กรรมฐานที่พระสารีบุตรเถระ ได้สอนภิกษุทั้งหลาย( อนังคณสูตร สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 15 มิถุนายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    ?temp_hash=15b77f9bae6331b2b0e3eb141ab755b5.png
    อนังคณสูตร

    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

    คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

    จะแสดงกรรมฐานที่พระสารีบุตรเถระ ได้สอนภิกษุทั้งหลายใน อณังคณสูตร นำสติปัฏฐาน ท่านพระสารีบุตรเถระได้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย มีความว่า

    มีบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ ๔ จำพวก

    จำพวก ที่ ๑ เป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน ก็ไม่รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนิน

    จำพวก ที่ ๒ เป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนิน

    จำพวก ที่ ๓ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ไม่รู้ว่าตนไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน

    จำพวก ที่ ๔ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน รู้ว่าตนไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน

    ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่าจำพวกที่ ๑ ที่ ๒ นั้น จำพวกที่ ๑ คือผู้ที่มีกิเลสเพียงดังเนิน ไม่รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนินนั้น เลว ไม่ดี ๒ ส่วนจำพวกที่ ๒ คือผู้ที่มีกิเลสเพียงดังเนิน รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนินนั้น ประเสริฐ ดี อีกฝ่ายหนึ่ง จำพวกที่ ๓ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ไม่รู้ว่าตนไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน เลว ไม่ดี ส่วนจำพวกที่ ๔ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน รู้ว่าไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ประเสริฐ ดี ดั่งนี้

    ข้อว่ากิเลสเพียงดังเนิน

    และท่านก็ได้อธิบายแก่ภิกษุทั้งหลายต่อไปว่า ข้อว่ากิเลสเพียงดังเนินนั้นคืออะไร ท่านก็อธิบายว่า ได้แก่ อิจฉาวจร อันแปลว่าความหยั่งลงสู่ความปรารถนา ความท่องเที่ยวไปแห่งความปรารถนา พิจารณาดูคำนี้ ก็ตรงกับคำที่ใช้ในอภิธรรมถึงจิตที่เป็นกามาพจร หยั่งลงหรือท่องเที่ยวไปในกามเป็นต้น แต่ในที่นี้ท่านพระสารีบุตร ท่านใช้ว่า อิจฉาวจร แทน กามาพจร ก็คือท่องเที่ยวไปในความปรารถนา หยั่งลงสู่ความปรารถนา จึงหมายถึงความปรารถนาต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ อันเป็นฝ่ายอกุศล

    โดยที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงชี้เอาไว้ว่า ฝ่ายที่เป็นอกุศล เพราะความปรารถนาที่บังเกิดขึ้นในจิตใจนั้น ย่อมมีได้ทั้งสอง ฝ่ายกุศลก็มี ฝ่ายอกุศลก็มี ความปรารถนาที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ซึ่งเป็นตัวกิเลสเพียงดังเนินนี้ จึงหมายจำเพาะที่เป็นอกุศล คือเป็นฝ่ายที่ไม่ดี เป็นฝ่ายที่ชั่ว และต่อจากนี้ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงยกตัวอย่างต่างๆ เป็นอันมาก สำหรับอบรมสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย กล่าวจำเพาะที่เป็นข้ออธิบายในบุคคล ๔ จำพวกนั้นก่อน ซึ่งมีใจความว่า

