เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 29 กรกฎาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ มีการประชุมทั้งวัน ตั้งแต่การประชุมอบรมพระนวกะในเขตปกครองคณะสงฆ์อำเภอท่ามะกา การประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และเลขานุการทุกระดับ ในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี

    และการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล และเลขานุการทุกระดับ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ เพิ่งจะเสร็จสิ้นการประชุมลงไปเดี๋ยวนี้เอง กระผม/อาตมภาพก็มาบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนประจำวันนี้ต่อเนื่องไปเลย

    ตั้งแต่เช้ามากระผม/อาตมภาพไม่ได้ออกบิณฑบาต เพราะว่าต้องรีบเดินทางไปให้ทันพิธีเปิดการประชุมพระนวกะในเขตปกครองคณะสงฆ์อำเภอท่ามะกา ที่วัดเขาสะพายแร้ง ตำบลสนามแย้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งชื่อวัดเขาสะพายแร้งนี้ เป็นชื่อที่เพี้ยนไปจากบุคคลที่ไม่มีความเข้าใจว่าชื่อเดิมเป็นอย่างไร จึงทำให้ชื่อบ้านนามเมืองต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปหมด

    วัดเขาสะพายแร้งนั้น แต่เดิมชื่อ วัดเขาพม่าขาดสะพายแล่ง เนื่องจากว่าการรบกันระหว่างไทยกับพม่าครั้งหนึ่ง มีนายกองพม่าพลาดท่า ถูกนายทหารไทยฟันขาดสะพายแล่งตายคาสนามรบ บริเวณเนินเขาเตี้ย ๆ ซึ่งเป็นที่ซุ่มดักตีกองทัพพม่าที่ยกล่วงล้ำเข้ามา ชาวบ้านจึงเรียกเป็นนิมิตกันว่า เขาพม่าขาดสะพายแล่ง เมื่อถึงเวลานานไป นานไป ชื่อก็กร่อนลงเหลือแค่ เขาสะพายแล่ง

    แต่คราวนี้คนกาญจนบุรีนั้น สำเนียงเหน่อไปอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น...คำว่าเขาสะพายแล่ง เมื่อไปถามคนเมืองกาญจน์แท้ว่าภูเขาลูกนี้ชื่ออะไร ก็จะได้รับคำตอบเป็นสำเนียงเหน่อเมืองกาญจน์ว่า "เข้าสะพายแล้ง" ในเมื่อเป็นเช่นนั้น คนที่ไม่เข้าใจ ก็เลยพาลไปคิดว่าเป็น "เขาสะพายแร้ง" ตกลงว่านกแร้งที่กินซากสัตว์เหม็นตลบอบอวลไปหมด คนกลับเอามาสะพายเล่น..ว่าอย่างนั้น
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    แบบเดียวกับที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี มี "หนองย่างช้าง" ความจริงแล้วตรงนั้นเป็นหนองน้ำกลางป่า ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทางในระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน สมัยก่อนการเดินทางถ้าไม่เลาะไปตามลำห้วยลำธารหรือว่าแม่น้ำ ก็ต้องรู้ว่าตรงไหนมีหนองน้ำ มีบึงน้ำ เพื่อที่จะได้อาศัยเป็นที่พักค้างแรมได้

    ตรงจุดนั้นเป็นจุดที่นิยมพัก และการเดินทางในสมัยนั้นก็นิยมเดินทางด้วยช้าง เมื่อไปถึงหนองน้ำแห่งนั้น ก็พากันหยุดพัก ตั้งค่าย ก่อนที่จะหุงหาอาหารด้วยน้ำในหนองน้ำแห่งนั้น ภาษาชาวบ้านจึงเรียกกันว่า หนองยั้งช้าง ก็คือหยุดช้างลงพักในบริเวณนั้น แต่คนรุ่นหลังไม่เข้าใจคำว่า "ยั้ง" จึงเข้าใจว่าเป็นหนองย่างช้าง สรุปว่าช้างตัวใหญ่ขนาดไหนกูก็จะกิน..เอามาย่างเสียเลย..!

