เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 29 ธันวาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ตั้งแต่เช้ากระผม/อาตมภาพก็ต้องเดินทางไปที่วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ จากเดิมก็คือแค่ไปเป็นเกียรติกับงานของเขาเท่านั้น ทำไปทำมากลายเป็นประธานเปิดงานแล้วบรรยายพิเศษให้กับครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนของจังหวัดกาญจนบุรีไปเลย..!

    เพราะว่าวันนี้พระเถระทั้งหลายมีภารกิจมากมาย โดยเฉพาะพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ท่านติดภารกิจในการมอบตราตั้งเจ้าอาวาส เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าจะสิ้นปีแล้ว การแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ต่อให้แต่งตั้งวันที่ ๓๑ ธันวาคม ก็ต้องนับเป็นปี ๒๕๖๕

    ในเรื่องของการตั้งสมณศักดิ์ก็ดี หรือว่าเลื่อนก็ตาม ก็จะมีระยะเวลาว่า ๕ ปีหรือ ๓ ปี สมมติว่าตั้งวันนี้ ก็มีเวลาแค่ ๓ วัน แต่นับเป็น ๑ ปี เพราะว่าเลขพ.ศ.คือปี ๒๕๖๕ ต้องบอกว่าเป็นเทคนิคที่ฝ่ายปกครองตั้งใจจะสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชาของตน จึงต้องรีบแต่งตั้งก่อนที่จะสิ้นปี ซึ่งสามารถที่จะนับอายุได้ ๑ ปีไปเลย

    หลังจากที่ให้โอวาทแก่ทางด้านครูพระสอนศีลธรรม ซึ่งจำนวนทั้งหมด ๓๐๐ กว่ารูปก็ไปไม่ถึงครึ่ง เพราะว่าทางคณะผู้จัดอ่อนประชาสัมพันธ์ไปหน่อย แม้แต่กระผม/อาตมภาพเองก็ได้ข่าวเมื่อวานนี้ตอน ๔ โมงเย็น เขาคงคิดว่า ทุกคนเหมือนกับหลวงพ่อวัดท่าขนุน จะช้าจะเร็วอย่างไรก็ไปงานได้ทันกระมัง ?

    เรื่องของการทำงาน พวกท่านทั้งหลายต้องจำเอาไว้ว่า สำคัญที่สุดคือเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ถ้างานในระดับนั้น อย่างน้อยต้องประกาศล่วงหน้า ๑ เดือน ก็คืออาทิตย์แรกประกาศงาน อาทิตย์ที่สอง ประชาสัมพันธ์ซ้ำสัก ๓ ครั้ง อาทิตย์ที่สาม ให้ประชาสัมพันธ์วันเว้นวัน อาทิตย์สุดท้ายให้ประชาสัมพันธ์ทุกวัน

    ถ้าทำในลักษณะอย่างนี้ จะไม่มีใครอ้างว่าไม่ได้ข่าว หรือว่าได้รับข่าวช้าจนไปร่วมงานไม่ทัน เป็นหลักการทำงานง่าย ๆ ทั้งนั้น ยกเว้นว่าอย่างพวกเรา สามารถที่จะรับงานเร่งด่วนได้ ถึงเวลาบอกวันนี้ พรุ่งนี้ก็สามารถไปร่วมงานได้ จัดเป็นบุคคลที่หาได้ยากอีกประเภทหนึ่ง ก็ต้องบอกว่า ถ้าหากว่ากำลังใจของพวกเราเท่ากันหมด การบริหารงานคณะสงฆ์จะง่ายกว่านี้อีกมาก
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    หลังจากนั้น กระผม/อาตมภาพก็เดินทางไปยังวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (พระอารามหลวง) เพื่อรับไฟพระฤกษ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร) ที่จะนำมาจุดในการเจริญพุทธมนต์รับปีใหม่ เดี๋ยวพวกเราก็ต้องตั้งโต๊ะหมู่เพิ่มอีกชุดหนึ่งตรงกลาง เพราะว่าไฟพระฤกษ์ต้องจุดต่อหน้าพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระสังฆราชแบบปีก่อน ๆ

    แล้วก็ประดักประเดิดมากครับ เพราะเขากำหนดว่าให้ผู้นำท้องถิ่นเป็นคนต่อไฟพระฤกษ์ ส่งให้เจ้าอาวาสเป็นคนจุด พิลึกตรงที่ว่า ทำไมไม่ให้ผู้นำท้องถิ่นจุดให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ต้องมาทำ ๒ ขยักด้วย ของบางอย่างถ้า "ทำของยากให้ง่าย" ก็จะเป็นเรื่องที่สะดวก คล่องตัวขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะกลายเป็น "ทำของง่ายให้ยาก"