    จำพวก ที่ ๑ เป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน ไม่รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนินนั้น ก็คือผู้ที่มีความปรารถนาเป็นอกุศลต่างๆ จิตท่องเที่ยวไปในความปรารถนาที่เป็นอกุศลต่างๆ คือคิดถึงเรื่องนั้นบ้าง ถึงเรื่องนี้บ้าง อันเป็นฝ่ายอกุศล คือไม่ถูกไม่ชอบ ไม่เหมาะไม่ควร ประกอบไปด้วยความโลภอยากได้บ้าง ความริษยากันบ้าง ความคิดเปรียบเทียบต่างๆ บ้าง จิตที่มีความปรารถนาดั่งนี้บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ ย่อมเป็นจิตที่เปรียบเหมือนอย่างพื้นแผ่นดินที่มีเนินขึ้นมา จึงทำให้พื้นแผ่นดินนั้นไม่ราบเรียบสูงๆ ต่ำๆ พื้นแผ่นดินที่เป็นธรรมดาก็เรียบ แต่ก็มีเนินบังเกิดขึ้นมาที่โน่นที่นี่ ทำให้พื้นแผ่นดินไม่ราบเรียบ จิตที่มีความปรารถนาอันเป็นอกุศลบังเกิดขึ้นดั่งนี้ ก็เป็นจิตที่ไม่ราบเรียบ ไม่สม่ำเสมอไม่สงบ แต่เป็นจิตที่ขึ้นลงสูงๆ ต่ำๆ หรือถ้าจะเทียบกับพื้นน้ำในทะเล พื้นน้ำในทะเลที่ไม่มีคลื่นลมจัด ก็นับว่าเป็นพื้นน้ำที่เรียบพอสมควร แต่ที่มีลมจัดก็เป็นคลื่นขึ้นมา ก็ดูเป็นตะปุ่มตะป่ำ ไม่ราบเรียบ และคลื่นที่บังเกิดขึ้นมานั้น ก็เป็นอันตรายแก่การที่จะเดินเรือแล่นเรือไปในท้องทะเล อาจถึงให้อับปางได้

    จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีความปรารถนาอันเป็นอกุศลครอบงำอยู่ ก็ย่อมจะเป็นจิตที่เป็นเนินขึ้นมา ทำให้จิตไม่ราบเรียบ ไม่สม่ำเสมอ ไม่สงบ และทั้งมิได้รู้ว่าจิตของตนมีเนินอันเป็นบาปเป็นอกุศล เป็นกิเลสดังที่กล่าวมานั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นจิตที่ไม่สงบ เป็นจิตที่ไม่บริสุทธิ์

    ความไม่รู้

    เพราะความที่ไม่รู้นั้นเองจึงทำให้ไม่เกิดฉันทะความพอใจ ไม่เกิดความพยายามเริ่มความเพียรที่จะชำระจิตใจของตน จึงเป็นผู้ที่มีราคะโทสะโมหะครอบงำ มีจิตเศร้าหมอง มีจิตเป็นเนิน หากจะทำกาละลงไปในขณะนั้น ก็เป็นผู้ที่มีจิตเศร้าหมองทำกาละไป อันมีทุคติเป็นที่หวังได้

    เพราะฉะนั้นบุคคลจำพวกนี้คือเป็นผู้ที่มีจิตมีเนิน มีกิเลสเพียงดังเนิน และก็ไม่รู้ตัวว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนิน จึงเป็นจำพวกที่เลว ไม่ดี เปรียบเหมือนอย่างว่า บุคคลที่ไปซื้อถาดสำริดมาจากร้านตลาด อันเป็นถาดที่เป็นสนิมไม่สะอาด และก็มิได้ตรวจตราให้รู้ว่าเป็นถาดที่เป็นสนิมไม่สะอาด ปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแลรักษา ก็จะยิ่งไม่สะอาด ยิ่งเป็นสนิมมากขึ้น

    ส่วน จำพวกที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ที่มีกิเลสเพียงดังเนิน แต่มีความรู้ตัวว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนิน เพราะความรู้ตัวนี้เองย่อมจะทำให้เกิดฉันทะความพอใจ เกิดความพยายามเริ่มความเพียร ที่จะปฏิบัติชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ทำให้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินต่อไป เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อระงับราคะ โทสะ โมหะ ทำจิตให้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ให้บริสุทธิ์ หากจะทำกาละไป ก็เป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมองทำกาละไป ย่อมมีสุคติเป็นที่หวังได้ ฉะนั้น บุคคลจำพวกนี้แม้จะยังมีกิเลสเพียงดังเนินอยู่ก็ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ ดี

