เรื่องเด่น ท่วงทำนองสรภัญญะ “ปาน ธนพร” ปลุกเพลงบูชาพระ

ในห้อง 'บันเทิงและศิลปวัฒนธรรม' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 12 ตุลาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    b8b3e0b899e0b8ade0b887e0b8aae0b8a3e0b8a0e0b8b1e0b88de0b88de0b8b0-e0b89be0b8b2e0b899-e0b898e0b899.jpg




    คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น

    ลืมไปว่า สยามรัฐมีออนไลน์ (ทางเฟสบุ๊ก-ทวิตเตอร์ และยูทูบ) เมื่อแก้คำผิด จึงหลงเหลือคำผิดอยู่ทางออนไลน์ตั้งใจว่า ถ้าเป็นคำผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็จะปล่อยไป (เพราะเกรงใจคนพิมพ์) แต่มีคำที่ (พิมพ์) ผิดค่อนข้างฉกรรจ์หลงเหลืออยู่ทางออนไลน์จึงขอแก้ไขอีกสักเล็กน้อย

    คือคำว่า “สนามบิน” เป็น “สนามยิม” (ในสยามรัฐฉบับหนึ่ง) ที่กล่าวถึงพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ เคยทำงาน (ในตำแหน่ง ซูเปอร์ไวเซ่อร์-Supervisor- หรือผู้ควบคุมการก่อสร้าง) ในการสร้างสนามบินที่ประเทศในตะวันออกกลางท่านไม่เคยสร้าง “สนามยิม” (หรือโรงยิม) ที่ไหนเลย

    คำว่า สนามยิม ไม่เคยได้ยิน ได้ยินแต่คำว่า “โรงยิม” (โรงยิมที่ขนาดเล็กกว่า สนามบินและสนามฟุตบอลเป็นอันมาก) เกรงท่านผู้อ่านจะคิดว่า ผมไม่รู้จักคำว่า “โรง” และ “สนาม” ซึ่งมีขนาด (ความกว้าง) ต่างกันชัดเจน

    ความผิดพลาดนี้ เกิดจากต้นฉบับของผมเขียนด้วยลายมือ (ส่งทางไลน์) การพิมพ์ผิดจากต้นฉบับจึงเป็นไปได้ง่าย ขอได้โปรดให้อภัย

    และขอขอบพระคุณ ท่านที่กรุณาส่งบทความนั้นมาทางไลน์ให้อ่านอีกที ผมเองไม่ขยันอ่านทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ ทางเฟสบุ๊ก ฯลฯ หรือทางมือถือ ยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่เหมือนเดิม พยายามเปลี่ยนนิสัยการอ่านอยู่ แต่รู้สึกว่าจะเปลี่ยนได้ยาก

    *****


    บทความวันนี้ ตั้งใจจะเขียนนานแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คือ เรื่อง “ปาน” หรือ “ธนพร แวกประยูร” นักร้องเสียงทรงพลังคนหนึ่ง (คงจำได้ เธอร้องเพลง “หนุ่มบาวสาวปาน” คู่กับแอ๊ด คาราบาว นั่นแหละ) นำบทสวดสรภัญญะมาร้องเป็นเพลงท่วงทำนองสรภัญญะ อย่างน่าฟัง

    เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง ผมฟังธรรมะทางยูทูปอยู่ ตอนจบมีเสียงเพลงทำนองสรภัญญะ ปิดรายการ เสียงร้องนั้นไพเราะอย่างยิ่งมีดนตรีคลอ (น่าจะเป็นเปียโน) ตอนท้ายได้ยินเสียงขลุ่ยด้วย

    นึกทันทีว่า เสียงนั้น ต้องเป็นนักร้องอาชีพ แล้วก็นึกถึง “ปาน ธนพร” ที่ตัวเองเคยชื่นชอบในน้ำเสียง เพราะได้ข่าวว่า ปาน ธนพร หันไปร้องเพลงแนวธรรมะ และหันไปทรงธรรม เป็นที่แปลกใจ แก่วงการเพลงมากอยู่

    ได้ทราบว่า ปาน ธนพร ร้องเพลง “จิตตนคร” (อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวรฯ) ด้วย ก็ยิ่งแน่ใจว่า เธอสนใจมาทางธรรมจริง

    จำได้ว่า ปาน ธนพรเป็นนักร้องตัวแทนประเทศไทยไปร้องเพลงในพิธีปิด (หรือ เปิด?) ซีเกมส์กรุงเวียงจัน ซึ่งได้รับเสียงปรมมือกึกก้องจากชาวลาว แสดงว่า ชาวลาวรู้จักเธอเป็นอย่างดีด้วยความชื่นชม (เสียดายที่จำชื่อเพลงที่เธอร้องในวันนั้นไม่ได้)

