เรื่องเด่น พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร :ฝึกจิต

ในห้อง 'เสียงธรรม' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 12 มิถุนายน 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 มีนาคม 2018
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    พระอาจารย์สิงห์ทอง::สติรักษาจิต

    witsanu tripprasert :-
    Published on Apr 6, 2012
    พระธรรมเทศนา สติรักษาจิต หลวงพ่อสิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วบ้านชุมพล จ.สกลนคร.สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต www.facebook.com/ศูนย์เผยแผ่ธรรมะออนไลน์ กัณฑกะ
    ...........................................
    สติ

    ธรรมที่ควรเจริญให้มีมากนั้น คือ สติ สตินี้ถึงมีมากเท่าไรก็ไม่เป็นภัย สติมีมากเท่าไรยิ่งดี มีสติมากใจมันจะไว ใจมันจะทันเหตุการณ์ เพียงอะไรนิดอะไรหน่อยที่จิตคิดปรุงภายใน ใจมันก็รู้ สติจะทำให้ไว รู้คัดเลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมือนกับคนตาดี สิ่งไหนไม่ดีเขาเห็น เขาก็ไม่จับไม่ต้อง ไม่เอามา ส่วนคนตาบอด เมื่อมองไม่เห็น เมื่อเขาไม่รู้ เขาก็จับได้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ไฟก็ยังเหยียบ ยังจับได้ เพราะตาไม่เห็น คนตาดีเขาก็ต้องเว้น ไม่ไปเหยียบ ไม่ไปจับ ไม่ใช่แต่ไฟ ถึงหนามหรือสิ่งสกปรกอื่นๆ เขาก็เลี่ยง ไม่ไปเหยียบ ไม่ไปจับ

    สติก็เช่นกัน ถ้าเรามีอยู่ในจิตในใจ จะทำ จะพูด จะคิด สิ่งใด ถ้าเรามีสติ สติจะพาเราเลี่ยงสิ่งที่เป็นภัย เป็นอันตรายทั้งหลาย เรื่องสติจะหาที่ไหน จะไปหาที่ไหนก็ไม่เจอ ถ้าหากไม่ดูที่ตัวของตัว ต้องฝึกต้องหัดให้รู้จักกำหนดพิจารณาดูอยู่ภายนอก อย่าไปดูที่อื่น สำคัญที่ต้องกำหนดรู้ ให้ดูรู้ เข้าใจตามความเป็นจริง รู้จักพิจารณาไตร่ตรองที่เรียกว่า มีสัมปชัญญะ มีปัญญา รู้จักทำความเข้าใจตามความเป็นจริง ความรู้นี้จะเป็นสุขก็ตาม จะเป็นทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม มันรู้ ตื่นอยู่ หลับอยู่มันก็รู้ นี่คือเรื่องของจิต สำคัญที่จิตอย่าไปติดข้อง

    สติไม่มีทางเจริญขึ้นมาได้ ถ้าหากเราไม่มีปัญญาสอนใจให้รู้จักพิจารณาแก้ไขใจของตัว ไม่ใช่ว่ามันจะโง่เง่าเขลาอยู่ตลอด ไม่ใช่ว่ามันจะติดข้องอยู่ร่ำไป เมื่อฝึกอบรมแล้ว เราก็จะรู้เอง มันไม่คลุกเคล้าเมาความชั่วเหมือนเดิม มันจะฉลาดว่องไวขึ้น เรื่องอย่างนี้ต้องฝึก แล้วจะเข้าใจไม่ต้องมีใครมารับรอง ไม่ต้องหาประกาศนียบัตร เรารู้เอง ตัดสินตัวเองได้ว่าเราก้าวหน้ามีสติสัมปชัญญะเจริญขึ้นมาเพียงใด แต่ก่อนเป็นอย่างไร ปฏิบัติมาแล้วเป็นอย่างไร ตลอดปัจจุบันมันเป็นอย่างไร ตรวจชำระเองได้เรื่อยตลอดไป เมื่อทำแล้วสติย่อมดีขึ้น ความประมาทเผลอเรอก็จะลดลง.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2020
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เกิดเป็นมนุษย์นี้ยาก
    โดย พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

    การเกิดเป็นมนุษย์นี้ ท่านว่ายากเย็นเหลือเกิน เหมือนกับ เต่าตนุตาบอดซึ่งจมอยู่ในท้องมหาสมุทร กว่าจะโผล่ขึ้นมาจากท้องมหาสมุทรนั้นมันแสนยากทั้งตาบอดเสียด้วย ไม่ทราบว่ากิ่งไม้หรือต้นขอนต่างๆ มันอยู่ที่ไหน เมื่อโผล่ขึ้นมาได้ ทั้งได้เกาะได้อาศัยไม้นับเป็นโชคลาภ

    การเกิดเป็นมนุษย์นี้ยากแสนยากลำบากเหลือเกินเพราะกว่าจะเกิดได้ ภพชาติอื่นๆ มันมีมาก สัตว์น้ำก็นับอย่างไม่ได้ สัตว์บกก็นับอย่างไม่ได้และเกิดง่ายสะดวกสบาย ไม่เหมือนมนุษย์เรา


    มนุษย์จึงเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ
    ไม่ใช่สัตว์ธรรมดา เหตุใดจึงว่าประเสริฐ
    พระพุทธเจ้าหรือเหล่าพระอรหันต์
    ปัจเจกพุทธเจ้าก็เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งนั้น
    ไม่ใช่เกิดเป็นอันอื่น

    ฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ
    ควรชำระจิตใจของตัวให้ประเสริฐ
    ตามเยี่ยงอย่างที่พระพุทธเจ้าของเรา
    เคยกระทำบำเพ็ญมา ไม่อย่างนั้นการเกิดของเรา
    ก็จะเป็นหมัน เป็นโมฆะ หาสาระอะไรไม่ได้

    สัตว์เขาเกิดเขาตายเหมือนกับเรา
    แต่เขาไม่ประเสริฐก็เพราะเขาไม่ได้คิดในทางดีของเขา
    ตื่นมาก็หากิน อิ่มแล้วก็หลับนอน นี่เรื่องของสัตว์

    ไม่ว่าสัตว์บ้านสัตว์ป่าเป็นอย่างนั้น จะจำศีลอย่างไร
    จะภาวนาอย่างไร จิตใจของสัตว์ไม่เคยนึกคิดเรื่องเหล่านี้

    แต่มนุษย์เราคนที่ประมาทเมินเฉย ก็ทำนองเดียวกับสัตว์ เพียงแต่กินแต่อยู่เท่านั้น
    ไม่ได้คิดกำจัดกิเลสตัณหา มานะ ทิฐิ ละชั่ว บำเพ็ญดี มีแต่แสวงหามาใส่ปากใส่ท้องของตัว
    แล้วก็หลับนอน ก็เพลิดเพลินกันไปตามเรื่องของกิเลสตัณหา

    ไม่ได้คิดว่าการเกิดของตัวมันยากมันลำบาก กว่าจะได้เกิดแต่ละครั้งแต่ละหน
    เมื่อไม่คิดอย่างนี้ การสะสมคุณงามความดีอะไรมันก็ไม่อยากกระทำบำเพ็ญ
    เพราะเห็นว่าการเกิดไม่ยุ่งยากลำบากอะไร เพราะไม่ได้คิดถึงเหตุผลต้นปลายอะไร
    เพียงเกิดได้ก็ว่าตัวเกิด ตัวดีเท่านั้น ผลที่สุดตายไป


    เมื่อไม่ได้ทำบุญสุนทาน เมื่อไม่ได้สร้างคุณงามความดีอะไรไว้ จิตใจเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา
    เต็มไปด้วยมานะทิฐิต่างๆ ไม่มีบุญกุศลส่วนใดที่จะสนับสนุนให้ไปเกิดเป็นมนุษย์
    เป็นเทพบุตร เทพธิดา หรืออินทร์พรหมได้

    มันก็ไปสู่อบายคือทางชั่วทางเสีย อบายนั้นพวกเราท่านก็ได้ยินแต่ในตำรับตำราว่า
    มันทุกข์ มันยาก มันลำบาก มันรำคาญขนาดไหน อบายนั้นไม่ได้หมายถึงนรกถ่ายเดียว
    เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานก็หมายถึงอบายด้วย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2020
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    LpSingthongDhammavaroBone.jpg
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    อกาลิโก

    ธรรมยังคงเป็นอกาลิโกจริง ธรรมยังคงเส้นคงวาไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะหมดไปตามกาลสมัย ไม่ใช่กาลเวลาล่วงไปแล้ว ใครจะพยายามปฏิบัติธรรมกันเท่าไร ก็จะไม่เห็นความสุข จะไม่พบความสบายปรากฏกับตน ผู้ใดประพฤติปฏิบัติจริงจังย่อมจะได้เห็นอานิสงส์ของการปฏิบัตินั้น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เสียงมาร เสียงกิเลสที่เคยคอยมากระซิบให้ยึดมั่นสำคัญผิดว่าธรรมหมดไปแล้ว ขณะนี้มรรคผลต่างๆ หมดไปแล้ว ก็จะไม่หลุดไม่ตกไปจากใจของผู้ปฏิบัติ และใจก็จะได้รับอิสระ หลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง

    ทุกคนมีโอกาส มีเวลาฝึกจะปฏิบัติกันได้ อย่าได้ไปคิดว่าธรรมหมดยุค หมดเวลาแล้วที่จะมีคนไปเข้าใจได้ ธรรมมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โลกนี้ก็เปิดเผยชัดอยู่แต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยมีเวลาที่จะปิดบังใคร แต่ที่เหมือนปิดบังนั้น เพราะขาดผู้ปฏิบัติที่จริงจังต่างหาก ใจของเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญาจึงลุ่มหลง ทั้งๆ ที่ธรรมต่างๆ สิ่งต่างๆ ยังคงมีอยู่ธรรมดาเป็นปกติ ทุกคนต่างก็อยากมีความสงบ ต่างก็อยากมีความเย็นใจ จงตั้งหน้าตั้งตาภาวนารักษาใจของตัว เมื่อใจเป็นอรรถเป็นธรรมจริงจังแล้ว เห็นอะไรก็จะเป็นอรรถเป็นธรรมไปหมด อยู่สถานที่ใด ก็เป็นอรรถเป็นธรรมในสถานที่นั้น เป็นสุคโตในเมื่อเวลาอยู่ เป็นสุคโตในเมื่อเวลาไป อยู่สถานที่ใดก็ไม่เป็นเวรเป็นภัยแก่ตัวของตัว และไม่เป็นเวรเป็นภัยแก่คนอื่นและสัตว์อื่นอยู่สถานที่ใด ก็จะเกิดเป็นสิริ เป็นมงคลในสถานที่นั้น

    ธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ธรรมคือของเก่า ผู้ปฏิบัติจริงก็ย่อมได้ผลเหมือนเก่า คือ ย่อมได้ความหลุดพ้นเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับของการปฏิบัติ สิ่งที่จะเห็น ที่จะเป็น ที่จะรู้นั้น ผู้ปฏิบัติย่อมได้พบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ เพราะคำสอนทั้งหลายของพระองค์ยังคงมีอยู่ ซึ่งก็เท่ากับได้ชื่อว่า พระศาสดานั้นยังคงอยู่ รีบๆ ปฏิบัติกัน ต้องพยายามฝึกกาย ฝึกใจกันไป ไม่ต้องไปมัวคอยอ้างกาล อ้างเวลา เมื่อเราได้ชำระความชั่วออก ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ เราก็ยังมีทางที่จะบริสุทธิ์ได้ นี่คือทางแห่งปัญญา เป็นทางชำระใจ ทางแห่งความบริสุทธิ์นิรันดรกาล.
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ใจมืดเพราะยึดกาย หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร

    พิจารณาตามความเป็นจริง หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร

    dhamma osoth :-
    Published on Dec 27, 2012
    ใจมืดเพราะยึดกาย - พระธรรมเทศนาพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 12 มีนาคม 2018
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • photo.jpg
      photo.jpg
      ขนาดไฟล์:
      6.3 KB
      เปิดดู:
      465
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 มีนาคม 2018
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    49 - การเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร 24 ต.ค. 22 - พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร

    เสรี ลพยิ้ม
    Published on Sep 8, 2015
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2020
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เรื่องไตรภพ หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร

    42 - นักบวชหรือนักเบียด 19 ก.ย. 22 - พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร

    urai1791
    Published on Jul 19, 2014
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 มีนาคม 2018
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    43 - คุณงามความดีคือ ทาน ศีล ภาวนา 21 ก.ย. 22 - พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร

    photo.jpg
    เสรี ลพยิ้ม
    Published on Sep 5, 2015
    ท่านละสังขาร เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ สิริรวมอายุ ๕๕ ปี ๙ เดือน ๑๕ วัน ๓๕ พรรษา ด้วยอุบัติเหตุ เครื่องบินตก ณ ท้องนาทุ่งรังสิต หมู่ที่ ๔ ต.คลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
    ท่านละสังขาร พร้อมกับ
    อาจารย์บุญมา ฐิตเปโม
    พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ
    พระอาจารย์วัน อุตตฺโม
    พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 สิงหาคม 2020
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ตัวพระไตรปิฎก
    พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
    วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
    เทศน์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2522


    การปฏิบัติธรรมะ ก็ไม่มีอื่นไกลไปจากการปฏิบัติกายและใจของตัว อย่าไปคิดว่าอันนี้เราเคยภาวนามาแล้วเคยทำมาแล้ว จะทำอันอื่นต่อไป อย่าไปคิดแบบนั้น การปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกับเรารับประทานอาหาร เรากินอาหารก็กินลงไปในปากของเรา เมื่อปากนี้เคยกินแล้ว จะเอาเข้าทางหู ทางจมูก มันก็ไม่เกิดสาระประโยชน์ให้

    การพิจารณาธรรมะ กำจัดปัดเป่ากิเลสตัณหาของกายใจก็ทำนองเดียวกัน สิ่งใดที่เราเคยทำ ได้รับผลประโยชน์ ได้ความสงบสงัดสะดวกสบาย เราก็เอาอันนั้นแหละทำเรื่อยไปอย่าไปคิดว่าเราเคยทำมาแล้ว เราจะเอาอันใหม่อย่าไปคิดแบบนั้น มันผิดจากธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าสอน

