ธรรมบรรยายในรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม หัวข้อ "อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน"

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 26 ธันวาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ธรรมบรรยายในรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม
    หัวข้อ "อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน"
    โดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน



    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๙.๐๐ น.
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน
    รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ (๒)
    ประธานชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน
    ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลท่าขนุน
    เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาญจนบุรีแห่งที่ ๒๓ (วัดท่าขนุน)
    บรรยายธรรมในรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม
    หัวข้อ "อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน" ผ่านระบบซูมมีตติ้งออนไลน์
    ณ กุฏิริมป่าช้า วัดอุทยาน ถนนเลียบคลองบางกอกน้อย ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    กราบถวายความเคารพพระเดชพระคุณพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. องค์อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่เคารพอย่างสูง และกราบขอโอกาสพระเถรานุเถระ ครูบาอาจารย์ทุกท่าน ที่เข้ามาฟังเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรมในวันนี้

    กระผม/อาตมภาพ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ วันนี้ก็ได้รับหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ ซึ่งท่านอาจารย์พระมหาไพโรจน์ กนโก รองผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศแจ้งเอาไว้ก็คือ อานิสงส์ในการเจริญพระกรรมฐาน

    เนื่องจากว่าวันนี้
    กระผม/อาตมภาพมีภารกิจมาก โดยเฉพาะเมื่อครู่นี้ กระผม/อาตมภาพอยู่ในพิธีพุทธาภิเษกที่วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ซึ่งก็จะมีการเริ่มพิธีหลัง ๖ โมงเย็นไปแล้ว แต่ว่ากระผม/อาตมภาพกราบขอโอกาสพระเดชพระคุณพระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท ป.ธ.๙) เจ้าคณะภาค ๙ เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ว่าขออนุญาตเข้าพิธีก่อนเวลา ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะมาบรรยายในรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรมไม่ทัน

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านก็ยังเมตตาถามว่า "แล้วจะไปทันรายการหรือครับ ?" จึงได้กราบเรียนท่านไปว่า "มีโทรศัพท์มือถือครับหลวงพ่อ เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเข้าจากที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดี กระผมอยากจะใช้โน้ตบุ๊ก เพราะว่าระบบแน่นอนกว่ามาก"

    ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา ตลอดจนกระทั่งบอกกล่าวแก่ญาติโยมทั้งหลายว่า ในเรื่องของการเจริญพระกรรมฐานนั้น เป็นเรื่องของบุคคลที่บารมีเต็มแล้วเท่านั้นถึงจะกระทำได้ เหตุเพราะว่าถ้าเป็นบารมีต้นนั้น ท่านจะให้ทานเป็นอย่างเดียว บอกว่าให้รักษาศีล หรือว่าเจริญพระกรรมฐาน ท่านทั้งหลายจะรู้สึกเหมือนกับให้แบกช้างทั้งตัว ไม่สามารถที่จะกระทำได้

    พอมาถึงในระดับบารมีกลาง หรือที่บาลีเรียกว่าอุปบารมี ท่านทั้งหลายสามารถที่จะให้ทานได้ รักษาศีลได้ แต่ว่ายังไม่สามารถที่จะเจริญภาวนาได้

    ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่หวังการเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นอานิสงส์ในระดับใดก็ตาม ขอให้รู้ว่าท่านนั้นอยู่ในระดับปรมัตถบารมี คือกำลังใจขั้นสุดยอดแล้ว ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถที่จะบังคับตนเองให้มาปฏิบัติธรรมได้
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    หลายท่านที่เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งมีข้อบังคับในการศึกษาว่า แต่ละชั้นปีนั้น ถึงเวลาจะต้องมีการปฏิบัติธรรมประจำปี ๑๐ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง ๔๕ วันบ้าง ตามแต่หลักสูตรที่ท่านทั้งหลายได้ศึกษาอยู่

    แล้วจากประสบการณ์ที่ได้ไปบรรยายให้แก่นิสิตที่เข้าปฏิบัติธรรมประจำปีหลายแห่งก็คือ หลายท่านรู้สึกว่าทุกข์ทรมานมากจากการที่ต้องปฏิบัติธรรม ซึ่งไม่ใช่ในส่วนที่กำลังของตนเองสามารถจะแบกรับได้ ถ้าพูดกันแบบไม่เกรงใจก็คือบารมียังไม่ถึง..! แต่ในเมื่อหลักสูตรบังคับมา ท่านทั้งหลายก็รู้สึกเหมือนอย่างกับแบกช้างไว้ทั้งตัว ไม่ทราบว่าจะโดนช้างทับตายเอาเมื่อไร..!?

    ดังนั้น..เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ท่านที่เข้ามารับฟังรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรมก็ดี ท่านที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมอยู่ก็ตาม ขอให้ทราบว่าท่านที่มาถึงในระดับนี้ได้นั้น ถ้าตั้งใจปฏิบัติธรรมจริง ๆ ท่านมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงความหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้เลย..!

    แต่คราวนี้การที่ท่านทั้งหลายมาปฏิบัติธรรมนั้น อานิสงส์ในเบื้องต้นที่ควรจะมีควรจะได้รับ เรียกว่าเป็นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ที่เห็นทันตาในชาติปัจจุบันนี้นั้น

    ในระดับที่ต่ำสุดเลยก็คือ การปฏิบัติงานของท่านทั้งหลายจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะว่าสมาธิของเราจะจดจ่ออยู่กับการงานเหล่านั้นได้มากกว่าบุคคลทั่วไป ในเมื่อกำลังใจจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า บางทีเวลาผ่านไป เราก็ไม่รู้ตัว บางท่านก็ถึงขนาดที่ว่ารอบข้างมีกิจการงานใด ๆ วุ่นวายแค่ไหนก็ตาม ไม่สามารถที่จะรับรู้สิ่งเหล่านั้นได้เลย เพราะว่าใจมุ่งอยู่กับงานตรงหน้าเท่านั้น นี่เป็นอานิสงส์เบื้องต้นแบบที่เห็นได้ชัดเจนและทันตา
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    กระผม/อาตมภาพมีประสบการณ์ถึงลูกศิษย์คนหนึ่ง ซึ่งเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เด็กคนนี้เมื่อถึงเวลาทุ่มเทกำลังใจอยู่ตรงหน้าแล้ว แม้ว่าเพื่อน ๆ ท้ายห้องจะเล่นกันเสียงดังตึงตังโครมคราม บางทีเด็กผู้ชายก็เล่นซนจนเกินเหตุ มีการผลักกันจนกระทั่งล้ม โต๊ะเก้าอี้ฟาดพื้นดังสนั่น..!

