓ ใบตกอยู่บนพื้น จึงชี้ให้เพื่อนดู แต่แทนที่เธอจะเดินไปหยิบ กลับพูดว่า “แบ๊งค์ปลอมแหง ๆ ไม่งั้นก็ต้องมีคนหยิบไปแล้ว” เพื่อนจึงเป็นฝ่ายเดินไปหยิบเอง ปรากฏว่าเป็นธนบัตรจริง เธอจึงรู้สึกเสียดายที่ปล่อยให้โชคหลุดมือไป แต่เพื่อนยังใจดีแบ่งให้เธอ ๑,๐๐๐ บาท

    ธนบัตรจริงตกอยู่ต่อหน้าต่อตา แต่อ้วนกลับมองเห็นเป็นแบ็งค์ปลอม เพราะติดยึดกับความคิดที่ว่าไม่มีใครปล่อยให้ของจริงหลุดมือไป ความคิดนี้แม้จะดูมีเหตุผล แต่ก็เป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ไม่มีคนหยิบธนบัตรไปก็เพราะมองไม่เห็นเนื่องจากใจลอย หรือไม่ก็คิดแบบเดียวกับเธอ ความคิด เหตุผล กับความจริงนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ถ้าติดยึดกับความคิดหรือเหตุผลมากไป ก็อาจมองไม่เห็นความจริง หรือปฏิเสธหัวชนฝา

    ความคิดใดก็ตาม หากเรายอมให้มันครองใจ มันก็ดูเหมือนจะมีชีวิตของมันเอง มันพยายามทุกอย่างเพื่อปกป้องตัวเอง แม้ความจริงปรากฏต่อหน้าต่อตา แต่ถ้าสวนทางกับความคิดนั้น มันสามารถสรรหาเหตุผลร้อยแปดหรือใช้อุบายนานัปการเพื่อไม่ให้เรายอมรับความจริงนั้น (เช่น ทำให้ความจริงนั้นไม่น่าเชื่อถือ) เพราะถ้าเรายอมรับความจริงดังกล่าว ความคิดนั้น ๆ ก็อยู่ไม่ได้

    เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนมากมายที่ไม่เชื่อว่าโลกกลม คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในป่าอเมซอนหรือเกาะนิวกีนี แต่อยู่ในประเทศที่เจริญอย่างยุโรปและอเมริกา ในประเทศอังกฤษมีคนตั้ง “สมาคมโลกแบน” เพื่อยืนยันความคิดนี้ โดยมีสมาชิกไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ คน ผู้ก่อตั้งสมาคมนี้ปักใจเชื่อว่าโลกแบนเพราะมั่นใจว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกเช่นนั้น ดังนั้นจึงไม่ยอมรับหลักฐานทุกอย่างที่ชี้ว่าโลกกลม แม้แต่ภาพถ่ายจากยานอวกาศที่ชี้ชัดว่าโลกกลม ก็ไม่ทำให้เขาเปลี่ยนใจได้ เขาให้เหตุผลว่า “ภาพแบบนี้สามารถหลอกตาคนดูที่ไม่มีความรู้ได้”

    ความคิดไม่เพียงปิดกั้นความงามและความจริงเท่านั้น หากยังสามารถปิดกั้นความสุขได้ด้วย ความสุขมิใช่เป็นสิ่งที่อยู่ไกลตัว หากมีอยู่รอบตัว อีกทั้งมีอยู่กับตัวเราตลอดเวลา คนเป็นอันมากไม่มีความสุขก็เพราะใจไม่เปิดรับความสุขหรือมองไม่เห็นความสุขดังกล่าว การมีสุขภาพดีจัดว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงความสุขดังกล่าวเพราะใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นที่ไกลตัว เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ตราบใดที่ยังไม่ได้สิ่งเหล่านั้นมาก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ แต่เมื่อใดก็ตามที่ป่วยหนัก จะรู้เลยว่าสุขภาพนั้นเป็นความสุขที่มีค่ากว่าสิ่งเหล่านั้นเสียอีก ในทำนองเดียวกัน การมีคนรักหรือผู้มีพระคุณอยู่ใกล้ตัวก็จัดว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่ผู้คนมักมองไม่เห็นเพราะใจมัวครุ่นคิดกับการไขว่คว้าล่าฝันหรือจมปลักอยู่กับวันวาน

    แม้บางครั้งชีวิตจะลำบากยากเข็ญ แต่ทุกวันก็ยังมีความสุขให้เราสัมผัสได้รอบตัว อยู่ที่ว่าเราจะเปิดใจรับหรือไม่ ถ้าไม่จ่อมจมกับความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ก็มีโอกาสเบิกบานและเป็นสุขได้ไม่ยาก ประมวล เพ็งจันทร์ได้เล่าถึงความประทับใจตอนหนึ่งระหว่างจาริกในอินเดีย ตอนนั้นเขาตั้งใจจะเดินเท้าจากสารนาถไปกรุงพาราณสีซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๑๔ กม. เดินได้สักพักก็มีสามล้อถีบขับตาม พยายามรบเร้าให้เขาขึ้นนั่ง เขาปฏิเสธอยู่นาน แต่ตอนหลังทนการรบเร้าของสามล้อไม่ได้ จึงยอมใช้บริการ ระหว่างทางสามล้อเล่าว่าเขาหาเงินไม่ได้มา ๓ วันแล้ว วันนี้ถ้ายังหาเงินไม่ได้อีก เขาไม่รู้จะกลับบ้านอย่างไร เพราะไม่มีเงินซื้ออาหารลูกทั้ง ๓ คน ฟังแล้วน่าสงสารมาก

    วันนั้นอากาศร้อนมาก แดดแรง ระยะทางก็ไกล เขาถีบสามล้อจนเหงื่อโทรมกาย เห็นแล้วยิ่งน่าเห็นใจ แต่มีช่วงหนึ่งที่ลมเย็นพัดผ่านมา ทันใดนั้นเขาก็กางมือออกแล้วชูขึ้น พร้อมกับกล่าวคำขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานความเย็นมาให้ แม้จะเห็นเขาแต่ด้านหลัง แต่ประมวลรู้สึกได้ทันทีว่าเขามีความสุขมาก

    น่าคิดว่าหากสามล้อผู้นี้ครุ่นคิดถึงเคราะห์กรรมและความยากลำบากของตน เขาคงไม่รับรู้ถึงลมเย็นที่มาปะทะ และคงปล่อยให้โอกาสแห่งความสุขผ่านเลยไป แม้ว่าความสุขดังกล่าวจะดูเหมือนเล็กน้อย แต่ก็สามารถชูใจให้เบิกบานและมีกำลังได้ ที่สำคัญก็คือความสุขแบบนี้หาง่ายและเกิดขึ้นได้ทุกเวลา สามล้อผู้นี้ไม่ยอมปล่อยใจจมปลักแห่งความทุกข์ จึงสามารถเก็บเกี่ยวความสุขที่วิ่งเข้ามาหาได้ตลอดเวลา ใช่หรือไม่ว่านี้คือกำไรชีวิตที่ผู้คนส่วนใหญ่ละเลยไป

    การเปิดใจรับความเป็นจริงที่ปรากฏต่อหน้า มิใช่อะไรอื่น หากคือการเชื้อเชิญ ความสุข ตลอดจนความงาม และความจริงให้มานั่งในใจเรา จริงอยู่บางครั้งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมิใช่สิ่งที่น่ารื่นรมย์ เป็นความพลัดพรากสูญเสียอันไม่พึงประสงค์ แต่การปฏิเสธ ขัดขืน ต่อต้านมัน กลับจะทำให้เราทุกข์มากขึ้น คนที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เขาไม่ได้ทุกข์กายเท่านั้นแต่ยังทุกข์ใจด้วย ตรงกันข้ามกับคนที่ยอมรับโรคดังกล่าว มีแต่กายเท่านั้นที่ป่วย แต่ใจไม่ป่วยด้วย ใจที่ไม่ป่วยนี้แหละที่สามารถชื่นชมความสุขที่มีอยู่รอบตัวได้

    กนกวรรณ ศิลป์สุข เป็นโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิด ร่างกายจึงอ่อนแอมาก หมอเคยคาดการณ์ว่าเธอจะมีอายุไม่ถึง ๒๐ปี แต่ปัจจุบันเธอมีอายุเกือบ ๓๐ ปีแล้ว แม้ว่าจะมีโรคภัยนานาชนิดรุมเร้า แต่เธอก็มิใช่คนอมทุกข์ ความที่เธอยอมรับความจริงได้ ไม่ก่นด่าชะตากรรม ใจของเธอจึงเปิดกว้าง สามารถสัมผัสความสุขได้รอบตัว เธอเคยพูดว่า “เลือดเราอาจจะจาง จะแย่หน่อย แต่เราก็ยังมีตาเอาไว้มองสิ่งที่สวย ๆ มีจมูกไว้ดมกลิ่นหอม ๆ มีปากไว้กินอาหารอร่อย ๆ แล้วก็มีร่างกายที่ยังพอทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะมีความสุข”

    การเปิดใจรับความเป็นจริงที่อยู่ต่อหน้า คือการอยู่กับปัจจุบัน รับรู้ถึงความสดใหม่ในแต่ละขณะ ไม่จมอยู่ในโลกของความคิด อีกทั้งไม่อาลัยในอดีตหรือกังวลกับอนาคต การเปิดใจรับความเป็นจริงยังหมายถึงการรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยไม่ปล่อยให้อคติหรือความพอใจ-ไม่พอใจเข้ามาครอบงำ เมื่อรับรู้สิ่งใด ก็รับรู้อย่างมีสติ ไม่ปล่อยให้ความชอบความชังขึ้นมาเป็นใหญ่ อีกทั้งไม่มีความคิดล่วงหน้าหรือความคาดหวังมาขวางกั้นสิ่งที่ได้รับรู้

    การเปิดใจให้ว่าง พร้อมรับความเป็นจริงทุกขณะ มิได้มีคุณค่าต่อชีวิตที่ผาสุกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ราบรื่นด้วย ใช่หรือไม่ว่าความสัมพันธ์ของผู้คนร้าวฉานก็เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ฟังกัน หรือถึงจะฟังแต่ก็ไม่ได้ยิน เพราะในใจนั้นเต็มไปด้วยอคติหรือความคิดล่วงหน้า แต่เมื่อใดที่ต่างฝ่ายเปิดใจฟังกันมากขึ้น ก็จะพบว่าอีกฝ่ายไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตัวเองคิด

    ในการอบรมคราวหนึ่ง น.พ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ได้ชวนคู่ขัดแย้งคือหมอฟันกับผู้ช่วยมาคุยกัน โดยมีกติกาว่าเมื่อคนหนึ่งพูด อีกฝ่ายเป็นผู้ฟังอย่างเดียว ห้ามพูดแทรก และเมื่อพูดจบแล้ว ให้ผู้ฟังพูดทวนความว่าได้ยินอีกฝ่ายพูดอะไรบ้าง หากทวนความไม่ถูกต้อง ก็จะต้องพูดใหม่ จนกว่าผู้พูดจะพอใจ

    ผู้ช่วยเป็นฝ่ายพูดก่อน เมื่อพูดจบ หมอฟันก็ทบทวนสิ่งที่ผู้ช่วยพูดได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อถึงคราวที่หมอฟันเป็นฝ่ายพูดบ้าง ผู้ช่วยไม่สามารถทวนความได้ถูกต้อง หมอฟันต้องพูดซ้ำเป็นครั้งที่สอง แต่ผู้ช่วยก็ยังทวนความไม่ถูกอยู่ดี จนกระทั่งหมอฟันพูดครั้งที่สาม ผู้ช่วยจึงสามารถเล่าได้ถูกต้องว่าหมอฟันพูดอะไรบ้าง

    อะไรทำให้ผู้ช่วยไม่สามารถทวนความได้อย่างถูกต้อง เขาอธิบายในภายหลังว่าตอนที่ฟังหมอฟันพูดนั้น ในใจเขาคิดแต่จะเถียงหมอฟันอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ได้ยินว่าหมอฟันพูดอะไร ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าเมื่อได้ฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริงแล้ว ก็เข้าใจและเห็นใจกันมากขึ้น หมอฟันถึงกับพูดว่าถ้าตนเองเป็นผู้ช่วยหมอฟันก็อาจจะทำและคิดแบบเดียวกับผู้ช่วยที่เป็นคู่กรณีก็ได้

    เรามองด้วยตา ฟังด้วยหู แต่อย่าลืมว่าเรารับรู้ด้วยใจ ถ้าใจไม่เปิด เราก็จะได้ยินและเห็นตามการปรุงแต่งของความคิดและอคติ ซึ่งสามารถกักขังเราให้ติดอยู่ในความทุกข์และความหลงได้ยาวนาน
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255212.htm

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    คืนสู่สามัญ
    รินใจ
    ๔๐ ปีที่แล้วมนุษย์คนแรกได้ไปเหยียบดวงจันทร์ โดยมีผู้คนหลายร้อยล้านทั่วโลกร่วมเป็นประจักษ์พยานทางจอโทรทัศน์ หลังจากนั้นมีอีก ๕ คณะที่ลงไปเดินบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ต่างร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่มนุษยชาติ แต่เมื่อถึงปี ๒๕๑๕ การส่งคนไปสำรวจดวงจันทร์ได้ยุติ นั่นหมายความว่าตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๒ แสนปีที่มีมนุษย์ยุคใหม่เกิดขึ้นในโลก มีเพียง ๒๔ คนเท่านั้นที่เคยเดินทางไปยังดวงจันทร์ และมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เท้าได้สัมผัสพื้นดวงจันทร์

    ทั้ง ๒๔ คนนั้นได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ (อย่างน้อยก็ของชาวอเมริกัน) เป็นที่รู้จักทั่วทั้งโลก และแน่นอนว่าได้รับจากจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ แต่ก็เช่นเดียวกับดวงจันทร์ที่คนบนพื้นโลกมีโอกาสได้เห็นเพียงด้านเดียวเท่านั้น เรื่องราวของนักบินอวกาศกลุ่มนี้อยู่ในสายตาของคนทั้งโลกก็เฉพาะตอนที่พวกเขาเดินทางไปยังดวงจันทร์แล้วกลับมายังโลกได้สำเร็จ แต่ชีวิตของพวกเขาหลังจากนั้นแทบไม่มีใครรับรู้ ราวกับซ่อนอยู่ในด้านมืดของดวงจันทร์


    นักบินอวกาศเกือบทุกคนพบว่า ส่วนที่ยากที่สุดในชีวิตมิใช่การเสี่ยงอันตรายไปยังดวงจันทร์ แต่กลับเป็นตอนที่กลับมายังโลกแล้ว ชีวิตหลังกลับจากดวงจันทร์นั้นเป็นส่วนที่ปรับตัวได้ยากที่สุด ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาได้กลายเป็นคนเด่นคนดังที่ใคร ๆ ก็รู้จัก แต่เป็นเพราะว่าหลังจากที่ฉลองความสำเร็จ ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ ได้รับเชิญไปออกโทรทัศน์ และโด่งดังไปพักใหญ่ พวกเขาก็กลับมาเป็นคนธรรมดา ที่ไม่ได้รับความสนใจอีกต่อไป

    ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา นี้เป็นความจริงที่แสนธรรมดา แต่การทำใจยอมรับความจริงนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นจุดเด่นในงานเลี้ยง เจมส์ โลเวลล์ (James Lovell) ผู้บัญชาการยานอพอลโล ๑๓ (ซึ่งมีชื่อเสียงจากภารกิจที่ล้มเหลวในการเหยียบดวงจันทร์แต่พาทุกคนกลับมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย) ถอดประสบการณ์ของตัวเองมาพูดเมื่อเขาแนะเพื่อนคนหนึ่งซึ่งได้รับความชื่นชมอย่างล้นหลามจากงานเขียนของเขาว่า “จำไว้นะว่าคุณยืนอยู่ตรงไหนเมื่อสปอตไลท์ดับ เพราะ(หลังจากนั้น)คุณต้องหาทางลงจากเวทีเอาเอง”

    เจมส์ โลเวลล์ก็เช่นเดียวกับเพื่อนในกลุ่ม ที่พบว่า ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับแสงสีบนเวที จู่ ๆ สปอตไลท์ก็ดับอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว กว่าจะคลำเจอทางลงจากเวทีได้ก็ใช้เวลานาน และใช้เวลานานกว่านั้นกว่าจะทำใจได้ว่า เวลาอันแสนสั้นบนเวทีนั้นจบลงแล้ว แต่ถ้าใครยังหลงใหลความเย้ายวนของแสงสีบนเวที เขาก็ต้องจมอยู่กับความเศร้าสร้อยสถานเดียว

    อย่างไรก็ตามความโด่งดังเพียงชั่วครู่ ยังไม่เป็นปัญหามากเท่ากับการพบความจริงว่า ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของคุณนั้นสิ้นสุดลงแล้ว นักบินอวกาศทุกคนถูกเคี่ยวกรำอย่างหนักทั้งทางกายและจิตใจติดต่อกันหลายปีเพื่อภารกิจประการเดียวเท่านั้นคือไปถึงดวงจันทร์ให้ได้แล้วกลับมาอย่างปลอดภัย พวกเขาทุ่มเททุกอย่างและพร้อมเสี่ยงอันตรายทุกรูปแบบเพราะตระหนักดีว่าภารกิจของตนนั้นมีความสำคัญต่อประเทศชาติและมนุษยชาติมากเพียงใด ทุกคนย่อมดีใจสุดซึ้งเมื่อสามารถทำภารกิจดังกล่าวได้สำเร็จ ไม่มีอะไรในชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว แต่หลังจากนั้นล่ะ......

    นักบินอวกาศเหล่านี้ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๔๐ นั่นหมายความว่าเขาต้องใช้อีกครึ่งชีวิตที่เหลืออยู่กับความจริงที่ว่าวันเวลาอันยิ่งใหญ่อย่างนั้นไม่มีอีกแล้ว สำหรับคนส่วนใหญ่ นี้คือความจริงอันเจ็บปวดที่ยากจะทำใจได้ บางคนไม่ทันรอให้ผ่านข้ามปีด้วยซ้ำ เดวิด สก็อตต์ (David Scott) ผู้บัญชาการอพอลโล ๑๕ เล่าความในใจว่า ไม่กี่วันหลังกลับจากภารกิจอันยิ่งใหญ่บนดวงจันทร์ เมื่อมาพบตัวเองอยู่ในลานหน้าบ้านขณะที่เพื่อนจัดงานเลี้ยงย่อม ๆ ให้ เขาอดคิดในใจไม่ได้ว่า “ ตูมาทำอะไรอยู่ที่นี่ (วะ)?”

    เกือบทุกคนใฝ่ฝันที่จะกลับไปทำภารกิจอันยิ่งใหญ่อีก แต่เมื่อโครงการสำรวจดวงจันทร์ยุติลงในปี ๒๕๑๕ ความฝันดังกล่าวก็ปิดฉากลงอย่างสนิท หลายคนทำใจไม่ได้ที่จะกลับไปทำงานเดิม (เช่น ออกแบบเครื่องบิน หรือทำงานจัดการ)อย่างที่เคยทำก่อนมาเป็นนักบินอวกาศ เพราะรู้สึกว่ามันธรรมดาเกินไป คนเหล่านี้โหยหาภารกิจที่ยิ่งใหญ่และท้าทายอย่างที่เคยทำ แต่เมื่อไม่พบว่ามีอะไรมาแทนที่ได้ จึงรู้สึกว่างเปล่าในชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่บางคนติดเหล้างอมแงมแถมซึมเศร้า เช่น บั๊ซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ซึ่งเหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่สองถัดจากนีล อาร์มสตรอง ขณะที่หลายคนหันไปเอาดีทางการเมือง ซึ่งเป็นงานที่ตื่นเต้น ท้าทาย และมีความหมาย แต่ก็เทียบไม่ได้กับภารกิจบนดวงจันทร์

    “การกลับลงมาจากยานอพอลโลเป็นเรื่องหิน” ชาร์ลี ดุ๊ค (Charlie Duke)นักบิน
    อพอลโล ๑๖ เคยกล่าวไว้ บั๊ซ อัลดริน ก็แสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า “การเปลี่ยนจาก “นักบินอวกาศที่เตรียมตัวทำสิ่งยิ่งใหญ่ให้สำเร็จ” มาเป็น “นักบินอวกาศที่เล่าถึงสิ่งยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายที่ได้ทำ” ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายสำหรับผมเลย” ดูเหมือนจะมีไม่กี่คนที่พอใจหรือปรับใจได้กับการกลับมาดำเนินชีวิตอย่างธรรมดาสามัญ และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

    การเดินทางไปให้ถึงดวงจันทร์นั้นเป็นเรื่องยาก แต่ที่ยากกว่าก็คือการกลับมายังโลก และเดินเหินอยู่บนพื้นโลกอย่างมีความสุข ใช่หรือไม่ว่า เรื่องราวของนักบินอวกาศเหล่านี้ยังบอกเรามากกว่านั้นว่า การขับเคี่ยวให้บรรลุถึงความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องยากก็จริง แต่ที่ยากกว่าก็คือการเดินลงมาจากความสำเร็จแล้วยังยิ้มได้ ไม่ว่าความสำเร็จนั้นจะมาในรูปของภารกิจอันยิ่งใหญ่ แชมป์เหรียญทอง ดารายอดนิยม นักเขียนมือรางวัล หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ตาม

    คนเก่งที่พากเพียรจนบรรลุความสำเร็จสูงสุดในชีวิตนั้นมีมาก แต่ที่มีน้อยมากก็คือคนที่พร้อมกลับมาเดินดินเหมือนคนทั่วไปได้ ทั้งนี้ก็เพราะความสำเร็จนั้นมีเสน่ห์ มันทำให้เราเป็นคนพิเศษที่ไม่เหมือนใคร จึงทำให้อัตตาพองโต อัตตานั้นเสพติดความสำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อมันมาพร้อมกับชื่อเสียงเกียรติยศ จึงทำใจไม่ได้เมื่อต้องเหินห่างจากความสำเร็จนั้น หลังจากที่พ้นตำแหน่งประธานาธิบดีไปได้ ๗ ปี บิล คลินตันก็ยังยอมรับว่าเขายังทำใจได้ยากที่กลายมาเป็นราษฎรเต็มขั้น “คิดดูสิว่าตอนผมเป็นประธานาธิบดี เขาจะบรรเลงเพลงทุกครั้งที่ผมเดินเข้าห้อง (แต่ตอนนี้) ไม่มีใครบรรเลงเพลงอีกแล้ว ผมไม่รู้เลยว่าผมอยู่ที่ไหน”

    งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา ไปถึงดวงจันทร์แล้วก็ต้องกลับมายังพื้นโลก ไม่มีใครที่ขึ้นเขาสูงแล้วจะอยู่บนนั้นไปตลอด หากต้องกลับมายังพื้นดิน ฉันใดก็ฉันนั้น ความสำเร็จ รวมทั้งความมั่งคั่ง ชื่อเสียง เกียรติยศ และตำแหน่งหน้าที่ (ซึ่งเป็นนิยามของความสำเร็จในยุคนี้) ล้วนเป็นของชั่วคราว ถ้าใครยึดติดถือมั่นสิ่งเหล่านี้ ย่อมเป็นทุกข์ในที่สุด เพราะไม่ช้าก็เร็วมันก็จะหลุดจากมือของเขาไป หาไม่ก็มีคนอื่นแย่งชิงไป ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็ต้องคลายความยึดติดถือมั่น ระลึกอยู่เสมอว่ามันเป็นของไม่จีรังยั่งยืน

    องค์การนาซ่ายอมรับในภายหลังว่าเน้นแต่การฝึกฝนขับเคี่ยวให้นักบินอวกาศมีความพร้อมทั้งกายและใจเพื่อไปถึงดวงจันทร์ให้ได้ แต่ลืมที่จะเตรียมใจนักบินเหล่านั้นเมื่อกลับมาถึงพื้นโลกแล้ว (“ผมเดาว่าพวกเขาคงคิดว่าเราโตแล้ว” เจมส์ โลเวลล์พูดถึงองค์การนาซ่า) ที่เป็นเช่นนี้คงเพราะเข้าใจว่าการกลับมาเดินเหินบนพื้นโลกเป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ ก็คิดเช่นนั้น จึงไม่เคยเตรียมใจรับมือกับการก้าวลงจากความสำเร็จ (ไม่ว่าลงเองหรือถูกเชิญลง) แผงหนังสือจึงมีแต่คู่มือสู่ความสำเร็จ แต่ไม่มีคู่มือสำหรับลงจากความสำเร็จเลยสักเล่ม

    ยอดดอยไม่ใช่จุดเดียวเท่านั้นที่จะเห็นทัศนียภาพได้งดงามที่สุด ยามลงเขาหากเปิดใจกว้าง ไม่หวนหาอาลัยความงามบนยอดดอย ก็จะพบว่ารอบตัวมีธรรมชาตินานาพรรณอันงดงามรอการชื่นชมจากเรา การลงจากความสำเร็จก็เช่นกัน มันหาใช่อวสานของวันคืนอันชื่นบานไม่ หากเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขอย่างใหม่ ที่ไม่ต้องพึ่งพาเสียงตบมือของผู้คน หรือแสงไฟบนเวที หากวางใจเป็น ก็จะเห็นความสุขที่แท้ในใจเรา เป็นความสุขที่เบ่งบานในยามสงบสงัด เมื่อวางภาระทุกอย่างออกจากใจ มีแต่ความโปร่งเบา เพราะตื่นรู้ในปัจจุบัน ในยามนั้นแม้แต่ดวงจันทร์กลางค่ำคืนก็ให้ความสุขแก่เราอย่างลึกซึ้งได้ โดยไม่ต้องขึ้นไปถึงบนนั้นเลย ถึงตอนนั้นเราจะซาบซึ้งยิ่งกับถ้อยคำของท่านติช นัท ฮันห์ ว่า “การเดินบนพื้นโลกคือปาฏิหาริย์”
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255211.htm

     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    veylangh.jpg
    ตามรอยท่านเว่ยหล่าง

    พระไพศาล วิสาโล
    ท่านเว่ยหล่างเป็นปรมาจารย์ที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของพุทธศาสนาในประเทศจีน อีกทั้งยังได้รับการยกย่องอย่างมากในญี่ปุ่น เนื่องจากเซนที่สืบทอดมานานนับพันปีในประเทศนั้นไม่ว่าสายไหนก็ล้วนมีท่านเป็นต้นธาร เนื่องจากคำสอนของท่านมุ่งสู่การบรรลุธรรมแบบ “ฉับพลัน” ซึ่งมีลักษณะพิเศษเป็นแบบฉบับของท่านเอง

    ชีวประวัติของท่านน่าสนใจด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ ท่านบรรลุธรรมทั้ง ๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก อีกทั้งได้รับมอบตำแหน่งสังฆปริณายกองค์ที่ ๖ ของนิกาย “ฉาน” ( หรือ “เซน”ในญี่ปุ่น) ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นฆราวาสและเป็นแค่คนงานในวัดเท่านั้น กว่าท่านจะได้อุปสมบทก็ผ่านไปอีกหลายปี หลังจากที่ต้องหลบลี้หนีภัยจากฝ่ายตรงข้ามที่อิจฉาท่านเป็นเวลานาน

    ท่านเว่ยหล่างเกิดเมื่อพ.ศ.๑๑๘๑ สมัยราชวงศ์ถัง อันเป็นยุคทองของพุทธศาสนาในจีน ท่านมรณภาพเมื่อพ.ศ. ๑๒๕๖ แม้เวลาจะผ่านไปร่วม ๑,๓๐๐ ปี แต่เรื่องราวของท่านยังเป็นตำนานที่เล่าขานในหมู่ชาวพุทธจีนกระทั่งปัจจุบัน ใช่แต่เท่านั้นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับประวัติของท่านตั้งแต่กำเนิดจนมรณภาพ ก็ยังมีการอนุรักษ์ไว้ สำหรับคนไทยแล้ว เรื่องแบบนี้ย่อมไม่ธรรมดา เพราะอย่าว่าแต่บุคคลเมื่อพันปีที่แล้วเลย แค่บุคคลเมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้วอย่างหลวงพ่อโต พรหมรังสี บ้านที่ท่านเกิดอยู่ตรงไหน ก็ไม่มีใครรู้

    สถานที่ท่านเว่ยหล่างสมภพและมรณภาพนั้นอยู่ไม่ไกลจากกวางโจว อีกทั้งวัดที่ท่านอุปสมบทก็อยู่ในเมืองกวางโจว ดังนั้นหลังจากเสร็จงานสอนกรรมฐานที่เมืองโฝกัง มณฑลกวางตุ้ง ข้าพเจ้าพร้อมกับกัลยาณมิตรชาวไทยเห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีอะไรดีกว่าการไปเยี่ยมเยือนสถานที่เหล่านั้น เป็นการตามรอยท่านและจาริกบุญกลาย ๆ โดยมีคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ซึ่งมีความรู้รอบเกี่ยวกับปรมาจารย์ท่านนี้ เป็นมัคคุเทศก์

