เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 กรกฎาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า วันอาสาฬหบูชา ทางวัดท่าขนุนของเรามีการทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา พระเจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารสังฆทาน ส่วนในช่วงบ่ายพระภิกษุวัดท่าขนุนลงพระอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นก็มีการอธิษฐานพรรษา ซึ่งหลายแห่งก็สงสัยว่า ทำไมวัดท่าขนุนถึงอธิษฐานพรรษาในวันอาสาฬหบูชา ?

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในกฐินขันธกะได้กำหนดเอาไว้ว่า ภิกษุผู้ที่จะรับกฐินได้นั้น ต้องจำพรรษาครบถ้วนไตรมาส (๓ เดือน) ซึ่งถ้าหากเรานับวันเข้าพรรษาเป็นวันแรก แล้วท่านไปอธิษฐานพรรษาในช่วงเย็นของวันเข้าพรรษา ก็แปลว่าจะขาดไปหลายชั่วโมง..!

    ถึงแม้ว่าวัดท่าขนุนจะปวารณาพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็ตาม แต่ก็ยังคงรักษาผ้าครองและรักษาการจำพรรษาไปจนกระทั่งถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือที่เรียกกันว่า วันตักบาตรเทโว เพื่อที่จะให้ครบถ้วน ๓ เดือนเต็มตามพระบรมพุทธานุญาต จะได้ไม่มีปัญหาในการรับกฐิน

    ตรงนี้ต้องบอกว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านมีความละเอียดในพระธรรมวินัยมาก เมื่อกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องจำพรรษาครบถ้วนไตรมาส จึงจะมีสิทธิ์รับกฐินได้ คิดกันแบบบุคคลทั่ว ๆ ไป ก็คือ ถ้านับชั่วโมงแรกในวันเข้าพรรษา แล้วท่านไปอธิษฐานพรรษาในช่วงบ่ายของวันเข้าพรรษา ก็แปลว่าขาดไปหลายชั่วโมง ถ้าท่านทั้งหลายไปออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยไม่ได้รักษาการเข้าพรรษาต่อ ก็แปลว่าอาจจะขาดไปอีกหลายชั่วโมง..!

    ดังนั้น..เพื่อไม่ให้เกิดการลักลั่นในพระธรรมวินัย หรือไม่ให้เกิดข้อสงสัยในการประพฤติปฏิบัติ พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านถึงได้แนะนำว่า ให้พระภิกษุอธิษฐานพรรษาในวันอาสาฬหบูชา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ แล้วรักษาการเข้าพรรษายาวไปจนถึงเช้าวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันตักบาตรเทโว จะได้หมดข้อสงสัยกันไปโดยปริยาย

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเราขาดความเคร่งครัด อาจจะทำให้เราไม่ใช่บุคคลที่สมควรแก่การรับกฐิน เมื่อรับกฐินไป นอกจากอานิสงส์ไม่ได้แก่ตนแล้วพวกเราที่ไม่ใช่บุคคลที่ควรแก่รับกฐิน ก็จะทำให้อานิสงส์ของเจ้าภาพกฐินลดน้อยถอยลงไปด้วย
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ในเรื่องของพระธรรมวินัยนั้น กระผม/อาตมภาพถือตามแบบอย่างของครูบาอาจารย์ ก็คือให้เข้มงวดไว้ก่อน เมื่อผ่อนลงมาก็จะพอดี แต่ถ้าท่านไปผ่อนตั้งแต่ต้น เมื่อถึงเวลาผ่อนลงไปอีก ก็จะกลายเป็นหย่อนยานและเสียหายในพระธรรมวินัยไปเลย ทำให้หลายวัดที่มีการประพฤติปฏิบัติซึ่งไม่ค่อยจะเข้มงวดนั้น บางทีก็เห็นการปฏิบัติผิดของตนกลายเป็นถูก แล้วกล่าวว่าที่วัดท่าขนุนอธิษฐานพรรษาในวันอาสาฬหบูชานั้น เป็นการกระทำที่ผิด ต้องไปอธิษฐานวันเข้าพรรษาจึงจะถูก เหล่านี้เป็นต้น

