นายกฯทักษิณพบเยาวชน รับจัดโซนนิ่งร้านขายสุรา-บุหรี่

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 10 มกราคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    วันที่ 8 มกราคม เวลา16.45 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปที่ลานด้านหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ พบปะแลกเปลี่ยนทัศนคติกับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา-อุดมศึกษา เขต กทม.
    ลานเวทีมีฉากด้านหลังมีข้อความว่า "นายกทักษิณ พบเยาวชน 8 มกราคม" โดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส.พรรคไทยรักไทย และเยาวชนที่เสนอปัญหานั่งเป็นวงกลม โดยมีนายยุรนันท์ ภมรมนตรี น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ ส.ส.กทม. และนายจักรภพ เพ็ญแข เป็นพิธีกร และมีการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ด้วย
    นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเริ่มการเสวนาว่า ปัจจุบันนี้มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อเยาวชนมาก เพราะว่ามีผู้ใหญ่ที่ใจร้าย แสวงหาผลประโยชน์จากเยาวชนได้ง่ายกว่า โดยผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่นึกว่านี้คือลูกหลานของตัวเอง ดังนั้น วันนี้ (8ม.ค.) ต้องการจะฟังความเห็นของเยาวชนว่า หากเป็นนายกรัฐมนตรีต้องการที่จะทำอะไรให้กับเยาวชนบ้าง โครงสร้างพื้นฐานเพื่อเยาวชนจะเป็นอย่างไร ควรมีห้องสมุด ศูนย์ออกกำลังกาย ควรมีกฎหมายควบคุมอบายมุขอย่างไร
    คุณหญิงสุดารันต์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอว่า การจัดลานเยาวชนครั้งนี้เกิดจาก ส.ส.กทม.ลงพื้นที่ 3 ครั้ง สรุปได้เป็น 3 ปัญหา คือ 1. การปราบปราบอบายมุข ยาเสพติดอย่างจริงจัง 2.ต้องการให้มีการบับคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และ 3.ควรมีการส่งเสริมความบรรเทิงสำหรับเด็กที่ปลอดภัย และสร้างสรรค์
    ต่อจากนั้นได้เปิดโอกาสให้เยาวชนเสนอปัญหา ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการควบคุมร้านจำหน่ายสุรา บุหรี่ เพราะปัจจุบันนี้หาซื้อได้ง่ายกว่าหาซื้อหนังสือ บางพื้นที่ในรัศมี 500 เมตรใกล้โรงเรียน มีร้านขายสุรามากว่า 500 แห่ง อย่างเช่น ย่านคลองเตย บางร้านเอาสุราใส่ขวดชาเขียวหรือใส่น้ำแข็ง
    พร้อมกันนี้ขอให้ควบคุมสื่อโฆษณา เพราะปัจจุบันนี้สามารถโฆษณาสุรา และบุหรีผ่านทางสื่อได้แล้ว แม้นแต่ในโรงภาพยนต์ก็มีการโฆษณาด้วย
    นายกรัฐมนตรี ได้ถามว่า ใครเห็นด้วยกับการทำโซนนิ่งร้านจำหน่ายสุรา บุหรี่ และจำกัดอายุผู้ดื่มหรือไม่ ซึ่งเยาวชนทุกคนต่างยกมือเห็นด้วย ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ย้ำว่า ตำรวจก็ควรจะเอาจริง ไม่เช่นนั้นก็จะมีการเอาสุราใส่ขวดขาเขียวอยู่ดี
    ต่อจากนั้นเยาวชนได้เสนอขอให้การควบคุมสื่อลามกที่แพร่หลายทางเนต สิ่งพิมพ์ และให้มีการจัดการศึกษาเพศศึกษาอย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าสื่อก็คือธุรกิจ ย่อมต้องการยอดขาย แต่สื่อก็บอกตัวเองว่าเป็นฐานนันดรพิเศษ ใครจะไปควบคุมไม่ได้ จึงทำให้สื่อไทยไม่มีการถวงดุล ดังนั้น จะเข้าไปควบคุมก็จะถูกกล่าวหา ดังนั้น รัฐบาลจะสนับสนุนเยาวชนรวมตัวกันทำสื่อที่ดี ๆ ทางสิ่งพิมพ์ อินเตอร์เนต อย่างเต็มที่
    นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงครูที่ออกมาเดินขบวนว่า ไม่เคยเห็นครูออกมาเดินขบวนเพื่อเด็กและเยาวชนเลย มีแต่เดินเพื่อตัวเอง ซึ่งการจะแก้ไขก็จะยาก จึงต้องแก้ไข
    พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะนำข้อเสนอของเยาวชนครั้งนี้นำไปดำเนินการ และเยาวชนเองก็จะต้องทำการบ้านเพื่อที่จะนำมาเสนอในการพบกับอีกครั้งเดือนหน้า คิดว่าจะมีกิจกรรมอะไรดี ๆ อย่างเช่น ทำสื่อดี ๆ ก็ให้เสนอมาโดยจะเริ่มปิดปีการศึกษานี้ จะทำเป็นศูนย์รวมเพื่อรองรับเด็กที่กลับไปบ้านแล้วไม่รู้จะพูดคุยกับใครก็สามารถโทรศัพท์มาที่ศูนย์นี้ได้

    "พินิจ"ออกกฎเพิ่มเขตปลอดบุหรี่
    นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงงการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2549 ว่า จะเน้นเรื่องการป้องกันโรคลดปัญหาการเจ็บป่วยให้น้อยลง โดยเฉพาะในโรคที่ป้องกันได้ ที่เป็นปัญหาอันดับ 1 ของประเทศไทยขณะนี้ ได้แก่โรคมะเร็ง เสียชีวิตปีละ 45,759 คน หรือตายชั่วโมงละ 5 คน ซึ่งน่ากลัวมาก โดยสาเหตุหลักๆเกิดมาจากการสูดควันพิษจากบุหรี่ ผลสำรวจล่าสุด ทั่วประเทศมีคนสูบบุหรี่มากถึง 11. 3 ล้านคน จึงต้องคุ้มครองสุขภาพของคนอีก 52 ล้านคน ที่ไม่ได้สูบ แต่ได้รับควันพิษจากบุหรี่ อย่างต่อเนื่อง จริงจัง
    นายพินิจกล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ ได้แก่ การกำหนดเครื่องหมายของเขตสูบบุหรี่และเขตปลอดบุหรี่ และการกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่เพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่มี 31 ประเภท เพิ่มอีก 3 ประเภท โดยมีการปรับปรุงกฎกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 10 เดิมที่ใช้ตั้งแต่ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2545 เป็นต้นมา เพื่อให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น คาดว่าจะมีผลใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนมกราคมนี้ แน่นอน
    ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขใหม่ ได้เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ ได้แก่ ล็อบบี้โรงแรมที่ติดแอร์ทุกแห่ง สถานพยาบาลด้านการแพทย์แผนไทย และธุรกิจบริการสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อสุขภาพ และร้านเสริมสวยเพื่อสุขภาพ และแก้ไขประกาศเดิม ซึ่งครอบคลุมเฉพาะตู้รถไฟชนิดปรับอากาศ แต่ประกาศฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมตู้โดยสารรถไฟทั้งขบวน
    สำหรับประกาศกระทรวงที่กำหนดเครื่องหมายของเขตสูบบุหรี่และเขตปลอดบุหรี่ ได้มีการเพิ่มป้ายแสดงเขตปลอดบุหรี่ชนิดเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตร เป็นป้ายวงกลม พื้นสีขาว โดยมีขอบสีแดง กว้างไม่ต่ำกว่า 0.5 เซนติเมตร มีรูปมวนบุหรี่ซิกาแร็ต และควันสีดำอยู่ตรงกลาง มีเส้นทึบสีแดงพาดทับ ขนาดกว้างเท่าขอบสีแดง ทั้งนี้อาจจัดให้มีข้อความ “ ห้ามสูบบุหรี่ ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท ” หรือพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในความหมายเดียวกัน เพียงอย่างเดียวหรือกำกับเพิ่มเติมในป้ายด้วยก็ได้ เครื่องหมายของเขตปลอดบุหรี่ อาจทำเป็นป้ายถาวร ป้ายแขวน ป้ายตั้งโต๊ะ หรือป้ายสติ๊กเกอร์ก็ได้