    จำพวก ที่ ๓ คือเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน และก็ไม่รู้ว่าตนไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน บุคคลจำพวกนี้ก็หมายถึงคนที่มีจิตใจยังไม่ถูกอารมณ์ทั้งหลายมากระทบ มาเป็นเหตุให้บังเกิด อิจฉา คือความอยาก หรือโลภะราคะโทสะโมหะต่างๆ ขึ้น จิตใจจึงยังเป็นปรกติ แต่ก็มิได้กำหนดให้รู้จิตใจเช่นนี้ เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อไปใส่ใจถึง ศุภนิมิต คือเครื่องกำหนดหมายว่างดงามเป็นต้น ก็ย่อมจะเกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ ขึ้น จิตที่ปรกตินั้นก็จะกลายเป็นจิตที่ไม่ปรกติ เป็นจิตที่มีกิเลสกองราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ มี อิจฉา คือความปรารถนาต่างๆ ครอบงำ ก็จะกลายเป็นจิตที่มีกิเลสเพียงดังเนินไป จึงเป็นจิตที่เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น แม้บุคคลจำพวกนี้ก็ชื่อว่าเลวไม่ดีเช่นเดียวกัน

    ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๔ คือที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน และก็รู้ตัวว่าไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ก็หมายถึงบุคคลที่มีจิตใจยังไม่ถูกอารมณ์มากระทบ นำให้บังเกิดกิเลสต่างๆ ขึ้นมา และมิได้เกิด อิจฉา คือความปรารถนาต่างๆ ขึ้นมา เป็นจิตที่สงบเป็นปรกติอยู่ และเมื่อมีความรู้ตัวว่าตนเองมีจิตดั่งนี้ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้ไม่ใส่ใจถึงอารมณ์ ที่จะก่อให้บังเกิดกิเลสเพียงดังเนินขึ้น เช่นไม่ใส่ใจถึง สุภนิมิต ๕ เครื่องกำหนดหมายว่างดงามต่างๆ อันยั่วใจให้เกิดราคะโทสะโมหะ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นการปฏิบัติรักษาภาวะของจิต ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ ดี ดั่งนี้

    สรุปโอวาทของท่านพระสารีบุตร

    โอวาทของท่านพระสารีบุตรนี้ย่อมใช้ได้สำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป และก็นับว่าเป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง เป็นกรรมฐานที่ควรจะปฏิบัติได้เป็นประจำ เพราะว่าความอยู่ด้วยกันเป็นหมู่นั้น จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมจะต้องประสบกับความยิ่งบ้าง ความหย่อนบ้าง ในเครื่องแวดล้อมทั้งหลาย และทั้งจิตใจของทุกๆ คนที่ยังละกิเลสไม่ได้ ก็จะต้องมีอาสวะอนุสัยนอนจมหมักหมม หรือดองจิตสันดานอยู่ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ หรือประสบกับเวทนาต่างๆ ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ก็ย่อมจะนำให้เกิดความคิด ย่อมจะนำให้เกิดความปรารถนา ย่อมจะนำให้เกิดความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง ในอารมณ์ต่างๆ ที่ประจวบนั้น และโดยเฉพาะย่อมจะมีความปรารถนา และความปรารถนานั้นเมื่อมีตัณหาชักนำ มีราคะหรือโลภะโทสะโมหะชักนำ ก็ย่อมจะมีความปรารถนาไปในทางอกุศลต่า ๆ เช่น ต้องการ ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข และเมื่อไปคิดเปรียบเทียบถึงบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กันก็ตาม ที่อยู่ห่างกันก็ตาม ที่มีความสัมพันธ์กันก็ตาม ไม่มีความสัมพันธ์กันก็ตาม ว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี เราไม่ดี เขาดี หรือเขาไม่ดี เราดี เหล่านี้เป็นต้น ก็ก่อให้บังเกิดความโลภบ้าง ความริษยาบ้าง ต่างๆ เหล่านี้มาจาก อิจฉา คือความปรารถนาทั้งนั้น ความอยากทั้งนั้น ซึ่งเป็นอกุศล ซึ่งเป็นเนินขึ้นในจิต ทำจิตที่เคยเป็นปรกติสงบ ให้ไม่ปรกติ ไม่สงบ เหมือนอย่างแผ่นดินที่ถ้าไม่มีเนินก็เป็นดินที่ราบเรียบ แต่ที่มีเนินสูงต่ำตะปุ่มตะป่ำไป ก็ทำให้เป็นพื้นดินที่ไม่ราบไม่เรียบ หรือเหมือนอย่างน้ำทะเลที่ไม่มีลม ก็ไม่มีคลื่น เมื่อมีลมก็มีคลื่นขึ้นมา ตามอำนาจของลมที่น้อยหรือมาก ลมน้อยก็คลื่นเล็ก ลมใหญ่ก็คลื่นมาก นี่ล้วนแต่เป็นเนินทั้งนั้นที่บังเกิดขึ้นในจิต รวมความก็คือจิตที่มีราคะ หรือมี โลภะมีโทสะ มีโมหะนั้นเอง จึงเป็นจิตที่สงบไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า อิจฉา โลภะ สมาปันโน ผู้ที่ถึงพร้อมในอิจฉาความปรารถนา โลภะความโลภอยากได้ สมโณ ติงภวิสติ จักเป็นสมณะคือผู้สงบได้อย่างไร ดั่งนี้