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เมื่อนาน ๆ ไป ก็จะมีการยึดถือตามครูบาอาจารย์ของตน แล้วกลายเป็นอาจาริยวาท ซึ่งทำให้เกิดนิกายต่าง ๆ ขึ้นมา ในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๒ หลังจากพระพุทธปรินิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี ตอนนั้นแตกออกไปถึง ๑๘ นิกายด้วยกัน ก็เพราะถือว่าการปฏิบัติของอาจารย์ของตนนั้นถูกต้อง

    ปัจจุบันในประเทศไทยของเรานั้น ก็มีแนวโน้มว่าการปฏิบัติของเรานั้นแยกออกเป็นหลายสายด้วยกัน ถ้ามีการกระทบกระทั่งกันเมื่อไร ก็จะกลายเป็นนิกายขึ้นมาทันที อย่างเช่นว่าเป็นสายของสันติอโศก เป็นสายของธรรมกาย เป็นสายของวัดป่าสายหลวงปู่มั่น เป็นสายของหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง แล้วก็ยังมีสายของวัดนาป่าพง มีสายของการปฏิบัติแบบนามรูป มีสายการปฏิบัติแบบเคลื่อนไหว เป็นต้น

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความอ่อนไหวของพระพุทธศาสนาของเราเป็นอย่างมาก ก็คือแทนที่จะมีแค่ธรรมยุตและมหานิกาย สองนิกายเท่านั้น ปัจจุบันนี้เรามีทั้งธรรมยุติกนิกาย มีมหานิกาย มีจีนนิกาย มีอนัมนิกาย และหลายแห่งก็มีวัชรยานของทางด้านทิเบตแทรกเข้ามาด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ในการยึดถือนั้นจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้แตกต่างในเรื่องของข้อธรรมและแนวปฏิบัติสักเท่าไร แต่ส่วนที่ทำให้เกิดความอ่อนไหวก็เพราะว่า มาปะปนกันอยู่ในคณะสงฆ์ไทย แล้วทำให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาในบรรดาหมู่ศิษย์ทั้งหลาย
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ต้องบอกว่าสายการปฏิบัติธรรมต่าง ๆ นั้น บรรดาต้นสายไม่ได้ทะเลาะกันเลย ถ้าเราดูต้นสายของการปฏิบัติในสายพุทโธ จะกล่าวว่าเป็นหลวงปู่มั่น ทางด้านอีสานเป็นต้นสายก็ตาม หรือสายการปฏิบัติแบบสัมมาอะระหัง มีหลวงปู่สด วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นต้นสาย การปฏิบัติแบบพองยุบมีหลวงปู่พม่า หรือ ดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระ ซึ่งตอนหลังไปจำพรรษาอยู่ทางวิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี เป็นต้นสายก็ตาม

    กล่าวโดยคร่าว ๆ แล้ว บรรดาเจ้าอาวาสที่นับเป็นต้นสาย หรือหลวงปู่หลวงพ่อที่เป็นต้นสายนั้น ท่านไม่ได้มานั่งถกเถียงกันว่าของใครถูก ของใครผิด หากแต่ว่าบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายต่างหากที่เอากิเลสไปชนกัน แล้วก็แบ่งแยกว่านี่เป็นสายฉัน นั่นเป็นสายเธอ เมื่อแบกกิเลสไปชนกัน ถึงเวลาแล้วต่างคนต่างก็ถือทิฏฐิมานะ แบกตัวกูของกูไปอย่างเต็มที่ ต้องของอาจารย์กูเท่านั้นจึงจะถูก ก็จะไปงัดข้อกันจนทำให้เกิดการแตกแยกขึ้นมาในพระพุทธศาสนาของเราโดยใช่เหตุ หลังจากนั้นเมื่อแบกกิเลสกันมาก ๆ ก็จะมีแนวโน้มแตกออกเป็นหลายสายดังที่กระผม/อาตมภาพได้บอกกล่าวไปแล้วในเบื้องต้น