    เรื่องของชื่อบ้านนามเมืองที่ผิดเพี้ยนไปนั้น ในปัจจุบันแถวสุพรรณบุรี แถวกาญจนบุรี หรือว่าแถวนครปฐม แถวอุทัยธานีก็จะมีบ้านทัพหลวง มีบ้านทัพคล้าย มีบ้านทัพผึ้งน้อย มีบ้านทัพศิลา เป็นต้น คำว่า ทับ ในที่นี้ก็คือ กระท่อม ที่พัก ถ้าหากว่า ทับศิลา ก็คือกระท่อมที่ก่อขึ้นมาจากก้อนหิน ถ้าหากว่า ทับหลวง ก็คือกระท่อมที่ค่อนข้างจะหลังใหญ่มาก

    แต่คนรุ่นหลังไม่เข้าใจคำว่า "ทับ" ที่แปลว่า "กระท่อม" จึงได้เขียนเป็น ทัพ ใช้พ.พานสะกด กลายเป็นว่าบ้านเมืองแถวนั้น น่าจะมีการรบราฆ่าฟันกันแหลกลาญ จึงทำให้มีทัพโน้นทัพนี้ อย่างเช่นว่าทัพยายท้าว ทัพตาแทน เป็นต้น ดังนั้น...ในเรื่องของชื่อบ้านผ่านเมืองต่าง ๆ นั้น ยิ่งนานไป ถ้าไม่มีใครรู้จริง ก็จะทำให้ผิดเพี้ยนมากไปทุกที

    บริเวณอำเภอท่ามะกาก็มีบ้านห้วยกระบอก ซึ่งความจริงห้วยกระบอกนั้น ไม่ได้มีอยู่ในบริเวณนั้น หากแต่ว่าชื่อที่แท้จริงก็คือ "ห้วยกระบก" ก็คือต้นกระบก ซึ่งมีลูกเป็นที่นิยมกินของพวกเก้งพวกกวางเป็นอย่างมาก ต้นกระบกต้นนั้นขึ้นอยู่ริมห้วย เขาจึงเรียกลำห้วยสายนั้นว่า ห้วยกระบก
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    แต่เนื่องจากว่าบริเวณนั้นเป็นรอยต่อระหว่างอำเภอท่ามะกาของจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอบ้านโป่งของจังหวัดราชบุรี และอำเภอกำแพงแสนของจังหวัดนครปฐม มีชาวจีนมาอยู่ทำมาหากินเป็นจำนวนมาก ในเมื่อชาวจีนมาพูดภาษาไทย ก็ย่อมพูดไม่ชัด ตามแบบที่เขาเรียกว่า "เจ๊กพูดไทย" ดังนั้น...ห้วยกระบก เมื่อไปถึงปากคนจีนก็กลายเป็น "ห้วยกระบอก" คนไทยก็ดันเพี้ยนตามไป จึงกลายเป็นห้วยกระบอก ทุกวันนี้ก็เลยกลายเป็นว่าคนจีนพูด "เหน่อเจ๊ก" แล้วคนไทยก็บ้า "เหน่อตามเจ๊ก" จนกระทั่งห้วยกระบกกลายเป็นห้วยกระบอกไป เป็นต้น

    ดังนั้น..เขาสะพายแล่ง เมื่อออกเสียงตามคนเมืองกาญจน์ว่า "เข้าสะพายแล้ง" คนก็เลยเขียนเป็น "เขาสะพายแร้ง" มาด้วยประการฉะนี้

    เมื่อเสร็จจากการฉันเพลแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ได้เข้าร่วมการประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี ในงานนี้กระผม/อาตมภาพได้ถวายปัจจัยจำนวน ๖๓๐,๙๘๐ บาท เพื่อเป็นค่าเทอมให้กับนิสิตใหม่ ในเทอมที่ ๑ ของปี ๒๕๖๕ ของวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์

    ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระดับประกาศนียบัตร ทั้งประกาศนียบัตรวิปัสสนาภาวนา ประกาศนียบัตรพระพุทธศาสนา และประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์ หรือว่าการเรียนปริญญาตรีทั้งสาขาพระพุทธศาสนา สาขารัฐประศาสนศาสตร์ และสาขาวิปัสสนาภาวนา ทั้งพระภิกษุสามเณรและฆราวาส ซึ่งเขาส่งยอดค่าเทอมมาทั้งหมดเป็นจำนวนเท่านี้