    แต่ว่าเด็กคนนี้มองอยู่แต่เฉพาะอาจารย์ที่บรรยายอยู่ตรงหน้า มีกำลังใจจดจ่ออยู่แค่นั้น โดยไม่ได้ยินเสียงภายนอกเลย แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ก็ยังทึ่งว่า สามารถที่จะรักษาสมาธิได้ถึงระดับนี้เลยหรือ ? นี่เป็นแค่กำลังใจและประโยชน์ในเบื้องต้นของการปฏิบัติธรรมเท่านั้น

    ประโยชน์ในเบื้องกลางก็คือ เมื่อสมาธิของท่านทั้งหลายทรงตัวมั่นคงแล้ว รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นกิเลสใหญ่ เป็นไฟที่แผดเผาพวกเราอยู่ตลอดเวลา จะโดนกำลังของสมาธิทั้งหลายเหล่านี้กดให้ดับลงไปชั่วคราว

    ขอย้ำคำว่า "ดับลงชั่วคราว" ไม่ใช่ถาวร เพราะว่าถ้ากำลังสมาธิเคลื่อนคลายออกมาเมื่อไร ท่านทั้งหลายก็จะโดนกิเลสเกาะกินอีกตามปกติ

    ดังนั้น..บุคคลที่ปฏิบัติธรรมจึงมักจะได้ยินครูบาอาจารย์ท่านแนะนำอยู่เสมอว่า ให้รักษากำลังใจให้จดจ่อต่อเนื่อง ตามกันทุกลมหายใจเข้าออก แต่หลายท่านก็อาจจะลืมตรงนี้ไป เผลอสติ..ปล่อยให้กิเลสมีกำลังเหนือกว่า แล้วถึงเวลาก็เกิดอาการจิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก แล้วแต่ว่าจะเรียกกันแบบไหน

    แต่ว่าเมื่ออาการทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ท่านทั้งหลายที่เคยสัมผัสกับความสุขสงบเยือกเย็นจากกำลังของสมาธิ ก็เพียรพยายามที่จะกลับเข้าสู่สมาธิในระดับเดิมอีก แต่ยิ่งตะเกียกตะกายพากเพียรเท่าไรก็ยิ่งห่างไกลเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ท่านทั้งหลายไปกระทำด้วยความอยากเสียแล้ว
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ก่อนหน้านี้เราอาจจะบำเพ็ญภาวนา ตั้งจิตกระทำไปโดยไม่ได้คิดจะหวังผล แต่ว่าการที่เราปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องแปลก ถ้าเราอยาก มักจะไม่ได้ หมดอยากเมื่อไรก็มักจะได้ตอนนั้น ดังนั้น..ท่านที่จิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก เมื่อถึงเวลา พยายามที่จะประพฤติปฏิบัติโดยตั้งใจจะเอาให้ดีเหมือนเดิม ก็มักจะไม่สามารถที่จะดีเหมือนเดิมได้

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าท่านไปทำด้วยความอยาก ในเมื่อเอากิเลสนำหน้า เอาตัณหานำทาง ท่านทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงกำลังใจในระดับเดิมได้อีก จนกระทั่งมีครูบาอาจารย์หลายท่านถึงขนาดบอกว่า ถ้าท่านทั้งหลายเคยทำความดีได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว กำลังความดีลดหายไป ท่านพยายามจะทำใหม่เท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะกระทำได้อย่างแน่นอน ซึ่งความจริงครูบาอาจารย์ท่านนี้ว่ากล่าวตามประสบการณ์ของท่านเอง

    ความจริงแล้วการที่เราจะทำให้กำลังใจกลับไปสู่ในระดับเดิมที่ รัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราไม่ได้ มีความสุข มีความเยือกเย็นเหมือนเดิมนั้น ง่ายที่สุดก็คือให้ตั้งกำลังใจอยู่ว่า เรามีหน้าที่ปฏิบัติภาวนา ส่วนจะได้หรือไม่ได้ก็ช่างมัน ถ้าท่านทำกำลังใจอย่างนี้ได้ โอกาสที่จะกลับคืนไปสู่ความดีในระดับเดิมนั้นจะเป็นไปโดยง่ายมาก

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าท่านทั้งหลายเข้าถึงอุเบกขารมณ์ เพราะว่ากำลังของอัปปนาสมาธิทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปนั้น จะมีเอกัคตารมณ์ คืออารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว แต่เมื่อแยกแยะจริง ๆ แล้วจะเห็นว่า เป็นเอกัคตาคือความเป็นหนึ่ง กับอุเบกขาคือความปล่อยวาง

    ดังนั้น..ถ้าท่านไม่สามารถที่จะปล่อยวางได้ โอกาสที่ท่านจะกลับเข้าไปสู่กำลังใจระดับเดิมจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมนักปฏิบัติที่ฟังรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรมอยู่ในขณะนี้ว่า

    ถ้าอยากให้กำลังใจกลับไปสู่ระดับเดิม ต้อง "สักแต่ว่าภาวนา" คือเรามีหน้าที่ภาวนาเท่านั้น จะได้หรือไม่ได้ จะเป็นหรือไม่เป็นก็ช่างเถิด ถ้าวางกำลังใจแบบนี้ ท่านทั้งหลายก็จะสามารถกลับเข้าไปสู่อารมณ์เดิมได้อีกครั้ง

