เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 19 สิงหาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพต้องเดินทางไปยังวัดกาญจนบุรีเก่า หมู่ที่ ๒ ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่เช้า เพื่อทำการบวงสรวงบูชาพระรัตนตรัย ขออนุญาตหล่อรูปพระเดชพระคุณพระราชรัตนวิมล (พยุง ฐิตสีโล) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดกาญจนบุรีเก่า

    เมื่อทำการบวงสรวงขออนุญาตเสร็จ ก็พอดีทางด้านศูนย์โตโยตาท่าล้อโทรศัพท์มาบอกว่า รถที่เข้าซ่อมตามประกันนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงต้องขอตัวไปรับรถก่อน เพื่อกลับมาฉันเพลที่วัดท่ามะขาม แล้วค่อยนำกุญแจรถที่ยืมมาไปฝากทิดหนุ่ย (นายสถาพร อินสกุล) เอาไว้ เพื่อที่จะได้คืนให้กับทิดเดช (นายพิรุฬห์พัชร์ รัคสิกรณ์) แล้วค่อยย้อนกลับไปยังวัดกาญจนบุรีเก่าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมงานหล่อรูปพระเดชพระคุณพระราชรัตนวิมล ในช่วงบ่าย

    ความจริงการหล่อพระในหน้านี้ ถ้าหากว่าเป็นไปได้ก็คือ ฉันเพลเสร็จแล้วก็ควรที่จะหล่อพระเลย เพราะว่าฝนตกได้ทุกเวลา ทำให้เสร็จเร็วเท่าไรก็ดีเท่านั้น แต่ว่า ดร.พระครูโจ (พระครูกาญจนกิจโสภณ, ดร.) เจ้าคณะตำบลลาดหญ้า เจ้าอาวาสวัดกาญจนบุรีเก่ารูปปัจจุบัน ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเรียนปริญญาเอกมาด้วยกัน ท่านพอที่จะรู้ตื้นลึกหนาบางอะไรของกระผม/อาตมภาพดี ถึงได้บอกตอนบวงสรวงว่า "ขอหลวงพ่อช่วยเมตตาให้ฝนเว้นช่วงตอนหล่อพระให้ด้วยครับ" หากินง่ายดี..!

    ในเรื่องของธรรมชาตินั้น เราไม่สามารถที่จะห้ามได้ แต่ว่าขอให้ ก่อน หลัง เร็ว ช้า หรือ ไปซ้าย ไปขวา ไปบน ไปล่าง ได้ ถ้าเราไปห้ามทีเดียว เป็นการฝืนธรรมชาติ ถึงเวลาเราอาจจะต้องใช้หนื้คืนหลายเท่า อย่างเช่นว่า มีอยู่ปีหนึ่งที่ทิดเทพวสันต์ยังบวชอยู่ กระผม/อาตมภาพให้คาถาห้ามฝนไป ก็ไปตั้งหน้าตั้งตาภาวนาเพื่อที่จะลองห้ามฝนดูบ้าง ปรากฏว่าภาวนาแล้วเผลอหลับไป ๒ ชั่วโมง..!

    ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า
    ตอนที่เราภาวนาแล้วหลับ อย่างน้อยสมาธิต้องได้ปฐมฌานหยาบ ถ้าอย่างนั้นจะไม่หลับ ก็แปลว่าทิดเทพวสันต์ทรงอารมณ์ภาวนาในปฐมฌาน ๒ ชั่วโมง ก็ไม่มากไม่มาย แค่ฝนแล้งไป ๑ อาทิตย์..! แต่หลังจากนั้นแล้วก็ตกกระหน่ำทั้งวันทั้งคืน พระเณรเปียกเป็นลูกหมาตกน้ำต่อเนื่องกันหลายอาทิตย์..! นั่นคือสิ่งที่ทำโดยไม่เจตนา ก็คือยังไม่ทันจะกำหนดว่า จะให้ฝนตกก่อนตกหลัง แต่ว่าตัดหลับไปก่อน กลายเป็นห้ามอย่างเดียว จึงโดนเอาคืนหนักหน่อย..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    เรื่องพวกนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นกฎของธรรรมชาติ ก็คือเรานำสิ่งหนึ่งประการใดมา ก็ต้องมีสิ่งทดแทนให้ ดังนั้น..การที่เราจะอธิษฐานขออะไรก็ตาม จึงต้องแลกกันด้วยบุญด้วยกุศลที่เราสร้างมา ถ้าเราสร้างเหตุได้เพียงพอ ผลก็จะได้ตามที่เราขอ แต่ถ้าหากว่าเราสร้างเหตุไม่เพียงพอ ผลก็ไม่เกิด

    ดังนั้น..จะเห็นว่าหลายท่านไปบนในสถานที่เดียวกัน เรื่องเดียวกัน ทำไมคนหนึ่งบนแล้วสำเร็จ อีกคนหนึ่งบนแล้วไม่สำเร็จ คนที่บนแล้วสำเร็จนั้นแปลว่าสร้างเหตุมาเพียงพอแล้ว หรืออาจจะขาดเล็กน้อย การไปบนก็คือการที่เราสัญญาว่า ถึงเวลาแล้วจะสร้างความดีอย่างนั้นอย่างนี้ ในเมื่อผู้รับบนพิจารณาแล้ว เห็นว่าเพียงพอที่จะทดแทนกันได้ ก็ทำให้เกิดความสำเร็จขึ้นมา