    เขาทำไร่ ทำสวน ทำนา เขาก็ทำที่ที่ดินของเขานั่น ไม่ได้ไปทำที่อื่น ทำอยู่เรื่อย ๆ ทุกปีที่เขาทำ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการกระทำเขาก็ได้รับ นี่...เราภาวนาก็กำหนดกาย กำหนดจิต ของเก่านี่แหละ จิตของเราก็จะเบาจะสบาย จะสงบลงรวมให้ จึงไม่ควรสงสัยว่าการภาวนานั้นจะทำอย่างไร ทำมาแบบนั้นได้รับอย่างนั้น ทำแบบนี้ได้รับอย่างนี้ถ้าทำตามแบบเดิมที่ตัวเคยทำ ที่ได้รับสัมผัสจากอรรถธรรม ที่ว่าได้รับความสุขความสงบ มันไม่มีทางผิด ต่อเมื่อใดจิตใจมีการสงสัย จิตใจมีการเคลื่อนไหวจากเดิมไป มันก็เหมือนกับไฟ มีเชื้อสุมอยู่ที่ไหน มันก็ไหม้ลุกลามไป ถ้ามันติดในเบื้องต้นแล้ว มันเป็นแบบนั้น อวิชชา ตัณหาอุปาทาน มันมีอยู่ในสถานที่ใด เมื่อจิตใจของเราลงรวมได้รับความสุขความสบายแล้ว มันเกิดสงสัยอะไร มันก็คิดไปปรุงไป เพื่อจะแก้ไขความสงสัยของตัวที่มีอยู่ให้ตกหล่นออกไป มันไหม้ไปตามที่ที่มันมีเชื้อ ธรรมดาของไฟถ้าไม่มีเชื้อเหลืออยู่ จะไปจุดเท่าใดมันก็ไม่ติดให้ นี่.. .จิตใจที่เราหายสงสัยจากกิเลสตัณหา ก็ทำนองเดียวกัน จะไปพิจารณาอันนั้นอะไรกันอีก เพราะมันหายสงสัยแล้ว พิจารณาแล้วก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์อะไร เพราะมันสิ้นปัญหาแล้ว ถ้ามันยังสงสัยคือมันยังมีเชื้ออยู่ จำเป็นมันจะต้องไหม้ไฟ

    การพิจารณาก็ทำนองเดียวกัน ถ้ายังมีสงสัย ก็ต้องพิจารณาซ้ำลงไปอีก จนมันหมดความสงสัยนั้น ๆ เมื่อมันหมดความสงสัยแล้ว ไม่ต้องบอกว่าให้ปล่อยให้วางอันนั้น มันก็ปล่อยก็วางของมันไปเอง เพราะมันไม่มีอะไรที่จะสงสัย ไม่มีอะไรที่จะค้นคว้า ไม่มีอะไรที่จะหา ทราบดีอยู่แล้วว่า ในที่นั้นไม่มีอะไรที่จะไปหาเอาสาระเอาประโยชน์กับมัน เพราะมันหมดไปแล้ว นี่...หมายถึงจิตใจที่เป็นไปในด้านวิปัสสนา คือมีความสงบมาก่อนแล้วพิจารณาถอดถอนความข้องจิตคิดปรุงของใจต่าง ๆ มีความสงสัยที่ไหน มันก็ไปตามฐานะหน้าที่ของมัน จนหมดความสงสัยที่ตัวมีความข้องใจอยู่นั้น มันก็ไปอันใหม่ เมื่อมันหมดทุกสิ่งทุกประการไปแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่จะละจะบำเพ็ญ เป็นอเสขะของจิต เป็นอเสขบุคคล

    พูดถึงบุคคลก็ดี วินัยที่พระพุทธเจ้าสอนมันเป็นอย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา ไม่ว่าในอดีตที่ผ่านไป หรือปัจจุบันที่เป็นอยู่ หรืออนาคตต่อไปถ้าผู้พินิจพิจารณาตามธรรมะ จะต้องเป็นไปแบบเดียวกัน ไม่มีไปที่อื่น คือ อะไรที่ยังไม่สงบ เราก็ทำให้สงบ พอมันสงบไปแล้ว อะไรที่มันยังข้องใจสงสัย มันจะต้องพิจารณาอันนั้นไปแถวเดียวกันตลอดเวลา

    ไม่ว่าพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก ท่านจะต้องค้นคิดพิจารณาเพื่อแก้จิตของท่านแบบเดียวกันหมด เมื่อถึงความบริสุทธิ์แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร สาวกทั่วไปที่เป็นผู้บริสุทธิ์ก็ทำนองเดียวกัน ไม่ผิดแผกแตกต่างกันในความบริสุทธิ์ ที่แตกต่างกันก็คือเรื่องอำนาจวาสนา มันผิดแปลกแตกต่างจริง พระพุทธเจ้าท่านมีอำนาจวาสนา บุญญาธิสมภารผิดจากสาวก หรือสาวกบางท่านบางองค์ก็มีอำนาจวาสนาสูงส่งในการที่จะสงเคราะห์สงหา ในการที่จะแสดงธรรมให้แก่คนอื่น บางท่านบางองค์ก็แคบแต่ความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกันไม่ผิดแปลกกัน นี่คือ...ความบริสุทธิ์ของใจ

    ไม่ว่าใครทั้งหมด ไม่ว่าผู้หญิงไม่ว่าผู้ชาย ไม่ว่านักบวช ฆราวาส เข้าถึงความบริสุทธิ์แล้วเหมือนกันหมด เราจะไม่สงสัยว่าพระพุทธเจ้าท่านจะบริสุทธิ์ยิ่งกว่านี้ไหม มันจะไม่มีสงสัยในใจเพราะความบริสุทธิ์ทราบดี ทรงบอกอยู่แล้วว่าความบริสุทธิ์นี้ ไม่ว่าสมัยใด กาลใด ไม่ว่าใครทั้งหมด ถ้าหากประพฤติปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ จะไม่มีอะไรสงสัยว่า คนนั้นจะเป็นอย่างไร คนนี้จะเป็นอย่างไร สาหรับผู้บริสุทธิ์จะทราบ เข้าใจในตัวเองว่ามันเหมือนกันอย่างนี้ ไม่มีผิดแปลกแตกต่างอะไร

    ข้อสำคัญ พวกเราท่านที่ทั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ไม่ใช่จะไปคิดปรุงหรือหมายเอาว่า ความผู้บริสุทธิ์จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไปสุ่มเดาคิดเอาเหมาเอา หมายเอาอย่างนั้น จิตใจของพวกเราท่านก็ไม่เห็น ไม่เป็นให้ จะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติเรื่อยไป หน้าที่ปฏิบัติมีอย่างไร กำหนดอยู่ในบทของอรรถของธรรม อยู่ในกายในจิตของตัว ตามฐานะหน้าที่ของจิต

    ผู้ฝึกหัดปฏิบัติใหม่ก็จะต้องตั้งใจกำหนดบริกรรม หรือกำหนดลมหายใจ เพื่อจะให้จิตใจที่เคยฟุ้งปรุงคิดอ่านต่าง ๆ สงบรวมตัวลง ถ้าหากจิตใจไม่เคยสงบลงเสียก่อนแล้ว เห็นท่านสอนว่าให้พิจารณาอย่างนั้น พิจารณาอย่างนี้ ก็จะกระโดดพิจารณาไปทีเดียว ถ้าหากเป็นแบบนั้น จิตยังไม่ถึงความสงบ จิตยังไม่มีพื้นฐาน พิจารณาคิดอ่านมันก็ไม่ละไม่ถอนกิเลสตัณหาให้ เพราะใจขาดจากความมั่นคง ขาดจากความหนักแน่น ขาดจาก สมาธิ

    ความสงบ จึงเป็นข้อสำคัญประการหนึ่งอยู่ในมรรคทั้ง 8 เพราะมรรค 8 นี้ ท่านบ่งบอกว่าเป็นทางที่จะให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ มรรค 8 ย่นลงมาได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ย่นลงมากได้แก่ กาย วาจา ใจ ไม่นอกเหนือไปจากตัวของเรา นี่คือ...ตัวของพระไตรปิฎก ตัวของมหาวิทยาลัยที่จะต้องศึกษา

    กิเลสตัณหา ไม่ได้เกิดมานอกฟ้าเหนือดินที่ไหน เกิดขึ้นจากจิตจากใจของเรา เพราะฉะนั้น การกำหนดจิตใจจึงเป็นการขับไล่ความสงสัย ความฟุ้งปรุงของใจต่าง ๆ ให้ตกออกไป ให้สงบออกไป ให้หมดจากกิเลสตัณหา ถ้าหากไปกำหนดอยู่ข้างนอกว่า ตำรานั้นพูดอย่างนั้น ตำรานี้ท่านพูดอย่างนี้ ครูนั้นท่านสอนอย่างนั้น ครูนี้ท่านสอนอย่างนี้ ไปส่งอยู่ข้างนอกอย่างนั้น ไม่เกิดผลประโยชน์อะไรเพราะกิเลสมันเกิดจากภายใน และมันก็ไม่ได้อ้างกาลอ้างเวลาว่า กาลนั้นก่อน กาลนี้ก่อนจึงจะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นได้ทุกกาลทุกสมัยไม่ว่าเราจะนั่ง จะยืน จะหลับ จะนอน มันเกิดขึ้นได้

    ฉะนั้น เรื่องการภาวนา การทำสติ การทำปัญญา จึงควรกำหนดรักษาอยู่สม่ำเสมอ ไม่อย่างนั้นจะไม่ทันกับเรื่องของกิเลสตัณหา เพราะมันไม่ตั้งท่า มันเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ถ้าการภาวนาของเราจะต้องหาสถานที่ หาวัน หาเวลา แต่กิเลสตัณหามันเกิดขึ้นบ่อยอย่างนั้น มันจะไม่ทันกัน อยากจะให้มันทันก็คือ กำหนดอยู่เรื่อย พิจารณาอยู่เรื่อย ไม่ให้สติหลงลืม ไม่ให้ปัญญาเมินเฉย อะไรปรุงขึ้น เกิดขึ้น จากจิตจากใจจงนำมาพินิจพิจารณาเพื่อแก้ไข ขับไล่ส่วนที่ชั่วเสียออกไป นี่คือ...การปฏิบัติธรรมะด้วยความไม่ประมาท จะต้องปฏิบัติรักษากาย วาจา และใจ ของตัวให้เป็นธรรมอยู่สม่ำเสมอ คำที่ท่านแนะสอนเอาไว้ คือสอนกาย สอนใจ ไม่ได้ไปสอนที่อื่น แล้วก็สอนคนที่มีกิเลสตัณหามานะทิฐิอย่างพวกเรา พระอริยเจ้าไม่จำเป็น เพราะเป็นผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว เหมือนกันกับคนที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่จำเป็นที่จะไปหาหมอ ไม่จำเป็นในยา คนอิ่มก็ทำนองเดียวกัน ไม่จำเป็นในเรื่องของอาหารที่จะดื่มจะกิน เพราะมันอิ่มแล้ว คนหิวเท่านั้น คนมีโรคเท่านั้นที่จำเป็นกับยากับอาหาร คนหนาวเท่านั้นที่จำเป็นกับไฟกับผ้านุ่งผ้าห่มที่จะมาให้ความอบอุ่นแก่ตัว ถ้าหากไม่หนาวก็ไม่จำเป็นที่จะหาผ้าห่มมาห่มนุ่งพอสมควรก็พออยู่แล้ว ร้อนก็ทำนองเดียวกัน ที่เราอยากอาบน้ำอยากอยู่ในร่มเงาก็เพราะความร้อน ถ้าเราหนาว พอมีแดดมาเราก็ดีใจ จะได้ผิงแดดให้อบอุ่น ถ้าหากร้อนก็จำเป็นที่จะหาน้ำมาอาบ หรือหาร่มเงาที่จะให้ความเยือกเย็นแก่ตัวของตัว ความจำเป็นของโลกมันเป็นอย่างนี้ความจำเป็นของธรรมวินัยก็ทำนองเดียวกัน

    เราอยู่ธรรมดาไม่มีอะไรให้ทุกข์แก่กายแก่ใจ ก็ไม่มีเรื่องที่จะคิดจะนึกจะแก้ จะไข เพราะไม่มีอะไรสงสัย ไม่มีอะไรขัดข้อง ต่อเมื่อทุกข์เกิดขึ้น ภัยเกิดขึ้น จิตใจของเราปั่นป่วน เหหันไม่ตั้งมั่น ตัวของตัวเองไม่ไว้ใจว่า ความคิดความปรุงของตัวนี้มันจะเป็นอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงจะลองศึกษาปฏิบัติธรรมะ เพื่อทดสอบจิตใจของตัว ปฏิบัติไป ๆ จิตใจมันเข้าถึงขั้นสงบ จิตใจของเรามันเข้าถึงอรรถถึงธรรม รูปที่เคยเห็นมันติดมันข้อง มันเคยปรุงเคยคิดว่า รูปนั้นสวยสดงดงาม เป็นที่น่าปรารถนา น่ากำหนัดยินดี ย้อมใจของตัวให้คิดให้ฟุ้งในรูปนั้น อย่างนั้นอย่างนี้ ให้คิดปรุงไปตามเรื่องของกิเลส ตามสมมุติของโลก มันติด มันข้อง มันก่อ มันกวนจิตใจเอาจริง ๆ จัง ๆ สำหรับบางท่านบางคนหรือโดยทั่วไปในวัยหนุ่มสาว วัยบ้าวัยบอ ที่มันเป็นไปเพราะ จิตใจมันติดมันคิดมันบ่รุง ไม่ว่ากลางวันกลางคืน ไม่ว่าไปอยู่สถานที่ใด ถ้าหากไปถูกรูปที่ชอบใจแล้วมันย่อมนึกย่อมคิดย่อมปรุงในเรื่องนั้น ๆ อยู่เรื่อย ๆ นี่คือ...เรื่องที่เราเห็นว่าความทุกข์มันทรมานตัวของตัว นอนก็ไม่สุขไม่สบายให้ อยู่สถานที่ใดมันก็คิดก็ปรุงออกไป เมื่อเป็นอย่างนั้น จึงจำเป็นในการที่จะปฏิบัติธรรม เพื่อแก้ไขขับไล่สัญญาอารมณ์ที่เคยมีฝังใจให้ตกออกไป การพิจารณารูปที่เราข้องติดนั้น ทางธรรมทางศาสนา พระพุทธเจ้าท่านแนะสอนเอาไว้ ตัดขั้วไฟที่มีกิเลสตัณหา มันเป็นด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่ามนุษย์ หรือสัตว์เดรัจฉาน มันเป็นอย่างนั้น