    ข้อปฏิบัติที่สำคัญ

    เพราะ ฉะนั้น กรรมฐานที่สำคัญก็คือต้องคอยตรวจตราดูตนเอง ให้รู้จิตของตนเอง ว่าจิตของตนเองนั้นเป็นอย่างไร มีความปรารถนาอันเป็นตัวกิเลสเพียงดังเนินหรือไม่ หากพบว่าจิตมีความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นทางโลภะคือความโลภอยากได้มาเพื่อตนเองก็ดี จะเป็นทางริษยาตัดรอนความดีของผู้อื่นก็ดี หรือแม้เป็นในทางที่ทำจิตให้มีความยินดี กลัดกลุ้ม หรือทำจิตให้หงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง หรือทำให้ลุ่มหลงมัวเมาอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ให้รู้ ว่าบัดนี้ตัวเองกำลังมีกิเลสเพียงดังเนิน หรือมีจิตที่มีกิเลสเพียงดังเนิน

    เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ให้ตั้งฉันทะคือความพอใจ ตั้งความพยายามเริ่มความเพียร เพื่อละกิเลสเพียงดังเนิน คือความคิดปรารถนาไปต่างๆ ดังกล่าวนี้เสีย

    เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเป็นการปฏิบัติทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ ไม่ให้มีกิเลสเพียงดังเนิน หากว่าจะทำกาละไป ก็จะไปดี หรือไม่ทำกาละยังดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ก็จะเป็นชีวิตที่ดี และจะเป็นสมณะคือผู้สงบได้ ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ เมื่อมีจิตสงบได้แล้ว กายวาจาก็สงบ ก็ได้ชื่อว่าผู้สงบเช่นเดียวกัน

    เพราะ ฉะนั้น ความที่มีสติคอยกำหนด พร้อมทั้งปัญญา คือความรอบรู้ในจิตใจ ตลอดจนถึงในกายวาจาของตนเองนั้นอยู่เสมอ จึงเป็นความดี

    แต่ถ้าหากว่าพบว่าจิตใจของตนสงบดี ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน คือไม่ได้คิดปรารถนาอะไร ด้วยอำนาจของโลภะก็ตาม ด้วยอำนาจของความริษยาก็ตาม หรือด้วย ราคะ โทสะ โมหะต่างๆ กำลังมีจิตสงบ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน

    เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ปฏิบัติรักษาความเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินนี้ไว้ ด้วยการที่ไม่ใส่ใจใน สุภนิมิต เครื่องกำหนดหมายว่างามเป็นต้น คือไม่เอาอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะโทสะโมหะเข้ามาใส่ไว้ในใจ ไม่เอาใจเข้าไปใส่ไว้ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของ ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะระงับความปรารถนาคืออิจฉาความปรารถนา อันเป็นฝ่ายอกุศลได้ และสามารถที่จะเพิ่มอิจฉาคือความปรารถนาอันเป็นฝ่ายกุศล คือในการที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทางศีล ทางสมาธิ และทางปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

    เพราะฉะนั้นความที่เมื่อมีจิตสงบเรียบร้อยไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน และก็มาทำความรู้ตัวอยู่ และรักษาภาวะของจิตดังกล่าวนี้ไว้ เว้นจากการปฏิบัติกระทำใส่ใจไปในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส อันจะนำกิเลสเข้ามาสู่จิตใจ แต่ปฏิบัติรักษาจิตของตนให้เป็นไปในทางของ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นฝ่ายสงบดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้รักษาภาวะของจิตที่เรียบร้อย ที่ดีนี้ไว้ได้นาน ไว้ได้มาก และเมื่อทำเพิ่มพูนอยู่เสมอแล้ว ก็จะยิ่งทำได้ดี และได้มาก ทำให้เป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินนี้ได้ ดั่งนี้