    ตอนที่คุณนริศแนะนำให้ไปเยือนหมู่บ้านที่ท่านเว่ยหล่างเกิดนั้น ในใจคิดว่าเป็นเมืองเล็ก ๆ แบบบ้านนอก แต่ที่ไหนได้ซินซิงเป็นเมืองใหญ่เอาการ (แม้กระนั้นมัคคุเทศก์ชาวจีนก็บอกว่านี้เป็นเมืองเล็ก ๆ ประชากร “แค่” ๔ แสนคนเท่านั้น) จัดว่าเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองหยวินฝูในมณฑลกวางตุ้ง บ้านที่ท่านเกิดนั้นตอนนี้ไม่มีเค้าหลงเหลือแล้ว มีอาคารบ้านเรือนรายล้อมเพราะอยู่กลางเมือง แต่มีวิหารเล็ก ๆ ข้างหน้าเป็นรูปปั้นพระศรีอาริย์ยิ้มต้อนรับอาคันตุกะ ถัดจากนั้นจึงเป็นรูปปั้นของท่านเว่ยหล่างให้คนมาเคารพสักการะ

    ท่านเว่ยหล่างกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ เมื่อโตขึ้นท่านได้ย้ายบ้านไปอยู่อีกด้านหนึ่งของเมือง ปัจจุบันมีวัดสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน ชื่อวัดหลงถัน ข้าง ๆ วัดมีซากอาคารที่บ่งบอกว่าเป็นบ้านของท่าน พร้อมทั้งระบุตำแหน่งที่ท่านตำข้าวด้วย บรรยากาศสงบร่มรื่นเพราะอยู่บนเขาแวดล้อมด้วยต้นไม้

    ท่านต้องทำงานเลี้ยงแม่ตั้งแต่เล็ก จึงไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ อาชีพหลักคือผ่าฟืนขาย วันหนึ่งขนฟืนไปส่งให้ลูกค้าที่ร้าน ขณะที่เดินออกมาได้ยินชายผู้หนึ่งกำลังสาธยายวัชรเฉทิกสูตร พอตั้งใจฟัง จิตของท่านก็สว่างโพลง ความสนใจในธรรมเกิดขึ้นแก่ท่านทันที ถามชายผู้นั้นว่าได้เรียนธรรมดังกล่าวจากไหน เมื่อได้รับคำตอบท่านก็ลาแม่ ไปยังวัดนั้นทันทีคือวัดตงซาน มณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นวัดของท่านหงเหริ่น สังฆปริณายกองค์ที่ ๕

    ที่นั่นเองท่านต้องทำงานผ่าฟืนและสีข้าวนานหลายเดือน วันหนึ่งได้ฟังว่าศิษย์อาวุโสของวัดนี้แต่งโศลกว่า “กายนี้อุปมาเหมือนต้นโพธิ์ ใจนี้อุปมาเหมือนกระจกเงาใส จงหมั่นเช็ดหมั่นปัดอยู่เสมอ อย่าให้ฝุ่นละอองจับคลุมได้” ท่านเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง จึงแต่งโศลกขึ้นอีกบทหนึ่ง แล้ววานคนช่วยเขียนให้ เป็นโศลกซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์เซน นั่นคือ “ไม่มีต้นโพธิ์ ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นจะลงจับอะไร” (สำนวนแปลพุทธทาสภิกขุ) ท่านหงเหริ่นเมื่อได้อ่านโศลกนี้ก็รู้ว่าผู้แต่งรู้ธรรมอย่างแจ่มแจ้ง กระจ่างชัดในอนัตตลักษณะ คือรู้ว่า แท้จริงแล้วไม่มี “ตัวกู ของกู” มีแต่ทุกข์ ไม่มีผู้ทุกข์ จึงได้มอบตำแหน่งสังฆปริณายกองค์ที่ ๖ ให้แก่ท่าน ทั้ง ๆ ที่ท่านยังไม่ได้บวช

    เราไม่มีโอกาสไปวัดตงซาน แต่ก็ได้ไปเยือนสถานที่ที่ท่านได้สดับธรรมด้วยความบังเอิญจนบรรลุธรรม ปัจจุบันมีการสร้างวัดจินไถเป็นอนุสรณ์ แต่ปรากฏว่าประตูปิดตาย ห้ามเข้า เนื่องจากโครงสร้างอาคารมีปัญหา อาจเกิดอันตรายได้ พวกเราได้แต่ถ่ายรูปข้างหน้าวัด

    อย่างไรก็ตามทั้งสามจุดนี้ในทัศนะของชาวพุทธจีนมีความสำคัญน้อยกว่าวัดที่ท่านมรณภาพ คือ วัดกั๋วเอิน ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน วัดนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีโบราณสถานและโบราณวัตถุหลงเหลือมากมาย แม้ถูกทำลายอย่างหนักในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ ๕๐ ปีก่อน วัดนี้สร้างโดยถังเกาจงฮ่องเต้ ท่านเว่ยหล่างมาพำนักที่นี่เมื่อชรามากแล้ว อยู่ได้เพียงหนึ่งปี ก็มรณภาพ ด้วยอายุ ๗๕ ปี

    วัดนี้มีญาติโยมชาวจีนมาทำบุญกันมิใช่น้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ระหว่างที่เรากำลังชมวัด ก็มีอาม่าคนหนึ่งกวักมือเรียกให้พวกเราไปที่วิหารใหญ่ ไปถึงจึงรู้ว่ากำลังมีการสรงน้ำพระพุทธองค์เนื่องในวันวิสาขบูชา(ตามประเพณีจีน) ผู้คนล้นหลามจนยืนอออยู่นอกวิหาร แต่ทางวัดก็เอื้อเฟื้อให้พวกเราเข้าไปสรงน้ำพระพุทธองค์ได้อย่างสะดวก รวมทั้งได้พบปะท่านเจ้าอาวาสซึ่งอยู่บริเวณนั้นด้วย

    อย่างไรก็ตามวัดเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักน้อยกว่าวัดกวงเซี่ยวในเมืองกวางโจว ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอุปสมบท ว่ากันว่าตอนที่ท่านมาถึงวัดนั้นใหม่ ๆ ได้ฟังการบรรยายธรรมของอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง ระหว่างนั้นมีการโต้เถียงในหมู่ศิษย์ของท่านว่า ธงหรือลมกันแน่ที่ไหว เถียงกันไม่จบจนกลายเป็นสองฝักสองฝ่าย ท่านจึงพูดแทรกขึ้นมาว่า “ใจ(ของพวกท่าน)ไหวต่างหาก” อาจารย์ใหญ่ท่านนั้นได้ยินก็รู้ว่าท่านเว่ยหล่างซึ่งตอนนั้นอายุ ๓๘ แล้ว ไม่ใช่คนธรรมดา จึงได้จัดการบวชให้ท่านในเวลาต่อมา จุดเด่นของวัดนี้คือ ต้นโพธิ์ซึ่งสำคัญที่สุดในจีน เนื่องจากเชื่อกันว่าท่านปลงผมใต้ต้นนี้ ใกล้ ๆ กันเป็นเจดีย์ ๗ ชั้นซึ่งเชื่อว่าบรรจุเส้นผมที่ท่านปลงเอาไว้ เนื่องจากวัดนี้อยู่กลางเมืองกวางโจว จึงมีคนมาสักการะท่านเว่ยหล่างมากมาย ทั้งคนแก่และคนหนุ่มสาว

    อีกวัดที่สำคัญ ซึ่งขาดไม่ได้สำหรับการตามรอยท่าน ก็คือ วัดหนานฮว๋า ซึ่งอยู่เมืองเสากวน ห่างจากกวางโจว ๓ ชั่วโมง ท่านได้แสดงธรรมที่วัดนี้อยู่นาน ชาวพุทธจีนในไทยคงคุ้นกับวัดนี้มากที่สุด เพราะเป็นที่ประดิษฐานร่างของท่านที่ไม่เน่าเปื่อย อยู่ในท่านั่งสมาธิ น่าแปลกที่ร่างนี้รอดพ้นจากการทำลายล้างในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมไปได้ ทุกวันนี้ถือเป็นสถานที่จาริกบุญสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชาวจีน วัดนี้มีเนื้อที่กว้างขวาง อยู่ติดภูเขา สงบร่มรื่น ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของวัดจีนโบราณ

    เมืองเสากวนยังมีอีกวัดที่สำคัญ คือวัดต้าเจี้ยน ท่านผู้รู้ได้ประมาณว่า เนื้อหาร้อยละ ๖๓ ใน “สูตรของเว่ยหล่าง”นั้นมาจากการเทศนาของท่านที่วัดนี้ ส่วนร้อยละ ๒๗ เป็นงานบรรยายที่วัดหนานฮว๋า ที่เหลือท่านแสดงที่วัดกั๋วเอิน

    อันที่จริงชีวิตและคำสอนของท่านเว่ยหล่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถือว่า “มุมมอง”หนึ่งเท่านั้น ในวงวิชาการมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับประวัติของท่าน แม้กระทั่งคำสอนของท่านอันลือชื่อของท่านคือ “สูตรของเว่ยหล่าง” ก็ยังไม่เป็นที่ยุติว่าใครเป็นคนเขียน เป็นคำสอนของท่านเว่ยหล่างจริงหรือไม่ และ “ของจริง”นั้นเป็นอย่างไร เพราะคัมภีร์เก่าแก่ที่สุด ซึ่งค้นพบเมื่อ ๘๐ ปีที่แล้ว มีหลายตอนที่แตกต่างจากฉบับที่แพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะโศลกอันโด่งดังของท่านเว่ยหล่าง ในฉบับที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งค้นพบที่ถ้ำตุนหวง มีถึง ๒โศลก และมีเนื้อความแตกต่างกันในสาระสำคัญเลยทีเดียว ประเด็นเหล่านี้ยกให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้ที่จะช่วยกันหาคำตอบ แต่สำหรับผู้ใฝ่ธรรม ความแตกต่างเหล่านั้นไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดสำหรับการฝึกฝนอบรมจิตตามแนวทางของท่าน(หรือตามคำสอนที่ปรากฏในหนังสือ)
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255706.htm

    อ่านเพิ่มเติม--> https://www.gonghoog.com/main/index.php/2012-11-10-06-51-32

     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ความดีไม่มีเส้นแบ่ง
    พระไพศาล วิสาโล

    ชีวิตของ "ปาน"เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเธอรู้ว่าได้รับเชื้อ HIV จากสามี แต่เธอไม่มัวคับแค้นใจในชะตากรรมของตน หรือโกรธแค้นสามี หากพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เธอดูแลสามีจนเขาสิ้นลม จากนั้นก็มองไปข้างหน้าว่า เธอจะทำอะไรต่อไปกับชีวิตที่เหลืออยู่ ไม่นานเธอก็พบคำตอบ นั่นคือการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อคนอื่น ๆ ที่มีชะตากรรมเหมือนเธอ รวมทั้งใช้ประสบการณ์ของตัวเธอเองเพื่อเตือนใจไม่ให้คนอื่นมาเป็นเหมือนอย่างเธอ


    เธอได้กลายเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ ต่อมาได้กลายเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนในหมู่บ้านและตามโรงเรียนต่าง ๆ ในภาคเหนือ แม้นั่นจะหมายถึงการเปิดเผยตนเองว่ามีเชื้อที่ผู้คนประหวั่นพรั่นพรึงก็ตาม

    จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา ๑๗ ปีที่แล้วที่เธอรู้ว่ามีเชื้อร้ายอยู่ในร่างกาย แต่เธอก็ยังมีสุขภาพดีไม่ต่างจากคนอื่น ๆ โดยไม่เคยรับยาต้านเชื้อเลย มิหนำซ้ำเธอยังมีอารมณ์ดี อาจจะดีกว่าคนทั่วไปเสียอีก ทั้ง ๆ ที่เธอน่าจะทุกข์มากกว่าคนรอบตัว เพราะนอกจากร่างกายจะมีเชื้อ HIV แล้ว ยังต้องเจอกับปฏิกิริยาของผู้คนที่ไม่เข้าใจโรคนี้ดีพอ โดยเฉพาะในยุคแรก ๆ ที่ใคร ๆ ก็รังเกียจผู้ติดเชื้อ

    อะไรทำให้เธอมีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาวมาจนบัดนี้ คำตอบของเธอก็คือ
    "ถ้าคิดแต่เรื่องของตัวเองก็ป่วยไปนานแล้ว"

    การช่วยเหลือผู้อื่นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ทำให้เธอแย่ลง ตรงข้ามเธอกลับมีความสุขมากขึ้น เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่พบว่า การเป็นจิตอาสาไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ให้เท่านั้น หากตนยังเป็นผู้รับด้วย นั่นคือได้รับความสุข หญิงผู้หนึ่งปวดหัวไมเกรน ต้องกินยา ระงับปวดทุกวัน แต่หลังจากที่เธอไปเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กอ่อนบ้านปากเกร็ดติดต่อกันไม่กี่สัปดาห์ เธอสังเกตว่าวันไหนที่ไปเป็นจิตอาสาที่นั่น วันนั้นเธอจะลืมกินยา สาเหตุก็เพราะไม่รู้สึกปวดหัวเลย ความสุขจากการดูแลเด็ก ทำให้อาการปวดหัวหายไปอย่างไม่รู้ตัว

    มิใช่แต่ความสุขเท่านั้น หลายคนยังพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในจิตใจของตน "กบ" ชายวัยปลาย ๓๐ ซึ่งเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กอ่อนบ้านปากเกร็ดอีกผู้หนึ่ง รู้สึกว่าตนเองใจเย็นขึ้น เพราะเวลาอยู่กับเด็ก จะพูดจาโผงผาง หรือทำอะไรแรง ๆไม่ได้ กลายเป็นการฝึกตนเองให้เป็นคนพูดจานุ่มนวลขึ้น ไม่ใช่กับเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนอื่นด้วย "พอผมพูดกับลูกน้องที่ออฟฟิศ ผมก็รู้สึกได้ว่านุ่มนวลขึ้น คือใช้คำพูดที่ฟังรื่นหูหน่อย พูดได้โดยไม่เห็นต้องฝืนอะไรเลย"

    เช่นเดียวกับ "น้องด้าย" เด็กหญิงวัย ๑๔ แม่ของเธอสังเกตว่าหลังจากที่น้องด้ายไปเป็นจิตอาสาบ้านปากเกร็ด เธอนิ่งและสุขุมมากขึ้น รับฟังคนอื่นมากขึ้น และใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์

    ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจิตอาสาหลายคนเกิดจากการคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง จากคนที่มักทำตามอารมณ์ เมื่อมาดูแลช่วยเหลือเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตนเอง จะเอาแต่ใจตนเองตามนิสัยเดิมไม่ได้ "กบ"พูดถึงประสบการณ์ของตนเองว่า "เมื่อเราดูแลใส่ใจเด็ก เราจะอ่อนโยนไปเองโดยอัตโนมัติ คือในขณะที่เราพยายามจะให้เขามีพัฒนาการที่ดี เขาก็ช่วยขัดเกลาให้เราอ่อนโยนในเวลาเดียวกันด้วย"

    ประสบการณ์ของ "กบ"ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตามที่เราช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเจตนาดีหรือด้วยใจบริสุทธิ์ ความเปลี่ยนแปลงมิได้เกิดขึ้นกับเขาเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับเราด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อคิดถึงคนอื่นมากขึ้น อัตตาหรือความเห็นแก่ตัวก็ลดลง พร้อมจะละทิ้งนิสัยเดิม ๆ ที่ไม่ดี หรือเต็มใจที่จะขัดเกลาตนเองเพื่อความสุขของผู้อื่นมากขึ้น แต่ผลสุดท้ายตนเองกลับเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ หลายคนพบว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้คุณภาพชีวิตของตนดีขึ้น รวมทั้งทำให้สัมพันธภาพกับผู้อื่นดีขึ้นด้วย

    "ป๊อป"นักธุรกิจหนุ่มซึ่งประสบความสำเร็จในอาชีพการงานก่อนวัย ๔๐ เล่าว่าแต่ก่อนตนเองแต่ทำงาน ไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ยิ่งทำงานสำเร็จ ก็ยิ่งมั่นใจในตนเองมาก จนถึงกับ "เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง" แต่เมื่อได้มาเป็นจิตอาสาก็พบว่า "โลกมันกว้างกว่านั้น" เขาเริ่มนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น ทำให้ความหุนหันพลันแล่นลดลง ผลที่ตามมาก็คือ นอกจากความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจะดีขึ้นแล้ว เขายังเข้าใจแม่ของตนเองมากขึ้นด้วย นับแต่นั้นทุกสัปดาห์เขาจะกลับไปเยี่ยมแม่ และฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เหินห่างไปนานให้กลับแน่นแฟ้นดังเดิม

    ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เด็กน้อยที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวดองกับเขามาก่อนเลย

    เรื่องราวของคนเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เมื่อเราช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เรามิได้เป็นเพียงผู้ให้เท่านั้น หากยังเป็นผู้รับด้วย ประโยชน์มิได้เกิดขึ้นกับเขาเท่านั้น เราเองก็ได้รับประโยชน์ด้วย แต่มิใช่ประโยชน์ทางวัตถุ หากเป็นประโยชน์ทางจิตใจ อาทิ ความสุข และจิตใจที่ประณีตงดงาม เป็นความเปลี่ยนแปลงภายในที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้จากการออกไปทำสิ่งดี ๆ ให้แก่ผู้อื่น

    พูดอีกอย่างก็คือ มุ่งกระทำภายนอก แต่เปลี่ยนแปลงภายใน

    อย่างไรก็ตามมีความเปลี่ยนแปลงอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกัน กล่าวคือ เมื่อย้อนมาดูภายในกลับส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายนอกได้
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ แห่งมหาวิทยาลัยชีวิต เล่าถึงนักศึกษาของเขาหลายคนที่พบกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิต นอกจากมีความสุขขึ้นแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้นมาก ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มจากการที่เขาแนะนำให้นักศึกษาหันมาไตร่ตรองตนเองผ่านกิจกรรมบางอย่าง จากนั้นก็ให้เลือกพฤติกรรมเพียงหนึ่งอย่างที่อยากปรับปรุงแก้ไข โดยให้ถือเป็น "โครงงาน"หรือการบ้านที่ต้องทำทุกคน ระหว่างที่ทำการบ้านดังกล่าว ก็ให้สังเกตจิตใจและพฤติกรรมของตนไปด้วย พร้อมกับเขียนบันทึกประจำวัน แล้วนำผลการสังเกตรวมทั้งบันทึกดังกล่าวมานำเสนอในชั้นเรียน เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอภิปรายกัน

    นักศึกษาคนหนึ่งเลือกโครงงาน "ขับรถให้ช้าลง" ก่อนหน้านั้นทุกวันเขาจะขับรถไปส่งลูกและภรรยาด้วยความเร็ว ๑๒๐-๑๔๐ กม.ต่อชั่วโมง ตลอดเวลาที่เดินทางทุกคนจะนั่งตัวตรง ตาจ้องมองถนนข้างหน้า ไม่มีการพูดคุยกันเลย แต่เมื่อเขาขับรถให้ช้าลง คือ ๙๐ กม.ต่อชั่วโมง เขาพบว่าตัวเองรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวดดังแต่ก่อน ยิ่งกว่านั้นเขายังสังเกตว่าลูกและภรรยาก็ผ่อนคลายเช่นกัน บรรยากาศในรถดีขึ้นมาก มีการพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูก เป็นความสุขที่เขาไม่เคยพบมาก่อนระหว่างขับรถ

    นักศึกษาอีกคนหนึ่งเป็นนักธุรกิจ เธอเลือก "เคี้ยวอาหารให้ช้าลง" จากเดิมที่รีบกินข้าวให้เสร็จไว ๆ เพราะต้องรีบไปทำงาน เมื่อเธอหันมาเคี้ยวข้าวให้ช้าลง ไม่นานเธอก็พบว่า "ข้าวมีรสหวาน อาหารที่อร่อยเป็นยังไง" การใช้เวลาบนโต๊ะอาหารที่นานขึ้น นอกจากทำให้ใจเธอนิ่งขึ้น ไม่ร้อนรนหรือพะวงถึงงานที่รออยู่ ยังทำให้เธอใส่ใจกับความรู้สึกของลูกและคนอื่น ๆ ในครอบครัวที่กินร่วมโต๊ะ มีการสนทนากันมากขึ้น ไม่นานเธอก็รู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่นใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างคนในครอบครัว

    การกินอาหารให้ช้าลง มีผลให้เธอลดความร้อนรนเร่งรีบในการทำงาน นอกจากจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้น สุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะโรคปวดท้องและโรค "หายใจไม่ทัน"ที่รบกวนเธอมานานนับสิบปีหายไปอย่างปลิดทิ้ง ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและลูกน้องก็ดีขึ้นด้วย ในเวลาต่อมาเมื่อเธอโอนงานบางอย่างให้ลูกชาย หลังจากที่หวงไว้กับตัวเองตลอดด้วยความไม่ไว้วางใจ เธอก็มีเวลามากขึ้น จนสามารถไปเยี่ยมพ่อและพาพ่อไปเที่ยวได้ ผิดกับแต่ก่อนที่เธอมักจะอ้างว่าไม่มีเวลาเลย

    นักศึกษาอีกคนหนึ่งทำโครงงาน "นับหนึ่งถึงร้อยค่อยพูด" เพราะเธอมักจะอารมณ์เสียใส่ลูกชายวัย ๑๐ ขวบที่ชอบตื่นสายและทำอะไรยืดยาดชักช้าเป็นประจำ จนบางทีถึงกับทุบตีลูก เสร็จแล้วก็มานั่งเสียใจที่ทำเช่นนั้นกับลูก เมื่อเธอเริ่มทำโครงงานนี้ มีหลายครั้งที่รู้สึกขุ่นเคืองลูก แต่เมื่อรู้ตัวว่ากำลังทำโครงงานนี้อยู่ ก็จะนับหนึ่งถึงร้อย แต่บางครั้งนับได้ไม่เท่าไร ใจก็สงบลง และสามารถพูดกับลูกโดยไม่ใช้อารมณ์ ต่อมาเธอก็ใช้วิธีรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง และพูดความรู้สึกนั้นให้ลูกได้รับรู้ เช่น บอกลูกว่าตอนนี้ใจแม่ไม่สงบ กังวลว่าลูกจะไปโรงเรียนสาย และแม่ก็จะไปทำงานสายด้วย จึงขอให้ลูกลุกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัว ปรากฏว่าลูกยินดีทำตามคำขอของแม่ หลังจากทำเช่นนี้หลายครั้ง เธอพบว่าความสัมพันธ์ของเธอกับลูกดีขึ้น ลูกถึงกับบอกเธอวันหนึ่งว่า ลูกรักแม่ ขอถ่ายรูปกับแม่ได้ไหม

    นักศึกษาเหล่านี้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า การเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ขยายวงกว้างออกไป ส่งผลถึงสัมพันธภาพกับผู้อื่น และสาเหตุที่เปลี่ยนแปลงตนเองได้ก็เพราะการหมั่นสังเกตตนเอง มิใช่แค่พฤติกรรมหรืออากัปกิริยาภายนอกเท่านั้น แต่รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ หลายคนได้เห็นอาการร้อนรนพลุ่งพล่านที่ผลักดันให้ทำอะไรเร็ว ๆ หรือพูดจาออกไปโดยไม่ทันยั้งคิด เพียงแค่เห็นอาการดังกล่าวเกิดขึ้นที่ใจ ก็พอแล้วที่จะทำให้มันสงบลง ไม่สามารถรบกวนจิตใจต่อไปได้ โดยไม่ต้องไปกดข่มมันเลยด้วยซ้ำ

    จากความสงบภายใน สู่การกระทำที่สุขุมนุ่มนวล และใส่ใจคนอยู่รอบข้างมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อความเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้น ก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงภายนอก

    เรื่องของจิตอาสาในครึ่งแรก และเรื่องของนักศึกษาในครึ่งหลัง แม้จะดูต่างกันราวกับตรงข้ามกัน กลุ่มแรกมุ่งช่วยเหลือผู้อื่น ขณะที่กลุ่มหลังมุ่งเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นคล้ายกันตรงที่ นอกจากทุกคนจะมีความสุขแล้ว ยังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน กลุ่มแรกได้พบความเปลี่ยนแปลงภายใน ในขณะที่กลุ่มหลังได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ภายนอก

    ประสบการณ์ของทั้งสองกลุ่มชี้ให้เห็นว่า ภายนอก กับ ภายในนั้นไม่ได้แยกจากกัน ไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า การช่วยเหลือผู้อื่นคือการช่วยเหลือตนเอง และการช่วยเหลือตนเองก็คือการช่วยเหลือผู้อื่น ข้อนี้พระพุทธองค์เคยตรัสรับรองว่า "บุคคลเมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน"

    รักษาตนนั้นก็คือรักษาใจให้มีสติ สงบเย็น ไม่ร้อนรนหรือปล่อยให้ความโกรธความโลภเผาลนใจ ส่วนรักษาผู้อื่นก็คือการมีเมตตากรุณา อยากช่วยให้เขามีความสุขหรือพ้นทุกข์ ทั้งหมดนี้เรียกสั้น ๆ ว่า ธรรมหรือความดี เมื่อมีธรรมกำกับ แม้ทำกับผู้อื่น ก็ส่งผลดีต่อใจตน แม้ทำกับใจตน ก็ส่งผลดีต่อผู้ที่อยู่รอบตัว

    ความดีนั้น ไม่ว่าจะทำกับใคร กับผู้อื่นหรือตนเองก็ตาม อานิสงส์อันได้แก่ความสุขและความเจริญงอกงามในจิตใจย่อมแผ่ไปยังทั้งสองฝ่ายเสมอ เพราะถึงที่สุดแล้วเส้นแบ่งระหว่างเรากับผู้อื่น หามีไม่


    หมายเหตุ เรื่องราวของพี่เลี้ยงเด็กอ่อน มีที่มาจากหนังสือเรื่อง “อาสานวดเด็ก พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ๒”(มูลนิธิสุขภาพไทย ) ส่วนเรื่องของนักศึกษาทำโครงงาน มาจากหนังสือเรื่อง “ตักสุขใส่กะโหลก ชะโงกดูใจ” เขียนโดย สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ (สำนักพิมพ์ busy- day)ส่วนเรื่องของ “ปาน” และเพื่อนอีกหลายคน หาอ่านได้จาก “๓๐ ชีวิตเปลี่ยน”(เครือข่ายพุทธิกา)

    :- https://visalo.org/article/sarakadee255409.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    นรกมิใช่ใครอื่น
    รินใจ
    นักวิชาการอาวุโสด้านปรัชญาและศาสนาท่านหนึ่ง เล่าว่าเมื่อครั้งไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา คราวหนึ่งได้รับมอบหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้ช่วยต้อนรับและดูแลพระธิเบตรูปหนึ่งซึ่งได้รับนิมนต์มาบรรยายในมหาวิทยาลัย นั่นเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาไทยผู้นี้ได้รู้จักชาวธิเบต ในชั่วเวลาไม่กี่วันที่ได้ดูแลอาคันตุกะจากแดนไกล เขารู้สึกประทับใจในบุคลิกที่สงบเย็นของท่าน ยิ่งเมื่อได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวธิเบต ก็เกิดความสนใจอยากไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในวัดของท่านที่อินเดีย วันสุดท้ายก่อนจากกันเขาจึงปรารภกับท่านว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว อยากไปอยู่กับท่านสักพักหนึ่ง ท่านถามเหตุผลว่าทำไมถึงคิดเช่นนั้น

    “ผมอยากไปหาความสงบที่นั่น กรุงเทพ ฯ ไม่มีความสงบเลย มีแต่ความวุ่นวาย” นักศึกษาหนุ่มให้เหตุผล

    คำตอบของท่านก็คือ “คุณรู้ไหม ความสงบที่คุณแสวงหา หากหาไม่ได้ที่กรุงเทพ ฯ ก็หาไม่ได้หรอกที่วัดของอาตมา”

    คำตอบของพระธิเบตรูปนี้ทำให้นักศึกษาหนุ่มได้คิด และเปลี่ยนใจ เขากลับเมืองไทยเมื่อสำเร็จการศึกษา แม้เวลาจะผ่านไปกว่า ๓๐ ปีแล้ว ถ้อยคำดังกล่าวก็ยังประทับแน่นในใจของเขา

    ความสงบที่แท้จริงนั้น หาไม่ได้จากที่ไหน นอกจากใจของเราเอง ที่อื่น ๆ นั้นให้ได้แค่ความสงบชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้าใจไม่สงบเสียแล้ว ไม่นานก็ต้องมีเรื่องหงุดหงิดรำคาญใจ ถ้าไม่ใช่กับผู้คนแวดล้อม ก็ดินฟ้าอากาศ ครั้นอยู่คนเดียว ก็ยิ่งกระสับกระส่าย กลัวนี่ระแวงนั่น โดยหารู้ไม่ว่าทั้งหมดนั้นเกิดจากการปรุงแต่งของใจที่ไม่อยู่สุข