    เรื่องของกามกิเลส เป็นเรื่องสำคัญครอบงำจิตของพวกเราท่าน และสัตว์ทั่วไป โลกอันนี้จึงเรียกว่า กามโลก คือมันเกิดมา มันก็เกิดมาจากกาม เมื่อเกิดมาแล้วก็ยินดีในกาม ความวุ่นวายขัดข้องก็เรื่องของกามเป็นส่วนใหญ่ และทุกข์ในเรื่องของกามเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ทุกข์ในเรื่องของธาตุขันธ์ คือ ส่วนใหญ่ เป็นทุกข์เรื่องของกาม เรื่องของใจ

    ฉะนั้น ในทางศาสนาท่านจึงสอน ให้พินิจพิจารณาศึกษาปฏิบัติจิตใจของตนให้เข้าหาความสงบเสียก่อน คือ ทำสมาธิด้วยการกำหนดพุทโธก็ดี ด้วยการกำหนดลมหายใจก็ดี จิตได้ที่ ได้ฐานตั้งมั่นในอรรถในธรรมแล้ว รูปที่เคยนึกคิดติดข้อง เสียงที่เคยเสนาะเพราะโสต ที่เคยอยากฟังนั้นมากำหนดดู พิจารณา เพื่อจะแก้ไขใจที่ข้องติดอยู่นั้นให้ตกออกไป ด้วยอำนาจที่นำรูปนั้นมาพิจารณาก็ดี นำรูปที่เรามีอยู่ก็ดี พิจารณาคลี่คลายให้เห็นตามเป็นจริงในรูป เพราะรูปนี้เราไปสำคัญมั่นหมายว่าหญิง ว่าชาย ว่าสัตว์ ว่าบุคคล ว่าขี้ริ้วขี้เหร่ ว่าสวย ว่างาม

    ความจริงแล้ว รูป เกิดขึ้นจากอะไร เกิดขึ้นจากธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุทั้ง4 ที่อยู่ข้างนอกมันก็มี ธาตุทั้ง 4 ที่อยู่ในตัวของเรามันก็มี ถ้าผสมส่วนกันเข้า ไม่ว่า ดิน น้ำ ลมไฟ อยู่สถานที่อื่น ยังพออาศัย พออยู่ได้สะดวกสบาย เมื่อมันมาอยู่ในกายของเรา มันมาผสมกันเข้า ถ้าหากเราไม่ได้พินิจพิจารณา แยกแยะแกะดูก็ไม่ทราบว่าส่วนใดเป็นอะไร แล้วความสวยงามนั้นมันมีอยู่ในที่ไหน เราเลยเหมาเอาหมดว่า รูปอันนี้มันสวยงามมันดี มันเด่น มันน่ากอดน่าจูบต่าง ๆ นานา

    ถ้าหากพิจารณาแยกแยะตามธรรมะของพระพุทธเจ้า พิจารณาให้เป็นปฏิกูล พิจารณาให้เป็นกรรมฐาน จะต้องแยกแยะออก อย่าง ผม ขนเล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกต่าง ๆ

    ถ้าหากแยกออกจากตัวบุคคล ตัวของเราได้ คือ ผม นั้นมันก็เป็นเส้นอยู่บนศีรษะ มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย มีทั้งนักบวชและฆราวาส ของเหล่านี้ถ้าหากเราไม่ตบแต่ง เราไม่สะสาง ไม่ดูแลรักษา มันจะเป็นอย่างไร เพียงไม่อาบน้ำไม่สระผมไม่กี่วันกี่เดือน กลิ่นของมันเป็นอย่างไร แล้วเมื่อมันตกหล่นออกจากสถานที่ มาตกใส่ที่นั่งที่นอนของเรา เราชอบไหม ยิ่งตกลงในภาชนะอาหารหรือน้ำดื่มของเราเป็นอย่างไร ถ้าหากมันเป็นกอบเป็นกำแล้ว ใครเล่าเขาจะยินดีกินอาหารที่มีผมของมนุษย์ตกอยู่อย่างนั้น น้ำที่มีผมติดอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครชอบกินกัน แต่เมื่อมันอยู่ในศีรษะ ทำไมมันเป็นบ้าเป็นบอ ไปหลงใหลใฝ่ฝันว่ามันสวยอย่างนั้น มันมีทรงงามอย่างนี้ นี่คือ...การคลี่คลายพิจารณา

    เรื่องของ เล็บ ของ ฟัน ก็ทำนองเดียวกัน เมื่ออยู่ในปาก ก็ต้องอาศัยการแปรงฟัน การแต่งให้มันหายจากความสกปรก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีกลิ่นอยู่ เมื่อดึงออกมาจากเหงือกจากปากของเราแล้ว ทิ้งลงไปในภาชนะอาหาร คนที่กินอยู่ด้วยกันนั้น บางที่อาจทะเลาะฆ่าตีกันเพราะไม่ชอบ แต่มันอยู่ในปากทำไมไปชอบไปติด มันไม่ได้พินิจพิจารณาตามความเป็นจริงของมัน สิ่งเหล่านี้ทุกสิ่งที่มีอยู่ในกายของเรา เราถือว่ามันสวยมันงามนั้นเพราะจิตใจของพวกเราท่านติดสมมติ เคยฝังสันดานกันมานมนาน บิดามารดา ปู่ย่า ตาทวดก็เคยชมเชยสรรเสริญ ว่ามันงามอย่างนั้น มันสวยอย่านี้ ความจริงก็ไม่เคยได้พินิจพิจารณาตามความจริงของมัน

    หนัง ที่มันหุ้มห่อตัวของเราก็เหมือนกัน ถลกออกไปทั้งตัวแล้ว เอาไปปูนั่งปูนอนซิ มันจะมีใครสามารถนั่งนอนล่ะ หนังมนุษย์ เอาไปผัดไปทอดล่ะ ใครชอบที่จะกินกันบ้าง มันไม่มีอะไรที่จะสวยงามให้ เนื้ออยู่ในกาย ถ้าหากเอาหนังออกไป ก็ไล่แมลงวันไม่ทัน มันจะมาขี้ มาเกาะ มากิน เพราะเหลือแต่เนื้ออยู่ในตัว มันเป็นแบบนั้น แล้วเป็นอย่างไรกันล่ะ แค่เป็นแผลเท่านั้นก็ยังรังเกียจ แล้วไม่มีหนังทั้งตัวจะเป็นอย่างไร มันสวยที่ไหน ทำไมไม่พิจารณา

    ถ้าหากพิจารณาเข้าไปลึกกว่านั้นถึง ไส้ ถึง พุง ถึง ตับ ถึง ปอด แล้วเอาออกมาดูข้างนอก เราจะชอบไหม คนที่ตับออกมาข้างนอก ปอดออกมาข้างนอก เห็นเข้าเราจะคิดอย่างไร ว่า เอ๊ะ ปอดคนนี้มันสวย ตับคนนี้มันงาม จะคิดไปไหม นี่คือ...การพิจารณาเพื่อแก้ไข ขับไล่ ความย้อมติดคิดปรุงว่ามันสวยมันงาม อย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่มีอะไรสวยงามในกายของเรา ไม่ว่าไหลออกมาจากที่ใด ขุมใด บ่อใด ทวารใด เป็นแต่ขี้ทั้งนั้น เป็นแต่ของเน่าของเหม็นของปฏิกูล สิ่งที่มาเกาะเกี่ยวพัวพัน เช่น เสื้อผ้าที่เรานั่งห่มจึงมีการซักฟอกกันอยู่เรื่อย เพราะมันของเน่าของเหม็นของปฏิกูลออกมา

    หรืออยากจะดูง่าย ๆ อาหารที่เราถือว่ามันเอร็ดอร่อย ทำมาด้วยความสะอาด ปรุงมาด้วยดีอยู่ในถ้วยในจาน ข้าวก็เป็นข้าวที่สะอาด ที่ดี หุงมาแล้ว เพียงเอาเข้าไปในปากเคี้ยวเข้าถูกน้ำลายของเราเท่านั้น คายออกมาเป็นอย่างไร มันปฏิกูลขนาดไหน ใครเล่านอกจากบ้า มันจะไปกินอีกได้ มันปฏิกูล อยู่ขนาดนี้ เพียงเข้าปาก ถ้ามันลงถึงท้องถึงกระเพาะ มันจะเป็นอย่างไร มันจะปฏิกูลกันไปใหญ่ นี่...เรื่องของมนุษย์ มันเป็นปฏิกูลอยู่อย่างนี้ ไม่ได้ตำหนิแล้วเราเป็นอย่างไร สรุปที่เรารักใคร่ เราเต็มใจ เราปรารถนานั้น มันก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ารูปนั้นมันจะวิเศษวิโส เป็นเพชรเป็นพลอยมาจากที่ไหน มันทำนองเดียวกันกับเราที่เห็นของของเราอยู่ นี่คือ...การขับไล่ความสงสัย ขับไล่ความกำหนัดยินดี จะต้องคลี่คลายพินิจพิจารณา เพื่อแก้ไขใจที่ข้องติดต่าง ๆ ให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน

    ถ้าจะพิจารณาลงไปสู่ธาตุจริงจัง ก็ทำนองเดียวกัน ไม่ว่าใครทั้งหมดก็ธาตุ 4 เหมือนกัน ธาตุ 4 นี้ เรายืมเขาอยู่ ไม่วันใดก็วันหนึ่งเขาจะคืนไปสู่ที่เดิมของเขา เราไม่มีสิทธิที่จะอยู่ต่อไปได้ ทุกคนจะเป็นอย่างนั้น เมื่อมันไปอย่างนั้น จิตออกจากกายไปแล้ว กายนี้ยังมีอยู่ มหาภูตรูปยังคงที่อยู่ แต่ไม่มีจิตเท่านั้น มันเป็นอย่างไรกันเล่า มันคงกำหนัดยินดีในกันและกันไหม จะเอาไปนอนเทินกันไว้มากเท่าไร คนที่เคยเป็นบ้าในเรื่องขอกาม เอาไปเทินกันขนาดไหน มันก็ไม่มีอะไรที่มันจะเพลิดเพลิน เรื่องของธาตุจริงจังมันเป็นอย่างนั้น

    แต่จิตใจของพวกเราท่านมันหลงมันติด เมื่อตั้งใจเข้ามา ก็อาศัยในธาตุ 4 นี้ จึงสำคัญว่าหญิงว่าชาย ว่าน่ากำหนัดยินดีอย่างนี้ ความจริงรูปกายไม่มีความหมายอะไร ถ้าหากเป็นแต่รูปกายจริงจังมันเป็นอย่างนั้น นี่คือ...การพิจารณาเพื่อแก้ไขจิตใจของตัวที่ชั่วเสีย คิดปรุงต่าง ๆ ให้ตกออกไป ราคะตัณหาในใจ ถ้าหากเห็นตามที่เป็นจริงอย่างนั้นว่า รูปร่างกลางตัวของเรานี้ ไม่มีอะไรที่จะสวยสดงดงามน่าดูน่าอยากได้ เมื่อไม่น่าดูน่าอยากได้อย่างนั้น จิตใจมันก็ไม่กำหนัด มันก็เบื่อหน่าย ความหลงใหลใฝ่ฝันบ้าบอของใจที่เข้าไปติดข้อง พอมันเห็นชัดเจนตามเป็นจริงของมัน มันปล่อยได้วางได้

    ความโลภที่อยากได้ส่วนอื่นเรื่องอื่นก็ทำนองเดียวกัน ถ้าหากเราพิจารณาในธรรมะ ก็มีการละการถอนการปล่อยการวางได้ ธรรมะจึงเป็นเรื่องสำคัญ เหมือนกันกับยาแก้โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ คนที่เป็นโรคจำเป็นที่จะต้องหายามารับประทานมารักษา ไม่อย่างนั้น โรคบางอย่างก็ไม่มีวันเวลาที่จะหายจากตัวของเราไปได้ ยิ่งเป็นโรคภายใน คือโรคของใจ โรคกิเลสตัณหานี้ จำเป็นอย่างจริงจังที่พวกเราท่านจะต้องแสวงหาธรรมะมารักษา คนที่รักษาหายไปแล้วนับหมื่นนับแสน ก็ด้วยอำนาจยาคือธรรมะของพระพุทธเจ้า ท่านเหล่านั้นตั้งใจรักษาไม่ประมาท นำยาคือธรรมะมาแก้ไขจิตใจของตัวที่ชั่วเสียต่าง ๆ ให้หายออกไป ให้คลายกำหนัด ให้หมดมานะทิฐิ หมดโลภ หมดโกรธ หมดหลงจากตัวของตัวไปได้

    พวกท่านก็เป็นโรคชนิดเดียวกันกับพระอริยเจ้าที่เคยเป็นมา ถ้าหากเราประมาท เมินเฉยว่า ธรรมะสมัยนี้ไม่เป็นของดิบของดี ไม่เป็นหยูกเป็นยาที่จะแก้ไขกิเลสตัณหา เราจะไปหาเรื่องอันอื่นมาแก้ไข อย่าไปคิดเลยว่าจะพบจะเห็นยาวิเศษขนานอื่นที่ยิ่งกว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ จะต้องนำธรรมะเท่านั้นมาแก้ไข

    ถ้าเราพิจารณาได้ เชื่อถือธรรมะของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นยาสำหรับขับไล่กิเลสตัณหาในหัวใจ นำธรรมะมากำหนดพินิจพิจารณามารักษาใจของเรา ตามกาลตามเวลาตามเรื่องที่กิเลสตัณหาเกิดขึ้น เช่น ความรักเกิดขึ้น ความกำหนัดยินดีเกิดขึ้น เราอย่าไปเล่นเรื่องเมตตากรุณา ถ้าหากไปเล่นเรื่องเมตตากรุณา แทนที่กิเลสตัณหาอยู่ในจิตในใจจะตกไป มันไม่เป็นอย่างนั้น มันยิ่งกลับกำเริบขึ้น เพราะเมตตา คือความรักใคร่เอ็นดูในรูปนั้น ๆ โดยปกติ จิตใจของเราที่ยังไม่ได้คิดปรุงอย่างนั้นมันก็ติดก็ข้องอยู่แล้ว ยิ่งไปคิดเอารูปที่มันกำหนัดยินดีที่มันไปชอบใจ มาใคร่ครวญพิจารณาในความสวยความงามของมันเท่าไร จิตใจก็จะต้องเกิดกำเริบขึ้นเท่านั้น ผลที่สุดก็จะเป็นพิษเป็นภัยใหญ่โต จนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ คนที่มันกำเริบจริงจังมันเป็นอย่างนั้น เหมือนกันกับไฟ ต้น ๆ มันก็เกิดขึ้นนิด ๆ หน่อย ๆ ถ้าหากมันเกิดขึ้นเต็มที่แล้วไม่ว่าลำเป็นลำตาย ไม้ในป่ามันเผาไปได้หมด

