ถอดรหัส Korean wave จุดกระแสคลั่ง "เกาหลี" ยุทธศาสตร์ value creation ที่น่าตะลึง !!

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย zipper, 12 พฤษภาคม 2005.

  1. zipper

    zipper เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กันยายน 2004
    โพสต์:
    5,226
    ค่าพลัง:
    +10,590
    ถอดรหัส Korean wave จุดกระแสคลั่ง " เกาหลี" ยุทธศาสตร์ value creation ที่น่าตะลึง !!
    คอลัมน์ โฟกัส นิว เทรนด์


    แม้กระแส "เกาหลีฟีเวอร์" ไม่ใช่ของใหม่ในสังคมไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจนั่นคือ มันกำลังทวีความแรงอย่างจับตามอง มันไม่ได้เกิดจากความเห่อเพียงอย่างเดียว แต่มันมาจากยุทธศาสตร์ที่แยบยล !

    นับแต่ละครเกาหลีโผล่โทรทัศน์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2543 จากนั้นหลายสิ่งหลายอย่างก็ไหลตามมา

    ทั้งภาพยนตร์ เรียนภาษา อาหาร เกมออนไลน์ ท่องเที่ยว ล่าสุดวรรณกรรมแปลเกาหลีกำลังเข้ามาตีตลาดเป็นพายุบุแคม

    เกิดภาพชัดเจนอย่างยิ่งที่กลุ่ม K-POP กลุ่มชื่นชอบวัฒนธรรมเกาหลี พวกเขาบริโภคตั้งแต่ละคร ภาพยนตร์ เพลง เรียนภาษา การแต่งตัวกำลังเติบโต

    "วันนี้กลุ่ม K-POP มาแรงและใหญ่กว่ากลุ่ม J-POP ทั้งๆ ที่ดารา นักร้องญี่ปุ่นเข้ามานานกว่าเกาหลีมาก เฉพาะที่เว็บไซต์ตั้งแต่เปิดเมื่อปี 2545 จนขณะนี้จะเห็นว่าตัวเลขความนิยมดารานักร้องเกาหลีสูงขึ้นมาก จากวันละ 400-500 คนวันนี้มีคนเข้าชมเว็บไซต์ถึงวันละ 3,000-4,000 คนที่เข้ามาอัพเดตข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับดาราที่พวกเขาชื่นชอบ" ประภัสสร อมรเลิศพานิช เจ้าของ www.jkdramas.com เว็บไซต์ข้อมูลดารานักร้องญี่ปุ่น-เกาหลีกล่าว

    วันนี้หากเดินตามริมถนนในเซี่ยงไฮ้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้ยินเพลงเกาหลีร้องในภาษาจีนแมนดารินกระหึ่มดัง

    ที่ฮานอยสาวๆ ชาวเวียดนามเด็กหน้าเข้มแบบ "เกาหลีลุก" เดินกันขวักไขว่

    หากผ่านไปในตลาดเมียนมาร์สิ่งที่จะต้องพบแน่ๆ คือ ลูกเด็กเล็กแดง กระทั่งผู้ใหญ่ ต้องพูดคุยเรื่องละครโทรทัศน์เกาหลีที่ได้ชมเมื่อคืนก่อน

    กระทั่งในญี่ปุ่นเองอัลบั้มเพลงของ "โบ ฮา" ศิลปินเกาหลีกลายเป็นอัลบั้มยอดนิยมอันดับ 1

    และเกาหลียังกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์นิยมไปกันมากเป็นอันดับต้นๆ

    สำหรับในไทยแล้วนับแต่ละครโทรทัศน์เรื่องแรกเข้ามาในปี 2543 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในชื่อ "ลิขิตแห่งรัก" แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จมากแต่ก็สร้างแฟนละครได้ในระดับหนึ่ง

    เพียงแค่ปีเดียวก็ประสบความสำเร็จและจุดกระแส "เกาหลีฟีเวอร์" ด้วยละครเรื่อง "ออทัม อิน มาย ฮาร์ท" ที่ฉายทางสถานีไอทีวีในปี 2544 ก่อนที่จะตอกย้ำกระแสความนิยมด้วยภาพยนตร์เรื่อง "มาย แซสซี่ เกิร์ล" และแรงขึ้นเป็นลำดับในปัจจุบัน