    คราวนี้อานิสงส์ในเบื้องต้นที่เป็นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์นั้น ความจริงยังมีมากมายกว่านี้อีก ก็เพราะว่าในขณะที่กำลังใจของท่านทั้งหลายสงบระงับ มีความสุขเยือกเย็น เนื่องจากว่าไฟใหญ่ ๔ กอง คือ ไฟรัก ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง ซึ่งแผดเผาเราอยู่ตลอดเวลานั้น โดนอำนาจของสมาธิภาวนาจากการปฏิบัติพระกรรมฐานกดให้ดับลงไปชั่วคราว

    เมื่อท่านทั้งหลายไม่ต้องไปส่งส่ายวุ่นวาย ดิ้นรนอยู่กับความเร่าร้อนของการแผดเผาจากกิเลส กำลังใจของท่านสงบ ระงับ มั่นคง มีความนิ่ง มีความเย็น มีความใสแล้ว ท่านทั้งหลายจะยกหัวข้อธรรมข้อใดขึ้นมาพินิจพิจารณา ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะเห็นแจ้งได้อย่างง่ายดาย

    ถ้าหากว่าเข้ามาถึงตรงระดับนี้แล้ว อานิสงส์ในระดับต่อไปของการปฏิบัติกรรมฐาน ที่เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในชาติภพต่อ ๆ ไป ก็จะบังเกิดขึ้นแก่เราทั้งหลายได้

    เนื่องเพราะว่าเมื่อกำลังใจของท่านทั้งหลายหนักแน่น มั่นคง เคยชินอยู่กับสมาธิภาวนาแล้ว ถ้าหากว่าเสียชีวิตหรือหมดอายุขัยลงไปด้วยเหตุหนึ่งประการใดก็ตาม ความมั่นคงในสมาธิภาวนานั้น ย่อมนำท่านทั้งหลายไปสู่สุคติตามกำลังของตน

    คำว่า สุคติ ในที่นี้ เราหมายเอาตั้งแต่มนุษย์ชั้นดี เทวดา นางฟ้า หรือว่าพรหม ตลอดจนกระทั่งอรูปพรหม ซึ่งแล้วแต่กำลังใจของท่านทั้งหลายที่จะเข้าถึงได้
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถ้าหากว่าเคยชินกับกำลังของอุปจารสมาธิขั้นปลาย ท่านก็สามารถเป็นเทวดา เป็นนางฟ้าได้ แต่ถ้าหากว่าเข้าถึงปฐมฌานขั้นหยาบ ท่านก็เกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๑ ได้ เข้าถึงในระดับกลาง ท่านเกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๒ ได้ เข้าถึงในระดับละเอียด ท่านเกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๓ ได้

    ถ้าหากว่าเข้าถึงทุติยฌาน คือฌานที่ ๒ ในระดับหยาบ ท่านสามารถเกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๔ ได้ ถ้าเข้าถึงในระดับกลาง ท่านสามารถเกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๕ ได้ เข้าถึงในระดับละเอียด เกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๖ ได้

    ถ้ามีความสามารถยิ่งไปกว่านั้น เข้าถึงตติยฌาน หรือว่าฌานที่ ๓ ถ้าเป็นระดับหยาบ ท่านสามารถเข้าถึงความเป็นรูปพรหรมชั้นที่ ๗ ได้ เข้าถึงระดับกลาง สามารถเกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๘ ได้ เข้าถึงในระดับละเอียด สามารถเกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๙ ได้

    หรือถ้าท่านมีความคล่องตัวยิ่งไปกว่านั้น สามารถเข้าถึงจตุตถฌาน ซึ่งแบ่งออกเป็นแค่ ๒ ส่วนเท่านั้น คือในส่วนของฌาน ๔ ระดับหยาบ ท่านจะเกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๑๐ ถ้าสามารถเข้าถึงฌาน ๔ ในระดับละเอียด ท่านจะเกิดเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๑๑ นี่เป็นอานิสงส์ในระดับกลาง ที่เรียกว่าสัมปรายิกัตถประโยชน์

    หรือถ้าท่านทั้งหลายเบี่ยงเบนไปในการเข้าถึงอรูปฌาน ถ้าเข้าถึงอรูปฌานที่ ๑ ที่เรียกว่าอากาสานัญจายตนฌาน ท่านสามารถเกิดเป็นอรูปพรหมชั้นแรกที่เรียกว่า อากาสานัญจายตนพรหม

    ถ้าเข้าถึงอรูปฌานในระดับที่ ๒ ท่านสามารถเกิดเป็นวิญญานัญจายตนพรหม ซึ่งเป็นอรูปพรหมชั้นที่ ๒

    ถ้าเข้าถึงระดับที่ ๓ ท่านสามารถเกิดเป็นอากิญจัญญายตนพรหม ซึ่งเรียกว่าอรูปพรหมในระดับที่ ๓

    ถ้าเข้าถึงที่สุด เรียกว่าเข้าถึงสมาบัติที่ ๘ คือรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ท่านสามารถเกิดเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม นี่เป็นอานิสงส์เบื้องกลางของการปฏิบัติกรรมฐาน
     
  8. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    แต่ว่าในส่วนทั้งหลายเหล่านี้ ท่านไม่สามารถที่จะประมาทได้ เนื่องเพราะไม่ว่าจะเป็นอรูปฌานก็ดีหรือว่ารูปฌานก็ตาม ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน หรือที่เรียกกันว่าเข้าถึงโลกิยฌาน ท่านทั้งหลายก็ยังมีคติที่ไม่แน่นอนนัก เพราะว่าอาจมีอาสันนกรรม คือกรรมก่อนตายเข้ามาสอดแทรกให้ท่านทั้งหลายพลาดไปจากเป้าหมายของตนได้ จึงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลาย ถ้าเข้าถึงแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีการซักซ้อมทบทวนอยู่ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คติของเรามีความแน่นอนยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายซักซ้อม ทบทวนจนคล่องตัวแล้ว ก็อย่าได้ทิ้งประโยชน์ทั้งหลายเหล่านี้ไปเป็นอันขาด เพราะว่านักปฏิบัติธรรมของเรา ส่วนใหญ่แล้วเมื่อถึงเวลาเข้าสมาธิเต็มที่ ไปต่อไม่ได้แล้ว คลายกำลังใจออกมา ก็ทิ้งสมาธิเสียทั้งหมด หรือว่าบรรดาท่านที่เป็นนิสิตปฏิบัติธรรม เมื่อครบตามบัลลังก์ที่ครูบาอาจารย์นำให้แล้ว ท่านกลับไปถึงที่พัก ก็ไปนั่งคุยกันบ้าง ไปเขี่ยไลน์บ้าง ไปส่องเฟซฯ บ้าง กำลังที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติได้ก็จะสูญเสียไปจนหมด

    ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมทั้งหลายว่า การที่เราเจริญจิตภาวนาในกรรมฐานนั้น ก็เพื่อที่จะสะสมกำลังให้มีมากเพียงพอที่จะห้ำหั่นตัดฟันกิเลสให้ได้ แต่ในเมื่อเราสะสมกำลังไปได้แล้ว เรากลับเอาไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก ก็คือไปนั่งคุยกันบ้าง ไปนั่งเขี่ยไลน์บ้าง ไปนั่งส่องเฟซฯ บ้าง กำลังที่เรากระทำได้ก็เป็นอันว่าสูญสลายไปจนหมด เป็นอย่างนี้วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า

    บางท่านก็สงสัยว่าปฏิบัติธรรมมานานขนาดนี้แล้ว ทำไมถึงหาความก้าวหน้าอะไรไม่ได้เลย ก็เพราะว่าท่านทั้งหลายเอากำลังนั้นไปใช้ในทางที่ผิด แทนที่จะเอามาพิจารณาข้อธรรม เพื่อที่จะได้มีกำลังในการตัด ในการละกิเลสต่าง ๆ ท่านกลับเอากำลังนั้นไปให้กิเลสใช้งานแทน ในเมื่อใช้งานจนกำลังหมด เราก็มีกำลังไม่เพียงที่จะต่อสู้กิเลส ถึงเวลาแล้ว กำลังของกิเลสตีกลับ เราเองก็จะต้องทุกข์ทรมานอยู่กับ รัก โลภ โกรธ หลง ที่ประเดประดังเข้ามาทำร้ายทำลายเราอีก
     
  9. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ส่วนอีกประเภทหนึ่งนั้นน่าสงสารยิ่งกว่าอีก เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายภาวนาจนกำลังใจทรงตัวเต็มที่แล้ว ก็ไม่ได้ใช้กำลังในการกระทำสิ่งหนึ่งประการใดเลย นอกจากปล่อยทิ้งเอาไว้เฉย ๆ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จะโดนกิเลสแย่งชิงเอากำลังนั้นไปใช้ ไปฟุ้งซ่านในเรื่องของ รัก โลภ โกรธ หลง

    ถ้าหากว่าเป็นอย่างนั้น ก็สร้างความลำบากสาหัสแก่พวกเรา เพราะว่ากำลังของสมาธินั้นย่อมทำให้กิเลสสามารถที่จะฟุ้งซ่านได้อย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นการเป็นงาน สร้างความทุกข์ยากลำบากให้แก่เราเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ากิเลสนำเอากำลังสมาธิไปใช้งาน จึงมีกำลังแรงกล้า ฉุดลากเราไปในทางที่ต่ำประการเดียว กว่าที่จะตีคืนมาได้ก็ยากเย็นเข็ญใจเป็นอย่างยิ่ง หลายท่านก็ถึงขนาดท้อใจ เลิกปฏิบัติกรรมฐานไปเลยก็มี..!

    บรรดานักปฏิบัติธรรมที่เป็นชาวต่างชาติ ฝรั่งบางท่านก็เอาไปเขียนบอกพรรคพวกตนเองว่า "ถ้าอยากรู้ว่าตนเองมีกามราคะรุนแรงขนาดไหน ให้ไปลองปฏิบัติสมาธิภาวนาดู" แสดงว่าฝรั่งท่านนั้นก็ปฏิบัติผิด เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเมื่อปฏิบัติแล้ว ไม่ได้นำกำลังสมาธิไปใช้งาน จึงโดนรัก โลภ โกรธ หลง ลากไปตามหนทางที่ตนเองเคยชอบและเคยชิน ในเมื่อหนักไปทางกามราคะ ถึงเวลาก็จะฟุ้งซ่านไปในกามอย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นงานเป็นการ เราไม่สามารถที่จะตีคืนมาได้ จึงเกิดอาการแบบนั้นขึ้น
     
  10. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    คราวนี้ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติกรรมฐาน ไม่ว่าจะเคยฟังรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรมมาหรือไม่ก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายทราบว่า อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมมีมากกว่านั้น ไม่ใช่มีแค่ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์เฉพาะหน้าเห็นทันตาในชาตินี้ หรือว่าสัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ที่จะได้เห็นในชาติต่อ ๆ ไป โดยเฉพาะความมั่นคงในสุคติภูมิของเรา

    หากแต่ว่ายังมีปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์สูงสุดที่เราจะพิจารณาข้อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยกำลังของสมาธิภาวนาที่เกิดจากกองกรรมฐาน

    ท่านทั้งหลายที่ฟังมาถึงตรงนี้ บางท่านที่ปฏิบัติมาในวิปัสสนาล้วน ๆ อาจจะเกิดความมึนงง สงสัย หรือว่าท่านที่ปฏิบัติมาในด้านของสมถภาวนาล้วน ๆ ก็อาจจะงงเช่นกัน

    กระผม/อาตมภาพขอบอกกล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า สมถกรรมฐานก็ดี วิปัสสนากรรมฐานก็ตาม เหมือนคนที่โดนผูกขาติดกัน เมื่อท่านปฏิบัติสมถกรรมฐานไปแล้ว ก็เหมือนกับเราก้าวเท้าซ้ายขึ้นหน้า เมื่อถึงเวลาแล้ว ถ้าเราไม่ก้าวเท้าขวาที่โดนผูกติดเอาไว้ คือวิปัสสนากรรมฐานตามไป เราจะฝืนสักเท่าไรก็ไปต่อไม่ได้ และถ้าก้าวแรงเกินไป ก็อาจจะสะดุดหกล้ม หรือว่าโดนเชือกที่ผูกอยู่นั้นกระตุกกลับมาที่เดิม