    นี่..กิเลสตัณหา มานะ ทิฐิ ความชั่วเสียของคนก็ทำนองเดียวกัน ถ้าหากไม่ระวัง รักษาเอาไว้ มันเกิดขึ้นจากใจนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ปล่อยประมาทให้มันเกิดขึ้นมาก มันก็เผาไปไหม้ไป หาความสงบเย็นใจไม่มี

    ท่านจึงให้นำธรรมะมาแก้ไข เหมือนน้ำดับไฟ เมื่อมีน้ำมากเท่าไร ไฟมันก็ดับไป มันสู้น้ำไม่ได้ ธรรมะก็ทำนองเดียวกัน เมื่อมีมากเท่าไรจิตใจที่มีโลภโกรธหลงมันก็หมดไปจึงแก้ไขด้วยธรรมะ คือ อสุภ อสุภํ อนิจจํ อนัตตาต่าง ๆ ที่จะนำมาล้างมาแก้ไข อย่าไปใช้เมตตา เมื่อเวลาที่จิตมีความกำหนัดยินดี เมื่อเวลาจิตยังติดข้องในรูปจะต้องหาธรรมะซึ่งตรงกันข้ามมาแก้ไข ไม่อย่างนั้นนำยาที่ไม่ถูกกับโรคมารักษามันก็ไม่หายให้ ต้องนำยาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโรคมารักษามันถึงจะหายได้ นี่...การพิจารณาธรรมะก็อาศัยสติปัญญาของพวกเราท่านที่จะมาขับไล่แก้ไขจิตใจ ไม่ใช่ว่ามันเกิดอันนี้ขึ้นอย่างนี้ เราจะพิจารณาอยู่อย่างนี้ ซึ่งเป็นของที่แก้ไขกันไม่ได้

    ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติมีปัญญาในตัว ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ทันกับเรื่องของกิเลสตัณหา เรื่องไม่ทันกับกิเลสตัณหานั้นเราเคยไม่ทันมาแล้ว เคยโง่มาแล้ว เคยสอบตกมาแล้ว มันจึงเกิดจึงตายกันอยู่เรื่อยมาจนตลอดกระทั่งปัจจุบันนี้ กิเลสตัณหายังออกหน้าออกตาอยู่สม่ำเสมอไป เดี๋ยวใจคิดอย่างนั้น เดี๋ยวใจปรุงอย่างนี้ แล้วหลงใหลใฝ่ฝัน วันนั้นจิตเป็นอย่างนั้น วันนี้จิตเป็นอย่างนี้ วุ่นวี่วุ่นวายหาความปล่อยวางเด็ดขาดไม่มีในตัวของตัว นี่คือ..เรื่องไม่ทันกันกับกิเลสตัณหา เรื่องปัญญาไม่พอต่อกิเลส

    ถ้าหากอบรมพินิจพิจารณาธรรม ศึกษาปฏิบัติจริงจัง จิตใจของพวกเราท่านที่เคยโง่ ไม่ทันกับเรื่องอารมณ์สัญญานั้น อย่าไปคิดว่ามันจะไม่ทันสักที ถ้าหากมันละเอียดเข้าไป มันถึงเรื่องบทที่จะทัน มันต้องทัน มันเป็นอัตโนมัติของมันโดยไม่ได้ตั้งเอาไว้ สติจะต้องมีอยู่ตลอดเวลาเป็นมหาสติ อะไรเกิดขึ้นปรุงขึ้นจากใจ เรื่องของสังขารจะเข้าใจ ปัญญาจะไตร่ตรองคิดอ่านเรื่องนั้น ๆ ผลักดันออกไป ถ้าหากมีความหมายของใจ ปกติเรื่องของสังขาร ถ้าไม่มีความหมายของใจ มันไม่ใช่เรื่อกองกิเลส พระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าผู้หมดกิเลสท่านก็ยังมีสังขารอยู่ ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ เรียกว่า ขันธ์ ขันธ์อันนี้ถ้าหากจิตไม่เป็นกิเลส มันก็ไม่เป็นกิเลสอะไรให้ ถ้าจิตเป็นกิเลสมันก็เป็นกิเลส เมื่อเราฝึกหัดทำในจิตในใจ ถึงขั้นอัตโนมัติ มันจะทราบเรื่อเหล่านี้โดยไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์เอาไว้ อะไรเกิดขึ้นมันทราบ แล้วมันก็ดับไปตามหน้าที่ของมัน ความจริงมันดับอยู่อย่างนั้น แต่สัญญาความมั่นหมายของใจมันไปหมายเอาว่า อันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้

    สัญญา นี้เป็นเรื่องสำคัญ ทำจิตใจของพวกเราท่านให้บ้าให้บอ ให้ดีใจเสียใจไปได้เพราะความหมายของใจ ผ่านไปไม่ทราบว่ากี่เดือนกี่ปี แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ดีที่ชอบพอนำมาคิดมาปรุง มันยังเกิดความดีใจเสียใจขึ้นได้อีก สิ่งที่ชั่วที่เสียก็ทำนองเดียวกัน ทั้งที่ผ่านไปไม่มีอะไรเหลือหลอ แต่มันไปคิดไปปรุง ไปจับ ไปติด ไปข้องในของที่มันเคยไม่ดีไม่พอใจมา มันก็โกรธขึ้นได้ มันเป็นอย่างนั้น เรื่องจิตใจพวกเราท่าน

    เหตุนั้น เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องศึกษา ถ้าหากจิตของเรามีปัญญามีสมาธิแล้ว ไม่ต้องไปศึกษาที่อื่น ศึกษาในเรื่องของธาตุของขันธ์นี่แหละ ถ้าทราบเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ตามเป็นจริงของมัน ผู้มารู้เรื่องธาตุเรื่องขันธ์คืออะไร และสิ่งเหล่านี้มันเป็นอะไรกับธาตุกับขันธ์ มันมาอาศัยกัน หรือมันอยู่เอกเทศ ตอนที่ธาตุขันธ์ยังอยู่ที่เราไม่ได้พินิจพิจารณา เห็นความรู้ที่เหนือชาติเหนือขันธ์จิตใจของเรามันผสมกันอย่างไร

    เมื่อเราประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยตั้งใจรักษา ภาวนาจริงจัง ความรู้ธาตุรู้ขันธ์อันนี้ตามความเป็นจริงของมันนั้น มันเป็นอย่างไรอีก สิ่งที่เหนือชาติเหนือขันธ์อย่างนี้ มีใครผู้ไม่ประพฤติปฏิบัติจะเห็นกัน เมื่อเห็นแล้ว ความสงสัยเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ กับความสงสัยเรื่องผู้มารู้มาเห็น ผู้บริสุทธิ์ มันไม่มีอะไรที่จะสงสัยในใจอีก จะมีอะไรที่จะปฏิบัติแก้ไขอีก ความจริงมันหลงธาตุหลงขันธ์นี่แหละเป็นเรื่องสำคัญ หลงเราก็หลงเขาเท่านั้น ถ้ามาทราบเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ของตัวตามความเป็นจริง ธาตุขันธ์ของคนอื่นเป็นหมื่นเป็นแสนหรือทั่วโลกธาตุ มันก็ทำนองเดียวกัน ไม่มีอะไรที่ธาตุขันธ์เหล่านั้นจะมายั่วยุให้จิตใจหลงใหลใฝ่ฝันเพราะเข้าใจในธาตุขันธ์ของตัว

    นี่คือ...การศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า เพราะรู้เห็นเป็นจริงอย่างนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะสงสัย ไม่มีอะไรที่จะไต่ถามคนอื่น เพราะทราบดี ถ้าทราบแล้วก็จะตอบคำเดียวกัน เพราะท่านเหล่านั้นได้รู้เห็นตามเป็นจริง ถ้าไม่รู้เห็นตามจริงแล้วก็เหมือนถามคนใบ้ ไม่มีอะไรที่จะตอบให้ เพราะเขาไม่เห็นไม่เป็นในใจ ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ แต่เราไม่ฟื้นฟูสิ่งเหล่านั้น ไม่ปรับปรุงสิ่งเหล่านั้น ไม่ทำสิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ให้ คนที่มีที่ดินที่สวนอยู่ แต่ไม่ได้ปลูกฝังอะไร สวนมันมีอยู่ ดินมันมีอยู่ แต่มันก็ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อะไรให้ ถ้าหากเขาทำลงไป พืชผลในสวนก็จะตอบสนองให้ คือให้ได้รับความสุขความสบาย มีอยาก มีกิน มีใช้ มีสอยต่อไป นี่...ธาตุขันธ์ของพวกเราท่านก็ทำนองเดียวกัน มันมีอยู่

    พระพุทธเจ้าก็เอาธาตุขันธ์อันนี้ประพฤติปฏิบัติ อริยสัจทั้ง 4 ก็อยู่ในธาตุในขันธ์ทุกข์มันมีอยู่ที่ไหน อยู่ในดินฟ้าอากาศที่อื่นไหม สมุทัยความอยากของใจ ความก่อทุกข์ก่อภัยให้แก่ตัวของตัวมันอยู่ที่ไหนล่ะ อยู่ในตำรับตำรา หรืออยู่ในกายในใจของเรา ต้องดูเข้ามาภายใน พิจารณาเข้ามาภายใน เมื่อปฏิบัติรูป รู้ตามเป็นจริง เห็นสมุทัยที่อยู่ในใจได้ ละถอนไปแล้วความดับทุกข์มันเป็นอย่างไร จะไปสงสัยที่ไหน มันเกิดกับใจของตัวมันเป็นอยู่ในตัวของตัว นี่คือ...การปฏิบัติศาสนา

    มรรค ข้อดำเนิน ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นคือ มรรคทางดำเนิน ข้อปฏิบัติมันมีอยู่ที่ไหนล่ะ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ ความเห็นชอบ ดำริขอบ มันก็เกิดขึ้นจากใจ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นี่...ก็คือเป็นเรื่องของศีล คือเรื่องของกาย วาจา ไม่ได้มีอยู่ที่อื่น กายวาจาก็มีอยู่ในตัวของเราทั้งนั้น สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็คือเรื่องของใจ ทำนองเดียวกัน ใครเล่าไปพากเพียร ถ้าไม่ใช่ใจเป็นผู้พากเพียร มาพินิจพิจารณา มันอยู่ที่ไหน อยู่ในตำรับตำราหรืออยู่ในจิตในใจของเรา สมาธิความตั้งมั่นก็เหมือนกัน

    การพูดถึงธาตุ ถึงขันธ์ ถึงกาย ถึงจิตมันจึงทั่วไปหมด ในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เรากำหนดลงไปนี่ พิจารณาลงไปนี่ สิ่งใดไม่ดีที่ยั่วยวนยั่วเย้าจิตใจของเราให้ปรุงคิดผิดข้อง เกิดความทุกข์ เกิดโทษต่าง ๆ เกิดความโลภ ความหลงเราก็พยายามดูให้เห็นแล้วก็ขับไล่ แก้ไขไปด้วยปัญญาของเรา ส่วนใดที่ทำให้จิตของเราสงบระงับ รู้แจ้งเข้าใจจริง เราก็กำหนดสิ่งนั้นเอาไว้ รักษาเอาไว้จนเมื่อมันเพียงพอในตัวของมันเมื่อใดไม่ต้องปรารถนา

    เรื่องความสุขของใจ ความหมดจดของใจ วิมุติของใจนั่น มันเป็นผลเกิดขึ้นเอง เหมือนกันกับเราปลูกต้นไม้ เมื่อมันตกดอกออกผลแล้ว เช่น กล้วย หรือมะม่วง ขนุนก็ดี ไม่ต้องไปหาน้ำอ้อยน้ำตาลมาจากที่อื่น ถ้ามันสุกแล้วความหวานมันเกิดขึ้นเอง ถ้ามันยังดิบอยู่ยังอ่อนอยู่ จะไปหาความหวานของมัน จะไปหาที่ไหน หาไม่เจอให้ ดอกผลของมันก็เหมือนกัน ถ้าต้นของมันยังไม่แก่พอแล้ว จะไปตัดไปฟันไปโค่น ไปยืนหา ดอกมันอยู่ที่ไหน ผลมันอยู่ที่ไหน ไปหาเท่าไรมันก็ไม่เจอให้ เมื่อมันแก่มา ถึงกาลเวลามันออกดอกออกผล มันออกเอง

    นี่...การประพฤติปฏิบัติ กำหนดอรรถธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนก็ทำนองเดียวกัน กำหนดลงไป พิจารณาลงไป อย่าไปคาดหมายใฝ่ฝันว่า มรรคผลเมื่อไรจะเกิดขึ้น เมื่อเราทำไปเรื่อย ๆ ถึงกาลถึงสมัย ถึงเวลาของมันจะเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้นของมันเอง โดยที่เราไม่ได้คาดฝันว่ามันจะเป็นไปอย่างนั้น นี่คือ..เรื่องของวิมุตติ มันเกิดขึ้นเอง ไม่เหมือนเรื่องของมรรค

    เรื่องของมรรค จะต้องอุตสาหพยายามทำเอา ศีลยังไม่รีบรักษา สมาธิยังไม่รีบกำหนดพิจารณา รีบทำให้เกิดให้มีขึ้น ปัญญายังไม่มีก็พยายามพินิจพิจารณา พยายามศึกษา พยายามค้นคิดพิจารณามันค่อยเกิดค่อยเป็นขึ้นไป ศีล สมาธิ ปัญญา คือมรรค ไม่ใช่ตัวผล ตัวผลนั้นมันเกิดขึ้นเอง การกระทำบำเพ็ญจึงไม่ควรไปคาดหมายใฝ่ฝันหาผล ว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้ นั่นมันเป็นหน้าที่ของมันจะเกิดเอง ไม่ต้องไปตบแต่ง ไม่ต้องไปปรุงคิด ให้กำหนดลงไป พิจารณาลงไป ไม่ให้ใจส่ายแส่ออกไปข้างนอก