    เพลงทำนองสรภัญญะ ที่ปาน ธนพร ร้องคือบทสวด “องค์ใดพระสัมพุทธ” ที่นักเรียนสมัยผมสวดทุกวันศุกร์ก่อนจะกลับบ้าน ไม่ทราบว่าเป็นบทประพันธ์ของท่านผู้ใด รู้แต่ว่าเป็น “คำฉันท์” ประเภทหนึ่ง (น่าจะเป็น “อินทรวิเชียนฉันท์” (อ่านว่า “อิน-ทอ-ระ-วิ-เชียน-ฉัน”)

    ตามวินัยสงฆ์ การใช้เสียงในลักษณะร้องเพลง ซึ่งมีการลากเสียงยาว แม้จะมีเนื้อหาเป็นธรรมะ พระพุทธเจ้าก็ห้าม เพราะเป็นการร้องเพลงเหมือนชาวบ้าน พระพุทธเจ้าสอนพระภิกษุว่า การทำเสียงให้ไพเราะแบบร้องเพลง มีโทษคือ 1.ตัวผู้ร้องก็เพลินในเสียงนั้น 2.คนอื่นก็เพลินในเสียงนั้น 3.ชาวบ้านติเตียนว่าไม่เหมาะสม 4.ทำให้สมาธิของผู้เพลินฟังเสียไป 5.เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่พระภิกษุสมัยหลัง

    การใช้เสียงแบบร้องเพลงนั้น เป็นความผิดของพระภิกษุเพียงเล็กน้อย (ปรับเป็นอาบัติทุกกฎ) เราจึงเห็นพระเทศน์แหล่ ที่ใช้ท่วงทำนองแบบเพลงลูกทุ่งอยู่ทั่วไป

    แต่ชาวบ้านก็ประนมมือฟังอยู่

    ส่วนการสวดทำนองสรภัญญะนั้น คงมีมานานแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ให้เล่นเสียงอย่างนั้น พระภิกษุทั้งหลายก็เลยไม่กล้าสวดสรภัญญะ พระพุทธเจ้าอนุโลมให้พระภิกษุสวดสรภัญญะได้

    จึงเป็นที่หมายทั่วไปว่า การสวดสรภัญญะนั้น พระสงฆ์ทำได้

    แต่พระสงฆ์ไทยก็ไม่สวดสรภัญญะมีเสียงดนตรีคลอต่างกับพระสงฆ์ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน ทิเบต อินเดีย ฯลฯ (ทำทาจะมีเสียงดนตรี ก็บนธรรมมาสน์เทศน์แหล่กระมัง?)

    ผมเคยฟังเพลงแขก (อินเดีย) เป็นเพลงใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ฟังเมื่อไร ก็ซึ้งเมื่อนั้น จำได้ว่า ได้ซื้อ Cd เพลงนี้ให้คนป่วยรายการหนึ่ง (ป่วยด้วยโรคมะเร็ง และถึงแก่กรรมแล้ว) ท่านฟังจนสิ้นใจ ได้บอกความหมายในเพลงให้ท่านฟังด้วย ความหมายในเพลงกล่าวถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรตอนหนึ่งว่า

    “อิทํ โข ปน ภิกฺขเว, (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล) ทุกฺขํ อริยสจฺจํ, (เป็นทุกข์อย่างแท้จริง) ชาติปิ ทุกฺขา, (ความเกิดก็เป็นทุกข์) ฯลฯ”

    เพลงนี้ไปจบลงว่า “อยเมว อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค, (นี้คือทางมีองค์ 8) เสยฺยถีทํ, (กล่าวคือ) สัมมาทิฏฐิ,สมฺนา สงฺกปฺโป, สมฺมาวาจา, สมฺมากมฺปนฺโต,สมฺมาอาชีโว, สมฺมาวายาโม,สมฺมาสติ,สมฺมาสมาธิ (แปลตามลำดับว่า ปัญญาเห็นชอบ,ความดำริชอบ,วาจาชอบ,การงานชอบ,การเลี้ยงชีวิตชอบ,ความเพียรชอบ,ความระลึก(สติ)ชอบ,ความมีจิตตั้งมั่น (สมาธิ) ชอบ)”

    เพลงแขกนี้ ท่วงทำนองเรียบๆง่ายๆ ฟังแล้วเข้าใจได้ทันที (ทั้งๆ ที่เป็นภาษาบาลี)การออกเสียงคำบาลีของเขา ออกตามเสียงในอักษรโรมัน ที่ต่างไปจากคำบาลีของไทย คือคำว่า “อิทํ” เขาออกเสียงเป็น “อิทมฺ” (คือออกเสียงนิคหิตเป็น “อัม” เช่นเดียวกับคำว่า “สรณํ” ที่ออกเสียงเป็น “สรณัม” นั่นแหละ)