    เพราะฉะนั้น คำสอนของท่านพระสารีบุตรที่สอนภิกษุทั้งหลายดั่งนี้ จึงเป็นการสอนกรรมฐานโดยตรง และเป็นกรรมฐานที่ควรจะทำอยู่ทุกเวลา ควรจะทำอยู่เสมอ และเป็นสิ่งที่กระทำได้

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ท่านได้ฟังโอวาทของท่านพระสารีบุตร ท่านก็ได้เกิดปฏิภาณขึ้นมา คือได้เกิดความคิดเข้าใจ และก็ขอแสดง ท่านพระสารีบุตรก็อนุญาตให้ท่านแสดง ท่านจึงแสดงว่า วันหนึ่งท่านไปบิณฑบาต ได้ไปพบกับปริพาชกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของนายช่างทำยานพาหนะ เช่นทำรถ ปริพาชกผู้นั้นกับท่านก็ได้เกิดไปพบกับช่างทำรถกำลังไสไม้ ตัดไม้ที่จะทำกงล้อ ปริพาชกซึ่งเคยเป็นบุตรของช่างทำยวดยานด้วยกัน ยืนดูอยู่ก็คิดขึ้นในใจว่า ควรจะต้องถากตรงนี้ ควรจะต้องไสตรงนั้น ควรจะต้องตัดตรงโน้น ฝ่ายช่างซึ่งกำลังทำอยู่นั้น ก็ไส ก็ตัด เหมือนดังที่ปริพาชกที่เคยเป็นช่าง คิดตรงกัน ปริพาชกนั้นก็กล่าวขึ้นว่า ช่างคนนี้ทำเหมือนอย่างรู้ใจของตัวเอง ใจของตัวเองคิดอย่างไรช่างก็ทำอย่างนั้น ทั้งนี้ก็เพราะเป็นช่างด้วยกัน ก็รู้ว่าควรจะไสตรงไหน ตัดตรงไหน เป็นต้น

    ฉันใดก็ดี ท่านพระสารีบุตรได้ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายครั้งนี้ ก็เหมือนอย่างท่านรู้ภาวะของประชุมชน เช่นภาวะของภิกษุทั้งหลาย หรือภาวะของประชุมชนทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันเป็นหมวดหมู่ ซึ่งจะต้องมีอิจฉาคือความอยากความปรารถนาต่างๆ อันเป็นอกุศลเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น จึงสอนตรงกับเรื่องราวที่เป็นไป อันเป็นการอำนวยประโยชน์ในด้านที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบถูกต้อง ดั่งนี้

    ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 1.png
      1.png
      ขนาดไฟล์:
      1.3 MB
      เปิดดู:
      2,006
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘
    ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