    เหมือนกันกับเรารับประทานอาหาร ถ้ารับประทานลงไป ๆ ความอิ่มไม่ต้องปรารถนา มันอิ่มมันบอกขึ้นมาเอง ถึงแม้จะมีอาหารในถ้วยในชามเต็มหม้อเต็มไหอยู่ มันก็กินอีกไม่ได้ มันอิ่มนี่...ก็ทำนองเดียวกัน การพินิจพิจารณาจิตใจ ขับไล่กิเลสตัณหาเมื่อมันหมดออกไป บริสุทธิ์อย่างไร มันทราบในจิตในใจของเรา เพราะธรรมะเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ธรรมะเป็น ปจฺจตฺตํ ธรรมะเป็น อกาลิโก มันเกิดขึ้น เป็นขึ้น ไม่มีกาลมีสมัย ถ้าหากถึงคราว ถึงเวลาของมัน ใจที่บริสุทธิ์นั้นก็ทำนองเดียวกัน เป็นอกาลิโก ไม่มีสมัยใดจะสงสัยว่าจะทำอย่างไรอีกต่อไป เมื่อถึงความบริสุทธิ์แล้วมันสุข มันดีมันวิเศษอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ขอพวกเราท่านที่มุ่งหน้าตั้งตามาประพฤติปฏิบัติกระทำบำเพ็ญให้เกิดให้เป็นให้เห็นให้รู้ อย่าไปตำหนิใส่โทษตัวเองว่าอาภัพอับวาสนา ทำมานานแล้วไม่เห็นอะไรเกิดขึ้น ขอให้ทำไปเถอะ มันจะเกิด จะเห็น จะเป็นทั้งนั้น เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของกลางไม่ใช่เป็นสิทธิ์ของใคร ใครทำคนนั้นมีสิทธิ์ที่จะประพฤติปฏิบัติ ที่จะได้ จะเห็น จะเป็น จะรู้ ถ้าหากไม่ทำเพียงแต่ปรารถนา อย่าหวัง จะมีวาสนามากมายขนาดไหน ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีวันมีเวลาที่จะบรรลุธรรมะขึ้นสูงสุดได้ จงมั่นใจว่า เรามีวาสนา ไม่อาภัพ ทุกคนเกิดมาจะเป็นหญิงก็เป็นหญิงสมบูรณ์ เป็นชายก็เป็นชายสมบูรณ์ ไม่ใช่อาภัพสัตว์ ที่จะห้ามการตรัสรู้

    ขอให้ทุกคนจงตั้งหน้าพินิจพิจารณาประพฤติปฏิบัติ ก็จะประสบความสุข ความเจริญ เห็นธรรมะที่พระพุทธเจ้ารู้เห็นอย่างเด่นชัดในจิตในใจของตัว จะไม่มีการสงสัย

    การอธิบายธรรมะ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงเท่านี้ เอวํ


    คัดลอกจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-singhthong/lp-singhthong_10.htm
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    สติปัฏฐานสี่
    พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
    เทศน์เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๒
    สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้จักการฟังธรรมะการสดับรับฟังที่จะก่อให้เกิดความสงบ ให้เกิดอานิสงส์นั้น ถ้าไม่เคยฟัง หรือเคยมีใครบอกสอนตักเตือนเราก็ไม่ทราบว่ามันจะเกิดผลเกิดประโยชน์ได้อย่าง ไรและการฟังนั้นจะฟังแบบไหน จึงจะเกิดอานิสงส์ให้

    ทางศาสนา ทางธรรมะป่า ทางกรรมฐาน ท่านเทศน์ท่านสอนแนะกัน ในการฟังว่าคือ การนั่งภาวนาไปในตัว กำหนดจิตให้อยู่เฉพาะหน้า ไม่ให้ส่งไปในอดีต อนาคตที่เคยผ่านมา การงานอะไรที่เราเคยทำค้างไว้ก็ไม่ต้องไปเกี่ยวยุ่ง เพราะระยะที่เรานั่งฟังธรรมนั้นไม่มีธุระหน้าที่ กายก็ไม่ได้ไปทำงาน วาจาก็ไม่ได้พูด จิตก็ห้ามไม่ให้คิดไปในอดีตอนาคต จะกำหนด พุทโธ พุทโธ อยู่ภายในทำให้จิตให้ใจสัมผัสกับบทบริกรรมของตนก็ได้ จะกำหนดลมหายใจเข้าออกของตัวก็ถูก แล้วแต่อัธยาศัยของใครชอบอะไร แล้วดึงใจของตัวที่คิดปรุงนั้นถอยกลับคืนมาจากที่ปรุงที่แต่งของมัน คือถอยเข้ามาภายใน เข้ามาหาดวงใจของตัว เมื่อเราตั้งใจไว้อย่างนั้น ท่านแสดงธรรมะอะไร ธรรมะที่ท่านแสดงออกไปนั้น ก็จะไปสัมผัสกับจิตของเราที่ตั้งเอาไว้ โดยไม่ต้องส่งใจไปคิดว่าท่านจะเทศน์อะไร จะสอนอะไร นั่น...เป็นหน้าที่ของท่าน หน้าที่ของเราให้ตั้งจิตไว้เฉพาะหน้า

    เมื่อธรรมะไปสัมผัส ก็เหมือนกันกับเด็กที่ถูกพี่เลี้ยงหรือแม่กล่อม ผลที่สุดก็หลับได้ นี่.. จิตที่เคยส่ายแส่ไปตามกระแสอารมณ์สัญญาต่าง ๆ เมื่อเราตั้งเอาไว้เฉพาะหน้า ธรรมะที่ท่านแสดงไปนั้นก็จะไปสัมผัส สัมผัสเข้า สัมผัสเข้า ใจของเราก็ค่อยผ่องใส ใจของเราก็คอยสงบค่อยเย็นลงไป นี่คือ...เห็นอานิสงส์จากการทำของตนไม่อย่างนั้นพอท่านเทศน์ออกไป เราก็มีความคิดความนึกอย่างนั้น อย่างนี้ ปรุงไป คิดไป ตำหนิท่านว่าเท่านี้ไม่ถูกจริตนิสัย ตำหนิอย่างนั้น ตำหนิอย่างนี้เรื่อยไป ใจแบบนั้นไม่มีวันสงบระงับ เราจึงต้องรักษาโดยให้ถือว่า เป็นการภาวนาในตัว

    การอบรมธรรมะ การแนะสอนธรรมะคือการฝึกอบรมจิตใจที่ฟุ้งปรุงออกไปให้สงบระงับด้วยการระวัง รักษาสังวรจิตของตัว ตาที่ไม่ได้เห็นรูปที่ยั่วยวนจิตใจ หูก็ไม่ได้ไปฟังเสียงที่ยั่วยวนกิเลส มีแต่จิตมันจะคิดจะปรุงไปเรื่องข้างนอก เราจึงระวังรักษาเอาไว้ในขณะที่ฟัง ธรรมนั้นมันมีอยู่ในทุกท่านทุกคนไป แต่คนที่ไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรมก็เพราะเหตุว่าคนนั้นไม่สนใจ หรือไม่ฉลาดนำธรรมะมาปรับปรุงกายใจของตัว กายใจจึงชั่ว กายใจจึงเสีย ตัวเองก็เกิดทุกข์เกิดโทษ คนอื่นเขาก็เหม็น ก็เบื่อ นี่คือ คนที่ไม่สังวรระวังกาย วาจา ใจของตัว ไม่มีธรรมะเข้าช่วยเหลือ ไม่มีธรรมะรักษา กายใจจึงเป็นบ้าเป็นบอไปอย่างนั้น

    ถ้าหากเรานำธรรมะมาพินิจพิจารณา มารักษา สิ่งใดที่ชั่ว ที่เสีย ที่เดือดร้อนวุ่นวาย ตนเองก็ทราบว่าจิตคิดไปแบบนี้เป็นจิตที่ไม่มีความสุขความสบาย เป็นจิตอิจฉาเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่นเป็นจิตที่เพลิดเพลินไปในกามารมณ์ไปในทางโลกไม่ใช่จิตที่คิดเพื่อ แก้ไขกิเลสตัณหาของใจ คิดไปเท่าไรก็ยิ่งเดือดร้อน คิดไปเท่าไรก็ยิ่งวุ่นวาย ให้เราทราบอารมณ์ของใจของตัว ถ้าไม่ทราบเรื่องอารมณ์ของใจ ปล่อยให้มันคิดเรื่องไป มันก็ทำความเดือดร้อนวุ่นวาย ก่อกวนตัวเองเรื่อย ไปเพราะส่วนใหญ่ไฟมันเกิดขึ้นจากก้านไม้ขีดก้านเดียวเท่านั้น แต่เราไม่รีบระงับดับเอาไว้ มันก็ไหม้ก็เผาสิ่งที่มีคุณค่าของเราเสียหายป่นปี้ไปหมด เช่นไหม้บ้าน ไหม้ช่องต่าง ๆ นี่คือ...เจ้าของประมาท ไม่ดู ไม่รักษา มันจึงไหม้จึงเผาบ้านช่องข้าวของเสียหายไปได้

    กิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นกับใจก็ทำนองเดียวกัน เราประมาทไม่ระวังรักษา เห็นว่านิด ๆ หน่อย ๆ ไม่เป็นไร ความจริง ของนิดหน่อย เป็นของใหญ่ ไม่ใช่ของมันใหญ่มาแต่เดิม มัน นิดหน่อย เสียก่อน เช่นคนก็เป็นเด็กมาเสียก่อนจึงเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วจะกลายไปเป็นเด็ก มันเป็นเด็กมาก่อน
    ของน้อยเมื่อเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ บำรุงอยู่เรื่อย ๆ มันก็มากขึ้น

    นี่...เรื่องความชั่วความเสียที่เราทุกคนได้รับทุกข์โทษมันก็เหมือนกัน เกิดขึ้นจากสิ่งนิดหน่อยเสียก่อน เช่น ฝุ่นละอองที่เข้าตาของเรา มันก็นิด ๆ หน่อย ๆ แต่ก็ทำให้ตาเสีย ตาบอดตามัวไปได้ ขอนไม้ตอไม้ ไม้ซุงทั้งท่อน ไม่เคยเข้าตาของคน สิ่งที่ทำให้เราเท้าแตก หัวแม่ตีนแตก ก็สะดุดของเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้นไม้ใหญ่ ๆ โต ๆ เราไม่โดน เพราะเราเห็น ฉะนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาทเรื่องความชั่วความเสียนิดหน่อย ว่าจะไม่ให้โทษให้ทุกข์แก่ตัว รีบระงับดับเอาไว้ เมื่อทราบในวาระจิตที่คิดปรุงไปในทางชั่วทางเสีย นี่คือการระวังรักษาจิตของตัว ระวังอยู่ทุกระยะทุกเวลา สิ่งใดที่มันจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนวุ่นวาย แผดเผาตัวของตัว ให้ละในสิ่งนั้น อย่าไปคิดจะทำ จะพูด

    การรักษาใจ รักษายากยิ่งกว่าสิ่งทั่วไปในโลก เพราะใจเป็นนามธรรม เป็นของละเอียด แต่เมื่อรักษาได้ ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐวิเศษเท่ากับเรื่องของใจ ไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่าสูงเหมือนการรักษาใจให้ปลอดภัยไปจากกิเลสตัณหา แม้การรักษาใจจะยากยิ่งแต่ก็ไม่เหลือวิสัย สำหรับผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติจะต้องเห็น ต้องเป็น ต้องรู้ เพราะเราเอาใจใส่ ตั้งใจปฏิบัติจริงจังทางธรรมะ หลักของธรรมะที่ท่านกล่าวเอาไว้ เป็นการให้ศึกษา ท่านว่าอิทธิบาทคือสิ่งที่จะทำบุคคลนั้น ๆ ให้สำเร็จผลตามที่ตนปรารถนา อิทธิบาทก็อยู่ในองค์ของโพชฌงค์ องค์ของโพธิปักขิยธรรม คือธรรมที่จะออกจากโลก คนใดที่เจริญอิทธิบาท สิ่งที่ตัวใฝ่ฝันนั้นจะได้ตามปรารถนา

    อิทธิบาท นั้น ท่านพูดย่อ ๆ เป็นศัพท์บาลีไว้ว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

    ฉันทะ คือ ให้พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ถ้าชาวโลกเขาพอใจรักใคร่ในสิ่งใด เขาก็ไฝฝัน ไม่เบื่อหน่าย ยินดีที่จะทำ ที่จะพูด ที่จะคิดสิ่งนั้น เพราะความพอใจ ความพอใจจึงเป็นแรงสำคัญเป็นสิ่งที่เชื่อมั่นในจิตในใจ เพราะเราพอใจ เราย่อมทำได้ ไม่เบื่อหน่าย เรียกว่า ฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ เช่น พอใจรักใคร่ในการกำหนดลมหายใจ ไม่เบื่อหน่ายในการกำหนด อารมณ์สัญญาอะไรเกิดขึ้น ผ่านมาก็ไม่เกี่ยวข้อง หรือ มีความพอใจรักใคร่ในการบริกรรมพุทโธ พุทโธ อารมณ์อื่นหมื่นแสนเกิดขึ้นก็ไม่ติดตามเกี่ยวข้อง คนเช่นนั้นย่อมมีจิตสงบระงับได้ เพราะพอใจในกรรมฐานของตัว พอใจในคาบริกรรมของตัว ถ้าหากไม่พอใจทำอะไรก็ไม่พอใจ ทิ้งขว้างเรื่อยไป คนนั้นทำอะไรก็ไม่สำเร็จให้ ฉะนั้น ฉันทะ ความพอใจรักใคร่จึงเป็นตัวจักรใหญ่สำคัญ ตัวเบื้องต้น
    เมื่อมีฉันทะ ความรักใคร่
    วิริยะ ความพากเพียร มันก็เกิดขึ้น ทำอย่างไรเราถึงจะได้ ทำอย่างไรเราถึงจะสำเร็จ ทำอย่างไรถึงจะเห็น จะเป็น จะรู้ มันจะต้องมีความพยายาม ถึงเหน็ดเหนื่อยเมื่อย หิว ลำบากยากเย็น ก็พยายามไม่ทอดทิ้ง เอาใจใส่ ตั้งใจทำ ตั้งใจปฏิบัตินี่...เรียกว่า วิริยะเมื่อยังมีชีวิตเป็นอยู่ จะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จให้ได้ ลำบากยากเย็นขนาดไหนก็ไม่ท้อถอย ตั้งหน้าจะทำเอาชีวิตเป็นแดน นี่...ผู้ที่มีวิริยะแรงกล้าเป็นอย่างนั้น
    จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ไม่ทอดธุระ ไม่ทอดทิ้งสิ่งที่ตัวทำ ตัวบริกรรม ถ้าทางโลกก็เป็นเรื่องทำทางโลก ถ้าเป็นเรื่องของธรรม ก็เป็นเรื่องการดูรักษาจิตใจของตัว มันเผลอเรอ หรือ มันติดตามอารมณ์อะไร หรือ มันยังคงเส้นคงวาอยู่กับคำบริกรรม หรือการกำหนดของตัว ตรวจตราพิจารณาอยู่เรื่อย ๆ เอาใจฝักใฝ่ดูแลรักษา ไม่วางธุระ ไม่ทอดทิ้ง เรียกว่า จิตตะ
    วิมังสา ตรวจตรา พินิจพิจารณาในสิ่งที่ตัวกระทำอยู่นั้น ว่ามันผิดถูกชั่วดีอย่างไร เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงให้มันถูกต้อง ให้มันดีงาม