    เพลงแขกใช้ดนตรี (ท้องถิ่น) คลอไม่กี่ชิ้น ก็ฟังไพเราะ เคยฟังเพลงแนว “เพื่อชีวิต” (เนื้อหาเป็นธรรมะ) ของไทย รู้สึกว่าฟังยาก ก็เลยไม่โดนใจคนเมื่อมาได้ฟังนักร้องอาชีพอย่าง ปาน ธนพร ร้องสรภัญญะ ก็ต้องหาฟังอีกหลายเที่ยว ปาน ธนพร ใช้น้ำเสียงอันทรงพลังของเธอคลอเสียงดนตรีง่ายๆ เรียบๆ แต่ก็ไพเราะจับใจ

    ปาน ธนพร บอกว่า เพลงสรภัญญะที่เธอร้อง ต้องใช้พลังใจร้องเป็นพิเศษ ต้องไม่คิดเรื่องเงิน หรือรายได้จากเพลง “ควักเงินตัวเองต่างหาก” เธอพูดยิ้มๆ

    ก็เลยมาคิดว่า ทางวัด (โดยมหาเถรสมาคม) น่าจะคิดสนับสนุนงานเพลงแนว “สรภัญญะ” ช่วยเธอ อยากให้ทางวัดเลิกเปิดเพลงโลกๆ ลงบ้าง หันมากล่อมเกลาจิตใจคนด้วยเพลงสรภัญญะทั่วทุกวัดได้แล้ว

    มีคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอันมากในรูปคาถา หรือคำฉันท์บาลีถ้าเอามาแปลงเป็นคำฉันท์ของไทย ก็จะเป็นการเผยแพร่พุทธธรรมไปในตัว

    จะเป็นการฟื้นฟูงานกวีประเภท ฉันท์ ซึ่งซบเซามากเวลานี้ ให้ตื่นตัวได้

    เช่นคำสอนใน “ภัทเทกรัตตสูตร (คาถา)” ที่สอนให้อยู่กับปัจจุบันถ้าแปลและแต่งเป็นฉันท์ไทย จะกินใจคนฟังเป็นอันมาก

    คำสอนหรือเพลงสรภัญญะนั้น เหมาะที่จะใช้คำฉันท์บาลีและไทยในการขับร้อง อย่างที่ปาน ธนพร ร้องสรภัญญะ “องค์ใดพระสัมพุทธ”นั่น

    นักเรียนประถมรุ่นผม (ปี2499-2504) มีการร้องแบบสรภัญญะให้เพลิดเพลิน และให้ซึมซับในภาษาไทยโดยไม่รู้ตัวอีก 2 อย่าง คือ อ่านทำนองเสนาะ และขับเสภา สมัยนั้น ไม่มี “กลอนเปล่า” หรือบทกวีปลอดฉันทลักษณ์อย่างสมัยนี้

    จำได้ว่า เมื่อไปขอคำฉันท์ในโอกาสต่างๆ กับอาจารย์บานเย็น ลิ้มสวัสดิ์ (ป.ธ.8) ท่านนั่งแต่งให้ทันที แต่ได้สังเกตว่า ท่าน “ฮัม” เสียงเป็นท่วงทำนองของคำฉันท์ที่แต่งไปด้วย แสดงว่า ในคำฉันท์และภาษากวีของไทยมีเสียงดนตรีด้วย

    เมื่อ ปาน ธนพร บุกเบิกเพลงสรภัญญะแล้ว ก็อยากให้นักร้องอาชีพสายอื่นๆ สานต่องานของเธอด้วย โดยเฉพาะทางภาคอีสาน มีการสวดสรภัณณะด้วยท่วงทำนองของตัวเอง ซึ่งน่าฟังมาก น่าจะมีการฟื้นฟูโดยวงการนักร้องลูกทุ่งอีสานได้

    ทางภาคอื่นๆ ก็มีการสวดสรภัญญะทั้งนั้น

    ถ้านักร้องอาชีพหันมาช่วยกันบ้าง ก็จะเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนาไปในตัว

    อยากให้เพลงสรภัญญะมีเสียงดนตรีคลอตามสมควร ซึ่งพระสงฆ์อาจทำไม่ได้ การผลิตงานโดยนักร้องอาชีพ น่าจะทำได้ดีกว่า

    พูดถึงเสียงดนตรี อยากให้ใช้ดนตรีในภาคหรือท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ทางภาคอีสาน มี “พิณ” “โหวด” หรือ “โปงลาง” เป็นต้น

    ทางภาคกลางใช้ขลุ่ย “คลอ

    ทางภาคเหนือใช้ “ซึง” ก็น่าจะเพราะ

    มีเสียง “กลอง” ให้จังหวะบ้างก็คงได้

    เรื่องนี้ ขอฝากให้วงการเพลงช่วยกันคิดครับ คิดเสียว่า ปาน ธนพรได้จุดประกายไว้ดีแล้ว


    65613eec1c95d117bebd3f840e9be3c868d4f910329ba0e65603eaae02c489f8.jpg


    ขอขอบคุณที่มา
    https://siamrath.co.th/n/108220
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 14 ตุลาคม 2019

แชร์หน้านี้

Loading...