เราปฏิบัติธรรมจนถึงระดับที่เอาชีวิตเข้าแลกแล้วหรือยัง ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 7 มีนาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,367
    IMG_4400.jpeg

    การสมาทานกรรมฐานของเรานั้นเป็นสัจจะอธิษฐานอย่างหนึ่ง เราสมาทานว่า “อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจัชชามิ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตนี้ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

    คำว่า มอบกายถวายชีวิต นั่นคือ แม้จะต้องตายลงไปในการปฏิบัติธรรม เราก็ยินดีที่จะเอาชีวิตเข้าแลก แต่อยากจะให้ทุกท่านลองสังเกตดูหรือถามใจตนเองว่า เท่าที่ผ่านมานั้น การปฏิบัติธรรมของเราอยู่ในระดับที่เอาชีวิตเข้าแลกหรือไม่ ? หรือว่าเมื่อยหน่อยก็เลิกแล้ว หรือว่าอึดอัดหายใจไม่ออกหน่อยก็เลิกแล้ว หรือเกิดอาการน้ำตาไหล ร่างกายโยกไปมา หรือดิ้นตึงตังโครมคราม กลัวขึ้นมาก็เลิกอีก

    หรือรู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวแตก ตัวระเบิด ตัวลอยขึ้น เกิดความกลัวขึ้นมาก็เลิก ถ้าอย่างนั้น ที่เราให้สัจจะไว้ว่าเรามอบกายถวายชีวิตต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นการที่เราทั้งหลายเอ่ยแต่ปากเท่านั้น

    แม้กระทั่งการรักษาศีลทุกสิกขาบทของเรา เราก็ต้องถามตนเองว่า ถ้ามีโอกาสฆ่าสัตว์ เรางดเว้นได้หรือไม่ ? มีโอกาสหยิบฉวยลักขโมยข้าวของของคนอื่น เรางดเว้นได้หรือไม่ ? มีโอกาสประพฤติผิดในกาม มีโอกาสในการโกหกหลอกลวงผู้อื่น มีโอกาสในการดื่มสุราเมรัย เรางดเว้นได้หรือไม่ ? โดยเฉพาะในเรื่องของสุราเมรัย ถ้าหากถึงขนาดติด ที่เขาเรียกว่า แอลกอฮอลิซึ่ม (alcoholism) ถึงเวลาขาดไม่ได้ แค่เห็นขวดสุรายังไม่ทันที่จะกินก็มือไม้สั่น บางคนถึงขนาดอาเจียนออกมาก็มี ถ้าลักษณะอย่างนั้นเราตั้งใจละเว้นได้หรือไม่ ?

    ถ้าหากว่าละเว้นได้ แม้ว่าจะเกิดอาการรุนแรงกับร่างกายขนาดไหนก็ตาม นั่นถึงเรียกว่าเรายินดีมอบกายถวายชีวิตนี้ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แปลว่าเรายอมแลกด้วยชีวิต เพื่อให้เข้าถึงความดีตามที่เราต้องการ

    การปฏิบัติธรรมนั้นต้องจริงจังทุ่มเท ต้องเอาชีวิตเข้าแลก ครูบาอาจารย์สายอีสาน สายวัดป่า ท่านปฏิบัติแบบเอาชีวิตเข้าแลกกันทั้งสิ้น ถึงขนาดสรุปว่า “ธรรมะอยู่ฟากตาย” พูดง่าย ๆ ว่าธรรมะอยู่ฝั่งเดียวกับความตาย ถ้าไม่ก้าวเข้าไปหาความตาย ก็ไม่มีโอกาสได้ธรรมะ บางท่านก็ค่อย ๆ ผ่อนอาหารลง จนถึง ๑๕ วันไม่ฉันอะไรเลยก็มี เพราะอยากจะดูว่าถ้าไม่ฉันอะไรเลย ไม่มีเรี่ยวแรง แล้วรัก โลภ โกรธ หลงจะอาละวาดได้หรือไม่ ?

    บางท่านก็เข้าไปในป่าเสือป่าช้าง ถ้าหากว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นมีเวรมีกรรมต่อกันมา ก็ยอมสละชีวิตนี้เพื่อแลกกับธรรมะ บางท่านก็เอาปีบไปตั้งอยู่ริมเหว นั่งกรรมฐานอยู่บนก้นปีบ ถ้าหากว่าเผลอสัปหงก ก็ตกเหวตายไปเลย ท่านเอาชีวิตเข้าแลกกันขนาดนั้น ท่านถึงได้ธรรมะขึ้นมา เข้าถึงสภาวธรรมตามวาสนาบารมีที่จะพึงได้ กลายเป็นครูบาอาจารย์ที่มีคนเคารพนับถือเต็มบ้านเต็มเมือง

    เมื่อเราดูตัวอย่างแล้ว เรามอบกายถวายชีวิตให้แก่พระรัตนตรัยได้อย่างท่านทั้งหลายเหล่านั้นหรือไม่ ? ไม่ใช่ลำบากหน่อยก็บ่น ลำบากหน่อยก็โอดครวญ อย่างวันนี้มีโยมลองใช้กสิณดู พอเผากระดาษทิชชู่ได้ก็กลัว ไม่กล้าทำต่อ เพราะกลัวว่าจะคุมไม่ได้ การฝึกกสิณก็เหมือนเราเลี้ยงลูกหมามาตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งโตขึ้นมา เป็นหมาที่เราเลี้ยงมากับมือ มีหรือที่เราจะคุมไม่ได้ แต่ก็ชิงกลัวไปล่วงหน้า เป็นต้น ก็แสดงว่าไม่ได้ยอมมอบกายถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง

    วันนี้จึงมาเตือนสติพวกเราทุกคนว่า เรื่องของการปฏิบัติกรรมฐาน หรือการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเรื่องของบุคคลที่เข้าถึงปรมัตถบารมี คือกำลังใจขั้นสูงสุดแล้วเท่านั้น บุคคลที่เข้าถึงกำลังใจขั้นสูงสุด ขึ้นชื่อว่าความรักความอาลัยต่อชีวิตมากกว่าความดีนั้นย่อมไม่มี ท่านพร้อมจะสละชีวิตเพื่อแลกกับความดีเสมอ เราจึงควรที่จะจดจำและปฏิบัติตามแนวทางครูบาอาจารย์ หรือท่านที่ก้าวเดินไปก่อนได้วางเอาไว้ เพราะว่าถ้าทำได้อย่างนั้น เราก็สามารถเข้าถึงธรรมอย่างท่านทั้งหลายเช่นกัน

    ดังนั้น..การที่ท่านทั้งหลายมาฝึกปฏิบัติธรรมในวันนี้ เราต้องฝ่าฝนตก ฝ่ารถติดมา ทิ้งหน้าที่การงานต่าง ๆ มา ทิ้งคนที่เรารัก ของที่เรารักมา กำลังใจของท่านทั้งหลายเหล่านี้ ถือว่าเข้มแข็งเพียงพอ คู่ควรต่อการบรรลุธรรมแล้ว เพียงแต่ว่าทำให้ดี ทำให้ถูก ทำให้เข้มข้นและสม่ำเสมอเท่านั้น โดยเฉพาะการรวบรัดตัดเข้าหาอารมณ์ใจของการเป็นพระโสดาบัน ก็คือต้องรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองแม้ด้วยเหตุแห่งชีวิต ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล

    ทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างจริงใจ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแม้ด้วยเหตุแห่งชีวิต มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานที่เดียว
    ....................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...