    กระผม/อาตมภาพจึงได้ซื้อแคชเชียร์เช็ค ถวายให้กับพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี และรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ เป็นการแบ่งเบาทั้งภาระของวิทยาลัยสงฆ์ และภาระของพระภิกษุสามเณรและฆราวาสที่ตั้งใจไปเล่าเรียนศึกษา
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    หลังจากนั้นแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ออกจากการประชุม มาบรรยายถวายความรู้ให้กับพระนวกะ ตามคิวที่ได้รับแจกเอาไว้ เมื่อบรรยายเสร็จสรรพเรียบร้อย ถวายความรู้และแนวคิดในการครองตนของพระใหม่แล้ว กระผม/อาตมภาพก็ได้เดินทางเพื่อเข้าไปยังที่พักในคืนนี้ เพื่อที่จะได้ไปกิจนิมนต์ในการปลุกเสกวัตถุมงคลในวันพรุ่งนี้ ซึ่งมีทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย

    ในระหว่างที่นั่งรถอยู่ก็ได้เข้าระบบซูมมีตติ้งออนไลน์ เพื่อเข้าร่วมประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ซึ่งในเรื่องทั้งหลายทั้งปวงที่ได้กล่าวถึงในการประชุมนั้น ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติของการปกครองคณะสงฆ์ ๖ ด้าน

    แต่ในตอนช่วงท้ายที่ให้ผู้เข้าประชุมได้พบพระสังฆาธิการระดับสูง ก็คือเจ้าคณะจังหวัดและรองเจ้าคณะจังหวัดนั้น กระผม/อาตมภาพสะดุดใจที่หลวงปู่ป่วน พระครูธรรมสารรักษา (ป่วน ณฏฺฐโสภโณ) เจ้าอาวาสวัดบรรหารแจ่มใส รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านบอกว่าท่านเป็นพระผู้เฒ่า ความรู้น้อย ไม่สามารถที่จะบรรยายตามหลักวิชาการได้

    แต่ขอพูดตามที่ใจคิดว่า ในช่วงเข้าพรรษานั้น ให้ตีกลองระฆังย่ำรุ่งย่ำค่ำ เพื่อเป็นการตักเตือนญาติโยมให้รู้ว่า พระภิกษุสามเณรของเราจะกระทำความดีด้วยการทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นแล้ว และยังเป็นสัญญาณในตอนเช้าให้ญาติโยมได้ลุกขึ้นหุงข้าวปลาอาหาร เพราะว่าหลังการทำวัตรเช้าแล้ว เมื่อได้อรุณพระภิกษุสามเณรก็จะออกบิณฑบาต ท่านบอกว่าเมื่อญาติโยมได้ยินเสียงกลองเสียงระฆัง ก็จะเกิดความอุ่นใจ รู้สึกว่ายังมีวัดเป็นที่พึ่ง มีพระพุทธศาสนาเป็นหลักชัยของตนเองอยู่

    ตรงจุดนี้นั้น กระผม/อาตมภาพได้กระทำมาตลอดตั้งแต่เริ่มเป็นเจ้าอาวาส โดยมีการฟื้นฟูการตีกลองระฆังย่ำรุ่งย่ำค่ำทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษาจะเน้นหนักมาก แต่ว่าตอนออกพรรษานั้น ให้เปิดแค่เสียงระฆังย่ำรุ่งในช่วงตี ๓ ครึ่ง เพื่อเป็นสัญญาณเตรียมเจริญกรรมฐานพร้อมกัน

