เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 2 ธันวาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ งานหนักของกระผม/อาตมภาพวันนี้ก็คือไปตรวจข้อสอบธรรมศึกษาประจำปี ๒๕๖๕ ที่หอประชุมอาคารราชวิริยาลังการ วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) กระผม/อาตมภาพไปถึงประมาณ ๖ โมงครึ่ง ฉันข้าวต้มเสร็จก็ลุยเลย ไม่รอใคร

    ในฐานะเจ้าคณะปกครองระดับสูง เขาให้ไปอยู่กองตรวจพิเศษ โดยให้งานมาคนละ ๕ ปึก ก็คือ ๒๕๐ ฉบับ ฉบับหนึ่งประมาณ ๓ หน้า ก็ราว ๆ ๗๕๐ หน้ากระดาษ เซ็นรับรองการตรวจทุกฉบับนะครับ ถ้าหากว่าเป็นระดับเจ้าคณะตำบลก็โดนไป ๑๐ ปึก ๕๐๐ ฉบับ มากกว่าเป็นเท่าตัว..!

    คราวนี้โดยนิสัยของกระผม/อาตมภาพแล้วก็คืออ่านละเอียด การให้คะแนนก็ละเอียดตามไปด้วย คนไหนผ่านมือ
    กระผม/อาตมภาพไปแล้วไม่ตก แปลว่าเก่งจริง พระครูปลัดประวิทย์ วรธมฺโม, ดร. อาจารย์ประจำวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี ยืนมองไปก็บ่นไป "ตาย ๆ ๆ ๆ ๆ ตรวจแบบนี้เด็กตกหมด" กระผม/อาตมภาพบอกไปว่า "กูก็ตรวจแบบนี้ทุกปีแหละ..!"

    ส่วนใหญ่แล้วเขาจะดูว่ารูปแบบถูกไหม ? แล้วก็ให้คะแนนเลย ไม่ได้ดูเนื้อหาข้างไหน บางทีก็โดนเด็กหลอก เพราะว่าบางทีกระทู้ที่ทางด้านกองธรรมสนามหลวงตั้งมาไม่รู้อยู่ที่ไหน ? เด็กเขาเขียนมาเสร็จสรรพเรียบร้อย กระทู้ตั้ง กระทู้รับ ค้นมาเองหมด แปลว่าเขียนเสร็จมาตั้งแต่ที่บ้าน..!
    กระผม/อาตมภาพเจอพระเถระบางรูปให้คะแนน ๘๐, ๘๐, ๘๐ ไปทั้งปึกเลย..!

    คราวนี้เขาให้ตรวจสองรูปคู่กัน เมื่อมาทวนดูก็เป็นอันว่าใจหายวาบ แปลว่าทุจริตทั้งปึก..! แล้วคุณให้คะแนนแบบนี้ เดี๋ยวเด็กก็ยิ่งทุจริตกันไปใหญ่ เพราะว่าเขาไปบอกต่อกัน กระผม/อาตมภาพก็ต้องมาแก้คะแนนใหม่จาก ๘๐ ก็เหลือ ๕๐, ๕๐, ๕๐ สรุปก็คือตกนั่นแหละ เพราะว่าคะแนนของนักธรรมหรือว่าธรรมศึกษา ถ้าได้ไม่ถึง ๗๐ แปลว่าตก คุณต้องไปหาคะแนนจากวิชาอื่นมาเสริมให้ได้อย่างน้อย ๒๐ คะแนนถึงจะรอด แต่ก็ถือว่ากระผม/อาตมภาพเมตตามากแล้ว ให้ค่าเขียนตั้ง ๕๐ คะแนน..!