    ท่านจะต้องภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว จึงค่อยพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนกับเราก้าวเท้าซ้ายแล้วก็ก้าวเท้าขวาตามไป เมื่อก้าวเท้าขวาแล้วก็ก้าวเท้าซ้ายตามไปอย่างนี้อีก จนกระทั่งหมดกำลัง คำว่า "หมดกำลัง" ในที่นี้ก็คือสมาธิไม่พอเพียงที่จะดำเนินการพิจารณาต่อ เราก็กลับมาภาวนาใหม่ เมื่อภาวนาจนกำลังทรงตัวแล้ว เราก็พิจารณาอีก สลับกันไปสลับกันมาดังนี้ จึงจะสามารถที่จะทำให้ก่อประโยชน์แก่ตนได้รวดเร็ว


    แต่ถ้าหากว่าท่านกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมั่นใจตามที่ครูบาอาจารย์สอนมา ก็คือว่าเราพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียว ถึงเวลาสะสมกำลังไปมากเข้า..มากเข้า เราก็จะมีกำลังเพียงพอในการตัดกิเลสได้

    ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เรียกว่า ในส่วนของท่านสามารถบรรลุได้แบบที่เรียกว่า ปัญญาวิมุติ คือใช้ปัญญาในการพิจารณาธรรม แต่ท่านก็จะต้องผจญกับกำลังของกิเลสที่ก่อให้เกิด รัก โลภ โกรธ หลง แทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา
     
  11. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    เนื่องเพราะว่ากำลังสมาธิของท่าน อย่างดีที่สุดก็เข้าถึงปฐมฌานขั้นหยาบเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ขณิกสมาธิ หรือว่าอุปจารสมาธิ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะยับยั้งกำลังของ รัก โลภ โกรธ หลง ได้ การปฏิบัติของเราก็จะออกไปในแนวของทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ก็คือปฏิบัติก็ลำบาก บรรลุก็ยาก เพราะว่าท่านไปเน้นเอาในด้านของวิปัสสนาโดยส่วนเดียว

    ขณะเดียวกันท่านที่ปฏิบัติในส่วนของสมถกรรมฐาน เมื่อถึงเวลา สมาธิของท่านทั้งหลายกดกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ให้นิ่งสนิทลงไป ท่านทั้งหลายก็อาจจะหลงผิด คิดว่าตนเองเข้าถึงมรรคถึงผลแล้ว ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงแค่วิกขัมภนวิมุติ ก็คือการที่เราหลุดพ้นด้วยการข่มไว้ด้วยกำลังของสมาธิเท่านั้นเอง เมื่อกำลังสมาธิเคลื่อนไปคลายไป ท่านทั้งหลายก็จะโดนกิเลสรุมตีรุมกระหน่ำอยู่เหมือนเดิม

    ทั้ง ๒ ประการนี้ ล้วนแล้วแต่มีจุดเด่นและมีจุดอ่อนของตนเอง ก็คือสมถกรรมฐาน มีความเด่นในด้านสามารถป้องกันกิเลสได้ชั่วคราว วิปัสสนากรรมฐาน มีความเด่นในการที่เราละวางกิเลสลงไปได้ แต่ว่าจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ต้องการผลในการปฏิบัติภาวนาโดยเร็ว ก็คือเราจะต้องปฏิบัติในสมาธิภาวนาของสมถกรรมฐาน เหมือนกับท่านที่เพาะสร้างกำลังของตนเองให้แข็งแรงมั่นคง แล้วก็มาปฏิบัติในส่วนของวิปัสสนากรรมฐานด้วยกำลังนั้น ซึ่งวิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับอาวุธที่มีความคมกล้า

    เมื่อท่านทั้งหลายมีอาวุธที่มีความคมกล้าอยู่ ถ้าไม่มีกำลังก็ยกขึ้นตัดฟันอะไรไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าท่านมีกำลังแล้ว สามารถที่จะยกอาวุธนี้ขึ้นมาได้ จะตัดจะฟันอะไรก็ย่อมเป็นไปโดยง่าย
    ถ้าท่านทั้งหลายเน้นในด้านใดด้านหนึ่ง โอกาสที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลที่เป็นปรมัตถประโยชน์ก็จะเป็นไปโดยยาก
     
  12. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    สำหรับท่านทั้งหลายมาที่เคยศึกษามาในอรรถกถาของมหาสติปัฏฐานสูตร ก็ย่อมเคยผ่านตามาบ้างว่า ครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง เริ่มปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานโดยส่วนเดียวตั้งแต่วันแรกที่บวช ก็คืออายุ ๒๐ ปี อุปสมบทเสร็จสรรพเรียบร้อย ครูบาอาจารย์ให้กรรมฐานแล้วก็เข้าถ้ำ ทุ่มเทเวลาในการปฏิบัติอย่างจดจ่อต่อเนื่องตามกันทุกลมหายใจ เวลาผ่านไป ท่านไปบรรลุมรรคผลตอนอายุ ๘๐ ปี..!

    ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าการปฏิบัติในส่วนของวิปัสสนากรรมฐานโดยส่วนเดียวก็บรรลุมรรคผลได้ แต่ท่านทั้งหลายคิดว่าจะมีอายุถึง ๘๐ ปีหรือไม่ ? ถ้าหากว่าหมดอายุขัยตายลงไปก่อนหน้านั้นก็ดี หรือว่าเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ จนสิ้นชีวิตลงไปก็ตาม ท่านย่อมไม่สามารถเข้าถึงอานิสงส์สูงสุดของการเจริญพระกรรมฐานได้

    ส่วนอีกหลายท่านที่ปฏิบัติในสมถกรรมฐานโดยส่วนเดียว โดยเฉพาะบรรดาพระภิกษุสามเณรรุ่นหลัง ๆ ของเรานั้น ยิ่งอันตรายหนักเข้าไปอีก เพราะว่าการปฏิบัติในด้านนี้นั้นเป็นส่วนของฌานสมาบัติ ทำให้ท่านมีส่วนของฤทธิ์ของอภิญญาที่ปรากฏให้สาธารณชนเห็นได้ง่าย