    ดังนั้น...ตรงจุดนี้ต้องบอกว่าหลวงปู่ป่วนซึ่งอายุ ๗๐ ปี กับกระผม/อาตมภาพที่อายุ ๖๓ ปี ย่าง ๖๔ นั้น ก็น่าจะเป็นบุคคลที่แก่ชราใกล้เคียงกัน จึงมีแนวคิดในการที่จะรักษาธรรมเนียมประเพณีเก่า ๆ เอาไว้เหมือนกัน
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    อีกประการหนึ่งที่หลวงปู่ป่วนท่านเมตตากล่าวถึงก็คือ ให้ลงอุโบสถทุกวันพระกลางเดือน และวันพระสิ้นเดือนตลอดพรรษา ตรงจุดนี้นั้น กระผม/อาตมภาพขอกราบอนุญาตเรียนถวายหลวงปู่ไว้ตรงนี้ว่า "วัดท่าขนุนนั้นลงอุโบสถตลอดทั้งปีครับ"

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเมื่อปี ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นปีแรกที่กระผม/อาตมภาพเดินทางมายังจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะที่อำเภอทองผาภูมิ ก็ได้พบว่าทางด้านนี้นั้น ตามวัดจะทำวัตรสวดมนต์เฉพาะช่วงเข้าพรรษา จะลงอุโบสถกันเฉพาะช่วงเข้าพรรษา

    ในเรื่องการทำวัตรสวดมนต์นั้นก็ช่างเถิด เพราะว่าไม่มีบัญญัติไว้ในพระวินัย คือ ไม่ใช่ศีลพระ แต่ว่าในเรื่องลงอุโบสถนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ว่า ต้องลงอุโบสถทุกกึ่งเดือน คำว่า กึ่งเดือน ก็คือครึ่งเดือน มาจากบาลีว่า "อัฑฒมาสัง" ในเมื่อเป็นเช่นนั้น กระผม/อาตมภาพจึงพยายามที่จะฟื้นฟูการลงอุโบสถตลอดปีในช่วงทุกกึ่งเดือน ไม่ว่าจะเป็นข้างขึ้น หรือว่าข้างแรม

    ตอนแรกก็มีการเกี่ยงว่าหาผู้ที่สวดพระปาฏิโมกข์ได้น้อย กระผม/อาตมภาพจึงลงทุนในการนิมนต์ผู้ที่สวดพระปาฏิโมกข์ได้ มาสวดถวายให้แก่พระภิกษุวัดท่าขนุน โดยถวายค่ารถให้กับท่านทุกครั้ง จนกระทั่งฝึกฝนให้พระภิกษุของวัดท่าขนุนสามารถที่จะสวดพระปาฏิโมกข์ได้เองหลายรูป ปัจจุบันนี้ก็ได้ทำการสวดพระปาฏิโมกข์กันเอง ไม่ต้องนิมนต์ท่านอื่นให้ลำบากอีก

    โดยที่ในตอนแรก ๆ นั้น กระผม/อาตมภาพต้องใช้คำพูดที่ค่อนข้างรุนแรงว่า "ถ้าคุณสวดมนต์ทำวัตรเฉพาะช่วงเข้าพรรษา คุณลงอุโบสถเฉพาะช่วงเข้าพรรษา คุณก็ควรที่จะฉันเช้าฉันเพลเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น..!" ในเมื่อทุกคนเห็นว่า
    กระผม/อาตมภาพเอาจริง จึงค่อย ๆ คล้อยตามมา แล้วปัจจุบันนี้ในอำเภอทองผาภูมิ ก็มีการทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นทุกวัน โดยเฉพาะวัดท่าขนุน ทำวัตรเช้า ๑ รอบ ทำวัตรเย็น ๒ รอบ ออกบิณฑบาตทุกวัน เจริญพระกรรมฐานทุกวัน

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นภาระหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่ต้องเข้มงวดกวดขัน โดยเฉพาะต้องลงไปทำด้วยตนเอง พระภิกษุสามเณรถึงจะยอมทำตาม ถ้าหากว่าสั่งอย่างเดียว ไม่มีทางเลยที่บรรดาพระภิกษุสามเณรจะยอมทำตาม เพราะว่าหัวไม่ส่าย หางก็ย่อมไม่กระดิก

    ดังนั้น...ในการประชุมครั้งนี้สิ่งที่พระผู้เฒ่าอย่างหลวงปู่ป่วนท่านได้กล่าวเอาไว้นั้น ตรงกับแนวคิดและการปฏิบัติของกระผม/อาตมภาพพอดี จึงเป็นเรื่องสะดุดใจ ให้นำมาเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเราและบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...