ธรรมบรรยายใน "โครงการปฏิบัติธรรม นิสิตบัณฑิตศึกษา และประชาชนทั่วไป ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕"

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 9 พฤศจิกายน 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ธรรมบรรยายใน "โครงการปฏิบัติธรรม นิสิตบัณฑิตศึกษา และประชาชนทั่วไป ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕"



    วันพุธที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น.
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ (๒)
    เป็นวิทยากรธรรมบรรยายใน "โครงการปฏิบัติธรรม นิสิตบัณฑิตศึกษา และประชาชนทั่วไป ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕"
    ถวายเป็นอาจาริยบูชาแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)
    เนื่องในวันครบรอบ ๑๑๙ ชาตกาล
    ณ สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    เจริญพรญาติโยมผู้เข้าปฏิบัติธรรมทุกท่าน กระผม/อาตมภาพ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. จบปริญญาเอกสาขาการจัดการเชิงพุทธ แต่เนื่องจากว่าพื้นฐานเดิมมาจากการปฏิบัติธรรม ก็เลยกลายเป็นครึ่งบกครึ่งน้ำ..! ก็คือจะให้ไปทางวิชาการก็ได้ จะให้มาทางปฏิบัติธรรมก็ได้

    ในวันนี้พวกเราส่วนใหญ่เป็นนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ต้องบอกว่าโดนหลักสูตรบังคับมา แต่อยากจะบอกว่าเป็นหลักสูตรที่วิเศษมาก ก็คือบังคับให้เราสร้างคุณงามความดีให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่หาไม่ได้จากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

    ในส่วนของการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเรื่องของบุคคลที่เข้าถึงปรมัตถบารมี คือกำลังใจขั้นสูงสุดเท่านั้น บารมีหรือกำลังใจของคนทั่วไปจัดอยู่ ๓ ระดับ ๙ ขั้น

    บารมีต้นเรียกว่า สามัญบารมี ถ้าหากว่าอย่างหยาบ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนานี่ไม่รู้เรื่องเลย

    ถ้าหากว่าอย่างกลาง พอที่จะตัดใจให้ทานได้ แต่ต้องมีพิธีกร มีโฆษกคอยพูดชักชวน น้ำลายแห้งไปครึ่งวัน กว่าที่จะตัดใจทำทานได้ แต่รักษาศีลกับปฏิบัติธรรมก็ไม่เป็น

    ไปถึงบารมีต้นระดับละเอียด สามารถให้ทานได้ แต่ก็ต้องบอกว่ารู้สึกเหมือนใจจะขาด ตัดใจได้ยากมาก

    พอไปถึงระดับกลาง คืออุปบารมี ในระดับหยาบ ให้ทานได้ รักษาศีล รู้สึกเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา มีหวังโดนทับตายแน่นอน..! จึงไม่ต้องพูดถึงการเจริญภาวนา

    ต่อไปอุปบารมีขั้นกลาง ให้ทานได้ รักษาศีลก็ขาดตกบกพร่อง แบบที่ภาษาพระใช้คำว่า สีลัพพตปรามาส คือไม่จริงไม่จัง ทำเหมือนกับลูบ ๆ คลำ ๆ ไปถึงอุปบารมีขั้นละเอียด ให้ทานได้ รักษาศีลได้ แต่ก็ยังภาวนาไม่เป็น

    ก็ต้องมาถึงระดับปรมัตถบารมีขั้นต้น ให้ทานได้ รักษาศีลได้ ภาวนาได้บ้าง แต่ก็ฟุ้งซ่านเป็นส่วนใหญ่

    ปรมัตถบารมีขั้นกลาง ให้ทานได้ รักษาศีลได้ เจริญภาวนาได้ แต่รักษาอารมณ์ให้ต่อเนื่องไม่เป็น

    ต้องถึงปรมัตถบารมีขั้นละเอียด คือระดับสูงสุด ให้ทานได้ รักษาศีลได้ เจริญภาวนาได้ และรักษาอารมณ์การภาวนาเป็น

    ดังนั้น..หลายท่านที่เข้ามาสมทบเพื่อร่วมปฏิบัติธรรม ต้องบอกว่าเป็นบุคคลที่บารมีเข้มข้นมาก อยู่ในระดับดอกบัวพ้นน้ำ ถ้ากระทบแสงอาทิตย์ ก็มีสิทธิ์ที่จะบานได้ทันที..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    คราวนี้สิ่งที่ท่านทั้งหลายทำ ถ้าเป็นบุคคลที่โดนหลักสูตรบังคับมา ก็จะรู้สึกเหมือนโดนบังคับให้แบกข้าวสารทั้งกระสอบ รู้สึกหนักอกหนักใจมาก แต่สำหรับบุคคลที่เต็มใจมา เรามาด้วยความเบากาย เบาใจ พร้อมที่จะรับคุณงามความดีทั้งหลายเข้าไป

    การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้านับเฉพาะเรื่องของสมาธิภาวนา มีมาก่อนศาสนาพุทธเนิ่นนานมาก แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ ก็ยังต้องไปศึกษาตามสำนักต่าง ๆ จนไปสำเร็จสมาบัติที่ ๗ และสมาบัติที่ ๘ ในสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร

    เพียงแต่พระองค์ท่านมีปัญญามาก เห็นว่านี่เป็นแค่การหนีทุกข์ชั่วคราว ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง จึงเสาะแสวงหาทางพ้นทุกข์ จนกระทั่งไปพบว่า สิ่งที่เขาปฏิบัติกันมาแต่ต้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นสมถกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่ช่วยให้ใจสงบ ระงับ มีกำลังเข้มแข็ง แต่ไม่มีวิปัสสนากรรมฐาน ที่ช่วยให้สละ ตัด ละ กิเลสต่าง ๆ ออกจากใจได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อค้นพบดังนี้แล้ว จึงดำเนินจิตไปตามสมถะและวิปัสสนาทั้งหมด จนกระทั่งบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีเศษที่ผ่านมา

    ถ้าถามว่าสมถกรรมฐานไม่ใช่ของดีหรือ ? ขอยืนยันว่าเป็นของที่ดีมาก เพราะทำให้ใจเราสงบ กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง เกิดไม่ได้ แต่ถ้าเราติดอยู่แค่ความสงบนั้นก็ไปไหนไม่รอด เพราะว่าเป็นการเพาะสร้างกำลังให้กับตัวเองจนมีกำลังมาก พอเราเอาไปใช้งานไม่เป็น ก็จะโดนกิเลสเอาไปใช้งานแทน..!

    ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่เน้นแต่สมถภาวนาอย่างเดียว เมื่อถึงเวลาแล้ว สมาธิจิตคลายออกมาแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณไม่เป็น ก็จะฟุ้งซ่านไปในด้าน รัก โลภ โกรธ หลง แทน เพราะว่าโดนกิเลสช่วงชิงเอากำลังที่เราใช้ได้ไปใช้งาน คราวนี้ก็จะออกอาการสาหัส..! ก็คือฟุ้งซ่านอย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นงานเป็นการมาก เพราะว่ามีกำลังมาก ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็จะเดือดร้อน เหมือนอย่างกับเลี้ยงเสือให้อ้วนแล้วก็มากัดเราเอง..!

    แต่ถ้าหากว่าท่านที่มีความเข้าใจ เมื่อเพาะสร้างกำลังได้แล้ว ก็นำไปพิจารณาในวิปัสสนาญาณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ หรือว่าอริยสัจ ๔ แล้วแต่ความถนัดของตน พยายามสรุปให้เห็นจริงให้ได้ว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรให้เรายึดถือมั่นหมายได้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถ้าทำในลักษณะอย่างนี้ ท่านก็จะใช้กำลังสมาธิในสมถกรรมฐานไป จนกระทั่งกำลังนั้นลดน้อยถอยลง สภาพจิตพอรู้ตัวก็จะดิ่งกลับไปหาสมถกรรมฐานใหม่ เราก็สามารถที่จะภาวนาต่อได้ ไม่อย่างนั้นแล้ว หลายท่านจะรู้สึกเหมือนกับชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม แล้วไปต่อไม่ได้ เครียด อัดอั้นตันใจ อยากจะระเบิดใส่ชาวบ้านเขา..!