    เสียงคุยของผู้คน เสียงดังจากรถยนต์ รวมทั้งความวุ่นวายจากการงานนั้น เรายังสามารถหนีให้ไกลได้ แต่เสียงบ่นก่นด่าหรือเสียงทะเลาะวิวาทภายในใจเรานั้น ยากที่จะหนีพ้นตราบใดที่เราไม่มีความสุขภายใน

    มีพุทธพจน์ว่า “สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นสงบ” ใจที่ไม่สงบนั้นมาจากความว่างเปล่าภายใน นั่นคือว่างเปล่าจากความสุข ว่างเปล่าจากคุณค่าและความหมายของชีวิต

    เป็นธรรมชาติของใจที่ว่างเปล่า ย่อมแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาเติมเต็ม แต่แทนที่จะแสวงหาด้วยการหันกลับมาที่ใจของตนเองเพื่อหยั่งให้ถึงความสุขที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน ส่วนใหญ่กลับไปแสวงหาความสุขจากภายนอก โดยเฉพาะความสุขจากการเสพ จากการครอบครองสมบัติและอำนาจ แต่แล้วก็พบว่าได้เท่าไรก็ไม่เคยพอเสียที เพราะความสุขเหล่านี้ไม่สามารถเติมเต็มจิตใจได้เลย เนื่องจากเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน ชั่วครู่ชั่วยาม กล่าวคือเป็นสุขตอนที่ได้เสพหรือได้ครอบครองใหม่ ๆ แต่ไม่ช้าไม่นานความสุขเหล่านั้นก็จืดจาง ต้องไปหามาเสพใหม่หรือหามาเพิ่มอีก ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐีแม้มีเงินหลายหมื่นล้าน ก็ยังไม่ยอมหยุดแสวงหาทรัพย์เสียที

    นอกจากแสวงหาความสุขจากทรัพย์สมบัติแล้ว เรายังอดไม่ได้ที่จะแสวงหาความสุขจากผู้อื่น ยิ่งว่างเปล่าภายในมากเท่าไร ก็ยิ่งเรียกร้องและคาดหวังจากผู้อื่นมากเท่านั้นว่าจะช่วยทำให้ชีวิตของตนเติมเต็มได้ แต่ได้เท่าไรจึงจะพอ เพราะแม้แต่ความสุขจากรักอันหวานชื่นยังจืดจางได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น หากอีกฝ่ายหนึ่งก็ว่างเปล่าภายในเช่นกัน เมื่อต่างคนต่างเรียกร้องและคาดหวังในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่มีให้ อะไรจะเกิดขึ้น

    Revolutionary Road เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างสะเทือนใจ แฟรงค์และเอพริลเป็นคู่สามีภรรยาที่ดูเหมือนมีทุกอย่างเพียบพร้อมตามความใฝ่ฝันของคนอเมริกัน (และของคนสมัยใหม่ทั่วโลก แม้เรื่องนี้จะเกิดเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว) ในวัยแค่ ๓๐ ทั้งสองมีบ้านหลังงามย่านคนมีเงิน มีรถยนต์ซึ่งยังเป็นของมีราคาแพงในสมัยนั้น มีลูกที่น่ารัก ๒ คน แฟรงค์มีการงานที่มั่นคงรายได้ดี ส่วนเอพริลก็เป็นแม่บ้าน ใคร ๆ ชมว่าทั้งคู่เป็นคน “พิเศษ” เพราะมีอนาคตไกล มีความคิดทันสมัย มีเสน่ห์ และมีครอบครัวที่อบอุ่น

    แต่เบื้องหลังภาพพจน์สดใสที่ผู้คนชื่นชมนั้น ทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างหนัก จนเกือบใช้กำลังกัน ชีวิตคู่ที่เคยหวานชื่นเมื่อแรกแต่งงานกลายเป็นความขมขื่นที่พร้อมจะผิดใจกันได้ทุกเรื่อง สาเหตุนั้นไม่ใช่เพราะสามีขี้เหล้าหรือนอกใจภรรยา ไม่ใช่เพราะภรรยาติดยาหรือติดการพนัน แต่เพราะลึก ๆ ทั้งสองคนไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ แฟรงค์ไม่พอใจงานที่ทำ ส่วนเอพริลก็รู้สึกล้มเหลวกับอาชีพนักแสดง และไม่ชอบงานบ้านที่จำเจ เพราะเชื่อว่าตนเองสามารถทำได้มากกว่านั้น

    ไม่มีใครอยากให้ชีวิตคู่ต้องอับปาง แล้ววันหนึ่งเอพริลก็ได้ความคิดว่า การย้ายไปปารีสน่าจะช่วยให้ครอบครัวกลับมามีความสุขเหมือนเดิม ที่นั่นเอพริลจะไปเป็นเลขานุการในหน่วยงานระหว่างประเทศ ส่วนแฟรงค์ก็จะมีเวลาแสวงหางานที่ชอบ แฟรค์ลังเลในทีแรกแต่ก็เห็นด้วยในที่สุด เมื่อมีความฝันร่วมกัน ชีวิตรักก็สุขสมอีกครั้งหนึ่ง

    ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่แล้วกลับมีเหตุที่ทำให้ความฝันของเอพริลพังครืน แฟรงค์ได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น มีรายได้และสถานะสูงขึ้น ที่เคยดูถูกงานในบริษัทก็เปลี่ยนเป็นชื่นชม เขาตัดสินใจไม่ไปปารีส ขณะเดียวกันเอพริลก็เกิดท้องขึ้นมา เป็นอุปสรรคต่อการไปทำงานที่นั่น

    และแล้วครอบครัวนี้ก็เวียนกลับมาจมอยู่ในสถานการณ์เดิม ทะเลาะเบาะแว้งกันหนักขึ้น แล้วในที่สุดก็ลงเอยด้วยเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
    ไม่ว่าจะมีทรัพย์สมบัติเพียบพร้อมเพียงใด แต่หากภายในใจนั้นว่างเปล่าจากความพึงพอใจในชีวิตหรือรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าเสียแล้ว ก็ยากที่จะมีความสุขได้ และเมื่อไม่มีความสุขภายในแล้ว เราก็สามารถสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้เสมอ ดังที่แฟรงค์และเอพริลได้กระทำต่อกัน แต่จะมีกี่คนที่รู้ตัวว่าตนสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ส่วนใหญ่กลับมองว่าคนอื่นต่างหากที่สร้างความทุกข์ให้แก่ตน “นรกคือคนอื่น” ซาร์ตเคยกล่าวไว้ ทั้งแฟรงค์และเอพริลก็รู้สึกเช่นนี้ต่อกัน

    ที่น่าเศร้าก็คือ แรกเริ่มเดิมทีทั้งสองคนไม่ได้ทำร้ายจิตใจของกันและกัน เป็นแต่ไม่ได้สนองความคาดหวังของกันและกันเท่านั้น คนเราเมื่อไม่มีความสุขภายใน ก็มักเรียกร้องความสุขจากผู้อื่น แต่เมื่อเขาไม่มีให้หรือไม่ตอบสนองอย่างที่หวัง ความผิดหวังก็ทำให้เราโกรธและสะสมจนกลายเป็นความเกลียด ถึงตอนนี้ก็พร้อมจะมองอีกฝ่ายในแง่ลบ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถลุกลามเป็นประเด็นที่ใหญ่โต จนถึงขั้นพูดจาทำร้ายจิตใจกันได้

    ทุกคนต่างมองไปที่นอกตัวตลอดเวลา ปัญหาอยู่นอกตัว และทางออกก็อยู่นอกตัวด้วย เอพริลคิดว่าการย้ายไปปารีสจะช่วยให้ชีวิตคู่สงบสุขได้ แต่คำถามก็คือ ถ้าหาความสงบในตัวเองหรือในบ้านของตนไม่ได้ แล้วจะไปหาความสงบที่ปารีสได้อย่างไร การมองว่าสาเหตุแห่งความทุกข์อยู่นอกตัวตลอดเวลา ทำให้เธอสรุปในที่สุดว่าชีวิตคู่คือตัวการที่สร้างความทุกข์แสนสาหัสแก่เธอ การหาทางออกจากทุกข์ด้วยวิธีคิดแบบนี้นำไปสู่โศกนาฏกรรมในตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้

    ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงเปิดเผยถึงด้านมืดของครอบครัวตัวอย่างที่ผู้คนยุคนี้ชื่นชมและใฝ่ฝันตามคตินิยมแบบอเมริกันเท่านั้น แต่ยังเป็นกระจกอย่างดีที่ชวนให้เราหันกลับมามองตนและใคร่ครวญชีวิตอย่างลึกซึ้งด้วยว่า ชีวิตที่ว่างเปล่าภายในท่ามกลางทรัพย์สมบัติที่เพียบพร้อมนั้นสามารถมีความสุขได้แท้จริงหรือ การเรียกร้องความสุขจากผู้อื่นจะเติมเต็มชีวิตได้หรือไม่ และอะไรที่จะทำให้ชีวิตเติมเต็มได้อย่างแท้จริง

    การเป็นตัวเองอย่างที่เป็น การได้ทำงานที่ตนรัก หรือรักในงานที่ตนทำ รวมทั้งการทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อผู้อื่น ย่อมช่วยให้คนอย่างแฟรงค์และเอพริลมีความสุขมากขึ้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการหันกลับมามองตน รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่ง จนมองเห็นว่าความทุกข์ที่แท้นั้นมาจากใจของตน เมื่อนั้นก็จะพบว่าหนทางแห่งความสงบและความสุขมีอยู่แล้วในใจของตน หากวางใจเป็น ความสุขสงบก็จะปรากฏกลางใจ ที่เคยรู้สึกพร่องหรือว่างเปล่าก็จะรู้สึกเติมเต็ม เมื่อนั้นเสียงบ่นระงมภายในจะเลือนหาย การทะเลาะวิวาทกับผู้คนจะลดลง เกิดสันติสุขทั้งกับตนและผู้อื่นได้ในที่สุดไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม

    ใช่หรือไม่ว่าสิ่งใดเต็มสิ่งนั้นสงบ

    :- https://visalo.org/article/sarakadee255205.htm
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ไม่หลงความคิด ไม่ติดความเห็น
    พระไพศาล วิสาโล
    บิดาของ“วิทยา”เป็นคนสูบบุหรี่จัดจนเป็นมะเร็งปอด ระหว่างที่พ่อเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เขาขอร้องให้พ่อเลิกสูบบุหรี่ตามคำแนะนำของหมอ พ่ออิดออดแต่ก็ยอมตามในที่สุด เมื่อรักษาครบกำหนด พ่อกลับมาพักฟื้นที่อพาร์ทเมนท์ที่ลูกเช่าให้ แต่อาการก็ทรุดลงตามลำดับ วันหนึ่งขณะที่มาเยี่ยมพ่อ เขาเห็นก้นบุหรี่หลายอันตกอยู่บนระเบียง จึงต่อว่าพ่อ แต่พ่อปฏิเสธ เขาโมโหมากที่พ่อปากแข็ง จึงใช้คำรุนแรงกับพ่อ หลังจากนั้นไม่นานพ่อได้เสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน เมื่อจัดงานศพเสร็จ เขามาเก็บข้าวของของพ่อที่อพาร์เมนท์ เขาแปลกใจที่พบว่ายังมีก้นบุหรี่ที่เพิ่งทิ้งใหม่ ๆ ตกอยู่ที่ระเบียง ในที่สุดเขาจึงรู้ว่าก้นบุหรี่ที่เห็นในวันนั้นไม่ใช่ของพ่อ แต่เป็นของห้องข้างบนที่โยนลงมาและคงโดนลมพัดปลิวมาตกที่ระเบียงห้องของพ่อ เขารู้สึกผิดมากที่ไม่เชื่อพ่อแถมกล่าวหาพ่อว่าดื้อดึงและปากแข็ง แต่สายไปแล้วที่จะไปขอขมาท่าน

    วิทยาไม่เชื่อพ่อเพราะมั่นใจในความคิดของตนเอง เมื่อเห็นก้นบุหรี่ที่ระเบียงห้องของพ่อ เขาก็สรุปทันทีว่าพ่อไม่ยอมเลิกบุหรี่ เขาไม่ยอมมองมุมอื่น ทั้ง ๆ ที่พ่อยืนกรานว่าไม่ได้สูบบุหรี่ ความเชื่อมั่นในความคิดของตนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มึนตึงกับพ่อ จนกลายเป็นตราบาปในใจเขา รูปการน่าจะเป็นอย่างที่วิทยาคิด แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากวิทยาไม่ด่วนสรุป หรือเผื่อใจไว้บ้างว่า ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่เขาคิด เขาคงไม่กล่าวหาและใช้คำรุนแรงกับพ่อเช่นนั้น นี้คือบทเรียนราคาแพงของเขา

    เมื่อเห็นหรือได้ยินอะไรก็ตาม เรามิได้รับรู้เฉย ๆ แต่มักจะมีความคิดหรือข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้นตามมาด้วย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยิ่งเป็นเรื่องที่เราถือว่าสำคัญ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องตีความหรือคิดต่อจากสิ่งที่เห็นและได้ยิน นี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ปัญหามักเกิดขึ้นเมื่อเราเชื่อมั่นในความคิดหรือข้อสรุปนั้น จนบางครั้งเผลอทึกทักว่าเป็นความจริง

    ความเข้าใจผิดมักเกิดจากการด่วนสรุปและติดยึดในความคิดจนไม่สามารถยอมรับความจริง(หรือความเห็น)ที่สวนทางกับความคิดนั้น คู่รักมักกล่าวหาอีกฝ่ายว่านอกใจเพียงเพราะเห็นเขา(หรือเธอ)หัวร่อต่อกระซิกกับเพศตรงข้ามในร้านอาหาร เพียงแค่ทักเพื่อนแล้วเขาไม่ทักตอบแถมมีสีหน้ามึนตึง ก็สรุปแล้วว่าเขาไม่พอใจเรา เราก็เลยมึนตึงกับเขาเป็นการตอบโต้

    ความคิดกับความจริงนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้ความคิดสามารถนำเราไปสู่ความจริง เช่นเดียวกับแผนที่ที่พาเราไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่เราก็พบบ่อยมิใช่หรือว่าแผนที่(โดยเฉพาะที่ทำอย่างหยาบ ๆ และโดยคนที่ไม่รู้จริง)สามารถพาเราไปผิดทิศผิดทางได้ ในทำนองเดียวกันความคิดบางอย่างก็กลับพาเราเหินห่างจากความจริง ดังนั้นจึงไม่ควรหลงเชื่อความคิดเสียทีเดียวนัก ควรหัดทักท้วงความคิดบ้าง อย่าลืมว่าแผนที่ที่ดีที่สุดไม่สามารถเป็นตัวแทนของความจริงได้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงอย่างไรก็ยังมีข้อมูลหรือรายละเอียดสำคัญที่ขาดหายไป

    อย่าว่าแต่ความคิดเลย แม้แต่ภาพที่ปรากฏแก่สายตาของเรา ก็ยังเชื่อไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นความจริง หรือไม่สามารถยืนยันได้ว่าตรงกับความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์

    ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ เล่าว่า คราวหนึ่งเขาถูกชวนให้ดูคลิปวีดีโอความยาว ๒๕ วินาที เป็นภาพหนุ่มสาว ๖ คนใส่เสื้อขาวและดำยืนเป็นวงกลม ต่างผลัดกันโยนลูกบอลให้แก่กันและกัน ระหว่างนั้นแต่ละคนจะสลับตำแหน่ง รวมทั้งเดินเข้าและออกจากวงตลอดเวลา ก่อนฉายคลิปดังกล่าว ผู้จัดได้บอกเขาและเพื่อน ๆ ว่า ต้องการทดสอบความสามารถในการสังเกตของทุกคน จึงขอให้นับดูว่ามีการโยนลูกบอลให้กันรวมทั้งหมดกี่ครั้ง เมื่อดูจบทุกคนก็เขียนคำตอบลงบนกระดาษ

    หลังจากผู้จัดเก็บผลการนับของแต่ละคนแล้ว ก็ถามขึ้นมาประโยคหนึ่งซึ่งดอว์กินส์งงงันมาก นั่นคือ “มีกี่คนที่เห็นกอริลลา?” เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ที่ได้ดูคลิปวีดีโอ ดอว์กินส์ตอบว่าไม่เห็นกอริลลาเลยสักตัว ผู้จัดจึงฉายวีดีโอคลิปอีกครั้ง พร้อมกับแนะให้ทุกคนดูอย่างสบาย ๆ ไม่ต้องนับอะไรทั้งสิ้น ทุกคนประหลาดใจมากเพราะได้เห็นคนสวมชุดกอริลลาเดินฝ่าวงที่กำลังโยนลูกบอล แถมยังหันหน้ามาที่กล้อง พร้อมกับตีอก ราวกับจะเย้ยหยันคนดู แล้วก็เดินออกไป ทั้งหมดใช้เวลานานถึง ๙ วินาที แต่ปรากฏว่าคนดูส่วนใหญ่มองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เลย

    การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แม้แต่สิ่งที่ปรากฏต่อหน้าต่อตาเรา ก็ยังหลุดลอดสายตาของเราหรือเลือนหายไปจากการรับรู้ของเราได้ โดยเฉพาะเวลาเราจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งอื่นก็อาจถูกปัดออกไปจากสายตาของเราโดยไม่รู้ตัว

    มีการทดลองคล้าย ๆ กันซึ่งทำโดย ดาเนียล ไซมอนส์ (Daniel J.Simons) คนเดียวกับที่ทำคลิปวีดีโอดังกล่าว ผู้ทดลองทำทีเข้าไปสอบถามทางกับชายคนหนึ่งที่กำลังเดินอยู่บนทางเท้า ระหว่างที่กำลังคุยกันอยู่ ก็มีชายสองคนขนประตูหรือวัตถุขนาดใหญ่เดินผ่ากลางอย่างไร้มารยาท จังหวะนั้นเองผู้ทดลองก็สลับบทบาทกับหนึ่งในสองคนนั้น คือขนประตูแทน และให้อีกคนมายืนคุยกับชายผู้นั้น ผลการทดลองปรากฏว่าร้อยละ ๕๐ ของฝ่ายหลังไม่เฉลียวใจเลยว่าตนกำลังคุยกับอีกคนหนึ่ง

    การรับรู้ของเราแม้เห็นด้วยตาแท้ ๆ ก็ยังมีข้อจำกัด เรารับรู้เพียงบางสิ่ง และตัดทอนอีกหลายสิ่งออกไปโดยไม่รู้ตัว นี้คือเหตุผลที่ครึ่งหนึ่งของคนเดินเท้าในการทดลองข้างต้นคิดว่าตนกำลังคุยอยู่กับคนเดียวกันกับที่มาถามทางตอนต้น ถ้ามีใครมาบอกเขาว่าความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เขาคงยืนยันหัวชนฝาว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาเชื่อสายตาของเขา

    เช่นเดียวกับภาพที่ปรากฏแก่สายตาของเรา ความทรงจำก็เชื่อไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าว่าแต่ความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่นานเป็นปีเลย แม้แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อชั่วครู่ที่แล้ว ความจำของเราก็อาจคลาดเคลื่อนได้

    ขณะที่อาจารย์ผู้หนึ่งกำลังบรรยายวิชาอาชญาวิทยา จู่ ๆ ชายพร้อมอาวุธก็บุกเข้ามาในห้องบรรยาย พร้อมกับฉกชิงกระเป๋าเอกสารของอาจารย์ไป หลังจากที่โจรวิ่งออกไปแล้ว อาจารย์ซึ่งมีสีหน้าเรียบเฉย ถามนักศึกษาซึ่งตกตะลึงทั้งชั้น ว่าโจรผู้นั้นมีลักษณะอย่างไร

    ปรากฏว่าคำตอบที่ได้แตกต่างกันไปคนละทิศละทาง โจรมีทั้งรูปร่างผอมและอ้วน ทั้งใส่และไม่ใส่แว่นตา มีทั้งผมดำและผมบลอนด์ มีทั้งสูง ๕ ฟุตครึ่งไปจนถึง ๖ ฟุตครึ่ง มีทั้งใส่เสื้อ
    เชิร์ตกางเกงยีนส์และสวมเสื้อหนังและกางเกงสีน้ำตาล

    เฟรด อินเบา (Fred Inbau) คืออาจารย์ผู้นี้ เขาต้องการชี้ให้เห็นว่าคำให้การของประจักษ์พยานนั้นไม่สามารถเชื่อถือได้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็เพราะเราเห็นความจริงแต่บางแง่ ส่วนที่เหลือหากไม่มองข้ามไปก็เติมแต่งเอาเอง

    ความทรงจำในสมองของเราจึงมีทั้งความจริงและความคิดปรุงแต่งปะปนกัน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ยิ่งไปกว่านั้นความทรงจำของเราแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา และง่ายที่คนอื่นจะมาต่อเติมหรือแทรกแซงได้ด้วย ในการทดลองคราวหนึ่ง มีหลายคนเห็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นตรงสี่แยกขณะที่สัญญาณจราจรเป็นสีแดง หลังจากนั้นครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ได้รับการบอกเล่าว่าสัญญาณจราจรเป็นสีเขียว เมื่อมีการสอบถามคนกลุ่มนี้ในเวลาต่อมาว่าสัญญาณเป็นสีอะไร คนที่ได้รับการบอกเล่ามาก่อนมีแนวโน้มจะตอบว่าสัญญาณเป็นสีเขียว

    ทั้งหมดนี้ชี้ว่า “ความจริง”ในสายตาหรือการรับรู้ของเรานั้น มักจะมีความคิดเจือปนหรือปรุงแต่งไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงมักจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่ควรตั้งเป็นข้อสังเกตก็คือตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเหตุการณ์กลาง ๆ ที่ไม่เกี่ยวพันกับอคติของผู้สังเกต หากเป็นเรื่องที่ผู้สังเกตมีอคติหรือความคิดล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว ก็จะเห็นความจริงคลาดเคลื่อนยิ่งไปกว่านี้ เช่นถ้าชอบใคร(ฉันทาคติ)ก็เห็นเขาดีไปหมด มองไม่เห็นด้านร้ายของเขาเลย หรือถ้าโกรธใคร (โทสาคติ)ก็เห็นแต่ด้านร้ายของเขา มองไม่เห็นความดีของเขาเลย

    ด้วยเหตุที่เรามีข้อจำกัดในการรับรู้ จึงไม่ควรยึดติดถือมั่นว่าการรับรู้ของเราถูกต้อง ส่วนของคนอื่นนั้นผิด ในทำนองเดียวกันความคิดหรือข้อสรุปใด ๆ ก็ไม่ควรด่วนสรุปหรือมั่นใจว่าถูกต้อง ควรเผื่อใจไว้เสมอว่าเรายังเห็นความจริงไม่ครบถ้วนและสิ่งที่เราคิดนั้นอาจผิดก็ได้ จริงอยู่เราคงทำอะไรไม่ได้เลยหากไม่มีข้อสรุปบางอย่างหรือเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างเป็นความจริง แต่ระหว่างที่เราทำไปตามความคิดหรือความเชื่อนั้น ก็ควรเปิดใจรับรู้สิ่งที่แตกต่างไปจากความคิดและความเชื่อนั้นบ้าง

    ในพุทธศาสนามีหลักธรรมข้อหนึ่งที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาปัญญา ได้แก่ “สัจจานุรักษ์” คือการพร้อมรับฟังความคิดความเห็นของผู้อื่นด้วยใจเป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินว่าเป็นเท็จ และไม่ยึดติดหรือยืนกรานว่าสิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นถูกต้องเป็นจริง

    สัจจานุรักษ์หากใช้คู่กับกาลามสูตรก็จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นทาสของความคิด พร้อมเปิดใจกว้างเพื่อเข้าถึงความจริงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ...เพราะการอนุมาน....เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจแล้ว...เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ รวมทั้งอย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล”

    ถ้าเราไม่ด่วนสรุปหรือหลงเชื่อความคิดของตน แม้จะดูมีเหตุผลเพียงใด เราจะทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายกันน้อยลง แม้กระทั่งกับคนที่เรารักหรือรักเรา
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255302.htm
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ไถ่โทษ
    รินใจ
    หลังจากที่บำเพ็ญภาวนาร่วมกันมาหลายวัน เธอกับเพื่อน ๆ ได้แยกย้ายกันไปปลีกวิเวกกลางป่า ๑ วัน ๑ คืน ครูแนะนำให้ทุกคนอดอาหารในช่วงดังกล่าว และใช้โอกาสนี้หยั่งมองเข้าไปภายใน รับรู้ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาไม่ว่าบวกหรือลบด้วยใจที่เป็นกลาง และเมื่อจิตสงบนิ่ง ครูแนะให้ “เชิญ”ใครก็ได้ที่รู้สึกผูกพันหรือค้างคาใจ ให้มาคุยด้วย และใช้โอกาสนี้เปิดเผยความในใจต่อกัน

    คืนนั้นเธอไม่ได้ตั้งใจเชิญใครมาคุยกับเธอ แต่ปรากฏว่ามีเด็ก ๓ คนมาหาเธอ แม้เธอไม่รู้จักเด็กทั้งสามคนเลย แต่รู้สึกคลับคล้ายคลับคลา ที่แปลกก็คือทั้งสามคนถามเธอว่า “เมื่อไหร่แม่จะให้หนูไปเกิดสักที” เธอตะลึงอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ระลึกขึ้นได้ว่า ทั้งสามคือลูกในท้องที่เธอทำแท้งเมื่อหลายปีก่อน ทันทีที่นึกได้ความเศร้าและรู้สึกผิดก็ทะลักจนท่วมท้นหัวใจ เธอเล่าในภายหลังว่าคืนนั้นเธอขอโทษลูกทั้งสาม และได้มีการเจรจาตกลงกัน เธอยอมปล่อยให้ทั้งสามไปเกิดใหม่ ไม่ยื้อยุดไว้ในส่วนลึกของจิตใจอีกต่อไป หลังจากเหตุการณ์คืนนั้น เธอก็รู้สึกโปร่งเบาอย่างยิ่ง ความเศร้าและรู้สึกผิดที่ฝังลึกในจิตใจหายไปอย่างสิ้นเชิง

    เด็กทั้งสามมิได้มาจากไหน หากมาจากส่วนลึกของจิตใจเธอนั่นเอง แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปี แต่ความรู้สึกผิดจากการทำแท้งลูกทั้งสามยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจ และรบกวนเธออยู่เสมอ แม้เธอพยายามลืมมัน แต่ก็ไม่สำเร็จ ยิ่งพยายามกดข่มหรือผลักไสความรู้สึกดังกล่าว มันก็ยิ่งทิ่มแทงและสร้างความปั่นป่วนในจิตใจ บ่อยครั้งเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอาการเหล่านั้นเกิดจากอะไร เพราะจิตสำนึกไม่อยากรับรู้หรือยอมรับความผิดพลาดในอดีต

    ความรู้สึกผิดที่ติดค้างในส่วนลึกของจิตใจ ทำให้เธอไม่สามารถปล่อยวางลูกทั้งสามได้เลย แม้ว่าทั้งสามจะตายไปนานแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในใจของเธอ กระนั้นเธอก็พยายามซุกซ่อน ไม่อยากนึกถึงลูกทั้งสาม แต่การทำสมาธิภาวนาในคืนนั้น ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเธอ

    คำแนะนำของครูที่ขอให้เธอยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง ทำให้มโนภาพของเด็กทั้งสามปรากฏสู่การรับรู้ของจิตอย่างแจ่มแจ้ง ไม่มีการผลักไสต่อต้านหรือกดข่มอีกต่อไป จากจุดนั้นเองที่การสนทนาภายในใจได้เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา คำพูดของเด็กทั้งสามมิใช่อะไรอื่นหากมาจากใจที่เป็นทุกข์กับการยึดติดและอยากเป็นอิสระเสียที ทันทีที่เธอกล้าเผชิญหน้ากับความผิดพลาดและยอมรับผิดในสิ่งที่ได้ทำลงไป ความรู้สึกผิดก็จางคลายไป บัดนี้เธอสามารถปล่อยวางลูกทั้งสามได้แล้ว ในความรู้สึกของเธอทั้งสามได้ไปเกิดใหม่แล้ว คงเหลืออยู่แต่ความทรงจำที่สามารถระลึกถึงได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป

    ความรู้สึกผิดเปรียบเสมือนแส้ที่คอยโบยตีจิตใจ มันเรียกร้องให้เราแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง และระวังตัวที่จะไม่ทำผิดซ้ำสอง บ่อยครั้งสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วไม่อาจแก้ไขให้คืนดีได้ แต่อย่างน้อยก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ นั่นคือ การขอโทษ แม้ว่าคำขอโทษไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่ก็สามารถเยียวยาบาดแผลที่เรื้อรังในจิตใจ ไม่เฉพาะของเราเองเท่านั้น แต่ของอีกฝ่ายด้วย

    แต่จะขอโทษได้อย่างไรหากอีกฝ่ายไม่อยู่ให้เราเอ่ยคำขอโทษ นี้คือสาเหตุแห่งความเจ็บปวดของผู้คนเป็นอันมากเพราะความรู้สึกผิดจะโบยตีจิตใจไม่หยุดหย่อน อย่างไรก็ตามไม่มีคำว่าสายสำหรับการขอโทษ แม้อีกฝ่ายจะตายไปนานแล้ว แต่เราก็ยังสามารถเอ่ยปากขอโทษเขาได้อยู่ เพราะเขายังคงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจเรามิใช่หรือ