    เมื่อถึงเวลาแล้ว คนเห็นว่าเรามีคุณวิเศษอยู่ ก็จะมารบกวนเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านทั้งหลายปฏิเสธญาติโยมไม่เป็น ถึงเวลาไม่สามารถที่จะมาปฏิบัติธรรมให้ต่อเนื่อง เพราะว่ามัวแต่ไปรับรองญาติโยมทั้งหลายที่มาขอเป็นที่พึ่งที่ระลึก เมื่อทำไปจนกระทั่งกำลังสมาธิของท่านหมดลง ท่านก็จะโดนกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ตีกลับ ทำให้เราสูญเสียครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงไปหลายต่อหลายรูปแล้ว

    การสูญเสียไปนั้น ส่วนใหญ่ก็สูญเสียไปในด้านของสตรีบ้าง ในด้านของสตางค์บ้าง ก็คือถ้าหากว่าไม่โดนผู้หญิงพาไปรับประทานเสียก่อน ก็อาจจะเสียหายเพราะว่าความโลภเกิดขึ้น แทนที่จะปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ก็กลายเป็นปฏิบัติเพื่อชื่อเสียงเงินทองขึ้นมาแทน

    ดังนั้น..ท่านทั้งหลาย เมื่อสามารถรักษาอารมณ์ใจให้มั่นคงได้ด้วยกำลังของสมาธิภาวนาแล้ว ท่านก็ควรที่จะพิจารณาต่อไปในด้านของวิปัสสนากรรมฐานด้วย
     
  13. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถ้าหากว่าเอาแค่เบื้องต้นง่าย ๆ ก็คือว่า เราเป็นบุคคลผู้ทรงโลกิยฌานธรรมดา จัดเป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลส เมื่อกำลังสมาธิกด รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับลงชั่วคราว เรายังมีความสุขเยือกเย็นจนไม่สามารถพูดเป็นภาษามนุษย์ได้ เพราะว่าสภาวธรรมตรงนี้ บาลีเรียกว่า "ปัจจัตตัง" ก็คือผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะรู้ได้ด้วยตนเอง อธิบายหยาบ ๆ ได้เพียงว่า คนที่โดนไฟใหญ่ ๔ กองเผาอยู่ตลอดเวลา ถ้าอยู่ ๆ ไฟนั้นดับลง เราจะมีความสุขขนาดไหน เราไม่สามารถที่จะอธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้

    เมื่อมาถึงตรงนี้ ท่านแค่พิจารณาต่อไปว่า แล้วบุคคลที่ทรงสมาธิระดับสูงกว่าระดับปฐมฌาน ก็คือฌานที่ ๒ ท่านจะมีความสุขขนาดไหน ? แล้วท่านที่ทรงสมาธิฌานที่ ๓ ได้ จะมีความสุขขนาดไหน ? ท่านที่ทรงฌาน ๔ เต็มระดับได้ จะมีความสุขขนาดไหน ?

    นี่แค่โลกิยฌานเบื้องต้นในระดับฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ยังทรงความสุขได้ระดับนี้ แล้วบุคคลที่เข้าถึงความเป็นพระโสดาบันนั้น ท่านสามารถปิดอบายภูมิได้อย่างแน่นอนแล้ว จะมีความสุขถึงเพียงใดหนอ ? ถ้าท่านรำลึกมาถึงตรงนี้ กำลังใจก็จะเห็นคุณพระศรีรัตนตรัย เพราะว่าพระอริยเจ้าเบื้องต้น คือพระโสดาบัน ยังมีความสุขมากกว่าเราจนประมาณไม่ได้ เราก็จะเห็นในคุณของพระสงฆ์อย่างแท้จริง

    ในเมื่อเห็นในคุณของพระสงฆ์แล้ว พิจารณาต่อไปว่า พระสงฆ์ท่านสามารถเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะปฏิบัติในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเคารพในคุณของพระรัตนตรัยของเราก็จะสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็คือพระพุทธเจ้าทรงแสดงซึ่งพระธรรม พระสงฆ์ปฏิบัติในพระธรรมนั้นจึงเป็นพระอริยสงฆ์ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ความเคารพในพระรัตนตรัยของท่านทั้งหลายก็จะมั่นคงแน่นแฟ้น
     
  14. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    เมื่อเอ่ยว่า นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ท่านทั้งหลายก็จะนอบน้อมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจจริง ๆ

    พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอยึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

    ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอยึดพระธรรมเป็นที่พึ่ง

    สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอยึดพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง


    ท่านทั้งหลายก็จะยึดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจจริง ๆ ถึงเวลากราบพระ ก็ไม่สักว่าแปะ ๆ ให้ครบ ๓ ที หากแต่ว่าท่านทั้งหลายกราบด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจจริง ๆ

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านแค่ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไปแค่เล็กน้อยว่า ถ้าหากว่าเราเองเป็นบุคคลที่เข้าถึงธรรม แต่ว่าชีวิตของเรานั้นก็ยังหาความแน่นอนไม่ได้ เอาเถิด..เราอย่าได้ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้อีกเลย ถ้าหากว่าเราหมดอายุขัยตายลงไปก็ดี เราเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตก็ตาม เราขอมีพระนิพพานเป็นที่ไปแห่งเดียวเท่านั้น

    ถ้ากำลังใจของท่านยึดมั่นอย่างนี้ได้แล้ว ท่านก็แค่ทบทวนศีลให้บริสุทธิ์เท่านั้น ก็คือพยายามทบทวนในศีลของตน ญาติโยมทั่วไปก็ศีล ๕ อุบาสกอุบาสิกาก็ศีล ๘ สามเณรก็ศีล ๑๐ พระภิกษุสงฆ์ก็ศีล ๒๒๗ ตั้งใจว่าเราจะไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง จะไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล จะไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล
     
  15. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถ้ากำลังใจของท่านมีศีลเป็นเด็ดขาด คือเป็นสมุทเฉจวิรัตในลักษณะอย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็สามารถก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบันได้ ก็แปลว่าอานิสงส์ในส่วนของปรมัตถประโยชน์เบื้องต้น ก็คือท่านทั้งหลายสามารถที่จะปิดอบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานลงไปได้อย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง

    ถ้าท่านทั้งหลายหวังความเจริญก้าวหน้ายิ่งไปกว่านั้น กระผม/อาตมภาพขอแนะนำให้ขยับขึ้นไปรักษากรรมบถ ๑๐ ก็คือเว้นจากกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ด้วยกัน คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

    ตลอดจนกระทั่งท่านทั้งหลายต้องรักษาวาจาของตนเอาไว้ ไม่ให้เกิดผรุสวาจา คือกล่าวคำหยาบด่าว่าคนอื่น ไม่ให้เกิดปิสุณาวาจา คือส่อเสียดยุยงคนอื่นให้แตกร้าวกัน ไม่ให้เกิดมุสาวาจา คือโกหกมดเท็จ และไม่ให้เกิดสัมผัปปลาปวาจา คือวาจาเพ้อเจ้อที่ไม่เป็นอรรถเป็นธรรม

    แล้วก็ตั้งกำลังใจเอาไว้ว่า สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นสอนมาไม่ว่าจะเป็นหลักธรรมข้อใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เลิศ เราควรน้อมนำมาปฏิบัติ แปลว่าท่านทั้งหลายรักษาสัมมาทิฏฐิเอาไว้ได้

    ท่านก็แค่ระงับความโลภ อยากได้สิ่งหนึ่งประการใด ให้หามาโดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และระงับความโกรธ คือพิจารณาให้เห็นว่า ตัวเราก็ดี ตัวคนอื่นก็ดี ไม่ว่าเราจะโกรธหรือไม่โกรธเขาก็ตาม ท้ายที่สุด เราก็ตาย เขาก็ตาย เราเองจะโกรธเขาหรือไม่โกรธ เราเองจะรักษาอารมณ์ใจได้หรือไม่ได้ ท้ายสุดทุกคนก็ล้วนแล้วแต่ก้าวไปสู่ความตาย

    ถ้าท่านทั้งหลายสามารถผ่อนคลายในส่วนของความโลภ ส่วนของโทสะ ส่วนของราคะลงไปได้ในลักษณะนี้ ท่านก็จะเข้าสู่การก้าวเป็นสกทาคามี เป็นผู้ที่เกิดมาลำบากอีกชาติเดียวเท่านั้น
     
  16. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    แต่ถ้าท่านทั้งหลายยังต้องการความก้าวหน้า ต้องการอานิสงส์ในปรมัตถประโยชน์มากไปกว่านั้น ท่านทั้งหลายต้องซักซ้อมในเรื่องของฌานสมาบัติให้คล่องตัว แล้วยกเอาในหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะในส่วนของกายคตานุสติ และอสุภกรรมฐาน มาพินิจพิจารณาให้เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย ล้วนแล้วแต่ก่อเกิดขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบขึ้นมาให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ระหว่างที่ดำรงคงอยู่ ก็มีแต่ความสกปรกโสโครก พึงรังเกียจ

    ในเมื่อเป็นเช่นนี้ กำลังของเราที่สูงมากแล้วจะเห็นอย่างชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง เราก็จะค่อยๆ เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ถอนกำลังจากการยึดมั่นถือมั่นออกมา ในเมื่อตัวกูของกูไม่มี โลภะและราคะไม่สามารถที่จะเกิดได้ ก็ดับสิ้นลงไปเองโดยอัตโนมัติ โทสะไม่สามารถที่จะเกิดได้ ก็ดับสิ้นลงไปโดยอัตโนมัติ

    ท่านทั้งหลายจะมีศีล ๘ เป็นเครื่องรักษาตนโดยอัตโนมัติ ก้าวเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี ไม่ต้องลงมาเวียนว่ายตายเกิดอีก หากแต่ว่าสถิตอยู่ในสุทธาวาสพรหมทั้ง ๕ ไม่ว่าจะชั้นใดชั้นหนึ่งก็ตาม รอเข้านิพพานอย่างปลอดภัยอยู่บนนั้น

    แต่ถ้าท่านทั้งหลายเห็นว่าการรออยู่นั้นยังมีความทุกข์อันละเอียดอยู่ ก็คือยังต้องรอเวลาในการเข้าถึงมรรคผลนิพพาน ท่านก็ถอนจิตจากการยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเรา ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายคนอื่น ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายสัตว์อื่น ตลอดจนกระทั่งยึดมั่นถือมั่นในโลกนี้

    ในตอนนั้นกำลังของท่านทั้งหลายจะสูงมาก เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก่อให้เกิดทุกข์เกิดโทษในส่วนละเอียดให้แก่เรา เพราะตราบใดที่ยังมีกายสังขารอยู่ เราก็ต้องแบกทุกข์ หาบทุกข์อยู่ตลอดเวลา ท่านทั้งหลายก็จะดึงใจของตนให้หลุดจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้

    ถ้าเช่นนั้น ท่านก็สามารถเข้าสู่ปรมัตถประโยชน์สูงสุดในการเจริญพระกรรมฐาน คือเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง
     
  17. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    กระผม/อาตมภาพใช้เวลาในการบรรยายมาก็พอสมควร ขออาศัยเวลาที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสามเณร หรือว่าฆราวาสก็ตามที่ฟังอยู่ หากว่าท่านทั้งหลายมีคำถามก็สามารถที่ถามเข้ามาได้ ขออนุญาตให้ท่านทั้งหลายส่งคำถามเข้าช่องแช็ต แล้วทางด้านเจ้าหน้าที่ถามแทน หรือว่าจะเปิดไมค์ฯ ถาม ถ้าหากว่าทางด้านโฮสต์ท่านเปิดให้ ก็เชิญทุกท่านได้เลยครับผม

    ถาม : ใกล้จะสิ้นปีแล้ว อยากขอพรหลวงพ่อ ควรจะใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ครับ ?