    หลังจากนั้นก็เป็นการประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี ระดับเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และเลขานุการ ซึ่งวาระสำคัญต่าง ๆ ได้เน้นย้ำตรงการแบ่งงานรับผิดชอบกัน แบบเดียวกับที่วัดท่าขนุนของเรา ถึงเวลาก็มีเวรรับสังฆทาน มีเวรยามประจำวัน มีเวรรับผิดชอบทำความสะอาด แต่ว่านี่แค่ระดับวัดเท่านั้น

    พอถึงระดับการปกครอง ตั้งแต่ตำบล อำเภอ จังหวัด พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านย้ำมากว่า "มีรองแล้วต้องรู้จักแบ่งงานให้ด้วย ก็คือ แบ่งสันปันส่วนกันรับผิดชอบงาน ไม่ใช่แบกงานไว้คนเดียว กลัวว่าคนอื่นจะเก่งกว่า..!"


    โดยจริตนิสัยของกระผม/อาตมภาพเองนั้น ถ้ามีลูกน้องเก่งนี่จะสบายใจมาก เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าตัวเองไม่ต้องเหนื่อยมาก งานการทุกอย่างก็สะดวกคล่องตัว แต่ว่ามีบุคคลจำพวกหนึ่ง ที่เกรงว่าคนอื่นจะมาดึงความสำคัญไปจากตนเอง จึงไม่พยายามที่จะแบ่งงาน ให้ แล้วตัวเองก็รับงานไม่ไหว ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ขาดตกบกพร่อง


    มีอยู่สมัยหนึ่ง เจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิรูปหนึ่ง กระผม/อาตมภาพขอให้มีการแต่งตั้งรองเจ้าคณะตำบล เพื่อที่จะได้ช่วยรับผิดชอบงาน ท่านไม่อนุมัติ ท่านบอกว่า "ผมไม่ชอบให้ใครมาแบ่งงาน" ก็คือกลัวความสำคัญของตนเองจะลดลง ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของตน เพราะว่าท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอ ตรงนี้เป็นระดับตำบล โดยเฉพาะตำบลใหญ่ ๆ อย่างตำบลชะแล ถามว่าใหญ่โตมหึมาขนาดไหน ? จังหวัดกาญจนบุรีใหญ่เท่ากับสมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ๓ จังหวัดรวมกัน แล้วตำบลชะแลใหญ่ครึ่งอำเภอ..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ตอนที่กระผม/อาตมภาพดูแลตำบลชะแลเขต ๒ อยู่ มี ๕ วัดกับ ๗ สำนักสงฆ์ ไม่สามารถจะใช้การติดต่อทางโทรศัพท์ได้ เพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๐ เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในเมื่อไม่มีโทรศัพท์ก็ต้องวิ่งส่งเอกสารอย่างเดียว เมื่อส่งเอกสารครบ ๕ วัดกับ ๗ สำนักสงฆ์ ดูเลขไมล์รถแล้ว วิ่งไป ๑๔๒ กิโลเมตร..! เราต้องนึกเอาว่าไกลแค่ไหน กรุงเทพฯ มาถึงกาญจนบุรีก็ ๑๒๖ กิโลเมตรเท่านั้น นี่วิ่งตำบลเดียว ๑๔๒ กิโลเมตร..! วัดสุดท้ายคือวัดคลิตี้ล่าง ห่างจากวัดท่าขนุน ๘๗ กิโลเมตร..!

    ในเมื่อใหญ่ขนาดนี้ อยากจะให้มีรองเจ้าคณะตำบลช่วยรับผิดชอบงาน แต่ท่านไม่อนุญาต ก็คงประมาณว่า "กำลังใจของตนเองแค่ไหน ก็คิดว่าคนอื่นจะคิดเหมือนกับตนเอง" ก็เลยทำให้อำเภอทองผาภูมิไม่มีรองเจ้าคณะตำบล จนกระทั่งผ่านเจ้าคณะอำเภอมาอีก ๒ รูปแล้วก็ยังไม่มี คงจะถือธรรมเนียมเดิมกันอยู่ ซึ่งถ้าหากว่ามี งานการทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น

    หลังจากที่ประชุมกันเสร็จสรรพ เน้นการแบ่งงานแล้ว ก็ปรากฏว่าในเรื่องของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ซึ่งตั้งตามตำบลบ้านเมือง ไม่ใช่ตำบลคณะสงฆ์ เพราะว่าอย่างตำบลชะแลก็มีตำบลเดียว แต่ด้วยความใหญ่ ก็เลยทำให้ตำบลชะแลมีตำบลคณะสงฆ์ ๒ ตำบล ก็คือ ตำบลชะแลเขต ๑ กับ ตำบลชะแลเขต ๒ หรือว่าอย่างอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรีของเรา มีตำบลบ้านเมืองอยู่แค่ ๔ ตำบล แต่มีตำบลคณะสงฆ์ถึง ๑๐ ตำบล..!