    คนที่มีอิทธิบาททั้งสี่ประจำอยู่ในจิต ไม่ว่าจะทำการงานชนิดใด หยาบละเอียด ยากง่ายขนาดไหน คนนั้นจะทำสำเร็จไปได้ ท่านจึงว่า อิทธิบาท คือ มีอิทธิฤทธิ์ สามารถที่จะทำสิ่งที่ตนปรารถนาให้สำเร็จไปได้ตามความต้องการ คนที่ปฏิบัติไม่เห็นไม่เป็น ทำอะไรไม่สำเร็จลุล่วงไป ก็เพราะใจขาดอิทธิบาท ถ้ามีอิทธิบาททั้งสี่อยู่ในจิตในใจคนใดแล้ว ไม่ว่าฝ่ายโลก ไม่ว่าฝ่ายธรรม เขาคนนั้นทำอะไรจะต้องสำเร็จตามความประสงค์ของเขา นี่...เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนพวกนักปฏิบัติ ให้ทำจริงในสิ่งที่ตัวอยากเห็น อยากรู้ ถ้าไม่ทำจริง ผลที่เป็นจริงก็ไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น การทำจริงจึงเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องอาศัยบทธรรมของพระพุทธเจ้าเข้ากำกับเป็นเส้นทางเดิน เป็นเข็มทิศ นำจิตนำใจให้ไปสู่ทิศสู่ทางที่ตนมุ่งหวังได้

    ถ้าหากจะพูดถึงความเดือดร้อนวุ่นวาย พูดถึงความสบายสงบ มันก็ไม่ใช่เรื่องอันอื่น นอกไปจากเรื่องของจิต จิตเป็นตัวการสำคัญ ถ้าจิตชั่วจิตเสีย จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตเกิดราคะตัณหา คือจิตเป็นไปในทางชั่วทางเสีย ทางต่ำแบบนั้น ถึงร่างกายของเราจะอยู่สบาย แต่จิตก็วุ่นวายเดือดร้อน เพราะสิ่งเหล่านั้นท่านเรียกว่ากิเลส

    กิเลสนี้ ผู้ที่มีสติปัญญา ผู้ที่มีธรรมะ ท่านขยะแขยง ท่านกลัวมาก กลัวยิ่งกว่าสิ่งทั่วไป เพราะโรคอันที่เป็นโรคของกายนั้น เรารักษาไม่หายตายมันก็หมดไป ไม่เป็นพิษเป็นภัย รักษาไม่หายมันก็ไปแค่ถึงตายเท่านั้น ไม่เลยนั้นไป แต่เรื่องกิเลสตัณหาซึ่งสิงซ่อนอยู่ในจิตในใจ ถ้าเราไม่ละ ไม่แก้ไข ไม่บำเพ็ญให้เห็น ให้รู้ ให้หลุด ให้พ้นไปแล้ว เราตายไปก็สักแต่ว่ากายตายไป จิตใจที่ยังมีกิเลสตัณหานั้น จะก่อภพก่อชาติใหม่ แล้วจะยุ่งเหยิงวุ่นวาย รบกวนตัวเองอยู่เรื่อยไป ท่านจึงกลัวมากกว่าเรื่องโรคของกาย ผู้ที่เห็นกิเลสตัณหาเป็นสิ่งที่น่ากลัว น่าเบื่อหน่าย ท่านจึงตั้งหน้าตั้งตา ภาวนาหาทางที่จะแก้ไขใจที่ชั่วที่เสียนั้น ๆ ให้หลุดให้ตกออกไป ด้วยอุบายวิธีธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ โดยวิธีไดวิธีหนึ่ง ถ้าหากไม่มีอุบายปัญญารักษาใจของตัวแล้ว คนนั้นถึงจะอยู่เป็นพระเป็นเณร จะบวชมาหลายพรรษา ก็หาสาระทางจิตทางใจไม่ได้ มีจิตใจวุ่นวายเดือดร้อนแส่ส่าย กวัดแกว่งไปตามสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ หาทางสงบเย็นในจิตในใจไม่มี ตัวของตัวก็ตำหนิ ทำไมจิตจึงเป็นอย่างนี้ ซึ่งเราไม่ชอบ ไม่ปรารถนา แต่มันก็เกิด ก็เป็นขึ้นในจิตในใจของเรา เพราะเราไม่รักษา เราไม่ชำระมัน ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาชำระรักษาจิตจริงจังแล้ว ทุกคนไปก็จะมีความสงบ ความเยือกเย็น ความผ่องใส

    การรักษาจิต การพิจารณาธรรมะเพื่อชำระจิต ข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่า เมื่อทุกคนตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติรักษาตามธรรมะที่สอนไว้ คนนั้นจะเป็นคนดิบคนดี มีคติเป็นสอง คือเป็นอนาคามีบุคคล พ้นไปจากกามราคะ ปฏิฆะ คือความใคร่คิดติดข้อง กำหนัดยินดีในเพศตรงข้าม จะไม่มีในวาระจิตของท่าน ความหงุดหงิดในจิตในใจ เป็นไปเพื่อความโกรธก็จะไม่เกิดไม่มีขึ้น หรือหากปัญญาคมกล้า ตัดอวิชชาได้หมด ก็เป็นอรหัตบุคคล สิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวง ถ้าตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติรักษาจริงจัง ท่านรับรองว่าทุกคนไปอย่างช้าไม่เกิน 7 ปี หรืออย่างเร็วก็ไม่เกิน 7 วัน มันจะเป็นขึ้น เห็นขึ้น นี่...คือโอวาทที่ท่านแนะสอนเอาไว้
    ผู้ที่พินิจพิจารณา มีสติกำหนดรักษาจิตใจ ให้อยู่ในสติปัฏฐานทั้งสี่ หมายถึง

    กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณากายของเรา โดยส่วนใหญ่ก็พิจารณากายของตัวเอง เพื่อแก้ไขใจที่ยึดถือ ที่ติดข้อง ที่หลงใหลใฝ่ฝัน อย่างนั้นอย่างนี้ เกิดความยินดี เกิดความมัวเมาในเรื่องของกาย ท่านให้พิจารณากาย สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ สัตว์บุคคล พิจารณาอย่างไรใจจึงจะเห็นเป็นจริงอย่างนั้น ก็พิจารณาตามดูทุกสิ่งทุกส่วน เช่น ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี ฟันก็ดี หนังก็ดี สิ่งเหล่านี้เขาไม่เคยรับรอง เขาไม่เคยบอกกล่าวว่า เป็นหญิง เป็นชาย เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา ของเหล่านี้มันมีมาตามหน้าที่ของมัน และจะแปรปรวนไปตามหน้าที่ของมัน จะแตกสลายไปตามหน้าที่ของมัน ไม่เยื่อไยเชื่อฟังบุคคลใด ถึงจะมีอำนาจราชศักดิ์ใหญ่ขนาดไหน ก็จะเป็นไปอย่างนั้น ไม่มีกลัวอำนาจวาสนาอิทธิพลของใคร ความเป็นไปของสิ่งเหล่านี้มันเป็นไปอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา

    เราจะพิจารณาให้รู้ให้เห็น มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เราไม่ไม่เห็น มันก็เป็นไปอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณากันให้ทั่วถึงในเรื่องของกาย หนังมันก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นหนัง แต่ความสมมติของเราว่าหนัง แล้วเราก็ไปยึดสมมตินั้นว่าเป็นเรา เป็นของของเราไปเสีย แต่มันไม่ได้เคยพูดกับเราว่า ฉันเป็นหนัง ฉันเป็นของคุณนะ คุณด้องรักษาดูแลฉันให้ดีนะ มันไม่เคยพูด เคยว่า เรื่องของหนังเนื้อ เอ็น กระดูก ก็ทำนองเดียวกัน นี่...พิจารณาเพื่อความถอนจิตใจที่ยึดมั่น ว่าเป็นเขาเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราเขา มันเป็นหน้าที่ของมันต่างหาก

    ถ้าหากเป็นตัวของเราจริงจัง เราจะต้องบอกได้ สอนได้ ไม่ให้มันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันก็ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะเราสอนมันได้ มันเป็นของของเรา เราหักห้ามมันได้ นี่...มันไม่เป็นเช่นนั้น หักห้ามมันไม่ได้ ใครรู้เรื่องของมัน มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ใครไม่รู้เรื่องของมัน มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ผู้รู้ถึงฐานของมันจริงจังไม่ได้ไปยึด ไม่ได้ไปถือ เพราะทราบดีว่าสิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้น มันแปรปรวน มันแตกสลายไปเมื่อถึงกาลถึงสมัย แทนที่จะเสียอกเสียใจเพราะเรื่องกายมันแตกมันทำลายไป มันไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่เสียอกเสียใจอะไร เพราะทราบแล้ว เข้าใจแล้ว ความจริงมันเป็นอย่างไร เราเข้าใจชัดเจน

    นี่...เป็นเรื่องการพิจารณากาย เพื่อถอดถอนความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเรา ว่าเขา ว่าสัตว์ ว่าบุคคล ถ้าหากพิจารณาเห็นความเป็นจริงชัดเจนแล้ว ความไปกำหนัดยินดีกับเพศตรงกันข้ามมันจะไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุใด เพราะกายนี้เป็นก้อนของโรค โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นานา มาเกาะ มาอาศัย มีตา ก็มีโรคตา มีหู ก็มีโรคหู มีจมูก ก็มีโรคในจมูก มีอะไรมีแต่โรค แต่ภัยเบียดเบียนทั่วไป ไม่มีสถานที่ไดที่จะไม่เกิดโรค มันเป็นทุกข์มันเป็นโทษ เพราะเรื่องของกายอันนี้ ถ้าหากไม่มีกาย โรคมันก็ไม่มีที่พัก ที่อาศัย เหมือนกันกับไม่มีแผ่นดิน สัตว์ทั่วไปมันก็ไม่มีที่อาศัย แผ่นดินเป็นที่อาศัยของสัตว์ กายก็เป็นที่อาศัยของโรค ทำนองเดียวกับการเกิด ท่านจึงเบื่อจึงหน่าย เพราะเกิดมาแล้ว มันได้รับทุกข์รับโทษด้วยความเจ็บป่วยด้วยความแก่ ความตายต่าง ๆ

    นอกจากนั้น พิจารณาเพื่อแก้ไขใจของตัวที่ไปยึดถือว่า มันสวยอย่างนั้น มันงามอย่างนี้เมื่อเราแยกแยะออกไปตามหน้าที่ของมัน ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี ฟันก็ดี หนังก็ดี เอ็น กระดูก ตับไต ไส้พุง ข้างในก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ถ้าหากเป็นของคนแล้วไม่มีใครปรารถนา ไม่มีใครชอบใจ ไม่มีใครยินดี แด่มันเป็นก้อนรวมกันอยู่ แล้วเอาหนังหุ้มห่อเอาไว้ ขัดถู ประดับประดาด้วยสิ่งต่าง ๆ นานา หลอกตาของคนที่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่ทราบว่าหนังมันห่อหุ้มของสกปรกโสมมอย่างไร เพราะไม่ได้พิจารณาเลยเข้าไปจากหนัง มันจึงเกิดความชอบพอ ยินดีในรูปนั้น ๆ ว่ามันสวยสดงดงามอย่างนั้นอย่างนี้
    ถ้าตรวจตราพิจารณาเรื่องของกายตามเป็นจริง กายนี้ถึงเราจะไม่สมมติ ไม่ให้ร้ายเขาว่าเขาสกปรก แต่ความจริงก็ก้อนของสกปรกจริง ๆ จัง ๆ เช่นเรานั่งก็ดี นอนก็ดี นุ่งห่มอะไรก็ดี หรือเอาอะไรมาเกี่ยวข้องก็ดี กายนี้จะทำความสกปรกให้แก่สิ่งนั้น ๆ เพราะก้อนของกายนี้เป็นของสกปรก รั่วไหลออกมาจากกายนี้เรียก “ขี้” ทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นของดิบของดี จึงไปติดเปื้อนที่นั่งที่นอน ผ้านุ่งผ้าห่ม ได้ซักได้ฟอกกันอยู่เรื่อย ๆ เพราะมันเน่า มันเหม็น มันปฏิกูล นี่ ...คือการพิจารณาเพื่อละความกำหนัดยินดี ถอดถอนความกำหนัดยินดี
    ความกำหนัดยินดี นั้นมันไม่ได้อยู่ในกาย กายนี้ไม่ทราบ แต่ใจมันบ้ามันบอ มันถือว่าตัวของมัน เหมือนกันกับโจรมีอาวุธ มันก็กล้าที่จะไปปล้นไปจี้ สู้รบขบกัดกับคนอื่นได้ กายมันมีกำลังให้มันพักผ่อนหลับนอน ให้มันขบมันฉัน สิ่งที่มีสาระแก่มัน มันอิ่มหนำสำราญ มันมีกำลังแล้วมันเลยคิดไปปรุงไป เป็นเรื่องของใจ มันคิด มันปรุงไป เราจะพิสูจน์ได้ประจักษ์ในใจก็คือ คนตายนั้นไม่ว่าหญิง ว่าชาย ไม่ว่าหนุ่มว่าสาว จะเป็นคนที่บ้ากามมาขนาดไหนก็ตาม ถ้าหากมันตายแล้ว เอาไปทิ้งเทินกันไว้ ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ที่มันบ้าเรื่องกามนั้น มันจะไม่มีการทำอะไรกัน

    นี่....เรื่องของกายกับจิตมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นธาตุ แล้วก็จะแปรปรวนแตกสลายลงไปสู่ธาตุเดิมของมัน ธาตุดินก็จะไปสู่ธาตุดิน ธาตุน้ำก็จะซึมซาบลงไป หรือเป็นไอขึ้นตามอากาศ ธาตุไฟก็ไปตามเรื่องของมัน ลมก็ไปตามเรื่องของมัน นี่...เมื่อเราแยกแยะพินิจพิจารณาดูให้ทั่วถึงถี่ถ้วนอย่างนั้น ให้ใจมันเห็นประจักษ์ชัดเจน มันจะยอมจำนนว่าอันนี้ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงจังแต่จิตมันลุ่มมันหลง มันยึด มันถือต่างหาก มันจึงเกิดราคะตัณหา คือ มันไม่ทราบความจริงในสิ่งนั้น ๆ ตามเป็นจริงของมัน ถ้ามันทราบตามเป็นจริงของมันแล้ว จิตจะไม่หลง จิตจะสงบ จิตจะเบื่อหน่ายในเรือนร่างกาย จนบางท่านบางคนตามตำรับตำราพิจารณากายเห็นเป็น อสุภ อสุภํ เป็นก้อนมูตร ก้อนคูถ หรือ เป็นก้อนโรคก้อนภัย ใจมันเห็นประจักษ์ชัดเจนจริงจังอย่างนั้น เลยเบื่อหน่าย ฆ่าตัวตายก็มีทางศาสนาท่านจึงห้ามการทำอัตตฆาต คือฆ่าตัวเอง มันเบื่อหน่ายจนยอมฆ่าตัวตาย เบื่อหน่ายแบบนั้นเบื่อหน่ายผิดทาง