    ตอบ : ในส่วนของการใช้ชีวิตนั้น ควรที่จะเอาหลักธรรมที่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนาของเรามาใช้เลย ก็คือในเรื่องของการละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม แล้วก็ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส

    แต่คราวนี้ ท่านทั้งหลายที่ฟังอยู่ เราอาจจะเคยชินกับโอวาทปาฏิโมกข์ตรงนี้ แต่ว่าท่านทั้งหลายก็อาจจะตีความไม่ออก คำว่าละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ก็คือให้ท่านเว้นจาก กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต

    เว้นจากกายทุจริต ก็คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เว้นจากการดื่มสุราหรือว่าติดยาเสพติด

    เว้นจากวจีทุจริต ก็คือ การเว้นจากการโกหกหลอกลวงผู้อื่น เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์ เว้นจากการกล่าวคำหยาบ และเว้นจากการนินทาส่อเสียดให้คนอื่นแตกร้าวกัน

    เว้นจากมโนทุจริต ก็คือ เว้นจากการโลภ การโกรธ ตลอดจนกระทั่งความหลง ซึ่งตรงจุดนี้ได้กล่าวไปแล้วในการบรรยายที่ผ่านมา

    สรุปลงในคำเดียวว่า อย่าใช้ชีวิตโดยประมาท คาดว่าขยายความขึ้นมานิดหนึ่งน่าจะเข้าใจกันได้ดีขึ้น
     
  18. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถาม : เพราะเหตุใดการปฏิบัติธรรมจึงไม่มีความก้าวหน้า ไม่ต่อเนื่องครับ ?

    ตอบ : ส่วนใหญ่แล้วการปฏิบัติธรรมที่ไม่ก้าวหน้า ไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าเราเองไปเผลอสติ ปล่อยให้หลุดจากการภาวนาไป อย่าลืมว่ากิเลสกินเราอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ต่อให้เราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมจริง ๆ สมมติว่าเช้า ๒ ชั่วโมง เย็น ๒ ชั่วโมง เราก็ยังขาดทุนอยู่ ๒๐ ชั่วโมง โอกาสที่เราจะก้าวหน้าจึงไม่มี

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าเราศึกษาไปแล้วจะเห็นว่า ในเบื้องต้นของการปฏิบัติธรรมนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำให้เราปลีกตัวออกจากหมู่ เพื่อที่จะได้ไม่คลุกคลีอยู่กับหมู่คณะ จนกระทั่งสูญเสียเวลาในการปฏิบัติ แต่พระองค์ท่านก็ไม่ได้ให้เราไปแล้วไปลับ ในเมื่อถึงเวลา เราสามารถทำจนกำลังใจมั่นคง หรือว่าหลุดพ้นจากกองกิเลสแล้ว ก็ให้ย้อนกลับมาช่วยโลกอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นพระภิกษุสามเณร ก็คือมาอนุเคราะห์สงเคราะห์แก่ญาติโยมที่เลี้ยงดูเรามาโดยปัจจัย ๔

    ก็แปลว่า ท่านที่หวังความหลุดพ้นจริง ๆ นั้น ในเบื้องต้น ควรที่จะหลีกออกจากหมู่ ละเว้นจากสิ่งต่าง ๆ ทั้งปวง ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติอย่างเต็มที่จึงจะก้าวหน้าได้ ขอเรียนถวายทุกท่านที่เป็นพระภิกษุสามเณร และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
     
  19. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถาม : ถ้าทำสมาธิแล้ว เมื่อเลิกทำสมาธิไม่สามารถเล่นไลน์ ฆราวาสจะทำอย่างไรดี เพราะต้องมีการสื่อสารผ่านทางโลน์ ?

    ตอบ : ตรงจุดนี้ท่านทั้งหลายต้องรักษากำลังใจให้มั่นคงในระดับวสีเลย ก็คือสามารถที่จะทรงสมาธิภาวนาได้ในทุกอิริยาบถ ความคล่องตัวในระดับนี้จะต้องฝึกฝนกันอย่างหนักในเบื้องแรก จนกระทั่งสามารถที่จะทรงสมาธิกระทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่เช่นนั้นพอเข้าถึงอัปนนาสมาธิแล้ว ถ้าเป็นระดับหยาบ ท่านทั้งหลายอาจจะนั่งแข็งทื่อไปเฉย ๆ ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้

    แต่ถ้าหากว่าทรงคล่องตัวถึงขนาดทุกอิริยาบถ อยู่ในการ ยืน เดิน นอน นั่ง เราสามารถที่จะทำได้แล้ว ท่านจะเล่นอะไรก็แค่ประคับประคองรักษากำลังใจของตนเองไว้เท่านั้น รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ไม่สามารถที่จะแผ้วพานได้ในชั่วขณะนั้น แต่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าถ้าเผลอสติไปยินดียินร้ายเมื่อไร สมาธิจะพังได้ทันที..!
     
  20. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถาม : เมื่อเป็นพระอนาคามี ต้องการไปต่อเพื่อเป็นพระอรหันต์ ในเมื่อเป็นพระอนาคามีแล้ว ไม่ต้องกลับมาเกิดมีร่างกายนี้แล้ว ทำไมต้องตัดความพอใจในร่างกายของเรา ร่างกายของคนอื่นอีก ?

    ตอบ : ท่านที่เป็นอนาคามีแล้วต้องตัดร่างกายของเรา ของคนอื่น ของสัตว์อื่น ก็เพราะว่าเรายังอยู่ในส่วนของการมีขันธ์ ๕ ที่เป็นร่างกายหยาบนี้อยู่ ต่อให้เราขึ้นไปอยู่ในสุทธาวาสพรหม เราก็ยังมีขันธ์ทิพย์ ถ้าอยู่ในลักษณะนั้น ก็แค่ตัดความพอใจในขันธ์ทิพย์ของสุทธาวาสพรหมชั้นใดชั้นหนึ่งนั้นลง ก็เพียงพอแก่การแล้ว

    ดังนั้น..ในส่วนที่ว่ามานี้ก็คือว่า พูดถึงในขณะที่เรายังดำรงขันธ์หยาบนี้อยู่ เราจำเป็นต้องตัดละทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะถ้าเกาะอะไรแม้แต่นิดเดียว เราเองก็ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นได้
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...