    การ “เชิญ”เขามาเพื่อรับฟังคำขอโทษจากเรา เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเยียวยาบาดแผลในจิตใจของเราได้ ในการอบรมคราวหนึ่ง ทุกคนได้รับคำแนะนำให้น้อมจิตอยู่ในความสงบ จากนั้นก็ให้ระลึกถึงผู้ที่จากไป ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยรู้สึกผูกพันใกล้ชิดแต่ต่อมาได้ทำความผิดพลาดบางอย่างกับเขา เป็นความผิดพลาดที่เรารู้สึกเศร้าโศกเสียใจกระทั่งบัดนี้ ลำดับต่อมาก็ให้เรา “เชิญ”เขามานั่งอยู่ข้างหน้าเรา จากนั้นให้เราเปิดเผยความในใจของเรากับเขา พูดกับเขาทุกอย่างที่เราอยากจะพูด

    หลายคนได้พบว่าวิธีนี้ได้ช่วยปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจไปได้มาก บางคนได้เชิญยายซึ่งเลี้ยงดูเธอตั้งแต่เล็ก และขอโทษที่ไม่ได้ดูแลยายในยามเจ็บป่วยทั้ง ๆ ที่เธอเป็นพยาบาล ยิ่งกว่านั้นวันเผาศพยายเธอก็ยังไม่ได้ไปร่วมงานเพราะติดธุระสำคัญ บางคนเชิญพ่อมานั่งอยู่ต่อหน้า และเอ่ยปากขอโทษที่เหินห่างหมางเมินกับพ่อ กระทั่งในยามที่พ่อล้มป่วย ก็ไม่ได้ปรนนิบัติพ่อเท่าที่ควร เขาไม่เพียงกล่าวคำขอโทษ ในมโนภาพเขายังได้โอบกอดพ่อ เป็นโอบกอดที่เขาไม่เคยกระทำเลยในยามที่พ่อมีชีวิตอยู่ เพราะพ่อเองก็ไม่เคยทำเช่นนั้นกับลูก ในมโนภาพเขาเห็นพ่อยิ้มให้เขา ทำให้ความรู้สึกผิดมลายหายไป มีความปลื้มปีติมาแทนที่ ในขณะที่เล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง เขายิ้มทั้งน้ำตา

    อดีตนั้นผ่านไปแล้ว ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่เรามักอดไม่ได้ที่จะปักใจยึดติดอยู่กับอดีตที่เจ็บปวด และปล่อยให้ภาพแห่งอดีตนั้นโบยตีจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความทุกข์จึงมาจากใจของเราเองยิ่งกว่าอะไรอื่น แต่มองในอีกแง่หนึ่ง การเป็นอิสระจากทุกข์ก็อยู่ที่ใจเราเป็นสำคัญ แทนที่จะปักใจอยู่กับภาพลบ การนึกคิดในทางบวกสามารถเยียวยาจิตใจให้เราคลายทุกข์ได้ โดยเฉพาะเมื่อออกมาจากใจที่สำนึกผิด

    ในภาพยนตร์เรื่อง Atonement ไบรโอนี่เด็กสาววัย ๑๓ ปีได้ทำความผิดพลาดอย่างมหันต์ ด้วยการกล่าวหาว่าร็อบบี้ซึ่งเป็นคนรักของพี่สาวเธอ เป็นผู้ที่ข่มขืนหญิงสาวที่พักอยู่ในบ้านเดียวกับเธอ แม้เธอไม่เห็นหน้าผู้ร้ายชัดเจนแต่เธอปักใจเชื่อว่าเป็นร็อบบี้แน่นอน เพราะเห็นเขาแสดงพฤติกรรมทางเพศบางอย่างกับซีซีเลียพี่สาวของเธอ (ซึ่งในสายตาของเด็กที่ไร้เดียงสาทางเพศ มองว่าเป็นการกระทำที่คุกคามและล่วงละเมิดผู้หญิง) คำกล่าวหาของเธอทำให้ร็อบบี้ติดคุกหลายปีและหมดอนาคต ส่วนซีซีเลียก็โกรธเธอมาก และหนีออกจากบ้านไปเพราะทนไม่ได้ที่พ่อแม่ของเธอดูถูกเหยียดหยามร็อบบี้ด้วยความเชื่อว่าเขาเป็นคนชั่วร้ายจริง ๆ

    ผลกระทบที่ต่อเนื่องจากคำกล่าวหาของไบรโอนี่ยังมีมากกว่านั้น ร็อบบี้ได้สมัครไปรบกับเยอรมันเพื่อจะได้ไม่ต้องติดคุก ส่วนซีซีเลียได้สมัครเป็นพยาบาลและรอวันที่จะได้พบกับคนรักของเธอ ไบรโอนีซึ่งตอนนี้อายุ ๑๗ แล้ว รู้สึกสำนึกผิดในสิ่งที่ทำลงไปหลังจากที่รู้ความจริงว่าคนที่ก่อคดีข่มขืนเมื่อหลายปีก่อนนั้นเป็นเพื่อนของร็อบบี้ต่างหาก เพื่อเป็นการไถ่โทษเธอจึงไปสมัครเป็นพยาบาลช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บจากสงครามเช่นเดียวกับซีซีเลีย เธอพยายามที่จะพบคนทั้งสองเพื่อกล่าวคำขอโทษ แต่ก็ถูกตอบโต้ด้วยความโกรธ

    อย่างไรก็ตามเรื่องก็ยังจบลงด้วยดีเมื่อร็อบบี้และซีซีเลียได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง และได้ใช้ชีวิตร่วมกันฉันคู่รัก แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ทั้งสองจะแยกย้ายกันไปปฏิบัติหน้าที่

    แล้วภาพยนตร์ก็ตัดมาที่ไบรโอนี่วัยชรา ซึ่งกลายเป็นนักเขียนชื่อดังที่กำลังจะตาย เธอให้สัมภาษณ์ว่าได้นำเหตุการณ์ข้างต้นนี้มาถ่ายทอดในนิยายเชิงอัตชีวประวัติเล่มล่าสุดของเธอ เพื่อเปิดเผยความจริงต่อโลกว่าร็อบบี้เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นการไถ่ถอนความผิดบาปของเธอ เธอกล่าวย้ำว่าทุกอย่างในหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหมด ยกเว้นตอนเดียวนั่นคือตอนที่ร็อบบี้และพี่สาวของเธอได้กลับมาครองรักกัน เพราะในความเป็นจริงทั้งสองตายในสงครามโดยไม่มีโอกาสมาพบหน้ากันเลย และเธอก็ไม่มีโอกาสขอโทษคนทั้งสองด้วย

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการหักมุมเช่นนี้ทำให้คนดูถึงกับอึ้งไปเลยด้วยความสงสารในชะตากรรมของคนทั้งสอง ไบรโอนี่ให้เหตุผลว่าที่ต้องเปลี่ยนตอนจบจากร้ายกลายเป็นดีก็เพราะความเห็นใจคนทั้งสอง แม้ชีวิตจริงของทั้งสองจะไม่สมหวังในความรัก แต่อย่างน้อยก็ควรจะสมหวังในเรื่องที่เธอแต่ง เธอไม่ได้พูดต่อ แต่ก็เดาได้ไม่ยากว่า ที่เธอทำเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อผู้อ่านหรือเพื่อคนทั้งสองเท่านั้น แต่เพื่อตัวเธอเองด้วย เพราะการเขียนให้คนทั้งสองได้มาครองรักกันอย่างสุขสดชื่นนั้น เป็นหัวใจของการไถ่โทษของเธอ

    เพียงแค่เปิดเผยต่อโลกว่าร็อบบี้เป็นผู้บริสุทธิ์ และเธอต่างหากที่เป็นคนผิด เท่านั้นยังไม่เพียงพอสำหรับเธอ เธอควรช่วยให้คนทั้งสองสมสมหวังในความรักด้วย แม้ในชีวิตจริงเธอไม่อาจทำเช่นนั้นได้ แต่การที่เห็นทั้งสองสมหวังในจินตนาการของเธอ ก็ช่วยเยียวยาจิตใจของเธอได้มาก เธอรู้ตัวดีว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน จึงอยากจะปลดเปลื้องความรู้สึกผิดให้ออกไปจากจิตใจ ดูเหมือนเธอจะทำสำเร็จเพราะมีสีหน้าที่สงบและผ่อนคลายมากขณะที่พูดถึงเบื้องหลังของนิยายที่เธอแต่ง

    ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูเหมือนจะบอกกับเราว่าไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการขอโทษและไถ่ถอนความผิดบาป แม้เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่เราสามารถนำภาพแห่งอดีตกลับคืนมาและเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ อย่างน้อยการเชิญผู้ที่เจ็บปวดจากการกระทำของเรา กลับมาเพื่อรับรู้คำขอโทษจากเรา หรือได้พบกับสิ่งดี ๆ ที่เขาไม่ได้พบในชีวิตจริง ก็สามารถเยียวยาจิตใจเราได้

    จริงอยู่สิ่งที่เราสร้างภาพขึ้นมาในใจนั้นไม่ใช่เรื่องจริง แต่ใช่หรือไม่ว่าคนเราทุกข์ก็เพราะความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่งขึ้นมาทั้งนั้น ถ้าความรู้สึกนึกคิดทำให้เราทุกข์ได้ มันก็สามารถทำให้เราเป็นสุขได้เช่นเดียวกัน จะสุขหรือทุกข์จึงอยู่ที่การวางใจเป็นสำคัญ แม้ทำสิ่งดีงามแต่วางใจไม่ถูกก็เป็นทุกข์ ในทำนองเดียวกันแม้สำนึกผิด แต่ถ้าปล่อยวางไม่ได้ มันก็โบยตีทิ่มแทงจิตใจไม่เลิกรา แต่ถ้าวางใจให้เป็น นึกคิดในทางบวกหรือมีกุศโลบาย ก็สามารถยกความทุกข์ออกไปจากจิตใจได้ แต่ทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มต้นจากการยอมรับและกล้าเผชิญหน้ากับความจริงแม้จะเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255106.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    สุขได้แม้ภัยมา
    พระไพศาล วิสาโล
    เวลาพูดถึงความสุข เรามักนึกถึงสิ่งดี ๆ ที่อยากให้เกิดขึ้นกับตน เช่น ความมั่งมี เกียรติยศ สุขภาพ ความสำเร็จ ชื่อเสียง และคำสรรเสริญเป็นต้น ด้วยเหตุนี้พอถึงวาระสำคัญของชีวิตหรือเทศกาลสำคัญของปี เช่น วันเกิด วันปีใหม่ เราจึงอยากได้คำอวยพรให้เจริญด้วยสิ่งเหล่านั้น ยิ่งหากได้ไปกราบหลวงพ่อคูณด้วยแล้ว ไม่มีพรใดที่ผู้คนอยากได้จากท่านมากไปกว่าคำพูดว่า “กูขอให้มึงรวย” และไม่มีวัตถุมงคลใดที่น่าสักการะเท่ากับแผ่นป้ายที่(เชื่อว่า)ท่านปลุกเสกเอาไว้ว่า
    “บ้านนี้อยู่แล้วรวย”

    แต่จริงหรือที่รวยแล้วจะมีความสุข คนรวยที่ถูกรุมเร้าด้วยความเครียดมีอยู่ทุกหนแห่ง คนไทยทุกวันนี้รวยกว่าเมื่อ ๔๐ ปีก่อนหลายเท่าตัว แต่ขณะเดียวกันอัตราการป่วยด้วยโรคเครียดก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่าตามโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ มีการสั่งยาคลายเครียดหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทถึง ๑ ใน ๔ ของใบสั่งยาทั้งหมด ส่วนในกรุงเทพมหานครและภาคกลางก็พบว่ามีการใช้ยาคลายเครียดเพิ่มสูงขึ้นมาก ในชั่วเวลาเพียง ๒ ปี คือระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๖ มีการใช้ยาคลายเครียดเพิ่มขึ้น ๔ เท่าตัว

    อาจเป็นไปได้ว่าเพราะเครียดและครุ่นคิดกับการทำมาหาเงินนี่แหละถึงทำให้รวย ใคร ๆ จึงอยากจะรวยโดยไม่ต้องเหนื่อยยาก แต่ความร่ำรวยที่ได้มาง่าย ๆ โดยไม่ต้องออกแรงก็ใช่ว่าจะทำให้มีความสุขเสมอไป มีหลายรายที่ได้เงินมาหลายสิบล้านจากการถูกล็อตเตอรี่หรือขายที่นา แต่ในชั่วเวลาไม่กี่ปีกลับกลายเป็นคนติดเหล้า เต็มไปด้วยหนี้สิน หรือลงเอยด้วยการเป็นแรงงานรับจ้าง บางรายหนักกว่านั้น ชั่วเวลาไม่ถึงเดือนที่ได้เงินรางวัล ๒๐ ล้านบาท ก็กินยาพิษฆ่าตัวตาย เนื่องจากเครียดที่ถูกใครต่อใครรุมทึ้ง แม้จะแบ่งให้ไปก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จนบางคนถึงกับโทรศัพท์มาขู่ฆ่า เจ้าตัวจึงตัดสินใจดับชีวิตตัวเองเพื่อหนีทุกขลาภ

    ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๕๔๓ มีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้เงินรางวัลจากล็อตเตอรี่ร่วม ๑๐๐ ล้านเหรียญ เงินมหาศาลขนาดนี้น่าจะทำให้มีความสุขไปชั่วชีวิต แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้น ๕ ปี มีรายงานข่าวว่าสามีภรรยาคู่นี้หย่าขาดจากกัน ต่อมาสามีก็ตายด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับสุรา ส่วนภรรยาก็ตายอย่างโดดเดี่ยวในคฤหาสน์ สามีภรรยาคู่นี้คงไม่จบชีวิตอย่างนี้หากไม่ถูกล็อตเตอรี่ ใช่หรือไม่ว่า “โชค” นั้นมักกลายเป็น “เคราะห์” ได้อย่างที่เรานึกไม่ถึง

    พูดมาทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่า เงินหรือความร่ำรวยจะทำให้เราเป็นทุกข์เสมอไป ประเด็นอยู่ที่ว่า ความสุขของคนเรานั้นไม่ได้อยู่ที่ว่ามีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นอย่างไร แม้ความมั่งมีเกิดขึ้นกับเรา แต่หากเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูกต้อง (เช่น ใช้อย่างไม่บันยะบันยัง หรือไม่คบใครเพราะคิดว่าฉันรวยแล้ว หรือหวาดระแวงกลัวคนมาแย่งไป) ย่อมทำให้ชีวิตตกต่ำหรือเป็นทุกข์

    ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีชื่อเสียงเกียรติยศหรืออำนาจแล้ว เกิดหลงตัวลืมตนขึ้นมา ไม่คบค้าสมาคมกับใคร ย่อมมีแต่ “พวก” แต่ไร้ “เพื่อน” แม้จะแวดล้อมด้วยผู้คนแต่ในใจนั้นกลับรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง (เหมือนสำนวนจีนที่ว่า “ยิ่งสูง ก็ยิ่งหนาว”) ขณะเดียวกันก็หวาดระแวงใคร ๆว่าจะเด่นดังเกินกว่าตน หรือแย่งอำนาจไปจากตน ไปไหนมาไหนถ้าไม่มีใครมาพินอบพิเทาก็จะขุ่นเคืองใจ มิหนำซ้ำความหลงตนยังทำให้ลุแก่อำนาจ ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จนเกิดศัตรูไปทั่ว ชีวิตเช่นนี้ย่อมอยู่ร้อนนอนทุกข์ จะมีความสุขได้อย่างไร

    ในทางตรงข้ามแม้จะไม่ร่ำรวย แต่พอใจในสิ่งที่มี เพราะได้กินอิ่มนอนอุ่น ซ้ำยังมีเงินเหลือเผื่อแผ่ผู้อื่นหรือได้ทำบุญทำทาน ชีวิตเช่นนี้ย่อมมีความสุขมากกว่าเศรษฐีร้อยล้านที่รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่ายังรวยไม่พอ หรือหวาดวิตกกับราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ต้องดูอื่นไกล ชาวบ้านที่พอใจกับผ้าห่ม ๑ ผืนที่ได้รับแจก ย่อมมีความสุขมากกว่าพนักงานที่ได้โบนัส ๑ แสนบาทแต่ไม่พอใจที่เพื่อนร่วมงานได้ ๒ แสนบาท

    ผ้าห่มราคาไม่ถึง ๑๐๐ บาท อาจให้ความสุขได้มากกว่าโบนัส ๑ แสนบาท ความแตกต่างนั้นไม่ได้อยู่ที่ใครเป็นผู้รับ แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้รับนั้นวางจิตวางใจอย่างไร ถึงจะเป็นชาวบ้าน แต่ถ้าไปเปรียบเทียบกับบ้านอื่นที่ได้ผ้าห่ม ๒ ผืน ก็ขุ่นเคืองใจได้ง่าย ๆ พูดอีกอย่างก็คือ ได้อะไรไม่สำคัญเท่ากับว่ามีท่าทีอย่างไรกับสิ่งนั้น ถึงจะได้เงินมาหลายสิบล้านบาท แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับเงินก้อนนั้นอย่างไม่ถูกต้อง ก็เป็นทุกข์ได้ อาจเป็นทุกข์ตั้งแต่รู้ข่าวด้วยซ้ำ เพราะกลัวว่าคนอื่นจะมาขอหรือแย่งไป แต่ถ้าตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะแบ่งปันให้ผู้อื่น ไม่คิดหวงกอดเงินก้อนนั้นเอาไว้คนเดียว เงินก้อนนั้นก็นำความสุขมาให้ได้ไม่ยาก ยิ่งรู้เท่าทันว่าเงินจำนวนมากเช่นนั้นมีโทษอย่างไรบ้าง ก็ยากที่จะถูกเงินก้อนนั้นทำร้ายเอา

    ความสุขของคนเรานั้น ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรามากน้อยเพียงใด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร แม้เจ็บป่วยหรือทุพพลภาพ ก็ยังมีความสุขได้ หากรู้จักวางใจให้เป็น มีผู้ป่วยมะเร็งหลายคนที่มีความสุขมากกว่าคนปกติ หลายคนยอมรับว่าตนเองมีความสุขมากกว่าตอนที่ยังไม่เป็นมะเร็งเสียอีก ทั้งนี้ก็เพราะมะเร็งทำให้เขาหันเข้าหาธรรมะ และค้นพบความสุขที่แท้ซึ่งมีอยู่แล้วในจิตใจของตน ชีวิตที่เคยว้าวุ่นผันผวนและล่องลอยไปตามกระแสโลก กลับกลายเป็นชีวิตที่สงบเย็นมั่นคงและมีจุดหมายในการดำรงอยู่

    ก้อนมะเร็งนั้นอันตรายยิ่งกว่าเม็ดสิวบนใบหน้า ใคร ๆ ก็รู้ แต่เหตุใดมะเร็งถึงทำให้บางคนพบกับความสุขที่ลึกซึ้ง ขณะที่สิวเพียงไม่กี่เม็ดบนใบหน้าสามารถทำให้เด็กสาวบางคนถึงกับฆ่าตัวตายได้ คำตอบนั้นไม่ได้อยู่ที่อิทธิฤทธิ์ของก้อนมะเร็งหรือเม็ดสิว แต่อยู่ที่ท่าทีของเจ้าตัวต่อสิ่งนั้นต่างหาก สิวเพียงไม่กี่เม็ด หากมัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงมัน ด้วยความรู้สึกรังเกียจและอับอาย มันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ จนสามารถผลักไสให้เราทำร้ายตัวเองได้เพียงเพื่อจะหนีมันไปให้พ้น ๆ เท่านั้น
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    มะเร็งนั้นทำร้ายเราได้แค่ร่างกาย แต่ไม่สามารถทำร้ายจิตใจเราได้ เว้นเสียแต่ใจเราจะเผลอไปทำร้ายตัวเอง การยอมรับความจริง ไม่คิดผลักไสหรือปฏิเสธ ขณะเดียวกันก็ไม่ไปกังวลหรือหมกมุ่นกับอนาคต ช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันได้อย่างไม่ทุกข์ และถ้ารู้จักมองในแง่บวก ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าตัวเอง “โชคดี” บางคนเมื่อได้รับแจ้งจากหมอว่ามีมะเร็งอยู่ที่เต้านม ก็รู้สึกขึ้นมาทันทีว่าตัวเองโชคดีที่มารู้ความจริงขณะที่มันยังอยู่ในระยะต้น บางคนพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งสมอง แต่ก็ไม่ทุกข์ เพราะรู้สึกว่าโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูก ไม่เช่นนั้นคงจะเจ็บกว่านี้มาก

    มะเร็งฉันใด ความพิการก็ฉันนั้น ในขณะที่หลายคนพูดว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง” บางคนก็พูดว่า “ขอบคุณที่พิการ” เพราะหากไม่พิการ ก็คงไม่มาสนใจธรรมะ จนมีจิตที่โปร่งเบาและสงบเย็นอย่างที่คนธรรมดายังอิจฉา ในทางตรงกันข้าม คนที่มีอาการครบ ๓๒ จำนวนมากมาย กลับมีความทุกข์เพียงเพราะว่าผมแตกปลาย รักแร้คล้ำ น้ำหนักมาก หรือหน้าอกเล็ก บางคนพิการตั้งแต่คอลงมา แต่มีความสุขที่สามารถสร้างสรรค์ภาพวาด โดยใช้ปากคาบพู่กัน จนกลายเป็นศิลปินที่มีชื่อ ขณะที่หลายคนซึ่งมีร่างกายปกติทุกอย่างแต่ทุกข์เพราะไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง หรือใช้ชีวิตอย่างเสเพลจนตัวเองเดือดร้อน

    การมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับชีวิต ไม่ว่า ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ได้เป็นหลักประกันของความสุข สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่ใจของเราต่างหาก ถึงแม้จะมีสิ่งร้าย ๆ เกิดขึ้นในชีวิต แต่หากเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง (เช่น ยอมรับว่ามันเป็นธรรมดาของชีวิต หรือเป็นสิ่งที่ไม่อาจหนีพ้น) และรู้จักใช้ประโยชน์จากมัน หรือรู้จักมองให้เป็น ก็สุขได้ไม่ยาก สำหรับบางคน การตกงานจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องมามัวเศร้าโศกเสียใจ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้มีเวลากลับไปอยู่กับพ่อแม่และช่วยงานท่านที่บ้าน บางคนได้มีโอกาสพบงานใหม่ที่ดีกว่าก็เพราะถูกไล่ออกจากงาน สตีฟ จ๊อบส์ ถึงกับพูดว่า การที่ตนเองถูกไล่ออกจากบริษัท แอ๊ปเปิ้ลที่ตนสร้างมากับมือ นั้น “เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับผม” เพราะทำให้เขาไปบุกเบิกเทคโนโลยีแอนิเมชั่นที่บริษัทพิกซาร์ จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากผลงานอย่างเช่น Toy Story ก่อนที่ตัวเขาจะดังสุด ๆ จากเครื่องiPod

    การที่สิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นกับเรานั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ที่เราควบคุมไม่ได้ จนบางคนยกให้เป็นเรื่องของ “โชค”ไป หลายคนจึงเอาแต่พึ่งโชค หาไม่ก็หวังอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป โดยหาได้ตระหนักไม่ว่า ถึงแม้จะมีสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นกับเรา แต่อาจลงเอยด้วย ความทุกข์หรือความตกต่ำลำเค็ญก็ได้ อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่เป็นเรื่องของ “เคราะห์” แต่เป็นเรื่องของ “กรรม” กล่าวคือเกิดจากการกระทำของเราเองที่ไปเกี่ยวข้องกับมันอย่างไม่ถูกต้อง หรือวางใจไว้ไม่เป็นต่างหาก หากวางใจไว้เป็นแล้ว แม้แต่คำตำหนิก็กลายเป็นของดี ที่ช่วยให้เราฉลาดขึ้น (ถ้าไม่ฉลาดเพราะเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น ก็ฉลาดเพราะเห็นนิสัยคนตำหนิได้กระจ่างขึ้น) ด้วยท่าทีเช่นนี้ เล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ จึงกล่าวว่า “วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล”

    เจออะไร จึงไม่สำคัญเท่ากับเจอ อย่างไร ในทำนองเดียวกัน เป็นอะไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับเป็น อย่างไร ถึงจะเป็นคนสวนหรือเสมียน ก็อาจมีความสุขกว่าเป็นผู้จัดการ หากทำงานด้วยใจรักหรือมีฉันทะและเห็นคุณค่าของงานนั้น ไม่ใช่ทำด้วยตัณหาหรือมีกิเลสเป็นตัวผลักดัน ครูที่สอนด้วยความรักศิษย์นั้น สามารถสร้างสุขและก่อประโยชน์แก่ประเทศชาติได้มากกว่านายกรัฐมนตรีที่หวงอำนาจ ดังนั้นแทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาคอยว่าจะได้เป็นอะไรที่เด่นดังสูงส่งเสียที มาให้ความสำคัญกับการเป็นสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ให้ดีที่สุดจะไม่ดีกว่าหรือ

    สุขหรือทุกข์นั้น ถึงที่สุดแล้วก็อยู่ที่ใจของเราเป็นประการสำคัญ อย่างอื่นนั้นมีความสำคัญรองลงมา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปัจจัยภายในสำคัญกว่าปัจจัยภายนอก ดังนั้นแทนที่จะหวังให้มีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นกับเรา มาฝึกใจกันให้ฉลาดในการเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ดีกว่า เช่น พอใจในสิ่งที่มี รู้เท่าทันและยอมรับในความไม่เที่ยงของมัน ไม่หลงใหลเพลิดเพลินจนลืมตัว รู้จักใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งที่เกิดขึ้น และมองเห็น “โชค”จาก “เคราะห์” พอ ๆ กับที่รู้ทันว่ามี “เคราะห์” ซ่อนอยู่ใน “โชค” ที่สำคัญก็คือ สามารถเข้าถึงความสุขภายใน โดยไม่ติดยึดกับความสุขจากภายนอก หากทำได้เช่นนั้น อะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่สำคัญ เพราะเรารู้ว่าเกี่ยวข้องกับมันอย่างไรจึงจะไม่ทุกข์แต่เป็นสุขอยู่เสมอ

    :- https://visalo.org/article/sarakadee255001.htm
    . . EndLineMoving.gif
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ความสำเร็จอยู่ที่ใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    ความสามารถของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมาย นอกจากสติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยก็คือ สำนึกว่าเราเป็นใคร

    คล็อด สตีล ( Claude Steele) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกับคณะ เคยทดลองให้นักศึกษาทำแบบทดสอบชิ้นหนึ่ง โดยบอกว่าเป็นการวัดความสามารถทางสติปัญญา ปรากฏว่านักศึกษาผิวดำทำคะแนนได้น้อยกว่านักศึกษาผิวขาว แต่พอเอาแบบทดสอบชิ้นเดียวกันนั้นให้นักศึกษาทำ โดยบอกเพียงแค่ว่าเป็นแบบทดสอบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติการ ไม่เกี่ยวกับการวัดความสามารถแต่อย่างใด ปรากฏว่านักศึกษาผิวดำกับผิวขาวทำคะแนนได้ไม่ต่างกัน

    ในทำนองเดียวกันเมื่อให้นักศึกษาหญิงทำแบบทดสอบคณิตศาสตร์ โดยบอกว่าเป็นการวัดความสามารถ ปรากฏว่าคะแนนที่ออกมาต่ำกว่านักศึกษาชายที่มีความรู้ระดับเดียวกัน แต่พอบอกว่าแบบทดสอบนี้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการวิจัย นักศึกษาหญิงสามารถทำคะแนนได้มากพอ ๆ กับนักศึกษาชาย

    ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มีคำอธิบายว่า เมื่อนักศึกษาผิวดำหรือนักศึกษาหญิง ได้รับการบอกว่า แบบทดสอบที่ตนกำลังทำนั้น เป็นการวัดความสามารถของตน นักศึกษาเหล่านั้นจะรู้สึกว่าตนกำลังถูกทดสอบในฐานะที่เป็นคนผิวดำหรือผู้หญิง ถึงตรงนี้ทัศนคติกระแสหลัก(stereotype)ที่มองว่าคนผิวดำหรือผู้หญิงมีความสามารถด้อยกว่าคนผิวขาวหรือผู้ชาย ก็เข้ามามีอิทธิพลต่อความรู้สึกของนักศึกษาเหล่านั้น ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จึงทำคะแนนได้ไม่ดี จริงอยู่อาจมีบางคนที่ต้องการพิสูจน์ตนเองว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นมอง จึงมีความตั้งใจมากในทำแบบทดสอบดังกล่าว แต่ยิ่งตั้งใจมาก ก็ยิ่งเกร็งหรือเครียด จึงทำผลงานได้ไม่ดี ตรงข้ามกับเวลาที่นักศึกษาเหล่านั้นทำแบบทดสอบที่(ถูกบอกว่า)ไม่ได้ชี้วัดความสามารถอะไรเลย พวกเขาจะทำสบาย ๆ โดยไม่กังวลถึงสายตาของใคร และโดยไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นคนผิวดำหรือผู้หญิงด้วยซ้ำ ผลงานจึงออกมาดีไม่ด้อยไปกว่านักศึกษาผิวขาวหรือผู้ชาย