    พระธรรมวินัยให้ทราบตามเป็นจริงของมันว่า สิ่งเหล่านั้นเราไม่ฆ่ามัน มันก็จะตายอยู่แล้ว มันอยู่ไม่ได้ถึงพันปีหมื่นปี เมื่อมันเกิดขึ้นมามันก็แปรปรวนไป แล้วแตกสลายตามหน้าที่ของมัน ให้พิจารณาเรื่องของกาย ให้ทราบ ให้เห็นชัดเจนในจิตในใจของตัวว่า กายนี้สักแต่ว่ากาย ไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีสัตว์ บุคคล จิตมาอาศัยก็หลงใหลยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเราไป แต่ความจริงแล้ว กายนี้มันเป็นเรื่องของกายต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของจิต

    เมื่อทราบชัดอย่างนั้น เห็นชัดอย่างนั้นผู้ไปเห็นกายเป็นอย่างนั้นคือใคร มันจะทราบเข้ามาภายใน มันจะเห็นภายใน แล้วแก้ไข เมื่อมันเห็นภายใน มันประจักษ์ชัดเจนแล้ว ในเรื่องการงมงายมันก็หายจากการงมไป การหลงไป เพราะเรื่องของกายแท้ ๆ ไม่มีอะไร มันไม่เคยสุขเคยทุกข์ เคยเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่เคยอยากได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ หน้าที่ของกายจริงจัง ที่มันมีชีวิตชีวาเจริญมาก็เพราะเราบำรุงมัน เอาอาหารการขบฉันมาบำรุง ให้นุ่ง ให้ห่มเมื่อเวลาหนาว ให้อาบให้สรงเมื่อเวลาร้อน เราบำรุงมันไว้ มันจึงเจริญเติบโตมา และเมื่อเราหลงมัน มันก็ให้ทุกข์แก่เรา ถ้าเราไม่หลงมัน เราจะเอาประโยชน์แก่มัน ก็คือการพิจารณามัน แล้วก็พามันทำความพากความเพียร ไหว้พระสวดมนต์ ทำการบุญการกุศล ทำให้เกิดผลประโยชน์ ไม่ปล่อยให้กายเป็นหมันเป็นโมฆะ ในเมื่อเวลาเรายังมีลมหายใจเป็นอยู่
    นี่คือ..การพิจารณากาย ในทางสติปัฏฐานให้พิจารณากายของตัวให้ทั่วไห้ถึง ให้เห็นชัดเจนแล้ว กายของคนอื่นทั่วไปในโลก มันก็ไม่ผิดแผกแตกต่างอะไรกัน สมมติที่ว่าคนแก่ คนหนุ่ม คนสาว หรือเด็ก มันเป็นสมมุติต่างหาก ความจริงแล้ว กายเมื่อเกิดขึ้น ถ้าหากไม่มีอุปสรรค มันก็เจริญตามหน้าที่ของมัน ได้ชื่อว่ามันแปรปรวน แปรปรวนไปหาที่ไหน ไปสู่ความแตกดับของมัน ไม่ว่าปัจจุบันหรืออดีตที่ผ่านมา มันเป็นอยู่อย่างนั้น อนาคตที่จะเป็นต่อไปข้างหน้าก็เหมือนกัน มันไม่ลุ่มไม่หลง มันเข้าจิตเข้าใจเพราะการพิจารณาอย่างนี้ ทำให้เกิดปัญญาสามารถที่จะเด็ดขาดจากความยึดถือ จากความลุ่มหลง จากความเกาะเกี่ยวข้องใจ เมื่อเราไม่ลุ่มหลงตัวของเราแล้ว คนอื่น สัตว์อื่น เราก็ไม่ลุ่มหลงเพราะเราเป็นอย่างไร เขาเป็นอย่างนั้น มันประจักษ์อยู่ในจิตในใจของผู้ปฏิบัติ เห็นชัดอย่างนั้น มันจึงละ จึงปล่อย จึงวาง เรื่องของกายได้ นี้...เรียกว่า กายานุปัสสนา คือ พิจารณากายเพื่อให้เกิดปัญญาเพื่อให้ละให้ถอนความยึดถือติดข้องต่าง ๆ

    เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็หมายถึง พิจารณาสุข ทุกข์ สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ นั้น ทุกท่านมีด้วยกันไม่ว่า ฆราวาส หรือ นักบวช แต่เราไม่ได้เอาใจใส่ว่าอันนี้เป็นธรรมะ เป็นยาที่จะแก้กิเลส เราเลยมองข้ามเหยียบย่ำอยู่เรื่อยไป ไม่ทราบว่าสิ่งนั้นมันเป็นอะไร เข้าใจว่าสิ่งนั้นมันเป็นเรา เป็นของเราไป เรามีในสิ่งนั้น สิ่งนั้นมีในเรา อย่างที่ท่านกล่าวเอาไว้ ความจริงมันก็เป็นของมันไปอย่างนั้น เพราะเราไม่ได้พิจารณา มันจึงลุ่มหลง

    ถ้าหากเราพิจารณา มันก็พอพิจารณาได้ กายอันนี้หรือตัวอันนี้มันไม่ใช่สัตว์ บุคคลอีกเหมือนกัน เป็นอาการอันหนึ่ง เมื่อกายกับจิตมาอยู่ด้วยกันแล้ว สิ่งเหล่านี้มันจะเกิดมีขึ้น เรียกว่า เวทนา คือ บางทีก็สุข บางทีก็ทุกข์ บางทีก็เฉย ๆ
    เวทนานี้เป็นสิ่งปิดบังปัญญาของมนุษย์และสัตว์ทั่วไปมากเหมือนกัน ทำให้หลงใหลใฝ่ฝันอยากได้สิ่งที่ชอบที่ปรารถนา เบื่อหน่าย ไม่ชอบพอสิ่งที่ตัวไม่ปรารถนา เช่น ที่เกิดขึ้นมา เราเบื่อ เราหน่าย เงินทองข้าวของมากมายขนาดไหนก็ยอมเสียสละ เพื่อจะให้เวทนาตัวทุกข์นั้นมันหมดไป หายไป ให้กายมันสุข มันสบาย ยอมขายบ้าน ขายเรือน ขายไร่ ขายนา เงินทองมรดกที่บิดามารดาหามาไว้ ท่านล่วงลับดับไปก็ตกเป็นสมบัติของเรา ถือว่าสมบัติเหล่านั้นเป็นสมบัติที่ควรสงวนรักษา แต่ทว่าเมื่อเวทนามันกล้าขึ้นมา ทุกข์มากขึ้นมา จะต้องนำสิ่งนั้น ๆ ออกไปขายเพื่อรักษา นำหยูกนำยามาบำบัดให้ทุกขเวทนาหายไป สิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่พอใจเรายอมเสียสละข้าวของเงินทอง เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขความสบาย ส่วนสิ่งที่สุขที่สบายเราก็ปรารถนาอยากจะได้ ถึงจะยากจะลำบากขนาดไหน ก็อยากจะได้มาเป็นสมบัติของตัว ทุกข์ยากลำบากก็อุตส่าห์พยายามแสวงหา เพราะอยากได้ความสุขนั้นมา
    สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉย ๆ ก็ดี ทั้งสามสิ่งนี้เรียกว่า เวทนา เวทนานี้ก็เป็นอนัตตาอีกเหมือนกัน บอกไม่ได้ สอนไม่ฟัง ไม่มีใครที่จะมีอำนาจวาสนาหักห้ามมันได้ มันเกิดขึ้นมา ก็ตั้งอยู่ ดับไป ทำนองเดียวกันกับรูป แต่เราไม่รู้ เราจึงไปยึดไปถือมัน เข้าใจว่าเวทนานั้นเป็นของของเรา

    ถ้าเป็นเรื่องสุข ก็ชอบจิตติดข้องในสิ่งนั้น ๆ อยากจะให้เป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดไป ถ้าทุกข์ก็อยากจะขับไล่ไสส่งให้ตกออกไปจากกายจากใจของตัว มันคิดอย่างนั้น มันปรุงอย่างนั้น มันยึดอย่างนั้น มันถืออย่างนั้น พวกเราท่านจึงหลงเรื่องของเวทนา ถือเอาขันธ์ส่วนนั้นว่า เป็นตัว เป็นตนเป็นคน เป็นสัตว์

    ถ้าหากเราปฏิบัติด้านอรรถธรรมจริงจังจิตของเราละเอียด จิตของเราเป็นธรรม เราจะทราบว่า เวทนานี้สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เป็นแต่สักว่าเวทนาเท่านั้น
    เวทนานี้มันจะเจริญเติบโตไปได้ มันจะให้ทุกข์ขนาดไหนก็ไม่เลยตาย ตายไปแล้ว ทุกข์ส่วนนั้นมันจะหาย ในเมื่อเวลาหมดลมหายใจ มันจะไม่มีอะไรเหลือหลอ แต่เมื่อเวลาเราเป็นอยู่ เราจะสู้จะหลบ จะพิจารณาอย่างไร จึงจะทราบว่าเวทนานี้เป็นขันธ์อันหนึ่ง ไม่ใช่ตัวของจิต เรื่องเหล่านี้เราต้องต่อสู้ เราต้องพิจารณาดูด้วยความเป็นธรรม ไม่เข้าข้างตัว ไม่เข้าข้างใด อาศัยความจริงพิสูจน์ของจริง จะเห็นเด่นชัดในจิตในใจ
    เวทนา นี้ทางที่จะดับมันได้ คือ ใจสงบ ถ้าใจสงบแล้ว เวทนามันดับ สงบถึงที่ รวมถึงที่ไม่มีสัญญา ไม่มีเวทนา จะต้องเป็น ต้องเห็นในผู้ปฏิบัติ ถึงมันจะหนักขนาดไหน ถ้าหากใจรวมได้เวทนามันหายเหมือนปลิดทิ้ง ไม่มีอะไรที่จะมายุ่งเกี่ยว นี่คือ...เรื่องลงรวมของจิตที่ผู้ฝึกปฏิบัติ มีสมาธิสมาบัติเข้าได้ หลบได้เป็นกาลเป็นสมัย
    แต่ เวทนา ที่พระพุทธเจ้าให้รู้ ให้เห็นตามเป็นจริงนั้น ท่านให้เห็นว่า เวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่ตัวตนคนสัตว์อะไร ข้อนี้จะประจักษ์ในการพินิจพิจารณา ในการภาวนาของตัว คือ จะเห็นด้วยการบำเพ็ญภาวนาว่า อันนี้มันเป็นขันธ์อันหนึ่งต่างหาก ผู้ไปรู้อันนี้เป็นอีกอันหนึ่งต่างหาก ถึงอันนี้มันจะก่อกวน วุ่นวาย สุขสบายก็ตาม ทุกข์ลำบากก็ตามเป็นเรื่องของเวทนา ไม่ใช่จิตผู้ไปรู้ ผู้ไปเห็น
    สติตามรู้จิตของตนในขณะนั้น ๆ จัดเป็น
    จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นจิต ไม่ได้หลงใหลมืดบอดไปตามอาการนั้น ๆ ทราบดีว่าเรื่องเหล่านี้มันเป็นขันธ์อันหนึ่งต่างหาก แต่มันเกิดจากกายจากจิต เหมือนกันกับเสียง เกิดจากความกระทบของฆ้อง ของกลอง ความจริงกลองมันก็ไม่มีเสียง ฆ้องมันก็ไม่มีเสียง แต่ไปกระทบกันเข้า ตีกันเข้า เสียงมันจึงเกิดขึ้น
    ธาตุขันธ์ ที่เกิดเวทนาอย่างนั้น มันก็ต้องมีเหตุของมัน มันจึงเกิดสุข มันจึงเกิดทุกข์ คือมันกระทบในสิ่งที่ตัวต้องการ ตัวปรารถนา มันก็เกิดสุขขึ้น มันกระทบในสิ่งที่ตัวไม่ต้องการ ตัวไม่ปรารถนา มันก็เกิดทุกข์ขึ้น นี่..คือความหลงใหล เพราะไม่เข้าใจตามเป็นจริง หากไปยึดไปถือในสิ่งนั้น ๆ มันจึงเกิดทุกข์ เกิดโทษ เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น สิ่งที่ปรารถนาเกิดขึ้นก็อยากจะให้มันตั้งอยู่ ไม่อยากจะให้มันวิบัติฉิบหายไปที่ไหน แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ มีอำนาจที่จะรักษาได้ เพราะ สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นจะต้องดับไปเป็นธรรมดา ผู้มีปัญญาทราบชัดอย่างนั้น มีการเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการแปรปรวน และสลายไป ถ้าเรารู้ เราเข้าใจ ในตัวของเราจริงจังอย่างนั้น มันไม่มีอะไรที่จะปิดบังอำพราง จะหลงใหล จะยึดถือจะ เข้าใจผิด
    พระพุทธเจ้ารับรอง โกณฑัญญะก็รับรอง โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม คือ เห็นว่าสิ่งใดมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นจะต้องมีการแตกดับ เห็นประจักษ์ชัดเจนในจิต ในใจ ไม่มีการสงลัย ไม่มีอะไรปิดบัง นี้...ท่านเรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม ถ้ามันเห็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นโดยไม่ได้จำมาจากที่อื่น ไม่ได้คาดหมาย มันเข้าใจในการพิจารณาของตัว ในการภาวนาของตัวอย่างนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะเห็นอย่างไร ใจของเราที่ไปเห็นอย่างนั้นก็เหมือนกัน ถึงพระพุทธเจ้าไม่รับรองเพราะท่านปรินิพพานไปแล้ว แต่เราเองก็ทราบว่า จิตของเรามันเป็นอย่างไร มันห่างไกลจากความสงสัย จากการยึดถือหรือไม่ นี่...เป็นเรื่องการบำเพ็ญภาวนาจะต้องกำหนดให้รู้ให้เห็นในตัวของตัวผู้ ภาวนา ถ้าหากมีสติกำหนดกายก็ดี กำหนดเวทนาก็ดี กำหนดจิต ความคิดปรุงต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า เจตสิก ก็ดี เหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องซึ่งเราจะพินิจพิจารณา จนปล่อยวางความยึดถือ ไม่ใช่ตัวตนเราเขา
    ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมหมายถึงสภาวะที่เป็นอยู่ หรือสิ่งทั่วไปที่ปรากฏในจิตในใจ จะเป็นโลกธรรมก็ตาม เป็นนามธรรมก็ตาม เมื่อมันเกิดขึ้นให้มีสติรู้ มีปัญญาพิจารณาดู ให้จิตเห็นให้จิตเข้าใจในสิ่งนั้น ๆ ตามเป็นจริงของมัน นี่...คือผู้ที่กำหนดเพื่อความจะตรัสรู้ เพื่อความจะไม่อยู่ในโลกต่อไป
    ถ้ากำหนดสติปัฏฐานทั้งสี่นี้ เอาใจใส่กำหนดรักษาพิจารณาอยู่ตลอดเวลา อย่างช้าไม่เกิน 7 ปี คนนั้นจะมีคติเป็นสอง คือเป็นพระอนาคา หรือเป็นพระอรหันต์ ปุถุชนคนหนาอย่างพวกเรา ท่านไม่ว่าไม่ว่า