    แต่ถ้าเอาไปใช้ในการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เท่ากับท่านใช้กำลังไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่โดนกิเลสเอาไปใช้แทน แล้วหลังจากนั้นเมื่อท่านมาภาวนาใหม่ ก็เหมือนอย่างกับเป็นถังเปล่า หรือหม้อแบตเตอรี่ที่ไม่มีไฟ สามารถชาร์จไฟกลับเข้าไปได้ สามารถเติมน้ำเพิ่มเข้าไปได้ แล้วเราก็เอามาใช้พิจารณาอีก

    สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เปรียบไปแล้ว สมถกรรมฐานเหมือนกับบุคคลที่เพาะสร้างกำลังกายให้แข็งแรง วิปัสสนากรรมฐานเหมือนอาวุธที่มีความคมมาก บุคคลที่มีแต่กำลัง จะตัดจะฟันอะไรก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีอาวุธ บุคคลที่มีแต่อาวุธ ไม่มีกำลัง จะยกอาวุธขึ้นก็ลำบาก จึงต้องใช้ทั้ง ๒ อย่างด้วยกัน เหมือนกับคนที่ถูกผูกขา มีโซ่ล่ามเอาไว้ เราต้องก้าวสลับกันไปถึงจะขึ้นหน้าไปได้

    ถ้าหากว่าท่านก้าวไปในด้านสมถะอย่างเดียว เมื่อสุดสายโซ่ก็จะโดนดึงกลับ ก้าวไปในด้านวิปัสสนาอย่างเดียว เมื่อเมื่อสุดสายโซ่ก็จะโดนดึงกลับ ต้องภาวนาแล้วพิจารณา พิจารณาแล้วกลับไปภาวนา สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ เราถึงจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติมากขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้วท่านทั้งหลายก็จะเสียเวลาไปเปล่า ๆ

    โดยเฉพาะถ้าทำวิปัสสนาล้วน ๆ จะลำบากมาก เนื่องเพราะว่ากิเลสคอยตีเราอยู่ตลอดเวลา กำลังแค่ขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิไม่พอที่จะระงับกิเลสได้ ก็จะตกอยู่ในลักษณะของทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติก็ลำบาก บรรลุก็ยาก แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายภาวนาจนใจสงบ แล้วคลายสมาธิออกมาพิจารณาวิปัสสนาแทน จะได้ผลเร็วมาก และความสงบของใจจะทำให้ท่านทั้งหลายได้รู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงอย่างชัดเจน
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    คราวนี้ในวิธีการปฏิบัตินั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ให้ไว้ เฉพาะในส่วนของสมถกรรมฐานก็มีถึง ๔๐ กอง เหมาะสำหรับบุคคลที่มีจริตต่าง ๆ กันไป ไม่ได้มีอะไรดีกว่ากัน บุคคลที่เป็นครูบาอาจารย์ท่านถนัดแบบไหน ท่านก็สั่งสอนแบบนั้น เราเองชอบใจแบบไหนก็ทำตามแบบนั้น อย่ามัวเอาเวลาไปถกเถียงกันว่า "ของใครดีกว่า ?" เพราะว่าถ้าจะนับสายกรรมฐานจริง ๆ มีแต่สายของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ครูบาอาจารย์ท่านศึกษาไปใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ชอบใจตรงไหนก็หยิบเอาไปใช้งาน เมื่อเกิดความคล่องตัวขึ้นมา มีผู้ชอบใจปฏิบัติตาม ก็กลายเป็นสายกรรมฐานขึ้นมา

    เหมือนอย่างกับคนเปิดร้านอาหาร เราอาจจะถนัดทำก๋วยเตี๋ยว อีกฝ่ายหนึ่งมีข้าวผัดกระเพรา ร้านโน้นมีไก่ย่างส้มตำ เราไปบอกว่าของเขาไม่ใช่อาหารได้ไหม ? ก็ไม่ได้ สำคัญอยู่ตรงที่ว่าใครชอบแบบไหน ก็หากินแบบนั้น เราถนัดแบบไหน เราก็ปฏิบัติแบบนั้น แต่อย่าปฏิเสธแนวทางปฏิบัติธรรมสายอื่น หลายท่านในที่นี้เคยปฏิบัติธรรมในสายอื่นมา พอมาเจอแบบพองยุบ ใจมักจะรู้สึกต่อต้านว่า "เอ๊ะ..นี่ไม่น่าจะใช่แบบที่เราชอบ"

    กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่า ให้ทุกท่านลองทำใจดูก่อน สมมติว่าถ้าเป็นเงินทอง เราใช้เงินบาทจนชิน อยู่ ๆ มีคนเอาเงินดอลลาร์ เอาเงินหยวน เอาเงินยูโรมาให้ เราจะไม่ทดลองใช้ดูสักหน่อยหรือ ? ลองทำดูก่อนว่าของเขาดีจริงไหม ? เราอาจจะพบกองกรรมฐานที่เหมาะกับเราในที่นี้ก็ได้ แต่ถ้าหากว่าไม่เหมาะกับเรา แต่เราศึกษาอย่างเข้มข้นจริงจัง จนกระทั่งมีความคล่องตัว มีความชำนาญ ถ้าใครถนัดแบบนี้ เราก็สามารถที่จะแนะนำเขาได้ ถ้าเขาถนัดแบบนี้ มีข้อติดขัด เราก็แก้ไขให้เขาได้