    ความสำนึกว่าตนเป็นใครนั้นสามารถส่งผลในทางบวกหรือลบต่อความสามารถก็ได้ แม้แต่คน ๆ เดียวกัน ผลงานก็อาจขึ้นหรือลงขึ้นอยู่ว่า มีสำนึกในตัวตนอย่างไร ดังเห็นได้จากการทดลองของมาร์กาเร็ต ชิน (Margaret Shin) และคณะ ซึ่งขอให้ผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชียมาทำแบบทดสอบทางคณิตศาสตร์ โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกถูกถามเกี่ยวกับเพศของตน เช่น ถูกถามว่าชอบหรือไม่ชอบเกี่ยวกับหอพักรวม (เพื่อปูทางให้เธอคิดถึงเรื่องเพศของตน) ส่วนอีกกลุ่ม ถูกถามเกี่ยวกับเชื้อชาติของตน เช่น ภาษาที่พวกเธอใช้ที่บ้าน รวมถึงประวัติความเป็นมาของครอบครัวเธอ (เพี่อปูทางให้พวกเธอคิดถึงเชื้อชาติของตน)

    ปรากฏว่าคะแนนที่ออกมาของสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มที่ถูกถามเกี่ยวกับเพศของตนทำคะแนนได้แย่กว่ากลุ่มที่ถูกถามเกี่ยวกับเชื้อชาติของตน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ กลุ่มแรกนั้นจะถูกกระตุ้นให้เกิดสำนึกในความเป็นผู้หญิง ซึ่งทำให้หวั่นไหวต่อความคิดกระแสหลักที่มองว่าผู้หญิงไม่เก่งคณิตศาสตร์ ขณะที่กลุ่มที่สองนั้น เมื่อถูกกระตุ้นให้เกิดสำนึกในความเป็นอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ก็จะรู้สึกมั่นใจในตนเองเพราะทัศนคติของคนทั่วไปในสหรัฐอเมริกามองว่าคนเชื้อชาตินี้เก่งเป็นพิเศษในด้านคณิตศาสตร์

    การทดลองดังกล่าวนอกจากจะยืนยันว่า สำนึกว่าตนเป็นใครมีผลต่อความสามารถที่แสดงออกมา (โดยสัมพันธ์กับสายตาของคนอื่น) ยังชี้ว่าคนเรานั้นมีสำนึกในตัวตนที่หลากหลาย ผลงานที่ออกมาจึงแตกต่างไปด้วย สุดแท้แต่ว่าผู้คนมีทัศนคติต่อตัวตน(หรืออัตลักษณ์)นั้นอย่างไร แม้สำนึกในตัวตนนั้นที่แตกต่างกันนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์หรือการกระตุ้นจากภายนอก (ดังตัวอย่างการทดลองที่กล่าวมา) แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะมีสำนึกในตัวตนแบบไหน แท้จริงแล้วเราสามารถเลือกมีสำนึกในตัวตนชนิดที่เสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ตนเองได้ แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมีสติรู้ทันเวลาเกิดสำนึกในตัวตนที่เป็นลบหรือต่ำต้อยในสายตาของคนอื่นด้วย หาไม่แล้วก็อาจหวั่นไหวต่อทัศนคติดังกล่าวได้ง่าย

    อย่างไรก็ตามจะดีกว่าไหมหากเราวางสำนึกในตัวตนลงเสีย เวลาทำงานใดก็ตาม ใจก็อยู่กับงานที่ทำ โดยไม่ปล่อยให้สำนึกในตัวตนนั้นครอบงำใจ รวมทั้งไม่แคร์ด้วยว่าใครจะมองว่าเราเก่งหรือไม่เก่ง ผลงานจะออกมาอย่างไรก็ไม่กังวลเพราะไม่สนใจคำชื่นชมหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทำงานด้วยจิตว่าง เป็นหนึ่งเดียวกับงาน โดยไม่พะวงกับอะไร แม้จะมีรางวัลเป็นผลตอบแทนก็ตาม

    จางจื๊อ ปราชญ์ชาวจีนในพุทธศตวรรษที่สาม ได้เล่าถึง “ขิง” ซึ่งแกะสลักที่แขวนระฆังได้อย่างงดงามราวเทวดาเนรมิต เมื่อถูกถามว่าเขามีความลับอย่างไรในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ เขาตอบว่า เขาไม่มีความลับอะไรดอก ก่อนทำงานเขาเพียงแต่ทำจิตให้สงบ ผ่านไปสามวัน “ข้าพเจ้าลืมนึกถึงผลได้และความสำเร็จ” ผ่านไปห้าวัน “ข้าพเจ้าลืมนึกถึงคำชมและคำวิจารณ์” ผ่านไปเจ็ดวัน “ข้าพเจ้าลืมนึกถึงร่างกาย” ถึงตอนนี้เขาไม่ได้นึกถึงอะไรเลย ไม่มีอะไรดึงดูดความสนใจของเขาจากงาน “ข้าพเจ้าประมวลความคิดลงเป็นหนึ่งแต่ในเรื่องที่แขวนระฆัง” เมื่อเขาเข้าป่า ได้เห็นต้นไม้ที่เหมาะ รูปร่างของที่แขวนระฆังก็ปรากฏแก่สายตาของเขา แล้วเขาก็ “เพียงแต่ใช้มือเริ่มทำรูปร่างนั้นให้เป็นจริงขึ้นมา”

    จางจื๊อยังพูดถึงนายขมังธนูผู้สามารถว่า “เมื่อนายขมังธนูยิงโดยไม่หวังอะไร ย่อมใช้ความชำนิชำนาญได้เต็มที่ ถ้ายิงเพื่อโล่ห์ทองเหลือง ย่อมประหม่าเสียแต่แรกแล้ว ถ้ายิงเอาทองเป็นรางวัล เลยตาบอดเอาด้วยซ้ำ หาไม่ก็เห็นเป้าเป็นสองเป้าเพราะใจไม่อยู่กับตัว” แท้จริงแล้วความชำนาญของเขาไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย แต่เป็นเพราะ “ความต้องการเอาชนะทำให้อำนาจของเขาขาดหายไป” (สำนวนแปลของส.ศิวรักษ์ ใน มนุษย์ที่แท้)

    นักฟุตบอลระดับโลก เมื่อต้องยิงลูกโทษในนัดสำคัญ หากเขาพะวงว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้ายิงไม่เข้า หรือเพียงแต่คิดว่านี้คือวินาทีแห่งความเป็นความตายของทีมเขา มีโอกาสมากที่เขาจะยิงพลาด ทั้ง ๆ ที่ตอนซ้อม เขาสามารถยิงประตูได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางตรงข้ามหากเขาไม่คิดถึงอะไร ใจแน่วแน่อยู่กับลูกฟุตบอลข้างหน้า มีโอกาสสูงมากที่ฟุตบอลจะเข้าไปตุงตาข่ายคู่แข่ง

    ความสำเร็จของนักฟุตบอลชั้นนำนั้น ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถเท่านั้น แต่อยู่ที่ใจด้วยว่าจะนิ่งเพียงใดในช่วงเวลาอันสำคัญ ฉันใดก็ฉันนั้น เราจะทำงานได้สำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการวางใจด้วยว่าจะนิ่งหรือ “ว่าง”เพียงใด ทั้งจากสำนึกในตัวตน จากสายตาของผู้คน และจากความคาดหวังในผลงาน
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255606.htm
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    Buddhasunrise.jpg
    ปลดเปลื้อง

    รินใจ
    “ซาโตมิ” เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งประสบภัยจากใบดินไหวที่เมืองโกเบเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เธอไม่เพียงสูญเสียบ้านและทรัพย์สินจนสิ้นเนื้อประดาตัวเท่านั้น หากยังสูญเสียสามีและลูกซึ่งกำลังมีอนาคต ทั้งหลายทั้งปวงที่เธอเคยมีพลันพินาศสิ้นไปในชั่วพริบตา

    แม้เธอจะรอดชีวิตมาได้ และฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ แต่ความสูญเสียครั้งนั้นกดถ่วงหน่วงทับจิตใจของเธอจนมิอาจเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ วันแล้ววันเล่าที่เธอหวนนึกถึงบ้านที่เคยอยู่ ข้าวของที่เคยผูกพัน ที่สำคัญก็คือสามีและลูกที่เคยอยู่ร่วมกัน เธอรู้ดีว่าทั้งหมดนั้นเป็นอดีตไปแล้ว แต่ก็มิอาจตัดใจได้ เธอพยายามลืมแต่ก็ไม่สำเร็จ เป็นเวลาแรมปีที่เธอจมอยู่ในความทุกข์

    แล้ววันหนึ่งมีเพื่อนแนะให้เธอไปวัดแห่งหนึ่งในเมืองเกียวโต ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโกเบ วัดนี้ตั้งอยู่บนภูเขา บริเวณหน้าผาเป็นที่ที่ผู้คนนิยมไปทำพิธีเปลื้องเคราะห์สะเดาะทุกข์ วิธีการก็คือเขียนความทุกข์หรือปัญหาที่กำลังประสบลงในจานดินเผา แล้วเหวี่ยงลงไปที่หุบเหว ซาโตมิรู้ดีว่าเธอไม่มีสิ่งเลวร้ายใด ๆ มาคุกคาม ปัญหาของเธออยู่ที่การติดยึดกับสิ่งดี ๆ ที่สูญไปแล้ว แต่เธอก็เห็นว่าน่าลองทำตามคำแนะนำของเพื่อน

    เมื่อเธอไปถึงหน้าผาของวัดแห่งนั้น เธอเริ่มต้นด้วยการเขียนคำว่า “บ้าน” “แหวนเพชร” “รถยนต์” “เงิน” ฯลฯ ลงไปในจานดินเผาแต่ละใบ จากนั้นก็หยิบจานแต่ละใบขึ้นมา แล้วพูดกับจานว่า “ขอบใจที่อยู่กับฉันมา ตอนนี้เจ้าไปได้แล้ว ฉันก็จะได้เป็นอิสระเสียที” จากนั้นก็เหวี่ยงลงไปจากหน้าผา เมื่อจัดการกับทรัพย์สินทั้งปวงแล้ว ก็ถึงคราวของผู้เป็นที่รัก เธอเขียนชื่อของสามีและลูกลงไปในจานแต่ละใบ แล้วหยิบขึ้นมาพร้อมกับพูดว่า “ขอบคุณที่อยู่ร่วมกันมา บัดนี้เธอเป็นอิสระแล้ว ฉันก็เป็นอิสระเช่นกัน” แล้วเธอก็เหวี่ยงลงไปในหุบเหวทีละใบ

    นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เธอรู้สึกโปร่งโล่งเป็นอิสระ ไม่รู้สึกทุกข์อีกต่อไป เธอยังนึกถึงสามีและลูกอยู่ แต่ไม่อาลัยอาวรณ์เหมือนก่อน อดีตที่กดถ่วงเธอไว้ถูกปลดเปลื้องจนหมดสิ้น บัดนี้เธอสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเป็นสุขและมีความหวัง

    ความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิต นั่นไม่เป็นปัญหาตราบเท่าที่ความพลัดพรากสูญเสียนั้นเกิดกับสิ่งที่เราไม่ชอบ ปัญหาก็คือบ่อยครั้งสิ่งที่เราชอบก็พลอยสูญเสียพลัดพรากไปจากเราด้วย อันที่จริงแล้วความพลัดพรากสูญเสียประการหลังนั้นไม่ทำให้เราทุกข์มากเท่าไรนัก แต่สาเหตุที่คนเราทุกข์ส่วนใหญ่ก็เพราะยังยึดติดกับสิ่งเหล่านั้นอยู่ เช่น ยึดติดกับความสุขหรือความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับจากสิ่งเหล่านั้น รวมไปถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นอยู่ คือยังยึดว่าเป็น “ของกู” ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นสูญหายไปจากเราหรือกลายเป็นของคนอื่นไปแล้วก็ตาม

    เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากทุกข์เพราะความยึดติดในสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้ว เรายังมักเผลอยึดความทุกข์ดังกล่าวเอาไว้อีก คือแบกความเศร้าโศก อาลัยอาวรณ์ รวมถึง ความโกรธแค้น พยาบาท เป็นต้น อารมณ์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก่อโทษต่อตัวเรา แต่แล้วเรากลับยึดมันเอาไว้ไม่ยอมปล่อย จึงทุกข์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นทุกข์สองชั้น ชั้นแรกทุกข์เพราะติดยึดกับสิ่งดี ๆ ที่พลัดพรากไป ชั้นที่สองทุกข์เพราะไปยึดสิ่งไม่ดีเอาไว้ การติดยึดกับสิ่งดี ๆ (แม้จะเป็นอดีตไปแล้ว) ยังพอมีเหตุผลอยู่บ้าง อย่างน้อยมันก็ยังเคยให้ความสุขแก่เรา แต่การไปยึดกับสิ่งไม่ดีที่เป็นโทษต่อจิตใจของเรานั้น ย่อมเป็นความหลงโดยแท้

    มองในแง่นี้ จะเห็นได้ว่า คนเราไม่ได้ทุกข์เพราะความพลัดพราก แต่ทุกข์เพราะความติดยึดต่างหาก ซาโตมิเองก็รู้ว่าความทุกข์ของเธอเกิดจากอะไร แต่เธอปล่อยวางไม่ได้ เพราะเผลอใจไปแบกความทุกข์เอาไว้ตลอดเวลา ภูมิคุ้มกันภายในใจเธอมีไม่มากพอ ในยามนี้เธอจึงต้องอาศัย “ตัวช่วย” ในกรณีของเธอ ตัวช่วยก็คือ “พิธีกรรม” การเหวี่ยง “บ้าน” “แหวนเพชร” “รถยนต์” ตลอดจน “สามีและลูก” ลงไปจากหน้าผา แม้จะเป็นการสลัดทิ้งในเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็ช่วยให้เธอปลดเปลื้องออกไปจากใจได้ง่ายขึ้น ใช่หรือไม่ว่าการกระทำภายนอกนั้นสามารถส่งผลถึงภายในได้

    ที่สำคัญก็คือเธอยังได้กล่าวอำลาบุคคลและสิ่งซึ่งเป็นที่รัก ความพลัดพรากที่ปราศจากการอำลา ย่อมเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก ญาติมิตรที่มีโอกาสกล่าวคำอำลาผู้ตายในขณะที่เขายังมีลมหายใจอยู่ ย่อมเศร้าโศกเสียใจน้อยกว่าญาติมิตรที่ไม่มีโอกาสเช่นนั้น แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่สายหากจะกล่าวคำอำลาต่อเขาแม้จะจากไปแล้ว อย่างน้อยก็ช่วยปลดเปลื้องภาระออกไปจากใจของผู้ที่ยังอยู่ได้

    พิธีกรรมและเทศกาลนั้น ส่วนหนึ่งมีขึ้นก็เพื่อช่วยให้ผู้คนทำใจกับความพลัดพราก หรือปลดเปลื้องความทุกข์ออกไปจากใจได้ง่ายขึ้น อาทิ งานศพ การถวายสังฆทาน แม้แต่เทศกาลปีใหม่ก็เป็นโอกาสสำหรับการอำลาอดีตและเริ่มต้นชีวิตใหม่ การรู้จักใช้พิธีกรรมที่มีอยู่ หรือการคิดค้นขึ้นใหม่ โดยอาจประยุกต์จากของเก่า ย่อมช่วยให้เราเผชิญกับความพลัดพรากสูญเสียได้ดีขึ้น

    แต่ก็อย่าลืมฝึกใจให้รู้เท่าทันตัวเองอยู่เสมอ ความห่วงหาอาลัยอดีต (หรือกังวลกับอนาคต) เกิดขึ้นได้ก็เพราะเราเผลอ และเผลอหนักขึ้นเมื่อไปแบกเอาความทุกข์ไว้ที่ใจ ความรู้เท่าทันในอาการดังกล่าว จะช่วยให้เราปล่อยวางได้มากขึ้น

    ในเวลาเดียวกันอย่ารอให้สูญเสียพลัดพรากก่อนจึงค่อยคิดปล่อยวาง ขณะที่คนรักหรือสิ่งเป็นที่รักยังอยู่กับเรา ก็เตือนใจไว้เสมอว่าสักวันหนึ่งก็จะต้องพลัดพรากจากกัน เพราะ “ได้” กับ “เสีย” “พบ” กับ “พราก” เป็นของคู่กัน นี้คือธรรมดาของชีวิต ถ้าทำได้เช่นนี้ล่วงหน้า เมื่อความพลัดพรากสูญเสียเกิดขึ้น เราจะเป็นทุกข์น้อยลง

    ฝึกทำใจพร้อมรับความพลัดพรากสูญเสียตั้งแต่วันนี้ เป็นดีที่สุด เริ่มจากสิ่งน้อย ๆ หรือเหตุการณ์เล็ก ๆ เงินหาย ๕๐๐ บาท หรือโทรศัพท์มือถือถูกขโมย ขอให้ถือว่าเป็นสิ่งฝึกใจให้รู้จักปล่อยวาง เพราะยังมีความสูญเสียยิ่งใหญ่กว่านี้รออยู่ข้างหน้า หากทำใจกับเรื่องแค่นี้ไม่ได้ จะรับมือกับเหตุการณ์ข้างหน้าได้อย่างไร

    อดีตนั้นไม่มีวันหวนกลับมา ปลดเปลื้องอดีตออกไปจากใจ คงเหลือแต่ความทรงจำเพื่อเป็นบทเรียน คือกุญแจไขสู่ชีวิตที่ปลอดโปร่งและเป็นสุข

    :- https://visalo.org/article/sarakadee255002.htm
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    อย่าผัดผ่อน
    รินใจ
    พยาบาลผู้หนึ่งเล่าว่า วันนั้นเธอกำลังทำงานอยู่ น้องชายวัยรุ่นมาหาและชวนเธอคุย ทั้งสองคนสนิทกันมาก โดยเฉพาะน้องชายค่อนข้างติดพี่สาว จู่ ๆ น้องชายก็ถามพี่สาวว่า "พี่รักผมไหม ?" แต่เธอกำลังพัวพันกับงาน จึงรู้สึกรำคาญ เลยพูดตัดบทไปว่า อย่ามายุ่งได้ไหม ตอนนี้ไม่ว่าง น้องชายจึงเลิกตอแย สักพักก็ขับรถมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน แต่ไม่ทันถึงที่หมาย ก็ประสบอุบัติเหตุ ตายคาที่ เธอใจหายวาบทันทีที่ทราบข่าว แม้ต่อมาจะทำใจได้ที่น้องชายจากไป แต่ทุกวันนี้เธอก็ยังรู้สึกเสียใจ อดโทษตัวเองไม่ได้ว่าทำไมวันนั้นไม่บอกเขาว่า "พี่รักน้อง"

    หญิงสาวอีกรายเล่าว่า เย็นวันหนึ่งลูกพี่ลูกน้องมาขอร้องให้เธอไปนอนเป็นเพื่อน ฟังจากน้ำเสียงแล้ว เธอรู้สึกว่าลูกพี่ลูกน้องคนนั้นมีความทุกข์ใจ แต่ตัวเธอเองมีงานต้องทำ จึงปฏิเสธไป วันรุ่งขึ้นเธอตกใจเมื่อได้ทราบข่าวว่า ลูกพี่ลูกน้องคนนั้นผูกคอตายในคืนนั้นเอง เนื่องจากน้อยใจที่ถูกพี่สาวด่าว่าอย่างรุนแรง ผ่านไปหลายปีเธอก็ยังรู้สึกผิดที่ปฏิเสธคำขอของลูกพี่ลูกน้อง เหตุร้ายคงไม่เกิดขึ้นหากเธอตอบตกลงในคืนนั้น

    ความเจ็บปวดในชีวิตบางครั้งเกิดจากการที่เราละเลยที่จะทำสิ่งที่ควรทำกับคนที่เรารัก กว่าจะรู้ตัวว่าได้ทำความผิดพลาดลงไป การณ์ก็สายเกินกว่าที่จะแก้ไขแล้ว ทั้งสองคนที่เล่าเรื่องนี้ได้รับบทเรียนราคาแพงอย่างยิ่งว่า ควรทำดีที่สุดกับคนที่อยู่ต่อหน้าเรา หรือคนที่เรากำลังเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลผู้เป็นที่รักของเรา หาไม่แล้วก็อาจจะต้องเสียใจในภายหลังเพราะไม่มีโอกาสจะทำเช่นนั้นได้อีก

    ตอนนั้นทั้งสองคนยอมรับว่าใจกำลังนึกถึงงาน จึงไม่ได้ให้ความใส่ใจอย่างเต็มที่กับบุคคลที่กำลังสนทนาด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเห็นว่างานนั้นเป็นความรับผิดชอบที่ต้องรีบทำให้เสร็จ ส่วนเรื่องของน้องชายหรือลูกพี่ลูกน้องนั้นผัดผ่อนได้ เอาไว้คุยวันหลังก็ไม่สาย แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง เห็นหน้ากันอยู่หลัด ๆ ปุบปับก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ความคิดที่ว่าการปฏิบัติต่อคนที่เรารักนั้นผัดผ่อนไปวันหลังก็ได้ นับว่าเป็นความประมาทอย่างหนึ่ง เพราะเขาอาจไม่อยู่ให้เราทำดีกับเขาก็ได้

    ชายผู้หนึ่งเล่าประสบการณ์คล้าย ๆ กันว่า ระหว่างที่ทำงานต่างจังหวัด ภรรยาโทรศัพท์ทางไกลไปหาเพราะมีความในใจอยากจะสนทนาด้วย ตอนนั้นโทรศัพท์มือถือยังไม่แพร่หลาย ส่วนโทรศัพท์ทางไกลก็นาทีละ๑๒ บาท พอคุยกันได้สักพัก สามีก็ตัดบทว่า ถึงบ้านแล้วค่อยคุยแล้วกัน จะได้ไม่เปลืองค่าโทรศัพท์ ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นภรรยาก็เสียชีวิตด้วยโรคปัจจุบันทันด่วน สามีรู้สึกเสียใจที่ไม่ให้เวลาภรรยาเต็มที่ตั้งแต่คืนนั้น บทเรียนที่เขาได้รับก็คือ หากมีอะไรที่อยากคุย หรือมีเรื่องสำคัญที่ต้องปรึกษาหารือ ก็ควรให้เวลาเต็มที่ตั้งแต่ตอนนั้นอย่าผัดผ่อน เพราะอาจไม่มีโอกาสเช่นนั้นอีก

    การทำดีกับใครก็ตาม ไม่เหมือนกับการทำงาน การทำงานนั้นมักมีเส้นตายหรือกำหนดเสร็จ ส่วนการทำดีกับผู้คนนั้นไม่มีกำหนดหมายว่าต้องทำเมื่อนั้นเมื่อนี้ (ยกเว้นวันเกิดหรือวันสำคัญตามประเพณี) ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงมักให้เวลากับการทำงานก่อนส่วนการทำดีกับคนนั้น ผัดไปวันหลังได้ เพราะคิดว่ายังมีเวลา ความคิดเช่นนี้เป็นที่มาแห่งความเสียใจและความรู้สึกผิดกับผู้คนมามากต่อมากแล้ว เพราะวันหลังอาจไม่มีจริงก็ได้ แม้แต่วันพรุ่งนี้ก็เถอะ ภาษิตธิเบตกล่าวไว้น่าคิดมากว่า "ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่า อะไรจะมาก่อน"

    หากอยากทำดีกับใคร จึงควรรีบทำเสียแต่วันนี้ หรือขณะที่เขายังอยู่ต่อหน้าเรา ใครที่รีบทำขณะที่มีโอกาส อาจจะพบในเวลาต่อมาว่าตนตัดสินใจถูกต้องแล้ว หาไม่ก็อาจจะต้องเสียใจจนวันตาย

    นักศึกษาผู้หนึ่งไปเข้าค่ายอาสาพัฒนา ระหว่างนั้นได้ทะเลาะกับเพื่อนสนิทอย่างรุนแรง ทั้ง ๆ ที่มีสาเหตุจากเรื่องเล็กน้อย วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทำค่าย เหมือนมีอะไรมาดลใจ เขาจึงขอโทษเพื่อน วันต่อมาเขาได้กลับไปหอพัก แต่เพื่อนผู้นั้นไม่กลับหอ ผ่านไปสามวันก็ยังไม่มีวี่แววของเขา เขารู้สึกผิดสังเกตจึงไปตามหา ปรากฏว่าพบร่างไร้วิญญาณของเขาในสระเนื่องจากถูกฆาตกรรม วันที่ไปงานศพของเพื่อนนั้น พ่อของเพื่อนมากอดเขาเป็นคนแรก เขาเองก็รู้สึกดีใจได้ขอโทษเพื่อนก่อนตาย หาไม่จะรู้สึกผิดไปอีกนาน

    นอกจากการขอโทษแล้ว การแสดงความขอบคุณหรือบอกรัก โดยเฉพาะกับผู้มีพระคุณ เป็นความดีที่ไม่ควรรั้งรอ เพราะโอกาสที่เปิดมานานนั้นอาจปิดกะทันหันอย่างที่นึกไม่ถึงก็ได้ คนจำนวนไม่น้อยมักเห็นว่าการให้เวลากับคนรัก โดยเฉพาะพ่อแม่นั้นเป็นสิ่งที่รอได้ ตอนนี้ขอทำงานสะสมเงินทองก่อน แต่คนที่เสียใจจนยากแก่การไถ่ถอนเพราะคิดแบบนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากพ่อแม่ไม่สามารถอยู่รอจนถึงวันนั้นได้ แม้กระนั้นก็มีหลายคนที่พยายามฝืนกระแส ซึ่งมักลงเอยด้วยการสร้างความทุกข์ให้แก่บุพการี ดังมักปรากฏอยู่บ่อย ๆ ว่า เมื่อพ่อแม่ป่วยหนักอยู่ในระยะสุดท้าย ลูกที่ไม่ค่อยมีเวลามาเยี่ยมหรือดูแลพ่อแม่เลย แทนที่จะปล่อยให้พ่อแม่ไปอย่างสงบ กลับเป็นผู้ที่เรียกร้องให้ยื้อชีวิตของท่านให้นานที่สุด ยอมทุ่มเทเงินมากมายเพื่อนำเทคโนโลยีนานาชนิดมาแทรกแซง ซึ่งมักสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ท่าน ทั้งนี้เพราะเขาทำใจไม่ได้ที่พ่อแม่จะจากไปโดยที่เขาไม่ทันได้ตอบแทนบุญคุณของท่านอย่างเต็มที่ แต่การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ในลักษณะนั้นกลับเป็นโทษมากกว่าคุณ ใช่แต่เท่านั้นเมื่อพ่อแม่จากไป คนที่ไม่สามารถทำใจได้เศร้าโศกเสียใจเป็นปี ๆ ก็มักจะได้แก่ลูกที่ไม่มีเวลาให้แก่พ่อแม่จนมาได้คิดเมื่อสายไปแล้ว

    วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราไม่รั้งรอที่จะทำความดีกับคนรัก ผู้มีพระคุณ หรือผู้ที่อยู่ต่อหน้าเรา ก็คือ ปฏิบัติกับเขาเหล่านั้นราวกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เขาได้อยู่กับเรา เมื่อใดก็ตามที่เราระลึกถึงความจริงว่าพรุ่งนี้ไม่เราหรือเขาอาจจะต้องพรากจากกัน เราจะไม่เอาแต่ใจตัว ทำตามอำเภอใจ ใช้อารมณ์กับเขา หรือเพิกเฉยเขา แต่จะปฏิบัติด้วยความใส่ใจ รับฟังเขาและคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดต่อเขา ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เขามีความสุขเท่านั้น เราเองก็จะมีความสุขด้วยเช่นกันเพราะมีความรู้สึกดีกับเขา ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกลมกลืน อีกทั้งยังเป็นหลักประกันว่า หากพรุ่งนี้เรากับเขาต้องพรากจากกัน แม้จะมีความเศร้าโศกเสียใจเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่มีความรู้สึกผิดติดค้างใจ อีกทั้งยังจะมีความปลื้มปีติที่ได้ทำดีที่สุดกับเขาแล้ว

    ชีวิตนี้แม้จะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือปัจจุบันขณะ ดังนั้นหากจะทำความดีก็ควรทำเสียแต่วันนี้หรือเดี๋ยวนี้ โดยเฉพาะกับคนที่อยู่เบื้องหน้าเรา ยิ่งเป็นคนที่สำคัญต่อชีวิตเราด้วยแล้ว อย่ามัวผัดผ่อนหรือรั้งรอ เพราะโอกาสที่เราจะทำดีกับเขานั้น แม้จะมีมากมายเพียงใดในอดีต ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีมากมายในอนาคต พ้นจากวันนี้หรือเดี๋ยวนี้แล้ว โอกาสทองอาจหมดไปเลยก็ได้ ใครจะรู้
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255501.htm