    อยากจะบอกว่าสิ่งที่ครูอาจารย์ต้นสายทั้งหลายประพฤติปฏิบัติมานั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น ผู้ใดที่ถนัดตรงจุดไหน ถนัดที่แบบไหน ก็ได้สั่งสอนลูกศิษย์ไปในแบบนั้น ลูกศิษย์ทั้งหลายถ้าหากว่าชอบใจในปฏิปทานั้นก็ยึดถือปฏิบัติตาม ๆ กันมา ทำให้เกิดเป็นสายโน้นสายนี้

    เหมือนอย่างกับครูบาอาจารย์ที่เป็นอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง ได้สอนการทำอาหารออกไปเป็นเมนูถึง ๘๔,๐๐๐ อย่าง บรรดาลูกศิษย์เรียนรู้ไปแล้วมีความถนัด มีความชำนาญแบบไหน ก็ทำอาหารแบบนั้นออกมาจำหน่าย บรรดานักชิมทั้งหลายเมื่อชิมที่ร้านไหนแล้วเกิดติดใจ ก็บอกต่อ ๆ กันไป ท่านที่ชอบอาหารรสเดียวกันก็ไปกินที่ร้านนั้นมาก จนก่อให้เกิดชื่อเสียงของร้านนั้น ๆ ขึ้นมา แต่ว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ที่สอนไปทั้งสิ้น
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    จะว่าไปแล้ว หลักธรรมในประเทศไทยไม่ได้มีสายโน้น ไม่ได้มีสายนี้ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นสายของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ที่แบ่งสายขึ้นมาได้นั้นก็เพราะว่า ความชำนาญของครูบาอาจารย์แต่ละท่านไม่เหมือนกัน แล้วนำไปสั่งสอนลูกศิษย์ของตนตามความถนัด

    เปรียบเสมือนว่าการเดินทางไปสู่กรุงเทพฯ นั้น ถ้าหากว่าท่านมาทางภาคเหนือ ท่านก็ต้องเดินทางมาตามถนนพหลโยธิน ถ้าท่านมาทางภาคอีสาน ก็ต้องเดินทางมาตามถนนมิตรภาพ ถ้าหากว่าท่านเดินทางมาจากภาคตะวันออก ก็ต้องเดินทางมาตามถนนสุขุมวิท ถ้าท่านเดินทางมาจากทางภาคใต้ ก็ต้องเดินทางมาจากถนนเพชรเกษม

    นี่เป็นหลักใหญ่ ๆ ถึงสี่สายไปแล้ว แล้วยังมีถนนสายย่อย ไม่ว่าจะเป็นถนนสายเอเชียก็ดี จะเป็นมอเตอร์เวย์ก็ตาม หรือจะเป็นทางด่วนสายโน้นสายนี้ แต่ว่าทั้งหมดก็จะพามาถึงกรุงเทพฯ ได้ทั้งสิ้น แล้วจะไปบอกว่าการเดินทางสายโน้นผิด ต้องสายนี้เท่านั้น ท่านลองใช้ปัญญาตรองดูว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ ?

    และในเมื่อถนนทุกสายล้วนมุ่งไปในกรุงเทพฯ หรือว่าการปฏิบัติธรรมทุกสายล้วนมุ่งไปสู่พระนิพพาน โดยไม่ได้ไกลไปจาก ศีล สมาธิ ปัญญา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ แล้วกระจายออกไปเป็นมรรคมีองค์ ๘ กระจายออกไปเป็นหลักธรรมในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก รวมแล้ว ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เมื่อกาย วาจา ใจ สะอาดถึงที่สุด ปล่อยวางการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง ท่านก็สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน อันเป็นบรมธรรมในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาได้

    ดังนั้น...ตราบใดที่ท่านทั้งหลายยังยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสายนั้น เป็นสายนี้ เป็นครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้ถึงใช่ ครูบาอาจารย์ท่านอื่นไม่ใช่ ก็แปลว่าท่านยังแบกกิเลสเอาไว้เต็มตัว แล้วเมื่อไรท่านถึงจะมีโอกาสหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพานได้ ?

    สำหรับวันอาสาฬหบูชานี้ ก็ขอฝากข้อคิดเอาไว้สำหรับพระภิกษุสามเณร ตลอดจนกระทั่งอุบาสกอุบาสิกา และญาติโยมทั้งหลายที่ฟังอยู่แต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เถรี)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...