    วันนี้ก็ยังเจอประเภท "ลักไก่" น่าจะสอนกันมาเพราะว่าเป็นทั้งปึกเลย..! ก็คือเขียนกระทู้ตั้ง บรรยายขยายความ ยกกระทู้มารับ แล้วลอกเนื้อหาช่วงบรรยายขยายความกระทู้ตั้งมาใส่ต่อ จากนั้นก็สรุปจบ เป็นอย่างนั้นทุกฉบับ ถ้าคนไม่อ่านก็ "เสร็จโจร" แต่กระผม/อาตมภาพอ่าน เสร็จแล้วก็ทำเครื่องหมายไว้ด้วยว่า "ซ้ำกัน" "ซ้ำกัน" "ซ้ำกัน"

    ในเรื่องของการเรียนนักธรรมและธรรมศึกษา เป็นการเรียนในเรื่องของศีลธรรม ถ้าหากว่ายังมีการทุจริต หรือว่าไม่ตรงไปตรงมา พยายามที่จะ "แหกตา" แม้แต่อาจารย์ผู้ตรวจ ก็ไม่ควรที่จะมาเรียนวิชานี้ หรือว่าถึงมาเรียนก็ไม่ควรที่จะให้ผ่าน เรื่องพวกนี้ถ้าหากว่าเราทำได้ด้วยตนเอง จะเป็นความภูมิใจเฉพาะตัวของเรา
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    แต่ว่าสมัยที่กระผม/อาตมภาพเรียนนักธรรม ไม่ว่าจะเป็นชั้นนวกะ ตรี โท เอก ก็ตาม ไปทำให้เขาออกกฎเกณฑ์กติกาใหม่ เนื่องเพราะว่าทุกวิชาไม่เคยเขียนเกิน ๑๕ นาที เสร็จสรรพเรียบร้อยก็นำไปส่ง เซ็นชื่อส่ง แล้วก็ออกจากห้องสอบไปเลย จนกระทั่งวันที่สาม พอลุกจะไปส่ง โดนเณรวัดอื่นดึงจีวรเอาไว้ "หลวงพี่อยู่วัดไหนครับ ผมขอไปอยู่ด้วยได้ไหม ? ออกจากห้องสอบเร็วดีจังเลย..อยากรู้" เหมือนกันว่า ถ้าท่านไปอยู่ด้วยแล้วจะทำได้ไหม ?

    คราวนี้ด้วยความที่ออกจากห้องสอบเร็วเกินไป ก็เลยทำให้ทางกองธรรมสนามหลวงที่ได้รับการรายงาน ต้องออกกติกาใหม่ว่า ต้องนั่งอยู่ในห้องสอบอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง อย่างที่พวกคุณเจอกันมานั่นแหละ..! ขอให้รู้ว่าเป็นอานิสงส์จากเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนสมัยที่ยังเป็นพระใหม่ อาจจะเป็นเพราะว่าทางกองธรรมสนามหลวงกลัวจะเจอบุคคลประเภทนี้ แล้วทำให้เขารู้สึก "ขายหน้า" ว่าออกข้อสอบง่ายเกินไปหรืออย่างไร ทำไมผู้สอบทำได้เร็วแท้ ? ก็เลยบังคับว่าอย่างน้อยต้องนั่งอยู่ ๑ ชั่วโมงแล้วค่อยออกไปส่ง

    คราวนี้ช่วงอาทิตย์หน้าหรือไม่ก็ไม่เกิน ๑๐ วันข้างหน้า ก็จะมีการตรวจอีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าคราวนี้เป็นนักธรรมชั้นโท-ชั้นเอก สนามหลวง และไม่ใช่แค่ภาค ๑๔ แบบวันนี้ แต่มาทั้งหมด ๖ ภาค ๒๓ จังหวัดของหนกลาง ก็คือภาค ๑, ภาค ๒, ภาค ๓, ภาค ๑๓, ภาค ๑๔ และภาค ๑๕ ทั้ง ๒๓ จังหวัดมารวมกัน ข้อสอบประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ กว่าชุด..!