    [​IMG]
    ๒. สารีปุตตเถรคาถา
    คาถาสุภาษิตของพระสารีบุตรเถระ

    พระสารีบุตรเถระ ครั้นสำเร็จแห่งสาวกบารมีญาณ ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระธรรมเสนาบดี
    อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทำประโยชน์แก่หมู่สัตว์ วันหนึ่งเมื่อพยากรณ์อรหัตผลโดยมุขะ คือ
    ประกาศความประพฤติของตนแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จึงได้กล่าวคาถาความว่า
    [๓๙๖] ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ มีความดำริชอบ ไม่ประมาท
    ยินดีแต่เฉพาะกรรมฐานภาวนาอันเป็นธรรมภายใน มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง
    อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าภิกษุ
    ภิกษุเมื่อบริโภคอาหารจะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจน
    เกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ มีสติอยู่ การ
    บริโภคอาหารยังอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำเป็นการ
    สมควรเพื่ออยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว อนึ่งการนุ่งห่มจีวรอันเป็น
    กัปปิยะ นับว่าเป็นประโยชน์ จัดว่าพอ เป็นการอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจ
    เด็ดเดี่ยว การนั่งขัดสมาธินับว่าพอ เป็นการอยู่สบายของภิกษุ ผู้มีใจเด็ด
    เดี่ยว ภิกษุรูปใดพิจารณาเห็นสุข โดยความเป็นทุกข์ พิจารณาเห็น
    ทุกข์โดยความเป็นลูกศรปักอยู่ที่ร่าง ความถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนใน
    อทุกขมสุขเวทนา ไม่ได้มีแก่ภิกษุนั้น จะพึงติดอยู่ในโลกอย่างใด
    ด้วยกิเลสอะไร ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกเกียจคร้าน มีความเพียร
    เลวทราม ได้สดับน้อย ไม่เอื้อเฟื้อ อย่าได้มาในสำนักของเราแม้ใน
    กาลไหนๆ เลย จะมีประโยชน์อะไรด้วยการให้โอวาทบุคคลเช่นนั้นใน
    หมู่สัตว์โลกนี้ อนึ่ง ขอให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูต เป็นปราชญ์ตั้งมั่นอยู่ใน
    ศีล ประกอบใจให้สงบระงับเป็นเนืองนิตย์ จงมาประดิษฐานอยู่บน
    ศีรษะของเราเถิด ภิกษุใดประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า ยินดีใน
    ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ภิกษุนั้นย่อมพลาดนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจาก
    โยคะอย่างยอดเยี่ยม ส่วนภิกษุใด ละธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ยินดี
    ในอริยมรรคอันเป็นทางไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ภิกษุนั้น ย่อมบรรลุ
    นิพพานอันเป็นธรรมเกษม จากโยคะอย่างยอดเยี่ยม พระอรหันต์ทั้ง
    หลาย อยู่ในสถานที่ใด เป็นบ้านหรือป่าก็ตามที่ดอนหรือที่ลุ่มก็ตาม
    สถานที่นั้นเป็นภูมิสถานที่น่ารื่นรมย์ คนผู้แสวงหากามย่อมไม่ยินดีใน
    ป่าอันน่ารื่นรมย์เช่นใด ท่านผู้ปราศจากความกำหนัด จักยินดีในป่าอัน
    น่ารื่นรมย์เช่นนั้น เพราะท่านเหล่านั้นไม่เป็นผู้แสวงหากาม บุคคลควร
    เห็นท่านผู้มีปัญญาชี้โทษมีปกติกล่าวข่มขี่ เหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้
    ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบกับบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่
    ความดีไม่มีชั่วเลย ปราชญ์ก็ควรโอวาทสั่งสอน ควรห้ามผู้อื่นจากธรรม
    ที่มิใช่ของสัตบุรุษ แต่บุคคลเห็นปานนั้น ย่อมเป็นที่รักใคร่ของสัตบุรุษ
    เท่านั้น ไม่เป็นที่รักใคร่ของอสัตบุรุษ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้แล้ว
    มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมแก่ผู้อื่นอยู่ เมื่อพระองค์กำลังทรงแสดง
    ธรรมอยู่ เราผู้มุ่งประโยชน์ตั้งใจฟัง การตั้งใจฟัง ฟังของเรานั้น
    ไม่ไร้ประโยชน์ เราเป็นผู้หมดอาสวะ เป็นผู้หลุดพ้นพิเศษ เราไม่
    ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อปุพเพนิวาสญาณ ทิพจักขุญาณ เจโตปริยญาณ
    อิทธิวิธี จุตูปปาตญาณ ทิพโสตญาณ อันเป็นธาตุบริสุทธิ์ มาแต่ปางก่อน
    เลย แต่คุณธรรมของสาวกทั้งหมดได้มีขึ้นแก่เรา พร้อมกับการบรรลุ
    มรรคผล เหมือนคุณธรรม คือ พระสัพพัญญุตญาณ ได้มีแก่พระพุทธ-