    สติปัฏฐานทั้งสี่นี้ มันมีอยู่ในตำรับตำรา หรือมีอยู่ที่ตัวของตัว กายมันมีอยู่ที่ไหน เวทนามันมีอยู่ที่ไหน จิต ธรรมมันมีอยู่ที่ไหน ต้องตรวจตราพิจารณา มันมีอยู่ในตัวของทุกคนที่จะพิจารณาได้ แต่คำว่า “การพิจารณาเข้ามาภายใน” นี้ มันพิจารณายาก เพราะเราไม่เคย ไม่เคยจะพิจารณากายของตัวเพื่อให้รู้ให้เห็นตามเป็นจริง พิจารณาก็เห็นว่ากายอันนี้มันสวย มันงาม มันดี มันเด่นอย่างนั้นอย่างนี้ มันสุขมันสบาย ถือไปทำนองนั้น ไม่พิจารณาแยกแยะ เพื่อหามูลความจริงของมัน มันจึงหลงใหลเรื่อยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คนที่มีจิตใจมืดบอด ไม่มีปัญญาสามารถที่จะทราบเรื่องสติปัฏฐานตามเป็นจริงนี่เอง มันจึงเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยมา
    ถ้าหากพิจารณาติดต่อกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน มันจะต้องเป็นไปได้ จิตใจมันจะไปหลงใหลใฝ่ฝันอะไร ความจริงของมันมีอย่างไร จิตใจให้พิจารณาจับจุดอยู่นั้น มันไม่มีโอกาส เวลาที่จะไปบ้า ไปบอ ไปโกรธ ไปโลภ ไปหลงกับเรื่องอันอื่น เพราะมันดูของจริงที่มีอยู่ในตัว นี่...มันไม่เป็นอย่างนั้น พิจารณาเพียงแผล็บเดียวเท่านั้น มันก็เลยออกไปสู่อารมณ์อันใหม่เสีย เมื่อมันเป็นอย่างนั้นกำลังของมันไม่พอที่จะละ จะถอนกิเลสตัณหาให้หลุด ให้ตก ให้ขาดไปได้ มันจึงก่อกวนให้ทุกข์ ให้โทษ หลงใหลใฝ่ฝันอยู่เรื่อย ๆ เพราะเราทำของเรายังไม่ถึงขีด ถึงขั้น ถึงเขต ถึงแดนของมัน เหมือนกันกับเราฟันต้นไม้ใหญ่ ๆ ฟันเพียงทีเดียว แล้วก็หนีไปเป็นระยะเวลานาน จึงมาฟันอีก ถ้าทำอยู่แบบนี้ หากเป็นต้นไม้ที่มันแก่น มันแข็ง แม้ต้นจะเล็กขนาดเท่าขาของเรา ตัดแล้วหนีไป เป็นเดือนสองเดือน เป็นปีสองปี ถึงค่อยมาตัดอีกที ก็ไม่มีวันขาด จนกระทั่งวันตายที่เราตัดเราฟันไว้นั้น มันจะงอกหอหุ้มออกมาอีก เรื่องของมันเป็นอย่างนั้น มันเลยไม่ขาดให้

    การพิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่ก็ทำนองเดียวกัน ทุกท่านที่เคยได้ศึกษาเล่าเรียนมาก็เคยพิจารณา แต่มันพิจารณาแบบที่ว่า มันไม่ได้ติดต่อกันไป ที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่า จะมีคติเป็นสองนั้น ท่านให้พิจารณาติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ไม่ให้หยุด ไม่ให้ถอย เมื่อจิตยังยึด ยังถือ ยังติด ยังข้อง จะต้องพิจารณา จะต้องพิจารณาจนให้เห็นประจักษ์ในตัวของตัวเองว่ามันละได้ ถอนได้ มันไม่ติด ไม่ข้อง มันอยู่กับกาย แต่ก็ไม่ติดกับกาย ทราบได้ด้วยตัวเอง มันจึงจะควรหยุด ควรถอย ในการพินิจพิจารณา ถ้ามันไม่ถึงจุดนั้น เราก็จะต้องพิจารณาเรื่อยไป ให้ถือเอาความเป็นไปของใจเป็นใหญ่ อย่าไปถือเอาเวลาที่ผ่านมาเป็นใหญ่ เพราะใจถ้าหากไม่ได้พิจารณา เวลามันก็ล่วงไป ๆ อยู่เหมือนกัน ถึงเวลามันล่วงไปขนาดนั้น เราทำมานานแล้วหยุดเสียก่อน ถอยเสียก่อน พักผ่อนเสียก่อนมันไปแบบนั้นมันจึงไม่เกิดอะไรอัศจรรย์ขึ้น ผู้ที่จะเอาจริงเอาจังนั้นท่านสู้เอาชีวิตเป็นประกัน

    การสู้เวทนานั้นเป็นทางที่จะทำจิตทำใจให้เห็นอรรกเห็นธรรมง่าย ถ้าหากจะสู้กันจริง ๆ จัง ๆเชื่อมั่นว่าคนนั้นไม่ถึง 7 วันจะต้องเห็นในจิตในใจของตน คือ เราสู้เอาชีวิตเป็นประกัน มันจะปวดขนาดไหนก็ปวดไป จะไม่ยอมขยับเขยื้อน เรานั่งอยู่ขาใด มือใด ท่าใด เราจะนั่งอยู่อย่างนั้น ถ้าหากความอัศจรรย์อะไรไม่เกิดขึ้น เวลามันไม่เกิดเวทนาทุกขเวทนานั้น จิตใจเพลิดเพลินคิดปรุงไปเรื่องอื่นได้ แต่เวลามันจวนจะตายจริง ๆ มันเจ็บ มันปวดนั้น เวทนาใหญ่เกิดขึ้น ลองมาไล่มันไปเถอะ อะไรควรกำหนัดยินดี น่าเพลิดน่าเพลินจะให้ไปคิด นู้น อย่ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของเวทนาเรื่องของกาย มันไล่ไม่ไป มันกลัวตาย ที่นี้ก็จะแตก ที่นี้ก็จะหัก ที่นั้นก็เจ็บ ที่นี้ก็ปวด มันจะพังจริง ๆ จัง ๆ มันมีแต่อยากจะลุกจะหนี มันเจ็บปวดรวดร้าวอย่างที่บอกไม่ถูก เหมือนนั่งอยู่ในกองไฟ หรือเหมือนเอาหลาวทิ่มขึ้นไปบนอากาศ แล้วนั่งอยู่บนปลายแหลน ปลายหลาว มันไม่มีที่ไหนที่มันสุขมันสบายให้ ระยะนั้นแหละ ไล่มันไปไม่ได้ ถ้าหากจิตไม่รวมให้ใจไม่เป็นธรรม มันก็ทำท่าจะตายถ่ายเดียว คนที่ใจไม่เด็ด ไม่ยอมเสียสละชีวิตมันก็อยู่ไม่ได้ จะต้องลุกต้องหนี ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ อิริยาบถนี้ปิดบังทุกข์เอาไว้ไม่ให้เราเห็นชัดเจน ถ้าเราสู้ทนเอา เรานั่งก็ท่านี้แหละ เป็นท่าสุข ท่าสบาย ว่าเป็นสุขแล้ว

    การนั่งของเรา ครั้นนั่งไป ๆ ความเจ็บปวดมันเกิดขึ้น นั่นแหละจะได้พิจารณาเรื่องของมัน มันมาจากที่ไหน มีอะไรอยู่ในตัวของตัว มันจึงเกิดขึ้นอย่างนั้น เนื้อหนังก็ของเก่า แข้งขาก็ของเก่า หรือใครเขาเอามาให้ นี่...มันจะทราบเรื่องของเวทนาว่า เวทนานั้นสักแต่ว่าเวทนาไม่ใช่จิต เพราะเราได้สู้ได้พิจารณาดูตามเป็นจริงของมัน กายนี้มันไม่ทราบอะไร ตายเอาไปเผาไฟ ฝังดิน มันก็ไม่เห็นบ่น อันนี้มันเกิดขึ้นมาจากที่ไหน กระดูกของเก่า เนื้อหนังของเก่า ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ พิจารณาถ้าหากจิตไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริงเมื่อไร ตายก็ให้มันตายไป ให้เขาได้ลงหนังสือพิมพ์ออกอากาศว่า คนนั้นภาวนาจนตาย ปล่อยให้มันเห็นกัน ถ้าหากมันไม่ตาย สิ่งที่เหนือตายคืออะไร เราจะทราบ สิ่งใดมันตายไปก็ให้มันตายไป สิ่งใดที่มันเหลืออยู่ เราจะเอาอันนั้นแหละเป็นตัวของเรา เป็นของของเรา นี่...นักสู้ต้องสู้แบบนั้น เวลาต่อสู้กันจริงจัง ระยะนั้นและธรรมอัศจรรย์จะเกิดขึ้น ถ้าเราต่อสู้ได้ เราจะทราบเรื่องของจิตของใจว่าเป็นอย่างไร ความอัศจรรย์ที่ไม่เคยเห็น เคยเป็นมาก่อน มันปรากฏขึ้น มีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสว่างไสวโล่งอกโล่งใจ เมื่อเวลามันจะตายจริงจังมันก็แบบนี้แหละ

    ถ้าเราสู้มันได้ เราเข้าใจตามเป็นจริงเวทนาหน้าไหนมันจะเกิดขึ้นเมื่อไร จิตใจของเราจะลุ่มหลงอีกหรือไม่ เราทราบจากการกระทำของตัว ฉะนั้น การสู้ การทำแบบนั้น มันจึงเป็นเรื่องของทุกท่านที่มุ่งมั่นเพื่อจะปฏิบัติให้พ้นโลก จะต้องทดสอบกระทำบำเพ็ญ
    มันหยาบ มันยาก มันยุ่ง ปฏิบัติมาเท่าไรก็ไม่เห็นเกิดอัศจรรย์อะไรให้ ใจไม่เชื่อไม่เลื่อมใส ทำไปก็เหมาตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่มีอำนาจวาสนา ไม่เห็นธรรม ก็ทำไมมันเกิดมาได้ เรามีหางมีเขาหรือ จึงไปเหมาว่าตัวหมดอำนาจวาสนา มันจะต้องต่อว่า ดัดสันดานมัน เมื่อทำกันจริงจังมันไม่เห็นไม่เป็นให้ ก็ให้มันตายไปละซิ เพราะเกิดมาก็ต้องตายอยู่แล้ว จะต้องเป็นคนเด็ดเดี่ยวอาจหาญต่อสู้ อย่าไปหลงสังขาร มารกิเลส ไม่อย่างนั้น ก็จะไม่มีวันทันกับเรื่องของการแก้ไขใจของตัว มันจะหลอกเรื่อยไป ทำให้มันถึงขีดถึงขั้น เชื่อมั่นในตัวแล้ว มันสุข มันสบาย เพราะใจมันสบาย จะตายจะอยู่มันก็สุขก็สบายของมันอยู่อย่างนั้น เพราะไม่มีอะไรที่จะตาย ไม่มีอะไรที่จะเสียหาย ความเห็นความเป็นของใจ มันรู้จักสิ่งทุกอย่างตามเป็นจริงของมัน ไม่เป็นข้าศึกศัตรูกับทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นมิตรกันหมด นี่คือ_..ความเห็นตามเป็นจริง ทุกข์ก็ทราบว่า ทุกข์ สมุทัย ความหลงใหล ความบ้าเราก็ได้ละได้ถอนไปแล้ว ความดับทุกข์สนิทในใจ เป็นอย่างไรเราก็เห็น การกระทำบำเพ็ญของเราที่จะมารู้มาเห็น สิ่งนี้ เราได้ทำอย่างไร เราก็รู้ ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างในอริยสัจจบแล้ว มันจะมีอะไรสงสัย มันจะมีอะไรทำให้ตัวเดือดร้อน มันไม่มี

    ฉะนั้น ขอทุกท่านจงนำไปพินิจพิจารณาบำเพ็ญ ทุกคนมีอำนาจวาสนา มีสติปัญญา พอที่จะเห็นจะเป็นได้ ถ้าเราเหมาเอาว่า เราอาภัพวาสนา ทำอะไรไม่เกิด ไม่เป็น ไม่เห็น ไม่รู้ ถึงอยู่ไปอีกหมื่นปี แสนปี ก็ไม่มีอะไรเห็น อะไรเป็นให้ หากไม่ลงมือกระทำบำเพ็ญ
    ขอทุกท่านจงพากเพียรกระทำบำเพ็ญติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ไม่ให้หยุด ไม่ให้ถอย จนให้เห็นประจักษ์ในตัวของตัวว่า จิตที่ละขันธ์ได้ ถอนได้ ไม่ติดไม่ข้องกับขันธ์นั้นบรมสุขอย่างไร การอธิบายธรรมะ ก็เห็นว่าควรยุติเพียงเท่านี้

    ทีมา https://sites.google.com/site/smartdhamma/สติปัฎฐานสี่
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ธรรมะเกิดกับใจ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

    ธรรมสู่ใจ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

    สุขอยู่ที่จิต พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

    ธรรมส่องโลก พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

    witsanu tripprasert
    Published on Apr 18, 2012
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 8 พฤษภาคม 2018
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เกิดแก่เจ็บตาย พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

    กายมีแต่ของสกปรก พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


    dhamma osoth
    Published on Feb 13, 2016
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 8 พฤษภาคม 2018
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,855
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047

แชร์หน้านี้

Loading...