    เพราะว่าพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) เจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านเป็นรองแม่กองธรรมสนามหลวงในเขตหนกลาง ก็แปลว่าทั้ง ๒๓ จังหวัด ท่านมีส่วนรับผิดชอบด้วย ก็เลยให้มาตรวจที่วัดไร่ขิง เพราะสะดวกด้วยประการทั้งปวง

    แต่ท่านย้ำแล้วว่า "เอาอาจารย์จากภาค ๑๔ เป็นหลัก" ก็แปลว่า ๔ จังหวัด กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ต้องเป็นเจ้าภาพหลัก จังหวัดอื่นจะมาหรือไม่มาแล้วแต่น้ำใจ แต่ ๔ จังหวัดนี้อย่างน้อยระดับเจ้าคณะตำบลขึ้นไปต้องมาทั้งหมด ของกาญจนบุรีก็แค่ ๙๑ ตำบล รวม ๆ จังหวัดอื่นด้วย ก็น่าจะต้องงัดกองงานเลขานุการทั้งหมดไปด้วย..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    การตรวจข้อสอบสมัยก่อนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก บรรดาอาจารย์ที่ต้องเป็นอาจารย์ตรวจประจำกองสอบ จะมีหนังสือแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมเลย ให้เป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง ลงพระนามและประทับตรารับรองโดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ไม่รู้ว่ารุ่นหลังมีหรือเปล่า ? แต่ว่ารุ่นของกระผม/อาตมภาพมี แล้วกระผม/อาตมภาพได้ทำหลุดมือไปใบหนึ่ง เพราะว่าท่านไปแจกเอาวันที่กระผม/อาตมภาพไม่ได้ไปตรวจ เนื่องจากติดงานรับสังฆทานต้นเดือนพอดี ก็เลยต้องรอแต่งตั้งใหม่ เพราะว่าไปขอใบเดิมเขาก็ไม่ให้แล้ว แต่ก็ยังดีที่ว่ารอแค่ปีเดียวก็ได้ใหม่

    ในเรื่องของการเรียน ไม่ว่าจะนักธรรมหรือบาลี ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ เรียนแล้วต้องเอามาใช้ในการปฏิบัติธรรมของเราจริง ๆ อย่างที่กระผม/อาตมภาพยกเนื้อหาข้อธรรมต่าง ๆ ให้พวกเราฟังอยู่เสมอ ๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอกนั่นแหละ แล้วไปค้นคว้าเพิ่มเติมในพระไตรปิฎก เพื่อจะได้ขยายความขึ้นมา

    เพราะว่าสมัยก่อนนักธรรมชั้นตรีคือหลักธรรมในการรักษาตัวของพวกเราเอง เพราะว่าเน้นในส่วนของศีลพระ นักธรรมชั้นโท เป็นหลักสูตรของอาจารย์คู่สวด รุ่นของกระผม/อาตมภาพนี่ต้องเขียนคำสวดกรรมวาจา อนุสาวนาฯ เป็นภาษาบาลี รุ่นหลังเรียนสบายขึ้น ไม่ค่อยเจอกัน

    พอไปนักธรรมชั้นเอก เป็นหลักสูตรเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ พวกท่านทั้งหลายจะเห็นว่ามีในเรื่องของสีมา เรื่องของสมบัติ วิบัติของกุลบุตรที่จะเข้าบวช ในเมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ใช่แค่ศึกษาเฉย ๆ แต่ว่าต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมด้วย

    อย่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงท่านบอกว่า สมัยที่ท่านเรียนอยู่ ถ้าตำราอ้างถึงหนังสือเล่มไหน ท่านจะไปหาเล่มนั้นมาอ่าน ดังนั้น..คนอื่นเรียนนักธรรม เต็มที่ก็มีหนังสือ ๔ เล่ม หลวงพ่อท่านบอกว่าของท่านสามแบกยังไม่หมดเลย..! เพราะว่าท่านค้นมาอ่านหมด นั่นคือลักษณะของบุคคลที่ต้องการรู้อย่างแท้จริง