    แต่อย่าลืมว่า
    ความสำเร็จนี้ก็คือต้นทุนใหญ่ทั้งหมดที่เรามี เป็นการลงทุนด้วยสิ่งที่เรามีทั้งหมด บวกกับสิ่งที่เราจะทำต่อไปในภายหน้า ถ้าบนแล้วสำเร็จ เหมือนกับการกู้เงิน แต่ถ้าหากว่าเราสร้างเหตุไว้ไม่พอ บนเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต่อให้เป็นที่เดียวกัน เรื่องเดียวกัน ก็ไม่สำเร็จ

    วันนี้ที่มากล่าวถึงเรื่องนี้ก็เพราะว่า ถ้าหากว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม เพื่อความหลุดพ้นจริง ๆ เว้นเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไว้ได้ก็จะดี เนื่องเพราะว่าสิ่งที่เราสั่งสมมา ไม่ว่าจะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ควรจะเป็นไปเพื่อการหลุดพ้นโดยส่วนเดียว ไม่อย่างนั้นแล้วก็เหมือนกับคนหาเงินมา ตั้งใจจะซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง พอได้มายังไม่เท่าไร ก็เอาไปใช้ในเรื่องอื่นหมด

    อีกประการหนึ่งก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ คาถาอาคม หรือแม้กระทั่งมโนมยิทธิ เป็นการที่เราต้องหน่วงจิตยึดมั่นอยู่กับสิ่งหนึ่งประการใด เพื่อให้เกิดผลขึ้น ฟังให้ดี ๆ อย่างเช่นว่า ถ้าเราจะใช้คาถาห้ามฝน ก็อาจจะกำหนดเหมือนอย่างกับมีหลังคา หรือว่ามีผ้ายางผืนโตกันบริเวณนั้นเอาไว้ พร้อมกับคำภาวนา คราวนี้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ พอเราทำจนเคยชินจะเร็วมาก แล้วถ้าทำได้สำเร็จ วางกำลังได้ถูกก็จะสำเร็จทุกครั้ง

    แต่ว่าส่วนเสียก็คือเราต้องยึด ก็คือยึดในภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพที่อาศัยวัตถุข้างนอก หรืออาศัยใจเรากำหนดขึ้น ยึดในตัวพระคาถานั้น ๆ ตลอดจนกระทั่งยึดในครูบาอาจารย์หรือว่าพรหมเทวดา ที่ให้การสงเคราะห์ ยึดอะไรสักอย่างหนึ่งก็ไม่ต้องไปไหนแล้ว เหมือนกับเราจะลงไปกาญจนบุรี แต่ยืนกอดเสาอยู่ตรงนี้ แล้วจะไปได้ไหม ?
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    ดังนั้น..นักปฏิบัติต้องระวังตรงจุดนี้เป็นอย่างสูง เพราะไม่ว่าท่านจะยึดดีหรือว่ายึดชั่ว ก็ไปพระนิพพานไม่ได้ทั้งคู่ ทำอย่างไรที่เราจะวางกำลังใจของเราให้อยู่กลาง ๆ ในตอนแรกก็ยึดความดีก่อน เพื่อความไม่ประมาท อย่างน้อยถ้าไปไม่ถึงพระนิพพาน เราเกาะดีได้ ก็มีสุคติเป็นที่ไป แต่ว่าพอไปถึงตอนท้าย เมื่อดีถึงที่สุดแล้ว แม้แต่ดีก็ต้องเลิกเกาะ

    เปรียบเหมือนกับเราเดินขึ้นบันไดไปชั้นบน ต้องเกาะราวบันไดเพื่อความมั่นคงและไม่ประมาท แต่เมื่อเราถึงชั้นบน พ้นจากบันไดแล้ว บางทีเราไม่ทันสังเกตเสียด้วยซ้ำไป ว่าเราปล่อยราวบันไดตอนไหน

    ดังนั้น..พวกท่านทั้งหลายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเคยชินแบบใหม่ ความเคยชินแบบนี้ก็คืออย่างเช่นว่า ท่านถูศาลา กวาดพื้น ทำหน้าที่เวรยาม เดินบิณฑบาต ทำวัตรสวดมนต์ เมื่อเสร็จจากภารกิจนั้นแล้ว ให้สังเกตดูกำลังใจที่เราปล่อยวาง การปล่อยวางในที่นี้ก็คือ "เสร็จเสียที หมดภาระเสียที จบกันเสียที" สังเกตอารมณ์ตัวนี้ได้แล้ว ก็ให้พยายามที่จะปล่อยในลักษณะนั้นบ่อย ๆ แล้วเราจะเคยชินกับการไม่ยึดเกาะ จะอยู่ในลักษณะของ "ดีก็ทำ ชั่วก็ละ ไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่ว" คราวนี้ถึงจะหลุดพ้นไปได้จริง ๆ

    แต่ที่โบราณาจารย์หรือครูบาอาจารย์สอนเรามา ไม่ว่าจะเป็นกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง หรือว่าตัวบทพระคาถาใด ๆ ก็ตาม ก็เพื่อที่จะโยงกำลังใจของเราเข้าหาศีล สมาธิ ปัญญา แล้วหลังจากนั้น ในเมื่อเราเกาะดีด้วยความไม่ประมาท ตั้งจิตเอาไว้ว่าเป้าหมายสุดท้ายของเราคืออะไร แล้วท้ายสุดแม้แต่เป้าหมายนั้นก็ลืมเสีย ถ้าจิตดีถึงที่สุด สะอาดถึงที่สุด เราก็จะตรงไปสู่เป้าหมายนั้นเอง

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ทุกท่านแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๑๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...