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเป็นการเฉลี่ยงาน ไม่ให้เจ้าคณะตำบลรับภาระมากจนเกินไป ต่ำสุดแต่ละตำบลจึงให้มีอยู่ที่ ๕ วัด ถ้ามีมากกว่านั้นก็แล้วไป ยกเว้นว่าถ้าสามารถเพิ่มเติมได้ จนครบอีก ๕ วัด ก็ให้แยกตำบลคณะสงฆ์ได้อีกตำบลหนึ่ง

    ก็ปรากฏว่าทางด้านอำเภอต่าง ๆ ทั้ง ๑๓ อำเภอ อำเภอทองผาภูมิเป็น ๑ ใน ๔ อำเภอที่ส่งงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลครบถ้วนสมบูรณ์ทุกตำบล อีก ๙ อำเภอยังขาดตกบกพร่องอยู่
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    โดยเฉพาะมีอำเภอหนึ่ง งานที่ส่งเป็นศูนย์มาตลอด หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดก็เลยจี้ลงไปที่รองเจ้าคณะอำเภอซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ว่า "เดือนหน้าต้องมีงานส่ง" เพราะว่าถ้าเรายอมเหนื่อย วิ่งถึงทุกที่ หรือว่าเลขานุการมีความสามารถ ยอมเหนื่อย วิ่งไปทวงงาน งานต่าง ๆ ก็จะครบถ้วนสมบูรณ์

    งานของคณะสงฆ์ต้องการคนเสียสละ โดยเฉพาะงานทุกอย่าง แทบจะไม่ได้พึ่งพาอาศัยงบประมาณของทางราชการเลย ล้วนแล้วแต่เป็น "งบหลวง..พ่อ" ทั้งนั้น นอกจากพึ่งพาความเสียสละแล้ว ยังต้องการความอดทนอดกลั้นในการทำงานเป็นอย่างสูง เพราะว่าเหมือนกับการ "ปิดทองหลังพระ" ทำไปเป็นร้อยครั้งจะมีคนเห็นสักครั้งก็ยาก แต่ถ้าทำผิดครั้งเดียว โดยคนถล่มจมดินทันที..!

    ดังนั้น..ในวันนี้ที่ไปบรรยายถวายความรู้ให้กับครูพระสอนศีลธรรมในช่วงเช้า ความจริงอยากจะพูดสั้น ๆ แค่ว่า "ครูพระทุกรูปทำให้เหมือนผมก็จบแล้ว" แต่อธิบายแค่นั้นไม่ได้ เพราะว่าบางคนปัญญาไม่ถึง เดี๋ยวก็ไปทำขาดทำเกินอีก..!

    กระผม/อาตมภาพจึงต้องค่อย ๆ มาขยายความว่า ในการเป็นครูพระ เราทำอย่างไรที่จะสร้างศรัทธาให้เกิด โดยเฉพาะอันดับแรกเลยก็คือ เจ้าของสถานที่ ผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่เราจะได้เข้าไปทำหน้าที่หรือไม่ได้ทำ

    ประการที่ ๒ ก็คือ สำหรับบรรดาเด็ก ๆ ทำอย่างไรที่จะให้สิ่งที่เราสอน ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อสำหรับคนยุคใหม่ แต่ถ้าหากว่าเฮฮาบ้าจี้มากเกินไปอย่าง "หลวงพี่โดเรมอน" คนทั่วไปก็รับไม่ไหวเหมือนกัน เพราะฉะนั้น..ในส่วนของความพอเหมาะพอดีจึงเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะว่ามัชฌิมาปฏิปทาไม่ได้มีมาตรฐาน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่อาศัยกาลเทศะเป็นส่วนใหญ่

    การเป็นครูพระสอนศีลธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก เหตุที่ยากเพราะว่า อันดับแรกเลยก็คือ ตนเองก็ยังแบกกิเลสท่วมหัวอยู่ ไม่สามารถที่จะบอกกล่าวคนอื่นได้เต็มปากเต็มคำ นอกจากอาศัยสอนคนอื่นไปด้วย ขัดเกลาตัวเองไปด้วย แล้วโอกาสที่จะผิดพลาดจนกระทั่งเสียหายก็มีอยู่มาก กว่าที่จะสร้างศรัทธาให้ญาติโยม ตลอดจนกระทั่งผู้บังคับบัญชาหรือว่าเด็กนักเรียนยอมรับนับถือ ก็อาจจะเสียเวลาไปเนิ่นนาน

    หลังจากนั้นเราก็จะอาจจะเกษียณ แล้วคนรุ่นใหม่มา ก็จะพบกับเหตุการณ์แบบนี้อีก เป็นเรื่องที่ "หัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก" ก็ได้แต่ช่วยกันลากถูลู่ถูกังไป แต่ละปีจึงต้องปฐมนิเทศอบรมกันไป พูดแต่เรื่องซ้ำ ๆ ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง ก็เอาเฉพาะว่า ในส่วนที่เป็นหน้าที่ของเรา ทำให้เต็มที่ก็แล้วกัน

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...