    เรื่องของหลักธรรมต่าง ๆ ทั้งส่วนของธรรมวิภาคและคิหิปฏิบัติ ให้ประโยชน์ทั้งในขณะที่เป็นพระภิกษุสามเณร และนำไปใช้ประโยชน์ได้ในขณะที่สึกหาลาเพศไป คำว่า คิหิ ก็คือคฤหัสถ์ ก็คือฆราวาสผู้ครองเรือน
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    แต่ว่าในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่แล้วพวกเราไม่เอาจริงเอาจังกัน ไม่ว่าในเรื่องเรียนหรือว่าเรื่องปฏิบัติ บอกว่าไม่อยากเรียน อยากจะปฏิบัติ แต่ก็ปฏิบัติธรรมแบบ "ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง" ทำเหมือนกับคนมีเวลามาก ไม่ได้รู้สึกเลยว่าตนเองจะต้องตาย..! พอให้เรียนก็ไม่ได้ตั้งใจค้นคว้าให้ลึกซึ้งจนรู้จริง แต่ว่าเรียนแค่ให้จบ ต้องบอกว่าเป็นทัศนคติที่แย่มาก เพราะว่าทุกอย่างที่เราเรียนไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ ถึงจะเรียกว่าการเรียนนั้นได้ผล เรียนแล้วต้องรู้ รู้แล้วต้องสอนคนอื่นต่อได้ด้วย ไม่ใช่แค่เรียนให้จบ..!

    ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ทั้ง ๔ จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก กระผม/อาตมภาพสามารถเฉลยปากเปล่าได้ทุกวิชา และน่าจะเป็นคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้ คุณจะเอาข้อสอบของปีไหนมาก็ได้ หรือว่าจะออกใหม่ตรงนี้ก็ได้ แต่คนอื่นเขาทำไม่ได้กัน ก็เพราะว่าขาดการค้นคว้าให้รู้ลึกและรู้จริง โดยเฉพาะไม่ได้ "ท่องแบบ" อย่างรุ่นที่กระผม/อาตมภาพเรียน คำว่า ท่องแบบ ก็คือท่องจำให้ได้ทั้งหมด ส่วนจำแล้วจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจช่างมัน เอาจำให้ได้ไว้ก่อน แล้วหลังจากนั้นพอศึกษาเพิ่มเติมก็จะแตกฉานไปเอง

    คราวนี้พอพวกเราไม่ได้ท่องแบบ แล้วก็ไปใช้วิธีเก็งข้อสอบ อย่างธรรมวิภาคมีตั้งแต่ ทุกะ หมวด ๒ ไปจนถึงโสฬสกะ หมวด ๑๖ แต่ปัจจุบันนี้ กระผม/อาตมภาพไม่เห็นจะออกเกิน
    ปัญจกะ หมวดที่ ๕ เลย เพราะว่าเยอะกว่านั้นเกรงว่าพวกเราจะจำไม่ได้กัน..!

    ถ้า
    กระผม/อาตมภาพถามว่า " มละ คือ มลทิน ๑๖ ประการมีอะไรบ้าง ?" พวกท่านก็สลบแล้ว ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่บอกชัดเลยว่า ๑๖ อย่างนี้คือกิเลสของเราล้วน ๆ แต่เราไม่ศึกษาให้รู้ชัดเจนว่าข้าศึกของเราหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะ อิสสา มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารพัด เพราะว่าเราไปใช้วิธีเก็งข้อสอบ ซึ่งเต็มที่ก็ออกไม่เกินหมวด ๕ ส่วนใหญ่จะไปเน้นหมวด ๓ กับหมวด ๔ โดนหมวด ๒ อย่างพวกโลกบาลธรรม ธรรมอันทำให้งาม กินไปแล้วครึ่งหนึ่ง ก็เลยทำให้พวกเราได้แค่เรียนจบ แต่ไม่ได้รู้จริง

    ดังนั้น..เรื่องพวกนี้ที่บอกมาก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนหรือเรื่องของการปฏิบัติ ต้องทำจริงให้รู้ลึก รู้จริง รู้แล้วต้องบอกคนอื่นเขาต่อได้ ถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างแท้จริง

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...