    เจ้า ฉะนั้น มียักษ์ตนหนึ่งมากล่าวว่า มีภิกษุหัวโล้นรูปหนึ่งชื่ออุปติสสะ
    เป็นพระเถระผู้อุดมด้วยปัญญา ห่มผ้าสังฆาฏินั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนไม้
    สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้กำลังเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตกในขณะ
    ถูกยักษ์ตีศีรษะ ก็ยังประกอบด้วยธรรมคือความนิ่งอย่างประเสริฐ ภูเขา
    หินล้วนตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันใด ภิกษุย่อมไม่หวั่นไหวเหมือน
    ภูเขาเพราะสิ้นโมหะ ก็ฉันนั้น ความชั่วช้าเพียงเท่าปลายขนทราย ย่อม
    ปรากฏเหมือนเท่าก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า แก่ภิกษุผู้ไม่มีกิเลส
    เครื่องยั่วยวน แสวงหาความสะอาดเป็นนิตย์ เราไม่ยินดีต่อความตาย
    และชีวิต เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะจักละทิ้งร่างกายนี้ไป ไม่ยินดีต่อ
    ความตายและชีวิต รอคอยเวลาตายอยู่ เหมือนลูกจ้างรอให้หมดเวลา
    ทำงาน ฉะนั้น ความตายนี้มีแน่นอนในสองคราว คือ ในเวลาแก่
    หรือในเวลาหนุ่ม ที่จะไม่ตายเลยย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย
    จงบำเพ็ญแต่สัมมาปฏิบัติเถิด ขอจงอย่าได้ปฏิบัติผิดพินาศเสียเลย
    ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เมืองที่ตั้งอยู่ชายแดน เขาคุ้ม
    ครองป้องกันดีทั้งภายนอกและภายในฉันใด ท่านทั้งหลายก็จงคุ้มครอง
    ตนฉันนั้นเถิด ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะผู้มีขณะ
    อันล่วงเลยไปเสียแล้ว ต้องพากันไปเศร้าโศกยัดเยียดอยู่ในนรก ภิกษุ
    ผู้สงบระงับ งดเว้นโทษเครื่องเศร้าหมองใจได้อย่างเด็ดขาด มีปกติพูด
    ด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมกำจัดบาปธรรมได้เหมือนลมพัดใบไม้ล่วง
    หล่นไป ฉะนั้น ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากโทษเครื่องเศร้าหมอง
    ใจได้อย่างเด็ดขาด มีปกติพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ได้ลอยบาปธรรม
    เสียได้ เหมือนลมพัดใบไม้ร่วงหล่นไป ฉะนั้น ภิกษุผู้สงบระงับละเว้น
    กองกิเลสและกองทุกข์ ที่เป็นเหตุทำให้เกิดความคับแค้น มีใจผ่องใส
    ไม่ขุ่นมัว มีศีลงาม เป็นนักปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลไม่ควร
    คุ้นเคย ในบุคคลบางพวกจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม หรือเบื้องต้น
    เขาจะเป็นคนดี ตอนปลายเป็นคนไม่ดีก็ตาม นิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ ๑
    พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ เป็นธรรมเครื่อง
    เศร้าหมองจิต สมาธิของภิกษุผู้มีปกติชอบอยู่ด้วยความไม่ประมาท
    ไม่หวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยมีผู้สักการะ ๑ ด้วยไม่มี
    ผู้สักการะ ๑ นักปราชญ์เรียกบุคคลผู้เพ่งธรรมอยู่เป็นปกติ พากเพียร
    เป็นเนืองนิตย์ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาสุขุม สิ้นความยึดถือและความ
    ยินดีว่า เป็นสัตบุรุษ มหาสมุทร ๑ แผ่นดิน ๑ ภูเขา ๑ และ
    แม้ลม ๑ ไม่ควรเปรียบเทียบความหลุดพ้นกิเลสอย่างประเสริฐของพระ
    ศาสดาเลย พระเถระผู้ยังพระธรรมจักรอันพระศาสดาให้เป็นไปแล้ว
    ให้เป็นไปตาม ผู้มีปัญญามาก มีจิตมั่นคง เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดินและ
    ไฟย่อมไม่ยินดียินร้าย ภิกษุผู้บรรลุปัญญาบารมีธรรมแล้ว มีปัญญา
    เครื่องตรัสรู้มาก เป็นนักปราชญ์ผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นคนเขลา ทั้งไม่เหมือน
    คนเขลา เป็นผู้ดับความทุกข์ร้อนได้ทุกเมื่อ ท่องเที่ยวไปอยู่ เรามีความคุ้น
    เคยกับพระศาสดามาก เราทำคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลง
    ภาระหนักลงได้แล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพแล้ว ท่านทั้งหลาย
    จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นอนุศาสนีย์ของเรา เรา
    พ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว จักปรินิพพาน.
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    เอกาทสกนิบาต - ปัณณาสก์ - ๑. นิสสายวรรค - สัญญาสูตร

    พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน

    สัญญาสูตร


    [๒๑๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม
    พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่

    พระองค์ผู้เจริญ พึงมีหรือหนอแล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวี

    ธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ไม่พึงมีความสำคัญในอาโปธาตุว่าเป็นอาโปธาตุเป็นอารมณ์ ไม่

    พึงมีความสำคัญในเตโชธาตุว่าเป็นเตโชธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในวาโยธาตุว่าเป็น

    วาโยธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในอากาสานัญจายตนะว่าเป็นอากาสานัญจายตนะเป็น

    อารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในวิญญาณัญจายตนะ ว่าเป็นวิญญาณัญจายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึงมี

    ความสำคัญในอากิญจัญญายตนะว่าเป็นอากิญจัญญายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญใน

    เนวสัญญานาสัญญายตนะว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญใน

    โลกนี้ว่าเป็นโลกนี้เป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้าเป็นอารมณ์

    ไม่พึงมีความสำคัญในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่

    แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พึงมีได้อานนท์ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึง
    มีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ... ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็น

    ผู้มีสัญญา ฯ

    อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พึงมีได้อย่างไรเล่า การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่
    พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ... ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึง

    เป็นผู้มีสัญญา ฯ

    พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้ว่าธรรมชาตินั่นสงบ
    ธรรมชาตินั้นประณีต คือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา

    ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพานดูกรอานนท์ พึงมีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดย

    ประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญใน

    อาโปธาตุว่าเป็นอาโปธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในเตโชธาตุว่าเป็นเตโชธาตุเป็นอารมณ์

    ไม่พึงมีความสำคัญในวาโยธาตุว่าเป็นวาโยธาตุเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในอากาสาณัญ

    จายตนะว่าเป็นอากาสนัญจายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในวิญญาณัญจายตนะว่าเป็น

    วิญญาณัญจายตนะเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในอากิญจัญญายตนะว่าเป็นอากิญจัญญายตนะ

    เป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ

    เป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้เป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในโลก

    หน้าว่าเป็นโลกหน้าเป็นอารมณ์ ไม่พึงมีความสำคัญในรูปที่ได้เห็นเสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ

    ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ

    ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจาก
    อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่

    ครั้นแล้ว ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ

    ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ พึงมี

    ได้หรือหนอแล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาต

    ุเป็นอารมณ์ ฯลฯ ไม่พึงมีความสำคัญในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบธรรมที่รู้แจ้ง

    ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ

    ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านอานนท์ผู้มีอายุ พึงมีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิ โดย
    ประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุ ว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ฯลฯ ไม่พึงมีความสำคัญ

    ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรอง

    ตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ

    อา. ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ พึงมีได้อย่างไรเล่า การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการ
    ที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ฯลฯไม่พึงมีความสำคัญในรูปที่

    ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้งที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตาม

    แล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ

    สา. ดูกรท่านอานนท์ผู้มีอายุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้ว่า ธรรมชาติ
    นั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ความสงบสังขารทั้งปวงความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้น

    ตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพานดูกรท่านอานนท์ผู้มีอายุ พึงมีได้อย่างนี้แล การ

    ที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ฯลฯ

    ไม่พึงมีความสำคัญในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่

    แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ฯ

    อา. ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว การที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดาและของสาวก เปรียบเทียบได้กัน เสมอกัน ไม่ผิดกัน ในบทที่เลิศ ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ เมื่อกี้นี้กระผมเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ทูลถามเนื้อความอันนี้ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์เนื้อความอันนี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วย
    พยัญชนะเหล่านี้ แก่กระผมเหมือนที่ท่านพระสารีบุตรพยากรณ์ ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว การที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดาและของพระสาวก เปรียบเทียบกันได้ เสมอกัน ไม่ผิดกัน ในบทที่เลิศนี้ ฯ


    จบสูตรที่ ๗
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...