    ประภัสสรเล่าว่า "เสน่ห์ของละครและภาพยนตร์เกาหลีอยู่ที่ความเป็นอะไรที่แปลกใหม่ เนื้อหามีการหักมุม บางเรื่องมีกลิ่นอายคล้ายๆ ละครไทย แต่การถ่ายทำจะเป็นธรรมชาติและใช้ โลเกชั่นตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามของเกาหลี ซึ่งชักจูงใจให้ทัวร์ท่องเที่ยวตามรอยละครเกาหลีได้รับความนิยมมาก"

    จากความชมชอบละครขยายวงไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และยังแรงไปถึงทำให้อาหารประจำวันอย่างกิมจิได้รับความนิยมไปด้วย โดยกลุ่ม K-POP ในระดับฮาร์ดคอร์มักมีการนัดพบเพื่อสังสรรค์กันตามร้านอาหารเกาหลี โดยที่พ็อปที่สุดเป็นโคเรียทาวน์ สุขุมวิท 12 แหล่งชุมนุมของชาวเกาหลีในไทย

    "กลุ่ม K-POP ไม่เพียงแต่จะบริโภคสื่อ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะเลือกซื้อสินค้าเราก็มักจะเลือก แบรนด์เกาหลีด้วย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือจนถึงอาหารการกิน อย่างมาม่า สาหร่าย" เจ้าของเว็บไซต์ www.jkdramas.com กล่าว

    ทั้งหมดนี้เป็นแรงกระเพื่อมทางวัฒนธรรมที่เกิดจาก "Korean wave" หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี

    เจสซิกา คัม รองประธานทีวี เน็ตเวิร์ก เอเชีย กล่าวว่า "เกาหลีจะเป็นธงต่อไปในวัฒนธรรมพ็อปของเอเชีย"

    แน่นอนว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความบังเอิญ "ประชาชาติธุรกิจ" ย้อนกลับไปดูข้อมูลและพบนัยสำคัญหลายประการของวามสำเร็จนี้ !!

    แม้หลายคนจะมองว่าการรุกทางวัฒนธรรมของเกาหลีอาจจะเป็นการเดินตามชาติมหาอำนาจ เฉกในโมเดลเดียวกับความสำเร็จของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น หากแต่มีมุมมองของนักวิชาการผ่านงานวิจัย "Korea as the wave of the future" มองว่า ความสำเร็จของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของเกาหลีไม่ได้แตกต่างอะไรกับกรณีความสำเร็จของการผ่องถ่ายวัฒนธรรมอเมริกัน เฉกเดียวกับฮอลลีวูด และการสร้างวัฒนธรรมพ็อปในเอเชียของญี่ปุ่นที่สามารถรุกคืบโดยภาคธุรกิจ หากแต่กรณีของเกาหลีรัฐบาลมีความเข้าใจและผลักดันให้วัฒนธรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมซึ่งทำให้เกาหลีประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเช่นที่เป็นอยู่

    จึงอาจถือได้ว่าเกาหลีเป็นผู้นำในการปรับปรุงนโยบายด้านเศรษฐกิจด้วยการสร้างความสำเร็จด้วย "พ็อปคัลเจอร์"

    ในรายงานชิ้นหนึ่งของหนังสือพิมพ์ "อาซาฮีชิมบุน" ระบุถึงความสำเร็จนี้ว่า "เกิดจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ถึงกับมีการเปิดโรงเรียนสร้างผู้กำกับฯเพื่อสร้างคนรองรับในอุตสาหกรรมบันเทิงโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ปี 2544 รวมถึงผลิตบุคลากรด้านตลาดต่างประเทศโดยนักเรียนจะถูกส่งไปดูงานในงานนิทรรศการ ละครและภาพยนตร์ต่างๆ ที่คานส์ และประเทศในเอเชีย" จากนั้นในปี 2545 รัฐบาลเกาหลีกำหนดนโยบาย 5 ปีที่จะเริ่มให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมวงการโทรทัศน์

    ความอ่อนแอของละครโทรทัศน์ญี่ปุ่น และการเดินมาถึงทางตันของฮอลลีวูดที่เห็นได้ชัดจากการที่มีผู้กำกับฯหลายคนเข้ามาซื้อบทภาพยนตร์จากเอเชียไปผลิตภาพยนตร์ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกาหลีจะสามารถขึ้นมายืนเทียบเคียงมหาอำนาจทางวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศได้ไม่ยาก