     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ยึดติด
    พระไพศาล วิสาโล
    สุดได้เลขท้าย ๓ ตัวมาจากหลวงพ่อ เลยแทงไป ๑๕ บาท ปรากฏว่าถูกเผง ได้มา ๖๐๐ บาท เขาดีใจมาก เที่ยวอวดใครต่อใครในหมู่บ้านว่าถูกหวย แต่พอรู้ว่าคอนซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน ก็แทงหวย ๓ ตัวถูกเหมือนกัน แต่ได้เงินมากกว่าคือ ๒,๐๐๐ บาท เพราะแทงมากกว่า สุดเลยยิ้มไม่ออก หงอยไปทั้งวัน แถมยังโมโหตัวเองที่แทงน้อยไป

    ใจไปเที่ยวไนท์บาซ่า เห็นผ้าพื้นเมืองลายงาม ราคา ๕๐๐ บาท แต่เธอต่อได้ ๓๕๐ บาท
    จึงคว้าผ้าผืนนั้นกลับโรงแรมด้วยความดีใจ แต่พอรู้ว่าไก่เพื่อนร่วมห้องก็ซื้อผ้าแบบเดียวกันมา แต่ได้ราคาถูกกว่าคือ ๓๐๐ บาท ใจก็หุบยิ้มทันที ไม่รู้สึกโปรดปรานผ้าของตนอีกต่อไป

    แม้เราจะมี“โชค” หรือได้ของดีที่ถูกใจ แต่หากไปเปรียบเทียบกับของคนอื่นเมื่อใด สุขก็อาจกลายเป็นทุกข์ทันทีหากรู้ว่าคนอื่นได้มากกว่า ได้ของดีกว่า หรือได้ของที่ถูกกว่า ส่วนของดีที่เราได้มากลับด้อยคุณค่าไปถนัดใจ บางครั้งอาจทำให้เราทุกข์กว่าตอนที่ยังไม่ได้ของนั้นมาด้วยซ้ำ
    ที่จริงไม่ต้องไปเทียบกับของคนอื่นก็ได้ เพียงแค่เห็นของรุ่นใหม่วางขายหรือโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ ก็เกิดความไม่พอใจในของเดิมที่มีอยู่ทันที ทั้ง ๆ ที่มันก็ยังใช้ได้ดี ไม่มีปัญหาอะไรรบกวนใจ ยกเว้นข้อเดียวคือมันสู้ของใหม่ที่วางขายไม่ได้

    ทั้ง ๆ ที่มีของดีอยู่กับตัว แต่คนเราแทนที่จะพอใจกลับรู้สึกเป็นทุกข์ เพียงเพราะใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งดีกว่า(หรือมากกว่า)ที่ตัวเองยังไม่มี แต่เมื่อใดก็ตามที่ของชิ้นนั้นเกิดมีอันเป็นไป เช่นทำตกหล่นหรือถูกขโมยไป เราก็จะกลับมาเห็นคุณค่าของมัน และนึกเสียใจที่เสียมันไป จะกินจะนอนก็ยังนึกถึงมันด้วยความเสียดาย

    ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในกรณีที่เป็นสิ่งของเท่านั้น แต่ยังเกิดกับกรณีที่เป็นคนด้วย เช่น คนรัก หรือแม้แต่พ่อแม่และลูก ผู้คนจำนวนมากไม่เห็นคุณค่าหรือมีความสุขกับคนใกล้ชิด เพราะไปนึกเปรียบเทียบคนอื่นว่าเขามีพ่อแม่ คนรัก หรือลูกที่ดีกว่าเรา แต่วันใดที่เราเสียเขาไป เราถึงจะกลับมาเห็นคุณค่าของเขา และเศร้าโศกเสียใจจนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับเลยทีเดียว เฝ้าหวนคำนึงถึงวันคืนเก่า ๆ ที่เขาเคยอยู่กับเรา

    คนเรามักทุกข์เพราะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ยังไม่มี หรืออาลัยในสิ่งที่สูญเสียไป พูดให้ครอบคลุมกว่านั้นก็คือทุกข์เพราะใจยังติดยึดอยู่กับอนาคตและอดีต อนาคตและอดีตที่ว่ามิได้หมายถึงสิ่งดี ๆ ที่ยังไม่มีหรือที่เสียไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งไม่พึงปรารถนาที่(คาดว่า)รออยู่ข้างหน้า เช่นอุปสรรค และสิ่งไม่พึงปรารถนาที่พานพบ เช่น คำต่อว่า หรือการกระทำที่น่ารังเกียจ

    คำตำหนิติเตียนไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน แต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้ หากเราไม่เก็บเอาคิดซ้ำคิดซาก คำพูดเหล่านั้นผ่านพ้นไปนานแล้ว แต่ที่ยังบาดใจเราอยู่ก็เพราะเราไม่ยอมปล่อยวางมันต่างหาก ยิ่งคิดคำนึงถึงมันมากเท่าไรก็ยิ่งซ้ำเติมตัวเองมากเท่านั้น

    การเอาเปรียบ กลั่นแกล้ง ทรยศ หักหลัง ก็เช่นกัน แม้เป็นอดีตไปนานแล้ว แต่เราก็ยังทุกข์อยู่กับเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่เพราะเขายังทำเช่นนั้นกับเราอยู่ แต่เป็นเพราะเราชอบย้อนภาพอดีตกลับมาฉายซ้ำในใจอย่างไม่ยอมเลิกรา ย้อนแต่ละทีก็เหมือนกับกรีดแผลลงไปที่ใจ หยุดย้อนอดีตเมื่อใดใจก็หายเจ็บเมื่อนั้น

    อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนอนาคตยังมาไม่ถึง แต่จะมาถึงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ได้ แต่บ่อยครั้งเรากลับยึดมั่นสำคัญหมายอย่างเป็นจริงเป็นจังว่ามันจะต้องเกิดขึ้นแน่ เท่านั้นยังไม่พอถ้าเป็นเรื่องแง่ลบด้วยแล้ว เรามักจะวาดภาพไปในทางเลวร้าย แล้วก็ยึดมันเอาไว้ไม่ให้คลาดไปจากใจ ทั้ง ๆ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์

    ชายผู้หนึ่งเดินขึ้นตึกไปหาหมอ เพื่อฟังผลตรวจโรค พอหมอบอกว่าพบก้อนมะเร็งระยะที่สองในปอดของเขา เขาก็ถึงกับทรุด เข่าอ่อนเดินไม่ได้ กลับถึงบ้านก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ซึมไปเป็นเดือน ส่วนหญิงผู้หนึ่ง ป่วยกระเสาะกระแสอยู่นานหลายสัปดาห์ แล้ววันหนึ่งหมอก็บอกว่า เธอเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายที่ตับ จะอยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน ปรากฏว่าผ่านไปแค่ ๑๒ วัน เธอก็สิ้นใจ

    ทั้งสองกรณีไม่ได้ทรุดฮวบเพราะโรคมะเร็งเล่นงาน แต่เป็นเพราะใจเสีย ทันทีที่ได้ยินข่าวร้าย ใจก็นึกภาพอนาคตของตัวเองไปในทางเลวร้าย ยิ่งผู้ป่วยรายที่สองด้วยแล้ว เธอนึกไปถึงวันตายของตัวเองเลยทีเดียว แถมยังปรุงแต่งไปในทางที่มืดมน เท่านั้นไม่พอเธอยังหมกมุ่นกับภาพดังกล่าวไม่หยุดหย่อน ทั้ง ๆ ที่มันยังไม่เกิดขึ้น ผลก็คือถูกความทุกข์ท่วมทับจนมิอาจทานทนต่อไปได้

    บ่อยครั้งเราเป็นทุกข์เพราะเรื่องที่ยังมาไม่ถึง การสอบไม่ติดหรือตกงาน โดยตัวมันเองไม่ก่อปัญหาแก่เรามากเท่ากับใจที่ปรุงแต่งไปล่วงหน้าว่านับแต่นี้ไปชีวิตจะลำบากยากแค้นเพียงใด แล้วจะอยู่ดูโลกนี้ต่อไปได้อย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจพบว่าที่แท้เราตีตนก่อนไข้ไปเอง เพราะปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมาไม่ได้หนักหนาสาหัสอย่างที่คิด สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ในที่สุด

    อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ปรุงแต่งเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงเท่านั้น กับสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า บางครั้งเราก็ปรุงแต่งให้เลวร้ายเกินจริง เช่น อยู่รีสอร์ตคนเดียวกลางดึก ได้ยินเสียงผิดปกติ ก็ปรุงแต่งไปทันทีว่าถูกผีหลอกหรือไม่ก็มีคนจะมาทำร้าย เห็นคู่รักกำลังคุยอย่างสนิทสนมกับชายหนุ่มในร้านอาหาร ก็คิดไปทันทีว่าเธอกำลังนอกใจ การคิดปรุงแต่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่เมื่อใดที่เราหลงยึดว่ามันเป็นเรื่องจริง เราก็กำลังก่อทุกข์ให้กับตัวเอง แถมยังสามารถสร้างปัญหาให้แก่คนอื่นได้ด้วย

    วัยรุ่นนั่งกินอาหารอยู่หน้าร้าน เผอิญขี้นกหล่นใส่หัว แต่เขากลับคิดว่าเจ้าของร้านถ่มน้ำลายใส่หัว จึงทะเลาะกับเจ้าของร้านอย่างรุนแรง สักพักก็ออกจากร้านแล้วกลับมาพร้อมกับพวกอีกหลายคน ควักปืนออกมายิงกราด ถูกภรรยาเจ้าของร้านซึ่งกำลังท้อง ๕ เดือนตายคาที่ กลายเป็นฆาตกรที่ถูกตำรวจหมายหัวทันที

    การยึดติดสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นเอง เป็นที่มาอีกประการหนึ่งของความทุกข์ ทีแรกเราเป็นฝ่ายปรุงแต่งมันขึ้นมา แต่เผลอเมื่อใดมันก็กลับมาเป็นนายเรา สามารถผลักใจของเราไปสู่ความทุกข์ และชักนำชีวิตของเราไปในทางเสื่อมได้ง่าย ๆ กี่ครั้งกี่หนที่เราทำร้ายตัวเองและทำร้ายซึ่งกันและกันเพียงเพราะหลงเชื่อความคิดที่เราปรุงแต่งขึ้นมา

    พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ไม่ได้ปรุงแต่งขึ้นมาเอง แต่เป็นความจริงแท้ ๆ จะไม่ก่อปัญหา ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่สร้างความทุกข์แก่เรา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ อยู่ในขณะนี้ เช่น รถเสีย เงินไม่พอใช้ ทะเลาะกับคนรัก ลูกคบเพื่อนไม่ดี งานไม่ก้าวหน้า แต่ถ้าเรามัวแต่นึกถึงเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร ก็กวาดเอาปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลย เช่น กำลังทำงานอยู่ ก็ไปกังวลถึงรถ ถึงลูก ถึงพ่อแม่ แล้วยังห่วงคู่รักอีก อย่างนี้แล้วจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร

    ปัญหาเป็นเรื่องที่ต้องแก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม แต่เมื่อใดที่เรากวาดเอาปัญหาต่าง ๆ มาทับถมจิตใจทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลา(หรือไม่ใช่เวลา)ที่จะแก้ไข ก็เตรียมตัวกลุ้มได้เลย นี้เป็นการยึดติดอีกแบบหนึ่ง อันที่จริงแม้มีปัญหาแค่เรื่องเดียว แต่ถ้าหมกมุ่นอยู่กับมันตลอดเวลา ก็ทำให้คลั่งได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องเล็กแต่ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ง่าย ๆ เช่น หมกมุ่นกับสิวไม่กี่เม็ดบนใบหน้าวันแล้ววันเล่า ก็อาจทำให้เจ็บป่วยหรือถึงกับทำร้ายตัวเองได้

    การยึดเอาปัญหาต่าง ๆ มาทับถมใจ บางครั้งก็ไปไกลถึงขนาดไปกวาดเอาปัญหาของคนอื่นมาเป็นของเราเสียเอง เช่น เพื่อนมาปรึกษาปัญหาชีวิต ก็เลยเอาปัญหาของเขามาเป็นของตนด้วย จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เท่านั้นยังไม่พอบางคนถึงกับแบกปัญหาของประเทศมาไว้กับตัว เลยเป็นเดือนเป็นแค้นกับสถานการณ์บ้านเมือง ทะเลาะกับใครไปทั่วที่คิดต่างจากตน สุดท้ายก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาบ้านเมืองไป

    การยึดติดที่ลึกไปกว่านั้นคือการยึดติดในตัวตน สาเหตุที่เราทะเลาะกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา ก็เพราะเรายึดติดในความคิดของเรา ความสำคัญมั่นหมายว่านี้เป็น “ความคิดของฉัน” สะท้อนถึงความยึดติดในตัวตนหรือที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า ยึดติดใน “ตัวกู ของกู” นอกจากความคิดแล้ว เรายังยึดติดสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายว่าเป็นตัวฉันของฉัน อาทิ สิ่งของ บุคคล ชุมชน ประเทศ ศาสนา มีอะไรมากระทบกับสิ่งนั้น ก็เท่ากับว่ากระทบ “ตัวฉัน” ด่าว่ารถของฉัน ก็เท่ากับด่าฉันด้วย วิจารณ์ศาสนาของฉันก็เท่ากับวิจารณ์ฉันด้วย

    เป็นเพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งของสูญหาย คนรักจากไป เราจึงอดหวนนึกถึงไม่ได้ เพราะใจยังยึดว่าเป็นของฉันอยู่ จึงยังมีเยื่อใยที่ดึงให้ใจย้อนระลึกถึงอยู่เสมอ เวลาให้ของแก่ใครไป ความยึดติดในของชิ้นนั้นก็ยังมีอยู่ จึงเฝ้าดูว่าเขาจะใช้ของชิ้นนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ใช้ก็รู้สึกเป็นทุกข์ที่เขาไม่ได้ใช้ของ “ของฉัน” ญาติโยมหลายคนจึงไม่สบายใจที่พระไม่ได้ฉันอาหารที่ตนถวาย

    ยึดติดในตัวตนอีกอย่างคือการยึดมั่นสำคัญหมายว่า ฉันเก่ง ฉันหล่อ ฉันเป็นส.ส. ฯลฯ ไปไหนก็อดตัวพองไม่ได้ อยากแสดงบารมีให้ใครรู้ว่า “นี่กูนะ” อยู่ที่ใดก็ต้องการให้คนชื่นชม สรรเสริญ เคารพ นบไหว้ แต่ถ้าไม่ได้รับการปฏิบัติดังกล่าว ก็จะโมโหขุ่นเคือง จนอาจคำรามว่า “รู้ไหมว่ากูเป็นใคร ?” ยิ่งเจอคำวิจารณ์ด้วยแล้ว ยิ่งทนไม่ได้เข้าไปใหญ่

    การยึดติดใน “ตัวกู ของกู หรือนี่กูนะ” เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์นานัปการ นำไปสู่การกระทบกระทั่งขัดแย้งและทำร้ายกัน ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเครียดบีบคั้นภายในเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ใช่แต่เท่านั้นแม้ได้สิ่งที่พึงปรารถนา ก็ยังทุกข์เพราะได้ไม่สมใจ หรือทุกข์ที่คนอื่นได้มากกว่า

    ที่น่าแปลกก็คือเราไม่ได้ยึดเอาแค่สิ่งดี ๆ ที่ถูกใจ ว่าเป็นตัวกูของกูเท่านั้น สิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกใจ เราก็ยังยึดเป็นตัวกูของกูอีกเช่นกัน เช่น ความเจ็บปวด เมื่อเกิดกับกาย แทนที่จะเห็นว่า กายปวดเท่านั้น กลับไปยึดเอาว่า “ฉันปวด” ความปวดเป็นของฉัน เมื่อความโกรธเกิดขึ้นกับใจ ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่า “ฉันโกรธ” ความโกรธเป็นของฉัน ความยึดมั่นดังกล่าวรุนแรงชนิดที่ใจไม่ยอมไปไหน มัวจดจ่อวนเวียนอยู่กับความปวดหรือความโกรธนั้น ๆ อย่างเดียว

    ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความเผลอของใจ รู้ทั้งรู้ว่ายึดแล้วทุกข์แต่ก็ยังยึดเพราะขาดสติ ถ้าใจมีสติ ก็จะไม่เผลอยึดต่อไป ความปวดความโกรธยังมีอยู่ก็จริง แต่คราวนี้มันทำอะไรจิตใจไม่ได้ เพราะใจไม่โดดเข้าไปให้ความปวดความโกรธเผาลน เหมือนกองไฟที่ยังลุกไหม้อยู่ แต่ตราบใดที่เราไม่โดดเข้าไปในกองไฟ หากถอยออกมาห่าง ๆ เป็นแค่ผู้สังเกตเฉย ๆ ไฟก็ทำอะไรเราไม่ได้

    สติช่วยให้ใจแยกออกมาอยู่ห่าง ๆ จากความเจ็บปวดและอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กลายเป็น “ผู้ดู” มิใช่ “ผู้ปวด” หรือ “ผู้โกรธ” จากความยึดติดกลายเป็นการปล่อยวาง การปล่อยวางดังกล่าวคือหัวใจของการเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหลาย เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ความทุกข์ทั้งมวลเกิดจากความยึดติด ยึดติดอดีตกับอนาคต ยึดติดสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นเอง ยึดติดปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต รวมทั้งยึดเอาปัญหาต่าง ๆ มาเป็นของตน ที่สำคัญคือการยึดติดในตัวตน เมื่อใดที่ปล่อยวางจากความยึดติดดังกล่าวได้ ความทุกข์ก็ไม่อาจทำอะไรเราได้อีกต่อไป

    สติช่วยให้เรารู้ตัวเมื่อเผลอไปอาลัยอาวรณ์ในอดีตหรือวิตกกังวลกับอนาคต พาจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันเมื่อรู้ตัวว่าเผลอไปจมอยู่กับเหตุร้ายที่ผ่านไปแล้ว คอยทักท้วงใจไม่ให้หลงเชื่อความคิดปรุงแต่งเพราะตระหนักว่าความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่คิด ในยามที่เผลอกวาดเอาปัญหาต่าง ๆ มาทับถมใจจนหนักอึ้ง สติช่วยให้เราแก้ปัญหาเป็นเปลาะ ๆ เป็นเรื่อง ๆ ไม่เอาปัญหาใดมาครุ่นคิดหากยังไม่ถึงเวลา (หรือไม่ใช่เวลา)ที่จะแก้ เวลาพักผ่อน ก็พักผ่อนเต็มที่ เมื่อถึงเวลาแก้ปัญหา ก็ใช้ปัญญาอย่างเต็มที่ ไม่มามัวตีโพยตีพาย หรือน้อยเนื้อต่ำใจว่า “ทำไมถึงต้องเป็นฉัน?”

    ความทุกข์นั้นไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเรามีท่าทีหรือรู้สึกอย่างไรกับมันต่างหาก แม้ปัญหาจะหนัก แต่ถ้าเริ่มต้นจากการยอมรับมันว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ปฏิเสธผลักไสมันหรือก่นด่าชะตากรรม ตั้งสติให้ได้แล้วหาทางแก้ไขมัน แต่ขณะที่มันยังไม่หายไปไหน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ไม่หวนนึกถึงอดีตอันผาสุก หรือปรุงแต่งอนาคตไปในทางเลวร้าย ขณะเดียวกันก็ไม่หมกมุ่นอยู่กับปัญหา หากปล่อยวางมันบ้าง ความสุขก็หาได้ไม่ยาก

    นายทหารผู้หนึ่งไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ในฐานที่ทรงเคยเป็นอุปัชฌาย์ของตนมาก่อน พอไปถึงประโยคแรกที่กราบทูลก็คือ “หนักครับ ช่วงนี้แย่มากเลยครับ”ว่าแล้วเขาก็ทูลเล่าปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าเข้ามาในชีวิต สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงฟังอยู่นาน แทนที่จะตรัสแนะนำหรือปลอบใจ พระองค์กลับรับสั่งให้เขานั่งคุกเข่า ยื่นมือสองข้าง แล้วพระองค์ก็เอากระดาษแผ่นหนึ่งวางบนฝ่ามือของเขา “นั่งอยู่นี่แหละ อย่าไปไหนจนกว่าข้าจะกลับมา” รับสั่งเสร็จพระองค์ก็เสด็จเข้าไปในตำหนัก

    นายทหารนั่งในท่านั้นอยู่นาน จาก ๑๐ นาทีเป็น ๒๐ นาที สมเด็จพระสังฆราชก็ยังไม่เสด็จออกมา เขาเริ่มเหนื่อย มือและขาเริ่มสั่น กระดาษชิ้นเล็ก ๆ หนักขึ้นเรื่อย ๆ จนประคองแทบไม่ไหว พอสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จกลับมาก็ทรงถามว่า “เป็นไง?” คำตอบของเขาคือ “หนักครับ พระเดชพระคุณ เมื่อยจนจะทนไม่ไหว”

    “อ้าว ทำไมไม่วางมันลงเสียละ?” สมเด็จรับสั่ง “ก็ไปยอมให้มันอยู่อย่างนั้น มันก็หนักอยู่ยังงั้นนะซี มันจะเป็นอื่นไปได้ยังไง”

    กระดาษที่เบาหวิว แต่หากถือไว้นาน ๆ ไม่ยอมปล่อย ก็กลายเป็นของหนักไปได้ แต่ปัญหาถึงจะใหญ่โตเพียงใด ถ้าไม่ยึดถือเอาไว้ ก็ไม่ทำให้เราทุกข์ได้ ใช่หรือไม่ว่าหินก้อนใหญ่จะกลายเป็นของหนักและสร้างทุกข์ให้แก่เราก็ต่อเมื่อเราแบกมันเอาไว้เท่านั้น

    เมื่อมีสติรักษาใจ รู้เท่าทันความคิด ไม่เผลอยึดติดจนจิตหนักอึ้ง แม้งานจะยาก อุปสรรคจะเยอะ ก็ยังเป็นสุขอยู่ได้

    :- https://visalo.org/article/sarakadee255105.htm
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ปัญหาอยู่ที่ผู้มอง
    รินใจ
    ในหนังสือเรื่อง “จะเล่าให้คุณฟัง”* ฆอร์เฆ่ บูกาย ได้เล่าถึงชายผู้หนึ่งซึ่งมีเหตุต้องโทรศัพท์ถึงหมอประจำครอบครัว

    “ที่ผมโทรมาหาหมอเพราะผมเป็นห่วงภรรยา”

    เมื่อหมอถามว่าเธอเป็นอะไร ก็ได้คำตอบว่า “เธอกำลังจะหูหนวก อยากให้หมอมาดูอาการเธอหน่อย”

    หมอไม่สะดวกไป จึงนัดให้เขาพาเธอมาหาวันจันทร์ แต่เขาอยากให้หมอรีบมาทันที หมอจึงทำการวินิจฉัยทางโทรศัพท์

    “คุณรู้ได้อย่างไรว่า เธอไม่ได้ยิน”

    “ก็...เวลาผมเรียกเธอ เธอไม่ยอมตอบนี่”

    หมออยากรู้ว่าเธอหูหนวกแค่ไหน จึงแนะให้เขาเรียกเธอจากจุดที่กำลังโทรศัพท์ ตอนนั้นเขาอยู่ห้องนอน ส่วนเธออยู่ห้องครัว

    เขาตะโกนเรียกชื่อเธอ “มาเรียยยยยย......เธอไม่ได้ยินผมเลย หมอ”

    หมอแนะให้เขาเดินไปที่ประตูห้องนอน แล้วตะโกนเรียกเธอจากทางเดิน

    “มาเรียยยยยยย.....เธอไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อย หมอ”

    หมอแนะให้เขาเดินไปหาเธอแล้วตะโกนเรียกเธอไปด้วย จะได้รู้ว่าเธอได้ยินเสียงเขาเมื่ออยู่ใกล้แค่ไหน

    “มาเรียยย.....มาเรียยยย......มาเรียยยยย ทำอย่างไรเธอก็ไม่ได้ยิน” แล้วเขาก็พูดต่อว่า ตอนนี้เขาอยู่ตรงประตูครัว เห็นเธอหันหลังให้เขา กำลังล้างจาน แต่ไม่ได้ยินเสียงเขาสักนิด

    หมอแนะให้เขาเดินเข้าไปใกล้อีกนิด แล้วเรียกชื่อเธอด้วย

    เขาเดินเข้าไปในครัว แตะไหล่เธอ และตะโกนที่หูของเธอว่า “มาเรียยยยยยย....”

    คราวนี้ภรรยาหันขวับมาด้วยความฉุนเฉียวแล้วพูดว่า

    “คุณต้องการอะไรกันแน่ฮึ ต้องการอะไร ต้องการอะไร ต้องการอะไรรรรรรร.....คุณตะโกนเรียกฉันเป็นสิบครั้งแล้ว ฉันก็ตอบคุณไปทุกครั้งว่า “ว่าอย่างไรคะ” คุณนับวันจะหูตึงขึ้นเรื่อย ทำไมไม่ไปหาหมอสักที”

    ถึงตรงนี้คุณคงรู้แล้วว่าใครกันแน่ที่หูตึงและควรไปพบหมอ

    นิทานเรื่องนี้เตือนใจได้ดีว่า ก่อนที่จะสรุปว่าคนอื่นมีปัญหา ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเราเอง เพราะบ่อยครั้งเราเองต่างหากที่มีปัญหา หาใช่คนอื่นไม่

    คนที่ชอบตัดพ้อว่า ทำไมเพื่อนไม่เข้าใจเราเลย ควรกลับมาถามตัวเองบ้างว่า แล้วเราล่ะ เข้าใจเพื่อนบ้างหรือเปล่า บางทีอาจจะพบว่า เป็นเพราะเราเอาแต่ใจตัวหรือชอบเรียกร้องความเข้าใจจากคนอื่นต่างหาก พอเพื่อนไม่ยอมทำตามความต้องการของเรา ก็เลยตีขลุมว่าเขาไม่เข้าใจเรา

    คนที่ชอบกล่าวหาคนอื่นว่าไม่มีน้ำใจนั้น มักจะมองไม่เห็นตนเองว่าที่แท้ตนเองงนั่นแหละเห็นแก่ตัว

    หญิงผู้หนึ่งเล่าว่า บ่ายวันหนึ่งเธอไปกินอาหารในร้านซึ่งเนืองแน่นด้วยลูกค้า โชคดีที่เธอได้โต๊ะเสริมหน้าร้านซึ่งนั่งได้คนเดียว โต๊ะนั้นเล็กมาก นอกจากชุดเครื่องปรุง กล่องทิชชู กล่องช้อนตะเกียบ และเหยือกน้ำ แล้ว ก็มีที่ว่างพอสำหรับก๋วยเตี๋ยวชามเดียวเท่านั้น

    ขณะที่เธอกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์รออาหารอยู่ ก็ได้ยินเสียงเคาะโต๊ะ พร้อมกับเสียงพูดว่า “นี่ ๆๆ” เธอหันไปมองต้นเสียง ก็พบว่ามีเด็กสาวสามคนยืนข้างหน้า

    “นี่ ลุกก่อนได้ไหม” สาววัยมัธยมปลายพูดขึ้นมา

    เธอยังไม่ทันตอบ เด็กสาวก็พูดตามมาว่า “ก็มาคนเดียวใช่ไหม ลุกก่อนได้ไหม เนี่ยมากันสามคน”

    เธอยังงงอยู่ จึงถามว่า “อะไรนะ” เด็กสาวรุกต่อว่า “เอ้า ก็บอกว่ามากันสามคน มาคนเดียวก็ลุกก่อนได้ไหม รีบ เดี๋ยวไปเรียนตอนบ่ายไม่ทัน”

    ขณะที่เธองงงวยกับเรื่องที่เกิดขึ้น เด็กเสิร์ฟก็เรียกทั้งสามคนเข้าไปนั่งในร้าน ระหว่างที่ทั้งสามคนเดินเข้าไปข้างใน ก็มีเสียงลอยมาว่า “เปลืองที่ว่ะ คนอะไรไม่มีน้ำใจ”

    การกล่าวหาคนอื่นนั้นทำได้ง่าย หากไม่รู้จักมองตน ยิ่งปล่อยให้ความเห็นแก่ตัวครองใจมากเท่าไร ก็ยิ่งกล่าวหาคนอื่นว่าเห็นแก่ตัวหรือไร้น้ำใจได้ง่ายเท่านั้น