    "การเพิ่มเครื่องหมายขนาดเล็กนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะติดป้าย ซึ่งแต่ก่อนมีขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร ขนาดเดียว อย่างไรก็ตามเครื่องหมายป้ายใหญ่มีข้อบังคับต้องให้ติดไว้ที่หน้าทางเข้าสถานที่สาธารณะที่ประกาศเป็นเขตปลอดบุหรี่ทุกทาง และเห็นได้ชัดเจน" นายพินิจกล่าว
    ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศผู้นำของโลกในด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งแสดงถึงความจริงจังของรัฐบาลไทย โดยมีพื้นที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ 34 ประเภท แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 1. สถานที่ที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ 100 % ได้แก่
    1. รถยนต์โดยสารประจำทาง 2.รถยนต์โดยสารรับจ้าง 3. ตู้โดยสารรถไฟ 4. เรือโดยสาร 5. เครื่องบินโดยสารภายในประเทศ 6. ที่พักผู้โดยสารเฉพาะบริเวณติดแอร์ 7. ลิฟต์โดยสาร 8.ตู้โทรศัพท์สาธารณะ 9.รถรับส่งนักเรียน 10. โรงมหรสพ 11.ห้องสมุด 12. ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ สถานเสริมความงาม ร้านขายยา หรือร้านอินเตอร์เน็ตเฉพาะบริเวณที่ติดแอร์ 13. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือสถานที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะบริเวณที่ติดแอร์ 14. สถานที่ออกกำลังกายเฉพาะบริเวณที่ติดแอร์ 15. คลินิกที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน 16.ศาสนสถานเฉพาะบริเวณประกอบศาสนกิจ 17.สถานที่จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เฉพาะในบริเวณที่มีระบบปรับอากาศ ซึ่งรวมถึงร้านอาหาร ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าด้วย 18. ห้องสุขา 19.ท่าเทียบเรือสาธารณะ 20. โบว์ลิ่ง 21. ล็อบบี้โรงแรมที่ติดแอร์ทุกแห่ง 22. สถานพยาบาลด้านการแพทย์แผนไทย และ23.ธุรกิจบริการสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อสุขภาพ และร้านเสริมสวยเพื่อสุขภาพ
    ลักษณะที่ 2 เป็นพื้นที่ที่คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่โดยมีข้อยกเว้น ประกอบด้วย 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1.สถานที่เหล่านี้เป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่ยกเว้นห้องส่วนตัว ประกอบด้วย 1.สถานศึกษาที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา 2. อาคารจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ 3. สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยค้างคืน 4. สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน และ 5. สนามกีฬาในร่ม กลุ่มที่ 2 เป็นเขตปลอดบุหรี่ ยกเว้นห้องส่วนตัวและสถานที่ที่จัดเป็นเขตสูบบุหรี่เฉพาะได้แก่ 1.สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา 2.บริเวณแสดงสินค้าหรือนิทรรศการเฉพาะที่มีระบบปรับอากาศ 3. สถานที่ราชการหรือรัฐวิสากิจ 4. ธนาคารและสถาบันการเงิน 5. สำนักงานที่ติดแอร์ และ 6. อาคารท่าอากาศยาน
    นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถออกแบบป้ายแสดงเขตปลอดบุหรี่ เขตสูบบุหรี่ ได้เอง แต่ต้องอยู่ภายใต้ขนาดและรูปแบบที่กำหนด กล่าวคือ หากเป็นเขตสูบบุหรี่ กำหนดให้เป็นป้ายวงกลมสีขาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร มีขอบสีฟ้า กว้างไม่ต่ำกว่า 1 เซนติเมตร โดยมีรูปมวนซิกาแร็ตและควันสีดำอยู่ตรงกลาง มีขนาดกว้างเท่ากับขอบสีฟ้า หากเป็นเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่กำหนดเป็น 2 ขนาด คือขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร มีขอบสีแดงกว้างไม่ต่ำกว่า 1 เซนติเมตร มีรูปมวนซิกาแร็ตและควันสีดำอยู่ตรงกลาง มีเส้นทึบสีแดงพาดทับ ขนาดกว้างเท่ากับขอบสีแดง มีข้อความ “ห้ามสูบบุหรี่ ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท” อยู่ใต้ป้ายวงกลม
    "ส่วนป้ายเขตปลอดบุหรี่ขนาดเล็กให้ย่อส่วนลงมาโดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตร ป้ายเล็กนี้อาจมีข้อความห้ามสูบบุหรี่และโทษปรับหรือไม่มีก็ได้ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ป้ายดังกล่าวอาจทำเป็นป้ายถาวร ป้ายแขวน ป้ายตั้งโต๊ะ หรือสติกเกอร์ก็ได้" นายแพทย์ธวัชกล่าว

    จราจร"สยามพารากอน"ติดมาก
    อย่างไรก็ตามตั้งแต่เปิดสยามพารากอนส่งผลให้การจราจรบนถนนพระราม 1 ติดขัด พ.ต.ต.ไพรัช พุกเจริญ สารวัตรจราจร สน.ปทุมวัน กทม. เปิดเผยว่า ตำรวจได้เก็บข้อมูลด้านจราจรในถนนพระราม 1 หลังจากมีการเปิดห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนโดยได้รวบรวมตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2548 ซึ่งเปิดห้างเป็นทางการวันแรกจนถึงปัจจุบันพบว่า สภาพการจราจรถนนพระราม 1 ขาเข้าและออกในวันจันทร์-ศุกร์แม้จะมีรถมากโดยเฉพาะช่วงบ่าย-ค่ำ แต่ก็เคลื่อนตัวได้ตามจังหวะสัญญาณไฟ
    "ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รถจะหนาแน่นเต็มทุกช่องทาง ตั้งแต่แยกเจริญผล-แยกปทุมวัน-แยกเฉลิมเผ่า-แยกราชประสงค์ ส่วนใหญ่จะมีแถวยาวและเคลื่อนตัวได้ช้าตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงห้างปิด" พ.ต.ต.ไพรัช กล่าวและว่า
    ส่วนปัญหาหลัก ๆ วันหยุดก็คือ รถจำนวนมากหมุนเวียนหาที่จอดในห้างส่งผลให้รถออกจากห้างได้ช้า เพราะรถในถนนก็มากเช่นกัน อีกทั้งเมื่อรถเข้าไปในห้างก็เคลื่อนตัวได้ช้าติดปัญหาตรงที่ต้องวนหาที่จอด นอกจากนี้ เมื่อรถที่วิ่งมาจากแยกราชประสงค์ ต้องการเข้าห้าง ตำรวจ และ รปภ. ต้องโบกรถให้เลี้ยวขวา ลักษณะอย่างนี้จะตัดกระแสรถทางตรงที่วิ่งมาจากแยกปทุมวัน
    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตำรวจได้เก็บข้อมูลโดยเก็บรายละเอียดทั้งหมด ทั้งเรื่องการแยกแยะปัญหาที่พบในแต่ละวัน ช่วงเวลา สาเหตุ รวมทั้งความหนาแน่นของรถ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาเดิม ๆ คือ มีรถวิ่งในถนนพระราม 1 มากเกินความจุของถนนเกือบทั้งวันส่งผลให้รถที่ต้องการจะวิ่งเข้ามาในบริเวณดังกล่าวเคลื่อนตัวได้ช้า และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ สน.ปทุมวันมีแนวคิดจะเสนอ บช.น.ให้ออกข้อบังคับจราจรให้เฉพาะรถเมล์ รถร่วมบริการวิ่งในถนนพระราม 1 ช่วงตั้งแต่แยกพงษ์พระรามมุ่งหน้าแยกราชประสงค์เท่านั้น โดยห้ามไม่ให้รถส่วนบุคคลวิ่งอย่างเด็ดขาด เพื่อลดปริมาณรถให้ช่องทางดังกล่าวให้เป็นช่องทางรถมวลชนเท่านั้น เพื่อความคล่องตัวและความเหมาะสมในการระบายการจราจร
    ข่าวโดย [​IMG] http://www.komchadluek.net/
     

แชร์หน้านี้

Loading...