    ส่วนการปฏิบัติแบบเดิมของเรา ถ้าเราทำจนชำนาญ เราชอบแบบนั้น ถ้ามีใครต้องการ เราก็แนะนำสั่งสอนเขาได้ แปลว่าเราจะมีความรู้ความสามารถในกองกรรมฐานมากขึ้น แตกฉานขึ้น จัดเป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี ที่สมกับเป็นพุทธบริษัทที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้วางพระทัย มอบพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้พวกเราดูแล

    เรายิ่งรู้มากเท่าไรก็ให้การแนะนำบุคคลอื่นได้มากเท่านั้น เหมือนกับเป็นหมอแล้วรู้จักรักษาหลายโรค คนไข้ป่วยมา ถ้าอยู่ในขอบเขตที่เรารักษาได้ เราให้การรักษาไปแล้วประสบความสำเร็จ ก็เท่ากับเรายืนยันกับเขาว่า หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีหลากหลายมาก เพียงแต่ว่าส่วนไหนเหมาะสมกับเรา เราก็เก็บ ก็หยิบ ก็จับขึ้นมาใช้งาน เอามาปรับปรุง ขัดเกลา กาย วาจา และใจ ของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งท้ายสุด ถ้าหากว่าทำถึงที่สุดก็คือหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    คราวนี้การที่เราจะไปสู่จุดหมายปลายทาง อย่างที่ท่านทั้งหลายมามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแห่งนี้ เราสามารถมาทางสระบุรีก็ได้ มาทางอยุธยา อ่างทองก็ได้ มาทางปทุมธานีก็ได้ มาจากกรุงเทพฯ ก็ได้ ท้ายสุดเราก็มาถึงที่นี่เหมือนกัน

    จุดหมายปลายทางของการพ้นทุกข์ คือพระนิพพานนั้น มีสถานที่เดียว แต่หนทางและวิธีการไปสู่พระนิพพานนั้นมีมากมาย ไม่ควรที่จะเสียเวลาไปถกเถียงกันว่าทางไหนดีกว่า ทางไหนสะดวกกว่า เพราะว่าแต่ละคนมีความชอบ ตลอดจนกระทั่งบริบทของตนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเริ่มเดินมาจากทางไหน ถ้ามีความพากเพียรพยายามอย่างแท้จริง มีกำลังใจจดจ่อต่อเนื่องไม่ท้อถอย ท้ายที่สุดเราก็ไปถึงจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกัน

    สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านทั้งหลายก็คือว่า เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วอย่าทิ้ง พวกท่านทั้งหลายส่วนใหญ่แล้วมีข้อบกพร่องก็คือ ตอนปฏิบัติธรรม ก็ตั้งหน้าตั้งตาว่าเสียเต็มที่ แต่พอลุกจากตรงนี้แล้วไม่ได้รักษาอารมณ์ไว้ ท่านทิ้งไปเลย ซึ่งน่าเสียดายมาก

    การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการทวนกระแสโลก เหมือนกับเราว่ายทวนน้ำ พอเราว่ายเต็มที่แล้วเราก็ปล่อย ก็แปลว่าเราลอยตามน้ำไป พอรุ่งขึ้นเราว่ายใหม่ อย่างเก่งก็มาแค่เดิม พอเราปล่อยก็ไหลตามน้ำไปอีก ทำแบบนี้วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ไม่มีอะไรก้าวหน้าขึ้นมาเลย แล้วก็สงสัยว่าเราก็ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ทำไมไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีความดีเพิ่มพูนขึ้นเลย ก็เพราะว่าท่านทั้งหลายทำแล้วทิ้ง

    ถ้าหากว่าท่านเจริญกรรมฐานแล้ว ไม่ว่าจะวิธีการไหน เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ให้พยายามตั้งสติ ประคับประคองรักษาเอาไว้ หลายท่านสามารถรู้พองยุบได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเอาใจไปจดจ่อมากมายก็รู้ได้โดยอัตโนมัติเอง เราแค่เอาสติประคับประคองเอาไว้ อย่าให้เคลื่อน อย่าให้คลายไปทางไหน รักษาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ใหม่ ๆ ก็ได้ไม่กี่นาที พอขยับไปทำอย่างอื่นก็หลุดไปแล้ว