    จริงอยู่บางครั้งคนอื่นก็ทำตัวเป็นปัญหาจริง ๆ แต่ถ้าเอาแต่เพ่งโทษคนอื่น ก็จะมองไม่เห็นว่าตนเองมีส่วนในการสร้างปัญหาหรือเป็นตัวปัญหาเองด้วย พ่อแม่ที่ชอบบ่นว่าลูกไม่ฟังพ่อแม่เลย หากสำรวจเข้าจริง ๆ ก็จะพบว่าพ่อแม่เองก็ไม่ฟังลูกเช่นกัน เป็นเพราะมีพฤติกรรมเช่นนั้นกับลูก ลูกก็เลยทำอย่างเดียวกันกับพ่อแม่ (โดยลูกเองก็เอาแต่บ่นทำนองเดียวกันว่าพ่อแม่ไม่ฟังตน แต่หารู้ไม่ว่าตนเองก็ไม่ฟังพ่อแม่เช่นกัน)

    แม่บางคนรู้สึกกลุ้มใจที่ลูกเก็บตัวเงียบ ทำตัวเหินห่างแม่ มีปัญหาอะไรก็ไม่ยอมเล่าให้แม่ฟัง เวลาเธอแนะนำลูก ลูกก็แสดงทีท่ารำคาญ บอกปัดความหวังดีของแม่ แม่คิดแต่จะแก้นิสัยลูก แต่ลืมมองตนเองไปว่า ตนเองก็เป็นคนจู้จี้ขี้บ่น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่ทันทีที่แม่หันมามองตนและรู้ว่าตนเป็นคนเช่นไร ก็อาจจะพบว่า ตนเองมีพฤติกรรมไม่ต่างจากพ่อหรือแม่ของตน การกระทำบางอย่างของพ่อแม่ที่ตนไม่ชอบสมัยยังเป็นเด็ก กลับซึมซับรับเอามาและแสดงกับลูกของตนในเวลาต่อมา เธอไม่เฉลียวใจเลยว่า ยิ่งมองว่าพ่อแม่เป็นตัวปัญหามากเท่าไร ตัวเธอเองก็กลายเป็นปัญหาไม่ต่างจากพ่อแม่

    บังอรไม่พอใจสมทรงเพราะเธอชอบนินทาผู้คนในสำนักงาน ตัวบังอรเองก็เป็นเป้าของการนินทาด้วย เธอพยายามติติงสมทรง แต่ก็ไม่ได้ผล การนินทายังคงมีอยู่ต่อไป สร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่บังอรยิ่งขึ้น ผลก็คือเวลามีพนักงานใหม่มา บังอรก็มักจะไปเล่าให้เขาเหล่านั้นรู้ว่าสมทรงเป็นคนชอบนินทา โดยที่เธอหารู้ไม่ว่าเธอกำลังทำอย่างเดียวกันกับสมทรง

    สมศักดิ์ไปดูหนัง แต่รู้สึกรำคาญชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งซึ่งนั่งอยู่แถวหลัง ทั้งสองชอบกระซิบกระซาบ หาไม่ก็พูดวิจารณ์ตัวละคร ส่งเสียงรบกวนสมาธิของสมศักดิ์ เขาพยายามหันกลับไปมองเพื่อส่งสัญญาณให้ทั้งสองเงียบ แต่ก็ไม่เป็นผล สร้างความขุ่นเคืองให้เขาเป็นลำดับ ในที่สุดเขาก็อดรนทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาตวาดคนทั้งสองว่า “หยุดพูดสักทีได้ไหม รู้ไหมว่าคุณกำลังรบกวนคนอื่นอยู่” ปรากฏว่าคนทั้งโรงตกตลึงเพราะเสียงตวาดของสมศักดิ์

    สมศักดิ์เอาแต่มองว่าคนอื่นเป็นปัญหา สุดท้ายตัวเองกลับก่อปัญหายิ่งกว่าคนอื่นเสียอีก นั่นเป็นเพราะความลืมตัว ปล่อยให้ความโกรธลุกลามแผดเผาใจจนห้ามปากไม่อยู่ เช่นเดียวกับบังอรที่เพ่งโทษเพื่อนจนลืมมองตน ความเกลียดจึงครอบงำใจจนอดไม่ได้ที่จะต้องนินทาสมทรง เข้าทำนอง “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”

    เป็นธรรมดาว่าเมื่อใดที่เรามองเห็นคนอื่นเป็นปัญหา ความขุ่นเคืองใจหรือความโกรธเกลียดย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย และหากยังไม่หยุดเพ่งโทษเขา อารมณ์ดังกล่าวก็ยิ่งสะสมและลุกลามจนทำให้ลืมตัว เผลอทำอย่างเดียวกับเขา ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ดังนั้นหากไม่อยากทำเช่นนั้น ก็พึงระลึกอยู่เสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่เรามองเห็นคนอื่นเป็นปัญหา เมื่อนั้นจำต้องหันมามองตนและสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของตนให้ดี หาไม่แล้วเราอาจจะกลายเป็นปัญหาเสียเอง

    ถ้าจะให้ดี ควรหันมาตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราเองไม่ได้เป็นปัญหาหรือเป็นส่วนหนึ่งของของปัญหาตั้งแต่แรก ดังเรื่องของชายหูตึงข้างต้น

    * แปลโดย เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ผีเสื้อสเปน (๒๕๕๔)

    :- https://visalo.org/article/sarakadee255410.htm

     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ชีวิตที่ถูกอำนาจกัดกร่อน
    พระไพศาล วิสาโล
    วลาดิเมียร์ เลนิน เป็นทั้งนักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองที่ฉลาดปราดเปรื่อง และมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนทั้งโลกมานานนับศตวรรษ แต่เขาเป็นที่รู้จักมากกว่าในฐานะนักปฏิวัติที่หลักแหลม สามารถนำพรรคบอลเชวิคยึดอำนาจรัฐ และสถาปนารัสเซียให้เป็นรัฐสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์แห่งแรกของโลก จุดประกายให้ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่กระจายไปทั่วทั้งโลก และเกิดสงครามตามมาอีกนับไม่ถ้วน ก่อนที่รัฐสังคมนิยมแห่งนี้จะล่มสลายเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว

    เลนินต้องการสร้างรัฐตามอุดมคติของคอมมิวนิสต์ คือ รัฐที่ไม่มีชนชั้น ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ผู้คนมีความเสมอภาคกันทั้งในฐานะ ศักดิ์ศรี และชีวิตความเป็นอยู่ แต่ตลอด ๗ ปีที่ปกครองประเทศ เขากลายเป็นผู้นำสูงสุดที่อำนาจทั้งปวงรวมศูนย์อยู่ที่ตัวเขาแต่ผู้เดียว เมื่อต้องเผชิญกับการต่อต้านจากผู้คนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะชนชั้นนำที่สูญเสียผลประโยชน์ เขาได้ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการปราบปรามผู้ที่เป็น "ศัตรูของประชาชน" ยิ่งฝ่ายตรงข้ามพยายามลอบสังหารเขา เขาก็ตอบโต้ด้วยการกวาดล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างรุนแรง มีการสังหารผู้คนเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้คนหลายหมื่นถูกจับกุมคุมขังและทรมานในค่ายกักกัน

    คราวหนึ่งเกิดการลุกฮือขึ้นโดยเหล่านักบวชนิกายกรีกออร์โธดอกซ์ในเมือง Shuia เนื่องจากรัฐต้องการยึดทรัพย์สินมีค่าจากโบสถ์ เลนินได้เขียนจดหมายถึงกรรมการพรรคว่า "เราต้องปราบปรามผู้ต่อต้านด้วยความเหี้ยมโหดชนิดที่พวกเขาจะไม่ลืมไปอีกหลายสิบปี.....ยิ่งเราสามารถสังหารตัวแทนนักบวชและพวกกระฎุมพีปฏิกิริยาได้มากเท่าไร ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น" ผลก็คือมีนักบวชและประชาชนประมาณ ๘,๐๐๐ คนถูกฆ่า ในทำนองเดียวกันการลุกฮือที่เกิดขึ้นในอีกหลายเมืองก็จบลงด้วยการสังหารคนนับหมื่น

    สองปีสุดท้ายของชีวิต เลนินล้มป่วยด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตกถึง ๓ ครั้งอันเป็นผลจากการตรากตรำทำงานหนัก ครั้งสุดท้ายนั้นถึงกับทำให้เขาพูดไม่ได้และต้องนอนแบบจนเสียชีวิตในอีกหนึ่งปีต่อมา

    คนส่วนใหญ่รู้จักเลนินจากภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและกล้าแกร่ง แต่เลนินในช่วงปีสุดท้ายนั้นกลับให้ภาพที่ตรงข้าม ภาพถ่ายของเลนิน ๖ เดือนก่อนเสียชีวิตนั้น เป็นภาพของคนไร้ชีวิตชีวา อมทุกข์ ตาเบิกโพลง ราวกับหวาดกลัวอะไรบางอย่าง บางครั้งตาก็จ้องถมึงทึง เหมือนคนกราดเกรี้ยว ส่วนสารรูปก็ย่ำแย่

    หนังสือเรื่อง "บันทึกลับคนดองศพเลนิน" บรรยายถึงเลนินในตอนนั้นว่า "เขาสูญเสียความสามารถในการพูดแขนและขาขวาเป็นอัมพาต และเห็นภาพหลอนที่น่ากลัวทั้งกลางวันกลางคืน เขามักจะกรีดเสียงร้องและโบกมือไปมา หัวเราะลั่นโดยไม่มีเหตุผล และหงุดหงิดกับเรื่องไร้สาระ"

    เห็นได้ชัดว่าเขาไม่มีความสุขเอาเลย จิตใจว้าวุ่นและหงุดหงิดตลอดเวลา บ่อยครั้งก็แสดงความโกรธเกรี้ยวออกมา แม้กระทั่งกับแพทย์ทั้ง ๕คนที่ดูแลเขา เขาก็ยังแสดงอาการราวกับเป็นศัตรู บางครั้งก็ชูกำปั้นใส่

    เลนินในช่วยสุดท้ายไม่เหลือเค้าของนักคิดเฉียบคมและนักพูดที่มีชีวิตชีวาอีกต่อไป แม้แต่ความเป็นผู้นำที่ทรงพลังอำนาจก็ไม่หลงเหลือแม้แต่น้อย เพราะกระทั่งร่างกายของตัวเองเขาก็ยังควบคุมสั่งการไม่ได้ ขณะที่จิตใจซึ่งเคยกลั่นออกมาเป็นความคิดที่เฉียบคมก็กลับปั่นป่วนยุ่งเหยิงและปรุงแต่งภาพหลอนจนสร้างความหวาดผวาให้แก่ตัวเขาเอง

    อย่างไรก็ตามอาการของเลนินยังนับว่าน้อยกว่าสตาลิน ซึ่งเป็นทายาทของเขาและโหดเหี้ยมยิ่งกว่าเขาเสียอีก

    ตอนที่เลนินป่วยหนักนั้น โจเซฟ สตาลินเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมาก แต่สถานะของเขาเริ่มไม่มั่นคงแล้ว เพราะเลนินเห็นว่าเขาไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้ ถึงกับเขียนในพินัยกรรมของเขาว่า "สตาลินหยาบคายเกินไป" พร้อมกับเสนอให้กรรมการพรรคปลดเขาออกจากตำแหน่งด้วยวิธีใดก็ได้

    อย่างไรก็ตามในที่สุดสตาลินสามารถช่วงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็เริ่มปราบปรามคู่แข่งทางการเมืองของตน ในชั่วเวลาไม่กี่ปี ๖ ใน ๗ คนที่เป็นกรรมการกรมการเมือง(โพลิตบูโร)อันทรงอำนาจในสมัยของเลนิน หากไม่ถูกสังหารก็ฆ่าตัวตาย คงเหลือเพียงคนเดียวทีมีชีวิตอยู่คือสตาลิน ส่วนคนอื่น ๆ ที่มีเค้าว่าจะโดดเด่นกว่าเขา ก็ถูกกำจัดเช่นกัน

    ตลอด ๒๙ ปีที่สตาลินครองอำนาจ ( ค.ศ.๑๙๒๔-๑๙๕๓)การปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและโหดเหี้ยมรุนแรงมาก เพียงแค่แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล หรือวิพากษ์วิจารณ์สตาลิน ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็น "ศัตรูประชาชน" ตามด้วยการจับกุมคุมขัง ทรมาน และประหารชีวิต

    การกวาดล้างดังกล่าวทำอย่างเป็นระบบ และมีการสั่งการลงไปเป็นชั้น ๆ ถึงกับมีการระบุ "โควต้า" หรือจำนวนที่ต้องทำให้ได้ตามเป้า หัวหน้าตำรวจลับผู้หนึ่งส่งโทรเลขไปยังใต้บังคับบัญชาว่า "คุณได้รับมอบหมายให้กำจัดศัตรูของประชาชน ๑๐,๐๐๐ คน ขอให้รายงานผลโดยการส่งสัญญาณ" ไม่นานก็มีคำตอบส่งกลับมา เป็นบัญชีหมายเลขของคนที่ถูกยิงทิ้ง

    ประมาณว่าช่วงที่สตาลินครองอำนาจนั้นมีชาวรัสเซียตายถึง ๒๐ ล้านคน จำเพาะทศวรรษ ๑๙๓๐ เพียงทศวรรษเดียว มีคนตายถึง ๙.๕ ล้านคน สาเหตุการตายนั้นมีหลากหลายเช่น ถูกสังหารหมู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกทรมานหรือตรากตรำในค่ายกักกัน(ซึ่งใช้แรงงานเยี่ยงทาส) ขาดอาหารเนื่องจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล รวมทั้งการบังคับโยกย้ายประชากรขนานใหญ่ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะกำจัดชนชั้นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมนิยม (อันได้แก่ชนชั้น "กูลัก" หรือชาวนาที่รัฐบาลถือว่าเป็น "กระฎุมพี") ด้วยการอพยพผู้คนไปยังที่ที่แร้นแค้นกันดาร โดยไม่มีอาหารให้ และบางที่ก็ไม่มีแม้แต่น้ำกิน ใครที่ขัดขืนก็ถูกยิงทิ้ง

    อย่าว่าแต่การวิพากษ์วิจารณ์สตาลินเลย แม้การชื่นชมสรรเสริญ หากทำได้ไม่มากพอก็อาจมีโทษถึงตาย ครั้งหนึ่งมีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงมอสโคว์ เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นได้มีการแสดงความชื่นชมสรรเสริญสตาลิน ทุกคนในที่ประชุมพร้อมกันลุกขึ้นและตบมือดังสนั่น ๕ นาทีผ่านไป ก็ยังไม่มีใครหยุดตบมือ ทั้ง ๆ ที่ทุกคนรู้สึกปวดมือ ผ่านไป ๑๐ นาทีเสียงตบมือก็ยังดังกึกก้อง จนกระทั่งนาทีที่ ๑๑ ชายคนหนึ่งหยุดตบมือเป็นคนแรกแล้วนั่งลง คนอื่นก็ทำตาม ปรากฏว่าคืนนั้นเขาถูกจับ และถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปีด้วยข้อหาอื่น แต่ผู้สอบสวนเขาบอกเขาว่าอย่าเป็นคนแรกที่หยุดตบมือ

    ยุคของสตาลินเป็นยุคที่บรรยากาศแห่งความกลัวและความหวาดระแวงครอบงำไปทั่ว ไม่มีใครที่มีหลักประกันแห่งความปลอดภัย แม้แต่คนใกล้ชิดของสตาลิน หลายคนถูกกำจัดข้อหา "ทรยศต่อมาตุภูมิ" ไม่มีใครกล้าปริปากโต้แย้งสตาลิน เพราะนั่นหมายถึงการฆ่าตัวตาย โมโลตอฟ เป็นคนสนิทที่สุดของสตาลิน แต่เมื่อมีการเสนอให้จับภรรยาของเขาข้อหาเป็นภัยต่อประเทศ เขากลับนิ่งเงียบด้วยความกลัวกลางห้องประชุม เพราะผู้เสนอให้จับนั้นคือสตาลินเอง ระหว่างที่มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภรรยาของเขา เขานั่งเข่าสั่นและพูดอะไรไม่ออก

    ที่จริงโพลิน่า ภรรยาของโมโลตอฟมิใช่ใครอื่น หากเป็นเพื่อนสนิทของภรรยาคนที่สองของสตาลิน ภรรยาผู้นี้ถูกสตาลินกล่าวประณามในงานเลี้ยง เธอไม่พอใจมากจึงเดินออกจากที่นั้น โดยมีโพลิน่าเดินตามไปด้วย ไม่นานหลังจากนั้นภรรยาของเขาก็ฆ่าตัวตาย สตาลินรอถึง ๑๖ ปีเพื่อแก้แค้นโพลิน่า

    สตาลินครองอำนาจสูงสุดได้ก็เพราะการทรยศหักหลังเพื่อน และเพราะเหตุนี้เขาจึงไม่เคยไว้วางใจใครเลยแม้แต่คนเดียว และพร้อมจะกำจัดทุกคนที่เขาสงสัยว่าไม่ภักดีต่อเขา ด้วยเหตุนี้ทุกคนที่แวดล้อมเขาจึงหว่านโปรยคำชื่นชมสรรเสริญให้แก่เขาตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาคลายความหวาดระแวงเลย เมื่อเวลาผ่านไปความหวาดระแวงได้ลุกลามจนกลายเป็นความกลัวว่าเขาจะถูกคนใกล้ตัวกำจัด ทุกอย่างที่เขากินหรือดื่มจะต้องมีคนใกล้ชิดทดลองชิมก่อน

    ช่วงท้ายของชีวิต สตาลินมีอาการหวาดระแวงหนักขึ้น "หวาดระแวงเข้าขั้นป่วย"เป็นคำของครุสชอฟเมื่อพูดถึงสตาลิน"บางทีเขาก็จ้องหน้าคน แล้วพูดว่า "ทำไมวันนี้ตาของแกส่ายไปมา" หรือ "ทำไมวันนี้แกหันหน้าไปทางอื่น และหลีกเลี่ยงที่จะสบตาฉัน" .....เห็น "ศัตรู" "คนสองหน้า" และ "สายลับ"ในทุกหนแห่งและทุกสิ่งทุกอย่าง

    สตาลินกลายเป็นคนเปลี่ยวเหงา และอยากมีคนอยู่ด้วยตลอดเวลา ครุสชอฟ(ผู้นำรัสเซียคนถัดมา)พูดถึงสตาลินในตอนปลายชีวิตของเขาว่า "เมื่อเขาตื่นขึ้นมาตอนเช้า เขาจะเรียกพวกเราให้เข้าไปหาทันที ถ้าไม่ชวนดูหนัง ก็ชวนคุยในเรื่องซึ่งอาจจบได้ใน ๒ นาที แต่เขากลับพูดยื้อเพื่อให้เราอยู่กับเขานานขึ้น"

    สตาลินหว่านความกลัวและความหวาดระแวงลงไปในจิตใจของผู้คนทั้งประเทศ แต่แล้วความกลัวและความหวาดระแวงนั้นกลับครอบงำเขาเสียเอง ในขณะที่เขาทำลายอิสรภาพของผู้คนนั้น เขาก็ทำลายอิสรภาพของตนเองจนกลายเป็นทาสแห่งความคิดปรุงแต่งที่มิอาจควบคุมได้

    ในด้านหนึ่งสตาลินเป็นผลพวงแห่งอำนาจ ที่ยิ่งได้มามากเท่าไร ก็ยิ่งกัดกร่อนความเป็นมนุษย์ของเขามากเท่านั้น แม้ครอบครองประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เขากลับครองใจตนเองไม่ได้ ซ้ำยังหาความสุขไม่พบ

    "ผู้ที่เป็นเผด็จการไม่เคยมีอิสรภาพหรือมีมิตรภาพที่แท้จริงเลย" คำกล่าวของเพลโตในอุตมรัฐ สะท้อนภาพของสตาลินได้อย่างชัดเจนแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมาแล้ว ๒,๔๐๐ ปี อำนาจแม้มีเสน่ห์ชวนหลงใหล แต่เต็มไปด้วยโทษที่สามารถบั่นทอนชีวิตจิตใจ ของเราอย่างถึงแก่น และไม่เคยทำให้ชีวิตรู้สึกเติมเต็มเลย

    น่าสงสัยว่าใครที่ได้มาเห็นสภาพของสตาลินในช่วงท้ายของชีวิต จะยังอยากมีอำนาจอย่างเขาอีกหรือไม่ แต่ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะมนุษย์เรานั้นชอบหลงลืม คนที่อยากเป็นสตาลินจึงมีทุกยุคทุกสมัย หนึ่งในนั้นคือพอลพตผู้ที่นำชาวเขมรสู่ทุ่งสังหารนับล้านคนเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255407.htm
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เยียวยาด้วยใจที่รับฟัง
    รินใจ
    “ทิพย์”พบว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านม ร้ายกว่านั้นก็คือมะเร็งลุกลามไปที่ตับแล้ว แต่เธอก็ทำใจยอมรับความจริงได้ เธอไปรับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลเป็นระยะ ๆ แต่ก็ยังช่วยดูแลงานที่บ้านเป็นหลักอยู่

    วันหนึ่งมีอาสาสมัครจากโรงพยาบาลมาเยี่ยมเธอ ทิพย์สังเกตว่าอาสาสมัครที่ชื่อ “แพรว”คนนี้กระตือรือร้นมาก มาเยี่ยมเธอทุกวัน แถมยังช่างคุยอีกด้วย ทุกครั้งที่แพรวมาเยี่ยม เธอจะคุยเป็นชั่วโมง ส่วนใหญ่ทิพย์ได้แต่นั่งฟัง บางครั้งเธอรู้สึกรำคาญ แต่ก็ไม่ได้ถือสา หงุดหงิดคราใดก็รู้ทันและปล่อยวางได้ ยิ่งรู้จักแพรวจากเรื่องเล่าของเธอ ทิพย์ก็รู้สึกเห็นใจแพรว จึงทนฟังแพรวพูดได้ทุกวันนานนับเดือน แต่เธอไม่ได้ฟังแบบขอไปที เธอฟังอย่างใส่ใจ บางครั้งแพรวพูดวกวน สับสน ทิพย์ก็พูดทวนถ้อยคำของแพรวตามที่เธอได้ยิน ทำให้แพรวรู้ตัวว่าพูดอะไรไป และจัดลำดับความคิดได้ดีขึ้น

    เป็นเวลา ๔ เดือนเต็มที่แพรวมา “เยี่ยม”ทิพย์ โดยฝ่ายหลังเป็นผู้ฟังเสียมากกว่า แล้ววันหนึ่งแพรวก็เปิดเผยกับทิพย์ว่า เธอมีอาการป่วยทางจิต ก่อนมาพบทิพย์เธอมีอาการหนักมาก จนต้องไปหาจิตแพทย์ แต่อาการของเธอไม่ดีขึ้นเลย หมอได้แต่สั่งยาให้เธอ แต่ไม่เคยพูดคุยกับเธอเลย เธอจึงงดไปหาหมอ นั่นคือเหตุการณ์ก่อนที่เธอจะมาเป็นอาสาสมัคร แต่หลังจากได้มาเยี่ยมทิพย์เป็นเวลา ๔ เดือน เธอได้กลับไปหาหมอคนเดิมอีก หมอแปลกใจที่พบว่าแพรวมีอาการดีขึ้นมาก หมอถึงกับถามว่าเธอไปรักษาตัวที่ไหน

    แพรวไม่ได้ไปรักษาตัวที่ไหน เธอเพียงแต่ไปเยี่ยมทิพย์ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพูดคุยและระบายกับทิพย์เท่านั้น หากจะมีใครช่วยเยียวยาเธอ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือทิพย์นั้นเอง แต่ทิพย์ก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านั่งฟังแพรวพูดอย่างอดทนและใส่ใจเท่านั้น

    ทิพย์กำลังป่วยด้วยโรคร้าย แต่แทนที่จะเป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือจากแพรว เธอกลับเป็นฝ่ายเยียวยาแพรวอย่างที่เธอเองก็นึกไม่ถึง

    การรับฟังอย่างใส่ใจด้วยความปรารถนาดีนั้นสามารถเยียวยาใจและบำบัดความทุกข์ของผู้คนได้อย่างน่าอัศจรรย์ คนจำนวนไม่น้อยทุกข์เพราะความอัดอั้นตันใจ โบยตีตนเองด้วยความรู้สึกผิด จมดิ่งอยู่ในความเศร้าโศกและวิตกกังวล หรือแผดเผาใจด้วยความคับแค้น อารมณ์เหล่านี้ฉุดเขาไปสู่ถ้ำที่มืดทึบจนแทบจะหาทางออกไม่เจอ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีใครสักคนฟังเขาอย่างใส่ใจ ย่อมช่วยให้อารมณ์ที่อัดแน่นหมักหมมได้ระบายออกไป เปิดที่ว่างให้กับความรู้สึกใหม่สดเข้าไปแทนที่ เปรียบเสมือนลำแสงที่สาดส่องในถ้ำมืด ทำให้ชีวิตมีความหวังมากขึ้น
    จะว่าไปแล้วเราทุกคนย่อมปรารถนาการรับฟังทั้งนั้น แต่คนที่หิวโหยผู้รับฟังมากที่สุดก็คือคนทุกข์โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะต่ำต้อยหรือด้อยอำนาจ เช่น เด็ก วัยรุ่น คนแก่ หรือคนป่วย

    หญิงวัยห้าสิบเศษผู้หนึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก แม้จะรักษาโดยการฉายแสงครบแล้ว เธอก็ยังปวดและร้องครวญคราญมาก กินยาระงับปวดก็ไม่ดีขึ้น แต่พยาบาลสังเกตว่าเธอลุกเดินได้คล่องแคล่วว่องไวผิดกับคนที่มีอาการปวด จึงเข้าไปพูดคุยด้วย แล้วก็พบว่าเธอมีความทุกข์ใจมากเพราะรู้สึกว่าถูกลูกและสามีทอดทิ้ง พยาบาลนั่งฟังเธอพรั่งพรูถึงปัญหาครอบครัวอยู่นาน โดยไม่ได้ตัดบท อีกทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำอะไรแก่เธอมากนัก เพียงแต่ฟังด้วยความเห็นใจพร้อมกับให้กำลังใจเธอ พูดจบเธอก็รู้สึกดีขึ้น อาการเจ็บปวดทุเลาลงมาก เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลครั้งหลัง ๆ ไม่มีใครได้ยินเสียงร้องครวญคราญของเธออีก

    โดยทั่วไปเมื่อเราเห็นใครมีปัญหา ด้วยความปรารถนาดี เรามักอดไม่ได้ที่จะชี้แนะ หรือถ้ามีสถานะที่สูงกว่าเขา ก็จะเปิดปากสอนเลย แม้คำชี้แนะสั่งสอนของเราจะมีประโยชน์ แต่นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดก็ได้ เขาอาจปรารถนาเพียงแค่คนที่เข้าใจเขา เห็นคุณค่าของเขา หรือเปิดโอกาสให้เขาได้พูดถึงความรู้สึกลึก ๆ ภายในบ้าง น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ผู้คนมีเวลาให้แก่กันและกันน้อยเกินไป แม้แต่พ่อแม่หรือครูก็ไม่มีเวลาให้ลูกหรือศิษย์ แต่ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจเด็กบ้าง เราอาจเห็นเขาในอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยพบมาก่อน

    ครูสาวได้เรียกนักเรียนวัยรุ่นคนหนึ่งมาพบและซักถามถึงเหตุผลที่เขาขาดเรียนเป็นประจำ ปรากฏว่าเขากลับอาละวาด เหวี่ยงหนังสือใส่ข้างฝา ผลักเก้าอี้ล้มลง ซ้ำยังพูดจาข่มขู่ครู ครูตกใจแต่ตั้งสติได้ แทนที่จะต่อว่านักเรียน เธอขอให้นักเรียนนั่งลงและพูดคุยกับเธอ แต่เขายังคงส่งเสียงดังและเดินหงุดหงิดงุ่นง่านอยู่ในห้อง ในขณะที่ครูนิ่งสงบ เป็นเวลาพักใหญ่เขาถึงเดินมาหาครูแล้วเปิดปากเล่าถึงชีวิตของตน พรรณนาถึงความน้อยเนื้อต่ำใจ ความโกรธแค้นและความสิ้นหวังของเขา เขากล่าวโทษคนทั้งโลกเสมือนว่าเขาเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม แต่สุดท้ายเขาก็ยอมรับว่าตัวเองก็ได้ทำสิ่งเลวร้ายมากมายอย่างไม่น่าให้อภัย
    เขาพรั่งพรูไม่หยุดเพราะเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่มีคนรับฟังเขา ตลอดเวลาครูสาวนั่งฟังเขาด้วยความสงบและใส่ใจ เธอไม่ได้ชี้แนะอะไรเขา เพราะขณะที่เขาเล่าระบายนั้น เขาก็เห็นตัวเองชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าทำอะไรผิดพลาดบ้าง และควรจะหาทางออกอย่างไรถึงจะดีสำหรับเขา

    ไม่ว่าในบ้าน ในที่ทำงาน หรือสถานที่ต่าง ๆ ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้คนไม่ยอมฟังกัน ต่างเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ความไม่เข้าใจกันจึงลุกลามเป็นความโกรธ ยิ่งโกรธก็ยิ่งเกลียดและเห็นอีกฝ่ายเป็นตัวเลวร้าย ขณะเดียวกันก็สร้างกำแพงปกป้องตัวเองจากอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งถูกวาดภาพเป็นศัตรู ยิ่งต่างฝ่ายต่างเอาชนะก็ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ของกันและกัน แต่ทั้งหมดนี้จะแปรเปลี่ยนพลิกกลับหากอีกฝ่ายเดินยอมเข้าหาและรับฟังเขา แทนที่จะกล่าวหาหรือแก้ตัว