    ในสายตาผู้เชี่ยวชาญมองว่า "ความสำเร็จของการทำให้วัฒนธรรมของเกาหลีกลายมาเป็นแมสคัลเจอร์ของเอเชียได้จากการเกิดงานที่มีคุณภาพ คือทั้งคุณภาพการผลิต การแสดงที่เป็นธรรมชาติ และการกำหนดตำแหน่งทางการตลาดเฉพาะกลุ่มที่ชัดเจน"

    ดร.ดำรงค์ ฐานดี ผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายว่า สาเหตุที่เกาหลีหันมารุกทางวัฒนธรรมนั้นเนื่องจากมองว่าการทำให้เกาหลีเป็นที่รู้จักจะทำให้คนทั่วโลกซื้อสินค้าที่ส่งออกมายังเกาหลีมากขึ้น รวมทั้งไปท่องเที่ยวยังเกาหลีมากขึ้น ซึ่งก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จ

    ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ถูกกำหนดขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในตอนปลายทศวรรษที่ 2530 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ส่งเสริมให้เร่งขยายอุตฯทางวัฒนธรรม (cultural industry) ให้มีความแข็งแกร่ง และในสมัยของรัฐบาล "คิม แด จุง" ที่ได้ประกาศนโยบายเสริมสร้างวัฒนธรรมพื้นฐานปี 2544

    เช่นการเร่งก่อสร้างศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ที่เขตโซควาน มหาวิทยาลัยโซลแห่งชาติ ขยายศูนย์ศิลปะแห่งกรุงโซล และศูนย์ศิลปะพื้นเมืองแห่งชาติ ปรับปรุงศูนย์วัฒนธรรมกษัตริย์ เซจองและโรงละครแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโซลให้มีความทันสมัย ฯลฯ โดยตั้งเป้าให้เกาหลีเป็นเมืองวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล

    มากกว่านั้นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวยังทุ่มเงินกว่า 5 หมื่นล้านวอน เพื่อทำภาพยนตร์สารคดี ซอฟต์แวร์ สิ่งพิมพ์ ดนตรีและข้อมูลต่างๆ กับประเทศเกาหลีเพื่อเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก และให้ปี 2544 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวของเกาหลีด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปีเพื่อเป้าหมายสูงสุดที่มีต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเผยแพร่สินค้าเกาหลีสู่ตลาดโลก ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงชัดเจนว่าเกิดจากยุทธศาสตร์และการส่งเสริมที่ชัดเจนจากรัฐบาลเป็นหลัก

    แต่ในอีกด้านหนึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจ ผู้เชี่ยว ชาญด้านเอเชียคนหนึ่งเชื่อว่า "คนรุ่นใหม่ของเกาหลีอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ การสร้างสรรค์และจินตนาการที่ล้นเปี่ยมทำให้ผู้นำประเทศสามารถค้นพบความคาดหวังใหม่ทางเศรษฐกิจ"

    ในสมุดปกขาวที่รายงานถึงอุตฯวัฒน ธรรมของเกาหลีในปี 2546 ซึ่งตีพิมพ์โดยกระทรวงวัฒน ธรรมฯคาดการณ์ว่า อุตฯวัฒนธรรมของเกาหลีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6.6% ของจีดีพี ขณะที่จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยคาดว่าจะมีมากถึง 200,000 คนในปี 2551 และคาดว่าจะสามารถส่งออกสินค้าวัฒนธรรมไปยังต่างประเทศได้มากถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ทั้งยังตั้งเป้าว่าเกาหลีจะเป็น 1 ใน 3 ของโลกในปี 2550 ในการแย่งคว้าเค้กก้อนใหญ่ของแวดวงอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของโลกที่มีมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

    นี่คือเป้าหมายจากยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในโลกวัฒนธรรม ที่คนต้องติดตามแบบห้ามกะพริบตา

    และน่าศึกษาว่ายุทธศาสตร์ value creation เฉกเช่นนี้เมืองไทยทำได้หรือไม่ ?


    คอลัมน์ โฟกัส นิว เทรนด์ หนังสือพิมพ์มติชน
     

แชร์หน้านี้

Loading...