    แต่ถ้าท่านตั้งใจประคับประคองรักษาอย่างจริงจัง ก็จะได้เป็น ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ครึ่งชั่วโมง

    พยายามบ่อย ๆ ก็ได้เป็น ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ครึ่งวัน ๑ วัน

    เพียรพยายามซักซ้อมต่อไปก็ได้ ๒ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ครึ่งเดือน เป็นเดือน ๒ เดือน ๓ เดือน ครึ่งปี เป็นปี

    ถ้าทำลักษณะนี้ จิตใจเราจะผ่องใสขึ้นเรื่อย ๆ ก็แค่เอาสติตามรู้ในปัจจุบันเท่านั้น
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถ้าหากว่าอยู่ในลักษณะนั้น เราจะควบคุม กาย วาจา ใจ ของเราให้อยู่ในกรอบได้ ไม่สร้างกรรมใหม่ กรรมเก่าค่อย ๆ ขัด ค่อย ๆ เกลาไปเรื่อย เหมือนอย่างกับเรามีน้ำเกลืออยู่ถ้วยหนึ่ง เติมความดีของกองกรรมฐานที่เหมือนกับน้ำจืดลงไปเรื่อย ๆ พอมากเข้า ๆ แม้ว่าเกลือนั้นยังมีอยู่ แต่ก็ไม่มีรสแล้ว คุณงามความดีท่วมทับสิ่งที่ไม่ดีหมดแล้ว ท้ายที่สุดเราก็สามารถที่จะก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของเราได้

    ดังนั้น..ในการปฏิบัติธรรม ต้องระวังอย่างยิ่งว่า ทำแล้วอย่าทิ้ง ทำแล้วต้องรักษาเอาไว้ ครูบาอาจารย์ท่านบอกตลอดว่า "จดจ่อ ต่อเนื่อง ตามกันทุกลมหายใจเข้าออก" เราก็ฟังแล้วปฏิบัติตาม แต่ไปทำตามเฉพาะตอนที่นั่งอยู่ หรือว่าตอนที่เดินจงกรมอยู่ พอพ้นจากนั้นแล้ว เราไม่ได้ทำต่ออีกเลย

    กลายเป็นว่าเวลา ๑ วันซึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ถ้าหากว่าเราปฏิบัติเช้า ๒ ชั่วโมงหรือ ๓ ชั่วโมง ปฏิบัติบ่าย ๒ ชั่วโมงหรือ ๓ ชั่วโมง ปฏิบัติช่วงค่ำอีก ๒ หรือ ๓ ชั่วโมง ตีเสียว่าบัลลังก์ละ ๓ ชั่วโมงก็แล้วกัน วันละ ๓ เวลา รวม ๙ ชั่วโมง อีก ๑๕ ชั่วโมงเราทำอะไรอยู่ ? ต่อให้เราได้ ๙ ชั่วโมงเต็ม ๆ เราก็ยังขาดทุน เพราะอีก ๑๕ ชั่วโมงเราปล่อยกำลังใจเราไหลตาม รัก โลภ โกรธ หลง ไปหมด

    หลายท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ โดนระเบียบบังคับ ไม่สามารถที่จะเอามือถือมาได้ ไม่สามารถจะใช้อินเตอร์เน็ตได้ พอกลับไปถึงที่พัก เราก็ไปก้มหน้าก้มตาเขี่ยไลน์ ส่องเฟซฯ สมมติว่าเรานั่งกรรมฐาน ๑ ชั่วโมง แต่ไปเขี่ยไลน์เสีย ๒ ชั่วโมง เราก็ขาดทุนไป ๑ ชั่วโมงแล้ว กลายเป็นคนขยัน ทำงานทุกวัน แต่ขาดทุนอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

    สิ่งหนึ่งประการใดที่คิดว่าตรงกับกำลังใจของเราเอง รีบกอบโกยเอาไปและใช้งานจริงให้เร็วที่สุด วัฏสงสารนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย เราจะหลุดพ้นได้ก็ด้วยการใช้วิปัสสนากรรมฐานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงจะฝ่าฟันไปได้ สมถกรรมฐานเป็นแค่เกาะแก่งให้เราได้พักหายเหนื่อยชั่วคราว แต่เราต้องขึ้นฝั่งได้ ถึงจะปลอดภัยอย่างแท้จริง