    “ดา” เป็นพยาบาลที่รู้สึกไม่สบายใจอย่างมากที่เห็นความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างญาติคนไข้รายหนึ่งกับคณะแพทย์พยาบาล คนไข้นั้นอายุ ๘๐ ปีรักษาตัวในห้องไอซียูนานถึง ๘ เดือน และอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยชีวิต หัวใจเขาหยุดเต้นถึง ๕ ครั้ง และทุกครั้งลูกก็ขอให้แพทย์ปั๊มหัวใจจนหน้าอกมีรอยแผลไหม้ ลูกชายยอมรับความตายของพ่อไม่ได้ และโทษคณะแพทย์ทุกครั้งที่พ่อมีอาการแย่ลง คราวหนึ่งถึงกับขู่ฆ่าแพทย์และพยาบาลหากพ่อมีอันเป็นไป

    วันหนึ่งดาเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วย ตั้งใจจะไปสวดมนต์ข้างเตียง ได้พบลูกชายจึงเข้าไปคุยด้วย ลูกชายได้โอกาสก็ต่อว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ นานา ดายืนฟังด้วยความสงบ โดยไม่แก้ตัว เขาระบายใส่เธอนานถึง ๓ ชั่วโมง แต่เธอไม่ตอบโต้สักคำ เธอยอมรับว่าหากเป็นเมื่อก่อนก็คงสวนกลับไปตั้งแต่ ๕ นาทีแรกแล้วว่า พวกคุณทนอยู่ที่นี่ทำไม ไม่ชอบใจก็ย้ายไปรักษาที่อื่นสิ แต่ครั้งนี้เธอเตรียมใจไว้แล้วว่าการฟังเขาระบายนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเขาและเธอ เธอจึงฟังอย่างจริงใจและตั้งใจ

    เมื่อพบกันครั้งต่อมา เขามีสีหน้าดีขึ้นและเป็นมิตรกับเธอมากขึ้น เธอยังคงไปสวดมนต์ข้างเตียงผู้ป่วยและรับฟังความเห็นของลูกชาย แล้ววันหนึ่งผู้ป่วยก็เสียชีวิต แต่แทนที่ลูกชายจะโกรธ กลับยอมรับได้ เธอพบกับเขาอีกครั้งในงานศพของบิดา คราวนี้เขากลับยกมือไหว้เธอด้วยความขอบคุณที่มางาน พร้อมกับพูดว่า“ผมทำผิดพลาดไปมาก เพราะความรักที่มีมากเกินไป รักพ่อมากเกินไป” เขามีสีหน้า ไม่ฟูมฟาย ไม่เศร้าหมอง ผิดกับแต่ก่อนซึ่งมีอาการคล้ายคนที่ควบคุมตนเองไม่ได้

    การพร้อมรับฟังผู้อื่นเป็นหัวใจในการเยียวยาความสัมพันธ์และสร้างมิตรภาพให้แก่กันและกัน มันไม่เพียงช่วยให้ผู้พูดได้ระบายความอัดอั้นตันใจเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาเห็นอีกฝ่ายว่าไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เขาวาดภาพเอาไว้ แม้จะยังเห็นเป็นปฏิปักษ์อยู่แต่ก็ลดความน่าเกลียดน่ากลัวลงไป และนั่นคือโอกาสที่จะสร้างความเป็นมิตรให้เกิดขึ้น

    จริงอยู่ความขัดแย้งในบางกรณีก็มีความซับซ้อน เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ และเหตุปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย แต่อคติที่มีต่อกันก็ช่วยขยายความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น แต่หากสามารถทำให้อคติลดลงได้จากการที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าหาก่อนและยินดีรับฟังความทุกข์ของอีกฝ่ายด้วยความใส่ใจ ความขัดแย้งก็มีโอกาสจะแก้ไขได้ง่ายขึ้น

    ช่วงที่มีความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างกลุ่ม “เสื้อแดง”กับ “เสื้อเหลือง” นั้น อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งที่ทำงานภายใต้ “โครงการอาสาเพื่อนรับฟัง” ได้ชักชวนสมาชิกระดับล่างของสองฝ่ายมารับฟังความเห็นของกันและกัน ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายมีความรู้สึกที่ดีต่อกันมากขึ้น เพราะเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ได้เป็นยักษ์มารอย่างที่คิด แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มมีทั้งเรื่องอุดมการณ์และผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การที่แต่ละฝ่ายจะหันมาเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสมานไมตรีในระยะยาวได้
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255203.htm
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เคราะห์กรรมมิอาจย่ำยี
    พระไพศาล วิสาโล
    ไม่มีรัฐบุรุษหรือประมุขประเทศคนใดในโลกยุคใหม่(หรืออาจรวมถึงโลกยุคเก่าด้วย)ที่เคยติดคุกนานเท่ากับเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ที่เพิ่งจากไป

    ๒๗ ปีในเรือนจำอุกฉกรรจ์นั้นนานเกือบเท่าครึ่งชีวิตของคนส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา แมนเดลาต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตในวัย ๔๕ ปีขณะที่ลูกสองคนซึ่งเกิดจากภรรยาคนที่สองยังเล็กมาก ตลอดเวลาดังกล่าวเขาแทบไม่ได้เห็นหน้าลูกเลย อีกทั้งยังไม่สามารถไปร่วมงานศพของแม่และลูกชายคนโตได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการถูกกระทำอย่างไร้ความปรานีจากผู้คุม การถูกใช้งานหนัก และการถูกตัดขาดจากโลกภายนอกแทบจะสิ้นเชิง

    ใครที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ จิตใจคงบอบช้ำย่ำแย่และกราดเกรี้ยวกับชีวิต แต่เมนเดลาหาเป็นเช่นนั้นไม่ เขาเคยพูดติดตลกเมื่อย้อนนึกถึงประสบการณ์ช่วงนั้นว่า “ผมไปเที่ยววันหยุดยาวถึง ๒๗ ปี” เคยมีคนถามเขาว่า คุกเปลี่ยนแปลงเขาอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า “ผมออกมาโดยมีวุฒิภาวะมากขึ้น”

    เพื่อนที่รู้จักแมนเดลาก่อนติดคุกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเปลี่ยนไปจากเดิมมาก นิสัยเจ้าอารมณ์ ก้าวร้าว อมทุกข์และหยิ่งยะโสในวัยหนุ่มของเขานั้น ได้หายไป เมื่อออกจากคุก เขากลับเป็นคนที่นิ่มนวล อ่อนโยน อบอุ่น และมีรอยยิ้มอย่างคนอารมณ์ดี “บุคลิกของเขางอกงามเปลี่ยนไปจากเดิม เขาอบอุ่นกับทุกคน” เพื่อนสนิทคนหนึ่งพูดถึงเขา แทนที่จะมีความขมขื่น เขากลับเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน แทนที่จะอัดแน่นด้วยความเกลียดชัง เขากลับมีเมตตา พร้อมที่จะให้อภัยทุกคนแม้กระทั่งคนที่เคยทำร้ายเขา คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากเมื่อเขาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เพราะทำให้นโยบายปรองดองของเขาสัมฤทธิ์ผล แอฟริกาใต้สามารถหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง ขณะที่การถ่ายโอนอำนาจจากคนขาวซึ่งเป็นคนส่วนน้อยมาสู่คนผิวดำเป็นไปได้อย่างสันติ

    คุกไม่ได้บั่นทอนอุดมการณ์ของเขาให้อ่อนแรงลงเลย หากยังเปิดโอกาสให้เขาได้หยุดคิดและไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง นอกจากเรื่องของบ้านเมืองแล้ว เขายังได้เรียนรู้จิตใจของผู้คนและเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น การได้ใกล้ชิดกับผู้คุมซึ่งล้วนเป็นคนขาว ช่วยให้เขารับรู้ถึงความกลัวของพวกเขา เข้าใจพวกเขามากขึ้น จึงมีความเกลียดชังน้อยลง และพร้อมจะให้อภัยต่อพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของพวกเขา

    แมนเดลาพบว่าผู้คุมเหล่านี้หลายคนเป็นเด็กกำพร้า เกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวที่ยากจน ตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม อีกทั้งได้รับการอบรมสั่งสอนในระบบเหยียดผิว จึงมองเห็นคนดำว่าต่ำต้อยและชั่วร้าย แต่ในส่วนลึกของคนเหล่านี้มีความเป็นมนุษย์ที่พร้อมจะเห็นอกเห็นใจคนที่ทุกข์ยากเดือดร้อน

    แมนเดลาได้เรียนรู้จากในคุกว่าคนทุกคนนั้นล้วนมีความดีอยู่ในจิตใจ คนหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของเขามากก็คือ พันเอกเพียท บาเดนโฮสต์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้บัญชาการเรือนจำที่โหดเหี้ยมที่สุด แมนเดลาได้ท้าทายอำนาจของเขาหลายครั้งและถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เมื่อถึงวันที่เขาอำลาจากเกาะนี้เพื่อไปรับหน้าที่ใหม่ บาเดนโฮสต์ได้หันมาพูดกับพวกเขาว่า “ผมขอให้พวกคุณโชคดี” เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าคำพูดเช่นนี้จะออกมาจากปากของคนที่โหดร้ายอย่างบาเดนโฮสต์ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ตอกย้ำความเชื่อของเขาว่า แม้กระทั่งคนชั่วก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะว่าไปแล้วคนอย่างบาเดนโฮสต์ก็มีความดีอยู่ในตัว แต่ที่เขา “ทำตัวเหมือนคนโหดร้ายก็เพราะเขาได้รับรางวัลจากการกระทำที่โหดร้าย”

    ประสบการณ์เหล่านี้สอนให้เขาเชื่อในความดีของมนุษย์ทุกคน และพยายามดึงเอาส่วนดีที่สุดของผู้คนออกมา เขาเคยพูดว่า “อย่าพูดด้วยเหตุผล จงพูดด้วยหัวใจ” เพราะการพูดด้วยหัวใจนี้แหละสามารถสื่อสัมผัสตรงถึงความดีในใจของเขาได้ ในทำนองเดียวกัน ด้วยความเชื่อดังกล่าว เขาจึงเห็นว่าท่าทีที่สุภาพ อ่อนโยน รวมทั้งการแสดงไมตรีจิต สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนที่ดุร้ายก้าวร้าวได้ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เขาพบว่าท่าทีดังกล่าวสามารถชนะใจผู้คุมที่หยาบกระด้าง ยิ่งเขาหันมาเรียนภาษาของคนเหล่านั้น (คนขาวกับคนดำในแอฟริกาใต้พูดคนละภาษา) ศึกษาวรรณกรรมของคนขาวรวมทั้งรักบี้ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของคนขาว จนเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนขาว เขาก็สามารถเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรได้

    อย่างไรก็ตามทักษะสำคัญที่เขาเรียนรู้ระหว่างติดคุกนั้นได้มาจากการอยู่ร่วมกับคนดำด้วยกัน โดยเฉพาะที่เกาะรอบเบินนั้นมีนักโทษจากกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มมาอยู่ด้วยกัน นอกจากคนดำจากสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน(African National Congress) ซึ่งสนับสนุนการอยู่ร่วมกันระหว่างสีผิวต่าง ๆ แล้ว ยังมีคนดำที่ปฏิเสธการอยู่ร่วมกับคนขาว และคนที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากความเห็นจะแตกต่างกันมากแล้ว วัยก็แตกต่างกันด้วย กล่าวคือสองกลุ่มหลังเป็นคนหนุ่มที่ใจร้อนอารมณ์แรง บางช่วงขัดแย้งกันมากถึงกับใช้อาวุธทำร้ายกันในคุก แมนเดลาตระหนักดีว่าความสามัคคีกันระหว่างคนดำเป็นสิ่งสำคัญทั้งในคุกและนอกคุก เขาจึงพยายามประสานคนเหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ที่นั่นเขาได้เรียนรู้ว่าการชักชวนด้วยท่าทีที่นุ่มนวล ใช้น้ำเย็นเข้าลูบนั้น ดีกว่าการใช้ท่าทีที่แข็งกร้าว

    คุกจึงเป็นสถานที่ที่แมนเดลาได้พัฒนาทักษะในการสมานไมตรีและสร้างความปรองดอง ได้เรียนรู้วิธีการผูกสัมพันธ์กับคนทุกประเภทและดึงมาเป็นพวก ทักษะเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่เขามากเมื่อได้รับอิสรภาพ นอกจากเขาจะเป็นแกนนำในการสร้างแนวร่วมระหว่างคนดำกลุ่มต่าง ๆ จนสามารถนำพา ANC ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นแล้ว เมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดี ก็สามารถผลักดันนโยบายคืนดีให้เป็นผลสำเร็จ

    อย่างไรก็ตามทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเขาละเลยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ การจัดการกับอารมณ์ของตนเอง ในคุกเขาเรียนรู้ที่จะเก็บความโกรธไม่ให้แสดงออกมา เพื่อรักษาท่าทีที่เป็นมิตร เขายังได้พบว่าการกดข่มความโกรธช่วยให้เขาคิดชัดเจนขึ้น ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ แมนเดลาเคยกล่าวว่า “เมื่อเจอสถานการณ์(ที่ยั่วยุหรือเป็นปัญหา) เราต้องการการคิดที่ชัดเจน แน่นอนว่าคุณจะคิดได้ชัดเจนขึ้นหากคุณใจเย็น มั่นคง ไม่ว้าวุ่น ทันทีที่คุณว้าวุ่น คุณอาจทำผิดอย่างร้ายแรง” คุกสอนให้เขารู้ว่า ควร “คิดด้วยสมอง ไม่ใช่ด้วยเลือด” การครุ่นคิดด้วยใจสงบ ไม่ให้ความโกรธเกลียดเคียดแค้นมาครอบงำ ช่วยให้เขาเห็นแจ่มชัดว่า การเจรจากับคนขาวคือทางออกของประเทศ ไม่ใช่การจับอาวุธต่อสู้ด้วยอาวุธดังที่เขาเคยเชื่อ การบรรลุข้อตกลงร่วมกันของคนในชาติเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนดำมีสิทธิมีเสียงเป็นเจ้าของประเทศโดยปราศจากการนองเลือด ด้วยเหตุนี้เขาจึงทำทุกอย่างเพื่อสร้างความปรองดองระหว่างคนต่างผิว ไม่ว่าการหยิบยื่นไมตรีแก่ผู้ที่เคยเป็นศัตรูหรือการให้อภัย แม้จะต้องเก็บความแค้นเคืองปวดร้าวไว้ในใจก็ต้องทำเพื่ออนาคตของประเทศ

    ที่สำคัญก็คือเขาไม่มัวปล่อยใจให้จมอยู่กับความทุกข์ แทนที่จะขมขื่นกับชะตากรรมอันเลวร้าย เขากลับใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ “มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สูญเสียวันเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตไป แต่คุณได้เรียนรู้มากมาย คุณมีเวลาครุ่นคิด ยืนห่างจากตัวเอง มองตัวเองจากระยะไกล เพื่อเห็นความขัดแย้งในตัวเอง”

    ด้วยวัย ๗๒ แมนเดลาออกจากคุกที่จองจำเขาเกือบครึ่งชีวิตโดยปราศจากความขมขื่น สีหน้ายิ้มแย้ม แถมมีอารมณ์ขัน สามารถหยอกเย้าชะตากรรมอันเลวร้ายในอดีต และมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง ด้วยศรัทธาในความดีของมนุษย์ทุกคน เมื่อเขาได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ สิ่งแรก ๆ ที่เขาทำก็คือ เยี่ยมเยือนเพื่อแสดงการให้อภัยแก่ผู้ที่เคยทำร้ายเขา อาทิ อัยการที่เคยฟ้องเขาจนเป็นเหตุให้ติดคุก อดีตประธานาธิบดีโบทาที่เคยมองเขาเป็นศัตรูตัวฉกาจ รวมทั้งแต่งตั้งผู้บัญชาการเรือนจำที่เคยโหดร้ายกับเขาให้เป็นทูตประจำออสเตรีย

    ชีวิตของแมนเดลานั้นเหมือนนิยาย จากนักโทษอุกฉกรรจ์ที่ถูกขังอย่างไร้อนาคตจนโลกเกือบลืม กลับกลายมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศซึ่งคนทั้งโลกยกย่องให้เป็นไอดอล แต่ที่อัศจรรย์ไม่แพ้กันก็คือ จากคนหนุ่มเลือดร้อน อ่อนไหว ขมขื่นและหยิ่งยะโส เมื่อออกจากคุกที่เลวร้ายดังนรก กลับกลายเป็นคนแก่ที่เข้มแข็ง ถ่อมตน มีอารมณ์ขัน และเปี่ยมด้วยเมตตา นับเป็นแบบอย่างของผู้ที่ไม่ยอมปล่อยให้เคราะห์กรรมกระทำย่ำยีจนชีวิตตกต่ำย่ำแย่ แต่กลับเป็นนายเหนือมัน สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์จนนำพาชีวิตสู่ความเจริญงอกงาม

    แมนเดลาเคยกล่าวว่า บทกวีที่เขาให้แรงบันดาลใจแก่เขาอย่างมากก็คือ “ฉันคือผู้บงการชะตาชีวิตของฉันเอง ฉันคือผู้นำพาดวงวิญญาณของฉัน” สำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อย ชีวิตของเขาก็ให้แรงบันดาลใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าบทกวีดังกล่าว
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255704.htm
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,462
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    พร้อมรับความสูญเสีย
    พระไพศาล วิสาโล
    ชีวิตคนเราล้วนวนเวียนอยู่กับเรื่องได้-เสีย มีเรื่องได้-เสียเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตทั้งในทางดีและทางร้าย ทั้งนี้เพราะสุขหรือทุกข์ของคนเราล้วนขึ้นอยู่กับได้หรือเสีย ถ้าได้ก็มีความสุข แต่หากเสียก็มีความทุกข์

    ได้คือสุข เสียคือทุกข์ นี้คือสมการชีวิตที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี แต่สมการนี้แปลกตรงที่ ตามตรรกะแล้ว เวลาได้สิ่งหนึ่งมาแล้วสูญเสียสิ่งนั้นไป สุขกับทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมา น่าจะเท่ากัน เพราะเกี่ยวเนื่องกับของชิ้นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ เราสังเกตไหมว่า สิ่ง ๆ เดียวกันนั้นเวลาเราได้มา ความสุขที่เกิดขึ้นมักจะน้อยกว่าความทุกข์เมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไป

    แดเนียล คาเนแมน (Daniel Kahneman)ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อสิบปีที่แล้ว กับคณะ ได้ทำการทดลองจนได้ข้อสรุปว่า การสูญเสียสิ่งหนึ่งไปนั้นทำให้เรามีความทุกข์เป็นสองเท่าของความสุขเมื่อได้มันมา การทดลองอย่างหนึ่งที่เขาทำขึ้นก็คือ แบ่งนักศึกษาในชั้นเรียนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับถ้วยกาแฟซึ่งประทับตรามหาวิทยาลัย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นได้แต่เพียงยืนดูถ้วยกาแฟ จากนั้นก็เปิดโอกาสให้มีการซื้อขายกัน การซื้อขายนั้นไม่ได้ใช้เงินจริง ๆ เพียงแต่ตอบคำถามว่า “จำนวนเงินเท่าใดที่คุณยินดีจะขายหรือซื้อถ้วยกาแฟ” ผลปรากฏว่า เจ้าของพร้อมสละถ้วยกาแฟหากได้เงินเป็นสองเท่าของจำนวนที่ผู้ซื้อยินดีจ่าย การทดลองนับสิบ ๆ ครั้งให้ผลสรุปทำนองเดียวกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความไม่อยากสูญเสียถ้วยกาแฟนั้นมีมากเป็นสองเท่าของความอยากได้ถ้วยกาแฟ ดังนั้นหากต้องสูญเสียถ้วยกาแฟไปฟรี ๆ จึงมีความทุกข์เป็นสองเท่าของความสุขเมื่อได้ถ้วยกาแฟนั้น

    การทดลองอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตั้งโจทย์ว่า หากมีการเสี่ยงโชคด้วยการโยนเหรียญ ถ้าออกก้อยต้องเสีย ๑๐๐ เหรียญ แต่ถ้าออกหัวจะได้.....เหรียญ ถามว่าต้องเติมเงินในช่องว่างนั้นเป็นจำนวนเท่าไหร่คุณถึงจะยอมเล่น? คำตอบของคนส่วนใหญ่อยู่ราว ๆ ๒๐๐ เหรียญ แต่ก็มีบางคนที่แม้ออกหัวได้ ๒๐๐ เหรียญก็ยังไม่ยอมเล่น ทั้ง ๆที่มีโอกาส ๕๐ เปอร์เซ็นต์ที่จะได้ ทั้งนี้ก็เพราะไม่อยากเสีย ๑๐๐ เหรียญนั่นเอง

    การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คนเรากลัวความสูญเสียและพยายามหลีกเลี่ยงมันให้ไกล เว้นแต่มีสิ่งแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า (คือดีกว่าหรือมากกว่า) ไม่ว่าทำอะไรก็ตามถ้าโอกาสเสียกับได้มีเท่า ๆ กัน เราจะไม่ทำเลยถ้าเลือกได้ ทั้งนี้ก็เพราะการสูญเสียนั้นทำให้เรามีความทุกข์มากกว่าความสุขที่ได้สิ่งเดียวกันนั้นมา (นี้กระมังเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงจดจำคนที่ขโมยหรือโกงเงินเราได้แม่นยำหรือยาวนานกว่าคนที่ให้เงินเราในจำนวนเท่า ๆ กัน)

    มองตามตรรกะ ความสุขที่ได้จากเงิน ๑๐๐ บาท กับความทุกข์ที่เสียเงิน ๑๐๐ บาท น่าจะเท่ากันหรืออยู่ในระดับเดียวกัน แต่ทำไมความทุกข์ที่เสียเงิน ๑๐๐ บาทจึงมากกว่าความสุขที่ได้เงิน ๑๐๐ บาท คำตอบจะเห็นชัดมากขึ้นเมื่อย้อนกลับไปที่การทดลองเกี่ยวกับถ้วยกาแฟ ตอนที่ยังไม่ได้ถ้วยกาแฟมานั้น ผู้คนไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะซื้อมัน จึงมักให้ราคาที่ไม่สูงนัก แต่เมื่อได้ถ้วยกาแฟมาแล้ว ผู้คนไม่อยากเสียมันไป ดังนั้นจึงตั้งราคาสูง ถามว่าทำไมถึงไม่อยากเสียมันไป เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเพราะเมื่อได้มันมาแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกยึดมั่นว่ามันเป็น “ของฉัน” ความยึดมั่นดังกล่าวนี้เองทำให้เราทุกข์เมื่อต้องสูญเสียมันไป ตรงข้ามกับตอนที่ยังไม่ได้มันมา ยังไม่มีความยึดมั่นสำคัญหมายว่ามันเป็น “ของฉัน” ดังนั้นเมื่อได้มันมาความดีใจจึงไม่มากเท่ากับความเสียใจยามที่ต้องสูญเสียมันไป ด้วยเหตุผลเดียวกัน เงิน ๑๐๐ บาทที่ได้มากับเสียไป แม้จำนวนเท่ากัน แต่ความรู้สึกผูกพันต่อเงินสองก้อนนั้นไม่เท่ากัน ตอนที่ยังไม่ได้มันมานั้น เงินจำนวนนั้นไม่ใช่ของฉัน แต่เมื่อได้มาแล้ว ก็เกิดความยึดมั่นทันทีว่าเป็นเงินของฉัน เมื่อต้องเสียมันไป จึงเกิดความเสียดายหรือเป็นทุกข์ขึ้นมาในระดับที่มากกว่าความดีใจตอนที่ได้มันมา

    การทดลองอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้ถ้วยกาแฟ อีกกลุ่มหนึ่งได้ช็อกโกแลตแท่งใหญ่ ซึ่งมีราคาเท่ากับถ้วยกาแฟ การสอบถามความเห็นก่อนการทดลองทำให้ทราบว่านักศึกษาแต่ละคนชอบของสองอย่างไม่เท่ากัน เมื่อเริ่มการทดลองหลายคนได้สิ่งที่ตนเองชอบน้อยกว่า แต่เมื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนจากถ้วยกาแฟเป็นช็อกโกแลต หรือกลับกัน ปรากฏว่ามีเพียงหนึ่งในสิบที่ขอเปลี่ยน

    นี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าคนเราไม่ชอบการสูญเสีย ถึงแม้ว่าตอนที่ยังไม่ได้มานั้น อาจจะชอบไม่มากนัก แต่เมื่อได้มาแล้วก็ไม่อยากเสียมันไป แม้จะเป็นการแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ชอบมากกว่าก็ตาม สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพอได้มันมาก็เกิดความยึดติดถือมั่นว่าเป็นของฉันทันที จึงไม่อยากเสียมันไป

    ความรังเกียจและพยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสียนั้น เป็นสัญชาตญาณที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ มันช่วยให้เราหวงแหนและปกป้องทรัพย์สมบัติซึ่งจำเป็นต่อความอยู่รอดของเรา อีกทั้งยังทำให้เราไม่หลงใหลสิ่งใหม่ ๆ จนยอมเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินทองข้าวของที่มีอยู่ แต่บางครั้งมันก็เป็นโทษต่อตัวเรามิใช่น้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ นักเล่นหุ้นที่รู้ทั้งรู้ว่าหุ้นในมือของตนนั้นราคาตกลงเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ยอมขายเพราะกลัวขาดทุน และหวังว่าราคามันจะดีขึ้นในที่สุด ผลก็คือถือหุ้นตัวนั้นจนกลายเป็นขยะคามือ ซึ่งทำให้เขาขาดทุนยิ่งกว่าเดิม เช่นเดียวกับนักธุรกิจที่ทำกิจการจนขาดทุนอย่างหนักแต่ไม่ยอมเลิกเพราะเสียดายเงินที่ลงไป กลับกู้เงินซ้ำเล่าซ้ำเล่ามาค้ำจุนกิจการที่ไม่มีอนาคต ด้วยความหวังล้ม ๆ แล้ง ๆ ว่ามันจะดีขึ้น สุดท้ายเขาก็เป็นหนี้ท่วมหัวจนล้มละลาย

    ความกลัวสูญเสียบางครั้งจึงทำให้เราตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากคนที่กอดหีบสมบัติที่กำลังจมน้ำ ด้วยความหวังว่าจะกู้มันขึ้นมาได้ ทั้ง ๆ ที่ในยามนั้นการปล่อยหีบสมบัติเป็นวิธีเดียวที่ช่วยให้สูญเสียน้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรปล่อยให้ความกลัวสูญเสียครอบงำจิตใจจนขาดสติหรือบดบังปัญญา ดังได้กล่าวแล้วว่าความกลัวสูญเสียนั้นมีข้อดี อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่นิ่งนอนใจ พยายามหาทางป้องกันและรักษาทรัพย์สมบัติที่มี แต่ความจริงอย่างหนึ่งของชีวิตที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความสูญเสียพลัดพรากนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียพลัดพรากไปได้ตลอด ดังนั้นเมื่อถึงคราวต้องสูญเสียพลัดพราก จึงควรรู้จักทำใจยอมรับความจริง การไม่ยอมรับความจริงเพราะกลัวหรือรังเกียจความสูญเสียนั้น นอกจากทำให้เราทุกข์ใจจนอาจกินไม่ได้นอนไม่หลับหรือล้มป่วยแล้ว ยังอาจผลักให้เราก่อปัญหาหนักกว่าเดิม เช่น ทำให้เกิดความสูญเสียหนักขึ้น

    การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของตนนั้น ช่วยให้ใจไม่ถูกครอบงำด้วยความกลัวสูญเสีย อย่างน้อยก็ทำให้ไม่เผลอทำให้ปัญหาเลวร้ายลง สติยังช่วยให้ได้คิดหรือเกิดปัญญา สามารถไตร่ตรองด้วยเหตุผลหรือข้อเท็จจริง จนเห็นโทษของการหวงแหนปกป้องทรัพย์สมบัติอย่างไม่ลืมหูลืมตา เช่น ทำให้นักลงทุนเห็นชัดว่า การขายหุ้นที่กำลังตกตอนนี้แม้จะขาดทุนแต่ก็ยังดีกว่าการถือไว้ในมือไปเรื่อย ๆ หรือทำให้นักธุรกิจเห็นชัดว่าเลิกกิจการตอนนี้ดีกว่ามัวกู้หนี้มาต่ออายุกิจการอย่างไร้อนาคต สติและปัญญาช่วยให้เราเห็นว่าการกอดหีบสมบัติที่กำลังดิ่งลงน้ำนั้น ในที่สุดย่อมลงเอยด้วยการสูญเสียทั้งชีวิตและหีบสมบัติ
     

แชร์หน้านี้

Loading...