    ชีวิตนี้เป็นของน้อย จะสิ้นสุดลงไปเมื่อไรก็ไม่แน่ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มีโอกาสพบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม น้อมนำมาปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราทำอยู่เพียงแค่นี้ ยังถือว่าขาดทุน เนื่องเพราะว่าหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ ผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลตามวาสนาบารมีของแต่ละคน

    เรามีโอกาสได้เกิดมาแล้ว อย่าให้เสียชาติเกิด ตะเกียกตะกายไปให้ไกลที่สุด ให้มากที่สุด ถ้าไม่สามารถหลุดพ้นได้ในชาตินี้ ก็ให้ทางเดินในวัฏสงสารของเราเหลือให้สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
     
  8. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,512
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ตอนนี้เหลือเวลาอยู่ประมาณ ๑๐ นาที มีท่านใดสงสัยข้องใจอย่างไร จะสอบถามก็เชิญได้จ้ะ พระภิกษุสามเณรของเรามีไหมครับ ? ติดใจสงสัยตรงไหนถามได้ทุกเรื่องครับ ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาเฉพาะทางพองยุบ จะเป็นพุทโธก็ได้ สัมมา อะระหังก็ได้ นะมะพะธะก็ได้ หรือจะเป็นแนวเคลื่อนไหว พิจารณารูปนามอะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะว่ากระผม/อาตมภาพเองเป็นคนขยัน ใครเขาว่าอะไรดี ก็ไปไล่ตามฝึกกับเขาหมด เป็นคนไม่รังเกียจเงินแม้ว่าไม่ใช่เงินไทย มีเงินอะไรก็ตาม โกยใส่กระเป๋าเอาไว้ก่อน ไปถึงประเทศนั้นเราก็ได้ใช้เอง มีท่านใดสงสัยข้องใจไหมจ๊ะ ?

    ส่วนใหญ่แล้วพวกเรามีพื้นฐานดีมาก ก็คือกว่าจะมาถึงระดับปริญญาโท บางท่านก็เรียนตั้งแต่ประกาศนียบัตร อย่างกระผม/อาตมภาพเองก็ผ่านการปฏิบัติธรรมมาหลายยกแล้ว หรือว่าท่านอื่น ๆ ก็มีแนวการปฏิบัติของตนเองมาแล้ว

    ขอให้ทุกคนเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมนั้น "ใครวางก่อนก็สบายก่อน" ใครอยากแบกกิเลสเอาไว้ ก็อย่าไปตำหนิเขา ปกติของมนุษย์ทุกรูปทุกนามมักจะเป็นเช่นนั้น

    เราเองก้าวผ่านมาแล้ว เห็นข้อบกพร่องของคนอื่น ก็เหมือนอย่างกับบุคคลนั้นมารับเอาสิ่งที่เราเคยทำ ไปครอบครองและปฏิบัติอยู่ บุคคลที่รับช่วงมรดกของเราคือทายาท คือลูกคือหลานของเรา เห็นลูกหลานใช้ กาย วาจา ใจ ที่ไม่ดี เราก็อย่าไปตำหนิเขา เพราะเราเคยเป็นเช่นนั้นมาก่อน ถ้ามีโอกาสก็ช่วยให้คำแนะนำ ถ้าแนะนำแล้วเขาไม่ทำ เราก็ปล่อยวาง ขอย้ำอีกครั้งว่า "วางก่อนสบายก่อน"

    ถ้าหากว่าไม่มีใครสอบถาม กระผม/อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ และสังฆรัตนะ เป็นประธาน มีบารมีของครูบาอาจารย์ที่ท่านทั้งหลายเคารพนับถือเป็นที่สุด ตลอดจนกระทั่งคุณงามความดีที่ท่านทั้งหลายได้มาร่วมปฏิบัติธรรมในโครงการนี้ จงมารวมกันเป็นตบะเดชะ พลวปัจจัย ดลบันดาลให้ท่านทั้งหลาย ไม่ว่าจะปรารถนาสิ่งหนึ่งประการใด ถ้าเป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมวินัยแล้ว ขอให้ความปรารถนาทั้งหลายจงพลันสำเร็จ..จงพลันสำเร็จ..จงพลันสำเร็จ..ทุกประการ โดยถ้วนหน้ากันทุกรูปทุกคนด้วยเทอญ ขอสวัสดีและขอเจริญพร

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    ธรรมบรรยายใน "โครงการปฏิบัติธรรมนิสิตบัณฑิตศึกษาและประชาชนทั่วไป ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕"
    วันพุธที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...